อำนาจ สุขขวัญ และ อรยุพา สังขะมาน สนทนาเรื่องเส้นทางน้ำในพื้นที่บน “แผนที่การจัดการน้ำทางเลือกโดยไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์”
แผนที่อนุรักษ์
เครื่องมือจัดการสมดุลผืนป่า
คนก(ล)างแผนที่
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เมื่อจะมีโครงการใดรุกผืนป่า แผนที่คืออาวุธสำคัญใช้รับมือ
“ช่วง ๒๐ ปีแรกของการจัดตั้งมูลนิธิสืบฯ จะเน้นงานคลุกคลีกับชุมชนอย่างหนัก จึงเปิดรับเจ้าหน้าที่ภาคสนามประจำพื้นที่ทำงานในผืนป่าตะวันตก เดิมผมก็เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามพื้นที่กำแพงเพชร”
อำนาจ สุขขวัญ ย้อนจุดเริ่มก่อนเป็นหัวหน้างานป่าสงวนแห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เขาเล่าว่าในยุคที่ ศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการด้านธรณีวิทยาร่วมงานเต็มตัวกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีนโยบายให้อบรมเจ้าหน้าที่ภาคสนามทำแผนที่จะได้รู้จัก-เข้าใจชุมชน และเพื่อให้ง่ายต่อผู้ที่ไม่เคยเรียนในภาควิชาธรณีวิทยาจึงสอนให้เจ้าหน้าที่มือใหม่ทำ “แผนที่เดินดิน” (geo-social mapping)
“เป็นแผนที่ทำด้วยมือง่าย ๆ เอากระดาษ A4 มาวาด เริ่มจากเดินสำรวจไปตามเส้นทางชุมชน ถ้ามีซอยก็วาดตั้งแต่ปากซอย เจอป้ายก็วาด ผ่านวัด โรงเรียน บ้านใครก็วาดสัญลักษณ์รูปบ้านแล้วกำกับชื่อเจ้าบ้านไว้ บ้านของผู้นำชุมชนอยู่ตรงไหน รู้อะไรมาก็บันทึกลงแผนที่เดินดินไว้”
เท่านั้นยังน้อย การรู้จักแบบผิวเผินไม่เพียงพอต่อการทำงานของมูลนิธิสืบฯ
“ยังต้องเอาข้อมูลในแผนที่เดินดินมาจัดทำเป็นแผนผังเครือญาติ โดยสำรวจต่อว่าใครเกี่ยวโยงเป็นญาติพี่น้องกับใคร บ้านแต่ละหลังอยู่ตรงไหน บ้านไหนเป็นที่เคารพนับถือของบ้านไหน บ้านไหนไม่ถูกกัน แล้วใส่ข้อมูลเชื่อมโยงลงไป แต่ไม่ง่ายเพราะพื้นที่ทำงานของมูลนิธิสืบฯ เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งพวกเขาระมัดระวังตัวสูง คุยผิวเผินได้แต่จะถามเรื่องในชุมชนว่าพวกเขานับถืออะไร ใครเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือใครไม่ถูกกับใคร จะไม่มีใครยอมเปิดเผยง่าย ๆ วิธีที่พวกเราใช้คืออาศัยผูกมิตรกินอยู่กับเขานานพอที่จะทำให้เกิดความไว้ใจแล้วให้ข้อมูลกัน การทำแบบนี้ไม่เพียงช่วยให้รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการคุยเรื่องงานก็จะได้รับความร่วมมือ หรือเมื่อเกิดปัญหาในชุมชนก็จะเห็นภาพรวมแล้วมองออกว่าต้องแก้อย่างไร ควรเข้าหาใครเพื่อขอความช่วยเหลือ”
คือความพิเศษของแผนที่เดินดินที่หาไม่ได้จากแอปพลิเคชัน Google Maps
คือกุศโลบายให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามจดจำชุมชนขึ้นใจจนไม่ต้องพึ่งแผนที่
“...เราทำงานบนแผนที่มาโดยตลอด แผนที่ต้องติดตัวคนทำงาน”
