Image

แม่น้ำยวมไหลลงแม่น้ำเมย แม่น้ำเมยไหลลงแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสาละวินไหลลงทะเลที่อ่าวเมาะตะมะ เชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศเฉพาะของลุ่มน้ำสาละวิน 

สืบชะตา สาละวิน
KEEP THE RIVERS FLOWING

สายน้ำที่ถูกสาป

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง, ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพจำลองโครงการผันน้ำยวม : อภิชาติ งามเลิศ

เพลง “Salween in the world” ที่คำร้องยาวไม่ถึงครึ่งหน้ากระดาษ ถูกร้องริมฝั่งแม่น้ำสาละวินในช่วงเช้าวันหยุดเขื่อนโลก

ช่วงต้นของบทเพลงเป็นภาษากะเหรี่ยง มีความหมายเกี่ยวกับการดูแลรักษาแหล่งน้ำ ตามด้วยภาษาอังกฤษที่สื่อความตรงไปตรงมา

Salween in the world. River never dies. For people. For life. I like Salween. I love Salween. Protect Salween.

หลังเดินขบวนลงมาจากลานกลางหมู่บ้านท่าตาฝั่ง ผู้คนจากสองฝั่งแม่น้ำร่วมชุมนุมบนหาดทราย อ่านแถลงการณ์แล้วยกแพไม้ไผ่ติดข้อความ “NO DAM” ลอยลงไปในแม่น้ำ

“ขอให้แม่น้ำไหลอย่างเสรี”

“ขอให้ยกเลิกเขื่อนทั้งหลายในภูมิภาคนี้”

“save the river”

ไม่มีใครรู้ว่าแพลำเล็ก ๆ จะลอยไปถึงไหน จะฝ่าคลื่นลมไปไกลถึงอ่าวเมาะตะมะปลายทางของแม่น้ำสาละวินหรือไม่

Image

แม่น้ำสาละวินที่บ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฝั่งตรงข้ามคือรัฐกะเหรี่ยง เป็นแม่น้ำนานาชาติไหลผ่านสามประเทศ คือ จีน พม่า และไทย

สาละวินมีความยาวทั้งหมด ประมาณ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่ยังคงไหลอย่างอิสระ แทบไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์เหมือนแม่น้ำหลักสายอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้

แก่งหินงามกลางแม่น้ำยวมที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่สี่อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน หากสร้างเขื่อนและอุโมงค์ผันน้ำ แม่น้ำและผืนป่าปกคลุมสองฟากฝั่งจะถูกน้ำท่วมเป็นระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร 

สายน้ำ
สามแผ่นดิน

“หยุดเขื่อนสาละวิน”
“หยุดอุโมงค์ผันน้ำยวม”

ข้อความบนป้ายผ้าที่ติดอยู่ในหมู่บ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สถานที่จัดงานวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action for Rivers : against Dams) เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ บ่งบอกสถานการณ์ที่ไม่สู้ปรกตินัก

“เราขอให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนเพื่อให้แม่น้ำไหลอิสระ ยุติโครงการพัฒนาที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ เพราะแม่น้ำจะถูกทำลาย ระบบนิเวศจะเปลี่ยนไป” แอรีน่าบอก เธอเป็นตัวแทนเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน อ่านแถลงการณ์บนหาดทรายริมน้ำ

แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านสามประเทศ คือ จีน พม่า และไทย

คนไทยส่วนใหญ่รู้จักแม่น้ำสาละวินน้อยกว่าแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านพรมแดนไทย-ลาวทางภาคเหนือและภาคอีสาน อาจเป็นเพราะพรมแดนตะวันตกซึ่งแม่น้ำสายนี้ไหลผ่านเป็นดินแดนชายขอบทั้งทางภูมิศาสตร์และการเมืองทางชาติพันธุ์

ด้านภูมิศาสตร์นั้นต้องข้ามภูเขาหลายลูกเพื่อไปให้ถึงแม่น้ำสาละวินในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ด้านการเมืองทางชาติพันธุ์ มีชุมชนสองฝั่งน้ำที่ต้องนั่งเรือผ่านเกาะแก่ง โขดหิน และป่าดิบชื้น กว่าจะได้พบบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ กลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินมาหลายชั่วอายุ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศไทย แต่เป็นคนส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำสาละวิน ภาษาที่ใช้สื่อสารคือภาษากะเหรี่ยงที่แตกต่างไปจากภาษาตระกูลไท ชุมชนในฝั่งเขตประเทศพม่ายังต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

จากจุดกำเนิดบนที่ราบสูงทิเบตระดับความสูงมากกว่า ๔,๐๐๐ เมตรจากระดับทะเลปานกลาง หิมะและธารน้ำแข็งละลายกลายเป็นนู่เจียง (Nu Jiang) หรือแม่น้ำสาละวินตอนบน ไหลลงสู่พื้นที่ลาดชันที่เต็มไปด้วยภูเขาทางทิศใต้  ช่วงต้นของแม่น้ำสาละวินขนานไปกับช่วงต้นของแม่น้ำโขงและช่วงต้นแม่น้ำแยงซี จุดที่ใกล้กันที่สุดของแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำโขงอยู่ห่างกันแค่ ๑๘ กิโลเมตร มีเพียงภูเขาสูงกั้นพื้นที่บริเวณนี้ของจีนเรียกว่า “สามแม่น้ำไหลเคียง” (Three Parallel Rivers) ซึ่งยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เต็มไปด้วยพืชพันธุ์และสัตว์หายาก เป็นถิ่นที่อยู่ของพันธุ์สัตว์ร้อยละ ๒๕ ของโลก ร้อยละ ๕๐ ของจีน มีสัตว์สงวนหรือคุ้มครอง ๗๗ สายพันธุ์

