Image

เขี้ยวเล็บน่านฟ้าไทย

Hidden (in) Museum

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ถึงไม่คลั่งไคล้เครื่องบินและการบิน ยังหลงรักที่นี่

ผู้ชายที่มีฝันเป็นนักบิน แค่ผ่านรั้วสู่
พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ คงแทบพุ่งตัวไปหาเครื่องบินลำโตที่จอดรอต้อนรับอยู่กลางแจ้ง หลายลำอนุญาตให้ขึ้นสำรวจใกล้ชิด ผู้หญิงที่โตมากับการแต่งตัวตุ๊กตาก็น่าจะนึกสนุกอยากสวมชุดทหารอากาศถ่ายรูปกับฉากห้องบังคับเครื่องบิน 

พิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงเป็นอาคารหกหลังและกลางแจ้ง เริ่มจากจุดใดก็ไม่เสียอรรถรส แต่ละส่วนออกแบบเนื้อหาให้สมบูรณ์ในตัว ถ้าดูครบจะได้ทั้งนิทรรศการ ๑๐๐ ปีการบินของบุพการีทหารอากาศ, ห้องแสดงเครื่องบินรบ สมรรถนะสูง, ห้องแสดงอากาศยานสำคัญทางประวัติศาสตร์, ส่วนจัดแสดงอาภรณ์ภัณฑ์, กองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร, ส่วนแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์, นิทรรศการเส้นทางสู่นักบิน,นิทรรศการภูมิใจไทยทำ, ห้องเฮลิคอปเตอร์-เฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะและอาคารอากาศยานในร่ม 

แต่ละห้องไม่เพียงอิ่มความรู้ประวัติ
ศาสตร์การบินตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเข้าใจความสำคัญการใช้อาวุธอันเป็น “เขี้ยวเล็บสำคัญ” ยามปฏิบัติภารกิจปกป้องน่านฟ้าไทย  ตาแฉะกับสารพัดวัตถุอย่างเครื่องสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องแบบ บริภัณฑ์ประจำตัวนักบิน ฯลฯ  คนรักเครื่องบินยังได้ใจฉ่ำกับอากาศยานหลากรูปลักษณ์ ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างทั้งทิ้งระเบิด ลำเลียงขับไล่ ตรวจการณ์ เครื่องบินฝึก เฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ  แม้ทุกลำจะอายุมาก แต่ได้รับการบำรุงให้สะอาดและปลอดภัยต่อการป่ายปีนสำรวจ 

ดีไม่แพ้หัวข้อไหนคือ “ซ่อมและ
สร้าง” ที่ซ้อนอยู่ในนิทรรศการภูมิใจไทยทำ เล่าความสามารถคนไทยที่สร้าง เครื่องบินด้วยฝีมือ ตั้งแต่เรียนรู้วิธีซ่อมสร้างจนออกแบบ และใช้วัสดุในประเทศอย่าง “ไม้ยมหอม” ทำไม้อัดเป็นลำตัวเครื่องบิน  “ไม้โมก” ทำตัวเครื่องและใบพัด  “ไม้ตาเสือ” ทำใบพัด และ “เปลือกไม้บง” ทำน้ำมันทาผ้าบุเครื่องบิน กระทั่งสำเร็จเป็นเครื่องบินเบรเกต์ ปีกสองชั้น ลำแรกในชื่อ บริพัตร รับหน้าที่บินทิ้งระเบิด การจัดแสดงที่หอบไม้ซุงมาวางยิ่งขับให้เครื่องบินที่จอดอยู่ทวีคุณค่า

ตรึงใจสุดยกให้ห้องนิทรรศการ ๑๐๐ ปี 
การบินของบุพการีทหารอากาศ ที่ชวนตั้งคำถามกับ “แผนที่ประเทศไทย” ขนาดใหญ่ซึ่งแสดงการเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสและอาณาเขตที่ไทยได้กลับคืนในปี ๒๔๘๔

Image

แล้วย้อนเล่าเรื่องราวที่ชวนให้รู้สึกรู้สาไปกับความขัดแย้งยุคล่าอาณานิคมที่ไทยสูญเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสถึงห้าครั้ง รวมทั้งสูญเสียนักบินจากการที่เครื่องบินตรวจการณ์ฝรั่งเศสลํ้าเขตแดนไทยต่อเนื่องจนนำไปสู่ “กรณีพิพาทอินโดจีน ฝรั่งเศส-ยุทธเวหาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย”

สำหรับคนรักเครื่องบินสายตาคงถูก
สะกดที่ “เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๐ (HAWK III)” ซึ่งกรมทหารอากาศสั่งซื้อจากอเมริกาจำนวน ๒๔ เครื่องตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ (และซื้อสิทธิบัตรมาสร้างเพิ่มในประเทศอีก ๕๐ เครื่องในชื่อแบบ “บ.ข.๑๐”) เพื่อใช้เป็นกำลังรบที่สำคัญทั้งในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส และสงครามมหาเอเชียบูรพา  เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๐ (HAWK III) ที่จอดอยู่นี้ เคยประจำการในปี ๒๔๗๘-๒๔๙๒ และ “เหลือเพียงเครื่องเดียวในโลก”

ซุกอยู่ตรงไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู  

พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
และการบินแห่งชาติ
๑๗๑ ถนนพหลโยธิน แขวงสีกัน
เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐

เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ 
(เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) 
เวลา ๐๙.๐๐-๑๕.๓๐ น.
ชมฟรี

(ติดต่อล่วงหน้าหากต้องการวิทยากรสำหรับหมู่คณะ)
โทร. ๐-๒๕๓๔-๑๗๖๔ (แผนกกิจกรรม)