กูย
กวย/ส่วย/อาเจียง
ชุมชนคนกับช้าง
ชาติพันธุ์อีสาน
หลากกลุ่มชนบนที่ราบสูง
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ประเวช ตันตราภิรมย์
ในวันแห่นาค ช้างแทบทุกเชือกในหมู่บ้านจะมาร่วมขบวนเหยียดยาวตามคติค่านิยมของท้องถิ่นว่าการบวชจะได้ชื่อเสียงและได้บุญมาก ต้องนั่งช้างแห่ไปไกล ๆ ให้เอิกเกริกและมีคนมาร่วมขบวนมาก ๆ
เปรอะเปื้อนเปียกปอน แต่ด้วยใจอันเต็มด้วยศรัทธา สายฝนกระหน่ำก็กลายเป็นความอารีของฟ้าฝนที่มาร่วมฉลองศรัทธาและช่วยคลายความร้อนแผดของขบวนแห่นาคด้วยช้างในยามบ่าย
“เลี้ยงช้างเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว”
คำเล่าที่เป็นเสียงเดียวกันของชาวบ้านตากลาง
พอเข้าสู่เขตชุมชนจึงมักพบเห็นโรงเรือนหลังคาสูงกว่าหลังคาบ้านปลูกอยู่ในมุมหนึ่งของบริเวณบ้านแต่ละหลัง นั่นเป็นบ้านของช้าง และในหมู่บ้านก็พบเห็นช้างอยู่ทั่วไป ทั้งในโรง ทุ่ง ตามถนน และมีแหล่งรวมตัวเป็นชุมนุมช้างอยู่ที่ศูนย์คชศึกษา
“คนเข้าใจว่ากูยคือคนเลี้ยงช้าง ไม่ใช่ทั้งหมด กูยอยู่หลายที่แต่เลี้ยงช้างมากที่บ้านตากลาง” อีกคำเล่าของกูยบ้านตากลาง
“ชาวกูยมาจากรัฐอัสสัม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มาอยู่ในลาว เวียดนาม กัมพูชา ไทย เรียกว่า ข่า โส้ เยอ กวย กูย เขมรป่าดง บรู ภาษาพูดใกล้กัน ถามเขาว่าพูดภาษากูยใช่ไหม เขาบอกไม่ ที่บึงบูรพ์ (อำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ) บอกว่าเป็นเยอ กุสุมาลย์ (อำเภอในจังหวัดสกลนคร) ว่าเป็นโส้ ธาตุพนม (อำเภอในจังหวัดนครพนม) เป็นข่า นับ ๑-๕ เหมือนกัน แต่เขาบอกไม่ใช่กูย” ดร. พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร ที่ปรึกษาชมรมชาวกูยแห่งประเทศไทย เล่าที่มาของชาวกูย
และมีข้อมูลจากเอกสารการวิจัยอ้างถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า บรรพบุรุษของชาวกูยมีพื้นเพมาจากทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เคลื่อนเข้าสู่พม่า บางส่วนมาลาวใต้แถบเมืองอัตตะปือ แขวงจำปาสัก จนถึงเขมร และข้ามโขงมาสู่ฝั่งขวาที่โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกูยเรียกว่าโพงเจียง กระจายออกไปตั้งถิ่นอยู่ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำมูลกับเทือกเขาพนมดงรักในจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งกล่าวกันว่าชาวเมืองแต่เดิมเป็นกูยเกือบทั้งหมด
อัตลักษณ์อย่างหนึ่งที่บอกความเป็นชาติพันธุ์กูย เห็นได้จากชุดเสื้อผ้าและลีลาฟ้อน ในหมู่บ้านยังมีการทำและใช้ผ้าไหมในชีวิตประจำวัน แต่ชุดชาวกูยจะสวมใส่พร้อมเพรียงกันเฉพาะยามมีงานบุญประเพณีของหมู่บ้าน หรือในงานที่เป็นทางการ
แต่ลดลงเหลือราว ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน เนื่องจากการกลมกลืนทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต กับชาติพันธุ์เขมรและลาว
วัฒนธรรมลาวเข้ามามีอิทธิพลเหนือชาวกูย เกิดการผสมผสาน ชาวกูยพูดภาษาลาวด้วยสำเนียงตน ใช้สระเอือได้จากที่ภาษาลาวเวียงเดิมมีแต่สระเอีย
และเนื่องจากกูยกับเขมรมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันมาแต่โบราณ มีพื้นฐานภาษาคล้ายกัน ในสุรินทร์เดิมใช้ภาษากูยก็ได้เปลี่ยนมาพูดภาษาเขมร เรียกว่ากูยเขมร ส่วนในศรีสะเกษก็เปลี่ยนมาพูดภาษาลาว
ในประเทศลาวกูยคือลาวเทิง หรือคนลาวเรียกว่าข่า ใน พงศาวดารล้านช้าง กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์กูย (ข่า) ว่าเป็นเจ้าของถิ่นที่มีชุมชนมั่นคง
