Image

สายน้ำที่ถูกสาป

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล, สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพประกอบ : สุบิล แกร่งดั่งผา

จากป่าสู่เมืองมีแม่น้ำเชื่อมอยู่ระหว่างกลาง

หลายคนคิดว่าเราอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำ วิถีประจำวันไม่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ แต่จะรู้ตัวหรือไม่ แม่น้ำผูกพันกับเราอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าน้ำที่ดื่ม อาบ ซัก ล้าง รด ทำอาหาร ฯลฯ ส่วนใหญ่มาจากน้ำในแม่น้ำ

แม่น้ำทุกสายไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ต้นทางส่วนใหญ่มาจากที่สูงคือภูเขาไหลคดเคี้ยวลงสู่ปลายทางคือทะเล

ระหว่างการเดินทางแม่น้ำแลกเปลี่ยนพลังงานกับสิ่งรอบข้าง ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศและสภาพธรรมชาติไปตลอดเส้นทาง และตลอดกาลยาวนาน 

แม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรการหมุนเวียนของน้ำบนโลก เป็นระบบนิเวศที่มีชีวิต คือบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลายตั้งแต่ใต้น้ำถึงริมฝั่งน้ำ

แต่วันนี้เรามองแม่น้ำเป็นแค่แหล่งน้ำต้นทุนของการผลิตในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม จึงพัฒนาโครงสร้างทางวิศวกรรมมาบริหารการกักเก็บและควบคุมปริมาณการไหลของน้ำ เพื่อตอบสนองประโยชน์สูงสุดของมนุษย์

เหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงผิดปรกติทำให้มีข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาด

ภัยคุกคามต่อแม่น้ำอาจนับได้เจ็ดสิ่ง คือ ฝาย เขื่อน การทำลายพืชริมน้ำ การดาดตลิ่งหรือทำกำแพงคอนกรีต การขุดลอกแม่น้ำ การปล่อยมลพิษลงน้ำ และการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น เปรียบได้ดังบาปเจ็ดประการที่มนุษย์กระทำต่อแม่น้ำและสรรพชีวิตที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ชะตากรรมที่แม่น้ำเผชิญกำลังย้อนกลับมาเล่นงานชะตากรรมของมนุษย์

Image

scrollable-image

Image

แนวคิดที่ว่าฝายช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่า ช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง และยังสร้างได้ง่าย โดยเฉพาะฝายกั้นลำธารเล็ก ๆ ซึ่งนิยมในกิจกรรม CSR ของหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้หลายสิบปีที่ผ่านมามีฝายถูกสร้างขึ้นอาจถึงหลักล้านฝาย กระจายตัวอยู่ในเขตป่าเขา พื้นที่เกษตร ชุมชนต่าง ๆ

ฝายส่วนใหญ่มีความสูงไม่มากนัก ทำหน้าที่ทดน้ำในลำน้ำให้มีระดับสูงขึ้น ช่วงฤดูน้ำมาก น้ำจะไหลล้นข้ามสันฝายไป หากช่วงฤดูน้ำน้อย ลำธารก็จะกลายเป็นแหล่งน้ำนิ่ง

การสร้างฝายตามลำธารในหุบเขาและป่าต้นน้ำส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างมาก เพราะธรรมชาติดั้งเดิมบริเวณนี้น้ำไหลเร็วลงมาตามความลาดชัน น้ำเย็น มีออกซิเจนมาก ใต้ท้องน้ำเต็มไปด้วยหินกรวดหลากหลายขนาดที่ถูกพัดพามา ปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำจะปรับตัวมาเป็นพิเศษกับสภาพน้ำไหล เช่นมีอวัยวะเกาะหินใต้น้ำ หลายชนิดจึงอยู่ไม่ได้และตายไปเมื่อลำธารกลายเป็นน้ำนิ่งและอุ่นขึ้น ออกซิเจนลดลง และยังมีตะกอนมาทับถมหน้าฝายทำลายสภาพพื้นท้องน้ำ

Image

Image
Image

Image
Image

ในเชิงโครงสร้าง ฝายชั่วคราวที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ ไม้ไผ่ มักพังทลายภายในไม่กี่ปี ฝ่ายกึ่งถาวรทำจากหินใช้เวลานานขึ้น ขณะที่ฝายคอนกรีตคงอยู่ยาวนาน

