Image

ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช
"คนบ้าแผนที่" (Map Nut)
ผู้ต่อจิกซอว์ประวัติศาสตร์สยาม

INTERVIEW

บทนำ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ถ่ายภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช” อาจเป็นชื่อที่คนไทยจำนวนมากไม่คุ้นเคย

แต่ในวงการสะสม “แผนที่โบราณ” วงวิชาการประวัติศาสตร์ เจ้าของนามนี้ได้รับการยอมรับว่าเขาคือผู้เชี่ยวชาญแผนที่โบราณอย่างหาตัวจับได้ยาก

นับถึงตอนนี้เกิน ๒ ทศวรรษแล้วตั้งแต่เขาเดินหลงเข้าไปในร้านขายแผนที่แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนแล้วไปได้แผนที่อยุธยาโบราณแผ่นหนึ่ง จากนั้นก็ตามซื้อ ตามเก็บสะสมเป็นจำนวนมากในแบบที่นักประวัติศาสตร์ไม่เคยจินตนาการถึง ด้วยทราบกันดีว่า “แผนที่โบราณ” แม้จะมีคุณค่าในการศึกษามากเพียงใดก็ยากที่จะเข้าถึง เพราะมีมูลค่าสูงลิบลิ่วในตลาดของเก่า

ธวัชชัยไม่เพียงสะสม เขายัง “ค้นคว้า” เรื่องราวแวดล้อมแผนที่แต่ละแผ่น จากนั้นก็นำเสนอสู่สาธารณะผ่านช่องทางต่าง ๆ นานเกือบ ๓๐ ปี ซึ่งสารคดี ก็เคยมีโอกาสนำเสนอการค้นพบของเขาในห้วงทศวรรษ ๒๕๔๐ มาแล้ว

ครั้งหนึ่งความสงสัยและบากบั่นของธวัชชัยยังนำไปสู่การค้นพบว่า “ชิแอร์โน” (Scierno) น่าจะเป็น “ชื่อเรียกแรกสุด” ของกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏบนแผนที่ของชาวตะวันตก  สำหรับนักประวัติศาสตร์ นี่คือการเปิดมิติใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงเก่าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ปี ๒๕๖๗/ค.ศ. ๒๐๒๔ ธวัชชัยในวัย ๖๐ ปี ยังมีเรี่ยวแรงออกตามหาแผนที่อยุธยาโบราณ เอกสารจดหมายเหตุ ภาพพิมพ์ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสยามที่ตกหล่นอยู่ในต่างประเทศ

เมื่อ สารคดี นำเสนอเรื่องแผนที่ เราจึงขอให้ธวัชชัยเล่าถึงการผจญภัยในโลก “แผนที่โบราณ” ที่เขาหลงใหลและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอีกครั้ง

เริ่มต้นสะสมแผนที่อย่างไร

ต้องย้อนไปเล่าถึงนาทีที่ผมต้องมนตร์เสน่ห์ของแผนที่และดึงประวัติศาสตร์เข้ามาในชีวิต เริ่มจากความบังเอิญที่ได้สบตากับแผนที่แผ่นหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิง จำได้ดีว่าบ่ายวันหนึ่ง (ปี ๒๕๓๙/ค.ศ. ๑๙๙๖) ตอนยังอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ผมไปร้านตัดผมย่านเซาต์เคนซิงตัน (South Kensington) ของกรุงลอนดอนแล้วต้องรอคิวประมาณครึ่งชั่วโมง เลยไปเดินเตร่ฆ่าเวลา ปรากฏว่าผ่านร้าน The Map House ซึ่งอยู่ในซอยถัดไป ร้านนี้เป็นร้านเก่าแก่ ขายแผนที่โบราณมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ของไทย ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจเรื่องแผนที่ แต่เห็นร้านเก๋ดีผนังหน้าร้านเป็นกำแพงอิฐสีน้ำเงินเข้ม ตัดด้วยกระจกบานใหญ่โชว์แผนที่ใส่กรอบสะดุดตา ผมพอมีเวลาเลยแวะเข้าไป เผื่อจะได้แผนที่สวย ๆ ไปประดับห้อง

คนที่พาดูคือ ฟิลิป เคอร์ติส (Philip Curtis) ตอนนั้นเขาน่าจะอายุประมาณ ๓๐ ต้น ๆ ทุกวันนี้เป็นรุ่นใหญ่แล้ว ผมบอกเขาว่าผมสนใจแผนที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย เขาเลยพาไปห้อง map gallery ที่ชั้นบน ด้านในมีโต๊ะไม้ขนาดใหญ่ ล้อมด้วยตู้แผนที่มีลิ้นชักแยกหมวดว่าเป็นแผนที่ทวีปใด บริเวณไหน ฟิลิปเอาแผนที่มากองไว้บนโต๊ะจำนวนหนึ่ง ผมสะดุดตาสองสามแผ่น

แผ่นแรกคือแผนที่ราชอาณาจักรสยาม โดย ปีแยร์ดูวาล (CARTE DU ROYAUME DE SIAM et des Pays Circonvoisins PAR P. DU-VAL) มีภาพช้างสองเชือกตรงมุมขวาล่าง คนไทยคุ้นเคยแผนที่แผ่นนี้ดีเพราะปรากฏในละครบ่อย แผ่นแรกนี้เขียนราคาไว้ที่มุมล่างว่า ๗,๕๐๐ ไม่มีหน่วยเงิน แต่ที่อังกฤษรู้กันว่าคือปอนด์ สมัยนั้น ๔๐ บาทแลกได้ ๑ ปอนด์  อีกแผ่นคือแผนที่กรุงศรีอยุธยา สยามหรือยูเดีย นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม (SIAM ou lUDIA, Capitalle du Royaume de Siam) เขียนราคา ๖,๐๐๐ ปอนด์ ฟิลิปบอกว่าแผนที่แผ่นแรกมีลูกค้าจอง ส่วนแผ่นหลังถ้าสนใจเขาจะลดเหลือ ๕,๐๐๐ ปอนด์ (ราว ๒ แสนบาท) ซึ่งก็แพงอยู่ดี

Image

แผนที่ VILLE DE SIAM ou JUTHIA (๑๖๕ x ๒๐๕ มม.) โดย ฌัก นีกอลา แบลแล็ง ช่างแผนที่ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี ๒๓๐๗/ค.ศ. ๑๗๖๔ เป็นแผนที่แผ่นแรกของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช และแผ่นสุดท้ายที่พิมพ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

แผนที่ทั้งสองแผ่นเขียนโดยชาวฝรั่งเศส ปี ๒๒๒๙/ค.ศ. ๑๖๘๖ ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผมถามฟิลิปว่าดูใกล้ ๆ ได้ไหม ต้องใส่หน้ากากหรือถุงมือหรือเปล่า ตอนนั้นผมรู้สึกตื่นเต้นระคนสงสัยว่าทำไมแผนที่อายุกว่า ๓๐๐ ปีถึงหลงเหลือมาจนทุกวันนี้ แล้วมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร

ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ไม่เพียงประวัติความเป็นมาของแผนที่ พรั่งพรูออกมามากมายระหว่างที่ฟิลิปหยิบแผนที่แต่ละแผ่นออกมากาง จากคนที่ไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์ ผมยืนฟังอย่างตั้งใจ ค่อย ๆ ซึมซับความรู้ พลันเกิดอารมณ์คิดถึงบ้าน คงเพราะผมไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างแดนตั้งแต่อายุ ๑๕ การได้เห็นคำว่า SIAM บนแผนที่ มันทำให้เกิดอารมณ์ถวิลหาและความภาคภูมิใจในถิ่นเกิด การได้สัมผัสเอกสารจดหมายเหตุสมัยพระนารายณ์ฯ มันเหมือนต้องมนตร์สะกด อดีตของกรุงศรีอยุธยามาปรากฏชัดในจินตภาพ ประวัติศาสตร์ได้เข้ามาในชีวิตโดยไม่รู้ตัว