ใน พงศาวดารเมืองละแวก กล่าวถึงพระเจ้าธรรมราชาผู้ครองนครธม (ปี ๑๙๘๐-๒๐๑๗) ทรงขอความช่วยเหลือกองทัพจากเจ้ากูย ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองจำปาสัก ให้ส่งทหารไปช่วยพระองค์ปราบกบฏ เมื่อปราบสำเร็จประมุขทั้งสองได้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
ช่วงที่ชาวกูยเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองอยู่ทางตอนเหนือของเขมร ในเขตจังหวัดกำปงธม ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ชาวกูยเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานในกฎหมายอยุธยาที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เมื่อปี ๑๙๗๕ ความตอนหนึ่งว่า พ่อค้าต่างชาติที่เดินทางเข้ามาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วยชาวอินเดีย มลายู ชาน (ไทใหญ่) กวย แกว (ญวน) และชาติอื่น ๆ
ใน “วันโฮม” หรือวันรวม เมื่อโกนผมในตอนเช้าแล้ว นาคจะแต่งหน้าประดับประดาร่างกายตามแบบชาวกูยที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากนาคทั่วไป
นาคกูยนุ่งโสร่งผ้าไหม ใส่เสื้อสีขาวสว่าง คลุมทับด้วยผ้าแพรหลากสี สวมกระโจมนาคหรือชฎายอดแหลมผูกพวงสำลีห้อยด้านข้างแทนต่างหู ตกแต่งใบหน้าเขียนตาทาปาก ซึ่งทุกสิ่งล้วนแฝงด้วยปริศนาธรรม และมีการวาดลวดลายตามตัวช้างที่ใช้แห่นาคด้วย
ทำขวัญนาคชาวกูย สวดเป็นภาษากูยโดยหมอขวัญ โดยมีพี่น้องญาติมิตรมาร่วมกันโปรยดอกไม้และใบไม้
ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏคำว่า “กวย” ในเอกสารของราชสำนักสยาม
ปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชนชาติพันธุ์กูยถูกเรียกเหมารวมกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง บริเวณเทือกเขาพนมดงรักจนถึงบริเวณลาวกลางและลาวใต้ว่า “เขมรป่าดง”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้นำระบบไพร่ส่วยมาใช้ กำหนดให้ชาวเขมรป่าดงส่งส่วยด้วยครั่ง ไม้เนื้อหอม และของป่าอื่น ๆ แทนการถูกเกณฑ์แรงงาน ชนกลุ่มที่แต่เดิมเรียกเขมรป่าดงจึงถูกเรียกว่า “ส่วย”
ส่วย (Suay) จึงไม่ใช่ชื่อชนชาติพันธุ์ แต่เป็นคำที่ฝ่ายปกครองใช้เรียกขานกลุ่มชน เขมร กูย ข่า กุลา ในพื้นที่อีสานใต้ ที่ต้องส่งส่วยหรือถวายเครื่องราชบรรณาการให้ทางการ (กรุงเทพฯ)
เป็นคำบัญญัติขึ้นนอกเหนือบริบทวัฒนธรรมกูย ซึ่งชาวกูยเองไม่เต็มใจยอมรับ
ส่วนกูย (Kui) กวย (Kuoy) หรือกุย โกย มีความหมายว่าคน กูยซแร-ชาวนา กูยต๊า-ช่างตีเหล็ก กูยอาเจียง-คนเลี้ยงช้าง มีความชำนาญในการเดินป่าล่าช้างและฝึกช้าง
โดย กูย เป็นชื่อหลักที่ใช้การเรียกชาติพันธุ์ ตามการกำหนดของสมาคมชาวกูยแห่งประเทศไทย
ในวันงานบุญประจำปีจะเห็นวิถีความเป็นกูยได้ชัดเจนผ่านการแต่งกาย รูปแบบพิธี วิถีความเชื่อ จากในเวลาปรกติเห็นได้แต่ด้านภาษา
งาน “บวชนาคช้าง” สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างของ “กูยอาเจียง” ได้ชัดเจน ทั้งการแต่งกายประดับประดา และรายละเอียดพิธีกรรมที่ดำเนินควบคู่กันไปทั้งคนและช้าง
“หมู่บ้านต้นเลยคือบ้านตากลาง ที่เป็นหมู่บ้านช้าง”
สีรา สุขศรี ผู้ใหญ่บ้านบ้านตากลาง หมู่ที่ ๙ แนะนำหมู่บ้านของเขาอย่างภาคภูมิ
ปัจจุบัน “หมู่บ้านช้าง” ครอบสี่หมู่บ้านคือ บ้านตากลาง หมู่ที่ ๙ และหมู่ที่ ๑๓ บ้านจินดา หมู่ที่ ๗ บ้านตาทิตย์ หมู่ที่ ๘ และบ้านหนองบัว หมู่ที่ ๑๔ ในตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