นอกจากจะเปลี่ยนแปลงสภาวะในน้ำแล้ว เมื่อวัสดุทำฝายพังทลายลงตามอายุ ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ กระสอบพลาสติก ถุงบรรจุดิน ทราย ปูน ยางรถยนต์ ฯลฯ ก็จะกลายเป็นขยะปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ

การรักษาธรรมชาติดั้งเดิมของลำธารอันเป็นต้นทางของแม่น้ำใหญ่ เปรียบเสมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกของการดูแลแม่น้ำที่ถูกต้อง

Image

Image

เขื่อนขวางกั้นการไหลของแม่น้ำเพื่อยกระดับน้ำให้เกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงก่อผลกระทบกว้างขวางต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เสียยิ่งกว่าฝาย

พื้นที่เหนือเขื่อนส่วนใหญ่เดิมเป็นผืนป่าธรรมชาติ เมื่อสร้างเขื่อนก็ต้องเร่งตัดต้นไม้ไม่ให้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่สามารถตัดต้นไม้ทุกต้นและนำออกไปได้หมด ส่วนใหญ่เลือกตัดเฉพาะต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ  เช่นเดียวกับหมู่บ้านที่ตั้งรกรากในบริเวณน้ำท่วมถึง ก็ต้องบังคับให้อพยพโยกย้ายออก แต่สัตว์นานาชนิดที่อพยพออกไม่ได้ต้องปล่อยให้จมน้ำตาย

เขื่อนควบคุมการไหลของแม่น้ำได้อย่างสมบูรณ์ ขึ้นอยู่กับความต้องการว่าจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า หรือจะระบายน้ำออกเพื่อการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้า การไหลของแม่น้ำและตะกอนต่าง ๆ จึงไม่เป็นไปตามฤดูกาลอย่างในอดีต หน้าแล้งที่แม่น้ำมีระดับน้ำต่ำก็อาจสูงขึ้นกว่าเดิม หน้าน้ำที่เคยมีระดับน้ำสูงก็อาจต่ำลง ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตพืชและสัตว์น้ำที่ปรับตัวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง

ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะสภาวะอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ทำให้การบริหารการจัดการเขื่อนยากขึ้นเรื่อย ๆ  หากเผชิญภาวะแล้งจัด เขื่อนก็ไม่อาจปล่อยน้ำมาตอบสนองการทำเกษตร  พอเผชิญภาวะน้ำหลากล้นจากพายุที่มาถี่และรุนแรงขึ้น เขื่อนก็ต้องเร่งระบายน้ำออกเพื่อป้องกันเขื่อนพัง จนอาจท่วมพื้นที่ทางท้ายเขื่อน

ปัจจุบันหลายประเทศในทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปได้รื้อถอนเขื่อนและฝายออกจากแม่น้ำแล้วหลายพันแห่งเพื่อให้สายน้ำกลับมาไหลอย่างอิสระ

Image

Image

Image

ตามธรรมชาติระดับน้ำในแม่น้ำขึ้นลงตามฤดูกาลน้ำมากน้ำน้อย และยังไหลคดเคี้ยวสร้างปฏิสัมพันธ์กับสภาพภูมิประเทศสองฝั่ง

ฤดูฝนน้ำหลาก ปริมาณน้ำขึ้นสูงจนเอ่อล้นตลิ่งหรืออาจแผ่ท่วมพื้นที่ราบสองฝั่ง พร้อมกับทิ้งตะกอนอินทรียวัตถุ ซึ่งเต็มไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารไว้ ทำให้ที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain) มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับการเพาะปลูก

บริเวณตลิ่งรอยต่อระหว่างลำน้ำกับที่ราบสองฝั่ง ยังมีสังคมพืชริมน้ำเติบโตขึ้นตามธรรมชาติ ช่วยยึดเกาะตลิ่งให้ทนทานต่อการกัดเซาะของกระแสน้ำ และเป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อระดับน้ำลดลงสัตว์น้ำต่าง ๆ ก็เติบโตแข็งแรงพอดีกับการออกว่ายหากินไปตามลำน้ำ