กางแผนที่ประกอบการอธิบายข้อมูลสภาพพื้นที่และความเป็นมาของชุมชนปกาเกอะญอที่บ้านพุระกำ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี แก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
ใช้แผนที่ในภาคสนามเพื่อวางแผนเตรียมเดินสำรวจทรัพยากรในพื้นที่ป่าแม่วงก์
กระทั่ง ๑๐ กว่าปีนี้รูปแบบทำงานของมูลนิธิสืบฯ หันมาขับเคลื่อนในระดับนโยบายโดยอาศัยพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่ต่างสะสมข้อมูลภาคสนามมาเนิ่นนานและพัฒนาวิธีใช้แผนที่ให้เหมาะกับยุคสมัย
“เอาเข้าจริงมันทิ้งไม่ได้ เราทำงานบนแผนที่มาโดยตลอด แผนที่ต้องติดตัวคนทำงาน”
ก่อนมารับผิดชอบตำแหน่งเลขาธิการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อรยุพา สังขะมาน เป็นเจ้าหน้าที่วิชาการ และถอยหลังอีกก็เคยเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามพื้นที่อุ้มผาง นอกจากแผนที่เดินดินยังได้เรียนรู้ “การเดินจับพิกัด” เป็นการใช้ความรู้พื้นฐานเรื่องเข็มทิศร่วมกับ “เครื่อง GPS” (global positioning system)
“แทบจะเรียกได้ว่าเป็นกิจวัตรสำคัญซึ่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามต้องทำหน้าที่นี้ได้ทุกคน ทุกวันนี้ถึงจะอยู่สำนักงานที่กรุงเทพฯ แต่หน้าที่รับผิดชอบคัดค้านโครงการต่าง ๆ ก็ทำให้ยังต้องออกภาคสนามตลอด”
แต่เป็นการลงพื้นที่อย่างมีแบบแผนขึ้น เมื่อเกิดสถานการณ์ใดสิ่งแรกที่ทำคือหาพิกัดที่ตั้งของโครงการจากชาวบ้านหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีตัวเล่มรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการไม่ว่าจะเป็น EIA หรือ EHIA ต้องเร่งอ่านให้รู้ขอบเขตพื้นที่ แล้วกาง “แผนที่ Topo WGS84” (Topographic Datum : WGS 1984) ที่ผลิตโดยกรมแผนที่ทหาร เป็นแผนที่แบบสองมิติแสดงภูมิประเทศที่ระบุชั้น ความสูงของภูเขาจากระดับน้ำทะเล ดูว่าโครงการนั้นตั้งอยู่ตรงไหน โครงสร้างทางธรรมชาติเป็นอย่างไร แล้วอาศัย “แผนที่ Google Earth” ดูภาพถ่ายทางอากาศของเส้นทางและผังเมืองซึ่งแสดงผลภาพออกเป็นสามมิติ ช่วยให้เห็นหน้าตาพื้นที่นั้นกระจ่างขึ้น
“Google Earth ดีตรงที่หากมีชุมชนตั้งอยู่ก็ซูมเข้าไปจนเห็นลักษณะของหย่อมบ้านได้และเป็นข้อมูลที่มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันเสมอ ขณะที่ก็ยังดูย้อนหลังได้ว่าพื้นที่นั้นในอดีตเป็นอย่างไร ถือว่าช่วยได้มากเลยในกระบวนการศึกษาข้อมูล แต่พอจะลงพื้นที่จริงที่สุดแล้วก็ต้องพรินต์เป็นแผนที่กระดาษไปใช้ เพราะในป่าไม่สะดวกให้ใช้อินเทอร์เน็ต ไม่มีไฟฟ้าให้ชาร์จแบตเตอรี่ ที่สำคัญคือแผนที่กระดาษสามารถจดข้อมูลลงไปได้ตลอดเวลา เดินเลาะทางน้ำไปเจอปลาเจออะไรก็โน้ตได้ทันที”
ในการลงพื้นที่เธอจะถือเครื่อง GPS ที่ระบุพิกัดเป็นตัวเลขไว้แล้วเดินไล่หาตำแหน่งที่มีเลขตรงกัน เมื่อพบค่าพิกัดที่ระบุเครื่องจะส่งเสียง “ติ๊ด ๆ” จึงหยิบแผนที่ออกมากางแล้วทำสัญลักษณ์ลงไป
