สมัยนี้แล้วใครยังมานั่งกางแผนที่กระดาษ ?

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายคำว่า “กาง” หมายถึง ถ่างออก คลี่ เหยียดออกไป ขึงออกไป แบะออก สมัยก่อนจึงใช้คำว่า “กางแผนที่” เพราะเวลาไม่ใช้งานจะถูกพับเก็บไว้ก่อน  เดี๋ยวนี้ผู้คนนิยมใช้แผนที่ดิจิทัลซึ่งไม่ต้องแผ่กระดาษแล้ว จึงหันมาเรียก “เปิดแผนที่”

ถึงอย่างนั้นเมื่อลองสำรวจคนรอบข้างกลับพบว่ายังมีจำนวนไม่น้อยในหลากหลายอาชีพเลือกกางแผนที่เป็นประจำ เหตุผลพวกเขาสอดคล้องไปทางเดียวคือ “สิ่งที่ต้องการ” ไม่มีในแผนที่ดิจิทัล

คือเสน่ห์ที่ทำให้การคลี่กางกระดาษ-ไวนิลยังคงเกิดขึ้นเสมอกลางวงอภิปรายเรื่องราว

ชวนรู้จักผู้คนมากหน้ากับแผนที่หลายหลาก บ้างโดดเด่นตรงแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ แนวเขตปกครอง ชั้นหินและลักษณะทางธรณีวิทยา เส้นทางถนน ที่ตั้งชุมชน ฯลฯ

ต่อให้อ่านแผนที่ไม่ออกยังได้สนุกสายตาไปกับสารพัดเส้นสีและรูปทรงสัณฐาน

เก๋ชนิดที่ว่าถ้าเบื่อวัสดุบุผนังแบบเดิมให้วางกางเรียงแผนที่หนีความจำเจไปเลย

Image

สารบัญแผนที่ภูมิประเทศ ช่วยให้ค้นหาหมายเลขระวางของพื้นที่สำรวจสะดวกขึ้น

แผนที่ธรณีวิทยา
บันทึกพื้นผิวย่อส่วน
ของโลกไร้พรมแดน

คนก(ล)างแผนที่

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ซูฮกให้แผนที่ธรณีวิทยา (geologic map) เป็นความรู้เข้มข้นสุดบนโลกกระดาษ

ไม่ใช่แค่ข้นคลั่กด้วยความรู้ ยังเป็นการผสมผสานระหว่างความจริงและความงาม

วันที่นัดพบครู-ศิษย์สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ “ภูผาผึ้ง” เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พวกเขากำลังเรียนรู้วิธีทำแผนที่ พลอยได้รู้จักแผนที่ภูมิประเทศ แผนที่ธรณีวิทยามาตราส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของที่ใช้ในวิชาชีพ

เล่าแบบมัดรวม “แผนที่ภูมิประเทศ” (topographic map) จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร จึงมักเรียกกันว่า “แผนที่ทหาร” หรือ “แผนที่ฐาน” (base map) แต่ทหารก็ทำหลายแผนที่เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้การยอมรับให้เป็นข้อมูลชั้นต้นเมื่ออ้างอิงสรรพสิ่งบนพื้นโลก หลายอาชีพนิยมใช้แผนที่ภูมิประเทศเมื่อต้องการรู้ขนาด รูปร่าง ความสูงต่ำ ลักษณะวางตัวของพื้นที่ แหล่งน้ำ ทางน้ำ มหาสมุทร ไปจนสิ่งปลูกสร้างฝีมือมนุษย์อย่างถนน หมู่บ้าน บนแผนที่มีครบทั้งระวาง มาตราส่วน ระบบพิกัด คำอธิบายของสัญลักษณ์และจำแนกเส้น-สีให้ผู้ใช้งานนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์บริหารจัดการที่ดินและสิ่งปกคลุมดินได้เหมาะสม

แต่แผนที่ทหารไม่มีจำหน่ายทั่วไป ต้องซื้อจากหน่วยงานทหารเพราะมีข้อมูลความปลอดภัยของประเทศที่อาจใช้ประโยชน์วางแผนพัฒนาประเทศเชิงยุทธศาสตร์ทางพื้นที่ อย่างการเลือกที่ตั้งค่ายทหาร การทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศ ยิ่งแผนที่ภูมิศาสตร์แบบกระดาษด้วยแล้วถือว่ามีประสิทธิภาพมากในการดูภาพกว้าง