ทั้งลำน้ำ สังคมพืชริมน้ำ และที่ราบน้ำท่วมถึง ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของแม่น้ำ แต่ความต้องการใช้ที่ดินทุกตารางเมตรทำประโยชน์ ทั้งหมู่บ้านที่อยู่อาศัย การเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม ถนนหนทาง ฯลฯ เราจึงตัดถางสังคมพืชริมน้ำ เปลี่ยนสภาพที่ราบน้ำท่วมถึงโดยถมที่ดินให้สูงขึ้น และสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ลงไป พอถึงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากชุมชนที่ตั้งบนที่ราบน้ำท่วมถึงจึงต้องเสี่ยงภัยกับระดับน้ำของแม่น้ำที่สูงขึ้น และต้องคอยต่อเติมสิ่งก่อสร้างมากมายเพื่อเอาชนะกระแสน้ำ บีบบังคับให้ระบบนิเวศแม่น้ำเป็นแค่คลองส่งน้ำ

ในอีกมุมหนึ่งที่ราบน้ำท่วมถึงก็เหมือนแก้มลิงธรรมชาติ ที่ช่วยรับปริมาณน้ำกระจายไปสองฝั่งลำน้ำ แล้วดูดซับน้ำบางส่วนลงไปสะสมเป็นน้ำใต้ดิน ลดความรุนแรงของกระแสน้ำที่ไหลลงสู่ท้ายน้ำ

Image

Image

Image

โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมน้ำกลายเป็นหนึ่งในแผนงานจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและภัยพิบัติ ตามแผนปฏิบัติการของกรมโยธาธิการและผังเมืองระยะ ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐

คำว่าเขื่อนในที่นี้คือโครงสร้างที่ก่อขึ้นอย่างแข็งแรง เช่น พนังหินกันน้ำ ตลิ่งคอนกรีต กำแพงปูน คันถนนเลียบลำน้ำ ฯลฯ 

แม้จุดประสงค์ตั้งต้นคือการป้องกันตลิ่งพัง แต่โครงสร้างเหล่านี้กำลังบังคับให้ลำน้ำไหลเป็นทางตรงไปตามช่องผนังแข็ง

ตามธรรมชาติแม่น้ำที่คดเคี้ยวจะมีระยะทางยาวกว่าเส้นตรงและใช้เวลานานขึ้นในการไหลผ่าน การปล่อยให้แม่น้ำกัดเซาะตลิ่งมีส่วนช่วยเพิ่มตะกอนลงสู่ท้ายน้ำและชะลอความเร็วของสายน้ำ  เทียบกับทางน้ำตรงหรือคดเคี้ยวน้อย กระแสน้ำจะไหลเชี่ยวแรงและผ่านไปอย่างรวดเร็ว  ในฤดูน้ำหลากแม่น้ำจึงกลายเป็นทางซูเปอร์ไฮเวย์ให้กระแสน้ำมุ่งตรงไปสร้างความเสียหายรุนแรงที่พื้นที่ท้ายน้ำมากขึ้นทุกปี

Image

แรงดันของน้ำนั้นมหาศาล บางครั้งพนังกั้นน้ำตรงคุ้งโค้งก็อาจถูกกระแสน้ำปะทะจนพังทลายทะลักเข้าเขตเมือง

ซ้ำร้ายหากฝนตกหนักในเมือง พนังกั้นน้ำและโครงสร้างต่าง ๆ กลับเป็นกำแพงขวางทางไม่ให้น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าตามแรงโน้มถ่วง เกิดน้ำท่วมขังแช่ในเมืองซึ่งต้องใช้วิธีตั้งเครื่องสูบน้ำออก

ไม่รู้ว่าแต่ละปีที่โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมน้ำดำเนินไป จะก่อผลเสียต่อแม่น้ำสายต่าง ๆ อีกมากน้อยแค่ไหน แต่คาดได้เลยว่าเราต้องเสียงบประมาณประจำปีเพื่อปรับปรุง ซ่อมสร้าง/เสริมโครงสร้างป้องกันตลิ่ง ต่อเติมไปไม่รู้จบ