Image

พี่น้องกะเหรี่ยงจากสองฝั่งแม่น้ำสาละวินมาร่วมชุมนุมกันบนหาดทรายบริเวณหมู่บ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติโครงการที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action for Rivers : against Dams) ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗  

แม่น้ำสามสายไหลเคียงกันเป็นระยะทาง ๑๗๐ กิโลเมตรก็แยกย้ายไปลงทะเลคนละทิศคนละทาง ปากของแม่น้ำทั้งสามสายอยู่ห่างกันกว่า ๑ หมื่นกิโลเมตร

แม่น้ำสาละวินไหลผ่านมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีนเข้าสู่ตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า มีแม่น้ำปางเป็นแม่น้ำสาขาไหลมาบรรจบ ผ่านธรณีสัณฐานหินปูนเกิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม เต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่เรียกว่า “กูนเฮน” (Kunhein) หรือ “เมืองพันเกาะ” เป็นความงามทางธรรมชาติที่หาได้ยากในพื้นที่อื่น

เมื่อไหลลงสู่รัฐคะเรนนี แม่น้ำสาละวินมีสาขาคือแม่น้ำปาย ไหลจากอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และแม่น้ำปอน ไหลจากทะเลสาบอินเลมาสมทบ  บริเวณนี้แม่น้ำลดระดับลงมาเหลือต่ำกว่า ๓๐๐ เมตรจากระดับทะเลปานกลางแล้ว ก่อนที่จะไหลเป็นเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าคั่นอำเภอแม่สะเรียงและอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน กับรัฐกะเหรี่ยง  พื้นที่ทางฝั่งไทยประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน อุทยานแห่งชาติสาละวิน และป่าสงวนแห่งชาติ  ฝั่งตรงกันข้ามกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงร่วมกันประกาศเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน (Salween Peace Park) ซึ่งได้รับการยกย่องจากนานาชาติและได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมระดับโลก เช่น Equator Prize จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

แม่น้ำสำคัญในลุ่มน้ำสาละวินอีกสายคือแม่น้ำยวม มีต้นกำเนิดบนภูเขาในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไหลผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง มาบรรจบกับแม่น้ำแม่สะเรียงและแม่น้ำเงา ผ่านบ้านแม่เงา อำเภอสบเมย แล้วไหลลงสู่แม่น้ำเมย  ก่อนแม่น้ำเมยไหลจากอำเภอพบพระ อำเภอแม่สอด และอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มาบรรจบกับแม่น้ำสาละวินตรงพรมแดนไทย-พม่า

หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินไหลวกกลับเข้าพม่าผ่านแก่งหินที่มีชื่อภาษากะเหรี่ยงว่า “เกโด่โข่” หรือ “แก่งฮัตจี” บริเวณนี้ไม่สามารถเดินเรือได้ แม่น้ำค่อย ๆ ลดระดับลงจนไหลสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ รวมระยะทางทั้งหมด ๑,๗๕๐ ไมล์ หรือประมาณ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับ ๒๖ ของโลก

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่า “แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำยาวสายท้าย ๆ ของโลกที่ส่วนใหญ่ของลำน้ำยังคงไหลอย่างอิสระ เป็นถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๑๓ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลีซู ตู๋หลง ปะหล่อง ไทใหญ่ คะเรนนี กะเหรี่ยงแทบจะไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์เมื่อเปรียบเทียบกับแม่น้ำหลักสายอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน นี่เป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยังคงความเป็นธรรมชาติมากที่สุดสายหนึ่งของโลก

“เช่นเดียวกับแม่น้ำยวม แม่น้ำเมย แม่น้ำเงา แม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินทางฝั่งไทย ช่วงที่ไหลผ่านผืนป่าถูกรบกวนจากมนุษย์น้อย จะมีแม่น้ำอีกกี่สายที่แล่นเรือเป็นชั่วโมงทั้งสองข้างยังเป็นป่าเขียวขจี แก่งเป็นแก่งตลิ่งเป็นตลิ่ง ล้านปีที่แล้วเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็น่าจะยังเป็นแบบนั้น”

เยาวชนเครือข่ายกะเหรี่ยงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปกป้องสิทธิของชุมชนและสิทธิของแม่น้ำในกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลก และกิจกรรมค่ายเยาวชนสัมพันธ์ลุ่มน้ำสาละวินที่บ้านท่าตาฝั่ง วันที่ ๑๑-๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗

ระบบนิเวศ
ลุ่มน้ำ

“แม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีคุณค่าเช่นนี้ควรได้รับการอนุรักษ์มากกว่าทำลาย” เยาวชนคนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนสัมพันธ์ลุ่มน้ำสาละวินที่บ้านท่าตาฝั่ง วันที่ ๑๑-๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ ก่อนวันหยุดเขื่อนโลกบอก