“ประโยชน์ที่ทางธรณีวิทยาได้จากแผนที่ภูมิประเทศคือ ‘contour line’ เส้นชั้นความสูงที่ลากผ่านจุดต่าง ๆ ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเท่ากัน ยิ่งเส้นคอนทัวร์อยู่ชิดแสดงว่าภูเขานั้นชันมาก คนที่ดูแผนที่ก่อนไปเดินภูเขาจะประเมินตนเองได้ว่าร่างกายสามารถขึ้นได้สูงแค่ไหน ยิ่งภูเขาชันการหายใจยิ่งลำบาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงเร็วมากในช่วงระยะห่างสั้น ๆ”

Image

ดร. พิทักษ์สิทธิ์ ดิษบรรจง นำนักศึกษาฝึกเขียนแผนที่ให้ชำนาญ ก่อนที่พวกเขาต้องแยกย้ายไปฝึกงาน (ลงพื้นที่ธรรมชาติ) เทอมหน้า

ดร. พิทักษ์สิทธิ์ ดิษบรรจง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี ชวนสังเกตเส้นชั้นความสูงรูปแบบต่าง ๆ (มักหันด้านมุมแหลมของตัว V ชี้ไปทางต้นน้ำ) แบ่งเป็น เส้นหลัก (กำหนดเส้นชั้นความสูงทุก ๑๐๐ เมตร) เส้นรอง (ทุก ๒๐ เมตร) และเส้นแทรก (ใช้เส้นประ แทรกช่วงละ ๑๐ เมตร)  โดยแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ ของไทยจะตั้งชื่อตามชื่ออำเภอหรือจังหวัดของพื้นที่นั้น

“อันนี้คือแผนที่ภูมิประเทศ ‘ระวางกุฉินารายณ์’ ปรับปรุงปี ๒๕๔๒ ถนน สะพาน อ่างเก็บน้ำบนแผนที่เป็นข้อมูลที่สำรวจไม่เกินปีที่พิมพ์ แต่ไม่เป็นไร เราเอามาหาแนวรอยเลื่อนมากกว่า”

กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำแผนที่ภูมิประเทศมาทำ “แผนที่ธรณีวิทยา” ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีหลายมาตราส่วน ทั้ง ๑ : ๒,๕๐๐,๐๐๐  ๑ : ๑,๐๐๐,๐๐๐ ๑ : ๕๐๐,๐๐๐  ๑ : ๒๕๐,๐๐๐ และ ๑ : ๕๐,๐๐๐ คือที่นิยมใช้และถือว่าละเอียดสุดสำหรับแผนที่ธรณีวิทยา

แรกเห็นรู้สึกสะดุดตาแผนที่ธรณีวิทยาที่เด่นด้วยสารพัดสีสันต่างจากแผนที่ทางการทั่วไป

“ธรณีวิทยาไม่ได้มีขอบเขตเป็นประเทศเพราะชั้นหินมีความต่อเนื่องแบบไร้พรมแดน สัญลักษณ์ที่เป็นตัวอักษรย่อระบุอายุหินหรือชนิดของหินในพื้นที่ยังอาจต่างกันได้ในแต่ละประเทศ แต่เรื่องสีไม่ใช่ใครจะกำหนดเอง สีทางแผนที่ธรณีวิทยาเป็นภาษาสากล ทุกชนชาติจึงดูแผนที่ธรณีวิทยาของประเทศอื่นเข้าใจตรงกันทันที เช่น ‘สีแดง’ คือหินอัคนี หรือ ‘สีน้ำเงิน’ คือหินยุคจูแรสซิก ของไทยตรงกับหมวดหินภูกระดึง”

สิ่งที่ ดร. พิทักษ์สิทธิ์บอกสอดคล้องกับที่ ดร. พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมเสริมว่า นอกจากแผนที่ธรณีวิทยาจะแสดงการกระจายตัวชนิดหินยังแบ่งตามกลุ่มหินและหมวดหิน การใช้แผนที่ธรณีวิทยารายระวางเฉพาะพื้นที่จึงยิ่งให้ข้อมูลละเอียดขึ้น

