แสก
สาก/เสียง
สำเนียงบอกชาติพันธุ์
ชาติพันธุ์อีสาน
หลากกลุ่มชนบนที่ราบสูง
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ประเวช ตันตราภิรมย์
เสียงไม้ ความยาวเป็นวาหลายคู่กระทบกันและกระทบกับไม้หนุน ผสานเสียงเป็นจังหวะระรัวดังไปทั่วลานหน้าศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ ริมแม่น้ำโขงหน้าหมู่บ้านอาจสามารถ ที่ถูกใช้เป็นลานแสดงนาฏลักษณ์ การเต้นรำประกอบจังหวะที่เรียกกันในวันนี้ว่า “แสกเต้นสาก” ในงานวันตรุษแสก “กิ๋นเตดเดน” รวมใจไทแสก เมื่อเช้าตรู่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่บ้านอาจสามารถ
เป็นภาพเดียวกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
มาเห็นเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๔๙ ตามที่นิพนธ์ไว้ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรอีสาน ร.ศ. ๑๒๕ พ.ศ. ๒๔๔๙ ว่า
“เวลาบ่าย ๓ โมง หลวงเอกอาสา นายอำเภอเมืองอาจสามารถ นำพวกหญิงชาติแสกมา มีการเล่นซึ่งเรียกว่าเต้นสากให้ดู มีหญิง ๑๐ คู่ ถือปลายไม้ยาว ๆ พาดบนไม้ท่อนใหญ่ ๒ ท่อน นั่งตรงกันเปนคู่ ๆ จับไม้ที่ถือกระทบเปนจังหวะพร้อม ๆ กัน แล้วมีหญิงอีก ๒ คู่ ผลัดกันเต้นข้ามไปในระหว่างไม้ที่กระทบกันนั้น คนที่ถือไม้ร้องโห่ฮิ้วขัดจังหวะไปด้วย”
บ้านไผ่ล้อมและบ้านอาจสามารถเป็นแหล่งแรกของการตั้งถิ่นฐานบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง จากนั้นชาวแสกบางส่วนไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านดอนสมอ อำเภอศรีสงคราม และที่บ้านบะหว้า อำเภอนาหว้า รวมสี่ชุมชนในจังหวัดนครพนม ประชากรราว ๓,๕๐๐ คน
แสกเคยอพยพข้ามไปมาระหว่างฝั่งโขง ทุกวันนี้ปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งขวาที่ตำบลอาจสามารถ ยามมีงานบุญใหญ่ประจำปี ก็ยังเคลื่อนขบวนแห่กันมายังริมฝั่งโขง
แสกเต้นสากเป็นการละเล่นในงานบวงสรวง “โองมู้” หรือบรรพบุรุษคนแรกที่นำชาวแสกข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวา และเชื่อว่าทุกวันนี้ยังคงคุ้มครองดูแลหมู่บ้านแสกอยู่ ทุกปีจะจัดพิธีบูชาที่เรียกว่า “กิ๋นเตดเดน” ในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓
ในวันงานทั้งหมู่บ้านจะกลายเป็นเหมือนลานนิทรรศการกลางแจ้งขนาดใหญ่
บ้านอาจสามารถ ชุมชนขนาดตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองนครพนม ห่างตัวจังหวัดนครพนมขึ้นไปทางเหนือตามฝั่งโขงราว ๔ กิโลเมตร ซึ่งมีถนนเลียบแม่น้ำเป็นแนวเขตชุมชนด้านริมน้ำ ส่วนอีกด้านตรงข้ามเป็นถนนใหญ่สาย ๒๑๒ ช่วงนครพนม-ท่าอุเทน มีซอย ๑๐ ซอยตัดขวางเชื่อมระหว่างถนนทั้งสองสายที่ขนาบอยู่สองข้างของชุมชน ชื่อซอยคล้องจองเรียงกันไปว่า หลักเมือง เอกอาษา ชนานุรักษ์ พิทักษ์ประชาชน มงคลบุรี บุตรดีปฐม บรมหายโศก เทพารักษ์ พิทักษ์ชายแดน แดนสำราญ