เยาวชนอีกคนที่เดินทางมาจากอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเล่าเสริม “ริมฝั่งแม่น้ำจะมีหมู่บ้านของพวกเราตั้งอยู่เยอะ ชาวบ้านพึ่งพาแม่น้ำทำการเกษตร ดื่มกิน ปรุงอาหาร และเดินเรือ บางช่วงไม่สามารถแล่นเรือได้เพราะว่ามีเกาะแก่งมาก”

ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวินมีความสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำสายใหญ่สายสุดท้ายที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงทั้งพันธุ์พืช สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ ป่าสักในลุ่มน้ำสาละวินเป็นผืนใหญ่ต่อเนื่องกัน ต่างจากป่าสักในประเทศอื่นที่เป็นหย่อม ๆ

เพียรพร หนึ่งในวิทยากรกิจกรรมค่ายเยาวชนฯ เล่าว่า ลุ่มน้ำสาละวินมีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ติดต่อกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ประกอบกับอยู่ห่างไกล การศึกษาด้านนิเวศวิทยาทางน้ำจึงยังไม่มากนัก

อย่างไรก็ตามประสบการณ์ของชาวบ้านพบว่าลุ่มน้ำสาละวินมีพันธุ์ปลานับร้อยชนิดอพยพขึ้นลงระหว่างแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำสาขา หล่อเลี้ยงชุมชนริมแม่น้ำทั้งฝั่งไทยและพม่า

ยกตัวอย่างระบบนิเวศสลับซับซ้อนของแม่น้ำปางที่กูนเฮนเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้านในรัฐฉาน พ่อเฒ่าชาวไทใหญ่คนหนึ่งเคยเล่าถึงชีวิตในเมืองพันเกาะแห่งนี้ว่า “น้ำปางมีปลามากมายจนจับไม่ไหว ชาวบ้านจะพากันไปจับปลาในแม่น้ำ และมันง่ายมากที่จะจับได้ในช่วงฤดูฝน  น้ำจากแม่น้ำจะค่อย ๆ สูงขึ้นจนท่วมเข้ามาในที่นา ทำให้ปลาจากแม่น้ำเข้ามาอยู่ในที่นาของพวกเรา พวกเราเพียงแค่ใช้ตาข่ายดักจับก็ได้ปลามาเป็นจำนวนมาก น้ำหนักของปลาโดยทั่วไปประมาณ ๑ กิโลครึ่งจนถึง ๕ กิโล นอกจากนี้ยังมีกุ้งและสัตว์น้ำอื่น ๆ มากมายให้เราจับ”

พันธุ์ปลาที่มีชื่อเสียงของแม่น้ำสาละวิน ได้แก่ ปลาหมู ปลาคัง รวมทั้งปลาตูหนา (ปลาสะแงะ) ที่วางไข่ในทะเลลึกของมหาสมุทรอินเดียแล้วอพยพขึ้นมาเติบโตตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน

หนังสือ สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน ผลิตโดยโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต, โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า และศูนย์ข่าวสาละวิน ระบุว่า แม่น้ำสาละวินช่วงพรมแดนไทย-พม่าสลับซับซ้อนทั้งแก่งหิน วังน้ำ น้ำวน บางจุดแม้แต่ช่วงฤดูแล้งยังลึกถึง ๖๑ เมตร ความอุดมสมบูรณ์นี้จะเห็นได้จากรัฐบาลไทยประกาศให้แม่น้ำสาละวินช่วงพรมแดนไทย-พม่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ที่มีความสำคัญระดับชาติ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๓

โครงการพัฒนาที่ขาดการคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม มองแต่การแสวงหาประโยชน์ กำลังทำร้ายแม่น้ำ

Image

ท่าเรือบ้านแม่สามแลบ จุดผ่อนปรนเพื่อการค้าชายแดน อยู่ท่ามกลางภูมิประเทศสลับซับซ้อนของภูเขาและแม่น้ำสาละวินที่ไหลคดโค้งเป็นพรมแดน  บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกขนาบด้วยโครงการเขื่อนฮัตจีทางตอนล่าง และเขื่อนดา-กวินทางตอนบน

แม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินเป็นแหล่งวางไข่สำหรับปลาที่อพยพไปมาระหว่างทะเลกับแม่น้ำ  แม่น้ำสาขาที่สำคัญด้านท้ายน้ำ เช่นแม่น้ำไกร์น อยู่ติดทะเล มีน้ำขึ้นลงและมีน้ำกร่อย ชาวบ้านตามริมฝั่งใช้น้ำในแม่น้ำปลูกผัก ปลูกข้าว ทำประมง และบริโภคในครัวเรือน

“พวกเรานำน้ำมาใช้ได้ง่าย ๆ และในแม่น้ำก็มีปลามากมาย ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องซื้อปลามาทำอาหาร” หนังสือ สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน บันทึกเรื่องราวของชาวนาคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำไกร์น