“เพราะแผนที่แต่ละมาตราส่วนให้ข้อมูลในสเกลต่างกัน อย่างแผนที่ระวางกุฉินารายณ์อันนี้มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ สเกลขนาด ๒ เซนติเมตร เท่ากับระยะจริง ๑ กิโลเมตร เทียบกับแผนที่ระวางร้อยเอ็ดนี้เป็นมาตราส่วน ๑ : ๒๕๐,๐๐๐ จะให้ข้อมูลในภาพกว้างไม่ละเอียดเท่าแผนที่ระวางกุฉินารายณ์ แล้วบนแผนที่ไม่ใช่แค่ให้ข้อมูล ‘สีน้ำเงิน’ คือกลุ่มหินหมวดภูกระดึงมีอายุในยุคจูแรสซิก ยังเห็นการกระจายตัวของหมวดหินต่าง ๆ บริเวณเทือกเขาภูพานที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และบนแผนที่ธรณีวิทยายังมีภาพตัดขวางแสดงให้เห็นเหมือนมีการตัดเปลือกโลกลงไปด้วย”

ลองจินตนาการเรื่องยากให้ง่าย ด้านตัดของภูมิประเทศ (topographic pro ffiile) ที่เขียนบนระนาบที่ตั้งฉากกับระนาบระดับใกล้เคียงสุดก็น่าจะคล้ายเวลาเรามองภูเขาบนที่ราบจากตำแหน่งห่างไกล

Image

ดร. พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ อธิบายความหมายของสีสันบนแผนที่ธรณีวิทยา ไม่ใช่แค่ข้นคลั่กด้วยความรู้ ยังผสมผสานระหว่างความจริงและความงาม

“เดี๋ยวถึงจุดชมวิวนักศึกษาจะได้เห็นลักษณะการวางตัวของแนวเทือกเขาภูพานที่อยู่ทางตะวันตกค่อยพิจารณาเอาว่าจะระบายสีอะไรลงไป บางคนอาจสเกตช์ภาพภูมิประเทศลงไปด้วย”

นั่นคือเหตุผลที่ต้องไปจุดชมวิวเพื่อจะได้รู้ว่าแอ่งหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าอยู่ไม่สูงพอก็มองไม่เห็น

“แล้วพอมองเข้าใกล้แผนที่จะเห็นว่ามีเส้นที่ลากอยู่ตามสีต่าง ๆ อีก แสดงถึงสิ่งที่ปรากฏบนชั้นหินบนแผนที่จะมีสัญลักษณ์ทั้งเส้นและลูกศรหลายแบบ ถ้าลูกศรหันออกจากกันแปลว่าชั้นหินเอียงเทออกจากกัน แสดงว่าเป็นชั้นหินคดโค้งรูปประทุน หรือถ้าลูกศรหันเข้าหากันก็แปลว่าชั้นหินเอียงเทเข้าหากัน สังเกตต่อนะว่าชั้นหินเอียงเททางไหนเพราะสามารถเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตได้ว่าเคยมีการบีบอัดตัว ยกตัว หรือมีรอยเลื่อน อย่างภาคเหนือจะมีแนวรอยเลื่อนเยอะกว่า พื้นที่บริเวณแนวรอยเลื่อนที่มีพลังมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว แผนที่นี้จึงสำคัญมากในการพยากรณ์โดยใช้ลักษณะทางธรณีเพื่อเตือนภัยประชาชน”

ยังไม่ทันลากความเข้าใจไปกับศาสตร์ซับซ้อนเพื่อรู้จักแผนที่เบื้องต้นสำเร็จ นักธรณีวิทยาทั้งสองก็ตั้งต้นเปิดบทเรียนใหม่ให้ทุกคนเดินขึ้นภูเขา พร้อมแบบฝึกหัดที่ ดร. พิทักษ์สิทธิ์มอบหมายให้นักศึกษา

“ผมถ่ายเอกสารแผนที่ภูมิประเทศของทหารมาให้นักศึกษาคนละชุดไว้เขียนข้อมูลลงไป วันนี้จะเดินขึ้นจุดชมวิวระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ฝึกเก็บข้อมูล ทุกครั้งที่หยุดดูหินต้องระบุพิกัด บรรยายและเรียกชื่อหิน วัดค่าการวางตัวของหิน แล้วใส่ข้อมูลลงบนแผนที่เพื่อวิเคราะห์ธรณีโครงสร้าง เมื่อมีการเปลี่ยนชนิดหิน สามารถแบ่งเป็นหน่วยหินย่อยได้ ก็ระบายสีที่ต่างกันได้”

“สีทางแผนที่ธรณีวิทยาเป็นภาษาสากล ทุกชนชาติจึงดูแผนที่ธรณีวิทยาของประเทศอื่นเข้าใจตรงกันทันที”

