ในอดีตภูมินิเวศแม่น้ำ (riverscape) กับการตั้งถิ่นฐานสร้างเมืองนั้นเป็นสิ่งคู่กัน เพราะมนุษย์พึ่งพาแม่น้ำในหลากหลายมิติ ทั้งใช้ดื่มกิน เดินทาง รวมถึงอาศัยความอุดมสมบูรณ์ที่น้ำพัดพามาในการทำเกษตรและผลิตอาหาร ถึงวันนี้เมืองถูกเปลี่ยน แม่น้ำถูกแปลง แล้วจะอยู่กันอย่างไรต่อไปคือคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ
แปลงแม่น้ำสร้างเมือง:
เชียงใหม่กับภูมินิเวศ
แม่น้ำที่เปลี่ยนไป
สายน้ำที่ถูกสาป
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
เบื้องหน้าผมคือลำน้ำสีเทาสายเล็กไหลคดเคี้ยวอยู่ใต้อาคารบ้านเรือน ส่วนกว้างที่สุดของลำน้ำน่าจะไม่เกิน ๓ เมตร เมื่อหันมองซ้ายขวาพบว่าเราถูกขนาบด้วยกำแพงสูงราวจะปิดกั้นการมีอยู่ของร่องน้ำและชุมชนแห่งนี้ ผมก้มลอดใต้อาคารบันทึกสภาพลำน้ำไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีก็มาทะลุถนนอีกฝั่งหนึ่ง สิ่งสุดท้ายที่เห็นคือท่อระบายน้ำและแนวลำน้ำอันตรธานหายไปใต้ผิวถนนคอนกรีต การเดินเท้าย้อนไปทางต้นน้ำของเราสิ้นสุดลงบริเวณข้างวัดสันติธรรม
“เราคงตาม ‘ร่องกระแจะ’ ได้สุดแค่นี้ ผมคิดว่าใต้เท้าเราน่าจะเป็นแนวท่อให้น้ำไหลผ่านชุมชน ถ้าจะทำแผนที่ลำน้ำจริงจังคงต้องหาวิธีอื่น ทำเป็นงานวิจัยปล่อยเครื่องติดตาม GPS ให้ไหลตามน้ำลงมาจากบนดอยสุเทพก็อาจจะเป็นไปได้” ดร. ดนัย ทายตะคุ เอ่ยปากโยนไอเดีย ชวนเราคิดหาทางไปต่อ
ทุกคนที่ศึกษาเรื่องภูมินิเวศวิทยาคงไม่มีใครไม่รู้จัก ดนัย ทายตะคุ หนึ่งในอาจารย์ผู้บุกเบิกศาสตร์นี้ในเมืองไทย ปัจจุบันแม้จะเกษียณแล้ว แต่อาจารย์ยังสุขภาพแข็งแรง มีไฟ และสอนนักศึกษารุ่นใหม่ ๆ อยู่ที่หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
อาจารย์ดนัยพาเราเดินเท้าตามหาลำน้ำ ลำเหมือง ทั้งนอกและในเมืองเชียงใหม่ แกะรอยความสัมพันธ์ของเมืองและสายน้ำที่กำลังสูญหายไป
วิชา Landscape Ecology หรือ “ภูมินิเวศวิทยา” เป็นศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ บนผิวโลก มองภูมิทัศน์ให้เห็นระบบนิเวศ พยายามทำความเข้าใจระบบที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่ง ๆ ว่าแต่ละตัวละคร แต่ละผู้ร่วมทางในโลกใบนี้มีปฏิสัมพันธ์ ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร และมีวิวัฒนาการไปพร้อม ๆ กับโลกแบบไหน แน่นอนว่ารวมถึงเรื่องของน้ำด้วย
“ตั้งแต่เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เราจะเห็นข่าวน้ำท่วมอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่มีใครอธิบายได้ว่าเมืองต่าง ๆ น้ำท่วมได้อย่างไร หลังน้ำลดผมเลยชวนเด็ก ๆ ที่ตัวเองสอนทั้ง ป. ตรี ป. โท มาออกภาคสนามที่นี่ หาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ ต่อเนื่องแทบทุกปี”
กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเริ่มเข้าหน้าฝน อาจารย์ดนัยวางแผนเดินทางมาสำรวจเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ผู้เขียนจึงติดตามมาด้วย ขณะนั้นเราหวังเพียงว่าจะได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำกับเมือง ใครจะรู้ว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือนจะเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี
เมื่อเส้นทางสัญจรของผู้คนย้ายจากทางน้ำขึ้นมาอยู่บนบก แม่น้ำก็ค่อย ๆ ถูกถม กำแพงป้องกันตลิ่งถูกสร้างขึ้น