ปากแม่น้ำสาละวินที่รัฐมอญมีระบบนิเวศเป็นเอก-ลักษณ์ แม่น้ำสาละวินแตกแขนงก่อนไหลลงสู่ทะเลทำให้เกิดเกาะจำนวนมาก เกาะส่วนใหญ่มีลักษณะถาวร แต่ก็มีบางเกาะที่เกิดขึ้นชั่วคราวจากการทับถมของตะกอนที่กระแสน้ำพัดพามา แม้ว่าเกาะเหล่านี้จะมีอายุขัยแค่ ๑ ปีก่อนถูกกระแสน้ำพัดพาไปหรือถูกทำลายในฤดูมรสุมที่คลื่นลมแรง แต่ชาวบ้านมักจะเข้าไปจับจองที่ดินบนเกาะใหม่ ๆ เพื่อเพาะปลูกข้าว ผัก หรือผลไม้ ขณะเดียวกันกระแสน้ำที่ถูกรบกวนด้วยเกาะน้อยใหญ่ก็เปลี่ยนทิศทางการไหลไปหลายทิศทาง เป็นเหตุให้เกาะขนาดเล็กถูกพัดพาหายไป เกิดเกาะและหาดทรายใหม่ ๆ  ช่วงฤดูแล้งบางจุดเดินข้ามแม่น้ำที่สูงเพียงเอวได้ เมื่อน้ำขึ้นแม่น้ำก็จะไหลท่วมริมฝั่งเช่นเดิม

แม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขาจะขึ้นลงตามระดับน้ำทะเล โดยน้ำจะขึ้นสองครั้งต่อวัน และช่วงเวลาน้ำขึ้นจะต่างกัน ๑ ชั่วโมงทุกวันด้วยอิทธิพลของดวงจันทร์ ระดับน้ำขึ้นและลงอาจลึกเข้าไปในส่วนที่เป็นพื้นดินถึง ๗๕ กิโลเมตร  องค์กรเยาวชนก้าวหน้าชาวมอญเคยสำรวจพบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำสาละวินจะขึ้นลงเป็นระยะทาง ๒๕ กิโลเมตรจนถึงหมู่บ้านตอเอ แม่น้ำไกร์นมีน้ำขึ้นลงเป็นระยะทาง ๖๐ กิโลเมตรจนถึงหมู่บ้านจอนโด ส่วนแม่น้ำอัตตรันมีน้ำขึ้นลงเป็นระยะทาง ๗๕ กิโลเมตรจนถึงหมู่บ้านชองนักวา

เฉพาะแม่น้ำสาละวินช่วงท้ายน้ำ พื้นที่ซึ่งน้ำจืดไหลมาบรรจบกับน้ำเค็ม ก็แบ่งระบบนิเวศออกเป็นสามส่วนแล้ว ส่วนแรกคือบริเวณปากแม่น้ำที่บรรจบกับอ่าวเมาะตะมะ มีปริมาณน้ำเค็มสูง ส่วนที่ ๒ ได้แก่แม่น้ำด้านเหนือน้ำ มีปริมาณน้ำจืดสูง และส่วนที่ ๓ เป็นเขตน้ำจืดล้วน ๆ แม้ว่าทั้งหมดจะมีลักษณะน้ำขึ้นลงอยู่ก็ตาม

ผืนป่าสาละวินมีการกระจายพันธุ์พืชและสัตว์มาจากแถบเทือกเขาหิมาลัย แคว้นอัสสัมของอินเดีย พม่า และเป็นตัวแทนภูมิพฤกษ์แบบอินโด-เบอร์มา (Indo-Burma)

ต้นไคร้น้ำเป็นพืชท้องถิ่นที่พบทั่วไปในแม่น้ำสาละวิน เป็นสิ่งสะท้อนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศตามธรรมชาติ ขณะที่บางพื้นที่ของแม่น้ำโขง ไคร้น้ำยืนต้นตายเพราะความผันผวนของระดับน้ำจากการมีเขื่อน 

Image

เขื่อนขั้นบันได

หลายทศวรรษที่ผ่านมามีความพยายามสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าร่วม ๒๐ โครงการบนแม่น้ำสาละวินตลอดทั้งสาย มีเขื่อน ๒ แห่งถูกสร้างแล้วที่ต้นแม่น้ำสาละวินในทิเบต

เฉพาะแม่น้ำสาละวินตอนบนในประเทศจีนมีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย ๑๓ โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม ๒๑,๓๒๐ เมกะวัตต์ หากก่อสร้างจะต้องอพยพประชาชนอย่างน้อย ๕.๖ หมื่นคน แต่ด้วยการทักท้วงของนักวิชาการและนักอนุรักษ์ในจีน ประกอบกับความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวและข้อห่วงกังวลอื่น ๆ ทำให้รัฐบาลจีนยกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินออกจากแผนพัฒนาในปี ๒๕๕๙ และยังคงไม่บรรจุในแผนจนถึงปัจจุบัน

ส่วนโครงการเขื่อนที่มีการผลักดันบนแม่น้ำสาละวินในพม่าและพรมแดนไทย-พม่ามีเจ็ดโครงการ รวมกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า ๒.๒ หมื่นเมกะวัตต์ เฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่บนแนวชายแดนไทย-พม่ามีด้วยกันสองโครงการ คือ เขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่าตอนบนเรียกว่าเขื่อนเว่ยจี ตั้งอยู่ใกล้ปากห้วยแม่แต๊ะหลวง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่าตอนล่างเรียกว่าเขื่อนดา-กวิน ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านท่าตาฝั่ง ทั้งสองเขื่อนต่างก็ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กับรัฐกะเหรี่ยง

โครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ามีกระจายตลอดลุ่มน้ำสาละวิน รวม ๒๐ โครงการ เป็น “เขื่อนขั้นบันได” บนแม่น้ำนานาชาติ

Image

เพียรพรเล่าว่าบริเวณที่ตั้งเขื่อนเว่ยจีเป็นช่วงที่แม่น้ำสาละวินไหลผ่านโตรกผาแคบ ๆ ติดต่อกันประมาณ ๘ กิโลเมตร ก่อนที่จะไหลออกสู่เวิ้งน้ำกว้างใหญ่  คำว่า “เว่ยจี” เป็นภาษาพม่าแปลว่า “วังน้ำใหญ่”  ทุกปีเมื่อถึงช่วงน้ำหลาก มวลน้ำปริมาณมหาศาลที่ถูกบีบมาจากโตรกผาจะไหลวนเข้าสู่เวิ้งน้ำ ดำดิ่งผ่านแก่งหินใต้น้ำ และระเบิดพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำวน  คนที่แล่นเรือสัญจรไปมาต้องระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นก็ต้องเลาะชายฝั่งไปอย่างช้า ๆ ไม่เช่นนั้นเรือจะถูกน้ำวนดูดจมลงสู่ก้นแม่น้ำ  จากการลงพื้นที่สำรวจภาคสนามของโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๑ คาดว่าก้นแม่น้ำสาละวินบริเวณนี้มีความลึกมากกว่า ๓๗ เมตร

ผู้ลงทุนทั้งสองโครงการบนแม่น้ำนานาชาติคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถานะของทั้งสองโครงการอยู่ระหว่าง “การศึกษาความเป็นไปได้” และ “ชะลอโครงการ”

ประมาณการได้ว่าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนชายแดนตอนล่างหรือเขื่อนดา-กวินจะท่วมพื้นที่ยาวขึ้นไปตามลำน้ำประมาณ ๓๕ กิโลเมตร เกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาด ๑,๓๔๐ ไร่ จดกับฐานล่างของเขื่อนชายแดนตอนบนเป็นอ่างเก็บน้ำสองอ่างที่เชื่อมต่อกันกับอ่างเก็บน้ำของเขื่อนชายแดนตอนบนหรือเขื่อนเว่ยจีที่จะท่วมพื้นที่ยาวไปตามลำน้ำประมาณ ๓๘๐ กิโลเมตร แบ่งออกเป็นพื้นที่ในเขตชายแดนประเทศไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และรัฐกะเหรี่ยง ๕๖ กิโลเมตร และพื้นที่ในเขตรัฐกะเหรี่ยงต่อขึ้นไปถึงรัฐคะเรนนีประเทศพม่า ๓๒๔ กิโลเมตร เกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาด ๑๙,๑๐๑ ไร่

ปัจจุบันการเปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนยังขาดความชัดเจน ตัวเลขพื้นที่น้ำท่วมอาจเป็นข้อมูลอ่างเก็บน้ำเฉพาะในส่วนของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ในเขตรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะเรนนี อย่างไรก็ตามผลกระทบจะเกิดกับแม่น้ำสาละวินช่วงที่ไหลผ่านแผ่นดินถึงสามผืน ได้แก่ รัฐคะเรนนี รัฐกะเหรี่ยง และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

โครงการผันน้ำยวม
ภาพจำลอง 
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือ

Image

Image

ผันน้ำข้ามลุ่ม

งานวันหยุดเขื่อนโลก ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๕ เมื่อ ๒ ปีก่อน จัดขึ้นที่บ้านสบเงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้บรรยากาศคุกรุ่น หลังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโครงการผันน้ำยวมกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

“ผมว่ามันไม่แฟร์กับพวกผม ถ้ายังใช้น้ำกันอย่างนี้ น้ำทั้งโลกก็ไม่พอ”

ประโยชน์ เขื่อนแก้ว ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำบอก บ้านหลังเล็ก ๆ ริมแม่น้ำยวมจะถูกน้ำท่วมพร้อม ๆ กับแม่น้ำและผืนป่าริมน้ำ

นอกจากขุดอุโมงค์ลอดผืนป่า โครงการผันน้ำยวมยังต้องสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมด้วย

“เขาอ้างว่าจำเป็นต้องใช้น้ำจากบ้านเรา เพราะคนภาคกลางน้ำไม่พอใช้  ถ้าบริหารน้ำเป็น ใช้น้ำเป็น ก็คงไม่ต้องเดือดร้อนคนทางนี้ใช่ไหม ?” ชายวัยกลางคนตั้งคำถาม

โครงการผันน้ำยวมมีชื่อทางการว่าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล แนวคิดที่จะผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินมาเติมอ่างเก็บมีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ ภายหลังเขื่อนภูมิพลสร้างเสร็จประมาณ ๑๐ ปี เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนก็ราวปี ๒๕๓๕ ที่มีการศึกษาแนวทางผันน้ำจากแม่น้ำสายต่าง ๆ ในลุ่มน้ำสาละวิน เช่น แม่น้ำปาย แม่น้ำยวม แม่น้ำละเมา ฯลฯ 

