นโรดม เขม้นเขตวิทย์
RIVER > >> LOVE
ล่องเรือหารัก
จากเชียงดาวถึงอ่าวไทย
Interview
สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
นโรดม เขม้นเขตวิทย์ หรือโป้ เป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยช่างศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ลาดกระบัง ทำงานศิลปะตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เคยจัดแสดงผลงานทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่มหลายครั้ง เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เขาหันมามองแม่น้ำอย่างจริงจังและตัดสินใจพายเรือจากเชียงดาวถึงอ่าวไทย คือการเข้าร่วมโครงการ “The River We Share, From Lancang to Mekong” ลงพื้นที่ทำงานศิลปะที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ร่วมกับศิลปินกลุ่มเล็ก ๆ ในปี ๒๕๖๔ ได้ล่องแม่น้ำโขงลงไปคุยกับชาวประมงซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขื่อนในประเทศจีนและลาว ปลาและสัตว์น้ำหลายชนิดหายไปจากแม่น้ำ นำผลงานศิลปะไปจัดแสดงที่ Beijing Inside-Out Art Museum กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อปี ๒๕๖๖
ในปี ๒๕๖๗ จากป่าต้นน้ำเหนือสุดขอบประเทศที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นโรดมพายเรือคนเดียวตามลำน้ำปิงผ่านเชียงใหม่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร มาพบแม่น้ำน่านที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ จากจุดนั้นคือแม่น้ำเจ้าพระยา เขาพายเรือล่องจากชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร จนถึงสมุทรปราการ ปลายทางที่เส้นเลือดใหญ่ของลุ่มน้ำภาคกลางบรรจบทะเลอ่าวไทย
ภาพ : นโรดม เขม้นเขตวิทย์
เรือยางที่ผ่านการใช้งานอย่างทุลักทุเล ตอไม้รูปหัวใจบล็อกภาพพิมพ์รูปปลาตัดจากแผ่นสังกะสี ภาพสเกตช์สถานที่ต่าง ๆ ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ RIVER >>> LOVE ล่องเรือหารัก “จากเชียงดาวถึงอ่าวไทย” ที่ Art4C ริมถนนพระรามที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๓-๑๕ กันยายน ๒๕๖๗ เพื่อบันทึกเรื่องราวการเดินทางในแม่น้ำ ๔๓ วัน ระยะทางร่วม ๑,๐๐๐ กิโลเมตร เฉลี่ยวันละ ๒๕-๒๖ กิโลเมตร ของศิลปินคนหนึ่งที่บอกว่า