ภาพถ่ายในอดีตของเจดีย์ขาว หรือเจดีย์กิ่ว (คาดว่าก่อนปี ๒๔๙๖ แต่ไม่รู้ปีแน่ชัด) เห็นตำแหน่งเจดีย์ตั้งอยู่ริมตลิ่งแม่น้ำปิง
เจดีย์ขาวในปัจจุบัน หลังการถมดินสร้างถนนรอบเจดีย์ในปี ๒๔๙๖ และต่อเติมเรื่อยมาจนกลายเป็นถนนสองเลนพร้อมทางเท้า รวม ๆ แล้วแม่น้ำถูกถมให้แคบลงไปไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตร
การมาถึงของยุครถยนต์เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พื้นที่ครั้งใหญ่ของเมือง...พื้นที่ริมตลิ่งถูกถม ดาดปูน และก่อสร้างถนนเพื่อเขตเศรษฐกิจใกล้แม่น้ำที่ค่อนข้างแออัดอยู่เป็นทุนเดิม
อาคารสีขาวหลังคาสีแดงคือโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน ในอดีตคือโบสถ์คริสตจักรที่ ๑ เชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นอาคารริมน้ำมาก่อนเช่นกัน
แรกตั้ง
แม่น้ำแปงเมือง
อนึ่งพื้นภูมิสถานที่อันจะตั้งพระนครนี้สูงเบื้องตะวันตกเอียงหาตะวันออก เป็นชัยมงคลประการที่สี่ อนึ่งอยู่ที่นี้เห็นน้ำตกและเขาอุสุจบรรพตคือดอยสุเทพ ลำน้ำไหลขึ้นไปหนเหนือ เลี้ยวไปหนตะวันออก วนลงไปทิศใต้ แล้วไปทิศตะวันตกโอบอ้อมเวียงกุมกาม ลำน้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวกอดเมืองไว้ เป็นชัยมงคลประการที่ห้า อนึ่งหนองใหญ่มีอยู่หนตะวันออกเฉียงเหนือ ท้าวพระยานานาประเทศจักมาบูชาเป็นชัยมงคลประการที่หก อนึ่งแม่น้ำระมิงค์อันเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลมาแต่มหาสรซึ่งพระพุทธเจ้าได้มาอาบยังดอยสลุง ไหลมาเป็นขุนน้ำแม่ระมิงค์กรายไปตะวันออกเวียงเป็นชัยมงคลประการที่เจ็ด
ข้อความจากหนังสือ พงศาวดารโยนก ซึ่งเรียบเรียงและแปลจากพงศาวดารภาษาเหนือโดยพระยาประชากิจกรจักร เล่าถึงการเลือกสถานที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ ตามชัยมงคลเจ็ดประการ สามประการแรกคือได้พบเจอสัตว์เผือกสามชนิด ประการที่ ๔ คือลักษณะของพื้นดินที่ลาดเอียงจากดอยสุเทพทางทิศตะวันตกมาสู่ที่ราบทางทิศตะวันออก ส่วนประการที่ ๕ ๖ และ ๗ คือการมีแหล่งน้ำในพื้นที่ถึงสามแห่ง ได้แก่ แม่น้ำข่า หนองบัว และแม่น้ำปิง
เมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลาดเอียงระหว่างดอยสุเทพและแม่น้ำปิง จุดที่น้ำฝนจากบนภูเขาจะไหลผ่านมารวมเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ตั้งแต่ยุคสร้างบ้านแปงเมืองเชียงใหม่จึงถูกสร้างขึ้นด้วยองค์ความรู้ในการอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำโดยรอบ
ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของเชียงใหม่เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างน้ำและการตั้งเมืองว่า ลำห้วยส่วนหนึ่งไหลจากดอยสุเทพมาสู่คูเมืองเพื่อใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภค หากน้ำป่าไหลหลากในฤดูฝน ตรงจุดคูเมืองเชื่อมต่อกับคลองแม่ข่ามุมฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองจะทำหน้าที่ระบายน้ำออกสู่แม่น้ำปิง ขณะที่ลำห้วยอีกส่วนหนึ่งจากดอยสุเทพจะไหลผ่านพื้นที่เกษตรกรรมทางทิศเหนือของเมือง จัดสรรปันส่วนสู่ผืนนาผ่านระบบเหมืองฝาย ก่อนไหลสู่คลองแม่ข่าเช่นเดียวกัน
