Image

ดูแผนที่กับ
มิตรเอิร์ธ

เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“โลกน่ะมองแล้วสวยนะ บังเอิญโลกกับเราขนาดตัวต่างกันเยอะเลยมองเห็นได้ไม่ชัดแต่ถ้าลองดูใน Google Earth เราจะเห็นความรังสรรค์ที่อยากร้องว่า เฮ้ย ! ธรรมชาติมันสุดสวย เป็นงานอดิเรกดูได้ทั้งวันไม่มีเบื่อ

“ผมชอบการมองหนังหน้าโลกเป็นบ้าเลย”

คือคำพูดของ ศ. ดร. สันติ ภัยหลบลี้ ชายวัยกลางคนผู้รักแผนที่เป็นชีวิตจิตใจ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้พบเขาในฐานะอาจารย์ประจำวิชา Earthscience (วิทยาศาสตร์โลก) ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ คนในแวดวงนักวิจัยอาจจดจำเขาในบทบาทนักธรณีวิทยาแผ่นดินไหว (earthquake geology) ขณะที่คนส่วนมากจะรู้จักเขาจาก Mitrearth หรือมิตรเอิร์ธ เว็บไซต์และเฟซบุ๊กเพจด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเผยแพร่บทความชวนสังเกตความมหัศจรรย์ของพื้นโลกผ่านแผนที่ มีไฟล์ข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มากมายแจกให้คนที่สนใจอยู่เสมอ

โลกในแผนที่คงเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้สันติฟังไม่น้อย ผมจึงขอให้เขาเปิดห้องเรียนให้เราสักคาบหนึ่ง

Image

แผนที่ภูมิประเทศสามมิติขนาดใหญ่ แขวนเด่นสะดุดตา ห้องทำงานของชายผู้อยู่เบื้องหลังมิตรเอิร์ธ

แปลความบนผิวโลก

“คุณอยากดูอะไรก่อนล่ะ” สันติถามพลางเปิดคอมพิวเตอร์พกพาเลื่อนหาไฟล์แผนที่

แผนที่เกือบทั้งหมดที่สันติใช้ท่องโลกนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลโทรสัมผัส (remote sensing) และภูมิสารสนเทศ (GIS) เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และแผนที่ความสูงต่ำของภูมิประเทศ แผนที่เหล่านี้เป็นข้อมูลดิบจากการเก็บข้อมูลผิวโลกที่ยังไม่ผ่านการแปลความ

แผนที่แรกที่สันติเปิดให้ผมดูเป็นแผนที่ขาวดำ ไม่เห็นอาคารบ้านเรือน ไม่เห็นถนนใด ๆ แต่เต็มไปด้วยร่องรอยคล้ายภาพถ่ายพื้นผิวระยะใกล้ของวัตถุบางอย่าง

นี่คือแบบจำลองความสูงเชิงเลข (digital elevation model - DEM) จากการเก็บข้อมูลความสูงของภูมิประเทศเป็นตารางกริด ข้อมูลความสูงนี้เก็บด้วยการรังวัดโดยมนุษย์เอง หรือใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ได้

จินตนาการถึงกระเบื้องโมเสกบนผนังห้องน้ำที่เกิดจากการนำชิ้นกระเบื้องสี่เหลี่ยมชิ้นเล็ก ๆ มาเรียงต่อกัน จนกลายเป็นภาพใหญ่  DEM มีหลักการคล้าย ๆ กัน

“ในแผนที่นี้จะเห็นลักษณะของภูมิประเทศ หรือเทอร์เรน (terrain) สูง ๆ ต่ำ ๆ”

ทางเหนือมีเทือกเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ สลับกับที่ราบ ทอดสายตาลงมาจากภาคเหนือเป็นแอ่งที่ราบกว้างใหญ่ เมื่อรวมกับเส้นหยึกหยักคล้ายเส้นเลือดฝอย พอจะแปลความได้ว่านี่คือที่ราบลุ่มแม่น้ำ

สันติช่วยโลกเล่าเรื่องเพิ่มเติมว่าน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ จากธารน้ำเล็ก ๆ บนภูเขาค่อย ๆ รวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ แต่เมื่อแม่น้ำไหลมาเจอที่ราบ ไม่มีคำว่าสูง-ต่ำอีกต่อไป แม่น้ำก็จะกวัดแกว่งไปมา หรืออาจแตกออกไปเป็นแม่น้ำย่อย ๆ ได้เช่นกัน 

