Image

เพิ่มมวลกระดูกในวัย ๖๐

Holistic

เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe

เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกจะแข็งแรงน้อยลง ผู้หญิงในวัย ๕๐ มีอัตราการสูญเสียมวลกระดูกสูงกว่าผู้หญิงวัย ๖๐ เนื่องจากภาวะหมดประจำเดือนทำให้ฮอร์โมนลดลง การสร้างกระดูกใหม่ลดลง และมวลกระดูกสลายตัวมากขึ้น หลังจากนั้นอัตราการเสื่อมของมวลกระดูกจะคงที่ ส่วนผู้ชายจะสูญเสียมวลกระดูกแบบค่อยเป็นค่อยไป

แต่หลักการนี้ใช้ไม่ได้กับ ซาชิอากิ ทากามิยะ (Sachiaki Takamiya) ผู้เขียนหนังสือ Ikigai Diet : The Secret of Japanese Diet to Health and Longevity วิถีการกินอาหารจากธรรมชาติที่ชาวโอกินาวะนิยม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีคนอายุยืนเกิน ๑๐๐ ปีมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นดินแดนแห่งชาวอิคิไก หมายถึงผู้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและมีคุณค่าทุกวัน  เขายังเขียนหนังสือเกี่ยวกับนัตโตะหรือถั่วเหลืองหมักแบบญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นราชาแห่งอาหารหรือซูเปอร์ฟู้ด เนื่องจากอุดมด้วยโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ รวมทั้งจุลินทรีย์ดีที่ทำหน้าที่สร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

เมื่อปีที่แล้วซาชิอากิในวัย ๖๑ ปี ใช้เวลาทั้งปีฝึกตนเองเพื่อให้กระดูกแข็งแรง เขาบอกว่า ๓ ปีก่อนหน้านั้นเริ่มดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารและออกกำลังกายแบบคนทั่วไป เขาไม่มีความรู้เรื่องสุขภาพของกระดูกมาก่อนเลยว่ากินอาหารหรือออกกำลังกายอย่างไรจึงจะทำให้กระดูกแข็งแรง  เมื่อเริ่มทดลอง เขาเปลี่ยนการออกกำลังกายและกินอาหารโดยให้ความสำคัญต่ออาหารที่หลากหลายและอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุจำเป็นในการสร้างกระดูกนอกเหนือจากแคลเซียม เช่น วิตามินเค วิตามินดี และแมกนีเซียม ซึ่งได้จากอาหาร ไม่ใช่วิตามินเสริม และเปลี่ยนจากวิ่งเพียงอย่างเดียวเป็นเวตเทรนนิง (weight training) บอดี้เวต (body weight) และออกกำลังกายแบบสร้างสมดุล

ในฐานะผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับนัตโตะ เขายกย่องว่านัตโตะคือราชาแห่งอาหารที่ทำให้กระดูกแข็งแรงเพราะมีวิตามินเค ๒ แมกนีเซียม และธาตุอาหารอื่น ๆ  เขาบอกว่านัตโตะกับการออกกำลังกายแบบผสมผสานช่วยให้กระดูกแข็งแรง

หลังปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา ๑ ปีเต็ม ก็ถึงเวลาตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงโดยเปรียบเทียบผลตรวจมวลกระดูกก่อนและหลังการทดลอง พบว่ามวลกระดูกเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๒๑ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับยอดเยี่ยม

“ผมช็อกกับผลที่ออกมาเช่นกัน ขณะที่คนวัย ๖๐ กังวลเรื่องการเสื่อมสลายของมวลกระดูก แต่กระดูกผมกลับแข็งแรงขึ้นถึง ๒๑ เปอร์เซ็นต์ และแข็งแรงกว่าคนวัยเดียวกันถึง ๒๕.๓ เปอร์เซ็นต์ภายในปีเดียว” เขาเล่าในรายการช่องยูทูบของตัวเอง พร้อมบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์แต่อย่างใด หากเขาทำได้ ใคร ๆ ก็ทำได้

แม้กระดูกจะแข็งแรงน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่การเลือกอาหารการกินและออกกำลังกายที่บำรุงกระดูกจึงเป็นการป้องกันที่น่าฝึกฝนยิ่งสำหรับคนทุกเพศทุกวัย และเริ่มทำได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะจะส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ  

