เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ขอขอบคุณ ดร. สงกรณ์ เสียงสืบชาติ
อาจารย์พิเศษภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"คุณอ่านแผนที่เก่งใช่ไหม สิบตรีเบลค" นายพลถาม
“เก่งพอตัวครับท่าน”
นายพลหมุนแผนที่บนโต๊ะหันทิศให้สิบตรีที่ยืนตรงอยู่ตรงหน้าอ่านได้ เขาชี้ตำแหน่งปัจจุบันและเลื่อนมือไปชี้ตำแหน่งที่ตั้งกองพันที่ ๒ ซึ่งอยู่หลังแนวปะทะในเขตยึดครองของเยอรมัน พร้อมกับสั่งภารกิจสำคัญคือการไปแจ้งข่าวแก่นายพันให้ยับยั้งการเคลื่อนทัพบุกลึกเข้าไป เพราะนี่คือหลุมพรางของข้าศึกซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียชีวิตทหารกว่า ๑,๖๐๐ นาย และหนึ่งในนั้นคือพี่ชายของเบลค
สายโทรศัพท์ถูกเยอรมันตัดไปแล้ว มีแต่การเดินเท้าเข้าไปแจ้งข่าวให้ทันเวลาก่อนจะมีคำสั่งบุกเท่านั้น
เบลคเก็บแผนที่กระดาษใส่กระเป๋า รับสัมภาระยังชีพ และรีบออกเดินทาง
…[กดปุ่ม Pause]…
เรากำลังดูตอนต้นเรื่องของภาพยนตร์ 1917 ซึ่งเป็นฉากมืดๆ ในห้องบัญชาการที่มีเพียงแสงไฟส่องบนแผนที่
1917 เป็นเหตุการณ์สมมุติในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การทำสงครามฆ่าล้างกันของมนุษย์ที่มีมาแต่อดีตและยังไม่เคยจบสิ้น แม้กระทั่งบนฟีดข่าวในเช้าทุกวันนี้
แต่ในยุคดิจิทัลพวกเราข้องเกี่ยวกับแผนที่ส่วนใหญ่เมื่อต้องการความช่วยเหลือในการนำทางหรือหาร้านอาหาร และด้วยแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เราไม่ต้องอ่านแผนที่เป็น หรือสนใจว่าสภาพพื้นที่รอบๆ จะเป็นอย่างไร แค่เชื่อตามลูกศรชี้ไปจนกว่าจะมีเสียงบอก “คุณถึงจุดหมายแล้ว”
กว่าจะเป็นดิจิทัลแมปแสนสะดวกสบาย ศาสตร์แห่งแผนที่มีความเป็นมายาวนานหลายพันปี และมีผู้คนมากมายที่ทุ่มเทชีวิตให้ จนอาจรวบรวมและเรียบเรียงได้เป็นสารานุกรมหนาๆ
บนหน้ากระดาษไม่กี่หน้าต่อไปนี้ คิดว่าจะสนุกกว่า หากเราจะมาลองแกะรอยประวัติศาสตร์จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏบนแผนที่ พร้อมกับอ่านแผนที่ให้เก่งเหมือนสิบตรีเบลค
เกิดวันหนึ่งเซิร์ฟเวอร์ล่ม ดาวเทียมร่วง ไฟฟ้าดับ หรือทะลุมิติเวลาข้ามไปอดีต และเราโชคดีมีแผนที่กระดาษในมือ การอ่านแผนที่เป็นอาจช่วยให้เราเอาตัวรอดได้
เบื้องหลังการสร้างแผนที่นั้นต้องอาศัยทั้งศิลปะ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมือง
สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ไว้ก่อนคือ แผนที่ซ่อนความหมายและความนัยที่คนสร้างต้องการถ่ายทอดเช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ แผนที่อาจดูเหมือนตัวแทนของความจริง แต่มันก็มีโอกาสไม่ถูกต้องหรือผิดไปจากความจริงก็เป็นได้
พร้อมแล้วเราก็เริ่มออกเดินทาง เป็นเพื่อนกับสิบตรีเบลค
...
[สปอยล์ : สิบตรีเบลคไม่รู้หรอกว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาแผนที่ของเขาจะชุ่มไปด้วยเลือดของเขาเอง]
แผนที่ของอัลอิดริซี แสดงถึงความเชื่อว่าโลกกลม ด้านบนเป็นทิศใต้ คือทวีปแอฟริกา เห็นแม่น้ำไนล์ไหลจากภูเขากลางทวีปแอฟริกามาลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้านล่างคือทวีปยุโรปกับเอเชีย ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรซึ่งยังไม่มีการสำรวจ สร้างบนแผ่นโลหะเงินหนัก ๑๘๐ กิโลกรัม เสร็จเมื่อ ค.ศ. ๑๑๕๔ แต่ถูกทำลายในช่วงกบฏหลังกษัตริย์โรเจอร์ที่ ๒ สวรรคต โชคดีที่ภาพถูกคัดลอกต่อๆ กันมา ลองพลิกภาพกลับหัวจะคุ้นเคยกับทวีปที่เห็นมากขึ้น
ภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/db/Al-Idrisi%27s_world_map.JPG
เหนือ-ใต้ ออก-ตก
ทิศกับแผนที่แทบจะเป็นของคู่กัน
ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นทิศสำคัญที่เราเรียนรู้จากการเฝ้าดูพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในทุก ๆ วัน ขณะที่คนซีกโลกเหนือสังเกตเห็นดาวเหนือปักหมุดนิ่งบนท้องฟ้า ให้ดาวดวงอื่นหมุนรอบไปตลอดคืน เป็นตัวกำหนดว่านี่คือทิศเหนือ ส่วนทิศใต้ก็คือทิศตรงข้ามกับทิศเหนือ แต่ไม่มีดาวใดเป็นจุดสังเกตที่แม่นยำ
นี่คือทิศหลักทั้งสี่ที่มนุษย์รู้จักกันมานานจากการสังเกตธรรมชาติ และทำให้เกิดทิศทางหลักสองแนว คือ แนวตะวันออก-ตะวันตก กับแนวเหนือ-ใต้ ตัดกันเป็นกากบาท ขอเพียงรู้ทิศใดทิศหนึ่งเราก็หาทิศที่เหลือได้โดยอัตโนมัติ