จากการจ้องมองแผนที่ไม่มีสี ตัวอักษร ชื่อสถานที่มีแต่ภูมิประเทศและลีลาการสร้างสรรค์ของโลกใบนี้ ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าหนังหน้าโลกของเรานั้นสวยงามขนาดไหน

Image

เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด (บน)
ตำบลเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ (กลาง)
ตำบลโคกม้า อำเภอประโคนชัย  จังหวัดบุรีรัมย์ (ล่าง)

Image

สภาพภูมิประเทศโดยละเอียดบริเวณคูเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แสดงข้อมูลความสูง-ต่ำที่แตกต่างกันของพื้นที่โดยเทคโนโลยี LiDAR 

ที่มา : GISTDA – สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

สังเกตสีที่เปลี่ยนไป

“คราวนี้มาลองดูแผนที่สีกันบ้าง แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมก็จะมีความเป็นปัจจุบันที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนใหญ่ใช้กับงานเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง เช่น การใช้ที่ดินปีนี้กับปีที่แล้วต่างกันอย่างไร” สันติชวนดูแผนที่ประเภทที่ ๒

ปัจจุบันการสำรวจโลกผ่านแผนที่นั้นเป็นมิตร ง่าย และสะดวกขึ้นมากเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก การมาของ Google Earth ซอฟต์แวร์แสดงแบบจำลองโลกจากภาพถ่ายดาวเทียมทำให้เรายลโฉมความงามจากภาพถ่ายมุมสูงของสถานที่ใดบนโลกก็ได้

ฟีเจอร์เด่นที่อยากชวนทุกคนไปลองเล่นกันสักครั้งคือ “Timelapse” ซึ่งรวบรวมภาพถ่ายดาวเทียมมากกว่า
๒๔ ล้านภาพ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา มาร้อยเรียงต่อกันว่าโลกของเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เราเดินทางสู่ทวีปอเมริกาใต้ผ่าน Google Earth เพื่อดูความงามจากการกวัดแกว่งของแม่น้ำมามอเร (Mamoré) ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว พื้นที่นี้ของลุ่มน้ำแอมะซอน​ (Amazon) ยังไม่มีการสร้างเขื่อนหรือถูกรบกวนโดยมนุษย์แต่อย่างใด ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำตามธรรมชาติ ค่อย ๆ กัดเซาะตะกอนริมตลิ่ง กวัดแกว่งคดเคี้ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดเป็นทางน้ำใหม่ ขณะเดียวกันก็ทิ้งร่องรอยของทางน้ำเก่าไว้ให้ได้เชยชม

อีกหนึ่งคลิกกลับสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพถ่ายดาวเทียมบน Google Earth เผยให้เห็นสีที่เปลี่ยนไปของผืนป่าบนเกาะสุมาตรา จังหวัดเรียว ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อรองรับความต้องการน้ำมันปาล์มที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตลอด ๔๐ ปีที่ผ่านมา จากพื้นที่สีเขียวเข้มของป่าดิบชื้นค่อย ๆ ถูกตัดทีละแนว ๆ เห็นเป็นสีน้ำตาลของหน้าดิน และเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนของสวนปาล์มในที่สุด

ผิวหน้าของโลกนั้นเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน บางการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามธรรมชาติ บ้างก็เกิดจากน้ำมือมนุษย์ แล้วเราแยกออกไหม อันไหนฝีมือธรรมชาติอันไหนฝีมือมนุษย์เราเอง

Image

จากสีเขียวของป่าเขาเปลี่ยนเป็นพื้นผิวสีสันสะดุดตา LiDAR พาเรามองทะลุลงไปเห็นสภาพร่องน้ำและเนินดินบนเขารางกะปิด พุหางนาค วนอุทยานพุม่วง  

ย้อนอดีต
แกะรอยเมืองโบราณ

“หากอยากรู้อดีต อยากรู้ธรรมชาติที่ยังไม่ถูกรบกวนมาก ก็ควรย้อนกลับไปให้ไกลที่สุด”

แผนที่ชนิดที่ ๓ ที่สันติชวนเราดูคือภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ซึ่งพาย้อนกลับไปได้ถึงราวทศวรรษ ๒๔๙๐ หรือประมาณ ๗๐ ปี ยุคก่อนจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๙) ที่เริ่มต้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ อย่างการตัดถนนทางหลวงสายหลักและขยายเส้นทางรถไฟในภูมิภาคต่าง ๆ

“หลายพื้นที่ของไทยถูกรบกวนไปแล้ว พอดูภาพถ่ายทางอากาศก็จะเห็นว่าตอนยังไม่มีบ้านอยู่เป็นอย่างไร แผนที่นี้ใช้ดูข้อมูลในอดีตได้”

ในขณะที่ดวงตาของเรากำลังเพ่งมองความต่างระหว่างภาพถ่ายทางอากาศจากอดีตกับภาพถ่ายดาวเทียมในปัจจุบันราวกับเล่นเกมจับผิดภาพ ดวงตาของสันติกลับสะดุดสิ่งอื่น

“ผมเจอแหล่งโบราณคดีหลายแห่งจากการมองแผนที่ ด้วยความเป็นนักธรณีวิทยาผมรู้ว่าอะไรคือกระบวนการทางธรรมชาติและอันไหนไม่ใช่ เวลาที่ดูจะ ‘เอ๊ะ’ บ่อย ๆ ทำไมแม่น้ำสายนี้เป็นเส้นตรงไม่กวัดแกว่ง คันดินนี้ไม่ใช่ธรรมชาติแน่ ๆ แต่เกิดจากคนยุคไหนล่ะ  จากการ ‘เอ๊ะ’ ก็นำไปสู่การค้นพบหลาย ๆ อย่าง”

ธรณีวิทยาทางโบราณคดี (geoarchaeology) คือการศึกษาทางโบราณคดีผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางธรณีวิทยาคืองานอดิเรกที่สันติหลงรัก

“เวลาเจอร่องรอยของคนโบราณบนแผนที่ ผมเหมือนเด็กได้ไอเท็มในเกมเลยละ”

เพื่อให้ผมแกะรอยคนโบราณบนแผนที่ด้วยตนเอง สันติจึงอาสาสอนพื้นฐานแบบ ๑๐๑ ให้ด้วย

เริ่มจากสิ่งที่สังเกตเห็นง่ายที่สุดก็คือคูน้ำ หรือคูเมือง (moat) โดยคูคลองที่เชื่อมต่อกันเป็นวงปิด ไม่ว่าจะวงกลม วงรี หรือสี่เหลี่ยม เป็นรูปร่างไม่ปรกติของแหล่งน้ำ และภายในคูน้ำวงปิดแทบทั้งหมดมักพบโบราณวัตถุหรือมีร่องรอยของชุมชนโบราณ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสันติเผยแพร่การค้นพบแนวคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจากการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ปี ๒๕๑๙ ที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อเดินทางไปสำรวจพื้นที่จริงก็พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก คาดการณ์ว่าเป็นชุมชนโบราณอายุราว ๗๐๐-๑,๐๐๐ ปีก่อน

“เบื้องต้นต้องดูข้อมูลภูมิประเทศสามมิติก่อน ผมจับสัญญาณของคนโบราณในภาคอีสานได้ว่าเขาชอบอยู่ริมเนินเตี้ย ๆ ที่อยู่ติดกับนา ใกล้กับพื้นที่ทำเกษตรแต่น้ำหลากไม่ถึง ถ้าไล่ดูพื้นที่ริมเนินติดนาไปเรื่อย ๆ ยังไงก็เจอ

“คิดอีกแง่คือเรากำลังตามวิถีชีวิตของปู่ย่าตายายนะ คุณก็ลองไปดูว่าคนโบราณในพื้นที่ที่คุณสนใจเขาอยู่กันแบบไหน ถ้าคุณจับรูปแบบสัญญาณได้ ก็จะไปหาดูต่อในจุดอื่นได้”

LiDAR ทะลวงหาความลับใต้ต้นไม้

แผนที่หลากสีที่เรากำลังดูคือแบบจำลองภูมิประเทศสามมิติของเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แนวคูเมืองรูปวงรีคล้ายเมล็ดข้าว สามารถขยายชมรายละเอียดเล็ก ๆ ได้ แสดงความสูงต่ำที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยของพื้นดิน