ในวันงานตรุษแสกประจำปี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี ตามถนนและซอยย่อยเหล่านี้มีการตกแต่งประดับประดาแลราวกับเป็นอุทยานหรือลานนิทรรศการ
ไม่ใช่แค่ตกแต่งแสงไฟหรือกระถางดอกไม้ประดับอย่างที่เห็นตามงานเทศกาลทั่วไป แต่เป็นเหมือนสวนถาวรของแต่ละบ้านอยู่แล้ว ที่มีการพัฒนาแต่งเติมในวาระต้อนรับเทศกาล
งานกิ๋นเตดเดนของชาวแสกเป็นประเพณีพื้นบ้าน เตรียมการและสร้างทำกันเองโดยชุมชน ตัดแต่ง ดายหญ้า พัฒนาปรับพื้นที่ งานโครงสร้างปลูกง่าย ๆ ด้วยไม้และไม้ไผ่ ตกแต่งด้วยผืนผ้าทอ ไม้ดอกที่ปลูกประดับบ้าน ส่วนไม้ประดับส่วนใหญ่ก็เป็นพืชผักสวนครัว กอกล้วย ที่ทุกบ้านของคนแสกนิยมปลูกไว้กินในครัวเรือนอยู่แล้ว
บ้านอาจสามารถในยามมีงานบุญใหญ่ วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี คนทั้งชุมชนจะแสดงอัตลักษณ์ผ่านการละเล่นและการแต่งกาย
ช่วงเทศกาลแสกจะตกแต่งหมู่บ้านเหมือนเป็นนิทรรศการกลางแจ้ง ด้วยไม้ดอกไม้ประดับ พืชสวนครัว ระแนงรั้ว ป้ายซุ้ม ทิวธง โดยเฉพาะบอร์ดนิทรรศการเกี่ยวกับชาติพันธุ์แสก ให้แขกเหรื่อที่มาเยือนได้รู้โดยไม่ต้องมีคนบรรยาย ขณะเดียวกันคนในหมู่บ้านก็เป็นส่วนหนึ่ง อยู่ในนิทรรศการตามวิถีชีวิตจริงโดยไม่ต้องจัดฉากแสดง
นอกจากงามโอฬารตื่นตาน่าทึ่งน่าชื่นชมแล้ว ทุกสวนศิลป์เหล่านั้นยังมีส่วนที่เป็นบอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ด้วยว่า ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองรอง เมืองเว้ ในประเทศเวียดนาม ต่อมาผู้นำชื่อโองมู้พาอพยพมาอยู่ในลาว ที่บ้านหม้อเตลิง บ้านทอก บ้านท่าแค บ้านโพธิ์ค้ำ ใกล้เมืองท่าแขก ก่อนอพยพมาอยู่แถวชายแดนเวียดนาม-ลาว แล้วข้ามโขงมาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งขวาแถวบ้านโคกยาวหรือบ้านไผ่ล้อมในปัจจุบัน ในสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาบางส่วนออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ริมแม่น้ำโขงแถวบ้านหายโศกหรือบ้านอาจสามารถในทุกวันนี้
แต่ข้อมูลจากเอกสาร ร. ๕ ม, ๒๑๒ ก. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ระบุว่า ถิ่นฐานเดิมของชาวแสกอยู่ที่เมืองแสก ซึ่งมีความหมายว่า สว่าง หรือแจ้ง อยู่บริเวณบ้านหนาด บ้านตอง ในแขวงคำม่วนของดินแดนลาว ห่างจากชายแดนเวียดนามประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เมืองแสกปัจจุบันเป็นเมืองร้าง
ส่วนพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรอีสานปี ๒๔๔๙ ว่า “พวกแสกนี้ว่าเดิมมาจากเมืองแสกอยู่ทางเขาบรรทัดต่อแดนญวน ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่เมืองอาจสามารถมาช้านาน สืบต่อกันมาหลายชั่วแล้ว แต่งตัวเปนคนชาวเมือง พูดภาษาชาวเมือง...”
ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม ๑๔ เล่า “ประวัติความเป็นมา” ของแสกในไทยว่า หลังปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ รัชกาลที่ ๓ ได้ตั้งให้หัวหน้าเผ่าต่าง ๆ เป็นกองสอดแนมลาดตระเวนบริเวณชายแดน หัวหน้าชาวแสกชื่อฆานบุดดีได้รับแต่งตั้งเป็นกองอาทมาด อยู่ที่เมืองแสก เชิงเขาบรรทัดต่อชายแดนญวณ
แต่ถูกญวณรังแกจึงอพยพข้ามมาตั้งบ้านไผ่ล้อม ห่างฝั่งขวาแม่น้ำโขงเข้ามาราว ๓ กิโลเมตร เมื่อปี ๒๓๘๐ ขึ้นกับเมืองนครพนม
ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านไผ่ล้อมเป็นเมืองอาทมาต ฆานบุดดีได้เป็นหลวงเอกอาสา เจ้าเมืองคนแรก ย้ายที่ตั้งเมืองออกมาอยู่ริมแม่น้ำโขงที่บ้านหายโศก และเปลี่ยนชื่อเดิมของหมู่บ้านตามชื่อเมือง จนปี ๒๔๕๐ เมืองอาทมาตถูกเปลี่ยนเป็นตำบลอาจสามารถ ขึ้นกับเมืองนครพนมมาจนปัจจุบัน
นอกจากที่บ้านไผ่ล้อมและบ้านอาจสามารถที่เป็นแหล่งแรกของการตั้งถิ่นฐานบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง แสกบางส่วนยังอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านดอนสมอ อำเภอศรีสงคราม และที่บ้านบะหว้า อำเภอนาหว้า
รวมสี่ชุมชนในจังหวัดนครพนม รวมประชากรราว ๓,๕๐๐ คน กับอาจมีอีกบางหมู่บ้านอยู่ในจังหวัดมุกดาหารแต่ยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด
...
ศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ ริมฝั่งโขง ศูนย์กลางของแสกบ้านอาจสามารถ ที่สถิตของโองมู้ผู้คุ้มครองดูแลและดลบันดาลความเป็นไปต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ตามการ “บ๊ะ” หรือบนบาน ของลูกหลานผ่านทาง “กวนจ้ำ” ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผีกับคนในพิธีกรรม รวมทั้งในการ “เก่บ๊ะ” เซ่นไหว้ตามที่ได้บนไว้
บวงสรวงโองมู้ พิธีหลักของงานกิ๋นเตดเดน บุญประจำปีของชุมชนชาวแสก และถือเป็นงานใหญ่ของจังหวัดนครพนม ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานในพิธี
อาจกล่าวได้ว่าแสกเป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อมาอยู่ในภาคอีสาน เกิดการผสานทางวัฒนธรรมกับไทลาวซึ่งเป็นคนกลุ่มหลัก ทั้งการแต่งกาย ภาษา อาหาร และอาจรวมถึงการแต่งงาน ทำให้รูปร่างลักษณะเดิมที่ผิวออกขาวก็ค่อยกลายเป็นคล้ำคล้ายคนลาว
หากพบหน้ากันในที่นอกถิ่นในเวลาปรกติ คนทั่วไปก็คงมองพวกเขาเป็นเพียงคนภาคอีสานทั่วไปจากจังหวัดนครพนม
แล้วอะไรที่บ่งบอกตัวตนของความเป็นแสก
“ภาษา” คำตอบของ บุญมี มาตชัยเคน ชาวแสกบ้านบะหว้า “เป็นแห่งเดียวในเมืองไทยที่ยังใช้ภาษาแสกกันอยู่ในชีวิตประจำวัน เด็กอุแว้ออกมาก็ได้ยินภาษาแสกแล้ว”
นักภาษาศาสตร์จัดชาวแสกอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได ขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเห็นว่า “...แลภาษาแสกนั้นก็เปนภาษาไทยอย่างหนึ่งไม่ผิดกันนัก”
มีภาษาแสกบางคำใช้คำเดียวกับภาษาไทย ย่า แม่ ป้า อา และการนับเลข สาม สี่ ห้า เจ็ด สิบ