Image

Image

Image

เมื่อแม่น้ำถูกทำให้เป็นคลองส่งน้ำ ตะกอนก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งปฏิกูลที่ทำให้แม่น้ำตื้นเขิน  และเพื่อเพิ่มการรองรับน้ำจากต้นน้ำ เราก็ต้องขุดขยายลำน้ำให้ลึกขึ้น กว้างขึ้น และยังช่วยให้น้ำไหลลงทะเลเร็วขึ้น คล้ายกับการลอกท่อน้ำทิ้ง เอาขยะอุดตันออก

การขุดลอกแม่น้ำมักมาพร้อมการทำลายสังคมพืชริมน้ำ และการดาดตลิ่งด้วยโครงสร้างแข็งซึ่งทำลายพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศจากริมน้ำถึงพื้นตะกอนใต้น้ำ

การขุดลอกยังกระทบกับสิ่งที่นึกไม่ถึงและมองไม่เห็นคือน้ำใต้ดิน

น้ำในแม่น้ำที่เห็นว่ามาจากน้ำฝนที่ตกลงบนแผ่นดินและไหลลงลำน้ำเป็นเพียงน้ำส่วนหนึ่งเท่านั้น น้ำฝนปริมาณมากตกบนแผ่นดินและซึมลงไปสะสมในชั้นน้ำใต้ดิน จากนั้นค่อย ๆ ไหลซึมออกมาเติมเต็มน้ำในลำน้ำ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของชั้นดินโดยรอบ

ในฤดูแล้งที่ไม่มีฝนตก ปริมาณน้ำในแม่น้ำจึงมาจากน้ำใต้ดินเป็นหลัก

scrollable-image

การขุดลอกลำน้ำธรรมชาติทำให้น้ำใต้ดินถูกดึงเข้าลำน้ำมากขึ้นและลดปริมาณลง เช่นเดียวกับการขุดลอกบ่อ บึง หนอง หรือแอ่งน้ำ เพื่อหวังเก็บน้ำฝน โดยไม่รู้ว่าที่จริงคือการดึงน้ำใต้ดินออกมา  หากน้ำใต้ดินลดลงมาก ๆ ทั้งน้ำตามบ่อ บึง หนอง หรือแม่น้ำก็จะลดระดับลง จากที่เคยคิดว่าการขุดลอกจะช่วยให้มีน้ำมากในฤดูแล้งก็อาจให้ผลตรงกันข้าม

ปริมาณน้ำในแม่น้ำเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับทั้งปริมาณฝน ผืนป่าปกคลุมดิน ลักษณะชั้นหิน ชั้นน้ำใต้ดิน อย่างแยกจากกันไม่ขาด

หากไม่ศึกษาผลกระทบให้ชัดเจน การขุดลอกลำน้ำขุดเจาะบ่อน้ำ ก็อาจก่อปัญหาภัยแล้งหนักกว่าเก่า

Image

กิจกรรมของมนุษย์ตลอดริมสองฝั่งลำน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงท้ายน้ำ มีส่วนปล่อยมลพิษและขยะของเสียลงแม่น้ำ ถ้าปริมาณมลพิษเกินขีดจำกัดที่แม่น้ำจะรองรับได้  คุณภาพน้ำจะเปลี่ยนสภาพ ออกซิเจนลดต่ำ เราเห็นข่าวน้ำเน่าเสีย ข่าวการตายของปลาและสัตว์น้ำทุก ๆ ปี

ต้นตอของน้ำเสียมีทั้งแหล่งกำเนิดที่รู้แน่ชัด เช่น โรงงาน สถานประกอบการ พื้นที่เกษตร ชุมชน ทั้งที่ตั้งติดแม่น้ำและไม่ติดแม่น้ำ  ส่วนแหล่งกำเนิดที่ไม่รู้แน่ชัด เช่น การรั่วไหลของท่อรวมน้ำเสียใต้ดิน

ส่วนใหญ่สารเคมีหรือสิ่งปฏิกูลจะมากับน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงแม่น้ำโดยไม่ผ่านการบำบัดอย่างถูกต้อง ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา และยังมาจากการทิ้งหรือฝังกากมลพิษอย่างผิดหลักการกำจัด หรือการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะอย่างผิดกฎหมาย น้ำจะชะล้างสารเคมีในกากขยะมลพิษไหลซึมลงชั้นใต้ดิน และมาผุดออกตามลำน้ำใกล้เคียงจนน้ำเน่าเสีย