นี่คือผลของการใช้เทคโนโลยีไลดาร์ (light detection and ranging - LiDAR)

“งานที่เราต้องการมาตลอดและยังไม่มีเครื่องมือไหนทำได้คือการถ่ายพื้นผิวใต้ต้นไม้ ไลดาร์ช่วยเติมเต็มจุดนี้”

ใช่ว่าร่องรอยคนโบราณทุกแห่งจะสังเกตได้ง่ายเหมือนคูเมือง ยังมีตัวละคร สถานที่ สิ่งปลูกสร้างจำนวนไม่น้อยหลับใหลอยู่ใต้ป่าเขารอการค้นพบ หากดูภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นแต่สีเขียวเข้มของต้นไม้

ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ดำเนินโครงการการสำรวจทางโบราณคดีด้วยเทคโนโลยีสำรวจระยะไกล “สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก” และนำมาซึ่งการใช้เทคโนโลยี LiDAR สำรวจพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง เมืองโบราณเวียงท่ากาน และเมืองโบราณคูบัว โดยสันติได้เข้าร่วมในฐานะนักวิจัย

ไลดาร์พาทะลวงไปล้วงความลับใต้ต้นไม้ พบโครงสร้างรูปตัว U ซ่อนตัวอยู่บนภูเขา กวาดสายตาตามทางน้ำมาทางใต้ของเทือกเขามีหลุมลึกรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยคันดินสูงสะดุดตา คนในพื้นที่เชื่อกันว่าเป็นคอกช้างโบราณแต่ด้วยข้อมูลจากไลดาร์และการสร้าง “แบบจำลองร่องน้ำ” ทำให้นักวิจัยทราบว่าแท้จริงแล้วคืออ่างเก็บน้ำโบราณพร้อมแนวคลองผันน้ำ รองรับมวลน้ำจากเขาทำเทียมทางทิศตะวันตก

“น้ำทั้งหมดบนเขาถูกระบบการจัดการน้ำผันลงมาใช้ที่เมืองโบราณอู่ทอง มีการชะลอน้ำบนเขาไม่ให้ทะลัก ทำทางน้ำให้น้ำไหล มีคันดินกันน้ำท่วมเมือง คนโบราณอู่ทองเขาไม่ได้รอน้ำจากฟ้ามาเติมคูเมือง แต่จัดการน้ำบนภูเขาอย่างซับซ้อน เป็นขั้นเป็นตอน ผลจากข้อมูลแผนที่ไลดาร์ทำให้รู้ว่าคนโบราณมีองค์ความรู้เรื่องการจัดการนํ้ามากกว่าที่เราเคยคิดกัน”

Image

ภูมินาม
ปักหมุดภาษาที่เคลื่อนไป

“แผนที่สุดท้ายที่อยากให้ดูวันนี้คือผมทำเล่น ๆ ในโปรแกรมเอกซ์เซล (Microsoft Excel) เอาชื่อหมู่บ้านทุกแห่งในประเทศไทยมากำหนดจุดลงไป ลองดูการกระจายตัวของชื่อที่คล้าย ๆ กัน เผื่อว่าจะเห็นความเชื่อมโยง เรียกว่าแผนที่ภูมินาม”

ภูมินามวิทยา (toponymy) เป็นศาสตร์ด้านภาษาที่มุ่งศึกษานัยความหมายสำคัญของชื่อสถานที่ที่สื่อถึงลักษณะเฉพาะ

แผนที่ภูมินาม “โพน” ซึ่งในภาษาถิ่นอีสานแปลว่าเนินดิน แสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านที่มีคำว่า “โพน” อยู่ในชื่อนั้นกระจายตัวกันอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานเป็นหลัก ยกเว้นจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์  มีหมู่บ้านบางแห่งในภาคกลางและภาคเหนือใช้คำว่า “โพน” บ้างเช่นกัน

“ดู ‘โพน’ เสร็จ ผมอยากชวนมาดูแผนที่ภูมินาม ‘โคก’ คำนี้แปลว่าที่สูง ชุมชนที่มีชื่อนี้อยู่ด้วยกระจายตัวในภาคอีสานกับภาคใต้นิดหน่อย แต่เห็นอะไรไหม คำว่า ‘โคก’ หนาแน่นแถบพื้นที่ติดชายแดนกัมพูชา จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์”

