คักหลาย
จากบรรณาธิการ
คำอีสานหมายความว่ามากมาย
สำหรับคนกรุงเทพฯ ภาคกลาง รู้จักคนอีสานว่าคือคนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เดินทางมาทำมาหากินในเมืองหลวง
เข้าใจว่ามีกลุ่มเดียว คือคนผิวดำแดง จมูกบานนิด ๆ หน้าเหลี่ยม มีโหนกแก้ม กรามใหญ่
อดีตพี่เขยผมก็เป็นคนอีสาน เป็นคนหนุ่มตามขนบชายอีสานแท้ที่ผมได้ใกล้ชิด รูปร่างเขายังกำยำล่ำสัน สูงใหญ่ ด้วยเป็นเด็กชนบทเติบโตมากับการช่วยพ่อแม่หากินกับท้องทุ่ง
เขาเป็นคนหนึ่งที่ทำให้คนกรุงอย่างผมรู้ว่า คนอีสานไม่ใช่ว่าต้องมาเป็นแม่ค้าส้มตำหรือกรรมกรก่อสร้าง (สมัย ๓๐-๔๐ ปีก่อน) แต่สามารถเป็นศิลปินมากฝีมือในการวาดการ์ตูนและนิยายภาพที่สวยงามและสร้างอารมณ์สะเทือนใจอย่างที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อน
หลายคนอาจรู้จักผลงานของเขาอย่างนิยายภาพเรื่องเพื่อน หรือภาพประกอบแบบเรียนภาษาไทย มานะ มานี ปิติ ชูใจ
เขาชื่อ เตรียม ชาชุมพร
พี่เตรียมทำงานอย่างนักสารคดี เขาศึกษาข้อมูลของสิ่งที่จะมาเป็นองค์ประกอบในภาพอย่างละเอียดลออ ในห้องทำงานเขาเต็มไปด้วยหนังสือที่มีภาพตัวอย่างดอกไม้ ปลา สัตว์ ฯลฯ เขายังไปถ่ายภาพสถานที่จริงซึ่งจะใช้เป็นฉากด้วยตัวเอง ผมจำภาพวาดปลาวาฬบนผนังห้องทำงานได้แม่น เป็นวาฬที่สวยงามและสมจริงมาก ๆ ไม่ใช่แค่ภาพการ์ตูนน่ารัก
นิยายภาพที่พี่เตรียมถ่ายทอดชีวิตตนเองไว้อย่างน่าทึ่งคือเรื่อง คำแพง เด็กอีสาน
เล่าเรื่องผ่านมุมมองของ “คำแพง” ตั้งแต่หมอตำแยทำคลอดให้แม่ การอยู่ไฟในห้องครัวของบ้าน ซึ่งเขาบอกว่าบางทีก็เรียกขำ ๆ ว่า “อยู่กรรม” เพราะเป็นกรรมที่แม่ต้องมานอนหน้าเตาไฟร้อน ๆ
จากเด็กน้อยค่อย ๆ เติบโต กับความทรงจำคักหลายฉากประทับใจของผมคือภาพแม่ที่ยกกระด้งฝัดข้าวมือเดียวแล้วอุ้มคำแพงด้วยมืออีกข้าง กับอุปกรณ์หัดเดินง่าย ๆ แต่ฉลาดล้ำ คือเสาฝังดินกลางลาน มีแกนไม้ให้เด็กจับเดินวนไปรอบเสา เป็นนวัตกรรมที่ผมคิดว่าเหนือกว่ารถเข็นหัดเดินของเด็กสมัยใหม่เป็นไหน ๆ
คำแพงได้เห็นพ่อหาอยู่หากิน อย่างการพายเรือไปทอดแหร่วมกันของคนในหมู่บ้าน และเล่าท่าทอดแหของบางคนว่า “วาดลวดลายสวยงามเหมือนหมอลำในงานวัด” พอถึงกลางวงกินข้าวที่มีชาวบ้านนับสิบเปิบข้าวกับปลาที่จับมาได้ แม่ถามคำแพงว่า “แซบบ่” เขาตอบ “แซบหลาย” แม่ก็บอกทันทีว่า “แซบอย่าคร้าน” คือกินอร่อยแล้วอย่าขี้เกียจทำงาน
พอโตขึ้นอีก คำแพงได้หัด “ขับควาย” พากลับบ้าน ไปนา
ช่วยพ่อ “ถือหางไถ” พ่อสอนว่า “การไปแต่ละอย่างนี้ บ่แม่นไปเพื่อความสนุกสนาน แต่เฮาไปเพื่อเฮียนฮู้”
พี่เตรียมยังร่วมกับกลุ่มเพื่อนนักวาดการ์ตูนทำภาพยนตร์การ์ตูน คำแพง สะท้อนความแร้นแค้นของอีสานอย่างตลกร้าย ผ่านตัวคำแพง “บักหำน้อย” ซึ่งไม่มีเงินแม้แต่จะซื้ออะไรกินในงานวัด หิวก็หิว จนสุดท้ายได้น้ำจากตุ่มข้างทางดื่มจนพุงกาง และกางเกงที่หลวมโพรกมาตลอดเรื่องก็สวมฟิตพอดีในตอนจบ
ผ่านมากว่า ๓๐ ปีหลังพี่เตรียมเสียชีวิตจากความโหดร้าย ของจราจรเมืองหลวง อีสานอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ภาพจำและภาพจริงของอีสานเปลี่ยนไปแค่ไหน
เราทำลายอัจฉริยะคักหลายอย่าง “พี่เตรียม” คนที่ ๒, ๓, ๔...ไปกี่คนแล้ว จากการกักขังความเจริญโดดเดี่ยวไว้ที่ศูนย์กลางมหานคร
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
ฉบับหน้า :
สายน้ำที่ถูกสาป
ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล