Image

ฉากหลังของ ว่าที่ พ.ต. วัชรินทร์ แสวงการ คือ “แผนที่ภูมิศาสตร์” และ “แผนที่ระวาง” (หรือ “แผนที่เดินเรือ”)

แผนที่เดินเรือ
สมุทรศาสตร์ของนักท่องสมุทร

คนก(ล)างแผนที่

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ไม่ได้มีแต่ผู้บังคับเรือรบทหารหรือคนขับเรือพาณิชย์ที่ใช้ “แผนที่เดินเรือ”

หนุ่มสาวกว่า ๒๐ ชีวิต ทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ-เอกชน นักศึกษา และอาสาสมัครทีมกู้ภัยทางทะเล ที่ล้วนผ่านการฝึกอบรมดำน้ำเบื้องต้นและมีประสบการณ์ดำน้ำกว่า ๓๐ ไดฟ์ ที่กำลังรับการอบรมหลักสูตรดำน้ำลึกขั้นแอดวานซ์เพื่อเป็นอาสาสมัครปฏิบัติภารกิจใต้น้ำให้กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็กำลังเรียนรู้การใช้เข็มทิศและอ่านแผนที่เดินเรือ

“ผมจะสอนโดยใช้แผนที่ระวางที่แสดงภูมิศาสตร์เป็นพื้นฐาน ทั้งแบบมาตราส่วนที่ย่อให้เห็นภาพรวมกว้าง ๆ กับมาตราส่วนที่ขยายให้เห็นพื้นที่จำเพาะชัด ๆ”

ในความหมายของ ว่าที่ พ.ต. วัชรินทร์ แสวงการ เจ้าของโฮมสเตย์บ้านท้องตมใหญ่ ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร และวิทยากรฝึกอบรมการดำน้ำ ตามหลักการจะเรียก “แผนที่ระวาง” ตามด้วยชื่อของพื้นที่นั้น ๆ แต่ถ้านิยามประเภทตามกรมอุทกศาสตร์-ผู้จัดทำจะใช้คำว่า “แผนที่เดินเรือ”

“บนแผนที่มีหมายเลขกำกับ ถ้าเราจะอ้างถึงแผนที่ใดก็เรียกหมายเลขนี้ได้เลย คนใช้แผนที่ด้วยกันจะรู้ว่าหมายถึงฉบับไหน คนอ่านแผนที่บ่อยอาจจำได้หมดเลยว่าทั่วประเทศไทยมีกี่แผนที่”

คือการขยายความถึงแผนที่ระวางหมายเลข ๒๐๓ “หลังสวน ถึง ประจวบคีรีขันธ์” มาตราส่วน ๑ : ๒๔๐,๐๐๐ สำรวจโดยเรืออเมริกัน USS Maury ปี ๒๕๐๖ และอีกหลายครั้งโดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ปี ๒๕๑๐, ๒๕๓๐-๒๕๓๑, ๒๕๓๓ และ ๒๕๓๖-๒๕๓๗ (บรรณาธิกร ครั้งที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔)

กับแผนที่ระวางหมายเลข ๒๓๙ “อ่าวสวี และ บริเวณใกล้เคียง” มาตราส่วน ๑ : ๔๐,๐๐๐ สำรวจโดยกรมอุทกศาสตร์ ราชนาวีไทย ปี ๒๕๓๐-๒๕๓๑ (บรรณาธิกร ครั้งที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑)