กับคำแสก-คำไทย ที่ใกล้เคียง เช่น (คุณ) ตา-ต๋า พ่อ-ป้อ พี่-จี้ น้า-หน่า ลูก-หลึก หลาน-หล่าน และการนับเลข (๑) นึ่ง-หนึ่ง (๒) ซอง-สอง (๖) ฮก-หก (๘) เปด-แปด (๙) กู้-เก้า ฯลฯ
และคำผสมระหว่างภาษาไทยกับภาษาแสก ไปเหน่อ-ไปไหน หม่าแต่เหน่อ-มาจากไหน ขอบจื๋อ-ขอบใจ กิ๋นเหง่า-กินข้าว
ภาษาแสกเดิม เช่น แทร่อยู่-สวัสดี เจ่าเสืองห่อยหะ-คุณรักฉันไหม ล้วนมีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน
จนเมื่อไม่นานนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมาร่วมกับชุมชนแสกบะหว้า สร้างระบบเขียนภาษาแสกโดยตัวอักษรไทยขึ้นมา
“กำหนดภาษาขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่าย ปู่ย่าตายายสร้างไว้มีบุญคุณ เราต้องกตัญญู” ปรีชา ชัยปัญหา อดีตครูโรงเรียนราษฎร์สามัคคี โรงเรียนมัธยมศึกษาของตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ที่นักเรียนลาว กะเลิง แสก นับพันคนเรียนอยู่ด้วยกัน “เราจะเรียนภาษาไหน ๆ อย่าลืมภาษาแม่ แต่ตอนหลังเห็นข้าราชการพูดกลาง พ่อแม่ก็สอนลูกให้พูดกลาง แต่ผมจะสอนเด็ก ๆ ว่าอย่าลืมภาษาแสก คนชาติอื่นพูดภาษาเขาไม่อาย เราต้องรักษาภาษา”
“ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่พูดไทย เพราะอยู่กับโซเชียลมีเดีย ไม่ค่อยพูดแสก พอมหาวิทยาลัยมหิดลมาชวนทำตัวเขียนภาษาแสกเราเห็นด้วย เพราะอยากทำอยู่แล้ว”
จวง ก้อนกั้น ชาวบ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ หัวหน้าทีมวิจัยภาษาแสก
“เราทำตัวเขียนภาษาแสกขึ้นมา บางคำเขียนไม่ได้ เสียงภาษาแสกมากกว่าตัวอักษรและวรรณยุกต์ในภาษาไทย อย่างคำว่าขี้ แสกออกเสียงว่าไกข๋ ถ้าใส่แต่ ก ก็เป็นไก่ ใส่ ข ก็เป็นไข่ พอทำวิจัยพี่เลี้ยงจากมหิดลมาแนะนำให้มีวรรณยุกต์เพิ่มเป็น ๖ รูป ๗ เสียง ทีนี้เราก็เขียนได้ค่ะ กฺ ออกเสียงขึ้นจมูก ใส่ เ-า เป็นอาหาร ใส่ ไ แปลว่าขี้” หัวหน้าทีมนักวิจัยชาวแสกเล่าบรรยากาศการสร้างตัวเขียน
ให้ภาษาแสก
“ดิฉันตื่นเต้นมาก จากที่ไม่เคยเขียนได้ พอมาเขียนได้รู้สึกตื่นเต้น ภาษาเราก็เขียนได้นี่นา แล้วทำไมเราจะไม่เขียน”
พอเขียนได้ ทีมวิจัยแสกบะหว้าก็เริ่มเขียนเรื่อง เขียนเพลง เขียน (หมอ) ลำ “ภาษาแสกเขียนได้ ลำได้ ตอนนี้เรามีตัวเขียนแล้ว ใช้พยัญชนะไทย ตัวไหนไม่ใช้ตัดทิ้ง เช่น ย ใช้เป็น ยอ ส่วน ญ ใช้เป็นเสียงสูง หญ่าง”
รวมทั้งสร้างการพิมพ์ในระบบคอมพิวเตอร์
“ตอนแรกเราเขียนด้วยมือ ตอนนี้ทำฟอนต์เขียนภาษาแสกออกมาแล้ว”
เธอเล่าความก้าวหน้าและให้บทสรุปเรื่องภาษาเขียน
“ภาษาช่วยให้เราพูดและเขียนออกมาได้อย่างที่ใจเราอยากบอก แต่ตอนนี้ภาษาแสกกำลังจะหาย เด็ก ๆ รุ่นใหม่ไม่ค่อยพูด การมีระบบตัวเขียนขึ้นมาบันทึกไว้จึงสำคัญมาก”
หากพบหน้ากันในที่นอกถิ่นในเวลาปรกติ คนทั่วไปก็คงมองพวกเขาเป็นเพียงคนภาคอีสานทั่วไปจากจังหวัดนครพนม แล้วอะไรที่บ่งบอกตัวตนของความเป็นแสก
สรงน้ำพระผ่านรางพญานาค ช่วงท้ายพิธีงานบุญเดือนสี่ ของหมู่บ้านบะหว้าแสก
แห่กลองเลง การละเล่นหลักอย่างหนึ่งของชาติพันธุ์แสก ได้ยินเสียงวงกลองเลงกึกก้องขึ้นมาทุกคนจะรู้ว่าได้เวลาเทศกาลงานบุญแล้ว
...