บ้านตากลางซึ่งเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านช้างตั้งอยู่บนเนิน ชายหมู่บ้านลาดลงสู่ที่ราบกว้างไกล ซึ่งแต่เดิมคงเป็นสุมทุมพุ่มป่าที่เหมาะจะเป็นทุ่งเลี้ยงช้าง ก่อนกลายมาเป็นท้องทุ่งกสิกรรมในปัจจุบัน โดยมีลำชีที่ไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ผ่านอำเภอปราสาท อำเภอเมืองสุรินทร์ มาบรรจบกับแม่น้ำมูลบริเวณที่เรียกว่าวังทะลุ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารช้างอันอุดมมาแต่เดิม และเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ซึ่งขบวนแห่นาคบนหลังช้างจะมาร่วมกันทำพิธีเซ่นศาลปู่ตา ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสิมน้ำหรือดอนบวช ก่อนเข้าพิธีอุปสมบทในวันเพ็ญเดือนหก ซึ่งเป็นงานบวชใหญ่ประจำปีของชุมชนมาแต่โบราณจนทุกวันนี้
เป็นงานแห่นาคที่ต่างจากทุกถิ่นอื่นใดตรงที่แห่ด้วยขบวนช้าง ที่เรียกกันว่าประเพณี “บวชนาคช้าง”
ตามความเชื่อว่าการเดินทางเข้าสู่เพศบรรพชิตอาจมีมารผจญ การใช้ช้างซึ่งเป็นสัตว์มงคลขนาดใหญ่เป็นพาหนะจะเป็นภวปัจจัยให้การเข้าสู่ร่มธรรมราบรื่น ไม่มีภยันตรายกล้ำกราย
“แห่นาคไปที่วังทะลุริมน้ำมูล เหมือนที่พระพุทธเจ้าขี่ม้าไปบวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ในตำนานสมัยโบราณที่ยังไม่มีโบสถ์คนก็มาบวชที่นี่ บริเวณที่เรียกว่าดอนบวช”
ดร. พระครูสมุห์หาญ ปัญญาธโร เล่าความเป็นมาและภาพงานประเพณีบวชนาคช้างที่วัดแจ้งสว่าง เมื่อครั้งที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส
ส่วย ไม่ใช่ชื่อชนชาติพันธุ์ แต่เป็นคำที่ฝ่ายปกครองใช้เรียกขานกลุ่มชนเขมร กูย ข่า กุลา ในพื้นที่อีสานใต้ที่ต้องถวายเครื่องราชบรรณาการให้กรุงเทพฯ เป็นคำบัญญัติขึ้นนอกเหนือบริบทวัฒนธรรมกูย ซึ่งชาวกูยเองไม่เต็มใจยอมรับ
“แต่ก่อนมีนาคเป็นร้อย ไม่มีปีไหนต่ำกว่า ๓๐ นาค เมื่อปี ๒๕๓๕ เคยมีถึง ๒๐๐ นาค หัวขบวนถึงวังทะลุช้างยังออกจากวัดแจ้งสว่างไม่หมด”
ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง มีสุสานช้าง พิพิธภัณฑ์ และที่ทำการสมาคมชาวกูยแห่งประเทศไทยตั้งอยู่ที่วัดนี้ด้วย
“หลวงพ่อพูดเสมอว่า สาระของงานบวชนาคช้างคือความมีมนต์ขลัง ความยั่งยืน จะยั่งยืนได้ต้องมีรากเหง้าความเชื่อ สิ่งดั้งเดิม สมัยก่อนทุกคนมาตามศรัทธา ญาติมามากโดยธรรมชาติ มีมโหรีอยู่หน้า กลาง และท้ายขบวน ตอนนี้ต่างคนต่างจ้างวงชาโดว์มา ๒๐ นาคก็ ๒๐ วง”
วงดนตรีสมัยใหม่บนรถแห่มีระบบเสียงกระหึ่มอึกทึก หลวงพ่อมองว่าสิ้นเปลือง คนที่จะบวชได้ต้องใช้เงินมาก
“เหมือนแข่งขันกัน คณะต้องใหญ่กว่า ดนตรีดีกว่า แข่งกันโปรยทาน นาคไหนโปรยมากเป็นหมื่นคนจะแห่กันไปเก็บเงิน ถ้าเราจะเดินตามรูปแบบชาโดว์ไปเรื่อย ๆ นอกจากไม่มีอะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม คนไม่มีเงินจะบวชไม่ได้ นาคจะหลุดออกไปเรื่อย ๆ จนไม่เหลือ ถ้าไม่เอาเงินเป็นตัวตั้งใครก็บวชได้ หากเอาความศรัทธาเป็นที่ตั้ง”
งานบวชของชาวกูยจัด ๓ วันต่อเนื่อง วันแรกเรียกวันโฮมวันที่ ๒ วันแห่ วันที่ ๓ ซึ่งตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันบวช
เป็นงานบุญใหญ่ของครอบครัวและชุมชน
ชายหนุ่มชาวกูยเมื่ออายุครบบวชจะนัดมาบวชรวมกันที่วัดแจ้งสว่าง วัดประจำหมู่บ้านตากลาง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี
“หากลูกหลานกูยหมู่บ้านช้างคนไหนจะบวชทดแทนคุณบุพการี ต้องกลับมาบวชในงานนี้เท่านั้น” ตามที่ชาวกูยบอกต่อกัน
“วันโฮม” หรือวันรวม เริ่มจากโกนผมนาคในตอนเช้า พี่น้องญาติมิตรจะมารวมกันโปรยดอกไม้ ผูกแขนบายศรีสู่ขวัญ ทำขวัญนาคแบบกูย ซึ่งมีการสวดโดยหมอขวัญ และมีการแต่งกายประดับประดาแต่งหน้านาคตามแบบชาวกูยที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากทั่วไป
วังทะลุ จุดที่ลำชีไหลลงบรรจบแม่น้ำมูล มีดอนบวชซึ่งเป็นเนินดินกลางน้ำที่คนกูยท้องถิ่นใช้เป็นโบสถ์ธรรมชาติมาแต่ดั้งเดิม เมื่อช้างแห่นาคมาถึงและได้ลงเล่นน้ำรอบดอนบวชก็เหมือนช้างได้บวชไปด้วย
นาคกูยใส่เสื้อและนุ่งโสร่งสีขาวสว่าง คลุมทับด้วยผ้าแพรหลากสี สวมกระโจมนาคหรือชฎายอดแหลม โครงทำด้วยไม้ไผ่ปิดกระดาษหลากสี ผูกพวงสำลีห้อยด้านข้างแทนต่างหู และที่ดูเด่นสะดุดตาที่สุดคือมีการตกแต่งใบหน้าเขียนตาทาปาก และสวมใส่เครื่องประดับพราวไปทั้งตัว
พระอาจารย์สมุห์หาญอธิบายถึงปริศนาธรรมที่แฝงอยู่เบื้องหลังความแพรวพราวของแต่ละส่วนนั้นว่า
ยอดแหลมของชฎาหมายถึงความเฉียบแหลม ตามที่พุทธศาสนาเน้นเรื่องปัญญา ใบหูใหญ่มาจากพระสูตรว่าคนเป็นพระต้องฟังให้มาก สำลีห้อยหูอุปมาว่าต้องหนักแน่น อย่าหูเบาเหมือนสำลีต้องลม ใครมาพูดฟังทุกเรื่อง แต่ต้องรู้จักแยกแยะ ทาปากแดงเข้มแทนสัญลักษณ์ว่าคนดูกันที่ปาก คำพูด ปากเป็นเอกเลขเป็นโท ผ้าหลากสีหมายถึงฉัพพรรณรังสี ต้องเรียนรู้ให้ได้ เครื่องประดับ สร้อย สังวาล ทองคำ เป็นของมีค่าแม้ชิ้นน้อย ต่างจากตะกั่ว ถึงมากก็ไม่มีค่า ค่าของพระอยู่ที่การศึกษา การปฏิบัติเป็นเครื่องประดับของพระ
หลังพิธีโกนผม นาครวมกันที่วัดแจ้งสว่างในช่วงสายแล้ว พิธีกรรมในวันแรกจะอยู่ที่บ้านนาคแต่ละคนทั้งวันและอีกครึ่งวันต่อมา จนถึงช่วงบ่ายของวันที่ ๒ จึงมารวมตัวกันที่วัดแจ้งสว่างอีกครั้ง ในช่วงไฮไลต์ของงานคือพิธีแห่นาคช้าง
นาคจะขึ้นช้างแห่กันเป็นขบวนไปประกอบพิธีกรรมขอขมาศาลปู่ตาที่วังทะลุ
“ทั่วไปเขาก็จ้างช้างไปแห่ แต่ในงานชุมชนญาติกันทั้งนั้น ส่วนใหญ่แต่ละคนก็เอาช้างมาช่วยกัน” สมชัย มีนาม เป็นคนหนุ่มบ้านตากลางที่ผ่านการบวชมาแล้ว เขาทำงานอยู่ต่างถิ่น แต่จะมาร่วมงานบวชนาคช้างที่บ้านเกิดทุกปี และในปีนี้น้องชายของเขาเป็น ๑ ในนาค ๑๕ คนด้วย
ตระกูลของสมชัยเป็นคนเลี้ยงช้าง ในวันงานนอกจากช้างของครอบครัวหลายเชือก ยังมีเครือญาตินำช้างรูปงามงาโง้งยาวสวยมาให้นาคนั่งร่วมขบวนแห่ ตามคติค่านิยมของท้องถิ่นว่าการบวชจะได้ชื่อเสียงและได้บุญมากต้องนั่งช้างแห่ไปไกล ๆ ให้เอิกเกริกและมีคนมาร่วมขบวนด้วยมาก ๆ
หมอช้างเป็นผู้นำพิธีขอขมาปู่ตาวังทะลุ ก่อนนาคไปอุปสมบทที่วัดแจ้งสว่าง
หลังอาบน้ำให้ช้างจนสะอาดดีแล้ว สมชัยกับญาติ ๆ ช่วยกันใช้ปูนขาวที่กินกับหมากและชอล์กสีวาดลายเส้นรวมทั้งเขียนคำที่อยากสื่อตามหัว หู งวง คอ ลำตัวช้างให้สวยงามมีสีสัน แล้วควาญก็นำช้างไปรับนาคขึ้นนั่งบนหลัง
ก่อนขึ้นหลังช้างนาคจะทำพิธีคารวะพ่อแม่และช้าง แล้วขึ้นหลังแห่เคลื่อนขบวนมารวมกันที่วัดแจ้งสว่าง บวงสรวงบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลปะกำ ตามความเชื่อของชาวกูยที่มีมาแต่โบราณ แล้วขบวนแห่นาคด้วยช้างจะเคลื่อนตัวสู่วังทะลุ
ระยะทางระหว่างวัดแจ้งสว่างในหมู่บ้านตากลางถึงวังทะลุราว ๒ กิโลเมตร ซึ่งสองข้างทางเป็นท้องทุ่งกสิกรรมกว้างไกลจดขอบฟ้า กลายเป็นฉากงานมหกรรมอันตระการตาของขบวนช้างและผู้คนซึ่งนุ่งห่มประดับประดาร่างกายและริ้วขบวนด้วยแพรพรรณสีสันพรรณราย ทั้งจากหน่วยงานองค์กรในท้องถิ่น โรงเรียน ฝ่ายสงฆ์ เครือญาติ คนในชุมชนและโดยเฉพาะบรรดานาคซึ่งนั่งอยู่บนหลังช้างอย่างโดดเด่นที่สุดในขบวน
วังทะลุเป็นบริเวณที่ลำน้ำชี (คนละสายกับแม่น้ำชีที่ไหลผ่านอีสานกลางไปบรรจบแม่น้ำมูลที่อุบลราชธานี) ไหลลงบรรจบกับแม่น้ำมูล เกิดวังน้ำวนและเนินดินกลางน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่าสิมน้ำ ซึ่งตามตำนานว่าสมัยที่วัดยังไม่มีอุโบสถ เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีอุปสมบทของชาวกูยในตำบลกระโพ จนเรียกกันติดปากมาจนทุกวันนี้ว่าดอนบวชซึ่งยังเป็นเหมือนอุทกสีมาหรือโบสถ์กลางน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวกูย
เมื่อขบวนช้างมาถึงวังทะลุและได้ลงแช่บริเวณสิมน้ำ ก็เสมือนว่าช้างทั้งหลายนั้นได้บวชไปพร้อมกับเหล่านาคที่นั่งมาบนหลังด้วย
ส่วนพิธีกรรมของนาคจะเป็นการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ศาลปู่ตาวังทะลุ จากนั้นกลับไปนอนค้างที่วัด ซึ่งจะมีญาติมิตรมาอยู่ร่วมเป็นเพื่อนส่งท้าย ก่อนเข้าเพศสมณะในวันรุ่งขึ้น
วันที่ ๓ ของงานเป็น “วันอุปสมบท” ซึ่งทุกปีจะกำหนดไว้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันเดียวกับที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งในธรรม เป็นสัญลักษณ์ของการเข้ามาดำเนินรอยตามและการประพฤติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา
บายศรีผูกข้อมือ ส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทำขวัญนาค ซึ่งนอกจากด้ายผูกแขน ญาติมิตร เพื่อนฝูงมักผูกธนบัตรติดมากับเส้นด้ายบายศรีด้วย เป็นปัจจัยและขวัญกำลังใจให้แก่นาค
บ้านตากลางเป็นหมู่บ้านช้างสมชื่อ ไม่ว่าตรงไหนเหมือนเห็นช้างได้ทุกที่ แม้แต่ในวัด ซึ่งวัดแต่ละแห่งตามชุมชนมักได้รับถวายช้างมาให้อยู่ดูแล หรือแม้กระทั่งชื่อวัดป่าอาเจียงก็มีความหมายว่าช้าง และที่วัดแห่งนี้มีสุสานช้างอยู่ด้วย
เมื่อช้างล้ม (ตาย) เจ้าของจะนำมาฝังในสุสาน และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เหมือนสมาชิกในครอบครัว
ช้างผูกพันใกล้ชิดอยู่ในวิถีชีวิตจนเป็นเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว จนคนทั่วไปเข้าใจไปว่ากูยคือคนเลี้ยงช้าง แต่ตามคำอธิบายของคนท้องถิ่นว่าไม่ใช่
กูยมีทั้งที่เลี้ยงช้างและไม่ได้เลี้ยงช้าง
“พ่อแม่เคยมีมา เราเลี้ยงเพื่อสืบทอด เหมือนสมาชิกในครัวเรือน ใช้งานเล็ก ๆ น้อย ๆ หน้าเกี่ยวข้าวก็ขนข้าว” สีรา สุขศรี ผู้ใหญ่บ้านชาวกูยพูดถึงความผูกพันกับช้าง
“บางครอบครัวเลี้ยงช้างไว้โดยไม่ได้มีงานอะไร หรือถ้าไปรับจ้างก็ได้เงินมาจุนเจือครอบครัว ใช้ช้างทำเงินให้เราใช้จ่ายในแต่ละวัน ช้างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนในหมู่บ้านนี้ สมัยก่อนลูกหลานไม่ได้เรียนหนังสือ เลี้ยงช้างอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว”
แต่การสืบทอดวิถีคนเลี้ยงช้างคงไม่ขาดหาย ในบ้านตากลางก็ยังเห็นเด็ก ๆ คลุกคลีอยู่กับลูกช้างกันตามธรรมชาติเหมือนต่างฝ่ายร่วมกันเรียนรู้-ที่จะอยู่ร่วม และที่จะดูแลควบคุมช้าง
“ตะขอมีไว้ป้องกันเฉย ๆ ไม่ได้ทำร้ายเขาเลย ขับรถไม่มีพวงมาลัยจะไปได้อย่างไร เหมือนเลี้ยงวัวต้องมีไม้เรียว เลี้ยงช้างต้องมีตะขอ บรรพบุรุษสืบทอดมาแบบนี้ ทำตาม สืบทอดกันไปรุ่นต่อรุ่น” เรืองฤทธิ์ เพ่งพิศ คนเลี้ยงช้างบ้านศาลา ตำบลกระโพ เป็นคนหนุ่มที่อยู่กับช้างมาตั้งแต่ออกจากโรงเรียน
ช้างผูกพันใกล้ชิดอยู่ในวิถีชีวิต เหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว
เมื่อช้างล้ม (ตาย) เจ้าของจะนำมาฝังในสุสานและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้
สุสานช้างวัดป่าอาเจียงที่เก็บกระดูกช้างที่จากไป ตามธรรมเนียมอีสานที่นิยมเก็บกระดูกผู้เป็นที่รักผูกพันไว้ในธาตุที่วัด
