Image

อะไรทำให้คำบางคำ
ตลกกว่าคำอื่น ?

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยกล่าวไว้ว่า “อารมณ์ขันก็เหมือนกับการจั๊กจี้ทางความคิด”

เคยไหมที่เมื่อได้ยินคำบางคำ ไม่ว่าจะมีความหมายหรือไม่ก็ตาม แล้วรู้สึกว่าเหมือนโดนจั๊กจี้จนอยากหัวเราะ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

มีคนทำวิจัยเรื่องนี้และมีที่มาที่ไปแปลกประหลาดมิใช่น้อย เพราะเขาคือศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา (ไม่ใช่ทางภาษาศาสตร์) ชื่อ คริส เวสต์เบอร์รี จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา รัฐแคลิฟอร์เนีย อันที่จริงแล้วแรกเริ่มเดิมทีเขาศึกษาผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องทางการสื่อสารที่เรียกว่า “อะเฟเซีย (Aphasia)” ที่แยกแยะคำที่มีอยู่จริงกับคำเก๊ไม่ได้

สิ่งที่เขาพบโดยบังเอิญคือคำที่ไม่มีความหมายบางคำอย่าง snunkoople พูดขึ้นมาทีไรผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อดหัวเราะออกมาไม่ได้

เขาแปลกใจจนต้องร่วมมือกับคณะนักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทือบิงเงินในเยอรมนี ทำชุดคำที่ไม่มีความหมายขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อวิจัยว่าคำใดหรือคำรูปแบบใดบ้างที่ทำให้คนหัวเราะ และคำใดคนหัวเราะมากที่สุด  ข้อสรุปจากการทดลองนี้ก็คือคำที่ใช้ตัวอักษรที่ปรกติ ไม่ค่อยได้ใช้ในภาษาอังกฤษบ่อยนัก ชวนให้อยากหัวเราะมากขึ้น

ยกตัวอย่างคำที่มีตัวอักษร k, j และ y อยู่ชวนให้รู้สึกว่าตลก ส่วนเสียงสระสำหรับคำเดี่ยวที่ชวนให้รู้สึกตลกคือ /u/ เช่นในคำว่า guffaw, humph และ lummox เสียงสระแบบนี้แทรกอยู่ในคำที่ฟังดูตลกเกือบ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดทีเดียว

Image

เขาเสนอว่ามีสิ่งคล้ายกับเป็น “เขตโกลดิล็อกส์ (Goldilocks Zone)” ของคำที่ไม่มีความหมายอยู่ คำอย่าง anotain ที่อยู่นอกเขตนี้ก็จะไม่ค่อยเรียกเสียงหัวเราะได้มากเท่าไร เพราะฟังหรือดูใกล้เคียงกับคำมีความหมาย แต่ถ้าเป็นคำที่หลุดเข้าเขตนี้อย่าง pranomp ก็จะทำให้คนอยากหัวเราะมากกว่า เพราะดูเป็นคำที่ไม่น่ามีอยู่จริง

นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าความรู้สึกที่แทบจะเป็นอัตโนมัติแบบนี้ อาจจะเป็นผลจากการคำนวณ “ความน่าจะเป็น” ในใจแบบหนึ่ง เป็นความรู้สึกที่ใช้รับมือกับโลก สอดคล้องกับทฤษฎีอารมณ์ขันทฤษฎีหนึ่งที่เก่าแก่ย้อนไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อนักปรัชญาเยอรมัน อาร์ทัวร์ โชเพินเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) เสนอว่า พื้นฐานของอารมณ์ขันเกิดจากการทำสิ่งที่ไม่ตรงกับความคาดหวัง เช่น การมีตัวตลกจำนวนมากค่อย ๆ เดินออกมาจากรถม้าคันเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้  ถ้าเป็นแบบไทย ๆ ก็คงเป็นภาพคนจำนวนมากที่หลบผีหรือปอบลงไปในตุ่มเดียวกัน หรือไม่ก็ก้าวออกมาจากตุ่มที่ซ่อนตัวหนีผีหรือปอบอยู่ โดยต้องเป็นคนจำนวนมากเกินกว่าเป็นไปได้ในชีวิตจริง

ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า “ทฤษฎีความไม่ลงรอยกัน (incongruity theory)” ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดทฤษฎีหนึ่งในเรื่องอารมณ์ขัน แม้แต่การเล่นตลกในปัจจุบันก็ใช้แนวคิดตามทฤษฎีนี้กันอยู่ตลอดเวลา ผู้แสดงมักทำอะไรที่ “คาดไม่ถึง” และคนปรกติไม่ทำกัน

เวสต์เบอร์รีถึงกับสร้างแบบจำลองและสมการทางคณิตศาสตร์ขึ้นเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ของคำกับความน่าขันแบบนี้ และเมื่อทดลองกับคำศัพท์มากกว่า ๔.๕ หมื่นคำแล้วก็ถึงกับกล้าสรุปว่า ด้วยสมการที่เขาสร้างขึ้นนี้สามารถทำนายค่าความยุ่งเหยิง หรือเอนโทรปี (entropy) ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับความตลก และใช้ทำนายได้ว่าคำนั้นน่าจะฟังดูตลกหรือไม่สำหรับคนทั่วไป