นอกจากสารพิษที่เรามองไม่เห็น ขยะชิ้น ๆ ทั้งใหญ่และเล็กในแม่น้ำก็เป็นปัญหาใหญ่ หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยของต่างประเทศบ่งชี้ว่าไทยจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกที่ทิ้งขยะพลาสติกลงแม่น้ำและไหลลงสู่ทะเลมากที่สุด

แม่น้ำเน่าเสียเป็นปัญหาระดับประเทศซึ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเราโดยตรง และยังต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดการแก้ไขผลกระทบ

scrollable-image

Image

เวลาหน่วยงานรัฐต้องการผลักดันโครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ เรามักได้ยินการประชาสัมพันธ์ทำนองว่า “อย่าปล่อยให้น้ำจืดไหลลงทะเลอย่างเปล่าประโยชน์” ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดได้อย่างมาก

แม่น้ำไม่ได้ไหลลงทะเลอย่างสูญเปล่า แต่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลนิเวศ ช่วยผลักดันน้ำเค็มจากทะเลไม่ให้รุกเข้ามาลึกเกินไปในแม่น้ำซึ่งเป็นน้ำจืด  ช่วยนำตะกอนอินทรียสารจากแผ่นดินลงสู่ปากแม่น้ำและทะเล ซึ่งเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ซึ่งจะเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ขึ้นตามห่วงโซ่อาหาร  กุ้งหอยปูปลาบริเวณปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเลจึงอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของผู้คนมากมาย

เมื่อตะกอนถูกเขื่อนและฝายกั้นไว้ ตะกอนที่เคยมาทับถมบริเวณปากแม่น้ำและสะสมเป็นดินดอนสามเหลี่ยมก็ลดน้อยลง  

Image

หลังสร้างเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ตะกอนในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงจาก ๒๕ ล้านตันต่อปี เหลือ ๖.๖ ล้านตันต่อปี  แผ่นดินอ่าวไทยตอนบนหรืออ่าว ก ไก่ ลดอัตราการงอกของแผ่นดินจาก ๖๐ เมตรต่อปี เหลือ ๔.๕ เมตรต่อปี

หลายพื้นที่จึงประสบปัญหาแผ่นดินถูกน้ำทะเลรุก ชายฝั่งถูกกัดเซาะ ประชาชนต้องอพยพเข้ามาในแผ่นดินมากขึ้นเรื่อย ๆ

ปากแม่น้ำบางแห่งยังถูกขนาบด้วยเขื่อนกันทรายและคลื่น หรือเจ็ตตี้ (jetty) เพื่อป้องกันปากน้ำตื้นเขิน แต่ตัวเขื่อนกลับส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำและตะกอนชายฝั่งจนผิดธรรมชาติ ต้องสร้างคันดักทราย (groin) แก้ปัญหาของเขื่อนตัวแรก แต่ปัญหาไม่จบ เกิดวัฏจักรการกัดเซาะชายฝั่งขยายไปเรื่อย ๆ

เช่นเดียวกับเขื่อนและฝายตัวแรกที่สร้างขึ้นกั้นลำน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ แต่เมื่อระบบนิเวศแม่น้ำเปลี่ยนสภาพ น้ำในลำน้ำหดหาย หรือป้องกันน้ำท่วมไม่ได้แล้ว ก็จะคิดสร้างเขื่อนตัวที่ ๒, ๓, ๔… มาแก้ปัญหาเขื่อนตัวแรก เริ่มบาปเจ็ดประการที่กระทำต่อแม่น้ำอีกเป็นวัฏจักรซ้ำแล้วซ้ำเล่า  

Image

ขอขอบคุณ
รศ.ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ, ผศ.ดร. เจริญศักดิ์ แซ่ไว่

อ้างอิง
Presentation เรื่อง “ผลกระทบของฝายต่อระบบนิเวศลำธาร” โดยกลุ่ม siamensis.org, ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาและมูลนิธิโลกสีเขียว ดาวน์โหลดได้ที่ http://siamensis.org/webboard/topic/178#comment-887