“อยู่ด้วยกันทุกวัน เรารู้จักเขาดี สามารถสื่อสารกันได้ ใช้การสะกิดด้วยการขยับขา เราขี่เขาทุกวัน จะให้เขาเดินใช้ขาสะกิดนิดหน่อย ให้เลี้ยวก็สะกิดข้างเดียว เขารู้ว่าทางไปได้ไม่ได้ ช้างเราเลี้ยงรู้ว่าเขาต้องการอะไร เขาเหนื่อยไหม หิวไหม เขาหิวจะยื่นงวงมาว่าเราจะมีอาหารให้ไหม”
วันนั้นเขาพาพลายใบทองมาช่วยงานวัดป่าอาเจียงซึ่งกำลังก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ เจ้าอาวาสอยากให้ช้างได้ร่วมลงแรงในงานอันมีอานิสงส์ผลบุญแรงกล้านี้ด้วย จึงชักชวนควาญให้พาช้างสี่ห้าเชือกมาช่วยลำเลียงถังปูนผสมแล้วส่งให้ช่างเทเสาเทคาน ซึ่งพลายใบทองใช้งวงหิ้วถังปูนจากกระบะผสมปูนยกส่งให้ช่างได้อย่างรู้ความ
“เขาพูดไม่ได้ แต่เขารู้ภาษา” ควาญหนุ่มพูดถึงเพื่อนคู่ใจร่างใหญ่โตของเขา และพูดถึงนิสัยใจคอของพลายใบทองว่าเป็นช้างขี้อ้อน ต้องเอาใจ ไม่ต้องทำแรง ไม่อย่างนั้นช้างจะระแวงแล้วต่อสู้ ต้องทำให้ช้างไว้ใจแล้วจะเชื่อควาญ
พลายใบทองเป็นลูกหลานของช้างบ้าน เช่นเดียวกับควาญเรืองฤทธิ์ที่เป็นหลานเหลนของครอบครัวคนเลี้ยงช้างที่สืบทอดวิถีเดิมของบรรพบุรุษ
“ช้างออกลูกแพร่พันธุ์ก็แบ่งลูกหลาน รุ่นคุณตาที่ไปคล้องช้างจากป่าเพิ่งเสียเมื่อปี ๒๕๖๕”
ชาวกูยมีพื้นเพมาจากทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เคลื่อนเข้าสู่พม่า มายังลาวใต้แถบเมืองอัตตะปือ แขวงจำปาสัก จนถึงเขมร แล้วข้ามโขงมาสู่ฝั่งขวา
บวชนาคช้าง ตามความหมายคือการแห่นาคด้วยช้าง ในแต่ละปีมีช้างหลายสิบจนถึงเป็นร้อยเชือกในบางปี เป็นงานบุญใหญ่เก่าแก่ของบ้านตากลางและของจังหวัดสุรินทร์
เส้นแบ่งอยู่ในช่วงปี ๒๕๐๐ ตามที่ผู้ใหญ่บ้านสีราเล่าว่ามาตรการทางกฎหมายห้ามจับช้างป่าเริ่มเข้มงวดประกอบกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทางอีสานใต้สถานการณ์ไม่สงบ มีการปิดพรมแดน ทำให้ชาวกูยจากหมู่บ้านตากลางที่เคยเดินเท้าเป็นร้อยกิโลเมตรไปจับช้างป่าแถบเทือกเขาพนมดงรักไม่สามารถเข้าไปได้ดังเก่า จึงถึงกาลสิ้นยุคการจับช้างป่าที่ชาวกูยเรียกว่าโพนช้าง
แต่กูยบ้านตากลางส่วนใหญ่ยังรู้เรื่องคชศาสตร์และการจับช้าง ผู้ใหญ่บ้านสีราก็เป็นคนหนึ่งที่เล่าถึงเรื่องนี้ได้
“ไปเป็นคณะ ทีมหนึ่ง ๔๐-๕๐ คน หรืออาจเป็นร้อยคน เอาช้างต่อไปไล่ต้อนช้างป่า คล้องด้วยบ่วงบาศหนังปะกำ”
หนังปะกำที่ผู้ใหญ่บ้านสีราพูดถึงเป็นอุปกรณ์จับช้างชิ้นสำคัญที่คนกูยถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ที่สิงสถิตของบรรพชนบูรพาจารย์
เป็นเชือกคล้องช้างทำจากหนังควายแล่เป็นเส้นเล็ก ๆ ใช้สามเส้นฟั่นรวมเป็นเส้นเดียว ควายตัวหนึ่งได้เชือกราว ๓๐-๔๐ เมตร เชือกปะกำชุดหนึ่งมาจากควายสามตัว แล้วผ่านการประกอบพิธีประจุปะกำ เชิญผีบรรพบุรุษ ผีหมอช้าง และครูบาใหญ่ผู้ล่วงลับเข้ามาสถิต
ผูกปลายข้างหนึ่งเป็นบ่วงบาศติดไว้กับไม้คันจาม เชือกที่เหลือขดวางบนหลังช้างต่อ โดยผูกปลายเชือกอีกข้างไว้กับคอช้าง
เมื่อเดินทางถึงป่าดิบแหล่งอาศัยของช้าง ครูบาใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำคณะจะทำพิธีเบิกป่า ขอให้คนและช้างปลอดภัยให้ได้เชลยที่หมายถึงช้างป่ากลับไปบ้าน
“เลือกเอาตัวเล็กกว่าช้างต่อ อายุ ๒, ๓, ๔ ปี ถ้าตัวใหญ่จะชนกัน”
ไล่ต้อนตัวที่ต้องการให้แตกจากฝูง
“คล้องตีนหลังของช้าง คนคล้องอยู่บนหลังช้างต่อซึ่งมะกับครูบานั่งอยู่ด้วยกัน”
ชาวกูยตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่น แถบจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งกล่าวกันว่าชาวเมืองเดิมเป็นกูยเกือบทั้งหมด