“ผมพายเรือสำรวจลำน้ำเพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้เห็นความหลากหลายของชีวิต แต่ละท้องถิ่นล้วนมีเรื่องเล่าความเป็นมาและประวัติของตนที่แตกต่างกัน เมื่อนำเรื่องราวเหล่านั้นมาปะติดปะต่อกันจะเห็นภาพใหญ่ของแม่น้ำที่ทอดยาวจากภาคเหนือลงมายังที่ราบลุ่มภาคกลางจนถึงอ่าวไทย ทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพและคุณภาพของแม่น้ำ การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ ระหว่างการเดินทางผมยังได้ทำงานศิลปะเพื่อแสวงหาความจริงจากสิ่งที่พานพบ”
“สิ่งที่สวยงามและวิเศษที่สุดของการเดินทางที่ผมได้ตระหนัก คือมิตรภาพ ความรัก ความเอื้ออาทรที่ได้รับระหว่างเดินทาง และธรรมชาติยิ่งใหญ่มีพลังมหาศาล ”
งานแสดงศิลปะจากการล่องเรือ ๔๓ วัน ภาพสเกตช์สถานที่ต่าง ๆ บล็อกภาพพิมพ์สังกะสีตัดเป็นรูปปลาในแม่น้ำ รวมถึงเรือยางที่นโรดมพายจากเชียงดาวสู่อ่าวไทย
คุณเห็นอะไรตั้งแต่เริ่มพายเรือลงมาจากต้นน้ำปิง
ช่วงต้นน้ำฝายเยอะมากนะ มี ๑๔ ฝายใหญ่ถ้าจำไม่ผิด ผมต้องยกเรือขึ้นลงจนถึงอำเภอจอมทอง ฝายที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นประตูชะลอน้ำจากข้างบน กันไว้ให้ตัวเมืองมีน้ำหล่อเลี้ยงระบบชลประทาน การท่องเที่ยว ระดับน้ำเหนือฝายกับใต้ฝายไม่เท่ากัน
พอติดฝายผมก็ต้องพายเรือย้อนกลับไปตรงที่เอาเรือขึ้นได้ แม่น้ำปิงช่วงเชียงใหม่ตลิ่งสูงชัน ตอนเอาเรือลงก็ต้องดูอีก มีวันหนึ่งผมตื่นตี ๕ กว่า เก็บสัมภาระแล้วเริ่มพายเรือ ๗ โมงเช้า จนไปเจอฝายปูนที่บ้านทับเดื่อ อำเภอแม่แตง ต้องพายเรือกลับมายกขึ้นบกที่หน้าโรงเรียนบ้านทับเดื่อ แล้วย้ายเรือมาลงที่แก่งดง ห่างกันประมาณ ๑๗ กิโลเมตร บางทีเอาเรือลงน้ำไม่ได้ ต้องปั่นจักรยานไปเรื่อย ๆ ดูว่าตรงไหนเหมาะ
มีอยู่คืนหนึ่งไปนอนแถวฝายท่าวังตาล อำเภอเมืองเชียงใหม่ เห็นการคอร์รัปชัน คือทางการจะมีงบน้ำมันดีเซลให้เอารถแบ็กโฮมาตักผักตบชวาขึ้นฝั่ง เดือนหนึ่ง ๒ หมื่นลิตร แต่เขาไม่ทำ เขาเอาน้ำมันไปแอบขายในราคาต่ำ พวกรถวิ่งดินก็มาซื้อ ตกกลางคืนก็ใช้วิธีแอบเปิดประตูน้ำให้ผักตบชวาไหลออก มันก็ลอยลงไปอยู่ข้างล่าง
พอหมดฝายปัญหาใหม่ที่เจอคือเรือดูดทราย มันเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ บางทีเขาวางท่อขวางแม่น้ำเลยนะ
ช่วงที่พายเรือผ่านดอยเต่า ก่อนถึงเขื่อนภูมิพลในจังหวัดตาก ผมเห็นตอไม้โผล่เหนือน้ำเป็นร้อย ๆ ตอ ภูเขาทั้งลูกก็มีแต่ตอไม้ มองคล้ายพระพุทธรูปถูกตัดเศียรนั่งเรียงเป็นแถว ๆ เห็นแล้วก็เศร้าใจ
ผมเก็บตอไม้มาตอหนึ่ง มองเห็นรากของต้นไม้ก็นึกถึงเส้นเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจ ปรับแต่งนิดหน่อยตอไม้ก็เหมือนหัวใจจริง ๆ
หัวใจของปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้อย่างหนึ่งก็คือการทำลายป่าริมน้ำ
ตอไม้จากแถวดอยเต่า ปรับแต่งให้คล้ายรูปหัวใจ รากเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจและโลก
จากเขื่อนภูมิพลลงมา แม่น้ำมีสภาพอย่างไร
คล้าย ๆ กัน แต่พอแม่น้ำปิงมาเจอแม่น้ำวังที่สามเงาก็ใหญ่ขึ้น แต่ละพื้นที่มีคน เรื่องเล่า เห็นชีวิตคนที่แตกต่าง มีชาวเขาทำประมง คนอยู่ที่ราบมาอยู่ในน้ำ หาปลา เลี้ยงวัว บางอย่างสัมพันธ์กัน
พายเรือมาจะมองเห็นแพ เวิ้งนี้มีแพหนึ่ง เวิ้งนั้นอีกแพหนึ่ง วัวนี่เห็นตลอด ถึงไม่เห็นตัวก็จะได้กลิ่นขี้มัน หรือได้ยินเสียงกระดึงกุ๊งกิ๊ง ๆ ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว พอได้ยินเสียงวัวก็แสดงว่ามีคน ถ้าผมเป็นอะไรไป น็อก ก็คงมีคนมาช่วย
ตอนอยู่ที่แม่ตื่น รอยต่ออำเภอลี้ จังหวัดลำพูน กับอำเภอสามเงา จังหวัดตาก ผมเหลือเงินติดกระเป๋าแค่ ๒๐๐ บาท โทรศัพท์ที่โอนเงินได้ทำตกน้ำไปแล้ว ตอนแรกคิดว่าจะพายต่อไปอีก ๓ วัน เสบียงน่าจะพอดี แต่เงินคงต้องใช้หมด แล้วเส้นทางส่วนที่ยังเหลือล่ะจะเอายังไง พอมีเรือแพท่องเที่ยวตามหลังมาเขาแวะคุย ผมก็เลยขอติดไปด้วย หมดแรงแล้ว เขาช่วยยกเรือขึ้นแพ นั่งมาลงอีกฝั่ง
“ในแม่น้ำพอพายจริง ๆ เหงามากนะ เพราะทุกสิ่งหันหลังให้แม่น้ำหมดเลย ขนาดวัดริมน้ำสมัยเก่า ๆ พอสร้างพระใหม่ก็ยังนั่งหันหลังให้แม่น้ำ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างพายเรืออยู่กลางแม่น้ำ
ส่วนมากเจอแต่คนหาปลา ในแม่น้ำพอพายจริง ๆ นี่เหงามากนะ เพราะทุกสิ่งหันหลังให้แม่น้ำหมดเลยขนาดวัดริมน้ำสมัยเก่า ๆ ในอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ พอสร้างพระใหม่ก็ยังนั่งหันหลังให้แม่น้ำ
ที่บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผมเจอลูกเรือขนส่งสินค้ากากถั่วเหลืองล่องเรือไปมา เขาตะโกนเรียกเลยนะ ถามผมว่ามาจากไหน พอบอกเชียงใหม่ “เฮ้ย แวะก่อน คุยหน่อย ผมกำลังเหงาเลย ขอคุยด้วยหน่อยสิ” โยนเชือกมาให้ ผูกเรือให้เรียบร้อย แล้วจูงมือทันที พอขึ้นเรือปั๊บไปคว้าหม้อข้าวมาซาวข้าวใหญ่เลย บอก “กินข้าวด้วยกันก่อนนะ ผมเหงา” เขาพาไปดูห้องนอน บอกนอนคนเดียว เหงาจะตายห่าอยู่แล้ว เขาต้องดูสินค้า ความเรียบร้อยของเรือ ตรงไหนเป็นสนิมก็ขัด ทาสี น้ำหนักกากถั่วเหลือง ๑,๐๐๐ ตัน ได้ตันละ ๘ บาท ก็ ๘,๐๐๐ บาท เขาออกเรือจากเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี รับสินค้าจากเรือต่างประเทศที่มาถ่ายของ