มาตราส่วน ๑ : ๑๐,๐๐๐ บนแผนที่ หมายถึงทุก ๑ นิ้วเท่ากับ ๑๐,๐๐๐ นิ้วบนโลกจริง ยิ่งมาตราส่วนน้อยจะแสดงมุมมองใกล้ชิด เหมาะกับแผนที่แสดงท่าเรือให้เห็นสิ่งกีดขวางใต้น้ำอย่างโขดหินหรือซากเรืออับปางที่อาจอันตรายต่อการนำเรือจอด โดยสังเกตได้จาก “วงล้อม” วงกลมที่มีเครื่องหมายดอกจันหรือเครื่องหมายบวก (อาจใช้รูป “เรือ” สื่อถึงเรืออับปาง) หากสัญลักษณ์นั้นเป็น “วงธรรมดา” จะหมายถึงสิ่งกีดขวางใต้น้ำ แต่ถ้า “วงด้วยเส้นทึบ” ก็หมายถึงสิ่งกีดขวางนั้นอยู่เหนือน้ำบางส่วน ยังมีเครื่องหมายแสดงช่องน้ำเป็น “วงกลมสีแดง-สีเขียว” หมายถึงทุ่น สิ่งที่เรามักเห็นมันลอยเท้งเต้งอยู่บนผิวทะเล

สำหรับเรือพาณิชย์หรือเรือใหญ่ยิ่งต้องใส่ใจจุดจอดบนแผนที่ซึ่งมีสัญลักษณ์รูป “สมอ” แสดงอยู่ในตำแหน่งเส้นทางน้ำใกล้กับบก เป็นจุดที่ให้เรือทิ้งสมอได้อย่างปลอดภัย เพราะไม่ใช่เรือทุกลำจะจอดได้ในทุกจุดที่มีรูปสมอ ต้องสังเกตต่อว่าตรงจุดนั้นมีระบุตัวเลขหรือคำอธิบายประเภทเรือที่ได้รับอนุญาตไหม เช่น จุดที่มีอักษรย่อ “DW” หมายถึงน้ำลึก ก็จะมีเพียงเรือน้ำลึกเท่านั้นที่ทอดสมอได้ หรือถ้ามีระบุตัวเลข “๒๔” (ย่อจาก ๒๔ ชั่วโมง) ก็แสดงว่าท่าเรือนั้นอนุญาตให้เรืออยู่ในพื้นที่ได้ครั้งละ ๑ วันเท่านั้น

“เรื่องทรัพยากรที่มนุษย์สร้างกลางทะเลยังมีแท่นเจาะน้ำมัน แท่นเจาะก๊าซ หรือประภาคารที่มีไฟแวบให้สัญญาณเดินเรือ ยุคที่ยังไม่มี GPS คนเดินเรือกลางคืนจะดูทิศทางจากดาวหรือใช้ความคุ้นเคยจากการสังเกตภูมิประเทศ เช่นพอถึงเกาะนี้แล้วจะเป็นเกาะนั้น แต่เอาแค่ทะเลนอกฝั่งของจังหวัดชุมพรก็มีเกาะน้อยใหญ่เกือบ ๕๐ เกาะแล้ว กองทัพเรือจึงติดตั้งไฟไว้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเป็นระยะระหว่างเกาะเพื่อให้นักเดินเรือรู้ว่ามาถึงไหน ไฟแต่ละดวงจะกำหนดรหัสไม่ซ้ำกัน มีหลายจังหวะ เช่น ‘วับ วับ วาบ’ หรือ ‘วับ วับ วาบ วาบ’ แต่ละจังหวะในแต่ละช่วงจะมีเวลา ๔-๖ วินาที เพื่อแปลความหมายที่แตกต่าง ซึ่งในแผนที่เดินเรือของกรมอุทกศาสตร์จะมีบอกตำแหน่งให้คนเรือใช้ดูสัญญาณจากเครื่องหมายแสดงแนวเขต”

“การดูแผนที่ต้องหาทิศก่อน ไม่ใช่กางแผนที่แล้วอ่านเลย ทิศทางสำคัญต่อการหาตำแหน่งที่ตั้งสิ่งต่าง ๆ”

Image

แผนที่มีขนาดจำกัด จึงต้องแทนข้อมูลด้วยอักษรย่อและเครื่องหมาย เช่น S คือทราย M คือโคลน Co คือปะการัง Rky หมายถึงอยู่บนพื้นหิน Tr หมายถึงประภาคารที่อยู่ใกล้ ๆ ฯลฯ ผู้ใช้งานแผนที่ต้องศึกษาเพื่อเข้าใจความหมาย