กลุ่มผู้นำในขบวนการโพนช้างตามที่ผู้ใหญ่บ้านสีราไล่เรียงให้ฟัง และตามที่ระบุในหลักคชศาสตร์ มีห้าลำดับชั้น
มะหรือจา ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยควาญช้างบนหลังช้างต่อ
หมอสะเดียง นั่งตรงคอช้าง เป็นผู้ชำนาญในการควบคุมช้าง มีประสบการณ์จับช้างป่า
หมอสะดำ ทำหน้าที่ควาญ มีประสบการณ์จับช้างป่ามาแล้วมากกว่า ๑๐ ตัว
ครูบา เป็นหัวหน้ากลุ่มย่อยหรือในหมู่ช้างต่อ ออกจับช้างป่าได้เมื่อได้รับอนุญาตจากครูบาใหญ่
ครูบาใหญ่ เป็นหมอช้างใหญ่ ปะกำหลวง หรือหมอเฒ่า เป็นหัวหน้าในการออกจับช้าง มีคาถาอาคม และเป็นผู้นำในพิธีกรรมทั้งหลาย
โพนช้าง หรือการจับช้าง ไม่เพียงต้องออกไปรอนแรมเสี่ยงภัยกลางป่า แต่ยังรวมถึงการเข้าสู่จารีตที่เต็มไปด้วยพิธีกรรม ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลางคาถาอาคม เพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัยและการจับช้างป่าสัมฤทธิผล จึงมีแบบแผนและกฎข้อปฏิบัติอันเคร่งครัด ไม่เฉพาะผู้ชายที่ออกป่า แต่ยังรวมถึงภรรยาที่บ้าน ซึ่งมีข้อห้ามว่าในระหว่างสามีออกไปโพนช้าง ห้ามประดับประดาร่างกายด้วยเครื่องประทินโฉม ห้ามนั่งบนธรณีประตู ห้ามต้อนรับแขกบนเรือน
“พอจับช้างได้ ใช้ช้างต่อผูกดึงมา ต้องทำให้ช้างป่าเชื่องก่อน คนหลังต้องโดดลงผูกช้างที่คล้องได้แล้วนำช้างต่อเข้าประกบให้สงบลง จนเชื่องถึงเอากลับบ้าน
“กลับจากป่าคนจับช้างห้ามเข้าบ้านทันที ต้องปัดรังควานก่อน ช้างก็ต้องปัดรังควาน แล้วฝึกให้เป็นช้างบ้านทำงานต่อไป ใช้เวลาราว ๑-๒ เดือน”
ฝึกให้ทำงานอย่างขนข้าว ลากไม้ หรือการแสดง ยกขา เก็บสิ่งของ รวมทั้งฝึกเดินในที่ชุมชนไม่ให้ช้างตื่นเวลาไปอยู่กลางผู้คน
เมื่อไม่สามารถหาจับช้างป่า ช้างเลี้ยงที่บ้านจึงมีค่า
“ช้างเชือกหนึ่งราคา ๑-๒ ล้าน แต่เงินก็อยู่กับช้าง ถ้าช้างตายไปก็สูญเลย ต้องดูช้างให้ดีที่สุด” ตามคำเล่าของผู้ใหญ่บ้านตากลาง
“แต่ไม่ค่อยขายกันหรอกครับ ผูกพันกันมาเหมือนคนในครอบครัว” จากปากคำของ สมชัย มีนาม ครอบครัวญาติพี่น้องเขาเพิ่งมีลูกช้างเกิดใหม่ชื่อวิลิน
“เลี้ยงไว้ใช้งาน สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่บ้านก็ต้องปลูกหญ้าไว้ให้กิน บางทีก็ต้องซื้อ บางทีก็มีเอฟซีที่เขาติดตามทางออนไลน์ส่งค่าอาหารมาให้ หนึ่งคันรถกินได้ราว ๑ สัปดาห์”
“เมื่อก่อนต้นหญ้าอาหารช้างริมมูลมีมาก ปล่อยช้างไปหากินเองได้เลย” ผู้ใหญ่ (บ้าน) สีราเล่าย้อนอดีต เปรียบกับภาพปัจจุบัน “เดี๋ยวนี้ต้องเกี่ยวหญ้าปลูกให้กิน ให้ราว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ถ้าเราไม่คุมก็กินได้ทั้งวัน”
ภาพความสัมพันธ์และการเป็นอยู่ของ “กูยอาเจียง” หรือคนเลี้ยงช้างบ้านตากลาง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ และชาวต่างชาติส่วนหนึ่งก็รู้จักเมืองไทยผ่านภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องกูยเลี้ยงช้าง
ช้างในหมู่บ้านจึงไม่ได้ตัวอ้วนพีอย่างช้างป่า
จากยุคแรกที่ชาวกูยจับช้างป่ามาใช้เพื่อเป็นเพื่อนและใช้งานในครัวเรือน ในการเดินทาง ขนข้าวกลับจากนา เมื่อไม่สามารถไปคล้องช้างป่า ช้างบ้านบางส่วนเปลี่ยนไปทำไม้ ลากซุงในยุคสัมปทานป่า
กระทั่งรัฐบาลประกาศ “ปิดป่า” ยกเลิกสัมปทานเมื่อปี ๒๕๓๒ ช้างตกงาน ต้องหารายได้ด้วยการเดินเร่ขายอาหารช้างให้คนในเมืองซื้อเลี้ยง ขายเครื่องราง ของที่ระลึก กลายเป็นปัญหาสังคม เป็นภาพลักษณ์อันน่าสลดหดหู่ใจที่สัตว์ใหญ่คู่บ้านเมืองในประวัติศาสตร์และเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทยต้องกลายมาเป็นช้างเร่ร่อนในเมือง