แผนที่ก็ยึดหลักสี่ทิศและวางภาพตามสองแนวนี้เช่นกัน แผนที่ที่คุ้นเคยมักหันทิศเหนือขึ้นบน แต่ก็มีแผนที่ซึ่งหันทิศใต้หรือทิศอื่นขึ้นบน โดยเฉพาะแผนที่สมัยโบราณในยุคกลาง อาจเพราะต้องการสื่อถึงทิศทางที่แผนที่จะนำทางไป การวางให้จุดเริ่มต้นอยู่ด้านล่างและปลายทางอยู่ด้านบน สอดคล้องกับการมองแผนที่เทียบกับภูมิประเทศเบื้องหน้า คล้ายกับแผนที่กูเกิลซึ่งจะหมุนภาพเปลี่ยนไปตามทิศทางของถนนที่วิ่งไป โดยไม่ยึดให้ทิศเหนือต้องอยู่บน
น่าคิดว่าถ้าเราหันแผนที่ประเทศไทยในแนวอื่น เช่น กลับทิศใต้ขึ้นบน หรือทิศตะวันออกขึ้นบน เราจะมีมุมมองต่อการพัฒนาประเทศต่างออกจากที่เป็นอยู่ไหม
แต่ก่อนจะพลิกแผนที่ วันนี้แค่ถามคนบนท้องถนนว่าทิศเหนืออยู่ไหน หรือทิศตะวันออกอยู่ไหน หรือถามคนที่ขับรถอยู่ว่ากำลังมุ่งหน้าไปทิศไหน เกือบร้อยละร้อยจะตอบไม่ได้
คนไทยมีสำนวนว่า “รู้เหนือรู้ใต้” แต่ดูเหมือนเราจะไม่ค่อยรู้กัน
อะบู อับดุลลอฮ์ มุฮัมมัด อัลอิดริซี (Abu Abdullah Muhammad al-Idrisi, ค.ศ. ๑๑๐๐-๑๑๖๕) นักเขียนแผนที่และนักปราชญ์ชาวมุสลิมซึ่งทำงานรับใช้กษัตริย์โรเจอร์ที่ ๒ แห่งอาณาจักรซิซิลี ผู้หลงใหลการสร้างแผนที่อย่างหนัก พวกเขารวบรวมข้อมูลจากแผนที่สมัยกรีกและการสัมภาษณ์พ่อค้า นักเดินเรือ ผู้แสวงบุญหลายพันคน ใช้เวลาทั้งหมด ๑๕ ปี เพื่อสร้างแผนที่ซึ่งถูกต้องที่สุดในยุคนั้น จนเป็นแผนที่ซึ่งได้รับความเชื่อถือและใช้ต่อกันมาในโลกตะวันตกถึง ๓๐๐ ปี
ภาพ : https://funci.org/al-idrisi-the-book-of-roger-and-the-importance-of-water/?lang=en
อัลอิดริซียังเขียนหนังสือรวมแผนที่ชื่อ Tabula Rogeriana หรือ Roger’s Book เพื่อบันทึกแผนที่เจาะละเอียดส่วนต่างๆ ของโลก มีถึง ๗๐ ภาพ จนกระทั่ง ๘๐๐ ปี ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๗ นักเขียนแผนที่ชาวเยอรมันชื่อ คอนราด มิลเลอร์ (Konrad Miller) จึงนำภาพทั้งหมดมาต่อกันเป็นแผนที่ใหญ่ตาราง ๑๐ x ๗ เรียกว่า The Large Idrisi Map แผนที่นี้ทิศใต้อยู่บนเหมือนแผนที่โลหะเงิน ไล่จากมุมขวาล่าง เกาะอังกฤษ ทวีปยุโรป ไปจนถึงอินเดีย จีน และเกาะชวา (?) ทางมุมซ้ายบน ตอนกลางมีทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คาบสมุทรอาหรับและทวีปแอฟริกา
ภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d3/TabulaRogeriana.jpg
แผนที่โลกตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์
ของอิซิดอร์แห่งเซวิลล์
(Isidore of Seville, ค.ศ.๕๖๐-๖๓๖)
โลกแบ่งเป็นสามทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชีย แผนที่หันทิศตะวันออกขึ้นบน สังเกตจากตำแหน่งของทวีปเอเชีย ด้วยเป็นฝั่งที่พระอาทิตย์ขึ้นก่อน จึงเชื่อว่าเป็นทิศที่ตั้งของสวนเอเดน แผนที่แบบนี้เรียกว่า T-O Map ตัว T เส้นขวางคือแม่น้ำไนล์ และเส้นตั้งคือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ตัว O คือมหาสมุทรที่ล้อมรอบ
ภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/T_and_O_map#/mediaFile:Diagrammatic_T-O_world_map_-_12th_c.jpg
Hereford Mappa Mundi แผนที่โลกขนาดใหญ่จากยุคกลางซึ่งยังหลงเหลืออยู่ อายุประมาณ ค.ศ. ๑๓๐๐ เป็นแผนที่แบบ T-O ซึ่งขยายรายละเอียด มีกรุงเยรูซาเล็มอยู่กลางภาพ สังเกตวงกลมเล็กๆ บนสุดคือสวนเอเดน สวนสวรรค์ของพระเจ้าที่ประทับอยู่เหนือ (แผนที่) โลก
ภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Hereford_Mappa_Mundi#/media/File:Hereford-Karte.jpg
กุหลาบลม
กับเข็มทิศ
เรื่องการหลงทิศไม่รู้ว่าอยู่ไหน ยิ่งเคว้งคว้างมากขึ้นอีกหากเราถูกปล่อยลอยคออยู่กลางทะเล ไม่มีสิ่งใดให้สังเกต
การล่องเรือออกสำรวจขอบโลกเมื่อหลายร้อยปีก่อนจึงเป็นภารกิจเสี่ยงชีวิต ทั้งลูกเรือและเรือที่ต่อขึ้น กัปตันเรือจึงต้องรู้ทิศทางลมสำหรับการแล่นเรือกลางทะเลใหญ่ในยุคที่ต้องกางผ้าใบให้ลมขับ เพราะเรือยังไม่มีเครื่องจักรไอน้ำ
ถ้าเกิดเราย้อนยุคไปอยู่บนเรือในทะเลเลียบฝั่งทวีปยุโรปประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ และดูแผนที่บนเรือจะเห็นจุดรวมเส้นตรงที่แผ่เป็นรัศมีออกไปทุกทิศทาง เรียกว่า wind roses นี่ไม่ใช่การขีดเส้นประดับไว้สวย ๆ แต่คือความเป็นความตายเลยทีเดียว เพราะเป็นเส้นแสดงทิศทางลมแต่ละจุดยังเชื่อมกับจุดอื่น ๆ เปรียบเสมือนเครือข่ายเส้นถนนบนน่านน้ำสำหรับการล่องเรือ
