Image

บัตรคอนเสิร์ต Eric Clapton
LIVE in BANGKOK 2007

Souvenir & History

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์

สำหรับคนในวงการดนตรี เมื่อเอ่ยชื่อ อีริก แคลปตัน (Eric Clapton) คงแทบไม่ต้องอธิบาย 

แคลปตันคือมือกีตาร์ชาวอังกฤษที่มีความสามารถที่สุดคนหนึ่งของโลก เริ่มเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ ขณะเล่นกีตาร์ให้วง The Yardbirds และย้ายไปอยู่อีกหลายวง ก่อนจะมีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกาขณะร่วมงานกับวง Cream ที่เล่นแนวบลูส์ร็อก (blues rock) และเริ่มเล่นดนตรีตามสถานที่ต่าง ๆ ที่นั่น จนมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะมือกีตาร์มากความสามารถ

ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ แคลปตันเริ่มเขียนเพลงและบางครั้งก็ทำหน้าที่นักร้องนำ เขาได้ร่วมงานกับวงดนตรีระดับตำนานอย่าง The Beatles ด้วย ทำให้สนิทกับ จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) มือกีตาร์ของวง

ต่อมาแคลปตันตั้งวง Blind Faith ซึ่งออกอัลบัมเพียงชุดเดียวก็แยกวง ส่วนตัวเขาออกอัลบัมเดี่ยวครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๗๐ และยังตั้งวง Derek and the Dominos แต่วงจรเดิมก็กลับมาอีก คือออกผลงานเพียงอัลบัมเดียวก่อนวงแตก  ช่วงนี้แคลปตันยังให้กำเนิดเพลง “Layla” (ซึ่งมีไลน์โซโล่ที่ติดหูคนฟัง) ที่กลายมาเป็น “ลายเซ็น” (เพลงประจำตัว) ของเขา

Image

หลังทศวรรษ ๑๙๗๐ แคลปตันเอาดีได้กับอัลบัมเดี่ยวมากกว่าเล่นวง ช่วงนี้เขาเข้าสู่วงจรชีวิตเดียวกับคนในวงการบันเทิงจำนวนมากคือติดโคเคน ผ่านมรสุมชีวิต ฯลฯ แต่ก็ยังทำผลงานออกมาได้ต่อเนื่อง 

เพลงที่คนยุค 90s อย่างผมคุ้นหูขณะเป็นวัยรุ่นก็มีเพลงคัฟเวอร์อย่าง “I Shot the Sheriff” (ฉันยิงนายอำเภอ/ค.ศ.
๑๙๗๔), เพลงที่แต่งให้ลูกชายที่เสียชีวิตอย่าง “Tears in Heaven” (น้ำตาในสรวงสวรรค์/ค.ศ. ๑๙๙๖), My Father’s Eye (ดวงตาของพ่อ/ค.ศ. ๑๙๙๘)

จำได้ว่าช่วงเรียนมัธยมฯ ปลายต่อเนื่องมาจนมหาวิทยาลัย ผมลงทุนเรียนกีตาร์ไฟฟ้าเพราะฟังไลน์กีตาร์ของแคลปตัน
แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวกับการอ่านโน้ตและใช้นิ้วดันสายกีตาร์ ซึ่งครูบอกว่าเวลาเห็นแคลปตันเล่นก็ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ๆ แต่อันที่จริงพลังนิ้วของเขานั้น “แทบไม่ต่างอะไรกับนักกล้าม”

Image

ความหลังเหล่านี้ย้อนมาเมื่อผมรื้อห้องแล้วเจอกล่องเหล็กใบหนึ่ง ข้างในมีบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตเมื่อครั้งที่แคลปตันมาเปิดคอนเสิร์ต ERIC CLAPTON LIVE IN BANGKOK ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๒๐๐๗ ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบ ทำงานได้ ๓ ปี เงินเดือนน้อยนิด แต่ก็ยอมซื้อบัตรคอนเสิร์ต ๓,๖๐๐ บาท (ครึ่งหนึ่งของเงินเดือน !) ไปดู ด้วยเชื่อว่าถ้าไม่ไปดูก็คงยากที่จะมีโอกาสเห็นแคลปตันมาเล่นกีตาร์ด้วยตาตัวเองอีก เพราะตอนนั้นเขาก็อายุ ๖๒ ปีแล้ว และผมก็เก็บบัตรใบนี้ใส่กล่องเหล็กไว้

ค.ศ. ๒๐๒๔ ตอนที่ผมพบบัตรใบนี้ แคลปตันยังสุขภาพดีตามอัตภาพ (๗๙ ปี) ที่น่าทึ่งคือ เขาเพิ่งออกอัลบัมล่าสุดคือ Meanwhile ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เห็นบัตรใบนี้ทำให้ผมคิดได้ว่า “ของที่ระลึก” นอกจากบันทึกเรื่องราวของอดีต

บางครั้งก็ทำให้นึกถึงช่วงเวลาดี ๆ ในชีวิตที่ผ่านมาได้ด้วย