“เป็นการเดินจับพิกัดตามขอบเขตที่รับมอบหมาย ทำให้ได้เห็นภาพจริงในพื้นที่ว่าอาจเกิดอะไรบ้างในบริเวณที่ ‘เดินสำรวจแนวเขต’ แม้ข้อมูลทุกอย่างจะมีอยู่ในรายงาน EIA หรือ EHIA แต่เมื่อเราไม่ใช่ผู้ทำรายงานเอง แค่รู้จากการอ่าน วิธีตรวจสอบที่ดีที่สุดก็คือลงพื้นที่ไปเห็นข้อเท็จจริงด้วยตาตนเอง
“การลงพื้นที่เดินสำรวจแนวเขตมีประโยชน์มาก สุดท้ายอาจนำไปสู่การยอมรับใช้ด้วยกฎหมาย เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนมูลนิธิสืบฯ เคยทำ ‘โครงการจอมป่า’ ในเขตผืนป่าตะวันตก สมัยนั้นการมีคนอยู่ในป่ายังไม่มีกฎหมายรับรอง และผู้คนยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการทำไร่หมุนเวียน การเดินแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันคือคำตอบ ตอนนั้นเราพากันไปเดินแนวเขตป่าชุมชนที่อุ้มผางกันสามฝ่าย มีชาวบ้าน ส่วนราชการทั้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ ทหาร โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ เป็นตัวกลาง หลังจากเดินแนวเขตจับพิกัดแล้วก็ทำแผนที่ สุดท้ายก็ได้กำหนดเป็นแนวเขตจริงซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันทางกฎหมาย”
หลังภาคสนาม ข้อมูลสำรวจจะส่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการและเจ้าหน้าที่ GIS (geographic information science) ผู้เชี่ยวชาญระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของมูลนิธิสืบฯ นำไปทาบลงแผนที่ Topo บนระบบ datum WGS 1984 แสดงให้เห็นขอบเขตที่ตั้งของโครงการนั้นว่าอยู่ตรงไหน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ออกมาในรูปของแผนที่ แผนภูมิ ภาพสามมิติ และแปรเป็น “ข้อมูลเชิงพื้นที่” แบบง่ายสุดให้ผู้อื่นเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ที่เกิดและเห็นภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ร่วมกันได้
วันที่นัดพบอรยุพาที่ห้องทำงานในสำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรย่านติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี ไม่เพียงแน่นด้วยหนังสือวิชาการ ยังแทรกแผนที่อนุรักษ์สารพัดเรื่องที่พร้อมหยิบมาคลี่ประกอบความเข้าใจ อย่าง “แผนที่แสดงโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อนุรักษ์ บริเวณกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” (มาตราส่วน ๑ : ๗๕๐,๐๐๐) “แผนที่เพื่อการจัดการอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก” (มาตราส่วน ๑ : ๒๕๐,๐๐๐) “แผนที่แสดงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก” (มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐) “แผนที่ทางเลือกที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง” (มาตราส่วน ๑ : ๔๐,๐๐๐) ฯลฯ ทุกแผ่นมีร่องพับรอยกางยู่ยี่ ขนาดว่าเป็นวัสดุที่มีความเหนียวยังออกอาการจะขาดมิขาดแหล่ บางแผ่นขีดเขียนด้วยลายมือขยุกขยิก