มีสมมุติฐานว่าความรู้สึกขบขันแบบนี้อาจวิวัฒนาการมาเพื่อแสดงความประหลาดใจชนิดที่ไม่เป็นอันตรายกับตัวผู้หัวเราะนั้น เช่น บรรพบุรุษของเราในยุคที่ยังล่าสัตว์หาของป่าเมื่อเห็นพุ่มไม้กระดุกกระดิก แล้วสิ่งที่ปรากฏออกมาเป็นกระต่ายแทนที่จะเป็นเสืออย่างที่กลัว ก็อาจหัวเราะเสียงดังได้อย่างสบายใจ ในอีกทางหนึ่งยังเป็นการส่งสัญญาณให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ว่าไม่มีอันตรายอยู่ใกล้ ๆ อีกด้วย 

แต่เวสต์เบอร์รีและเพื่อนร่วมงานก็ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่สนใจศึกษาเรื่องทำนองนี้ นักศึกษาปริญญาเอกชื่อ ทอมัส เองเกลเทเลอร์ (Tomas Engelthaler) จากมหาวิทยาลัยวอร์ริก สหราชอาณาจักร ก็เล่าที่มางานวิจัยของเขาว่า เกิดจากอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศ. ทอมัส ฮิลส์ (Thomas Hills) เดินเข้ามาในห้องทำงานแล้วก็ถามว่า เขาคิดว่าคำว่า porridge (ข้าวต้ม) กับโอ๊ตมีล oatmeal (ข้าวโอ๊ต) คำไหนตลกกว่ากัน ?  การที่ถามแบบนั้นเพราะลูก ๆ ของเขาขำกลิ้งหยุดไม่ได้เมื่อเขาพูดคำว่า porridge ออกมา แต่อาจารย์กับลูกศิษย์กลับมีความเห็นแตก เรื่องนี้เลยกลายมาเป็นหัวข้อวิจัยในที่สุด !

ทั้งคู่เลยออกแบบการทดลองโดยเลือกคำทั่วไปในภาษาอังกฤษมา ๔,๙๙๗ คำจากอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลอง ๘๒๑ คน แต่ละคนมีหน้าที่ต้องจัดอันดับความตลกของคำที่เลือกให้ ๒๑๑ คำ โดยให้คะแนนตั้งแต่ ๑-๕ คะแนน เรียงจากตลกน้อยที่สุดไปจนถึงตลกมากที่สุด

คำที่ให้เลือกก็มีตั้งแต่คำสามัญอย่าง moisture (ความชื้น), walnut (วอลนัต) และ panda (แพนด้า) ซึ่งคำกลุ่มนี้ปรกติแล้วคนจะไม่รู้สึกว่าเป็นคำตลก ยกเว้นแต่นำไปใช้ในสถานการณ์จำเพาะแค่บางอย่างเท่านั้น  นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มคำหยาบคายหรือสองแง่สองง่ามบางคำรวมอยู่ด้วย เช่น ass (ก้นหรือตูด), tit (หัวนมหรือเต้านม), pee (ฉี่), fart (ตด) รวมถึงคำว่า poo, turd และ shit ที่หมายถึงอึหรืออุจจาระ

Image

ตัวอย่างคำอื่น ๆ ที่ใช้ในแบบทดสอบครอบคลุมทั้งที่มีความหมายและไม่มีความหมาย ได้แก่ snot, chortles, wienies, heinies, bozos, jiggly, flappy, slaphappy, puke, cluck, squawk, dingle ฯลฯ

ผลก็คือคำว่า booty (ก้น หรือของที่ขโมยมา) นำโด่งมาเป็นอันดับ ๑ 

คำอื่น ๆ ที่ได้คะแนนสูงเรื่องความตลก เช่น tinkle และ nitwit  คำอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกเสียงหัวเราะคิกคักได้คือคำเกี่ยวกับหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

ขณะที่คำที่ผู้ร่วมทดลองเห็นว่าไม่ตลกเอาเสียเลยก็เช่น pain (ความเจ็บปวด), torture (การทรมาน), violence (ความรุนแรง), attack (การโจมตี), rape (การข่มขืน), harassment (การคุกคามหรือล่วงละเมิด), murder (ฆาตกรรม), deathbed (เตียงมรณะ) เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่งที่นักวิจัยแปลกใจก็คือเรื่องตลกที่ขำที่สุดกลับไม่มีคำในกลุ่มคำตลกที่สุดอยู่เลย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน
ว่าอารมณ์ขันในเรื่องโจ๊กแตกต่างจากอารมณ์ขันเกี่ยวกับคำตลกโดด ๆ

เองเกลเทเลอร์กับอาจารย์ที่ปรึกษาตีความว่า ผลการทดลองของพวกเขาไปด้วยกันได้ดีกับทฤษฎีอารมณ์ขัน benign violation theory ที่มีใจความสำคัญสรุปได้ว่า คนจะรู้สึกตลกหากมีเหตุการณ์สักอย่างที่เข้ากันไม่ได้หรือละเมิดบรรทัดฐานที่คุ้นเคยกันดี เช่น จู่ ๆ ขณะคุณเดินอยู่บนถนนก็เห็นช้างตัวโตสีชมพูเดินมาแต่ไกล สถานการณ์แบบนี้คุณไม่คาดฝันแน่ แต่ก็มีข้อแม้ด้วยนิดเดียวคือสถานการณ์ที่ว่านั้นต้องไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวหรืออาจเป็นอันตราย เช่น ช้างตัวนั้นกำลังวิ่งตรงมาหา แบบนี้ก็จะขำไม่ค่อยออก

อาจมีคนสงสัยว่าเรื่องพวกนี้หาคำตอบไปทำไม ขอทิ้งไว้ให้คิด แต่ยืนยันว่ามีประโยชน์แน่