ชาวยุโรปสมัยโบราณเฝ้าสังเกตลมและทิศทางลมในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมานานหลายพันปีแล้ว นอกจากลมจากสี่ทิศหลัก ยังมีลมจากทิศต่าง ๆ โดยรอบ บางคนแยกแยะได้เป็น ๘, ๑๒, ๒๔ หรือมากถึง ๓๒ ทิศ จะละเอียดแค่ไหนดูได้จากจำนวนแฉกของ wind roses บนแต่ละแผนที่
เมื่อเกิดเข็มทิศที่ทำด้วยเข็มแม่เหล็กลอยน้ำ การตรวจสอบทิศเหนือก็ทำได้ง่ายขึ้นกว่าการรอดูดาวเหนือตอนกลางคืน แต่ wind roses กับเข็มทิศยังใช้แยกกัน จนกระทั่งมีกะลาสีเรือหัวใสเอา wind roses มาเป็นหน้าปัดให้เข็มทิศ ช่วยให้เห็นทันทีว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปทิศไหน กลายเป็นต้นแบบของเข็มทิศที่มีหน้าปัดบอกทิศ
ส่วนจุด wind roses บนแผนที่ก็ได้รับการตกแต่งให้เป็น compass roses โดยวาดกราฟิกดาวแฉกและสัญลักษณ์ทิศเหนือ เช่นรูป “เฟลอร์เดอลี” (fleur-de-lys) ประดับเหนือแฉกทิศเหนือ จนเป็นธรรมเนียมของการเขียนสัญลักษณ์เข็มทิศ
การทำแผนที่ปลอมเพื่อหลอกขายว่าเป็นแผนที่โบราณจึงมักวาด compass roses ไว้เป็นเครื่องการันตี
แผนที่ที่มีเส้นทิศลม Wind Roses สำหรับการล่องเรือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ มีชื่อเรียกว่า Portolan Chart มาจากภาษาอิตาลี portolano แปลว่าเกี่ยวกับท่าเรือ มักเขียนบนหนังสัตว์ ≈ต่อมา เปโดร ไรเนล (Pedro Reinel, ค.ศ. ๑๔๘๕-๑๕๔๐) นักเขียนแผนที่ชาวโปรตุเกส เป็นคนแรกที่เริ่มวาดกราฟิกเฟลอร์เดอลีประดับ compass roses บนแผนที่ เฟลอร์เดอลีมาจากดอกลิลลี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ส่วนทิศตะวันออกกำกับด้วยสัญลักษณ์กากบาทดอกไม้ แสดงทิศที่ตั้งของดินแดนศักดิ์สิทธิ์หรือกรุงเยรูซาเล็ม แผนที่นี้แสดงชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกจากยุโรปลงมาถึงแอฟริกาฝั่งตะวันตก กุหลาบกลางแผนที่มี ๑๖ แฉก กับ ๓๒ เส้นทิศลม
ภาพ : https://acm5.blogs.rice.edu/color-plate-11/
แผนที่ทิศลมเขียนโดย แจน แจนสัน (Jan Jansson) ในหนังสือ Atlantis Maioris ตีพิมพ์ ค.ศ. ๑๖๕๐ แสดงลม ๓๒ ทิศ และชื่อเรียกลมหกภาษา คือ กรีก ละติน ฝรั่งเศส ดัตช์ อิตาลี และสเปน แผนที่หันทิศเหนือขึ้นบน แสดงลักษณะลมที่แตกต่างกันด้วยภาพตัวแทนคนต่างๆ เช่น คนแก่มีหนวดเครากำลังเป่าลมฝน คนผิวดำเป่าลมร้อน คนสวมมงกุฎดอกไม้เป่าลมเย็นสดชื่น คนไทยก็รู้จักลมและตั้งชื่อลมไว้เหมือนกัน เช่น “ลมตะเภา” พัดจากทิศใต้ไปทิศเหนือในฤดูร้อน หรือลมเล่นว่าว “ลมพัทธยา” พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือในต้นฤดูฝน “ลมว่าว” พัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ตอนต้นฤดูหนาว
ภาพ : https://www.medievalists.net/2024/03/map-900-years-accurate/mnet24030505/
แผนที่ The Indis of Orient เขียนโดย
ฌ็อง ร็อตซ์ (Jean Rotz) ค.ศ.
๑๕๔๒ สังเกตเส้น wind roses และ compass roses ที่เฟลอร์เดอลีชี้ลงด้านล่าง หมายความว่าทิศเหนืออยู่ล่าง
ถ้ากลับภาพเราจะคุ้นเคยขึ้นกับภาพดินแดนสยาม อ่าวไทย แหลมมลายู สิงคโปร์ เกาะสุมาตรา และด้านล่างอาจเป็นทวีปออสเตรเลีย
ภาพ : https://viewer.slv.vic.gov.au/?entity=IE7179627&mode=browse
แผนที่โลกกาตาลัน (Catalan Atlas) เขียนโดย อับราฮัม เกรสเกส (Abraham Cresques) ในช่วงทศวรรษ ๑๓๗๐ ถือเป็นแผนที่โลกยุคกลางที่ละเอียดที่สุดในเวลานั้น โดยได้รับการว่าจ้างจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๕ แห่งฝรั่งเศส วาดบนหนังสัตว์ติดบนแผ่นไม้หกแผ่น เหมือนฉากบังตา ความกว้างยาวรวมราว ๖๕ x ๓๐๐ เซนติเมตร ทางขวาสุดบนแผนที่ compass roses ชี้ทิศเหนือลงล่าง แต่เขียนภาพในแผนที่หันตั้งตามฝั่งทิศเหนือและเห็นภาพฝั่งทิศใต้กลับหัวอยู่ด้านบน (ถ้าหมุนแผนที่เอาฝั่งทิศใต้ลงล่างก็จะกลับกัน) มี wind roses บอกทิศลมสำหรับการเดินเรือ มีธงสัญลักษณ์ของเมืองในความสัมพันธ์กับเขตปกครองต่างๆ ตัวอักษรเขียนในภาษากาตาลันสะท้อนถึงเรื่องจักรวาลวิทยา ดาราศาสตร์
สัณฐานโลกกลม การเดินเรือ การหาเวลาในตอนกลางคืน การเมืองการปกครอง ฯลฯ
ภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Catalan_Atlas
มุมมองนก
และตารางกริด
มาถึงตรงนี้เรายังไม่ได้นิยามกันเลยว่าแผนที่คืออะไร