หากวางอุโมงค์ผันน้ำตามแนวแม่น้ำยวม-เขื่อนภูมิพล ท่อส่งน้ำจะยาว ๖๑.๕๒ กิโลเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางท่อ ๘ เมตร ลอดใต้ผืนป่าหกแห่งในเขตรอยต่อสามจังหวัด ได้แก่ พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา (แม่ฮ่องสอน), ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและป่าแม่ตื่น (เชียงใหม่), ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย (แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่), ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งขวา (แม่ฮ่องสอน), ป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย (เชียงใหม่) และป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง (ตาก) ทั้งหมดต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน

แม่น้ำสาละวินเป็นถิ่นฐานของกลุ่มชนชาติพันธุ์ ทั้งกะเหรี่ยง คะยา ไทใหญ่ มอญ ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาลูกหลานสาละวินไม่ค่อยมีสิทธิ์ มีเสียงในการดูแลจัดการแม่น้ำ

Image

เจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำจุดตรวจฐานปฏิบัติการบ้านท่าตาฝั่ง ตรวจตราความเรียบร้อยของเรือที่แล่นผ่านตามลำน้ำสาละวิน พื้นที่ทางฝั่งไทยประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน และป่าสงวนแห่งชาติ ฝั่งตรงข้ามกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงร่วมกันประกาศเป็นเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน (Salween Peace Park)

จากแม่น้ำยวมที่ไหลอยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน เจ้าของโครงการจะสูบน้ำไปลงเขื่อนภูมิพลที่ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของภูเขา ผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักสองลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำสาละวินที่อยู่ติดชายแดนไทย-พม่า ไปลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศไทย 

แม่น้ำยวมไหลไปบรรจบแม่น้ำเมยก่อนไหลไปลงแม่น้ำสาละวิน ไม่ว่าแม่น้ำยวม แม่น้ำเมย แม่น้ำเงา หรือแม่น้ำสาละวิน ต่างก็มีความสำคัญในภูมิภาคนี้

แม่น้ำยวมมีความยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำ ๕,๗๘๔ ตารางกิโลเมตร ผลการสำรวจในปี ๒๕๔๕ พบว่าลุ่มน้ำยวมมีพื้นที่ป่าไม้ ๒,๙๕๘,๕๓๐ ไร่ ลุ่มน้ำยวมถือเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำสาละวิน มีรูปร่างเรียวยาวในแนวเหนือ-ใต้ มีเทือกเขาด้านตะวันออกเป็นเส้นกั้นระหว่างลุ่มน้ำยวมกับลุ่มน้ำแม่แจ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิง

ลำน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำยวม ได้แก่ น้ำแม่ลาก๊ะ น้ำแม่ลาหลวง น้ำแม่สะเรียง น้ำแม่ริด น้ำแม่เงา และแม่น้ำเล็กอื่น ๆ อีกหลายสายที่เชื่อมร้อยเป็นระบบนิเวศเฉพาะ  การสูบน้ำจากแม่น้ำสายหนึ่งออกไปนอกลุ่มน้ำจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสายอื่น ๆ และผืนป่ามากสักแค่ไหน

สิงห์คาร เรือนหอม ชาวบ้านแม่เงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอีกคนที่เต็มไปด้วยข้อสงสัยในโครงการผันน้ำยวม เขาเป็นหัวหน้าคณะวิจัยชุมชนในโครงการวิจัยวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลายวันแล้วที่เขาออกสำรวจข้อมูล สัมภาษณ์ บันทึกภาพระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำที่มีคุณค่าต่อวิถีชีวิตและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีระบุไว้ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

Image

บางช่วงแม่น้ำคดโค้งและมีแก่งหินมาก การขับเรือต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญอย่างสูง 
ภาพ : เพียรพร ดีเทศน์

ระบบนิเวศของป่าสาละวินในเขตของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนและบางส่วนในจังหวัดตาก  ป่าสาละวินเป็นแหล่งภูมิพฤกษ์แบบอินโด-เบอร์มา (Indo-Burma Province) ผสมผสานระหว่างพันธุ์พืชของเขตภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีน (Indo-Chinese Subregion) กับเขตภูมิศาสตร์ย่อยชิโนหิมาลัยหรืออินเดีย (Sino-Himalayan or Indian Subregion) ทำให้พื้นที่นี้มีพันธุ์ไม้หลากหลายควรค่าแก่การอนุรักษ์ จากสภาพภูมิอากาศแบบกึ่งเมืองร้อนมีมรสุมพัดผ่านทำให้มีสังคมพืชคลุมดินถึงแปดสังคม คือ ป่าดงดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าผาหินและยอดเขาหินปูน ป่าริมน้ำ ป่าในไร่ร้าง และป่าเต็งรังย่อยที่มีไม้สนสองใบและสนสามใบขึ้นผสมอยู่ด้วยกัน