ฟิลิปอธิบายความเป็นมาของแผนที่ จากแผ่นแรกจนแผ่นสุดท้าย ทำให้ภาพเลือนรางของกรุงศรีอยุธยาค่อย ๆ ปะติดปะต่อก่อเป็นรูปร่าง แผนที่แต่ละแผ่นที่กองอยู่เบื้องหน้าเปรียบเสมือนภาพต่อจิกซอว์บนแผ่นกระดานอันสลับซับซ้อนของอดีต ภาพต่อจิกซอว์เหล่านี้เมื่อนำมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันก็จะค่อย ๆ เติมแผ่นกระดานให้เต็ม ทำให้เราเห็นภาพกรุงศรีอยุธยาในอดีตได้แจ่มชัดและลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น

เมื่อต้องมนตร์เสน่ห์ของแผนที่ ผมรู้ว่าอย่างไรก็ต้องซื้อ จึงเลือกแผนที่ VILLE DE SIAM ou JUTHIA เป็นแผนที่กรุงศรีอยุธยาเขียนโดยชาวฝรั่งเศส ฌัก นีกอลา แบลแล็ง (Jacques Nicolas Bellin) พิมพ์ที่กรุงปารีส ค.ศ. ๑๗๖๔
พอบวกด้วย ๕๔๓ เพื่อแปลงเป็น พ.ศ. พบว่าตรงกับปี ๒๓๐๗ ความที่โดนบังคับให้ท่องจำปีเสียกรุง ก็เอะใจว่า นี่อาจเป็นแผนที่กรุงศรีฯ แผ่นสุดท้าย  ด้วยราคา ๒๔๐ ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยราวหมื่นบาท ผมไม่ลังเลที่จะซื้อเพราะราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์

จากแผนที่แผ่นแรกที่ซื้อในวันนั้นจนปัจจุบันกลายเป็นมูลเหตุที่เปลี่ยนชีวิตผมอย่างสิ้นเชิง

แผนที่แผ่นแรกเปลี่ยนชีวิตไป
อย่างไรบ้าง

แผนที่ VILLE DE SIAM ou JUTHIA คือจุดเริ่ม ผมเห็นคำว่า JUTHIA ก็เดาว่าคือ “อยุธยา” ตอนนั้นไม่รู้ด้วยว่าอยุธยาหน้าตาเป็นอย่างไร ความทรงจำเกี่ยวกับอยุธยามีเพียงการไปไหว้หลวงพ่อโตที่วัดพนัญเชิงสมัยเด็กเท่านั้น ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็คืนครูไปหมด

แผนที่แผ่นนี้เขียนภาษาฝรั่งเศส ระบุตำแหน่งสถานที่และถนนสายสำคัญ อาทิ Le Grand Palais, Grande Pagode, Rue du Barcalon เป็นต้น ผมอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เลยไปซื้อพจนานุกรมมานั่งแกะ ซื้อหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาเท่าที่จะหาได้ เพื่อไม่ให้ท้อก็เริ่มจากหนังสือเล่มเล็ก ๆ ขนาดพ็อกเกตบุ๊ก เล่มแรกที่ซื้อคือ The Rise of Ayudhya ของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  ตามด้วย Description of old Siam ของ ไมเคิล สมิธีส์ (Michael Smithies) ที่ให้ข้อมูลว่าบันทึกแรกเกี่ยวกับสยามเขียนโดยพ่อค้าชาวเวนิสชื่อ นิโกโล เด กองตี (Nicolò de’ Conti) แต่ข้อมูลนี้ไปแย้งกับที่เรียนตอนเด็กว่าโปรตุเกสเป็นชนชาติแรกที่ติดต่อสยาม ผมสับสน แต่ก็ค้นต่อ

ผมอ่านงานของ เดวิด เค. วัยอาจ (David K. Wyatt) เรื่อง Thailand : A short history ชักเริ่มสนุก ทีนี้ก็เริ่มขยับไปอ่านหนังสือที่หนาขึ้น เช่น หนังสือชุด Asia in the Making of Europe ของ Lach & Van Kley หนังสือ A History of South-East Asia ของ D.G.E. Hall

"แผนที่แต่ละแผ่นที่กองอยู่เบื้องหน้า เปรียบเสมือนภาพต่อจิกซอว์ บนแผ่นกระดานอันสลับซับซ้อนของอดีต...ทำให้เราเห็นภาพกรุงศรีอยุธยาในอดีตได้แจ่มชัดและลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น"

Image

แผนที่สยามหรือยูเดีย นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม (SIAM ou lUDIA, Capitalle du Royaume de Siam, ๓๗๐ x ๕๒๐ มม.) โดย ฌ็อง กูร์โตแล็ง บาทหลวงชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี ๒๒๒๙/ค.ศ. ๑๖๘๖ เป็นแผนที่กรุงศรีอยุธยาแผ่นสำคัญสุดที่พิมพ์ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ผมโชคดีที่เริ่มจากหนังสือคลาสสิก หนังสือที่เปิดโลกทัศน์ของหลักฐานในการศึกษาเรื่องราวในอดีต ถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีสีสัน ถ้าเริ่มจากหนังสือแย่ ๆ ผมอาจไม่ไปต่อ การได้อ่านหนังสือของอาจารย์ชาญวิทย์ อาจารย์วัยอาจ ทำให้เริ่มหลงใหลและสนใจใคร่รู้ความเป็นมาของอยุธยา โดยเฉพาะประเด็น “อยุธยาในสายตาฝรั่ง” มุมมองหรือการรับรู้ของฝรั่งที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา อาจเพราะผมเติบโตในต่างประเทศเลยสนใจประเด็นนี้ และคิดว่าอาจมาเติมเต็มข้อมูลเกี่ยวกับจดหมายเหตุฝรั่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยได้ 

คนไทยส่วนใหญ่พอนึกถึงฝรั่งในสมัยอยุธยามักนึกถึง ฟอลคอน (ออกญาวิไชเยนทร์) ท้าวทองกีบม้า และลาลูแบร์ (ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มาอยุธยา) ถ้าสมัยรัตนโกสินทร์ก็นึกถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง (ทูตอังกฤษที่มาทำสนธิสัญญาเบาว์ริง) แหม่มแอนนา (แอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ ๔) หรือ โอกุสต์ ปาวี (นักสำรวจและกงสุลฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒) รายหลังสุดนี่คนไทยไม่ชอบ แต่แผนที่ทำให้ผมสนใจประวัติศาสตร์และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแผนที่ อยากรู้ว่าใครเขียน พิมพ์ที่ไหน เมื่อไร ทำไมฝรั่งต้องเขียนแผนที่สยามและอยุธยา ทำไมสยามถึงโดดเด่นและได้รับความสำคัญ

ผมต้องสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้ตัวเอง ซึ่งในเวลานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีกูเกิลค้นหาข้อมูล ตำราประวัติศาสตร์ไทยก็แทบไม่มี แต่ถ้าผมสนใจอะไรจะเกาะติด ดิ่งลึกจนถอนตัวเองไม่ได้ หลังจากนั้นก็ตระเวนตามร้านขายแผนที่โบราณ เจออะไรเกี่ยวกับอยุธยาซื้อไหวก็ซื้อ ทั้งเริ่มสนใจภาพพิมพ์และหนังสือโบราณ

ภาพพิมพ์แรกที่ผมซื้อคือ VEUËË DE SIAM เป็นภาพขบวนเรืออัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จากจดหมายเหตุของบาทหลวงตาชาร์ด (Guy Tachard) ฉบับพิมพ์ที่อังกฤษ ปี ๒๒๓๑/ค.ศ. ๑๖๘๘ หลังจากนั้นก็ซื้อแผ่นที่ ๒ แผ่นที่ ๓ ตามมา ซื้อแบบสะเปะสะปะบางแผ่นก็ยังสงสัยว่าซื้อมาทำไม