ในทางภูมิศาสตร์ เมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลาดเอียงระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง ทั่วทั้งเมืองจึงมีลำน้ำเล็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่มากมาย เพื่อลำเลียงน้ำฝนจากภูเขาให้ไหลผ่านเมืองลงสู่แม่น้ำสายใหญ่
“ระบบเหมืองฝายคือคำตอบที่ผู้คนที่นี่ค้นพบจากการหาทางอยู่ร่วมกับภูมินิเวศเฉพาะของตัวเอง ภาคเหนือลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขามากกว่าที่ราบ คนโบราณทำการเกษตรโดยนำไม้ไผ่มาตอกขวางลำน้ำที่อยู่สูงกว่าหมู่บ้านให้น้ำไหลช้าลงเล็กน้อย แบบที่เราเรียก ‘ฝายน้ำล้น’ แล้วเบี่ยงน้ำบางส่วนให้ไหลแยกจากลำน้ำสายหลักผ่านร่องน้ำเล็ก ๆ เรียกว่า ‘ลำเหมือง’ เพื่อลำเลียงน้ำไปเติมในนา พอน้ำเต็มนาก็จะไหลล้นผ่านร่องเล็ก ๆ ที่ขุดไว้ไปยังนาผืนอื่น ๆ ที่อยู่ต่ำกว่า ลดหลั่นตามความลาดเอียงของพื้นที่ ขนาดของชุมชนจะกว้างใหญ่ได้เท่ากับที่น้ำในลำเหมืองไหลไปถึง” อาจารย์ดนัยอธิบาย
การสร้างระบบเหมืองฝายสักแห่งหนึ่งนั้นสามารถหล่อเลี้ยงผืนนาของทุกคนในหมู่บ้าน จึงถือเป็นสมบัติร่วมของคนทั้งชุมชน มีระบบระเบียบและข้อตกลงในการใช้น้ำร่วมกัน โดยเลือก “แก่ฝาย” เป็นประธานกำกับดูแลการจัดสรรน้ำ มี “แก่เหมือง” คอยดูแลลำเหมืองแต่ละเส้นหากระบบเหมืองฝายมีขนาดใหญ่
แต่ละปีเมื่อถึงฤดูแล้งผู้ใช้น้ำจากแต่ละบ้านจะต้องส่งแรงงานมาซ่อมแซมเหมืองฝาย หากใครมีที่นามาก ใช้น้ำมาก ก็ต้องลงแรงมากกว่า เมื่อแล้วเสร็จจะทำ “พิธีเลี้ยงผีฝาย” ตามความเชื่อท้องถิ่น อาจกล่าวได้ว่าระบบเหมืองฝายเป็นทั้งองค์ความรู้ในการอยู่ร่วมกับน้ำ เป็นภูมิปัญญาในการทำเกษตร เป็นวิถีชีวิตและความเชื่อ รวมถึงเป็นกฎหมายในการอยู่ร่วมกันของสังคมคนภาคเหนือในอดีต
ลำราง
กลางเมืองใหญ่
“เวลาเราพูดว่า ‘ภูมินิเวศ’ เราพยายามทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหลายที่เป็นตัวการสร้างภูมิทัศน์ ทำให้นิเวศนี้มีชีวิตสืบเนื่อง มีวิวัฒนาการ หรือบางทีก็มีการดับสูญเสื่อมสลาย”
การเดินทางเพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำกับเมืองของเราเริ่มต้นที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เดินเท้าจากประตูเมืองไปตามถนนช้างเผือกเพียง ๑๐๐ เมตรจะพบ “สะพานร่องกระแจะ” สะพานข้ามลำน้ำเล็ก ๆ ที่หลงเหลือของระบบเหมืองฝายและทุ่งนาในอดีต
เส้นทางของลำเหมืองในสมัยก่อนนั้นไม่ได้มีบันทึกไว้มากนัก แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ฉบับ พ.ศ. ๒๔๓๖ เขียนโดย James McCarthy ชาวอังกฤษซึ่งรับราชการในกรมแผนที่ให้ข้อมูลว่า นอกกำแพงเมืองทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่เป็นทุ่งนากว้างใหญ่ แต่ไม่ได้วาดลักษณะการแบ่งแปลงนาหรือทางไหลของน้ำไว้ ส่วนข้อมูลจากแผนที่ L708 พ.ศ. ๒๕๐๒ ของกรมแผนที่ทหาร ระบุชื่อลำน้ำสายนี้ว่า “แม่น้ำท่าช้าง” ซึ่งน่าจะไหลมาจากห้วยช่างเคี่ยนบนดอยสุเทพ
ร่องกระแจะปัจจุบันเป็นลำน้ำเล็ก ๆ ซึ่งเหลือที่ดินสองฝั่งแคบมาก บ้านเรือนบางส่วนตั้งประชิดลำน้ำและทำสะพานข้ามมายังถนน บางหลังสร้างคร่อมลำน้ำโดยตั้งอยู่บนเสาไม่กี่ต้นเท่านั้นเอง
ในอดีตลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายเคยหล่อเลี้ยงผืนนานอกกำแพงทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อพื้นที่การเกษตรหายไป ความสำคัญของลำน้ำก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากการรับรู้ของผู้คน