เพียรพร ดีเทศน์ ที่ติดตามโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินรวมถึงโครงการผันน้ำยวมอย่างต่อเนื่องตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นการเอาต้นทุนทางทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากคนลุ่มน้ำสาละวินไปแก้ไขปัญหาให้คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

“โครงการนี้ไม่เป็นไปตามหลักการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ควรจะหาทางแก้ปัญหาภายในพื้นที่ลุ่มน้ำหลักของตัวเองก่อน การผันน้ำมาเติมลุ่มเจ้าพระยาเป็นการแก้ปัญหาปลายทางและโยนภาระให้ลุ่มน้ำอื่น โครงการนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม มีอย่างน้อย ๓๖ ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบตลอดแนวก่อสร้าง หลายคนต้องสูญเสียที่ทำกินและต้องหาที่อยู่ใหม่ ประเด็นที่มีการร้องเรียนคือกระบวนการรายงานอีไอเอขาดการมีส่วนร่วม จัดประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง เชิญเฉพาะผู้นำ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าร่วมได้ ไม่มีการแปลภาษาที่เพียงพอจะให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าใจ  วิธีการเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านเข้าใจโครงการ แต่คือการเริ่มต้นสร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานของรัฐ”

โครงการผันน้ำยวมจะผันน้ำจากแม่น้ำยวมผ่านอุโมงค์ใต้ดินไปลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ทำให้มีความเสี่ยงว่าจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสาละวิน

Image

ชุมชนริมแม่น้ำยวมในเขตตัวเมืองของอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง

ระดับน้ำตามธรรมชาติในช่วงหน้าแล้งของแม่น้ำยวม
บริเวณอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ผลักดัน โครงการผันน้ำยวมระบุว่าการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำจะผันน้ำเฉพาะช่วงหน้าฝน

น้ำจืดลงทะเล

รายงานการสำรวจทางภูมิศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Geological Survey, 1994) ระบุว่า แม่น้ำสาละวินมีปริมาณน้ำมากเป็นลำดับที่ ๔๐ ของโลก และเติมน้ำให้มหาสมุทรถึง ๕๓ ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที

น้ำจืดในแม่น้ำไม่ได้ไหลลงทะเลอย่างสูญเปล่า บ่อยครั้งมีคนกล่าวว่า เวลาฝนตก ถ้าไม่หาทางกักเก็บน้ำไว้น้ำจืดจะไหลลงทะเลไปอย่างไร้ค่า  คำกล่าวนี้ทำให้เกิดการประเมินค่าผิดพลาด

การไหลลงสู่ทะเลของแม่น้ำมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลระบบนิเวศ ทั้งช่วยผลักดันน้ำเค็มและสร้างความอุดมสมบูรณ์ โดยทั่วไปแล้วบริเวณที่ทะเลอุดมสมบูรณ์จะมีอินทรียสารทำให้พืชน้ำเจริญเติบโต เมื่อบรรดาสัตว์ทะเลมากินพืชเล็ก ๆ ก็จะชุกชุมเพิ่มจำนวนขึ้น นำไปสู่รายได้และเศรษฐกิจที่ดี

การศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าวงจรการผลิตขั้นพื้นฐานและการสังเคราะห์แสงของพืชจนกลายเป็นอาหารสัตว์บริเวณปากแม่น้ำ มีอัตราสูงกว่าทุ่งหญ้า ป่า และแม้แต่บริเวณเกษตรกรรมหนาแน่น การปล่อยให้แม่น้ำซึ่งมีแร่ธาตุปะปนอยู่อย่างมหาศาลมาลงทะเลจึงสำคัญ

การไหลลงมาของน้ำจืดยังช่วยรักษาสมดุลของสารอาหารที่พัดพาจากมหาสมุทรเข้าสู่แม่น้ำ ช่วยให้ปากแม่น้ำมีสภาพเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืชและสัตว์น้ำ

นอกจากเติมน้ำให้มหาสมุทรมหาศาล แม่น้ำสาละวินยังมีตะกอนแร่ธาตุมากติดอันดับหนึ่งในห้าของแม่น้ำในโลกที่เติมแร่ธาตุให้แก่มหาสมุทร ตะกอนในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายนคิดเป็นปริมาณร้อยละ ๙๒ ของทั้งปี ในขณะที่กรมชลประทานก็วางแผนผันน้ำจากแม่น้ำยวมไปลงเขื่อนภูมิพลในช่วงนี้...

ตำแหน่งที่น้ำจืดในแม่น้ำไหลมาบรรจบและผสมกับน้ำเค็มจากมหาสมุทรเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะทางชีววิทยาหลากหลายที่สุดประเภทหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เปราะบางอย่างยิ่ง ปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบคือความเค็มหรือปริมาณเกลือในน้ำ

หลายทศวรรษที่ผ่านมามีความพยายามสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าตลอดลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้ำสาละวินตอนบนที่คนท้องถิ่นเรียกว่านู่เจียง (Nu Jiang) มีเขื่อนถูกสร้างแล้วสองแห่ง

