ภาพถ่ายเมื่อปี ๒๔๖๕ เป็นหลักฐานยืนยันว่ากุดละคุ หรือตำบลกุรุคุในปัจจุบัน เป็นชุมชนคนกะเลิงมาแต่โบราณ ซึ่งต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ รวมทั้งที่บ้านดอนตาล แม้ว่าจะไม่มีการสักรูปนกข้างแก้มและไว้ผมยาวเกล้ามวยกันแล้วในหมู่ผู้ชาย
กะเลิง
ในวันที่ไม่สักรูปนกข้างแก้ม
ชาติพันธุ์อีสาน
หลากกลุ่มชนบนที่ราบสูง
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ประเวช ตันตราภิรมย์, บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
กลองมโหระทึกดอนตาลในวัฒนธรรมสำริดดองซอน อายุ ๓,๐๐๐ ปี นับว่าใหญ่สุดเท่าที่พบในเมืองไทยสันนิษฐานว่าใช้ตีในพิธีกรรมสำคัญอย่างการขอฝน ชาวกะเลิงมีถิ่นฐานอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจึงเป็นไปได้ที่จะอยู่ร่วม วัฒนธรรมดองซอนในยุคนั้นด้วย
“กะเลิงนี่ที่เห็นชัด ๆ เลย จะสักรูปนกตัวหนึ่งไว้ที่แก้ม” คำเล่าจาก สุนทร ปาวงศ์ อดีตศึกษานิเทศก์จังหวัดมุกดาหาร เกษียณอายุราชการมา ๑๐ ปี ปัจจุบันเป็นหัวหน้าหน่วยจัดการศึกษาอำเภอดอนตาล วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร
สมัยก่อนหากเห็นรูปนกที่แก้มก็จะรู้ว่าคนไหนเป็นกะเลิง ชนชาติพันธุ์หนึ่งในแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครสักรูปนกที่แก้มกันแล้ว จะบอกความเป็นกะเลิงกันด้วยอะไร
สุนทรพยายามไล่เรียงหาเกณฑ์ที่จะใช้แยกแยะ
ประเพณีวัฒนธรรมเป็นแบบเดียวกับชาติพันธุ์ลาว
การแต่งกาย กะเลิงใช้ผ้าฝ้ายเข็นและทอมือ ย้อมคราม
หากแบ่งโดยเกณฑ์ภาษา กะเลิงดอนตาลใช้ภาษาลาว ขณะที่กะเลิงนาสะเม็งพูดภาษาผู้ไท แต่เป็นคนละสำเนียงกับผู้ไทคำชะอี
“ตอนแยกจังหวัดเมื่อปี ๒๕๒๔ จัดงานใหญ่รวมชนเผ่ามุกดาหารจากอำเภอต่าง ๆ ได้แปดเผ่า บอกว่ากะเลิงอยู่อำเภอดอนตาล” ตามคำเล่าของ กีรติ ปาวงศ์ อดีตสาธารณสุขอำเภอดอนตาล ปัจจุบันเป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอดอนตาล และเป็นสมาชิก “วิทยาลัย ฒ ผู้เฒ่า ไทกะเลิง”
“แต่คนรุ่นปู่รุ่นย่าก็ไม่ได้บอกว่าเราเป็นกะเลิง เล่าแต่ว่าย้ายถิ่นฐานมาจากฝั่งโขงทางซ้าย ก็อาจจะใช่ตามที่ว่าถูกกวาดต้อนมาสมัยรัชกาลที่ ๓ หลายเผ่าปนกัน”
แต่เมื่อถูกถามถึงสิ่งบ่งบอกความเป็นกะเลิง กีรติให้คำตอบทำนองเดียวกับสุนทร
“เอกลักษณ์กะเลิงที่แตกต่างจากเผ่าอื่น จะสักลายที่ขาขึ้นมาถึงพุง สักนกน้อยไว้ที่แก้ม คนโบราณบอกว่าสาวจะชอบ”
แต่บางข้อสันนิษฐานว่า นกในรอยสักนั้นเป็นความเชื่อดั้งเดิมว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่จะนำวิญญาณคนตายไปสู่สวรรค์ เช่นเดียวกับที่ปรากฏรูปนกบนลายกลองมโหระทึกสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
“...อยู่มาช้านานหลายชั่วคนแล้ว จนไม่รู้ว่าพวกเกลิงมาจากไหน ชายบางคนไว้ผมมวย บางคนไว้ผมประบ่า แลสักแก้มเปนรูปนก...”