ผมเคยซื้อหนังสือ Early Maps of South-East Asia ของ R.T. Fell แล้วเจอภาพแผนที่ในหนังสือคล้ายกับแผนที่ที่ซื้อมา แต่ให้รายละเอียดแหล่งที่มาต่างกัน ก็เอาหนังสือกลับไปที่ร้าน The Map House ทางร้านยืนยันว่าแผนที่แผ่นที่ได้มา “ฉีก” จาก Atlas ต้นฉบับ วันปีที่พิมพ์นั้นถูกต้องแน่นอน กรณีแบบนี้ติดในใจผม มาทราบภายหลังว่าข้อมูลของร้านนั้นถูกต้อง เป็นแผนที่ “ฉีก” จากหนังสือ LE PETIT ATLAS MARITIME พิมพ์ที่กรุงปารีส ปี ๒๓๐๗/ ค.ศ. ๑๗๖๔ 

ผมจำได้ว่าเคยดูรายการทีวีตอบคำถามประชันความรู้ ตอนที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยา เขาให้รางวัลเป็นแผนที่อยุธยาเลี่ยมทอง ผมพบว่าคำบรรยายแผนที่น่าจะผิดหลายแห่ง ขนาดสารานุกรมไทยชุดสำคัญ พิพิธภัณฑ์ใจกลางพระนคร แผนที่บางแผ่นในนั้นยังบรรยายที่มาผิด แต่คงว่าไม่ได้เพราะเขาเอาข้อมูลมาจากหนังสือที่เขียนผิดตามกันมา จนผมมาพบว่าสิ่งที่เราขาดคือคนที่จะบอกได้ว่าแผนที่แต่ละแผ่นใครเป็นคนเขียน พิมพ์ที่ไหน มาจากหนังสือเล่มใด เราขาดการหาข้อมูลใหม่ ๆ จากเอกสารต้นฉบับที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ดังนั้นจึงเกิดลักษณะที่ว่า ใครเขียนไว้อย่างไรก็เชื่อตามนั้น

"สิ่งที่เราขาดคือคนที่จะบอกได้ว่าแผนที่แต่ละแผ่น ใครเป็นคนเขียน พิมพ์ที่ไหน มาจากหนังสือเล่มใด"

Image

ภูมิหลังชีวิตมีผลต่อความสนใจเรื่องราวเหล่านี้หรือไม่

ผมเกิดปี ๒๕๐๗/ค.ศ. ๑๙๖๔ เป็นลูกพ่อค้าคลองถม โดยพื้นฐานชอบอ่านและสนใจข่าวสารบ้านเมืองมาตั้งแต่เด็ก 

ผมชอบอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ตัดเก็บเนื้อหาที่สนใจใส่แฟ้มไว้เป็นหมวด ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ การเมือง ต่างประเทศ บุคคลสำคัญ ฯลฯ แสตมป์ผมก็สะสม เช่น ชุดเอเชี่ยนเกมส์ สัตว์ป่าหายาก ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะไปซื้อวันแรกที่เขาเปิดจำหน่ายที่ไปรษณีย์ใกล้บ้าน พอพ่อได้แสตมป์ต่างประเทศเวลาไปทำธุรกิจ ผมก็เอามาเก็บ ผมติดนิสัยต้องเก็บให้ครบ จบให้ได้ ใส่อัลบัมแยกเป็นหมวดหมู่ แสตมป์พวกนี้ถ้ายังอยู่คงราคาสูง แต่น่าเสียดายว่าคุณแม่ให้คนอื่นหมด ท่านกลัวว่าเราจะโตไปกลายเป็นคนเล่นของเก่า ขายเหรียญหรือแสตมป์ อยากให้เราทำอย่างอื่นมากกว่า แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น (หัวเราะ)

พ่อมีลูกห้าคน ผมเป็นคนที่ ๔ พี่น้องเป็นผู้ชายสามคนผู้หญิงหนึ่งคน ผมเรียนที่เซนต์คาเบรียลตั้งแต่ปี ๒๕๑๓-๒๕๒๓  พอกลางปี ๒๕๒๒ ตอนนั้นเพิ่งเข้าเรียนชั้น ม.ศ. ๓ คุณแม่ถามว่าอยากไปเรียนเมืองนอกไหม ผมตอบทันทีว่าอยากไปอังกฤษ ใครโตทันสมัยนั้นจะรู้ถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งภายในและนอกประเทศ แม่บอกส่งไปเมืองนอกเหมือนปล่อยนกปล่อยกา แต่สำหรับผมไม่ได้มองตัวเองเป็นนกหรือกา แต่มองว่าเป็นนางนวลที่ฉาบปีกด้วยแสงตะวัน ผมอยากตามรอยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งใจว่าเรียนจบแล้วจะกลับมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคม 

พอถึงอังกฤษ ผมไปยืนหน้าขั้นบันไดวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (The London School of Economics and Political Science - LSE) ที่อาจารย์ป๋วยเคยเรียน บอกตัวเองว่าจะเข้าที่นี่ให้ได้เพราะอยากเลียนแบบอาจารย์ป๋วย ผมสมัครเข้าเรียนที่นั่นแต่เขาไม่รับ เลยไปเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเอสเซกซ์ (University of Essex) สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการเมือง (Economics and Politics) ขัดกับพ่อที่หวังให้ไปเรียนเรื่องผลิตภัณฑ์ การบริหาร

วิชาใกล้เคียงสุดที่เลือกเรียน (ตามใจพ่อ) คือเศรษฐศาสตร์ แต่ผมก็เรียนควบกับวิชารัฐศาสตร์ เรียนทฤษฎีการเมือง ยุทธศาสตร์ความมั่นคง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แล้วไปต่อปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยวอร์ริก (University of Warwick) และเรียนโทอีกใบที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) จนคุณแม่ถามว่าอยากเป็นทูตหรือ เพราะครอบครัวคนจีนยุคนั้นมีภาพจำว่าข้าราชการเงินเดือนน้อย คนเป็นทูตต้องย้ายไปหลายประเทศ คุ้มแค่ไหนเพราะอุตส่าห์ส่งไปเรียนเมืองนอก

ที่จริงแล้วตอนนั้นผมอยากเป็นนักวิชาการมากกว่า หลังจบปริญญาโทผมทำงานเป็นนักวิจัย (Research Fellow) อยู่ที่สถาบันการระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Institute of International Affairs) กรุงโตเกียว และสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา (Institute of Southeast Asian Studies) ประเทศสิงคโปร์ ก่อนกลับมาเมืองไทยในปี ๒๕๔๒/ค.ศ. ๑๙๙๙

จากปูมหลังที่ได้แจกแจง การเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ใฝ่รู้ด้วยตัวเอง ที่พอสนใจอะไรก็จะดิ่งไปตรงนั้น ทำให้ถึงที่สุด อุปนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กน่าจะทำให้ผมเป็นคนแบบนี้ คนที่อาจารย์คริส เบเกอร์ ให้คำนิยามว่า “คนบ้าแผนที่”

Image

มีวิธีหาและเก็บรักษาแผนที่
และหนังสือโบราณอย่างไร

แผนที่โบราณส่วนใหญ่เขียนและพิมพ์ขึ้นโดยชาวยุโรป ไม่ว่าจะเป็นชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส หรือฮอลันดา รวมอยู่ในสมุดแผนที่ (Atlas) สารานุกรมการเดินทาง หรือบันทึกของชาวยุโรปที่เข้ามาค้าขายหรือเผยแผ่ศาสนาในสยามและอาณาจักรใกล้เคียง แผนที่ที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันจึงยังวนเวียนกระจัดกระจายอยู่ในยุโรป เก็บรักษาไว้ในหอสมุด พิพิธภัณฑ์ ร้านจำหน่ายแผนที่โบราณ หรือในครอบครองของนักสะสม