หากตามลำน้ำไปทางทิศตะวันออก จะพบอาคารบ้านเรือนตั้งรั้วรอบขอบชิดตลอดแนวลำน้ำ จะเข้าถึงร่องกระแจะได้ก็ตรงสะพานต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นระยะ ๆ
จากสะพานร่องกระแจะ หากย้อนลำน้ำไปทางทิศตะวันตกจะพบชุมชนหนาแน่นขนาบลำน้ำด้วยกำแพงสูงตลอดแนว เดินกันมาสักพักจึงได้พบกับจุดที่ผิวน้ำสามารถสะท้อนแดดบนฟ้า
ตลอด ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา เชียงใหม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว ทุ่งนาบริเวณนี้หายไปหลายสิบปีแล้ว และกลุ่มผู้ใช้น้ำที่คอยดูแลลำน้ำก็หายไปด้วย
จากสะพานร่องกระแจะ หากเดินไปทางทิศตะวันตกเพื่อย้อนไปยังต้นน้ำ จะมีถนนสายเล็กให้พอเดินเลียบลำน้ำไปได้ระยะหนึ่ง ลัดเลาะใต้อาคารบ้านเรือนก่อนจะหายเข้าไปใต้ผิวถนน แต่หากตามทางน้ำไปทางทิศตะวันออกของสะพานร่องกระแจะจะพาเรามายังถนนอุ่นอารี จุดที่น้ำสีเทาจากร่องกระแจะไหลลงสู่คลองแม่ข่า
จากเดิมที่คงเป็นทางลำเลียงน้ำสะอาดเข้าสู่ผืนนา วันนี้ร่องกระแจะเป็นเพียงทางระบายน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือน อาจารย์ดนัยอธิบายเพิ่มว่าตลอด ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา เชียงใหม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว ทุ่งนาบริเวณนี้หายไปหลายสิบปีแล้ว และกลุ่มผู้ใช้น้ำที่คอยดูแลลำน้ำก็หายไปด้วย ประจวบกับมีการสร้างคลองชลประทานสายใหญ่และถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ตัดผ่านแนวทางน้ำจากดอยสุเทพหลายสาย ทำให้ลำน้ำในเมืองเชียงใหม่เกือบทั้งหมดถูกตัดขาดจากแหล่งต้นน้ำเดิม
หากกางแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ฉบับ พ.ศ. ๒๔๓๖ จะพบว่าบริเวณถนนอุ่นอารีที่เรายืนอยู่และพื้นที่โดยรอบน่าจะเคยเป็น “หนองบัว” หนึ่งในชัยมงคลเจ็ดประการของเมือง ส่วนหนึ่งของคลองแม่ข่าที่พวกเราคาดการณ์ว่ามีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ ทำให้น้ำที่ไหลมาขังเป็นเวิ้งน้ำ แต่ปัจจุบันหนองบัวนี้ก็หายไปแล้วเช่นกัน การสืบค้นข่าวเก่าจากสำนักข่าวท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า หนองบัวถูกถมเพื่อตัดถนนสายใหม่และพัฒนาเป็นที่ดินเอกชน เหลือไว้เพียงคลองแม่ข่าที่มีตลิ่งสองข้างเป็นปูนซีเมนต์ ระบายน้ำสีเทาจากเมืองและไหลลงสู่ที่ที่ต่ำกว่า
การเดินทางตามหาลำน้ำครั้งนี้สร้างคำถามใหม่ขึ้นในใจผม เมื่อเชียงใหม่กลายเป็นเมืองมากขึ้น พื้นที่เกษตรขยับขยายไปยังรอบนอกแทน แล้วลำน้ำกลางเมืองจะคงอยู่ต่อไปในบทบาทใด
จากลำน้ำธรรมชาติที่เคยสัมพันธ์
กับผืนดินและแม่น้ำ คลองแม่ข่า
ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นทางระบายน้ำเสียสีเทาเข้ม และไม่นานมานี้ก็ถูกทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว น่าสงสัยว่าหน้าที่ที่แท้จริงของลำน้ำคืออะไร
ส่วนต่อขยายของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองแม่ข่า จากบริเวณประตูน้ำศรีดอนไชยมาจนถึงสะพานระแกง เปลี่ยนตลิ่งดินตามธรรมชาติที่เหลืออยู่ไม่มากให้กลายเป็นแนวปูน
แนวเส้น
ลำน้ำกว้าง
ถ้าเรายืนริมแม่น้ำในฤดูฝน อาจเห็นแม่น้ำสีปูนไหลเชี่ยว พัดพาตะกอนดินโคลนจากป่าเขาไหลไปกับมวลน้ำ หากเรายืนมองแม่น้ำสายเดิมในฤดูร้อน อาจเห็นแม่น้ำแห้งขอด เหลือเพียงธารน้ำเล็ก ๆ ไหลเอื่อย ๆ เผยพื้นหินดินทรายที่ถูกพัดพามารวมกัน