ถ้าจะสรุปอย่างสั้นที่สุด แผนที่คือการย่อส่วนสิ่งที่ปรากฏบนพื้นผิวโลกสามมิติลงมาบนระนาบสองมิติ ซึ่งคำว่า map มาจากภาษาละติน mappa หมายถึงผ้า หรือผ้าปูโต๊ะ ซึ่งเป็นวัสดุอย่างหนึ่งที่ใช้เขียนแผนที่
ยิ่งต้องใช้แผนที่จริงจังแค่ไหน เช่น แผนที่การรบ แผนที่การปกครอง การย่อโลกจริงลงมาในภาพให้ถูกต้องก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้น
ไม่น่าแปลกที่ชนชาติซึ่งมีประวัติการรบพุ่งแย่งชิงไม่หยุดหย่อนนับพันปีอย่างจีน จะได้ให้กำเนิดนักทำแผนที่คนสำคัญของโลกขึ้นมาในยุคสามก๊ก เขาคือ เผยซิ่ว (Pei Xiu, ค.ศ. ๒๒๔-๒๗๑)
ผลงานของเขาคือแผนที่การปกครองและแผนที่ภูมิประเทศ ซึ่งแสดงขอบเขตรัฐ จังหวัด เมือง ภูเขา ที่ราบ แม่น้ำ ทะเลสาบ บึง ฯลฯ แต่ที่สำคัญกว่าคือการเสนอ “หลักหกประการของการทำแผนที่” เพื่อปรับปรุงการทำแผนที่ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นกว่าเดิม
มาตราส่วน, ตำแหน่งเปรียบเทียบ และระยะทางระหว่างสองที่ตั้ง คือสามหลักแรก เผยซิ่ว อธิบายว่าการย่อส่วนใช้การตีเส้นตารางกริดเป็นมาตราส่วนของระยะทาง (จีนใช้หน่วยลี้) และให้มองที่ตั้งของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลกแบบมุมมองของนกที่บินอยู่บนฟ้า จึงต้องใช้อีกสามหลักมาคำนวณร่วมด้วย คือ ความสูง-ต่ำ มุมฉาก-มุมแหลม และเส้นตรง-เส้นโค้ง เพื่อปรับระยะทางที่เกิดจากสภาพลาดชันหรือความคดเคี้ยว ให้เป็นระยะเส้นตรงตามแนวราบอย่างมุมมองนก จึงจะสามารถเขียนสิ่งต่าง ๆ บนระนาบย่อส่วนได้อย่างถูกต้องทั้งตำแหน่งและระยะทาง
เผยซิ่ว ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการทำแผนที่ของจีน” และหลักหกประการของเขาทำให้การทำแผนที่ของจีนพัฒนาก้าวหน้ามาเรื่อย ๆ ตลอดทุกยุคสมัยจนถึงราชวงศ์ชิงตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นเวลาเกือบถึง ๒,๐๐๐ ปี
แผนที่ในภาษาจีนคือ ตี้ถู - 地图 地 คือแผ่นดิน 图 คือรูปภาพ รวมคำก็คือรูปภาพของแผ่นดิน
“แผนที่ตามรอยพระเจ้าอวี่” (Yu Ji Tu, Map of the Tracks of Yu Gong) เขียนไว้บนแผ่นหินขนาดราว ๑ เมตร ค.ศ. ๑๑๓๗ สมัยราชวงศ์ซ่ง เส้นตารางกริดแทนระยะ ๑๐๐ ลี้ (๕๐ กิโลเมตร) ไม่มีบันทึกชื่อผู้ทำแผนที่ไว้ พระเจ้าอวี่เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีน สถาปนาเมื่อ ๒๐๗๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช พระองค์เป็นผู้แก้ปัญหาน้ำท่วมของแม่น้ำฮวงโห ส่งเสริมชาวบ้านเพาะปลูกพืชผล และทำสงครามป้องกันดินแดนจากการรุกรานของชนเผ่าโดยรอบ จนเป็นราชวงศ์ที่แผ่นดินสงบสุข สืบทอดยาวนานถึง ๔๑๗ ปี มีตำนานเล่าว่าพระเจ้าอวี่ได้รับแผนที่แม่น้ำฮวงโหจากเทพเจ้าทำให้เขารู้ว่าจะต้องขุดลอกทางระบายน้ำหรือเขื่อนกั้นที่จุดไหนจึงจะสำเร็จ ส่วนแผนที่นี้แสดงดินแดนอันกว้างใหญ่ของจีน
ทางซ้ายชายฝั่งติดทะเล จากซานตง ลงมาอ่าวหางโจว ถึงเกาะไหหลำ ตอนกลางแสดงลุ่มน้ำกิ่งก้านสาขาของแม่น้ำฮวงโห (สายบน) และแม่น้ำแยงซีเกียง (สายล่าง) ซึ่งมีความละเอียดและถูกต้องอย่างไม่น่าเชื่อ
ภาพ : https://www.medievalists.net/2024/03/map-900-years-accurate/mnet24030505/
แผนที่บริเวณมณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เห็นแนวกำแพงเมืองจีนและป้อมด่าน เส้นตารางกริดแทนระยะ ๑๐๐ ลี้ (๕๐ กิโลเมตร) จากหนังสือรวมแผนที่ Guang Yu Tu (Enlarged Terrestrial Atlas) จัดทำโดย หลัวหงเซียน (Luo Hongxian) ในสมัยราชวงศ์หมิง ราว ค.ศ. ๑๕๕๓-๑๕๕๗ เขาบันทึกไว้ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากแผนที่โลกของ ซู่ซื่อเปิ่น (Zhu Siben) ซึ่งสร้างในสมัยราชวงศ์หยวน ราว ค.ศ. ๑๓๑๕ เขียนเป็นแผนที่สองวงแบ่งซีกตะวันออก-ซีกตะวันตก และยังแบ่งครึ่งซีกเหนือ-ซีกใต้ หลัวหงเซียน ยกย่องกรรมวิธีที่ ซู่ซื่อเปิ่น ใช้เขียนแผนที่นี้ว่า “เกินกว่าคนฉลาดที่สุดจะเข้าใจ” แต่แผนที่ของ ซู่ซื่อเปิ่น มีขนาดใหญ่ไปสำหรับนำไปใช้งาน เขาจึงคิดวิธีถอดแผนที่วงกลมสองซีกออกมาเป็นแผนที่สี่เหลี่ยมย่อยๆ หลายส่วนตามระบบตารางกริด รวมเป็นหนังสือ Atlas เล่มแรก
ของจีน แผนที่ต้นฉบับของ ซูซื่อเปิ่น สูญหายไปแล้ว แผนที่โลกสองซีกซึ่งเชื่อว่าจีนทำขึ้นก่อนชาวตะวันตก (?) แท้จริงหน้าตาเป็นอย่างไร ยังคงเป็นปริศนา
ภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Guang_yu_tu_-_er_juan_LOC_2008623187-12.jpg