ผมเคยคิดตอนไปเกาะสีชัง สงสัยว่าเรืออะไรจอดอยู่รอบเกาะเลย พวกปุ๋ยยูเรียจากยูเครนก็ต้องมาลงที่นั่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์เหมือนกัน ถ่านหินจากอินโดนีเซียด้วย หลายอย่างมาลงแม่น้ำป่าสัก ตรงอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีรถพ่วงมารับกระจายไปทั่วทุกโรงงาน
ผมเห็นชีวิตคนอยู่กับน้ำว่าเขาหากินกับน้ำยังไง
"ตลอดการเดินทางมีทั้งความสุขความทุกข์ ความฮึกเหิม และแน่นอนความสิ้นหวัง ผสมปนเปกันไป ผลัดกันเข้ามาครอบงำอารมณ์ในแต่ละวัน"
นโรดมในช่วงต้น ๆ ของการเดินทาง เรือลำแรกเป็นแคนูไม้ไผ่และผ้าเคลือบยูรีเทน ท้องเรือกระแทกแก่งหินแตก ต้องเปลี่ยนเป็นเรือยาง
ภาพ : นโรดม เขม้นเขตวิทย์
คุณได้ทำความรู้จักแม่น้ำ แล้วได้เรียนรู้เรื่องการหาปลาบ้างไหม
คนหาปลามีหลายแบบนะ บางพื้นที่ผมนั่งดูเขาเกี่ยวเบ็ดยังสวย ทีละตัว ๆ ทำเบ็ดราว ตรง สวย คนในพื้นที่จะรู้ว่าปลาบางชนิดทอดแหไม่ได้ก็วางข่าย วางข่ายไม่ได้ก็ต้องตก อีกชนิดวางลอบตรงที่ปลาชอบมา เขารู้ธรรมชาติว่าน้ำมาปลาจะขึ้นตรงนี้ ภูมิศาสตร์ไม่เหมือนกัน เป็นความรู้ที่เขาสั่งสมประสบการณ์มา น่าทึ่งมาก
บางพื้นที่ผมก็เพิ่งรู้ว่าถึงฤดูหาปลาแล้วเขาไปกันเป็นกลุ่ม มีกลุ่มหนึ่งอยู่อุทัยธานี แม่น้ำสะแกกรัง เขารู้ว่าแม่น้ำน้อยที่สิงห์บุรีมีปลาชนิดหนึ่งขึ้นมาฤดูนี้ ก็หุ้นกันห้าคน เอาเรือไปด้วยกันสามลำสี่ลำ กินนอนบนเรือเป็นเดือน ๆ แล้วก็แชร์กัน ส่งคนไปขายปลา มีเงินส่วนกลาง เงินเก็บของแต่ละคน ผมว่าเป็นระบบดีนะ
คนเหล่านี้มีแผนที่แม่น้ำลำคลองในหัว แม่น้ำน้อยไปทางนี้ได้ ลัดคลองนี้ทะลุตรงนั้น ขับหลบประตูน้ำยังไง วิธีแบบนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ เพราะมีคนหนุ่มอยู่ในกลุ่มด้วย
ชุมชนที่อุทัยธานี แม่น้ำสะแกกรัง เขาเลี้ยงปลาแรดในกระชังจนมีชื่อเสียง แล้วไม่ได้จบแค่จับปลามาชั่งกิโลขายส่ง เขายังเรียนรู้การแปรรูปปลา ทำข้าวเกรียบ น้ำพริก อาหาร ซึ่งเพิ่มมูลค่า กระดูกปลาหรือเกล็ดปลาเอาไปทำเซรัม เครื่องสำอาง ผมถามว่าพวกพี่รู้ได้ไง เขาบอกเริ่มจากอยากรู้เลยไปขอให้ประมงจังหวัดหาข้อมูลให้ พอเลี้ยงปลาในกระชังกันเยอะ ๆ สมาชิกราว ๓๐๐ คน เขาคิดว่าถ้าทำอาหารปลาเองเป็นอาหารเม็ดก็จะช่วยลดต้นทุนได้ ก็ถามประมงอีก ประมงก็ไปหาความรู้ ต้นทุน เครื่องจักรให้ ตอนหลังก็ให้ประมงทำส่งให้ชุมชน แต่สุดท้ายประมงลดคุณภาพวัตถุดิบเพื่อที่จะได้ส่วนต่างเยอะ พอเอาไปตรวจโปรตีนไม่ถึง ปลาก็ไม่โต มีคนไปโวย ทางโน้นบอกส่วนต่างผมให้คุณครึ่งหนึ่ง เขาบอกไม่ได้ จะเสียคน แล้วก็ไม่ได้อยากได้ตรงนี้อยู่แล้ว สรุปตอนท้ายก็ตัดทิ้ง