Image

Image

บริเวณปากแม่น้ำสาละวิน ชุมชนใกล้ทะเลใช้น้ำในแม่น้ำได้เฉพาะฤดูฝนที่น้ำจืดมีน้ำหนักเบากว่าน้ำเค็มจึงลอยอยู่สูงกว่า ชาวบ้านและคนปลูกผักมักตักน้ำมาใช้ก่อนที่น้ำจะขึ้นและหลังจากน้ำลงแล้ว  เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งปริมาณน้ำจืดต่ำเกินกว่าจะไล่น้ำเค็ม ทำให้ไม่สามารถใช้น้ำได้ระยะหนึ่ง เป็นช่วงขาดแคลนน้ำจืด  ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเกาะกล่าวว่า “เราต้องเก็บน้ำไว้ในบ่อเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่สามารถปลูกผักในช่วงฤดูแล้งได้”

ถ้าเป็นแม่น้ำสาละวินส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปจะมีน้ำเค็มน้อยกว่าในช่วงฤดูแล้ง และในช่วงฤดูฝนก็แทบจะมีแต่น้ำจืดเท่านั้น ส่วนนี้เป็นที่ตั้งของเกาะหลายแห่งที่ปลูกข้าว ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ชาวบ้านใช้น้ำได้ทั้งปีโดยไม่ต้องคำนึงถึงช่วงน้ำขึ้นน้ำลง เพราะน้ำจืดมีมากพอที่จะใช้ตามบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นา

ตามวัฏจักรของแม่น้ำพื้นที่นาริมฝั่งแม่น้ำสาละวินต้องถูกน้ำท่วมช่วงฤดูฝน ปริมาณน้ำจืดที่หนาแน่นไม่เป็นอันตรายต่อข้าว ต้นไม้ยืนต้น น้ำท่วมจึงไม่ใช่อันตราย  ในทางตรงกันข้ามช่วงฤดูร้อนจะมีปริมาณน้ำเค็มในแม่น้ำสูง ชาวนาจึงกลัวน้ำหลากช่วงฤดูแล้งหากน้ำเค็มไหลเข้าสู่นาข้าวหรือแปลงพืชผล

ประสบการณ์ในประเทศไทยชี้ให้เห็นชัดเจนถึงความเสียหายด้านระบบนิเวศอย่างรุนแรงที่บริเวณปากแม่น้ำ อันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนและโครงการต่าง ๆ ตอนบนและตอนกลางของแม่น้ำ โดยเฉพาะการรุกล้ำของน้ำเค็ม

หากโครงการเขื่อนต่าง ๆ และโครงการผันน้ำยวมเกิดขึ้นบนลุ่มน้ำสาละวิน การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศจะเป็นอย่างไร ความแปรปรวนของกระแสน้ำและระดับน้ำท้ายเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้ำจืด-น้ำกร่อย-น้ำเค็ม รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมากน้อยเพียงใด

Image

“ต่าหลื่อ” เครื่องเซ่นไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา เป็นการเลี้ยงผีป่าผีน้ำให้ช่วยคุ้มครองดูแลแม่น้ำสาละวิน

สืบชะตา

ต้นปี ๒๕๖๗ พื้นที่ทั้งหมดในแม่น้ำสาละวินที่มีโครงการสร้างเขื่อนล้วนได้รับผลกระทบจากการโจมตีของกองทัพพม่าหลังก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โดยเฉพาะรัฐคะเรนนีและรัฐกะเหรี่ยง

บนป้ายผ้าหลายผืนในวันหยุดเขื่อนโลกจึงมีคำว่า “สาละวิน ลุ่มน้ำแห่งสันติภาพ แม่น้ำ ผู้คน เผ่าพันธุ์” ร่วมกับข้อความเรียกร้องให้ช่วยกันปกป้องแม่น้ำ

ขณะที่โครงการผันน้ำยวมอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ตามที่มีการร้องเรียนในประเด็นการขาดการมีส่วนร่วมและการใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในการจัดทำอีไอเอ

กรมชลประทานยังได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรจัดทำโครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก

ถึงวันนี้แม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขาในลุ่มน้ำสาละวินยังคงถูกเพ่งเล็งจากผู้ที่ต้องการผลักดันโครงการขนาดใหญ่

วันหยุดเขื่อนโลกปีต่อไปคงไม่มีใครรู้ว่าแพไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ที่ติดข้อความเรียกร้องให้ช่วยกันปกป้องแม่น้ำจะลอยไปถึงไหน

ถ้าไม่มีอะไรมาปิดกั้น บางทีมันอาจไปไกลถึงอ่าวเมาะตะมะ  

เอกสารประกอบการเขียน
เครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน (Salween Watch). รายงานสถานการณ์เขื่อนสาละวินในพม่า, ๒๕๕๙.

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน. สรุปข้อมูลและข้อสังเกตโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ๒๕๖๔.

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน. สรุปสถานการณ์ลุ่มน้ำสาละวิน, ๒๕๖๗.

โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า และศูนย์ข่าวสาละวิน. สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน, ๒๕๕๑.

มหาวิทยาลัยนเรศวร. รายงานชี้แจงเพิ่มเติมครั้งที่ ๓ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล, ๒๕๖๔.

ขอขอบคุณ
เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network : IMN)
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
องค์กรแม่น้ำนานาชาติ
ภาสกร จำลองราช, ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี, พนม ทะโน และ พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