ศาลปู่ตาบ้านกุรุคุ ซึ่งมีลำห้วยกุดไหลผ่าน ตามตำนานว่าถังน้ำที่หายไปในบ่อที่ห่างกัน ราว ๕๐๐ เมตร มาโผล่ในลำห้วยสายนั้นหลังผ่านไป ๓ วัน
หากจะดูความเป็นกะเลิงจากการแต่งกาย ผู้เฒ่ากีรติแนะให้ดูเสื้อผ้าชายหญิงสูงวัยที่รวมกันอยู่ในวิทยาลัย ฒ ผู้เฒ่า ไทกะเลิง ที่ตั้งอยู่มุมหนึ่งของวัดมัชฌิมาวาส
“การแต่งกายดั้งเดิมก็แบบที่ผมใส่อยู่นี้ ผู้ชายใส่โสร่ง เสื้อคอปก สมัยนี้นุ่งกางเกง ใส่คอจีน ผ้าขาวม้าคาดเอว เป็นผ้าฝ้ายทอมือ ดอกฝ้ายบ้านปลูกเองนำมาปั่น รีด เข็นออกมาเป็นเส้น ย้อมคราม ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงลายมัดหมี่เส้นฝ้ายมัดแล้วย้อมโดยเอาไปขยำในหม้อหลายรอบ พอทอใส่กันก็เกิดลายพอดี และต่อชายปลายล่างที่เรียกว่าตีนซิ่น”
และเล่าถึงกระบวนการย้อมผ้าฝ้ายด้วยคราม
“สมัยโบราณตัดใบครามมาแช่น้ำข้ามคืน ทิ้งให้ตกตะกอน รินน้ำทิ้ง เอาเส้นด้ายลงใช้มือขยำ หรือจะใช้ครามก้อนหนืดข้นเหมือนจาระบีก็มีขายที่สกลนคร”
แต่ผู้เฒ่าชาวกะเลิงก็ยอมรับความจริงที่เป็นตามยุคสมัย
“แต่ตอนนี้แทบไม่มีใครเข็นฝ้ายทอเอง เพราะผ้าราคาถูก ซื้อด้ายโทเรมามัดเอง บ้างก็ซื้อผ้ามาตัดเย็บ เสื้อผ้ากะเลิงที่ผู้เฒ่าใส่กันอยู่นี้ทอมือเก็บไว้ เก็บเส้นด้ายไว้ สังเกตเนื้อจะหยาบ เส้นด้ายไม่สม่ำเสมอ เอาออกมาใส่เวลามีงานเท่านั้น”
บ้านดอนตาล ตำบลดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับบ้านนาทามทางฝั่งลาว
ผู้เฒ่าสุนทรเล่าด้วยว่า เดิมชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่บนดอนหัวตาลกลางแม่น้ำโขง ตรงข้ามวัดท่าดอนตาล
“เดิมอยู่ประเทศลาวต่อแดนกับทางเขมร สมัยรัชกาลที่ ๓ อพยพข้ามมาจากทางใต้ มาอยู่ดอนหัวตาล เป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำโขง หัวเกาะมีทิวต้นตาลเป็นดง
“อยู่ตรงนั้นเป็นร้อยปี มีวัด ต่อจากนั้นบางส่วนข้ามมาทางฝั่งนี้ ตอนผมยังเป็นนักเรียนแถวหัวเกาะมีคนเคยขุดพบหลุมศพโบราณ เห็นสมบัติพวกลูกปัดสวมแขน ขา คอ เป็นพวง”
และมีวัตถุโบราณชิ้นสำคัญถูกพบที่ดอนตาล โดยชาวประมงสามคน ตามบันทึกว่าพบเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๘๑ โดยชาวบ้านสามคน คือ เล็ก ปริปุรณะ แปง ศีลาศักดิ์ ลับ ศีลาศักดิ์ วันนั้นขณะนำเรือเลาะฝั่งผ่านแถวหน้าวัดเวินไชยมงคล สังเกตเห็นโลหะโผล่พ้นดินที่ถูกน้ำเซาะ เมื่อช่วยกันขุดขึ้นมาดูก็พบว่าเป็นกลองทอง จึงนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาส วัดเก่าแก่อายุ ๔๐๐ ปี ในอำเภอดอนตาล มาจนปัจจุบัน