เมื่อเห็นความผกผันอย่างมีนัยสำคัญ สันติแปลความว่า คำว่า “โพน” และ “โคก” นั้นน่าจะมีความหมายคล้ายกัน แต่ใช้ในต่างกลุ่มคน ต่างภาษา พอสืบค้นต่อก็เลยได้รู้ว่า “โคก/គោក” ในภาษาเขมรนั้นแปลว่า “พื้นที่ที่ไม่มีน้ำ” เป็นไปได้ว่าคนในพื้นที่ซึ่งใช้คำว่า “โคก” มากกว่า “โพน” ดั้งเดิมอาจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขมร

“กลายเป็นว่าแผนที่นี้ทำให้เห็นการอพยพของคนที่ใช้ภาษานี้ด้วย ชื่อหมู่บ้านที่มีคำว่า ‘โพน’ ที่อยู่นอกพื้นที่ภาคอีสานก็เป็นประเด็นที่ถ้าใครสนใจก็ไปศึกษาต่อได้ ว่าคนในหมู่บ้านกลุ่มนี้ใช้คำนี้ในบริบทไหน อพยพมาจากไหน”

Image

แผนที่ประเทศไทยแสดงการกระจายตัวของหมู่บ้านที่มีคำว่า “โคก” อยู่ในชื่อหมู่บ้าน

มิตรเอิร์ธ
มิตรภาพผ่านแผนที่

สันติทำแผนที่ภูมินามไว้นับร้อยชื่อ แจกให้ดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านเว็บไซต์ Mitrearth ด้วยความตั้งใจให้คนทำงานสายภูมินามวิทยาเอาไปใช้ เพราะเขาไม่ได้อยากนั่งดูแผนที่อยู่คนเดียว แต่อยาก “เล่น” แผนที่ร่วมกับสังคม

“เมื่อ ๕ ปีก่อน เว็บไซต์ Mitrearth เริ่มขึ้นมาแบบนั้น เริ่มจากลูกศิษย์คณะครุศาสตร์ทักมาหาผมว่าเขาไม่มั่นใจว่าจะสอนวิชา ‘โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ’ ได้  ผมเลยบอกลูกศิษย์ว่า สอนได้สิ อยากได้ข้อมูลอะไรเดี๋ยวผมส่งให้  ผมอยากให้อาจารย์ที่สอนภูมิศาสตร์หรือวิชาอะไรก็ตามรู้สึกว่าเขาโชคดี เขามีเพื่อน”

...

กลับถึงบ้านคืนนั้นผมไม่ได้ดูแผนที่ในฐานะ follower (ผู้ตาม) เพื่อนำทิศนำทางอย่างทุกครั้ง แต่กำลังมองหนังหน้าของโลกในฐานะ explorer (ผู้สำรวจ) ฟังเรื่องราวที่โลกพยายามจะบอก  ไม่แน่ในอนาคตผมอาจพบร่องรอยเมืองโบราณแห่งใหม่ก็ได้ ถึงวันนั้นผมคงจะวิ่งกลับไปอวดสันติเหมือนเด็ก ๆ ได้ไอเทมในเกมบ้าง ส่วนเขาก็คงจะพูดประโยคเดียวกับที่บอกก่อนจะลากัน

“แผนที่บอกเราได้ขนาดนี้ มหัศจรรย์ขนาดนี้ เข้าใจแล้วหรือยังล่ะว่าทำไมผมถึงรักแผนที่เหลือเกิน”  

แหล่งความรู้อ้างอิง
เว็บไซต์
https://earthengine.google.com/timelapse/
https://earthobservatory.nasa.gov/world-of-change/ColumbiaGlacier
http://www.mitrearth.org/24-4-moat-esan/
http://www.mitrearth.org/24-124-ancient-community-iron-smelting/
http://www.mitrearth.org/24-8-pnr-ancient-route/
http://www.mitrearth.org/24-39-irrigation-uthong/
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=5884&lang=EN
http://www.mitrearth.org/24-77-toponymy-non-pon-kok/

หนังสือ
SUVARNABHUMI TERRA INCOGNITA สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรม เชื่อมโยงโลก โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)