แผนที่ส่วนใหญ่ผมได้มาจากดีลเลอร์ผู้ค้าแผนที่โบราณในยุโรป ผู้ค้าที่เชื่อถือได้ควรเป็นสมาชิกของสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือโบราณ (Antiquarian Booksellers’ Association - ABA หรือ International League of Antiquarian Booksellers - ILAB) จากการประมูลโดยสำนักประมูลชั้นนำ เช่น คริสตีส์ (Christie’s) หรือโซเทอบีส์ (Sotherby’s) และจากงานนิทรรศการแผนที่โบราณ (London Map Fair) ที่จัดเป็นประจำทุกปีที่ราชสมาคมภูมิศาสตร์ (Royal Geographical Society) ตรงข้ามสวนไฮด์ปาร์ก (Hyde Park) กรุงลอนดอน สมาคมนี้ถือว่าหรูและเก่าแก่ คล้ายสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ในบ้านเรา สมาชิกของสมาคมที่เรารู้จักกันดีคือ เจมส์ แมคคาร์ธี (James Mc-Carthy) หรือพระวิภาคภูวดล ช่างแผนที่ชาวไอริชที่เคยนำเสนอผลงานที่นี่ ภายหลังได้จัดพิมพ์แผนที่ให้ทางการสยาม MAP OF THE KINGDOM OF SIAM AND ITS DEPENDENCIES ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “แผนที่สยามฉบับพระวิภาคภูวดล” (ปี ๒๔๓๑/ค.ศ. ๑๘๘๘)

วิธีการหาแผนที่มีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงพอสมควร จึงต้องขวนขวายหาความรู้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ควรทราบก่อนว่าแผนที่แผ่นไหนสำคัญและหายาก และแผ่นที่ต้องการอยู่ในหนังสือเล่มไหน ฉบับพิมพ์ครั้งที่เท่าไร เพราะบางฉบับไม่มีแผนที่ที่เราต้องการ อีกทั้งแผนที่แต่ละแผ่นหาไม่ได้ง่าย ๆ บางครั้งถึงจะรู้แหล่งที่หมายแต่ก็เกินกำลังทรัพย์ แต่ผมก็สนุกและรู้สึกท้าทายกับการตามหา ผมพยายามนำแผนที่กลับมาให้มากที่สุด ไม่ได้ซื้อมาสะสมเพื่อตัวเอง แต่เพื่อเผยแพร่และแบ่งปันในฐานะที่มันจะช่วยต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อที่เราจะได้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตัวจริงมาอยู่ในครอบครอง ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วแผนที่บางแผ่นผมซื้อมาในราคาไม่แพง เพราะในการประมูลแผนที่โบราณหลักฐานสำคัญของไทย บางครั้งไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำ

แผนที่เก่าแก่สุดในคอลเลกชันน่าจะเป็นแผนที่อุษาคเนย์ พิมพ์เมื่อ ๕๐๐ ปีที่แล้ว Tabula noua Indiae orientalis & meridionalis ปี ๒๐๗๘/ค.ศ. ๑๕๓๕ แผนที่อยุธยาฉบับพิมพ์แผ่นแรกสุด de Stadt IUDIA ปี ๒๒๑๙/ค.ศ. ๑๖๗๖ และแผนที่สยามฉบับพิมพ์แผ่นแรกสุด REGNVM SIAN ปี ๒๑๓๙/ค.ศ. ๑๕๙๖ แผนที่ทั้งหมดผมทยอยสะสมมาจนถึงวันนี้ก็ร่วม ๓๐ ปี แม้เวลาจะผ่านไปนานแต่ยังคงอยู่ในสภาพดีไม่เหลืองหรือซีด

วิธีเก็บรักษาคือนำแผนที่ใส่ในซองพลาสติกใสไมลาร์ (mylar sheet) วางซ้อนเป็นแนวนอนในกล่องที่ทำจากกระดาษเนื้อดีและไร้กรด (archival box) ไม่ควรนำแผนที่ตัวจริงใส่ไว้ในกรอบ เพราะกระดาษอาจได้รับความชื้นและเสื่อมสภาพในที่สุด

"แผนที่บางแผ่นผมซื้อมาในราคาไม่แพง เพราะในการประมูลแผนที่โบราณ หลักฐานสำคัญของไทย 
บางครั้งไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำ"

Image

คุณธวัชชัยมักค้นพบอะไรใหม่ ๆ จากการอ่านแผนที่ อยากให้เล่าสักหนึ่งหรือสองกรณี

ผมชอบอ่านอะไรที่มีเนื้อหาหนัก ๆ ก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้หลับสบาย คืนหนึ่งอ่านหนังสือของเซอร์เฮนรี ยูล (Sir Henry Yule) ชุด Cathay and the Way Thither เจอคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “ชิแอร์โน” (Scierno) ยูล ให้ข้อมูลว่าคำนี้ปรากฏในแผนที่โลกโดย ฟรา เมาโร (Mappamondo di Fra Mauro) ที่เขียนช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น)

ผมยังสนใจคำว่า “แชร์โนในโพจโจ” (Cernoue in Poggio” และคำภาษาอารบิก “ชะฮฺริเนาว์” (Shahr-i-nau) ที่อยู่ในหนังสือ เพราะ “โพจโจ” คือเลขานุการในสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ ๔ ที่ได้คุยกับ นิโกโล เด กองตี ฝรั่งคนแรกที่เขียนบันทึกเกี่ยวกับสยาม กล่าวถึงเมือง “แชร์โน” ที่น่าจะเป็นคำเดียวกับ “ชิแอร์โน” (Scierno)

ส่วน “ชะฮฺริเนาว์” เป็นคำที่พ่อค้าเปอร์เซียใช้เรียกอยุธยา พอปะติดปะต่อก็พบว่าคำพวกนี้น่าจะเป็นคำเดียวกับที่ปรากฏในแผนที่โลกโดย ฟรา เมาโร มันถ่ายเสียงคล้ายกัน แถมคล้ายคำว่า “ซาร์เนาซ์” (Xarnauz) ในภาษาโปรตุเกส ที่ใช้เรียกอยุธยาในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑

ผมเลยคิดว่าเมือง “ชิแอร์โน” ที่ถกเถียงกันมานานในวงวิชาการว่าคือที่ไหน คือกรุงศรีอยุธยา เลยเขียนอีเมลไปถามหอสมุดแห่งชาติมาร์ชีอานา (Biblioteca Nazionale Marciana) ประเทศอิตาลี ที่เก็บรักษาแผนที่โลกโดย ฟรา เมาโรไว้  ปีเอโร ฟัลเกตตา (Piero Falchetta) ภัณฑารักษ์ที่นั่นได้ส่งแผนที่ส่วนที่มี SCIERNO มาให้ แต่ไม่เห็นพื้นที่รอบ ๆ ผมเลยสั่งซื้อหนังสือที่รวมแผนที่นี้ทุกส่วน ๔๘ แผ่น ดูพื้นที่รอบ ๆ เมืองก็ปรากฏว่าแผนที่วางทิศใต้ไว้ด้านบนเหมือนแผนที่ชาวอาหรับ มีสถานที่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาที่เขียนว่า “ชิแอร์โน” (Fl. Scierno.) มีข้อความเก่าแก่ที่สุดพรรณนาถึงกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าเดินทางจากจุดนี้ไปอีกจุดใช้เวลากี่วัน ผู้คนอยู่กันอย่างไร อยุธยาที่ได้พรรณนาโอ่อ่าหรูหราเพียงใด

