ณัฐพงศ์ สว่างตระกูล จบการศึกษาสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะสมเทปเพลงตั้งแต่เด็ก เคยเก็บแบบไม่ขายราว ๙,๐๐๐ ตลับ กระทั่งเปิด “ร้านเทป” จำหน่ายเทปและเครื่องเล่นมือสอง ต้องเสาะหาอัลบัม
ทดเติมให้พร้อมสำหรับขาย จึงเริ่มคัดอัลบัมที่บรรจุความทรงจำตนในสภาพดีสุดชนิดตั้งใจจะไม่ขายมาเก็บไว้ เวลานี้มีเกือบ ๑,๐๐๐ อัลบัม
เทปเพลงบรรเลงชีวิต
ณัฐพงศ์ สว่างตระกูล
ห ล ง ลั ก ษ ณ์
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
นักสะสมทุกคนมีสิ่งที่ตามหา และคุณค่าไม่ใช่แค่ตัวของสิ่งนั้น
แต่คือเรื่องราวผูกพันที่ตนเอาชีวิตเข้าไปบรรจุอยู่ในสิ่งของด้วย
“มักมีคนถามว่าอัลบัมไหน rare item อย่างช่วงหนึ่งคนตามหาอัลบัมของวงพราวเยอะมาก จึงถือเป็นสุดยอดอัลบัมล้ำค่า เราต้องทำความเข้าใจว่านักล่ากับนักสะสมแตกต่างกัน การให้คุณค่ากับสิ่งที่บอกต่อกันมาคืออุปาทานหมู่ บางคนกำเงินหลายหมื่นมาหาผมเพื่อซื้อเทปที่ตัวเองไม่ได้ฟังก็มี แต่ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งในแบบของเขา เคยมี cassette lover ชาวโปแลนด์มาตามหาเพลงสากลอัลบัมหนึ่งเพราะอยากให้เทปมีตรา Thailand distributor เพื่อจะนำไปเป็นมูลค่าที่โปแลนด์ พอเสิร์ชข้อมูลในเน็ตก็เจอชื่อร้านผมเป็นอันดับต้น ๆ ผมขายไป ๔๐๐ บาทเอง แต่เขาต้องจ่ายค่าเครื่องบินเท่าไรเพื่อสร้างเรื่องราวในสิ่งของ นั่นละคือสิ่งกำหนดความแรร์ ทุกวันนี้ผมเลิกอินกับสิ่งที่ใครบอกว่าคือแรร์ไอเท็ม ความ deep ของผมมุ่งหาสิ่งที่ให้คุณค่าโดยตรงกับความรู้สึก สะสมเรื่องราวส่วนตัวที่ซ่อนอยู่ในบทเพลง
“อย่างอัลบัม Roy Against the Machine ของวง Students Ugly เป็นวงดนตรีไทยแนวพังก์ร็อก ออกปี ๒๕๔๒ ทำปกล้อเลียนอัลบัม Evil Empire ของวง Rage Against the Machine ในยุคเดียวกัน พอเห็นปกอัลบัมนี้ของวง Students Ugly ก็ชอบ พังก์มันต้องขบถแบบนี้ ! อัลบัมนี้ไม่ดังแต่มีเพลงที่ทำให้ผมคิดถึงชีวิตวัยเด็ก ตอนจบ ม. ปลาย ผมเอนทรานซ์ไม่ติดและที่บ้านไม่มีนโยบายส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ผมจึงสมัคร ม. รามคำแหง ไปเรียนแค่สามครั้ง ที่เหลือสอบอย่างเดียว เรียนได้แต่ไม่มีความสุข ไม่ใช่ชีวิตแบบที่ฝัน เวลาโทรศัพท์หาเพื่อนถามถึงชีวิตในรั้วที่เขาเอนท์ติดว่าเป็นไง ฟังแล้วอยากสัมผัสบ้าง ยิ่งเพื่อนทยอยมีแฟนชีวิตผมยิ่งเฟล ผลพวงของการเอนท์ไม่ติดเหมือนคนอกหัก ทุกอย่างพังทลาย แต่ผมพยายามเอนท์ใหม่อีก ๒ ปี อยากเรียนสายออกแบบ ทุกเช้าจะตื่นมาเปิดซาวนด์อะเบาต์ขณะฝึกวาดรูป วันหนึ่งผมฟังเพลง ‘Roy in Blah Blah Blah’ มีท่อนที่รอย-นักร้องย้ำ ๆ ว่า ‘รอย รอยเก่งมาก’ การใส่หูฟังยิ่งเหมือนถูกสะกดจิต...เอ้อ กูก็เก่งเหมือนกัน ! ได้อยู่กับเพลงที่ฟังแล้วฮีลใจช่วยให้ชีวิตผมผ่านช่วงนั้นมาได้ เป็นอัลบัมที่เก็บมาตลอดและไม่คิดจะขาย
“อีกอัลบัมที่ผมรักคือ อาลัยรัก ของ ‘ป. ดิษยา’ ก็คือคนบนปกเทป ‘พล.ร.ต.ปรีชา ดิษยนันทน์’ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ภิรมย์รัก’ เมื่อปี ๒๕๐๒ ท่านเป็นหัวหน้ากองดุริยางค์ทหารเรือ กองทัพเรือ ช่วงปี ๒๕๐๕-๒๕๐๘ เป็นคุณปู่ของอดีตภรรยาผมซึ่งถือเป็นคุณปู่ทวดของลูกชายผม อัลบัมนี้รวบรวมผลงานประพันธ์เพลงของท่าน เข้าใจว่าทางกองดุริยางค์ทหารเรือน่าจะทำแจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจ ผมขอมาจากพ่อตาและทราบทีหลังว่าท่านประพันธ์เพลงที่ดัง ๆ ไว้เยอะมากและศิลปินที่ร้องก็มีชื่อเสียง ม้วนนี้เป็นความ deep จริง ๆ เพราะเป็นความภูมิใจของคนในบ้านที่โชคดีมีโอกาสบันทึกเรื่องราวชีวิตครอบครัวผ่านเทป พ่อตาผมเล่าว่าตอนคุณปู่จากไปเขาก็เศร้า แต่เทียบไม่ได้เลยกับตอนขับรถออกจากงานศพพ่อตัวเองแล้วเสียบตลับเทปนี้เปิดฟังในรถ จินตนาการถึงเบื้องหลังวิธีทำงานของพ่อ ทำให้เขาร้องไห้ตลอดทาง ผมเข้าใจความรู้สึกนั้นเพราะทำงานอยู่ในสายดนตรี มีผลงานเบื้องหลังหลายอย่างที่เก็บไว้
“แอบหวังว่าวันที่ผมตายก็อยากให้
ลูกเอาผลงานมาเล่าผ่านเทปคาสเซ็ตที่ผมรัก”