“เราใช้แผนที่ในการทำงานภาคสนามกันโหดมาก ขาดคามือไม่รู้เท่าไร ตราบที่ยังดูได้ไม่ขาดจนเละจะยังไม่ทิ้ง เพราะมันคือความทรงจำ”
ห้องทำงานของอรยุพาในสำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ไม่เพียงแน่นด้วยหนังสือวิชาการ ยังแทรกแผนที่อนุรักษ์สารพัดเรื่องที่พร้อมหยิบมาคลี่ประกอบความเข้าใจ
บรรดาแผนที่ที่กางให้เชยชม ชอบสุดคือ “แผนที่เพื่อการบริหารจัดการลุ่มน้ำสะแกกรัง (ลุ่มน้ำย่อย แม่วงก์) จังหวัดนครสวรรค์-กำแพงเพชร” (มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐) เพราะมีขนาดใหญ่มากปานผ้าปูที่นอน แต่เธอบอกว่ายังมีใหญ่กว่านี้และมีอีกหลายแผ่น ซึ่งล้วนจัดทำและพิมพ์เองโดยมูลนิธิสืบฯ
“เมื่อก่อนจ้างพรินต์ข้างนอกแล้วไม่ทันใช้ งานของเราพรินต์บ่อยมาก สุดท้ายจึงมีเครื่องพรินต์แผนที่ไว้ที่สำนักงาน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของมูลนิธิสืบฯ ด้วยเหมือนกัน วัสดุพิมพ์แผนที่ส่วนใหญ่จะเป็นกระดาษ PVC ขาดยากหน่อย เหมาะกับที่ทำงานในพื้นที่ธรรมชาติ ทนต่อการพับเก็บบ่อย ๆ เปียกเหงื่อเปียกน้ำได้ แต่จุดประสงค์หลักในการทำแผนที่คืออำนวยความสะดวกต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่เราเอง ส่วนในการคุยงานอย่างเป็นทางการก็ยังต้องอ้างอิงแผนที่ทหารและ Google Earth มันสะดวกต่อความเข้าใจตรงกันทั้งประเทศ แผนที่ของมูลนิธิสืบฯ จะใช้เป็นข้อมูลเสริม เมื่อใช้งานเสร็จแต่ละครั้งฝ่ายวิชาการจะเก็บเป็นฐานข้อมูลระยะยาวให้เจ้าหน้าที่คนอื่นได้ใช้ประโยชน์ในอนาคตต่อ ถึงวันข้างหน้ารายละเอียดย่อยของชุมชนจะเปลี่ยนแปลง แต่ภาพรวมบนแผนที่ไม่เปลี่ยนเท่าไรหรอก ยังใช้ได้เสมอ”
หลายครั้งการทำแผนที่ของพวกเขาก็ดั่งอาวุธซ่อนคม
“งานของเรามักต้องปะทะด้านข้อมูลอยู่เสมอ สมมุติเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำที่จะสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งซึ่งมีชุมชนอยู่อาศัย แนวทางต่อสู้ก็ต้องเก็บข้อมูลทรัพยากรสำคัญที่เป็นปัจจุบันที่สุดในผืนป่า เช่น สำรวจปลาสำคัญในเส้นทางน้ำ แสดงให้เห็นพิกัดว่าสันเขื่อนจะตั้งอยู่ตรงไหน แล้วบอกให้คนรู้ตรงกันว่าบริเวณไหนคือจุดที่น้ำจะท่วม บ้านไหนจะโดนท่วม สัตว์ป่าอะไรจะถูกกระทบ กรณีนี้ถ้ารายงานด้วยแผนที่ภูมิศาสตร์จะเห็นแต่ภาพรวมว่าพื้นที่จากไหนถึงไหนแต่ยังไม่เห็นความสูญเสียชัดนัก เราก็อาศัยแผนที่ Google Earth ซึ่งเป็นภาพถ่ายจริงเข้ามาช่วยให้เห็นชัดขึ้นว่าป่าบริเวณนั้นมีลักษณะอย่างไรอยู่ ถ้าสร้างอ่างเก็บน้ำป่าบริเวณไหนจะแหว่งไปแค่ไหน...สิ่งที่ทำก็เพื่อรักษาป่าผืนนั้นไว้”
แผนที่อนุรักษ์ที่จัดทำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงไม่ใช่แค่แสดงข้อมูลยังคือการแสดงความรับผิดชอบในหน้าที่ดูแลความปลอดภัยแก่ผืนป่า