ต่อมาผมตามหาบันทึกของเด กองตี Historiae de varietate fortunae ปี ๑๙๙๑/ค.ศ. ๑๔๔๘  พบว่าในโลกเหลือฉบับลายมืออยู่ราว ๓๐ ฉบับ ส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาละติน บ้างแปลเป็นภาษาอิตาลี  ผมให้ชื่อบันทึกนี้ในภาษาไทยว่า “ความผันผวนของโชคชะตา” ผมไปดูมาทั้งหมด ๑๑ ฉบับ ส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดนครรัฐ
วาติกันแต่อ่านไม่ได้เพราะเขียนด้วยภาษาละติน ผมไม่ยอมแพ้จนค้นพบฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยแฮมมอนด์และแฟรมป์ตัน (Lincoln D. Hammond and John Frampton) ได้ความว่าเด กองตี เล่าถึงการเดินทางไปอยุธยา ผ่านแม่น้ำตะนาวศรีโดยเข้าใจผิดว่าเป็น “แม่น้ำคงคา” (gangis) และเรียกอยุธยาว่า “แชร์นอเนิม” (cernouem)

น่าทึ่งว่าฝรั่งรู้จักอยุธยาก่อนที่พวกโปรตุเกสจะเข้ามา ก่อนโคลัมบัสค้นพบอเมริกาเสียอีก ยิ่งค้นยิ่งพบว่าในแวดวงผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ เรามีความไม่รู้มากกว่าความรู้เกี่ยวกับอยุธยา

ผมค้นต่อไปจนพบว่า “สยาม” ถูกเขียนบนแผนที่โลกครั้งแรกเมื่อใด แยกเรียกระหว่างชื่ออาณาจักรสยามกับอยุธยาเมื่อใด  หลายเรื่องไม่เกี่ยวกับทุนทรัพย์ ทุกคนค้นได้ ผมเองก็ค้นบางเรื่องจากอินเทอร์เน็ต ไม่ใช้เงินแม้แต่บาทเดียว มีแค่สัญญาณไวไฟ ความบ้าและทุ่มเท ก็ทำได้แล้ว

ตอนไปฮันนีมูนที่ยุโรปปี ๒๕๖๐/ค.ศ. ๒๐๑๗ ผมบอกภรรยาว่าเรื่องที่อยากทำในชีวิตคือดูต้นฉบับภาพเขียนสีน้ำมันอยุธยาชื่อ ยูเดีย (IUDEA) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไรจ์คส์ (Rijksmuseum) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ดูต้นฉบับแผนที่โลกโดย ฟรา เมาโร ที่หอสมุดแห่งชาติ มาร์ชีอานา ประเทศอิตาลี และดูต้นฉบับบันทึกเด กองตี

ทันทีที่เครื่องบินลงสนามบินแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ผมชวนภรรยานั่งรถไฟต่อไปกรุงอัมสเตอร์ดัมเพื่อไปดูภาพ IUDEA และไปตระเวนร้านแผนที่โบราณ ภรรยายังโพสต์เฟซบุ๊กแซวว่า “นี่แหละฮันนีของเรา” (หัวเราะ)

ภาพ IUDEA และหลักฐานเหล่านี้สะท้อนความมั่งคั่งของอยุธยา ผมเจอข้อมูลว่าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (VOC) คือผู้ว่าจ้างให้ ดาวิดและ โยฮันเนส วิงโบนส์ (David and Johannes Vingboons) จิตรกรชาวดัตช์ วาดในปี ๒๒๐๖/ค.ศ. ๑๖๖๓ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ในภาพจะเห็นพระราชวังใหญ่โตสะท้อนแนวคิดเรื่องจักรพรรดิราช เห็นวิหารเจดีย์เกลื่อนกลาด หลักฐานว่าวัดเป็นศูนย์กลางทางสังคมและวัฒนธรรมในสมัยนั้น

ทุกครั้งที่ทำนิทรรศการแผนที่ ผมพยายามเอาหลักฐานมาจัดแสดงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เราตระหนักรู้ถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของแผนที่ ความมั่งคั่งของอยุธยาในอดีต อาจเรียกได้ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ จนเกิดปรากฏการณ์ “สยามฟีเวอร์” ในสมัยพระนารายณ์ฯ ที่ฝรั่งวาดแผนที่และเขียนถึงอยุธยาเต็มไปหมด

ภาพเขียนสีน้ำมัน IUDEA (ยูเดีย, ๙๗๐ x ๑,๔๐๐ มม.) โดย ดาวิดและ โยฮันเนิส วิงโบนส์ จิตรกรชาวดัตช์ เขียนที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ราวปี ๒๒๐๖/ค.ศ. ๑๖๖๓ ตรงกับต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นภาพกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่และงดงามสุด ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้อง ๒.๙ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไรจ์คส์ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ได้ยินว่าบางกรณีเป็นประโยชน์ต่อวงการโบราณคดีด้วย

แผนที่อยุธยาแผ่นสำคัญคือสยามหรือยูเดีย นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม เขียนในพื้นที่โดยบาทหลวงกูร์โตแล็ง บาทหลวงฝรั่งเศสประจำประเทศจีน (SIAM ou lUDIA, Capitalle du Royaume de Siam dessigné sur le lieu Par Mr.Courtaulin miss.re. Apostoliqr. de la Chine, (๓๗๐ x ๕๒๐ มม.) แสดงตำแหน่งบ้านโปรตุเกสทางตอนใต้ของเกาะเมือง วาดภาพโบสถ์ไว้หลายหลัง คนทำงานโบราณคดีเคยอยากรู้หน้าตาของโบสถ์ว่าของแต่ละคณะเผยแผ่ศาสนาเป็นอย่างไร เพราะมีทั้งคณะฟรานซิสกัน คณะโดมินิกัน และคณะเยซูอิต แต่ที่ผ่านมาโบสถ์ฟรานซิสกันไม่เคยปรากฏในแผนที่ฝรั่งไม่ว่าฉบับไหน  ในแผนที่แผ่นนี้ก็มีปรากฏแค่สองแห่ง เป็นของโดมินิกันและเยซูอิต

ตอนหลังอาจารย์ชาญวิทย์บอกผมว่าโบสถ์ฟรานซิสกันน่าจะอยู่เหนือหมู่บ้านโปรตุเกสขึ้นไป ถ้าไปดูคือบริเวณตรงข้ามหมู่บ้านฮอลันดาที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ทำให้ผมต้องกลับไปค้นเอกสารจดหมายเหตุ แต่จดหมายเหตุก็ช่วยได้แค่เรื่องจินตนาการ เพราะมีแต่ข้อความเป็นตัวอักษร พอนำมาประกอบกับแผนที่ รายละเอียดถึงจะชัดขึ้น 

ถ้าข้อมูลขัดแย้งกันก็ต้องมาดูว่าใครพลาด หรือเพราะตอนวาดแผนที่เป็นคนละห้วงเวลากัน อาจมีการรื้อสิ่งก่อสร้างเดิมแล้วสร้างใหม่ภายหลังก็ได้

ในวงการสะสมแผนที่ระดับนานาชาติ นักสะสมส่วนมากคือใคร

วงการนี้แคบ รู้จักกันหมด ผมอาจเป็นนักสะสมคนไทยเพียงหนึ่งเดียวในงานแสดงนิทรรศการแผนที่เลยดูเด่น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นฝรั่งผิวขาวที่สะสมเป็นงานอดิเรก ภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์ หรือพวกพ่อค้าที่ซื้อมาขายไป ผมไปงานแทบทุกปีจนเดี๋ยวนี้ขยับเป็นลูกค้าวีไอพี ได้เข้าชมงานในรอบแขกรับเชิญ (preview night/invitation vernissage) 