แม่น้ำคือเส้นทางไหลของน้ำ เส้นทางที่น้ำกัดกร่อน เลาะเลี้ยวตามพื้นดิน กระบวนการนี้เองที่ค่อย ๆ เซาะหินดินข้างทางน้ำให้กว้างออก ขณะเดียวกันก็พัดพาตะกอนไปทับถมยังที่ที่น้ำท่วมถึง เมื่อผ่านกาลเวลายาวนานจะเกิดเป็นที่ราบกว้างใหญ่ขนาบธารน้ำ เรียกว่า “ที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain)”
แม้จะมีชื่อว่าที่ราบน้ำท่วมถึงแต่ก็ไม่ได้ราบเรียบ มีหน้าตาหลากหลายตามกระบวนการของแม่น้ำที่แตกต่างกัน เช่น เมื่อตะกอนที่ถูกพัดพามาทับถมกันขนาบแนวเส้นลำน้ำ ก่อตัวสูงกว่าระดับพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงปรกติ จะเรียก “คันดินธรรมชาติ (natural levee)” ซึ่งอาจกั้นพื้นที่บางส่วนออกจากแนวลำน้ำเมื่อระดับน้ำต่ำลง เรียกว่า “พื้นที่ลุ่มหลังคันดิน (backswamp)”
หรือเมื่อกาลเวลาผ่านไปนานมาก ๆ แนวลำน้ำอาจกัดกร่อนพื้นดินเป็นร่องต่ำ เกิดชั้นที่ราบน้ำท่วมใหม่ซึ่งต่ำกว่าระดับที่ราบน้ำท่วมถึงเดิม จะเรียกชั้นที่ราบที่สูงกว่าว่า “ลานตะพักลำน้ำ (river terrace)” และเมื่อเกิดต่อเนื่องจะทำให้พื้นที่สองข้างลำน้ำมีลักษณะเป็นแนวที่ราบลดหลั่นเหมือนขั้นบันได เรียกว่าลานตะพักลำน้ำหลายระดับ
ส่วนมากพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงจะเป็นผืนดินในฤดูแล้งและอยู่ใต้น้ำในฤดูฝน เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่ในแต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนไม่เท่ากัน ทำให้ความกว้างของแม่น้ำในช่วงน้ำน้อยสุดกับน้ำมากสุดแตกต่างกันหลายเท่า พื้นที่นี้เองที่ความอุดมสมบูรณ์ซึ่งพัดมากับน้ำในฤดูน้ำหลากงอกเงยเป็นพืชพรรณเมื่อน้ำลด และกลายเป็นหมุดหมายการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในอดีต
“การประมงในแนวลำห้วย การปศุสัตว์บนที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นเส้นทางคมนาคมและขนส่งสินค้า ชุมชนตั้งอยู่ที่ไหนจึงจะมีน้ำกินน้ำใช้ ภูมิประเทศโดยรอบเอื้อให้เศรษฐกิจใดเจริญงอกงาม เราพึ่งพาระบบนิเวศที่ซับซ้อนของแม่น้ำและพัฒนาขึ้นมาโดยมีภูมินิเวศนี้เป็นฐาน”
“วิธีที่เราพยายามควบคุมธรรมชาติ เพิ่มความเสี่ยงให้เรามากขึ้นด้วย มวลน้ำที่เก็บไว้มากขึ้นก็ท่วมหนักขึ้น นานขึ้นเช่นกัน ‘น้ำท่วมซ้ำซาก’ ก็คือฝีมือมนุษย์เรานี่เอง”
ดร. ดนัย ทายตะคุ
ทางน้ำล้นฉุกเฉิน (emergency spillway) ทางเลือกสุดท้ายเพื่อป้องกันกำแพงเขื่อนพังทลาย หากปริมาณน้ำหลากล้นจนเกินการควบคุม
อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา แหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เมืองเชียงใหม่และลำพูน อยู่ระหว่างการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ แม่แตง-แม่งัด-แม่กวง เพื่อนำน้ำจากลุ่มน้ำอื่น ๆ เติมเต็ม
ขยายตัว
เมืองแปลงแม่น้ำ
ช่วงเวลาเดียวกับที่เชียงใหม่เปลี่ยนผ่านเป็นเมืองและเริ่มก่อร่างโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ นอกจากหนองบัวที่ถูกถมหายไป พื้นที่ราบน้ำท่วมถึงริมแม่น้ำปิงก็ถูกเปลี่ยนแปลงให้พร้อมรับเมืองที่กำลังขยายตัวขึ้น