ชาวบ้านเรียกกลองทอง แต่ความจริงเป็นโลหะสำริดที่เป็นส่วนผสมทองแดง ดีบุก ตะกั่ว นักโบราณคดีเรียกกลองลักษณะนี้ว่ากลองมโหระทึก อายุราว ๓,๐๐๐ ปี ขุดพบครั้งแรกที่เมืองดองซอน ทางตอนเหนือของเวียดนาม จึงตั้งชื่อยุคสมัยทางวัฒนธรรมตามชื่อสถานที่ค้นพบว่าวัฒนธรรมสำริดดองซอน
แต่ครั้งกะเลิงยังอาศัยอยู่ในถิ่นฐานเดิมทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ชาวลาวลุ่มซึ่งเป็นคนกลุ่มหลัก นับกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในตระกูลภาษามอญ-เขมรว่า “ข่า” ในความหมายข้าทาส จึงเรียกกะเลิงอีกอย่างว่าข่ากะเลิง ปัจจุบันกะเลิงเปลี่ยนภาษาพูดมาเป็นกลุ่มไท-ลาว ที่มีสำเนียงเฉพาะตัว เป็นคำตอบว่าทำไมชุมชนกะเลิงในภาคอีสานจึงพูดลาว
ผูกข้อมือบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีกรรมให้กำลังใจอันเรียบง่ายที่ทำให้กันได้ทุกโอกาสตั้งแต่ในครัวเรือน ชุมชน จนถึงงานพิธีการ ในหมู่ชาวกะเลิงและแทบทุกชาติพันธุ์ในแถบลุ่มน้ำโขง
ใบที่พบที่อำเภอดอนตาลนับเป็นกลองมโหระทึกใหญ่สุดเท่าที่พบในเมืองไทย เป็นกลองหน้าเดียว หน้ากลองกว้าง ๘๖ เซนติเมตร ท้ายกลองเส้นผ่านศูนย์กลาง ๙๐ เซนติเมตร ความยาวจากหัวจดท้าย ๖๖ เซนติเมตร บนหน้ากลองมีลายนูนต่ำรูปคล้ายดวงอาทิตย์ ๑๔ แฉกอยู่ตรงกลาง และรูปกบ ๔ ตัวเวียนซ้ายอยู่ริมขอบ จึงสันนิษฐานว่ากบเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองตามความเชื่อของคนสมัยนั้น เมื่อกบร้องเป็นสัญญาณว่าฝนกำลังจะตก ได้น้ำทำการเพาะปลูก กลองมโหระทึกคงถูกใช้ตีในพิธีกรรมสำคัญอย่างการขอฝน
ชาวกะเลิงมีถิ่นฐานอยู่แถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จึงเป็นไปได้ที่จะอยู่ร่วมวัฒนธรรมดองซอนในยุคนั้นด้วย
แต่เมื่อเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงในสมัยรัชกาลที่ ๓ ช่วงทศวรรษ ๒๓๗๐ ก็กลายกลืนเป็นกลุ่มเดียวไปกับชาติพันธุ์ลาวที่เป็นคนกลุ่มหลักของท้องถิ่นมาแต่เดิม ไม่ว่าด้านภาษา อาหาร การแต่งกาย วิถีชีวิต อย่างยากที่จะแยกแยะและหาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของกะเลิงดอนตาล
“ที่บ้านนาสะเม็งเป็นกะเลิงกลุ่มใหญ่ อาจมองเห็นได้ชัดกว่า” กีรติแนะนำ
หมู่บ้านนาสะเม็งที่ผู้เฒ่ากะเลิงบ้านดอนตาลกล่าวถึง เป็นตำบลอยู่ลึกเข้าไปจากถนนเลียบริมโขง ห่างอำเภอดอนตาลไปทางตะวันตกราว ๙ กิโลเมตร
“ผมเป็นคนนาสะเม็ง คิดว่าชาวบ้านที่นี่ไม่ใช่กะเลิง แต่หนังสือแนะนำการท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหารเขียนว่าเผ่ากะเลิงอยู่ที่นาสะเม็ง ผมก็ยังงงอยู่” เกษม คนไว ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ให้น้ำหนักไปทางเดียวกับผู้เฒ่าที่ดอนตาลเกี่ยวกับความเป็นกะเลิง ปัจจุบันเกษมเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนอยู่ที่ อบต. นาสะเม็ง ก่อนหน้านี้เขาเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนกะเลิงบนเทือกเขาภูพานฟากตะวันตกและเคยย้อนตามรอยเส้นทางอพยพของกะเลิงเข้าไปในประเทศลาว
“ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล มี ๙ หมู่บ้าน หมู่ที่ ๓, ๔, ๙ พูดลาว หมู่บ้านภูผาหอมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย มาจากหลายที่ หมู่ที่ ๑, ๒ บ้านนาสะเม็งเป็นตัวตำบล ถูกระบุว่าเป็นกะเลิง แต่พูดภาษาผู้ไท แต่งกายผ้าฝ้ายย้อมครามออกดำ แล้วก็งานบุญประเพณี เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ใช้เหล้าไหไก่ตัวเหมือนผู้ไท” เกษมให้ข้อมูลพื้นฐานชุมชน แล้วชี้ประเด็นตามการวิเคราะห์ของเขา
“ผมเคยไปอยู่ที่บ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เขาเป็นกะเลิง พูดลาว ไม่ได้พูดผู้ไทเหมือนคนนาสะเม็ง ผมเคยเดินทางไปเมืองเซโปนถิ่นเดิมของผู้ไทเพื่อพิสูจน์เรื่องภาษา เมืองเซโปนเก่าโดนระเบิดหายไปแล้ว มาตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน เขาเป็นผู้ไท พูดภาษาเดียวกับที่นาสะเม็ง และเดินทางต่อไปเมืองวัง ซึ่งเป็นผู้ไทเหมือนกัน แต่คนละสำเนียง ผมจึงว่านาสะเม็งไม่ใช่กะเลิง แต่เป็นผู้ไท”
ความสับสนเรื่องการบ่งชี้จำแนกชาติพันธุ์นี้อาจมีมาแต่ครั้งกะเลิงยังอาศัยอยู่ในถิ่นฐานเดิมทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งชาวลาวลุ่มซึ่งเป็นคนกลุ่มหลักนับกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในตระกูลภาษามอญ-เขมรว่า “ข่า” ในความหมายข้าทาส โดยมองว่าล้าหลัง อาศัยอยู่ตามป่าดง ต้องไปจับหรือตีข่ามาใช้งาน จึงเรียกกะเลิงอีกอย่างว่าข่ากะเลิง ปัจจุบันกะเลิงเปลี่ยนภาษาพูดมาเป็นกลุ่มไท-ลาว ที่มีสำเนียงเฉพาะตัว
เป็นคำตอบว่าทำไมชุมชนกะเลิงในภาคอีสานจึงพูดลาว
แต่ในหนังสือ คนสกลนคร ชาติพันธุ์ในชั้นประวัติศาสตร์ ให้ข้อมูลอีกด้านว่า “โดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า
บ่อน้ำโบราณท้ายหมู่บ้านกุรุคุ ต้นตำนานที่มาของชื่อหมู่บ้าน ที่ว่า คุ หรือถังน้ำของคนเลี้ยงช้าง หายไปในบ่อนี้
‘กะเลิง’ มาจากคำว่า ‘ขะเลิง’ หรือ ‘ข่าเลิง’ จึงเชื่อมโยงให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro Asiatic Languages Family) หรือมอญ-เขมร (Mon-Khmer Languages Family) แต่จากการศึกษาพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนครและอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ต่างมีภาษาพูดในตระกูลไท-กะได (Tai-Kadai Languages Family) แทบทั้งสิ้นโดยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในเขตแขวงเมืองคำเกิด แขวงเมืองคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนอพยพและถูกกวาดต้อนเนื่องจากผลแห่งสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบนครพนมและสกลนครเป็นส่วนใหญ่”