ผมเข้าวงการจริงจังตั้งแต่ปี ๒๕๔๑/ค.ศ. ๑๙๙๘ ช่วงหลังต้มยำกุ้ง บางทีในงานนิทรรศการแผนที่โบราณ ๒ วัน นับลูกค้าเอเชียได้ไม่กี่คน ก็ไม่แน่ใจเรื่องสาเหตุว่าทำไมไม่มีคนหลากหลายกว่านี้ ที่สังเกตเจอคนจีน ญี่ปุ่นบ้างในบางครั้ง ส่วนลูกค้าจากอินเดีย อาหรับ หรืออาเซียนไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเลย ผมเคยโดนเหยียดด้วยซ้ำ เคยไปงานหนึ่งแล้วดึงแผนที่ออกจากซองมาตรวจสอบ ฝรั่งผู้ค้าเตือนว่าระวังหน่อยเดี๋ยวแผนที่ฉีกขาด ประเด็นคือแผนที่แผ่นนั้นราคาหลักพันบาท ผมเคยเปิดดูสมุดแผนที่โบราณของโปรตุเกสเล่มละ ๑.๔ ล้านปอนด์ (ประมาณ ๖๐ ล้านบาท) มาแล้ว พอมาจับแผนที่หลักพันบาทกลับถูกเตือนให้ระวัง ส่วนฝรั่งที่ยืนข้าง ๆ ก็พลิกจับเหมือนกันกลับไม่ว่าอะไร เขาคงมองผมเป็นคนจีนไม่เคยจับต้องแผนที่โบราณและอาจทำของเสียหาย ผมไม่โต้ตอบ ก็แค่เดินข้ามไปอุดหนุนเจ้าอื่น

จริง ๆ นอกจากไปงาน ไปหาของตามร้านจำหน่ายแผนที่ ผมยังตระเวนซื้อภาพพิมพ์และหนังสือโบราณที่เกี่ยวกับสยาม อย่างที่กล่าวมาแล้ว เวลาจะซื้อของพวกนี้ต้องมีความรู้ ถ้ารักจะสะสมแผนที่โบราณต้องขยันอ่านและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้วย

Image

แผนที่สยามหรือยูเดีย (SIAM ou lUDIA) กับโจนาธาน เจ้าของร้านจำหน่ายแผนที่  มิถุนายน ๒๕๕๗/ค.ศ. ๒๐๑๔

มีวิธีดู เลือกซื้อแผนที่
และหนังสือเก่าอย่างไร

ประสบการณ์จะสอนเรา อยู่นานไปคนในวงการจะรู้จักและให้เครดิต เช่นหนังสือโบราณเล่มล่าสุดที่ผมนำกลับมา Achter Theil der Orientalischen Indien พิมพ์สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ราคาหลักแสนบาท คนขายให้ผมถือออกมาเลยโดยให้เลขบัญชีเพื่อโอนเงินเมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ตรงนี้เกิดจากความไว้ใจและเครดิตที่สั่งสม

หนังสือโบราณเล่มนี้สำคัญมากเพราะมีภาพพระราชินีอาณาจักรปาตานี มีภาพหาดูได้ยาก ๑๑ ภาพ ปรกติภาพในหนังสือลักษณะนี้จะถูกฉีกแยกขายเป็นแผ่น แต่นี่ผมได้มาทั้งเล่ม หนังสือโบราณเล่มนี้ทำให้นึกถึงปี ๒๕๔๗/ค.ศ. ๒๐๐๔ มีการจัดงานครบรอบ ๔๐๐ ปี สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับฮอลันดา โดยเขาเริ่มนับจากปี ๒๑๔๗/ค.ศ. ๑๖๐๔ ตอนนั้นผมได้รับการติดต่อให้นำหนังสือและแผนที่ไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็ยังถามผู้จัดงานว่าทำไมไม่จัดตอนปี ๒๕๔๔/ค.ศ. ๒๐๐๑ เพราะฟาน เน็ก (Jacob van Neck) ผู้เขียนบันทึกเล่มนี้เป็นชาวฮอลันดา (ดัตช์) คนแรกที่มาถึงปาตานีในปี ๒๑๔๔/ค.ศ. ๑๖๐๑ เขารู้ว่าปาตานีค้าขายกับสยาม สยามค้าขายกับจีน ตอนนั้นทูตสยามอยู่ในปาตานีพอดีก็เอ่ยปากชวนพ่อค้าดัตช์ว่าสยามมีเรือสินค้าไปจีน หากสนใจก็ให้ไปด้วยกัน พ่อค้าดัตช์เลยส่งทูตมายังกรุงศรีอยุธยา 

หนังสือเล่มนี้ยังปรากฏภาพคนในดินแดนที่ต่อมากลายเป็นประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุด มันยังอยู่ในสภาพดีเยี่ยม หุ้มในปกดั้งเดิม (original vellum binding) โชคดีมากเพราะสมัยก่อนฝรั่งชอบเลาะปกเดิมทิ้งแล้วใส่ปกใหม่เพื่อให้หนังสืออยู่ในโทนเดียวกันทั้งห้องสมุด  ส่วนกระดาษที่เขาใช้ก็เป็นกระดาษไร้กรด จึงคงสภาพได้ดีแม้ผ่านมากว่า ๔ ศตวรรษ ถ้าไม่ใช่คนในวงการเห็นหนังสืออายุ ๔๐๐ ปีในสภาพที่ดีแบบนี้ก็คงคิดว่าธวัชชัยถูกหลอก

สังเกตพบว่าคุณธวัชชัยมีแผนที่คล้ายกันหลายแผ่น

สำหรับนักวิชาการถ้าข้อมูลในภาพรวมเหมือนกันก็ไม่จำเป็นต้องมีทุกฉบับ แต่สำหรับนักสะสมมันต่างออกไป

กรณีแผนที่อยุธยาเขียนในปี ๒๓๐๗/ค.ศ. ๑๗๖๔ แผ่นแรกที่ผมได้มา ภายหลังพบว่ามีแผนที่คล้ายกันตีพิมพ์ในหนังสืออีกเล่ม เขียนปี ค.ศ. ต่างกัน ผมกลับไปถามที่ร้านขายแผนที่ เขาก็ยืนยันว่าที่ขายให้ผมระบุปีถูกต้อง มาทราบทีหลังว่ามีหกเวอร์ชัน พิมพ์ในสถานที่และปีต่างกัน ผมเป็นคนที่ทำอะไรต้องสมบูรณ์แบบ สะสมอะไรต้องมีให้ครบ พูดให้หล่อคือมีเจตจำนง (passion) จะรวบรวมให้ครบ คนจะได้เอาไปใช้ศึกษาเปรียบเทียบหรืออ้างอิง

ผมตั้งเป้าว่าถ้าเรื่องแผนที่ต้องเป็นของอยุธยาก่อน ต่อไปเจอแผ่นไหนต้องค้นให้ละเอียดว่าพิมพ์ที่ไหน ปีอะไร ใครเป็นคนเขียน ผมจะรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลไว้ให้หมด เรื่องเข้าใจผิดเพราะขาดข้อมูลจะได้ไม่เกิดขึ้นบ่อย เช่น กรณีอาคารหลังสีขาวในแผนที่อยุธยาในจดหมายเหตุโฟลริส SEVENDE REYS Na OOST-INDIEN ... DAG-REGISTER Van PIETER WILLIAMSON FLORIS พิมพ์ที่เมืองไลเดิน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปี ๒๒๕๐/ค.ศ. ๑๗๐๗ ที่มีคนอ้างว่าคือมัสยิดกรือเซะ ที่จริงคือโบสถ์ซาวโดมิงโกของโปรตุเกสทางตอนใต้ของอยุธยา หรือกรณีภาพพิมพ์ ขบวนเรืออัญเชิญพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๒๒๘ (VEUË DE SIAM) พิมพ์ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี ๒๒๓๑/ค.ศ. ๑๖๘๘ มักถูกเข้าใจว่าเป็นภาพขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ทั้งที่มันไม่ใช่

"ต่อไปเจอแผ่นไหนต้องค้นให้ละเอียด ว่าพิมพ์ที่ไหน ปีอะไร ใครเป็นคนเขียน... เรื่องเข้าใจผิดเพราะขาดข้อมูลจะได้ไม่เกิดขึ้นบ่อย"

ตอนพิมพ์หนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง กับทางสำนักพิมพ์มติชน ครั้งแรกในปี ๒๕๔๙ ทางบ้านทราบหรือไม่ว่าคุณธวัชชัยจริงจังเรื่องแผนที่ขนาดนี้