เพื่อแกะรอยความเปลี่ยนแปลงนี้ อาจารย์ดนัยชวนเราเดินเลียบแม่น้ำปิงเพื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายเก่าในอดีตกับสถานที่ปัจจุบัน เริ่มต้นที่โบสถ์คริสตจักรที่ ๑ เชียงใหม่ในอดีตตั้งอยู่ติดตลิ่งแม่น้ำปิง มีถนนสายเล็กทอดตัวตามแนวแม่น้ำกั้น แต่ปัจจุบันขยายความกว้างถนนเป็นสี่เลน พร้อมด้วยทางเท้าสองฝั่งถนน
ข้ามสะพานนวรัฐมาถึงบริเวณหน้าตลาดต้นลำไย อาจารย์ดนัยเปิดภาพถ่ายการสร้างคันกั้นน้ำในปี ๒๕๓๒ ภาพถ่ายทางอากาศระหว่างก่อนและหลังสร้างคันกั้นน้ำเผยความจริงว่าบริเวณที่เรายืนอยู่ในปัจจุบันเป็นแนวลำน้ำมาก่อน แต่มีการถมดินจนความกว้างของแม่น้ำลดลงเหลือครึ่งเดียว
เมื่อเดินมาถึงหน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา สิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือ “เจดีย์ขาว” หรือ “เจดีย์กิ่ว” เจดีย์กลางถนนที่ทำหน้าที่เป็นวงเวียนของสามแยกแห่งนี้ แต่เมื่อดูภาพถ่ายในอดีต เจดีย์เคยอยู่ชิดขอบตลิ่งแม่น้ำปิงเช่นกัน
อาจารย์อธิบายว่า การมาถึงของยุครถยนต์เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พื้นที่ครั้งใหญ่ของเมือง ถนนสายใหม่ถูกยกสูงกว่าพื้นที่โดยรอบเพื่อให้ปลอดภัยจากน้ำเอ่อล้นแม่น้ำในฤดูน้ำหลาก พื้นที่ริมตลิ่งถูกถม ดาดปูน และก่อสร้างถนนเพื่อเขตเศรษฐกิจใกล้แม่น้ำที่ค่อนข้างแออัดอยู่เป็นทุนเดิม
ความกว้างที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดของถนน คือความกว้างของแม่น้ำที่ถูกถม ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก เมื่อมวลน้ำไหลมาเจอแม่น้ำที่แคบลง ระดับน้ำก็สูงขึ้นและล้นเข้าสู่ชุมชนที่อยู่อาศัย เกิดเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งแม่ปิงซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
“ตอนสร้างเมืองเราไม่ได้เผื่อที่ไว้ให้น้ำ พอน้ำเอ่อล้น แม่น้ำก็เรียก ‘น้ำท่วมซ้ำซาก’ พูดว่าน้ำคือภัย ต้องหาทางป้องกัน บริเวณต้นน้ำก็สร้างเขื่อน ในตัวเมืองก็สร้างกำแพง แต่เราต้องรู้ตัวกันได้แล้วว่าส่วนหนึ่งของ ‘น้ำท่วมซ้ำซาก’ ก็คือฝีมือมนุษย์เรานี่เอง”
แผนที่เชียงใหม่ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๓๐ โดยพระวิภาคภูวดล (James McCarthy)
ภาพเปรียบเทียบบริบทของริมฝั่งแม่น้ำปิงที่ถูกรุกล้ำจนหดแคบลงจากอดีต
อ้างอิงและภาพ : วิทยานิพนธ์เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของภูมินิเวศแม่น้ำ : กรณีศึกษา แม่น้ำปิง บริเวณเมืองและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่” โดย สิรินทรา สุมนวรางกูร
โบสถ์คริสตจักรที่ ๑ เชียงใหม่
ในอดีตเป็นโบสถ์ริมน้ำ มีเพียงถนนเล็ก ๆ กั้นระหว่างอาคารกับตลิ่งดินซึ่งลาดลงสู่แม่น้ำ ปัจจุบันถมที่สร้างเป็นถนนใหญ่สี่เลนและกั้นกำแพงตลอดแนวตลิ่ง ไม่มีทางลงแม่น้ำ ส่วนฝั่งตรงข้ามก็ถมตลิ่งรุกลำน้ำ
สะพานจันทร์สม-อนุสรณ์ (ขัวเก่า)
สะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรก เชื่อมชุมชนวัดเกตกับตลาดใหญ่ ในอดีตเคยมีการคมนาคมสัญจรทางน้ำคึกคัก ทั้งการล่องเรือและล่องไม้ซุง ปัจจุบันการคมนาคมทางบกเป็นเส้นทางหลัก
สะพานนวรัฐ
ในอดีตแม่น้ำปิงแผ่กว้าง ระดับน้ำไม่ลึกมาก หน้าแล้งน้ำลดจะมีสันดอนทรายโผล่ เป็นพื้นที่ที่ชาวเมืองใช้จัดประเพณีปีใหม่ในเดือนเมษายน ปัจจุบันหลังจากการสร้างประตูกั้นน้ำและตลิ่งสองฝั่งถูกถมที่รุกล้ำลำน้ำให้แคบลง ระดับน้ำจึงสูงขึ้น แม่น้ำสูญเสียพลวัตของน้ำแล้ง-น้ำหลาก