แผนที่ทะเลบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภาพ : https://www.myoldmaps.com/late-medieval-maps-1300/227-the-countries-of-the/227-kuang-yu-tu.pdf
แผนที่บริเวณทวีปแอฟริกา (บนซ้าย) และมหาสมุทรอินเดีย
ภาพ : https://pieterderideaux.jimdofree.com/6-contents-1301-1400/chu-ssu-pen-1320/)
ภัยจากแม่น้ำฮวงโห หรืออีกชื่อหนึ่งคือแม่น้ำเหลือง ดำรงอยู่ยาวนานมาตลอดประวัติศาสตร์จีนภาพแผนที่แม่น้ำฮวงโหตลอดสายจากต้นน้ำถึงปากแม่น้ำนี้เขียนขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ. ๑๖๒๒-๑๗๒๒) โดยจักรพรรดิคังซีว่าจ้างมิชชันนารีคณะเยซูอิตเป็นทีมสำรวจแผ่นดินจีนสังเกตภาพวาดเฉพาะแม่น้ำเป็นแนวระนาบอย่างมุมมองนก ส่วนกำแพงกั้น ทางระบายน้ำซับซ้อน ภูเขา ต้นไม้ บ้านเมืองบริเวณภูมิประเทศด้านล่าง วาดเป็นมุมมองเฉียงแบบ perspective ได้รับการตั้งชื่อภาพว่า หมื่นลี้ตามแม่นํ้าเหลือง (Ten Thousand Miles along the Yellow River) เพราะเมื่อคลี่ม้วนผ้าไหม ซึ่งวาดแผนที่ออกมา ก็จะเหมือนการมองไล่ตามสายน้ำอันยิ่งใหญ่นี้ไป
ภาพ : https://www.metmuseum.org/art/collection/search/73299
เพราะโลกกลม
ละติจูด ลองจิจูด
ถ้าโลกแบน การทำแผนที่คงง่ายกว่านี้หลายร้อยเท่า และวิธีตีตารางมาตราส่วนของจีนจะเป็นวิธีง่ายที่สุดในการย่อผิวโลกลงมาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
แต่เพราะโลกกลม การแปลงผิวโค้งสามมิติให้ยุบตัวลงมาเป็นระนาบสองมิติจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับทางฝั่งตะวันออกขณะที่ หลัวหงเซียน กำลังพยายามถอดแผนที่โลกวงกลมของ ซู่ซื่อเปิ่น เป็นแผนที่ตารางกริดสี่เหลี่ยมทางฝั่งตะวันตกก็เป็นเหมือนโลกคู่ขนาน เจอราร์ดัส เมอร์เคเตอร์ (Gerardus Mercator, ค.ศ. ๑๕๑๒-๑๕๙๔) กำลังทำสิ่งคล้ายจะตรงกันข้าม คือการนำกระดาษแผนที่แผ่นเรียบห่อวัตถุทรงกลมให้เป็นลูกโลกถวายพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๕ ซึ่งน่าปวดหัวไม่น้อยเพราะกระดาษจะย่น อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาขบคิดปัญหาระหว่างโลกทรงกลมกับระนาบสองมิติของแผนที่
ต้องรอถึง ๒๘ ปี คือ ค.ศ. ๑๕๖๙ เมอร์เคเตอร์ในวัย ๕๗ ปีจึงแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการเขียนตารางกริดที่มีเส้นแนวนอนเป็นเส้นละติจูด และเส้นแนวตั้งเป็นเส้นลองจิจูดตั้งฉากกับเส้นละติจูดขนานกันไปทุกเส้น ซึ่งถือว่าเขาแหกกฎของเส้นลองจิจูดบนทรงกลมโลกที่ต้องลู่ไปรวมกันตรงขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ และยังให้ระยะห่างระหว่างเส้นละติจูดไม่เท่ากัน โดยจะห่างกันมากขึ้นเมื่อยิ่งห่างจากเส้นศูนย์สูตร ทั้งหมดนี้เพื่อให้เส้นทิศลมจาก wind roses บนแผนที่สอดคล้องกับความโค้งของผิวโลก
วิธีนี้ช่วยให้นักเดินเรือยุคสำรวจทางทะเลตั้งเข็มทิศเดินเรือตาม “แผนที่เมอร์เคเตอร์” ได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องปรับอ่านเข็มทิศบ่อย ๆ เพราะก่อนหน้านี้การพยายามไปตามเส้นทิศลมบนแผนที่กลับต้องเฉจากจุดหมายเสมอเพราะความโค้งของผิวโลก
เมอร์เคเตอร์ยังคงทำงานเขียนแผนที่ประเทศต่าง ๆ อย่างไม่หยุดหย่อนในวัยเกือบ ๘๐ เขาเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อเรียกหนังสือรวมแผนที่ประเทศต่าง ๆทั่วโลกของเขาว่าแอตลาส (Atlas) ตามชื่อเทพเจ้าผู้แบกโลก จนกลายเป็นชื่อเฉพาะของหนังสือรวมแผนที่
การเขียนแผนที่โลกวิธีนี้ได้รับการขนานนามตามชื่อเขาว่า “Mercator Projection” และยังคงนิยมใช้มาถึงปัจจุบัน
ต่อไปเวลาอ่านแผนที่ อย่าลืมตรวจดูเส้นละติจูดและลองจิจูด อย่าให้ภาพบนแผนที่หลอกเอา
แผนที่โลกแบบใหม่ที่เมอร์เคเตอร์คิดค้นขึ้นมีชื่อยาวมากว่า New and more complete representation of the terrestrial globe properly adapted for use in navigation ซึ่งบ่งบอกวัตถุประสงค์ของแผนที่ชัดเจนว่าสำหรับการเดินเรือ มี wind roses และเส้นทิศลมในแผนที่ สำหรับเส้นลองจิจูดอ้างอิง ๐ องศา ยังไม่ได้พาดผ่านเมืองกรีนิชตามมาตรฐานปัจจุบัน
ภาพ : https://bpb-us-e1.wpmucdn.com/blogs.rice.edu/dist/a/6063/files/2020/06/Mercator1569-scaled.jpg
MERCATOR PROJECTION
แผนผังอ้างอิง https://www.britannica.com/science/Mercator-projection