กระทั่งเกิดโครงการนำช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิดเมื่อปี ๒๕๕๒ แล้วพัฒนาต่อมาเป็นโครงการโลกของช้าง (Elephant World) ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมช้างที่ยิ่งใหญ่ของโลก
จังหวัดสุรินทร์ใช้พื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่ของป่าสงวนแห่งชาติดงภูดิน ในหมู่บ้านตากลาง สร้างคชอาณาจักร เปิดรับช้างที่เคยออกไปเร่ร่อนในเมืองกลับมาอยู่ในถิ่นเกิด ช้างที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าอาหารเดือนละ ๑๐,๘๐๐ บาท ได้รับอาหารช้างเป็นหญ้าเนเปียร์วันละ ๑๐๐ กิโลกรัม และแบ่งที่ดินให้ปลูกหญ้าครอบครัวละ ๔ ไร่ต่อช้าง ๑ เชือกใช้งบประมาณดูแลปีละราว ๓๐ ล้านบาท อยู่ภายใต้การดูแลของสององค์กร หน่วยย่อยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ชื่อโครงการโลกของช้าง ศูนย์คชศึกษาและหน่วยย่อยขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ชื่อโครงการคชอาณาจักร โดยมีคชศาสตร์ชาวกูยทำหน้าที่ดูแลช้างทั้งสองหน่วยงาน เปิดโรงเรียนฝึกช้าง ลานแสดงช้าง จัดแสดงโชว์การแสดงของช้าง รวมทั้งเป็นนักแสดงในภาพยนตร์และโฆษณา ซึ่งงานโฆษณาใหญ่ที่มีช้างเป็นตัวแสดงส่วนใหญ่ก็เป็นช้างบ้านตากลางทั้งสิ้น
ทำให้ช้างมีงานทำ มีการจ้างงานช้างไปร่วมงานบวชนาคช้าง งานกฐินผ้าป่าช้าง งานตักบาตรบนหลังช้าง จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง โดยเฉพาะงานวันช้างไทย ๑๓ มีนาคม และงานช้างสุรินทร์ ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัด
ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ลูกผู้ชายชาวกูยบ้านตากลางที่อายุครบบวช จะมาบวชแทนคุณพระศาสนาและบุพการีที่วัดแจ้งสว่างในหมู่บ้านเกิดด้วยกัน
โครงการนำช้างคืนถิ่นของจังหวัดสุรินทร์ทำให้ช้างและควาญในชุมชนมีมากขึ้น
บางบ้านมีมากกว่า ๑๐ เชือก บางเชือกสังกัดศูนย์คชศึกษา บางเชือกสังกัดคชอาณาจักร ซึ่งสามารถเผื่อแผ่ด้านอาหารการกินอยู่ไปถึงเชือกที่ยังไม่มีสังกัดด้วย
ยังไม่นับช้างอีกเป็นร้อยเชือกที่กลับบ้านมาช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ยังไม่มีสวัสดิการ
แต่มีการเล่าเรื่องช้างทางออนไลน์ เกิดช้าง “ซุป’ตาร์” อย่างพลายบัวบาน พังบ่อพลอย พลายกะละมัง พลายนำโชค พลายทองคำ พลายทองแท่ง มีผู้ติดตามเฟซบุ๊กเป็นล้านคน ไลฟ์สดรับบริจาคหรือขายสินค้าแต่ละครั้งมีรายรับไม่น้อย ช้าง “ซุป’ตาร์” ส่วนใหญ่เป็นลูกช้างตัวเล็ก ๆ ทำให้ชาวหมู่บ้านช้างสุรินทร์พยายามให้มีลูกช้างเกิดใหม่
ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างอยู่ราว ๕,๐๐๐ เชือก ราวสองในห้าเป็นช้างป่า ที่เหลือเป็นช้างบ้าน ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ที่หมู่บ้านช้างไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ เชือก อยู่ในสังกัดคชอาณาจักร องค์การสวนสัตว์ฯ ๒๐๐ เชือก สังกัดศูนย์คชศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ๘๐ เชือก ช้างซุป’ตาร์ออนไลน์ ๒๐ เชือก ที่เหลือออกไปหากินประจำอยู่ตามปางช้างต่าง ๆ อย่างเชียงใหม่ อยุธยา ภูเก็ต เกาะสมุย
แต่อีกจำนวนหนึ่งก็ไม่คิดจะออกจากหมู่บ้าน เจ้าของเลี้ยงไว้เป็นเหมือนเพื่อนร่วมชายคาด้วยความผูกพัน
หากอยากเห็นว่าบ้านกูยอาเจียง ชุมชนคนเลี้ยงช้างใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีช้างอยู่มากแค่ไหน ก็ขอให้มาที่หมู่บ้านตากลางในช่วงวันเพ็ญเดือนหก ซึ่งช้างแทบทั้งชุมชนจะมาร่วมในขบวนแห่งานประเพณีบวชนาคช้าง