ตลาดต้นลำไย
ในอดีตเป็นตลาดติดลำน้ำปิง ไม่มีถนนหรือแนวตลิ่งกั้น ก่อนจะถูกไฟไหม้ใหญ่ในปี ๒๕๑๑ ภายหลังมีการก่อสร้างคันกั้นตลิ่งในปี ๒๕๓๒ ถมที่แม่น้ำขนานใหญ่เพื่อสร้างถนนและลานจอดรถข้างตลาด
สะพานนครพิงค์
้นที่ริมน้ำถูกเปลี่ยนเป็นโครงสร้างแข็งทำให้พืชพรรณริมน้ำเดิมสูญหาย อีกทั้งยังปิดกั้นการมองเห็นและการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ ตัดขาดวิถีชีวิตและความสัมพันธ์กับพื้นที่ริมน้ำของเมืองไป
แล้ง-หลาก
ที่หายไป
“ถ้าคุณไปค้นภาพเก่าของเมืองเชียงใหม่เมื่อ ๕๐ ปีก่อน จะเจอว่าเราเคยลงไปเล่นสงกรานต์จัดงานปีใหม่เมืองในแม่น้ำปิงได้ เพราะระดับน้ำลดลงเป็นเกาะแก่ง ชาวบ้านมารวมตัวขนทรายจากสันดอนทรายกลางแม่น้ำเข้าวัด ส่วนริมตลิ่งปลูกผักสวนครัว วันนี้เราไม่มีอะไรแบบนั้นอีกแล้ว”
นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกเมื่อ ๖๓ ปีก่อน ประเทศไทยเริ่มแผนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อการชลประทานและพลังงานไฟฟ้าเป็นครั้งแรก รัฐบาลส่งเสริมการปลูกข้าวเพื่อส่งออก ส่งผลให้พื้นที่เกษตรเดิมต้องการน้ำมากขึ้นสำหรับเพาะปลูกในฤดูแล้ง ส่วนพื้นที่เกษตรใหม่ต้องการระบบชลประทานเพื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ
อาจารย์ดนัยพาเราเดินทางออกนอกเมืองเพื่อดูโครงสร้างแข็งขนาดใหญ่ในลำน้ำ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ที่อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งคือที่ตั้ง “เขื่อนแม่กวงอุดมธารา” ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง มูลค่า ๑.๕ หมื่นล้านบาท ผันน้ำจากประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ลำน้ำแม่แตง และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มายังเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเพื่อการอุปโภค บริโภคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่และลำพูน
ระบบเหมืองฝายคือคำตอบจากการอยู่ร่วมกับภูมินิเวศแบบภูเขา ในภาพจะเห็น “ลำเหมือง” แต่ละสายตั้งอยู่ที่ระดับความสูงต่าง ๆ กัน ลำเลียงน้ำไหลตามแรงโน้มถ่วงไปยังผืนนาที่อยู่บนพื้นที่สูงต่ำต่างกัน
ระบบเหมืองฝายโบราณที่ยังหลงเหลือในตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด แม้จะมีการดาดปูนในลำเหมืองหลายสายจนหน้าตาเปลี่ยนไป แต่ยังคงโครงข่ายการลำเลียงน้ำที่ซับซ้อน หล่อเลี้ยงเกษตรกรในพื้นที่ได้ดังในอดีต
อ้อมลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองที่ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อดูกำแพงป้องกันน้ำท่วมแม่น้ำปิงที่กำลังก่อสร้างอยู่ จากตรงนั้นเดินทางต่อมาอีกนิดคือ “ประตูกั้นน้ำป่าแดด” ซึ่งกักมวลน้ำส่วนหนึ่งไว้ โดยมีผลที่แลกมาคือพลวัตน้ำแล้ง-น้ำหลากของแม่น้ำปิงหายไปตลอดกาล
“ในทางวิศวกรรมเราอาจคำนวณตัวเลขคร่าว ๆ ได้ว่า ถ้าสร้างกำแพงทำให้มีมวลน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งเท่าไร เขื่อนจุน้ำเท่าไร แต่ยังไม่มีใครตอบเราได้จริง ๆ ว่าการใช้โครงสร้างแข็งมาแทรกแซงพลวัตและกระบวนการของลำน้ำจะส่งผลอย่างไรต่อภูมินิเวศในระยะยาว”