เวลานี้ในหัวผู้เข้าอบรมอาจมีใครคิด “แวบ แวบ แวม แวม” ต่อไปเมื่อมองทะเลยามวิกาลนอกจากคิดเรื่องโรแมนติกก็น่าสนุกดีที่จะมองหาประภาคารแล้วสังเกตการจับจังหวะไฟให้สัญญาณเดินเรือดูบ้าง

แผนที่ภูมิประเทศที่วิทยากรฝึกอบรมการดำน้ำเลือกมาใช้ฉายให้เห็นสภาพอ่าวไทย-ฝั่งตะวันตก เข้าใกล้จะเห็นพื้นที่ทั่วไป มีภูเขาสูง มีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลลงสู่อ่าวไทย อย่างอำเภอสวีก็มีแม่น้ำสวีความยาว ๕๐ กิโลเมตร หรือในอำเภอหลังสวนก็มีแม่น้ำหลังสวนความยาว ๑๐๐ กิโลเมตร

“จุดที่เราอยู่คือ ‘อ่าวท้องตมใหญ่’ การดูแผนที่ต้องหาทิศก่อน ไม่ใช่กางแผนที่แล้วอ่านเลย ทิศทางสำคัญต่อการหาตำแหน่งที่ตั้งสิ่งต่าง ๆ  คนโบราณดูทิศตามการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ในตอนกลางวัน ตอนกลางคืนก็ดูทิศทางจากดาวเหนือ พอมีการประดิษฐ์เข็มทิศขึ้นจึงต้องตั้งให้เข็มชี้ไปที่ทิศเหนือเสมอ แล้วเราก็หมุนแผนที่หาทิศเหนือ เป็นการตั้งความถูกต้องให้แผนที่ก่อน แต่ปรกติบนแผนที่จะมีภาพเข็มทิศหรือลูกศรชี้ไปทางทิศเหนือให้ ถ้าแผนที่ไหนไม่ได้กำหนดมาก็ให้เข้าใจว่าด้านบนของแผนที่คือทิศเหนือ”

การใช้ทิศทางในแผนที่ประกอบกับเข็มทิศไม่เพียงช่วยให้ชาวเรือเดินทางไปที่ที่ต้องการได้

เมื่ออยู่โลกใต้ทะเลแผนที่เดินเรือกับเข็มทิศก็ช่วยให้นักดำน้ำใช้นำทางได้อย่างน่าอัศจรรย์

อย่างเมื่อไปดำน้ำที่เกาะใด ๆ โดยปรกติจะต้องลงไปเป็นทีมหรือมีบัดดี้เพื่อช่วยเหลือกัน (เวลาดำน้ำสักพักสมองมักมึนงง) การได้รู้ว่าตัวเองเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปไกลแค่ไหนแล้วหรือมีระยะทางอีกแค่ไหนจะถึงที่หมายเป็นเรื่องสำคัญ แม้โดยหลักการนักดำน้ำจะรู้ว่าวิธีประเมินระยะทางเพื่อไปถึงจุดหมายและกลับถึงเรืออย่างปลอดภัยทำได้โดยลากเชือกยาว ๓๐ เมตรขึงไว้แล้วนับจำนวนการเตะฟิน (f in kick) จะทำให้ได้ค่าใกล้เคียงกับระยะทางในน้ำ หรืออาจใช้ช่วงแขนของเราวัดเพราะร่างกายมนุษย์มีอัตราส่วนที่น่าทึ่งแฝงอยู่ ความกว้างของแขนสองข้างเมื่อกางออกจนสุดจะเท่ากับความสูงของคนนั้น ดังนั้นถ้าทุกคนในทีมกางแขนจับมือกันก็ย่อมประมาณระยะทางใต้น้ำได้จากความสมมาตรของร่างกาย 

แต่ถ้าพวกเขาได้ศึกษาเรื่องแผนที่ไว้ด้วยจะยิ่งช่วยให้ถึงจุดหมายและกลับขึ้นเรือได้อย่างมั่นใจ