Mercator Projection ช่วยให้การลากเส้นโค้งตามผิวโลกกลายเป็นเส้นตรงบนแผนที่ แต่ก็ทำให้ขนาดของพื้นที่ใกล้ขั้วโลกกว้างใหญ่ผิดความจริง สังเกตเส้นละติจูดเป็นเส้นแนวนอนขนานกับเส้นศูนย์สูตร บอกระยะห่างจากเส้นศูนย์สูตรเป็นองศาเหนือหรือองศาใต้ จาก ๐ ถึง ๙๐ องศา บนผิวโลกเส้นละติจูดมีระยะห่างเท่าๆ กัน แต่บนแผนที่เมอร์เคเตอร์เส้นจะห่างกันมากขึ้นเมื่อองศาเพิ่มขึ้น ส่วนเส้นลองจิจูดกำหนดเส้นอ้างอิงสากล เรียกว่า prime meridian เป็นเส้น ๐ องศา ผ่านเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ นับไปทางตะวันออก ๑๘๐ องศา และไปทางตะวันตก ๑๘๐ องศา รวม ๓๖๐ องศา (ตามหลักเรขาคณิตที่วงกลมมี ๓๖๐ องศา) เพราะโลกหมุนรอบตัวเองในเวลา ๒๔ ชั่วโมง คนที่อยู่ลองจิจูดต่างกัน ๑๕ องศา เวลาจึงต่างกัน ๑ ชั่วโมง (๓๖๐/๒๔) เช่น ถ้าเรารู้ว่าตอนนี้เวลาของเราก่อนเวลามาตรฐานที่กรีนิช ๗ ชั่วโมง แสดงว่าเราอยู่ที่ลองจิจูดประมาณ ๑๐๕ องศาตะวันออก (๑๕ x ๗) และถ้าเราสังเกตเห็นดาวเหนืออยู่สูงประมาณ ๑๓ องศาจากขอบฟ้า ก็แสดงว่าเราอยู่ที่ละติจูด ๑๓ องศาเหนือ ยิ่งรู้ค่าสองตำแหน่งละเอียดแค่ไหน เราก็ยิ่งรู้ชัดเจนว่าตอนนี้เราอยู่บนจุดไหนของผิวโลก
Universal Traverse Mercator (UTM) เป็นรูปแบบของเส้นโครงแผนที่ซึ่งปรับมาจาก Mercator Projection มีคุณสมบัติในการรักษาทิศทางและรูปร่าง และมีหน่วยวัดระยะทางคือเมตร ทำให้ใช้งานอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการทหารของประเทศต่างๆ เส้นโครงแผนที่ UTM แบ่งโลกเป็นโซนตามแนวลองจิจูด (เหนือ-ใต้) เป็น ๖๐ โซน โซน ๑ เริ่มที่ ๑๘๐ องศาตะวันตก ไปจบโซน ๖๐ ที่ ๑๘๐ องศาตะวันออก แต่ละโซนกว้าง ๖ องศา ภายในโซนแบ่งตามแนวละติจูดเป็น ๒๐ ช่อง เรียกว่ากริดโซน (Grid Zone) สูงช่องละ ๘ องศา ระบุชื่อช่องด้วยอักษร C-X (ยกเว้น I กับ O) เริ่มจากซีกโลกใต้ขึ้นไปซีกโลกเหนือ (ช่อง N จะอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรพอดี) ประเทศไทยอยู่ช่อง N P และ Q ของทั้งโซน ๔๗ และ ๔๘ เช่น ภาคกลางประเทศไทยอยู่ที่ 47P
ภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Utm-zones.jpg
เมอร์เคเตอร์คือคนซ้ายมือในภาพ คนขวาคือ โจโดคัส ฮอนดิอัส (Jodocus Hondius) ผู้ชื่นชมเมอร์เคเตอร์และนำงานของเขามาจัดพิมพ์ใหม่หลังจากเสียชีวิตไป ๙ ปี
ภาพ : https://www.joh.cam.ac.uk/wonderful-world-mercators-atlas-1613
หนังสือ Atlas Sive Cosmographicae Meditationes de Fabrica Mundi et Fabricati Figura ของเมอร์เคเตอร์ พิมพ์ ค.ศ. ๑๕๘๔ เมื่อข้ามเวลามา ๔๓๘ ปี ถึง ค.ศ. ๒๐๒๒ มีผู้ประมูลในเว็บไซต์ของ Christie’s ได้ไปในราคาราว ๓๕ ล้านบาท ตัวอย่างหน้าในหนังสือที่แสดงตรงนี้ มีหน้าชื่อหนังสือกับรูปปั้นเทพเจ้าแอตลาส, แผนที่โลกแบบสองวงกลม, แผนที่ทวีปเอเชีย และแผนที่ขั้วโลกบริเวณอาร์กติก ซึ่งเมอร์เคเตอร์ได้ข้อมูลมาว่าเป็นรูน้ำวนถูกดูดลงไปด้วยแม่เหล็กยักษ์ แผนที่ทุกภาพ กำกับด้วยเส้นละติจูดและลองจิจูด
ภาพ : https://www.christies.com/
นักเดินเรือคำนวณละติจูดได้ง่ายดายจากความสูงของดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือความสูงของดาวเหนือตอนกลางคืน แต่การหาลองจิจูดให้แม่นยำนั้นเป็นโจทย์ที่ท้าทายมายาวนาน ประมาณทศวรรษ ๑๖๗๐ นักดาราศาสตร์เห็นว่าอาจใช้การเปรียบเทียบตำแหน่งของดวงจันทร์กับดวงดาวที่เป็นฉากหลังบอกลองจิจูดได้ แต่เนื่องจากข้อมูลตำแหน่งดาวทั้งหลายบนฟ้าขณะนั้นยังไม่ละเอียดพอ
จอห์น แฟลมสตีด (John Flamsteed, ค.ศ. ๑๖๔๖-๑๗๑๙) จึงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลอังกฤษให้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งเขาใช้เวลาสำรวจท้องฟ้านานถึง ๔๓ ปี ทำงานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ผลงานของเขาได้รับการจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Atlas Coelestis ถือเป็นแผนที่ดาวซึ่งรวบรวมดาวไว้มากที่สุดและให้ข้อมูลตำแหน่งดาวละเอียดที่สุด ทั้งนี้ตำแหน่งดาวบนฟ้าใช้การบอกละติจูดและลองจิจูดคล้ายบนผิวโลก แต่เป็นตำแหน่งที่อยู่บนทรงกลมท้องฟ้า
ภาพ : https://www.meisterdrucke.ie/fine-art-prints/James-Thornhill/321425/Plate-26-from-%27Atlas-Coelestis%27,-by-John-Flamsteed,-Pub.-in-1719.html