Image

Image

เล็งกระจกเข็มทิศไปจุดที่เรามองเห็นยอดเขาไกล ๆ ก่อน ลากเส้นตรงลงแผนที่จากยอดเขานั้นย้อนกลับมาตามทิศทางที่วัดได้ แล้วหาอีกยอดเขาหนึ่งทำเหมือนกัน จุดที่สองเส้นตัดกันหมายถึงตำแหน่งของเรา

ระหว่างทางขึ้นเขาสองนักธรณีวิทยาผลัดให้ความรู้ จับความกระท่อนกระแท่นว่าเคยมีนักธรณีวิทยาชาวไทยกับอเมริกันมาสำรวจบริเวณภูผาผึ้งเมื่อปี ๒๕๐๕ บันทึกรายงานว่าที่นี่เป็นภูเขาหินทราย พบโขดหินเป็นหน้าผาชันเป็นหินทรายสีขาวปนกรวดแสดงลักษณะเด่นต่างจากหมวดหินเสาขัวที่เป็นหินทรายแทรกสลับกับหินโคลนโทนสีแดงที่วางตัวอยู่ด้านล่าง จึงจัดตั้งเป็นชั้นหินแบบฉบับของหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช เนื้อหินและการวางชั้นเฉียงระดับของหมวดหินภูพาน แปลความได้ว่าเกิดจากแม่น้ำประสานสายที่มีทิศทางการไหลไปด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ 

ช่วงแรกชาวคณะไม่พบจุดเหมาะสม กระทั่งเดินถึง “จุดสะพานหิน” มีชั้นหินอยู่กับที่ มีร่องรอยชั้นหินที่มองเห็นชัด นักศึกษาจึงนำอุปกรณ์ออกจากเป้ เริ่มบันทึกหินแต่ละช่วงที่เจอโดยระบายสีไว้บนแผนที่

“ที่ต้องจดข้อมูลชนิดหิน ลักษณะเนื้อหิน ค่าการวางตัวของชั้นหินไว้ เพราะเดี๋ยวเดินขึ้นเขาอีกสัก ๑๐๐ เมตรอาจไม่เจอกรวดแบบบริเวณนี้ แสดงว่าชั้นหินเปลี่ยนไปแล้ว ก็จะระบายอีกสีหนึ่งไว้”

วรพล ยุสนอง นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ว่าพลางหยิบเข็มทิศเป็นตัวช่วยวัดทิศทางการวางตัวของชั้นหินและค่าการเอียงเท ยังใช้ระบุตำแหน่งที่ตนอยู่บนแผนที่ได้โดยเล็งกระจกเข็มทิศไปจุดที่เรามองเห็นยอดเขาไกล ๆ ก่อน ลากเส้นตรงลงแผนที่จากยอดเขานั้นย้อนกลับมาตามทิศทางที่วัดได้ แล้วหาอีกยอดเขาหนึ่งทำเหมือนกัน จุดที่สองเส้นตัดกันหมายถึงตำแหน่งของเรา ถ้าวางแผนที่ในทิศถูกต้อง ใช้เข็มทิศเป็น และรู้จักลักษณะภูมิประเทศจากการสังเกตเส้นชั้นความสูงในกรณีของหินตะกอนก็จะคาดเดาค่าการวางตัวของชั้นหินและมุมเอียงเทของระนาบว่าเอียงกี่องศาได้โดยประมาณ

“อันนี้เป็น ‘ค้อนรุ่น’ ของผม”

เขาหัวเราะเมื่อเห็นเราจ้องค้อนจิ๋ว-จี้คล้องเชือกที่ห้อยคอแล้วหยิบอาวุธที่ใช้งานจริงให้ดู

“ค้อนธรณีมีหัวค้อนหลายแบบขึ้นอยู่กับว่าสำรวจหินชนิดไหน หินอัคนีเหมาะกับค้อนปอนด์ ทุบทีไฟแลบเลย ! แต่โดยมากจะพกแบบที่ด้านหนึ่งทู่ไว้ทุบเพื่อศึกษาเนื้อหิน อีกด้านจะแบนแหลมไว้ขุด งัดเจาะ ด้านแหลมนี่ใช้จิกหินจิกดินตอนปีนหน้าผาได้ด้วยครับ แล้วพอจะถ่ายรูปตัวอย่างหินก็ใช้ค้อนนี่ละเป็นตัวเทียบขนาด โดยวางคู่กับเข็มทิศเพื่อบอกว่าขณะที่ถ่ายเราเห็นสิ่งที่อยู่ในภาพหันไปทิศไหน”