เช่นถ้าก่อนลงน้ำอ่านแผนที่เดินเรือจะรู้ว่าใต้น้ำมีถ้ำตรงไหน คลื่นลมไปทางใด บนแผนที่จะแทนสัญลักษณ์ด้วยลูกศรที่มีตัวเลขเหนือลูกศรบอกความเร็วกระแสน้ำ ให้ใช้เข็มทิศกำหนดองศาไว้แล้วจำว่ากระแสน้ำไหลไปทิศไหน ทางหัวหรือท้ายเกาะ เมื่อลงน้ำจึงมุ่งไปถ้ำนั้นและกลับทางเดิมได้โดยไม่หลง

“การใช้แผนที่เพื่อประโยชน์ทางทะเลเราจะเน้นส่วนที่เป็นน้ำ ตัวเส้นที่บ่งบอกจะคล้าย ‘เส้นคอนทัวร์ที่บอกความสูงชันของภูเขา’ มาตราส่วนที่ใช้คือ ๑ เส้น บอกระยะทาง ๒๐ เมตร ถ้า ๒๐ เมตรบนภูเขามันไม่เยอะหรอก แต่พอเป็น ‘เส้นความลึกของทะเล’ มันเยอะมาก ปรกติระยะความลึกที่ผมทำงานอนุรักษ์จะอยู่ราว ๖ เมตร สิ่งสำคัญคือการหา ‘ความลึกต่ำสุดของน้ำ’ บนแผนที่จะมีตัวเลขบอกค่าเฉลี่ยโดยอ้างอิงจากเวลาน้ำลง ถือว่ามีประโยชน์ต่อการประเมินความเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการปะทะทรัพยากรบริเวณที่ตื้นได้”

Image

ส่วน “เส้นชั้นความสูง” บนแผนที่นิยมใช้ “สีแดง” ขีดเชื่อมกับระดับความลึกของน้ำเพื่อแสดงถึงสิ่งที่มีอยู่ใต้ผิวน้ำ จะมีประโยชน์ในกรณีที่ต้องการแบ่งว่าพื้นที่ไหนน้ำตื้นหรือน้ำลึก

“แต่เนื่องจากทะเลอ่าวไทยมีความลึกไม่มาก เส้นแบ่งจึงแสดงระยะทุก ๕ เมตร เวลาดูแผนที่ให้เริ่มจากป่าชายเลน ‘พื้นที่สีเขียว’ ไล่มา ‘พื้นที่สีเหลือง’ คือผืนดินและสันทราย ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ที่สูง ถ้าพบ ‘จุดสีเหลือง’ ในตำแหน่งกลางช่องน้ำก็หมายถึงตรงนั้นมีผืนดินหรือสันทรายจมใต้น้ำ ข้อมูลตรงนี้มีประโยชน์เมื่อจะนำเรือเข้าฝั่ง ช่วยให้คำนวณความลึกไม่ให้เรือเสียหาย ถัดมาเป็น ‘พื้นที่สีน้ำเงิน’ จะมีสันดอน ตามจริงคำนวณได้ ๖ เมตรครึ่ง แต่ในแผนที่ระบุ ๔.๙ เมตร อาจอ้างอิงจากความลึกต่ำสุดที่เคยสำรวจเมื่อเกือบ ๑๐๐ ปี ตรง ‘พื้นที่สีฟ้า’ จะลึกราว ๕-๑๐ เมตร พอถึง ‘พื้นที่สีขาว’ ก็หมายถึงลึกเกิน ๑๐ เมตร”

นอกจากใช้แผนที่ในการสำรวจทรัพยากรทางทะเล ไม่ว่าจะวางแผนงานใด ๆ อย่างการออกแบบพื้นที่อุทยานใต้ทะเล วางแผนการดำน้ำสำรวจพื้นที่ทำกิจกรรมอนุรักษ์ เช่น ทำบ้านปลา ฟื้นฟูแนวปะการัง วางแผนกู้เรือหรือค้นหาสิ่งของในทะเล ฯลฯ สิ่งแรกที่เขาจะทำคือกางแผนที่คุยกันในทีม