อีกฟากทุ่งของอำเภอนาหว้า ก่อนถึงฝั่งแม่น้ำสงคราม ในเขตอำเภอศรีสงคราม มีชุมชนชาวแสกอีกแห่งตั้งอยู่ในลุ่มน้ำสงคราม ที่หมู่บ้านดอนสมอ ชุมชนแสกที่เลื่องชื่อเรื่องการเป็นแหล่งเลี้ยงควายไทยของภาคอีสานในปัจจุบัน
“บ้านดอนสมอมีสองหมู่บ้าน รวมกว่า ๓๖๒ ครัวเรือน เป็นแสกทั้งหมด แต่พูดภาษาลาว” จิรกานต์ เอก-จักรแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ กับ วัชระ คำใหญ่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๗ ช่วยกันแนะนำชุมชนชาวแสกบ้านดอนสมอ ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม ซึ่งตามบอร์ดแนะนำประวัติหมู่บ้านเล่าว่า อพยพจากบ้านอาจสามารถมาตั้งหมู่บ้านบนเนินที่มีต้นสมอคู่ขนาดสามคนโอบเมื่อปี ๒๔๔๐ ต่อมาปี ๒๔๗๓ เกิดโรคระบาดจึงพากันย้ายมายังที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน ห่างจากที่เดิมราว ๒ กิโลเมตร
“โบราณว่าที่เคยผูกควายไว้ปลูกบ้านได้เลย จะไม่มีผี ไม่ต้องทำพิธีอะไร ควายไล่ผีได้ ไม่ต้องใช้หมอผีไล่” ผู้ใหญ่บ้านดอนสมอเล่าถึงความสัมพันธ์ของคนแสกกับควาย
“แสกบ้านดอนสมอเลี้ยงควายกันกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นพันตัว เกิดใหม่ ขายไป มีพ่อค้ามาซื้อ กระบือพื้นเมืองก็มี ตัวละ ๔ หมื่น ที่ปรับปรุงพันธุ์แล้วเป็นหลักล้านก็มี เขาซื้อไปเป็นพ่อพันธุ์ เป็นควายสวยงาม บ้านสมอเคยได้รางวัลควายสวยงามปี ๒๕๕๗”
ผู้ใหญ่บ้านเล่าแล้วนำไปชมคอกควายของลูกบ้านที่อยู่ข้างวัด ชี้ไปที่ควายตัวหนึ่ง
“ตัวที่เขาเพิ่งจับเหลี่ยมตัวนี้ขายราคา ๑ กิโลกรัม” คนฟังงง ผู้ใหญ่บ้านสาวเฉลย “เอาแบงก์พันไปชั่งให้ได้ ๑ กิโล ก็ราว ๑ ล้านบาท ทั้งคอกมีควายราว ๒๐ ตัว ก็ไม่น้อยกว่า ๒๐ ล้านบาท เจ้าของพาเดินสายประกวด แม่ลูกคู่หนึ่งของคอกนี้เคยขาย ๑๓ ล้านบาท”
หาญณรงค์ วรราช วัย ๕๙ ปี เป็นแสกบ้านดอนสมอคนหนึ่งที่หันมาเลี้ยงควายเป็นอาชีพหลักแทนการทำนา ตอนนี้เขามีควาย ๒๓ ตัว และเล่าถึงเพื่อนบ้านบางคนว่ามีเป็นร้อยตัวได้ลูกควายเกิดใหม่ปีละเป็นสิบตัว
“เลี้ยงมา ๒๐ กว่าปี ตอนนี้ไม่ทำนา ปลูกหญ้าเลี้ยงควาย ๗ โมงเช้าพาควายออกมากินหญ้า กลับ ๕ โมงเย็น คนเลี้ยงก็ห่อข้าวมา” เขาเล่าระหว่างเดินต้อนควายตามทางจากหมู่บ้านลงทุ่ง
“มานี่ ๑๖ ตัว ที่คลอดใหม่ปลูกหญ้าให้กินอยู่บ้าน ตอนนี้ท้องอยู่ ๓ ตัว ตัวเมียออกลูกปีละตัว มีรายได้ตอนขายลูกหลังคลอด ๑ ปี ปีที่แล้วขาย ๓ ตัว ตัวละล้านกว่า”
ราคาสูงอย่างน่าตกใจ
“เป็นควายงาม พัฒนาสายพันธุ์มาสี่ห้ารุ่น” เขาเล่า “สตอรี” ที่มาของราคา แล้วชี้ไปที่ควายงามสองตัวที่เดินเบียดกันอยู่ในฝูง