ตอนที่เพิ่งเรียนจบกลับมาเมืองไทย ทางบ้านอยากให้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่เขาเห็นผมหมกมุ่นอยู่กับหนังสือและแผนที่ ตอนนั้นคุณแม่คิดแบบแม่ค้าว่าทำเรื่องพวกนี้มันควรมีผลตอบแทน ซื้อมาขายไปทำกำไรบ้าง แต่นี่มัวแต่ซื้อมาเก็บ มีแต่รายจ่าย ไม่กลายดอกออกผลเป็นเงินเป็นกำไรได้

ผมไปออกรายการทีวี บรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ แม่ถามว่าได้มาเท่าไร ผมตอบว่าบางรายการให้ ๕,๐๐๐ บาท บางรายการให้เสื้อหนึ่งตัว คือเหมือนผมทำให้เขาฟรีเข้าเนื้อหมด เขียนบทความลงนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์อาจได้ค่าเรื่อง ๑,๐๐๐ หรือ ๒,๐๐๐ บาท บางทีก็ไม่ได้แม่ถามว่าคุ้มไหม

แต่ผมมองอีกมุม สมัยนั้นไม่มีโซเชียลมีเดีย ยูทูบ หรือติ๊กต็อก ค่าโฆษณาทีวีนาทีละเป็นแสน คนอยากมีเอกซ์โพเชอร์ (exposure) อยากออกรายการทีวีต้องจ่ายนะครับ  ตอนเปิดตัวหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ผมไปแบบเงียบ ๆ ไม่บอกใคร อาจารย์ชาญวิทย์เคยมาที่บ้านก็ตกใจ คิดว่าคนสะสมของพวกนี้ต้องเป็นผู้ดีเก่า บ้านอยู่สุขุมวิท แต่นี่ลูกคนจีนตึ่งหนั่งเกี้ย บ้านอยู่ตึกแถวเยาวราช

ถึงตอนนี้ (ปี ๒๕๖๗/ค.ศ. ๒๐๒๔) ทางบ้านเริ่มยอมรับและเข้าใจ พอหนังสือพิมพ์เสร็จ ผมคัดเล่มสวยสุดมอบให้คุณแม่ ท่านก็เก็บรักษาอย่างดี ใส่ถุงพลาสติกวางไว้ข้างรถเข็นที่อยู่ติดตัว ญาติมาเยี่ยมทีไรก็เอาออกมาอวด

การตีพิมพ์ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๖๖ ได้ทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง

การพิมพ์ครั้งที่ ๒ ช่วงปลายปี ๒๕๖๖ ห่างจากพิมพ์ครั้งแรกมาก ระหว่างนั้นค้นพบอะไรใหม่ผมก็แค่เขียนลงเฟซบุ๊กเป็นระยะ จนมติชนติดต่อมาอีกครั้ง ฉบับพิมพ์ครั้งแรกพบข้อผิดพลาดเพราะยังขาดประสบการณ์ ในการพิมพ์ครั้งใหม่เวลาผ่านไปอีก ๑๗ ปี ผมเรียนรู้มากขึ้น อยากให้ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ เนื้อหาแน่น แม่นยำ และสมบูรณ์ เพื่อที่ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ศึกษาและค้นคว้าต่อ

ผมนัดคุยกับทางสำนักพิมพ์มติชนเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖/ค.ศ. ๒๐๒๓ พอเดือนมิถุนายนผมบินไปกรุงลอนดอนทันที เพราะจะมีงาน Map Fair เผื่อเจอแผนที่อยุธยาแผ่นใหม่จะได้นำมาลงในหนังสือ

ผมยังถือโอกาสไปค้นคว้าเพิ่มเติมที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงลอนดอน (British Library) อยากเห็นภาพร่างลายมือและบันทึกของเค็มพ์เฟอร์ (เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์/Engelbert Kaempfer) อายุกว่า ๓๐๐ ปี ที่เก็บรักษาอยู่ที่นั่น ทั้งไปตามหาบันทึกของ นิโกโล เด กองตี อยากรู้ว่า เด กองตีเขียนถึงสยามตรงกับที่ ฟรา เมาโร เขียนไหม เรื่องพวกนี้คือข้อมูลใหม่อยู่ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒  ในเล่มผมบอกที่มาหลักฐานแบบไม่ปกปิด ไม่กลัวใครไปค้นแล้วเจออะไรใหม่ ผมคิดว่ายิ่งเจอยิ่งดี อยากให้เรามาช่วยกันค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อที่คนไทยจะได้ยืนบนฐานความรู้ที่แน่นกว่าเดิม 

Image

ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ผมเพิ่มภาคผนวกโดยเปิดเผยภาพร่างต้นฉบับแผนที่อยุธยา แม่น้ำเจ้าพระยา วัดและบ้านเรือนชาวสยามของเค็มพ์เฟอร์ หลายภาพไม่อยู่ในจดหมายเหตุฉบับพิมพ์ THE HISTORY OF JAPAN…Together with a Description of the Kingdom of Siam. ไม่เคยเผยแพร่ในไทยมาก่อน เช่นภาพวิหารวัดพนัญเชิงและเจดีย์วัดอโยธยา ในภาคผนวกสอง ผมเพิ่มข้อมูลแผนที่เป็น ๓๔ แผ่น ใส่ภาษาอังกฤษกำกับด้วยเพื่อให้ผู้สนใจชาวต่างชาติได้ใช้งาน 

ผมมุ่งมั่นทำหนังสือเพราะอยากเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ฉายภาพอยุธยาในอดีตให้สังคมไทยได้รับรู้ หนังสือได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักประวัติศาสตร์และผู้ที่สนใจในวงกว้าง ขายหมดภายใน ๑ เดือน อาจารย์ชาญวิทย์ถึงกับกล่าวในงานเสวนาเปิดตัวว่าหนังสือเล่มนี้ “เป็นหนังสือที่ต้องมีทุกบ้าน”

การพิมพ์ครั้งนี้ยังมีความหมายพิเศษ ผมเร่งทำให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว เลือกเปิดตัวหนังสือที่มิวเซียมสยาม ท่าเตียน คุณพ่อผมคุ้นเคยกับแถวนี้ดี เพราะท่านเคยเป็นจับกังอยู่แถววัดเลียบ ตรงเชิงสะพานพุทธ ขายของแบกะดิน วิ่งหลบระเบิดสัมพันธมิตรสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก่อนจะมาตั้งตัวเปิดร้านที่คลองถม มีอยู่วันหนึ่งบนดาดฟ้าชั้น ๘ ก่อนพ่อจะเสียไม่นาน ท่านบอกผมว่าท่านจบแค่ ป. ๑ ยังทำได้เท่านี้ ท่านจะส่งผมเรียนให้สูงที่สุด และอยากให้ผมทำได้ดีกว่าท่าน ผมบอกผมคงทำได้ไม่เท่าพ่อ แต่รับปากว่าสักวันจะทำให้ท่านภูมิใจ 

ผมเลือกเปิดตัวหนังสือในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๖/ค.ศ. ๒๐๒๓ ครบ ๔๐ ปีที่คุณพ่อเสียชีวิตพอดี ผมตั้งใจทำหนังสือเล่มนี้ให้เสร็จทันวันครบรอบ เลือกจัดงานเปิดตัวหนังสือที่มิวเซียมสยาม ไม่เพียงเพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เคยเป็นที่ตั้งของป้อมบางกอก สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหมายสำหรับครอบครัวของผม ผมไม่ลืมคำสัญญาที่ให้ไว้กับคุณพ่อ อยากให้ท่านภูมิใจ อยากสร้างแรงบันดาลใจ อยากทำอะไรให้มันสุด ผมเลยวางแผนเปิดตัวหนังสือแบบจัดเต็ม โดยเชิญนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ และอาจารย์เตช บุนนาค มาร่วมเสวนา ส่วนทางมติชนก็ได้เชิญคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ มาแสดงปาฐกถาพิเศษ

