สารพัดพิษทฤษฎีสมคบคิด
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
เชื่อว่าทุกคนคงเคยผ่านหูคำว่า
“ทฤษฎีสมคบคิด” มาบ้าง
ทฤษฎีสมคบคิดที่โด่งดังทั่วโลกเช่น การลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอะพอลโล ๑๑ แห่งสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เรื่องจริง การเงินโลกถูกควบคุมโดยคนยิวแค่บางตระกูลที่ร่วมมือโยงใยทั่วโลก ฯลฯ
เมืองไทยเราก็มีพอสมควร เช่น พระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้สิ้นพระชนม์ตามพระราชพงศาวดาร ตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งมีคนวงในที่รู้ก่อนและได้ประโยชน์จากการลอยตัวค่าเงินบาท คดีแชร์ลูกโซ่แม่ชม้อยยังมีคนอื่นอยู่เบื้องหลังอีก ฯลฯ
มีทฤษฎีหลากหลายเกิดขึ้นเพื่อใช้อธิบายว่าทำไมคนถึงชอบใจจนสมาทานความเชื่อเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดกันเป็นตุเป็นตะ
เว็บไซต์ psychiatrist.com ระบุว่ามี “นิสัยร่วม” หลายอย่างที่พบในหมู่คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดมากเป็นพิเศษ ข้อแรกคือมีแนวโน้มตามธรรมชาติเป็นคนตื่นตัวและไวต่ออันตรายหรือภัยคุกคามต่าง ๆ มากเป็นพิเศษ มีความไม่มั่นคงในชีวิตสูง หรืออาจถูกมองว่าเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายมากหน่อยก็คงพอได้ ข้อที่ ๒ คือมักเป็นคนที่เชื่ออะไรแปลก ๆ หรือเคยประสบพบเจอเหตุการณ์แปลก ๆ ผิดผู้คนอยู่บ่อย อาจเคยเห็น ได้กลิ่น ได้ยินสิ่งที่คนอื่นสัมผัสไม่ได้ ข้อถัดมาก็คือเป็นพวกชอบใช้สัญชาตญาณตัดสินใจเสมอ คิดว่าตัวเอง “มีองค์” หรือ “มีพรายกระซิบ” อยู่บ่อย ๆ ข้อที่ ๔ คือมักเห็นว่าตัวเองมีความพิเศษบางอย่างมีลักษณะบางอย่างเหนือกว่าคนทั่วไป ส่วนข้อสุดท้ายคือมีนิสัยต่อต้านสังคม
ร่องรอยของทฤษฎีสมคบคิดพบได้ในประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปไกลในรูปของตำนาน นิทาน คำสอนทางศาสนา โฆษณาชวนเชื่อของรัฐ รวมไปถึงการรณรงค์ต่อต้านทางเชื้อชาติ คริส แอนดรูว์ ยกตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจในบทความ “Why do smart people fall for conspiracy theories ?” (นิตยสาร Psychology Now ฉบับที่ ๗ ค.ศ. ๒๐๒๓) เช่น เรื่องการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์เพื่อที่จะทำลายล้างโลกตะวันตก เรื่องผู้อพยพชาวมุสลิมจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงกฎหมายในประเทศอังกฤษ ฯลฯ
ทุกคนมีแนวโน้มตกหลุมพรางและเชื่อทฤษฎีสมคบคิดบางอย่างเป็นครั้งคราวได้ ทั้งที่เรามักแปลกใจเรื่องคนอื่นที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดที่เราคิดว่าไม่น่าเชื่อ
แม้แต่สถานการณ์ปรกติในชีวิตประจำวันเราก็อาจมีความคิดออกแนวสมคบคิดได้บ่อย ๆ เช่น ไปสมัครงานแล้วไม่ได้ก็เผลอคิดว่าหน่วยงานนั้นคงมี “เด็กเส้น” ไปสอบใบขับขี่แล้วไม่ผ่านก็คิดว่าโดนกลั่นแกล้งเพื่อเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชา เล่นอยู่ในทีมกีฬาแล้วไม่เคยได้รับเลือกเป็นตัวจริงเลยก็อาจคิดว่าโค้ชไม่ชอบหน้าหรือมีอคติบางอย่าง
ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดคือการสนับสนุนความเชื่อของคน โดยเฉพาะสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อมูลที่ได้รับ ยิ่งข้อมูลจากรัฐบาลยิ่งเกิดขึ้นง่าย ชวนให้คิดว่ามีการปกปิดซ่อนเร้นหาประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากการอำพรางเรื่องนั้น ๆ ไว้
เซอร์อาเทอร์ โคแนน ดอยล์ ผู้เขียนนวนิยายสืบสวนชื่อดัง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เคยกล่าวไว้ว่า “เป็นความผิดพลาดสำคัญที่ใครก็ตามจะตั้งทฤษฎีขึ้นก่อนจะได้ข้อมูล”
แต่ความจริงก็คือเราทำแบบนี้บ่อยกว่าที่คิด เรามีอคติสั่งสมจากความเชื่อ ประสบการณ์ และทัศนคติส่วนตัว นอกจากนี้ยังโดนอิทธิพลจากคนรอบข้าง สังคมรอบตัว และสื่อต่าง ๆ หล่อหลอมตลอดเวลา เราจึงมักกระโจนไปหาข้อสรุปอย่างผลีผลามบ่อยครั้ง
ทฤษฎีสมคบคิดมักกำกวม การอ้างความเป็นเหตุเป็นผลก็ไม่หนักแน่นไม่ค่อยมีรายละเอียดจำเพาะมากนัก ถ้ามีก็มักอ้างว่ามีแต่ผู้พูดเท่านั้นที่เข้าถึงได้ อาจอ้างว่าได้มาจากแหล่งข่าวลับหรือคนวงในซึ่งยอมให้เกิดความชั่วร้ายต่าง ๆ ไม่ได้ มีบ้างที่ไปไกลขนาดว่าได้ทราบจากผีสางนางไม้ เทวดา กระทั่งจากพระผู้เป็นเจ้าหรือมนุษย์ต่างดาว !
โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับทฤษฎีสมคบคิด รวมถึงข่าวลวงและข่าวผิดเพี้ยน เพราะอัลกอริทึมสนใจน้อยมากในเรื่อง “ความถูกต้อง” แต่สนใจสูงสุดที่ “ความถูกใจ” จึงเน้นโพสต์หรือคลิปที่กระตุ้นอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธเกรี้ยว ความรุนแรง ความเศร้าโศก หรือความกลัว ทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกด้านลบที่รุนแรงในจิตใจมนุษย์
อีกอย่างที่ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดแพร่หลายคือความรู้เท่าทันประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ มีน้อย จึงไม่อาจแยกแยะตัดสินใจได้ดีพอ ยกตัวอย่าง มีคนอเมริกันถึงหนึ่งในสี่ที่เชื่อว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจใน ค.ศ. ๒๐๐๘ เป็นฝีมือของก๊วนนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีตที่ร่วมมือกัน ขณะที่มีราวหนึ่งในห้าที่เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐ-อเมริกาอยู่เบื้องหลังวินาศกรรม ๙/๑๑ หาใช่ผู้ก่อการร้ายจากต่างประเทศไม่
มีคนอเมริกันถึง ๑๑ เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าการที่รัฐบาลบังคับให้เปลี่ยนหลอดไฟแบบใหม่ที่อ้างว่าช่วยประหยัดพลังงานนั้น อันที่จริงเพราะหลอดไฟแบบนี้ช่วยทำให้คนเชื่อฟังมากขึ้นและถูกควบคุมง่ายขึ้นมากกว่า !
มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๐ เมื่อโรคโควิด-๑๙ แพร่กระจายลุกลามใหญ่โตทั่วโลก ทอมัส โคแวน แพทย์ทางเลือกชาวอเมริกันก็ตั้งสมมุติฐานที่ผิดเพี้ยนว่าโควิด-๑๙ เป็นผลมาจากการใช้สัญญาณสื่อสารแบบ 5G เขาอ้างว่าประเทศในแถบแอฟริกาไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องมาจากแถวนั้นยังไม่มีการใช้สัญญาณ 5G เขายังตั้งทฤษฎีมั่วซั่วไม่เป็นจริงอื่นอีกด้วย เช่น ไวรัสเป็นของเสียจากเซลล์ที่เกิดจากเซลล์เป็นพิษจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และการแพร่ระบาดของไวรัสในประวัติศาสตร์สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีวิทยุพอดิบพอดี สมมุติฐานเหล่านี้ไม่มีอันไหนถูกต้องหรือตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง เป็นเพียงเรื่องมโนขึ้นล้วน ๆ !
นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มผู้ต่อต้านการฉีดวัคซีน (anti-vaxxer) ที่คอยยุแยงตะแคงรั่วใส่ร้ายวัคซีนต่าง ๆ นานา ยกตัวอย่าง กล่าวหาว่าวัคซีนนี่เองที่ทำให้พบเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลัง (ซึ่งไม่จริง) แต่ความเชื่อแบบนี้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปไม่กล้าให้ลูกฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนและแทบไม่พบการระบาดในประเทศเหล่านั้นแล้ว
ผลลัพธ์คือเกิดโรคหัดกลับมาระบาดในช่วง ค.ศ. ๒๐๒๓ และเพิ่มขึ้นในยุโรปหลายประเทศ จนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ตรวจพบผู้ป่วยรวมทั้งสิ้นถึง ๕,๗๗๐ ราย โดยอย่างน้อย ๕ รายเสียชีวิต
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาที่เคยประกาศว่าปลอดการระบาดของโรคหัดมาตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๐ แต่วันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๒๐๒๔ กลับพบผู้ป่วยโรคหัด ๒๓ รายทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มี ๗ รายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศและมีการระบาดเกิดขึ้น ๒ หน ทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า ๕ คน กรณีการติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นเด็กและวัยรุ่นที่พ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกฉีดวัคซีน ตัวเลขจำนวนเด็กอนุบาลที่ได้รับวัคซีนโรคหัดในสหรัฐอเมริกามีอยู่ ๙๓ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำเกินไปสำหรับป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคนี้
ทฤษฎีสมคบคิดบางอย่างจึงเป็น “ยาพิษ” สำหรับผู้ที่เชื่อและลูกหลาน สร้างความเดือดร้อนทั้งตัวเองและผู้คนใกล้ตัว จนอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาประเทศและระหว่างประเทศได้ด้วย
ช่างน่ากลัวจริง ๆ สำหรับทฤษฎีสมคบคิดแบบนี้