ชีวิตประจำวันของชาวแสก บ้านดอนสมอในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่กับการปศุสัตว์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่บ้านควายของภาคอีสาน
“ดูกีบเท้า บั้นท้าย หาง สมดุลลงตัวกัน ตัวใหญ่สุดน้ำหนักเกือบตัน มีคนเสนอให้ ๓ ล้านบาท โดยผมไม่ได้เปิดราคา ตัวที่ยังเล็กอยู่ราคาราวล้านกว่า ๆ”
เขาอยู่กับควายทั้งวันและทุกวัน คุ้นเคยกันจนรู้ว่าควายรู้ภาษาที่เขาคุยด้วย
“เขารู้ภาษา แค่พูดไม่เป็น เราบอกอย่ากินข้าวในนานะ เขาเข้าใจ ผมก็รู้นิสัยเขา”
หาญณรงค์พูดกับควายและพูดกันในหมู่เพื่อนบ้านด้วยภาษาลาว ไม่ใช่ภาษาแสก และไม่แน่ว่าในชุมชนยังมีการละเล่นเต้นสากที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์อยู่หรือไม่ รวมทั้งด้านเสื้อผ้าอาหาร ซึ่งในทุกวันนี้ยากที่จะแยกความต่างจากพี่น้องชาวอีสานทั่วไป
...
แต่ที่บ้านอาจสามารถในยามมีงานบุญใหญ่ วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี คนทั้งชุมชนจะแสดงอัตลักษณ์ผ่านการละเล่นและการแต่งกาย
การนุ่งห่มของแสกที่เห็นในภาพถ่ายเมื่อราว ๓๐ ปีและก่อนหน้านั้น แต่งกายคล้ายไทลาว ใส่เสื้อผ้าลูกไม้ แขนกระบอก นุ่งซิ่นไหมมัดหมี่หรือทอด้วยเส้นฝ้ายมีเส้นสีขาวคล้ายลายน้ำไหล หญิงสูงวัยตัดผมสั้นทรงดอกกระทุ่ม
ตามที่ นวน ก้อนกั้น ผู้อาวุโสบ้านบะหว้าเล่าให้ทีมวิจัยภาษาแสกฟังว่า สมัยก่อนยังไม่มีผ้าสีหายาก มีแต่ผ้าซิ่นมัดหมี่ลายตะขอคั่นย้อมคราม เก็บฝ้ายที่ปลูกเองตามหัวไร่ปลายนา สีขาวหรือสีหม่นขึ้นอยู่กับพันธุ์ของดอกฝ้าย ทอแล้วนำมาตัดเสื้อแขนสั้นแขนยาว ก่อนมีกรรไกรใช้พร้าตัดผ้า โดยวางคมลงตามรอยผ้า ใช้ค้อนทุบเบา ๆ ให้ผ้าขาดตามรอยที่ขีดไว้ด้วยดินสอที่ปั้นจากดินเหนียวก้นบ่อน้ำไว้ใช้ขีดเขียน
เสื้อผ้ายุคแรกสุดของชาวแสกในอีสานจึงเป็นเสื้อคอกลมสีฝ้ายกับซิ่นมัดหมี่ลายตะขอคั่นโบราณ
แต่ยามมีงานบุญใหญ่ประจำปี ผู้หญิงแสกส่วนใหญ่แต่งตัวกันแบบ “จัดเต็ม” ตามที่ยึดถือร่วมว่าเป็นชุดประจำเผ่าในทุกวันนี้ ใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีดำ คอกลม ผ่าด้านหน้าติดกระดุม แขนยาวทรงกระบอก นุ่งผ้าถุงสีเดียวกับเสื้อมีเชิงที่ปลายยาวกรอมเท้า คาดเอวด้วยผ้าลายเดียวกับเชิงผ้าถุง พาดผ้าเบี่ยงสีแดง ใส่ตุ้มหู กำไล สร้อยข้อเท้า และสร้อยคอ ไว้ผมยาวเกล้ามวย
ผู้ชายสวมเสื้อสีดำ คอกลม แขนสั้น ผ่าด้านหน้าติดกระดุม ชายเสื้อผ่าข้าง กางเกงใช้ผ้าเดียวกับเสื้อ ขากว้าง ยาวถึงเข่าหรือครึ่งน่อง หรือนุ่งผ้าเตี่ยวตาหมากรุก ในงานเทศกาลอาจคาดเอวด้วยผ้าขาวม้าตาหมากรุก หรือที่เรียกว่าผ้าตาล่อง ผ้าพาดบ่าสีแดงล้วน