ในภาษาของคนโบราณ อธิบายคุณประโยชน์ของแหล่งน้ำต่อเมืองเชียงใหม่ผ่านชัยมงคลเจ็ดประการ ส่วนภาษาวิชาการของนักภูมินิเวศวิทยาใช้ว่า “การบริการเชิงนิเวศ (ecological service)” หมายถึงผลเชิงบวกต่าง ๆ ที่กระบวนการของระบบนิเวศมอบแก่มนุษย์ แบ่งเป็นหลายด้าน เช่นด้านทรัพยากรพื้นที่ เช่นอาหารและน้ำสะอาด หรือด้านควบคุมความสมดุลของปรากฏการณ์ธรรมชาติ อย่างการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ แต่แม่น้ำจะสร้างการบริการเชิงนิเวศได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อระบบนิเวศดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ หรือแม้แต่หล่อหลอมให้เกิดวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
“วิธีที่เราพยายามควบคุมธรรมชาติเพิ่มความเสี่ยงให้เรามากขึ้นด้วย มวลน้ำที่เก็บไว้มากขึ้นก็ท่วมหนักขึ้น นานขึ้นเช่นกัน ถ้าเราหาวิธีบริหารจัดการที่ยืดหยุ่น มีพลวัต และอยู่บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจจริง ๆ ว่าโครงสร้างแข็งเหล่านี้จะทำหน้าที่อย่างไรในภูมินิเวศก็อาจช่วยได้”
คนโบราณสร้างฝายน้ำล้นเล็ก ๆ ยกระดับน้ำให้สูงขึ้นแล้วเบี่ยงน้ำจากสายน้ำหลักบางส่วนให้ไหลแยกไปเติมในนา ขนาดของชุมชนจะกว้างใหญ่ได้เท่ากับที่น้ำในลำเหมืองไหลไปถึง
หลังการสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธารา คลองชลประทานใหม่ บางส่วนสร้างตัดกับแนวลำเหมืองเดิม ตรงจุดตัดลำเหมืองเดิมจึงถูกปรับเป็นสะพานส่งน้ำแบบลอยตัว (aqueduct) เพื่อรักษาความสูงเดิมของลำเหมืองไว้
แม่น้ำร่วมเมือง
วันที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ ผมเพิ่งได้ข่าวจากเพื่อนที่เชียงใหม่ว่าน้ำเริ่มลดลง สัปดาห์หลังจากนี้คนทั้งเมืองคงง่วนอยู่กับการล้างโคลน ส่วนผมก็ต้องเตรียมตัวเช่นกัน เพราะมวลน้ำจากภาคเหนือทยอยไหลมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างแล้ว มีการประกาศให้บางชุมชนขนของขึ้นที่สูง
ในอดีตพวกเราเลือกมาอยู่อาศัยใน “ที่ราบน้ำท่วมถึง” สร้างบ้านแปงเมืองบนฐานความเข้าใจของภูมินิเวศ อาศัยการปรับตัวตามพลวัตของธรรมชาติเป็นฐานการดำรงชีวิต แต่วันหนึ่งเราขยายเมือง แปลงแม่น้ำอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้เข้าใจธรรมชาตินัก หลงคิดไปเองว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ทลายได้ทุกข้อจำกัด จนละเลยลำน้ำที่เราเคยพึ่งพา มองไม่เห็นว่าลำน้ำนั้นทำหน้าที่อย่างไรกับเมืองของเรา
ปัญหาน้ำท่วมเมืองที่เราเองก็มีส่วนก่อนี้คงจะไม่หายไปง่าย ๆ มิหนำซ้ำอาจทวีความรุนแรงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
“ยังไม่มีใครออกมาตอบเราได้จริง ๆ ว่าการใช้โครงสร้างแข็งมาแทรกแซงพลวัตและกระบวนการของลำน้ำ กำลังส่งผลอย่างไรต่อภูมินิเวศในระยะยาว สุดท้ายเราจะได้อะไร และเสียอะไรไปบ้าง”
ดร. ดนัย ทายตะคุ
ก่อนแยกกันผมถามอาจารย์ดนัยว่า เราควรอยู่กับแม่น้ำอย่างไร
“เราปล่อยให้แม่น้ำทำงานของตัวเอง น้ำจะหลากจะท่วมก็ตามฤดูกาล แล้วมาเรียนรู้กันว่านี่คือระดับน้ำปรกติของฤดูแล้ง นี่คือระดับน้ำปรกติของฤดูน้ำหลาก พื้นที่ทั้งหมดที่น้ำจะท่วมให้เว้นไว้เป็น ‘แนวเชื่อมต่อทางระบบนิเวศ (ecological corridor)’ เพื่อฟื้นฟูและรักษาความเชื่อมโยงสัมพันธ์ในภูมินิเวศ เป็นที่รองรับน้ำหลาก พอน้ำลด เราก็ได้พื้นที่สีเขียวที่คนใช้ประโยชน์ได้ แค่นี้ภัยทั้งหลายก็จะกระทบเราน้อยลง
“คุณพร้อมจะทำความเข้าใจและออกแบบอนาคตเราใหม่ไหมล่ะ”