อาหารและออกกำลังกายบำรุงกระดูกแบบ ซาชิอากิ ทากามิยะ

ซาชิอากิบอกว่าแม้แคลเซียมจะทำให้กระดูกแข็งแรง แต่การสร้างมวลกระดูกนั้นต้องการวิตามินและเกลือแร่หลายชนิดทำงานร่วมกัน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีอยู่ในอาหารชนิดต่าง ๆ

*แคลเซียม ปลาซาร์ดีน ปลาเล็กปลาน้อย กินได้ทุกวัน

*วิตามินเค ๒ นัตโตะกิน ๕ วันต่อสัปดาห์ (คนญี่ปุ่นมักกินนัตโตะเป็นอาหารเช้า) งานวิจัยพบว่านัตโตะ ๑๐๐ กรัม มีแมกนีเซียม แมงกานีส เหล็ก และสังกะสี จำนวนร้อยละของความต้องการประจำวัน ๖๗, ๔๘, ๒๗ และ ๒๗ ตามลำดับ  ในประเทศไทยหาซื้อนัตโตะได้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ โดยเฉพาะย่านคนญี่ปุ่น

*วิตามินดี ออกกำลังกายกลางแจ้ง เพราะแสงแดดสร้างวิตามินดีชนิดที่ร่างกายสร้างไม่ได้ และกินเห็ดหอม (ชิตาเกะ) ทุกวัน

*แมกนีเซียม สาหร่ายทะเลวากาเมะและนัตโตะ

*มา โก วา ยา ซา ชิ อิ โค คุ แต่ละคำมาจากคำแรกในภาษาญี่ปุ่นของถั่ว ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดธัญพืช สาหร่ายทะเล ผัก ปลา เห็ด พืชหัว เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี และผลไม้ กินบ่อยเท่าที่ทำได้และกินหลากหลายครบถ้วนภายใน ๑ สัปดาห์ เพราะดีต่อสุขภาพโดยรวมทั้งสมอง ลำไส้ กระดูก และกล้ามเนื้อ ออกกำลังกาย ซาชิอากิชื่นชอบการออกกำลังกายที่หลากหลาย ดังนี้

*ออกกำลังกายแบบเวตเทรนนิง สถาบันแห่งชาติด้านโรคข้ออักเสบและระบบกระดูกและกล้ามเนื้อและโรคผิวหนัง ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่าการออกกำลังกายแบบนี้ดีที่สุดในการสร้างความแข็งแรงของกระดูก

*วิ่งเหยาะ ๆ หรือจ็อกกิง ซึ่งดีกว่าการวิ่งทั่วไปตรงที่มีแรงกระแทกกระดูกน้อยกว่า  จ็อกกิงสัปดาห์ละ ๙๐-๑๓๕ นาที และเพิ่มเป็น ๑๕๐ นาทีต่อสัปดาห์ (หรือวันละประมาณ ๒๐ นาที)

*ออกกำลังกายแบบบอดี้เวต
 เป็นการออกกำลังกายซึ่งใช้น้ำหนักของร่างกายมาเป็นน้ำหนักต้านในการเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น  ส่วนการออกกำลังกายแบบมีแรงกดที่กระดูกจะทำให้กระดูกแข็งแรงด้วยเช่นกัน 

- ทำสควอตสามครั้ง (ชุด) ต่อสัปดาห์
- กระโดดเชือกหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
- วิ่งเร็ว (sprint) เป็นการวิ่งเร็วสลับช้า
- วิ่งขึ้น-ลง ทำให้กระดูกแข็งแรง
- ออกกำลังกายแบบสร้างสมดุลและยืดหยุ่น เช่น โยคะ ชี่กง เพื่อป้องกันการล้ม ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สุดในการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ ถ้ากระดูกแข็งแรงเมื่อล้มจะทำให้บาดเจ็บน้อยลงและฟื้นตัวเร็วขึ้น
- ปั่นจักรยานไปซื้อของ  

อ้างอิง : https://youtu.be/0JJZ-WjKySU?si=XIFQx2jVWSt2h7Wr