ผู้หญิงแสกบ้านอาจสามารถในชุดเสื้อผ้าของชาติพันธุ์ที่เน้นเป็นสีดำแดง กับเครื่องประดับสีเงินวาว
เป็นชุดการแต่งกายของชาติพันธุ์แสกในปัจจุบัน ตามที่รายงานวิจัยภาษาแสกบะหว้าระบุว่า “ผู้รู้จากศูนย์ราชการวัฒนธรรม จังหวัดนครพนม บอกว่าชุดประจำเผ่าของไทแสกเป็นชุดสีดำขลิบแดง ผ้าถุงต่อชายเป็นตีนจก”
เช้าตรู่วันตรุษแสก กิ๋นเตดเดน พี่น้องร่วมชาติพันธุ์ในตำบลอาจสามารถ แขกเหรื่อจากภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดและนักท่องเที่ยวทั่วไปจะมารวมตัวกันที่ศาลเจ้าเดนหวั่ว-โองมู้ ริมฝั่งโขง ศูนย์กลางของแสกบ้านอาจสามารถ ที่สถิตของโองมู้ผู้คุ้มครองดูแลและดลบันดาลความเป็นไปต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ตามการ “บ๊ะ” หรือบนบาน ของลูกหลานผ่านทาง “กวนจ้ำ” ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผีกับคนในพิธีกรรม รวมทั้งในการ “เก่บ๊ะ” เซ่นไหว้ตามที่ได้บนไว้
“ผมเป็นกวนจ้ำ เป็นคนสื่อกับท่าน” ไสว คำเฮือง แนะนำตัว ขณะช่วยกันทำหน้าที่อยู่หน้ารูปปั้นโองมู้ภายในศาล กับ ประสิทธิ์ ทักษิณ จ้ำอีกคน ซึ่งมาจากการเลือกของชุมชนและผ่านการเสี่ยงทายว่าโองเห็นชอบด้วย
“ไม่ใช่ส่งต่อกันเป็นตระกูล ลูกจะเป็นไหมก็ต้องเสี่ยง ชาวบ้านชอบ ท่านต้องชอบด้วยโดยการเสี่ยงทาย และต้องพูดแสกได้”
เพื่อมาทำหน้าที่สื่อสารกับผีบรรพบุรุษ
“ลูกหลานแสกเอากับข้าวมาเชิญโอง ในภาษาแสกคือปู่ มากินแล้วหลานขอเสี่ยงทายด้วยไม้เสี่ยงทาย ทำด้วยไม้พะยูงทาสีขาวกับดำ ขอให้ได้ครั้งเดียว โยนลงไปแล้วต้องให้ต่างสีกัน”
วันงานกวนจ้ำจะอยู่ด้านในของศาล บริเวณรูปปั้นโองมู้ คอยจัดแจงให้คำแนะนำและทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยอาหารหวานคาว ผลไม้ และเหล้า ที่ลูกหลานในชุมชนนำมาถวายโองมู้
ในพิธีเซ่นจะมีการเสี่ยงไม้คู่ขนาดราว ๒ นิ้ว สีขาวกับดำด้านละสี ถ้าไม้ที่โยนลงแล้วเป็นคี่ ขาวกับดำ แสดงว่าโองมู้พอใจและรับการเซ่นไหว้ครั้งนั้น
การ “เต้นสาก” ก็เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงโองมู้ในวันตรุษแสก กิ๋นเตดเดน มาแต่ดั้งเดิม การจะนำไปเล่นในสถานที่หรือโอกาสอื่นต้องให้จ้ำทำพิธีเสี่ยงทาย หากโองมู้อนุญาตจึงจะแสดงได้
แสกเต้นสาก เป็นการละเล่นในงานบวงสรวง “โองมู้” หรือบรรพบุรุษคนแรกที่นำชาวแสกข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวา และเชื่อว่าทุกวันนี้ยังคงคุ้มครองดูแลหมู่บ้านแสกทุกปีจะจัดพิธีบูชาที่เรียกว่า “กิ๋นเตดเดน” ในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓
แสกเต้นสาก ที่ชาวบ้านอาจสามารถแสดงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและแขกเหรื่อที่มาร่วมงานบวงสรวงโองมู้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ ดูไม่ต่างจากที่ “หลวงเอกอาสา นายอำเภอเมืองอาจสามารถ นำพวกหญิงชาติแสกมา มีการเล่นซึ่งเรียกว่าเต้นสากให้ดู...” ต่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ และคณะตรวจราชการมณฑลอุดรอีสาน เมื่อปี ๒๔๔๙ ต่างกันแต่ในยุคนั้นคนเต้นเป็นหญิงสองคู่ แต่ทุกวันนี้เป็นหญิงชายสองคู่
การละเล่นแต่ครั้งโบราณเล่ากันว่าคว้าสากตำข้าวมาเคาะจังหวะได้เลย ไม่ต้องเตรียมการ ยุคต่อมาจึงมีการจัดหาไม้ไว้เป็นอุปกรณ์เฉพาะ แยกเป็นสองส่วน ทาสีแดงสดสลับขาว
ไม้ตีสาก ใช้ไม้เนื้อแข็งจะได้เสียงที่หนักแน่นกังวาน ไม่เปราะแตกง่าย ขนาดพอเหมาะมือ ความยาวราว ๒ เมตรเท่ากันหมด ๔-๖ คู่
ไม้สาก ใช้เป็นไม้รอง ต้องใช้ไม้เนื้อแข็งสองท่อน ยาวท่อนละราว ๕-๗ เมตร
เวลาเล่น คนเคาะจังหวะหรือ “ตีสาก” นั่งอยู่ปลายไม้ตีสากคนละด้าน หันหน้าเข้ากันเป็นคู่ ๆ เรียงแถวห่างกันราวครึ่งเมตร มือจับปลายไม้ตีสากข้างละอันกระแทกลงบนไม้รองพร้อม ๆ กันทุกคู่ เกิดจังหวะเร่งเร้าไปพร้อมกับเป็นพื้นที่แสดงให้กับเหล่านักเต้นสองคู่ชายหญิง เข้ามาย่ำเท้าตามช่องระหว่างคู่ไม้สาก เข้าจังหวะกระทบไม้ซึ่งทั้งแยกห่างและรวบชิด
เต้นสากไม่มีจังหวะที่ช้า มีแต่เร็ว และจะเร่งจังหวะเร็วขึ้นเรื่อย
หากคนตีสากไม่เป็น หรือคนเต้นไม่ถูกจังหวะ ก็จะถูกไม้สากหนีบเท้า
ผิวเผินอาจดูคล้ายการรำลาวกระทบไม้ แต่เต้นสากตอนถึงจังหวะเร็วจะเร็วกว่ามาก ต้องเป็นคนที่ผ่านการฝึกฝนจนชำนาญจึงสามารถเข้าร่วมเต้นได้อย่างเพลิดเพลินลื่นไหล และเจือความหวาดเสียวในสายตาคนดู ประกอบเสียงเชียร์เร่งเร้าของคนร้องเพลงภาษาแสก กับเสียงดนตรีประกอบจังหวะ พวกกลอง ฆ้อง และพังฮาด
นอกจากท่วงท่าพลิ้วไหวสนุกเร้าใจ นักเต้นต้องผสานจังหวะการย่ำเท้าให้พอดีกับไม้กระทบ หลบหลีกไม่ให้ไม้คู่หนีบเท้า ซึ่งคนดูต่างต้องคอยลุ้นเอาใจช่วยไปพร้อมกับความสนุกเพลินใจ
“ดูกี่ครั้งก็สนุกเหมือนเดิม” ยายนวนเล่าย้อนเวลาร่วม ๙๐ ปีในชีวิตของแก “ตอนยังเป็นเด็กอยู่เต้นไม่ได้ พอโตขึ้นก็มีโอกาสเต้นอยู่หลายครั้ง จากนั้นมาไทแสกก็ยังเล่นแสกเต้นสากอยู่เหมือนเดิม”
เป็นร่องรอยของชาติพันธุ์ที่แฝงฝังอยู่ในสายธารวัฒนธรรม แม้อัตลักษณ์ด้านอื่น ๆ อาจถูกลบเลือนตามยุคสมัย แต่ที่อยู่ในมิติของความงามความรื่นเริงใจมักได้รับการโอบอุ้มไว้ยาวนานด้วยความเต็มใจ ทั้งในตัวคนในและคนนอกวัฒนธรรม