ในเวลาปรกติคนในชุมชนกะเลิงก็มีวิถีชีวิตเยี่ยงคนอีสานทั่วไป แต่การได้รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ย่อมยังความภาคภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์หนึ่ง
ที่หมู่บ้านโพนบก อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ต่อเนื่องถึงบ้านกุรุคุ อำเภอเมืองนครพนม เป็นชุมชนกะเลิงที่ต่อเนื่องมาแต่ครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดรอีสานปี ๒๔๔๙ ตามที่ปรากฏในบันทึกและมีภาพถ่ายกะเลิงกุรุคุหลายภาพ
“วันที่ ๑๒ มกราคม เวลาย่ำรุ่ง ๑๕ นาที ขี่ม้าจากที่พักเมืองนครพนม เดินทางไปเมืองสกลนคร ไปตามทางสายโทรเลขเปนป่าไม้เต็งรังเปนพื้น บางแห่งออกทุ่งนาบ้าง ข้ามห้วยเล็ก ๆ บ้าง เปนหนทางขึ้นเนินโดยมาก...”
คณะตรวจราชการของพระองค์มาถึง “บ้านกุรุคุ...เวลาเช้า ๕ โมงครึ่ง”
“กำนันผู้ใหญ่บ้านราษฎรมาคอยรับ ชาวบ้านนี้ว่าเปนพวกเกลิง แต่อยู่มาช้านานหลายชั่วคนแล้ว จนไม่รู้ว่าพวกเกลิงมาจากไหน ชายบางคนไว้ผมมวย บางคนไว้ผมประบ่า แลสักแก้มเปนรูปนก...”
ปัจจุบันการสักหมึกดำเป็นรูปนกบนแก้มสิ้นความนิยมไปแล้ว และตามชุมชนต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็พูดลาวกันแทบทั้งหมด แต่ความเป็นกะเลิงยังเห็นได้ในวิถีชีวิต ในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ คนกะเลิงทั้งหมู่บ้านโพนบกจะร่วมกันล้มหมูเลี้ยงผีปู่ตา
ส่วนบ้านกุรุคุยังใช้ภาษาของตัวเอง ซึ่งตามประวัติชุมชนระบุว่าตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๓๒๗ เดิมชื่อบ้านดอนบักกอกและบ้านบะหว้า สามปีต่อมามีเหตุการณ์ประหลาด ควาญช้างคนหนึ่งนำถังน้ำที่คนพื้นเมืองเรียกคุ ตักน้ำในบ่อกลางทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน แล้วคุหลุดจากไม้ขอจมหายลงไปก้นบ่อ ควานหาเท่าไรไม่เจอ ผ่านไป ๓ วันจึงไปโผล่ในลำห้วยกุดที่ศาลปู่ตาของชุมชน
ทุกปีช่วงก่อนวันสงกรานต์ อบต. กุรุคุจะจัดรวมใจไทกะเลิง เป็นงานมหกรรมที่สะท้อนและบ่งบอกความเป็นกะเลิง
นอกนั้นในเวลาปรกติคนในชุมชนกะเลิงก็มีวิถีชีวิตเยี่ยงคนอีสานทั่วไป
แต่การได้รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และบรรพบุรุษที่มีความเป็นมา ย่อมยังความภาคภูมิใจอยู่ในส่วนลึกว่าเป็นชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งมีรากเหง้า มิใช่เพียงชนเผ่าเร่ร่อนเลื่อนลอย