นอกจากนี้ผมยังแถมนิทรรศการหนังสือและแผนที่โบราณจากคอลเลกชันส่วนตัวโดยผมเป็นผู้นำชมเองทุกรอบ อยากให้งานเปิดตัวหนังสือเป็นที่จดจำ เปิดประสบการณ์การรับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาที่เต็มอิ่ม มากด้วยสาระ อยากให้ทุกคนกลับไปพร้อมกับความประทับใจ

ผมอยากทำให้คุณพ่อภูมิใจในตัวผม เหมือนที่ผมภูมิใจในตัวท่าน

คุณธวัชชัยผูกพันกับแผนที่อยุธยาฉบับใดที่สุดในคอลเลกชัน

คำถามทำนองนี้ผมเจอบ่อย คุณธวัชชัยมีแผนที่กี่แผ่น แผ่นไหนแพงสุด ชอบมากสุด 

สำหรับผมจำนวนหรือราคานั้นไม่สำคัญ แม้สนนราคาจะสูงลิบลิ่วเพียงใดย่อมไม่ใช่หัวใจสำคัญ เพราะมันวัดไม่ได้กับความรู้ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่เราได้จากแผนที่ ตอบแบบนี้ฟังดูฟุ้ง ขอตอบแบบนี้ดีกว่า 

แผนที่ที่ทำให้ผมรู้สึกลิงโลดตอนได้มาคือแผนที่สยามหรือยูเดีย นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม (SIAM ou lUDIA, Capitalle du Royaume de Siam) คนในวงการเรียกแผนที่นี้ว่า “แผนที่โฌแล็ง” (Jollain Map) ตามชื่อ ฟร็องซัว โฌแล็ง (François Jollain) ผู้จัดพิมพ์ เป็นแผนที่อยุธยาที่สวย หายาก และสำคัญมากแผ่นหนึ่ง

ตอนเห็นที่ร้าน The Map House ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๙/ค.ศ. ๑๙๙๖ ผมไม่ได้ซื้อเพราะแพง ตั้ง ๒ แสนบาท ปรากฏว่า ๑๐ ปีให้หลัง พ่อค้าชาวเยอรมันซื้อไป เพื่อขายต่อให้ลูกค้าชาวอังกฤษ ผมเสียดายมาก แต่โชคดีเมื่อไม่นานมานี้ ผมไปร้านแผนที่โบราณแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน พูดคุยกับพนักงานจนเขารู้สึกว่าผม “รู้จริง” เรื่องแผนที่ เลยเดินไปตามเจ้าของร้าน ซึ่งก็คือ โจนาธาน พอตเตอร์ (Jonathan Potter) ที่เคยขายภาพพิมพ์ ขบวนอัญเชิญพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ฯ ให้ผมเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนหน้า โจนาธานจำผมได้เพราะเจอในงาน Map Fair บ่อยครั้ง เขาบอกว่าเพิ่งได้ “แผนที่โฌแล็ง” แต่อยู่ในสภาพไม่ดีนัก ถามว่าสนใจไหม ผมก็ว้าว

ผมต้องอธิบายว่าถ้าไม่ได้อยู่ในวงการนี้อาจไม่เข้าใจ ชื่อแผนที่บางทีเรียกตามผู้จัดพิมพ์ “ฟร็องซัว โฌแล็ง” (François Jollain) ไม่เรียกตามผู้เขียนแผนที่ “ฌ็อง กูร์โตแล็ง” (Jean Courtaulin)

ผมตกลงซื้อทันที คิดว่าอย่างไรก็ต้องมีให้ได้ แม้แผนที่แหว่งวิ่นไปบ้าง แต่ก็ดื้อดันนำกลับมา เพราะผมไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ของชาติไทยขาดวิ่นไปเหมือนแผนที่

ตอนนี้มีโครงการอะไรในมือและตั้งเป้าหมายอะไรในอนาคตเกี่ยวกับงานแผนที่โบราณ

ผมอยู่ระหว่างแก้ไขต้นฉบับหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง สำหรับพิมพ์ครั้งที่ ๓  แน่นอนว่าผมต้องการให้ฉบับพิมพ์ครั้งนี้ดีกว่าฉบับพิมพ์ครั้งก่อน

ผมเพิ่มข้อมูลแผนที่อยุธยาที่ค้นพบใหม่ PLAN der Stadt SIAM เป็นแผนที่เดอ ลา ลูแบร์ ฉบับพิมพ์ภาษาเยอรมัน ปี ๒๓๔๓/ค.ศ. ๑๘๐๐ ทั้งเพิ่มภาพสีน้ำของชาวฝรั่งเศส แสดงป้อมเมืองบางกอกและอาคารหอดูดาวที่เมืองละโว้ วาดราวปี ๒๒๓๑/ค.ศ. ๑๖๘๘ ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่เป็นที่รับรู้และไม่เคยเผยแพร่ในสิ่งพิมพ์ภาษาไทย ผมใช้เวลาปรับแก้ต้นฉบับนานกว่า ๖ เดือน ต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณคุณแบงก์ ปกรณ์เกียรติ จากทางสำนักพิมพ์ ที่เข้าใจและอดทน ในมุมหนึ่งการลงรายละเอียดและตรวจสอบเรื่องพวกนี้ต้องลงทุนและลงแรง สืบแล้วสืบเล่า เดินเข้าห้องสมุด จนภรรยาอ่อนใจจะค้นอะไรกันนักกันหนา แต่ผมเป็นคนมุ่งมั่นพิถีพิถัน เชื่อในพลังแห่งความรู้ ความรู้ที่มีไว้แบ่งปัน ผมไม่หวงข้อมูล แรงบันดาลใจนี้มาจากกรณีคนคิดค้นเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ เขาไม่จดสิทธิบัตร ทำให้บริษัทผลิตรถยนต์ทุกแห่งสามารถนำอุปกรณ์นี้ใส่เข้าไปในรถยนต์ทุกคัน คนคิดค้นบอกว่าต้องการให้คนมีชีวิตรอดเวลาเกิดอุบัติเหตุ ผมชอบมากแนวคิดนี้

ในความเป็นจริง ผมไม่ได้สะสมและค้นคว้าเรื่องแผนที่เพียงอย่างเดียว ผมสนใจเอกสารจดหมายเหตุเกี่ยวกับไทยในต่างประเทศด้วย อยากรวบรวมหนังสือ แผนที่ ภาพพิมพ์ ฯลฯ ของฝรั่งที่เกี่ยวข้องกับสยามตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยห้วงเวลาที่เก็บอาจไปสิ้นสุดราวปี ๒๔๕๓/ค.ศ.๑๙๑๐ (รัชกาลที่ ๕ สวรรคต) หรือ ๑ ปีก่อนหน้า ปีที่เส้นเขตแดนไทยกลายมาเป็นภาพขวานทอง แค่เรื่องนี้ก็น่าจะใช้เวลาและทุนทรัพย์มากพอแล้ว

ภรรยาก็เคยค้านทีเล่นทีจริงเรื่องซื้อแผนที่แพง ๆ ว่าพี่ให้เงินหนูดีกว่า (หัวเราะ) ผมโชคดีที่ภรรยาเข้าใจและสนับสนุน ที่ทำแบบนี้ ค้นคว้าแผนที่มาร่วม ๓๐ ปี เพราะตั้งแต่เด็กผมอยากเป็นนักปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ตอนนั้นไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร เป็นนักการเมืองคงไม่ได้เพราะพูดไม่เก่ง เป็นทูตหรือสื่อมวลชนก็คงไม่เหมาะ ก่อนมาค้นพบว่าผมสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการส่งต่อพลังแห่งความรู้ ความรู้ที่เข้าถึงประชาชน ในราคาที่ทุกคนรับได้ 

ผมอยากมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่สังคมอุดมปัญญา