ผมว่ามันไปได้เพราะผู้นำชุมชนดี ซื่อสัตย์ แล้วก็กล้าหาญ หาความรู้ตลอดเวลา เจ๋ง โคตรชอบเลย
ผู้คนในหลายพื้นที่ยังแนบแน่นกับสายน้ำมาก
“ธรรมชาติมีระบบจัดการตัวเอง หน้าแล้ง หน้าน้ำ ระบายน้ำยังไง พอเอาเมืองเข้าไปสวมปั๊บ พังเลย ระบบที่เคยเป็นธรรมชาติ วัฏจักร คนเราไปเปลี่ยน ”
ภาพสเกตช์สถานที่ บรรยากาศ และผู้คนที่พบพานระหว่างทาง ได้สัมผัสความหลากหลายของชีวิตคนริมน้ำ การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ
มีโครงการหรือกิจกรรมอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ
ตลอดเส้นทางจากเชียงใหม่มาถึงกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ช่วงไหนทำเขื่อนได้เขาก็ทำนะ เป็นเขื่อนกันตลิ่งข้าง ๆ ตลอดทางเยอะมาก บางที่กำลังสร้าง บางที่เพิ่งเสร็จใหม่ ๆ บางที่ดูเก่ามาก บันไดหักพังไปแล้ว ผมว่าเขาพยายามจะทำหมดทั้งเส้นทาง
เขาอ้างว่าเขื่อนกันดินพัง แต่ส่วนมากน่าจะกันน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมปี ๒๕๕๗ เหมือนฝันร้าย คนกลัวดูอย่างนครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี จะเห็นชัด กำแพงหนาเลยนะ แล้วก็มีช่องเอาไว้ปิดเพิ่มความสูงขึ้นไปอีกถ้าน้ำมาสูงกว่านั้น กลายเป็นกลัวน้ำไปเลย แต่มันปิดทัศนียภาพหมด บ้านที่เคยอยู่ริมน้ำโล่ง ๆ ตอนเย็นนั่งชิล ๆ ลมพัด แทบไม่มีแล้ว หาความรื่นรมย์ให้ชีวิตไม่ได้ อย่างที่เกาะเกร็ดตอนนี้เตรียมจะทำ ก็มีปัญหา ชาวบ้านไม่ยอม
ปรกติบ้านริมน้ำมักมีแพนั่งเล่น เก้าอี้ พอทำเขื่อนกันตลิ่งพังยื่นออกไปจากตีนท่า ไม่ได้ติดริมน้ำของบ้านมีช่องว่างตรงกลางเป็นน้ำ คือ บ้าน น้ำ เขื่อน แล้วเขื่อนสูงกว่า บ้านเลยเหมือนอยู่ในกล่อง
แถวปากเกร็ด ท่าอิฐ มีเขื่อนแล้ว ร้านก๋วยเตี๋ยวมองวิวแม่น้ำสวย ๆ ไม่เห็นแล้ว ข้างล่างน้ำไหลออกไม่ได้ ถ่ายเทไม่สะดวกก็เน่า เห็นน้ำดำ ๆ ใครจะไปกินอร่อย แล้วชาวบ้านก็ไม่สามารถทำทางเชื่อมต่อกับกำแพงเขื่อนนี้ได้นะ ต้องเดินอ้อม ที่สำคัญคือชุมชนรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะมีใครก็ไม่รู้เดินบนสันเขื่อนดึก ๆ ดื่น ๆ
ที่เกาะเกร็ด ตรงสันเขื่อนทำทางเดินกว้าง ๖ เมตร คนก็รู้สึกไม่ปลอดภัย สุนทรียะของชีวิตหาย ปลาก็ไม่มีทางขึ้นมาวางไข่ ผนังปูนยาวไปหมด