กิจกรรมทำนองนี้เกิดขึ้นหลายครั้งตามรายทางกระทั่งเดินถึงหมุดหมาย

ถ้าใช้สูตรวัดชั้นความสูงของภูเขาโดยยึดแผนที่ภูมิประเทศของทหารแล้วลากเส้นข้ามภูเขาสองลูกแบบนักธรณีวิทยา เวลานี้พวกเราจะอยู่ตรงเส้นคอนทัวร์ ๓๒๐ เมตร (GPS ระบุ ๓๑๕ เมตร)

Image

สายตาของนักธรณีวิทยาจะเห็นเส้นและสัญลักษณ์บนแผนที่เป็นพื้นที่สูงต่ำ เช่น ภูเขา ลำห้วย

อาจารย์หนุ่มชี้แผนที่สลับเงยหน้าเป็นระยะไปทางตำแหน่งที่กำลังอธิบาย

“ต่อให้เราอยู่ในที่ที่ไม่เคยไปหรือหลงป่าก็แค่ขึ้นยอดเขาแล้วทำวิธีนี้ก็จะรู้พิกัดได้  คราวนี้มองไปที่ ‘ภูน้อย’ นะครับ จะเห็นลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาคล้ายสันมีดอีโต้ ด้านหนึ่งเป็นด้านชัน ถ้ามองจากทางนี้จะเห็นพื้นที่ราบเอียงไปตะวันตกเฉียงใต้ บนแผนที่ตรงกลางมีลักษณะเป็นหุบเขาที่มีภูเขาล้อม โครงสร้างเป็นชั้นหินคดโค้งรูปประทุน ในอดีตต่างชาติเห็นจากแผนที่ว่ามีโครงสร้างแบบนี้ก็เข้ามาขุดสำรวจหวังจะหาน้ำมัน แต่ไม่เจอ เพราะยังมีองค์ประกอบที่เหมาะสมอีกหลายอย่าง แต่นับเป็นจุดเริ่มการสำรวจปิโตรเลียมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นภาคนี้ก็มีการเจาะหาแหล่งพลังงานอีกจนเจอที่ ‘สินภูฮ่อม’ นักศึกษาลองคิดจากแผนที่ตัวเองสิ ถ้าเป็นคุณจะเจาะหาน้ำมันตรงไหน แล้วเจาะลงแผนที่เลย อย่างน้อยวันนี้ก็ได้หัดออกแบบหลุมเจาะเผื่ออนาคตได้ไปวางหลุมเจาะของจริง”

เป็นการเรียกเสียงหัวเราะที่น่าสนใจ จะมีสักกี่อาชีพในโลกนี้ต้องเขียนแผนที่ให้เป็น และไม่ใช่แค่ให้ตนเข้าใจเอง ต้องคำนึงว่ามีอีกหลายอาชีพจะได้ใช้ประโยชน์จากแผนที่ธรณีวิทยา

“อย่างชาวเหมือง นักขุดทอง คนเจาะบาดาล ผู้ทำงานเกี่ยวกับทรัพยากร นักบรรพชีวินก็ใช้ค้นหาซากดึกดำบรรพ์ นักโบราณคดีใช้ข้อมูลส่วน ‘สีเหลือง’ บนแผนที่ซึ่งเป็นชั้นหินที่มีอายุอ่อนที่สุดราวหลักพันปี หากเจอตะกอนทางน้ำก็มีหวังพบหลักฐานตั้งรกรากของสังคมมนุษย์อย่างวัตถุโบราณหรือหม้อไหต่าง ๆ”

โลกถูกปกคลุมด้วยหินตะกอน หินอัคนี หินแปร ฯลฯ จากยุคต่าง ๆ มากมาย และธรณีวิทยาก็แบ่งเวลาเป็นยุคและสมัยต่าง ๆ เมื่อมองไปที่หินจึงเสมือนกำลังมองดูการก่อร่างสร้างตัวของประวัติศาสตร์ที่กำเนิดต่างกันและทิ้งระยะเวลาห่างกันนับล้าน ๆ ปี 

จึงเป็นเรื่องน่าทึ่งที่เราสามารถรู้เห็นว่ามันอยู่ที่ไหนบ้างด้วยแผนที่ธรณีวิทยา