วัชรินทร์ยกตัวอย่างเรื่องแผนพัฒนาทรัพยากรของจังหวัดชุมพร ที่ตนร่วมกำหนดแนวเขตทะเล

“ตอนนั้นเราต้องการกำหนดแนวเขตทะเลบริเวณ ‘อ่าวสามชั้น’ ให้เป็นเขตอนุรักษ์ของชุมชน ตั้งแต่ ‘อ่าวชั้นใน’ ก็คือพื้นที่ชายเลนที่หมู่บ้านเราตั้งอยู่ไปจดบริเวณสะพาน แล้วนับจากหัวสะพานออกทะเลไป ๓ กิโลเมตรจะถึง ‘เกาะทองแก้ว’ บริเวณนั้นเรียก ‘อ่าวชั้นกลาง’ จากเกาะทองแก้วไป ๓ กิโลเมตรจะถึง ‘เกาะมัดหวายใหญ่’ ซึ่ง ‘เกาะมัดหวายน้อย’ ก็อยู่ใกล้กัน พอออกทะเลอีก ๖ กิโลเมตรจะเป็นเขต ‘อ่าวชั้นนอก’ แต่ละพื้นที่ระดับความลึกของน้ำไม่เท่ากัน ยิ่งถัดจากอ่าวชั้นนอกออกไปราว ๑.๘ กิโลเมตรจะมีหินกอง ทำให้ต้องไตร่ตรองว่าจะวางแผนพัฒนาอย่างไร พื้นที่ในระดับความลึกเดียวกัน จะมีทรัพยากรคล้ายกัน การจัดการจะใช้วิธีการเดียวกันได้ แต่ในความลึกที่ต่างทรัพยากรย่อมเปลี่ยน มีสัตว์น้ำคนละชนิด ลักษณะของเรือประมงที่เข้ามาในพื้นที่ก็ต่าง เวลาคุยงานต้องกางแผนที่ตลอดจะได้เห็นองค์ประกอบรายล้อมจุดที่ต้องการชัดเจน ซึ่งการที่แผนที่สองมิติถูกกำหนดให้มองเห็นสัญลักษณ์จากด้านบนจึงทำให้ใช้เป็นข้อมูลได้ทั้งกับภาคพื้นและทางอากาศเพื่อให้การวางแผนนั้นยิ่งมีประสิทธิภาพ”

กับนักดำน้ำที่จะเป็นอาสาสมัครทีมกู้ภัยทางทะเลด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องศึกษาการอ่านแผนที่ให้แม่นยำพอกับใช้เข็มทิศเพื่อจะพัฒนาทักษะไปสู่การ “เขียนแผนที่แหล่งดำน้ำ” ด้วยตนเอง

พวกเขาสามารถใช้แผนที่เดินเรือเป็นต้นแบบที่ดีในการระบุความลึกของแหล่งน้ำบริเวณนั้น แล้วใช้จังหวะการเตะ (kick cycles) มาเป็นข้อมูลระยะทาง ร่วมกับอาศัยไหวพริบสังเกตทรัพยากรรอบตัวมาใช้เป็นสัญลักษณ์อ้างอิงในการระบุจุดสำคัญต่าง ๆ ลงแผนที่ อย่างจุดเข้า-ออก หรือจุดนำทางใต้น้ำที่โดดเด่น (เช่น ปะการัง ซากเรือ) เพื่อให้แต่ละภารกิจดำน้ำนั้นราบรื่นปลอดภัยเสมอ

ต่อให้คุ้นเคยกับน้ำเค็มเพียงใดก็ยังต้องอ่าน “แผนที่เดินเรือ” ก่อนออกทะเล แม้แต่นักท่องเที่ยวก็คงช่วยให้ทริปออกทะเลเที่ยวเกาะครั้งหน้าสนุกขึ้นอีกโข