แม่น้ำเจ้าพระยามีโครงการเป็นสิบ ๆ กิโล มีปัญหาหลายอย่าง อย่างชุมชนมุสลิมที่วันหนึ่งผมไปนอนตรงมัสยิดบางอ้อ เก่าแก่ สวยงามมาก อยู่ตรงข้ามสัปปายะสภาสถาน โครงการที่เกิดขึ้นมันเหมือนคุณไม่ถามคนพื้นที่เลย คนอยู่ไม่ได้ ทำให้คนแยกจากแม่น้ำ ไม่เหลือความสัมพันธ์อะไร พอแม่น้ำเน่าเสียก็ไม่มีใครสนใจ
ผมได้เรียนรู้ว่าธรรมชาติมีระบบจัดการตัวเอง หน้าแล้ง หน้าน้ำ ระบายน้ำยังไง พอเอาเมืองเข้าไปสวมปั๊บพังเลย ระบบที่เคยเป็นธรรมชาติ วัฏจักร คนเราไปเปลี่ยน
กรณีเขื่อนหรือประตูน้ำ ใครที่อยากได้
เขาหัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์นะ ค่าหัวคิว นี่แหละประเด็นหลัก ผมว่าเขาไม่ได้คำนึงหรอกว่าทำแล้วได้ผลอะไร แล้วเขาก็อ้างว่าทำตรงนี้ไม่ได้ผล ต้องไปทำตรงนั้นเพิ่ม แล้วก็หัก ๓๐
เขื่อนแก่งเสือเต้นก็เหมือนกัน ผมว่าเขาคิดแต่ว่าเป็นรายได้ ทั้งที่จริง ๆ การสร้างเขื่อนฝายกระทบสิ่งแวดล้อมมาก แต่อาจไม่เคยมีใครสำรวจจริงจัง
มีน้องคนหนึ่งอยู่อุทัยธานี เขาเรียนเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำมาก็จะมีความรู้พวกนี้ เขาเล่าให้ฟังว่าจริง ๆ แล้วระบบชลประทานบ้านเราในส่วนของภาครัฐ ราชการจัดการดูแลดี ทำโน่นทำนี่ มีตรรกะ ข้อมูล ความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่พอนักการเมืองเข้ามา “พื้นที่บ้านฉัน คุณปล่อยน้ำมาให้ชาวบ้านหน่อย” ก็เลยทำให้การจัดการน้ำไม่เป็นระบบไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นวิชาการ เพราะคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมาก ขณะเดียวกันพื้นที่การเกษตรขยายมากก็มีปัญหา เพราะอาจนานกว่าระบบชลประทานจะส่งน้ำไปทั่วถึง
ระหว่างเดินทางมีคำถามจากคนที่พบเจอบ้างหรือไม่
มี ผมก็บอกว่าชอบพายเรือ อยากรู้จักแม่น้ำ สภาพแม่น้ำ คนที่อยู่กับแม่น้ำ
ผมเจอมากกว่าคนหาปลานะ ริมแม่น้ำมีวัด วัดมีตลาดนัด คนขายของตลาดนัดเขาตระเวนทั่วภาคเหนือ ชีวิตเขาก็สนุกดี ได้เดินทาง
ทำไมตั้งชื่อนิทรรศการศิลปะหลังพายเรือเสร็จว่า “ล่องเรือหารัก”
เป็นการล้อเลียน เพราะผมโดนแซวไง พายเรือมาก็จะมีคนถาม “เฮ้ย ไปไหน ‘ล่องเรือหารัก’ เหรอ” เป็นชื่อเพลงใช่มั้ย
ผมมาคิดว่าระหว่างพายเรือเจออะไรบ้าง เจอชาวบ้านที่อุทัยฯ ก็รู้สึกว่านี่เป็นความรักของคนกับพื้นถิ่น สิ่งที่เขาเล่าก็คือความรักของเขากับชุมชนที่เขาอยู่ ผมได้เจอความรักของเพื่อนมนุษย์ที่เขาดูแลผม ให้น้ำ อาหาร เล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง
ผมว่านี่แหละคือความรัก