แผนที่ดาวของแฟลมสตีดไม่ได้ใช้หาลองจิจูดตามวัตถุประสงค์แรกเริ่ม เพราะเกิดโศกนาฏกรรมใหญ่ใน ค.ศ. ๑๗๐๗ เรืออังกฤษชนโขดหินนอกชายฝั่งมีคนตายกว่า ๒,๐๐๐ คน รัฐบาลอังกฤษจึงตั้งรางวัล ๒ หมื่นปอนด์ให้แก่คนที่คิดวิธีหาลองจิจูดได้แม่นยำและน่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งต่อมาได้มอบรางวัลแก่ จอห์น แฮร์ริสัน (John Harrison, ค.ศ. ๑๖๙๓-๑๗๗๖) ผู้ประดิษฐ์นาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุดในทุกสภาพอากาศ ทำให้นักเดินเรือเทียบเวลาของกรีนิชได้อย่างแม่นยำ นาฬิกานี้ช่วยให้กัปตันเจมส์ คุก ล่องเรือสำรวจไปไกลถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ภาพ : https://www.rmg.co.uk/collections/objects/rmgc-object-79142#
โครงข่ายสามเหลี่ยม
พ่อค้า พระ นักเดินทางและนักสำรวจทุกยุคสมัย ทั้งที่ไม่ได้รับการบันทึกชื่อไว้และบันทึกไว้ มีส่วนช่วยปรับปรุงแผนที่โลกหยาบ ๆ ให้ละเอียดและถูกต้องมากขึ้น ด้วยคำบอกเล่าถึงที่ตั้งชุมชน ตลาดเมืองท่า ปากแม่น้ำ ฯลฯ ทว่าแผนที่ต้องการความละเอียดมากยิ่งขึ้นอีกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เพราะการสำรวจกำลังก้าวเท้าลึกเข้าไปในแผ่นดิน ไม่ใช่แค่ขอบชายฝั่ง
ผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงคือ เกมมา ฟรีซิอัส (Gemma Frisius, ค.ศ.๑๕๐๘-๑๕๕๕) อาจารย์ของเมอร์เคเตอร์ ผู้ให้ลูกศิษย์ช่วยทำลูกโลกถวายจักรพรรดินั่นเอง
เกมมาเป็นทั้งแพทย์และนักคณิตศาสตร์ที่เก่งกาจ เขาเป็นคนแรกที่เสนอการหาลองจิจูดจากการเทียบเวลาบนเรือกับเวลาของตำแหน่งอ้างอิง ซึ่งต่อมาเป็นทักษะที่กัปตันเรือหรือนักสำรวจทุกคนต้องชำนาญ และยังเสนอการสำรวจด้วยวิธีการโครงข่ายสามเหลี่ยม เรียกว่า triangulation ช่วยหาระยะทางของจุดต่าง ๆ ในภูมิประเทศ
หลักนี้มีอยู่ว่า ถ้าเรารู้ความยาวระหว่างจุดยอดสองจุดของสามเหลี่ยมใด ๆ และขอแค่รู้ค่ามุมระหว่างสองจุดยอดนี้กับจุดที่ ๓ เราจะคำนวณทางตรีโกณมิติหาความยาวอีกสองด้านที่เหลือของสามเหลี่ยมได้โดยไม่ต้องลากสายวัด
ดังนั้นเราสามารถคำนวณว่าเกาะมังกรที่เห็นอยู่ห่างจากชายฝั่งเท่าไร แค่ตั้งสถานีสองจุดห่างกันบนชายหาดสีเงินและเดินวัดระยะทางระหว่างสองสถานี ซึ่งเรียกว่าเส้นฐาน จากนั้นวัดค่ามุมที่ทั้งสองสถานี เป็นมุมระหว่างเส้นฐานกับแนวที่เล็งไปเกาะ เข้าสูตรคำนวณก็จะทราบระยะทางระหว่างเกาะกับทั้งสองสถานี โดยไม่ต้องแล่นเรือไปถึงเกาะให้เสี่ยงอันตราย
วิธีการสามเหลี่ยมที่เกมมาวางรากฐานไว้ บวกกับอุปกรณ์วัดระยะทาง (หรือนับก้าว) อุปกรณ์วัดมุม และอุปกรณ์จำเป็นอื่น ๆ กลายเป็นวิธีสำรวจแผ่นดินทำแผนที่ ตั้งแต่ชายฝั่งคาบสมุทร ตำบลกลางที่ราบ เทือกเขาสูงในป่าทึบ จนถึงสันปันน้ำแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
ใช้กันมาตลอดเวลากว่า ๔๐๐ ปี จนกระทั่งเกิดการทำแผนที่ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ และแผนที่ดิจิทัลด้วยดาวเทียมจีพีเอส
แผนที่ประเทศฝรั่งเศส สำรวจวัดตำแหน่งเมืองและที่หมายต่างๆ ทั่วประเทศด้วยวิธีการสามเหลี่ยม triangulation ต่อเนื่องกันไปเป็นโครงข่ายสามเหลี่ยมหลายร้อยรูป สำรวจโดยตระกูลคัสซินี (Cassini) ในช่วงทศวรรษ ๑๗๔๐ แผนที่ฉบับ ค.ศ. ๑๗๔๔ นี้แสดงการวางโครงข่ายรอบเขตแดนและบริเวณตอนใน ซึ่งยังเหลือพื้นที่ขาดสำรวจบางส่วน ฉบับที่ละเอียดและสมบูรณ์ที่สุดจัดทำเสร็จและพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๗๕๖ แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ ซึ่งว่าจ้างให้ทำโครงการเพื่อหาตำบลเล็กตำบลน้อยที่เล็ดลอดสายตาการเก็บภาษี กลับยุติการเดินหน้าต่อ เพราะราชสำนักหมดเงิน
ภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:1744_carte_Cassini_triangul%C3%A9e_seule.jpg
เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ คัสซินีที่ ๔ จึงหาผู้ร่วมลงทุนเอกชนมาทำโครงการต่อ ด้วยการสำรวจด้วยวิธีการโครงข่ายสามเหลี่ยมเพื่อทำแผนที่เจาะละเอียดระดับจังหวัด ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและกำลังคนจำนวนมาก แบ่งการสำรวจพื้นที่ทั้งประเทศเป็น ๑๘๐ ระวาง ขนาด ๘๐ x ๕๐ กิโลเมตร ใช้เวลาสำรวจ ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๘๑ แผนที่มาตราส่วน ๑ : ๘๖,๔๐๐ จัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Cassini Map เมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ รวมแผนที่ ๑๘๔ หน้าพับไว้ในเล่มซึ่งเปิดกางออกเป็นแผ่นใหญ่ได้ เป็นแผนที่ครอบคลุมทั้งประเทศซึ่งจัดทำขึ้นครั้งแรกของยุโรป และได้รับการยกย่องว่าเป็นการปฏิรูปแผนที่สมัยใหม่ ระหว่างการสำรวจสร้างความไม่พอใจให้ชาวฝรั่งเศส
และเกิดเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่สำรวจด้วยเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการขูดรีดภาษี หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๗๙๓ ผลงานแผนที่ประเทศฝรั่งเศสถูกยึดให้เป็นสมบัติสาธารณะ คัสซินีที่ ๔ ถูกจับเข้าคุกหลายเดือน ตระกูลคัสซินีซึ่งสืบทอดภารกิจรับใช้ราชสำนักทำแผนที่ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่คัสซินี รุ่นที่ ๑ จึงยุติลงในรุ่นที่ ๔ รวมเวลากว่า ๑๒๐ ปี
ภาพ : https://colombes.multicollection.fr/plans-de-colombes/carte-de-cassini-en-1756/
ภาพการสำรวจด้วยวิธีการโครงข่ายสามเหลี่ยมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖
ภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:CD006-Triangulation_16th_century.png
การหาตำแหน่งด้วยดาวเทียม GPS ในยุคสมัยใหม่ก็ใช้หลักการที่คล้ายคลึงกัน แต่เป็นจุดตัดกันของ “ระยะทาง” จากรัศมีทรงกลมของดาวเทียมสามดวงที่อุปกรณ์ GPS รับสัญญาณได้ เรียกว่า trilateration ขณะที่ triangulation ใช้จุดตัดกันของ “มุม”
ภาพ : https://gisgeography.com/trilateration-triangulation-gps/
ตัวอย่างแผนผังหน้าหนึ่งของงานสำรวจโครงข่ายสามเหลี่ยมของทวีปยุโรป ซึ่งกองทัพเยอรมันจัดทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนกระทั่งช่วงท้ายสงครามที่เยอรมันใกล้แพ้และถอยหนีเข้ากรุงเบอร์ลิน กองทัพอเมริกันได้ส่งทีมสายลับเข้าไปสืบหาเอกสารงานสำรวจจนพบแหล่งเก็บในเมืองหนึ่งและขนลำเลียงออกมาได้ ก่อนที่กองทัพรัสเซียจะรุกมาถึงในอีกไม่กี่วัน หัวหน้าทีมสายลับชื่อ ฟลอยด์ ฮัฟ (Floyd Hough) และทีมนี้ได้ชื่อว่า HOUGHTEAM เอกสารทั้งหมดน้ำหนักรวม ๙๐ ตัน มีข้อมูลตำแหน่งสถานีที่สำรวจกว่า ๙ แสนสถานี ต่อมาได้เผยแพร่เป็นข้อมูลสากลของภูมิประเทศยุโรป เรียกว่า the European Datum of 1950 หรือ ED50 ซึ่งใช้เป็นฐานข้อมูลการทำแผนที่ของหลายประเทศหลัง สงครามโลกครั้งที่ ๒
ภาพ : https://amerisurv.com/2020/03/03/behind-the-lines/
สภาพซากปรักหักพังของเมืองที่ทีมสายลับต้องเข้าไปสืบหาเอกสาร
ภาพ : https://amerisurv.com/wp-content/uploads/2020/03/Koeln_1945-scaled.jpg
กาลครั้งหนึ่ง
แผนที่ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก คือแผนที่โลกของชาวบาบิโลเนีย (Babylonian Map of the World) จารึกบนแผ่นดินเหนียว อายุประมาณ ๖๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช
มีขนาดราวฝ่ามือ สภาพขอบชำรุดแตกหัก ทำให้จารึกอักษรรูปลิ่มหรือคูนิฟอร์ม (cuneiform) ขาดหายไม่ครบถ้วน เพราะมันเป็นเพียงเศษชิ้นส่วนที่หลงเหลือจากจารึกแผ่นใหญ่
ด้านหนึ่งบนแผ่นดินเหนียววาดเป็นวงกลมสองวง ภายในมีเส้นขีดเป็นทางจากเหนือลงใต้ มีวงกลมเล็ก ๆ อยู่ตำแหน่งต่าง ๆ นอกวงมีรูปสามเหลี่ยมคล้ายภูเขา และมีอักษรจารึกกำกับไว้ทุกรูปสัญลักษณ์ ด้านหลังเต็มไปด้วยแถวข้อความ
เออร์วิง ฟิงเคิล (Irving Finkel) ภัณฑารักษ์ผู้เชี่ยวชาญ อักษรคูนิฟอร์ม และนักอัสซีเรียวิทยาแห่งพิพิธภัณฑ์บริติช ซึ่งเก็บรักษาแผนที่ชิ้นนี้ไว้ อ่านจารึกและอธิบายว่ามันคือแผ่นดินเมโสโปเตเมีย ซึ่งมีแม่น้ำยูเฟรติสไหลจากเหนือ
ลงใต้ผ่านกรุงบาบิโลน เส้นวงกลมสองวงล้อมรอบคือแม่น้ำขม (Bitter River) และรูปสามเหลี่ยมคือภูเขาหรือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ไกลติดขอบฟ้า
เขาเล่าว่าตอนค้นพบครั้งแรก แผ่นดินเหนียวมีส่วนที่หายไปเป็นช่องเล็ก ๆ ตรงเหนือเส้นวงกลม แต่โชคดีที่นักโบราณคดีสมัครเล่นซึ่งทำงานพาร์ตไทม์ช่วยพิพิธภัณฑ์สัปดาห์ละครั้ง สังเกตพบชิ้นส่วนเล็ก ๆ ซึ่งมีรูปสามเหลี่ยมและอักษรรูปลิ่มอยู่ในถาดรวมเศษโบราณวัตถุที่ยังไม่ได้จำแนกจำนวนมากและเมื่อนำไปวางตรงช่องที่ว่างก็ลงล็อกกันแน่นสนิท
การพบชิ้นส่วนเล็ก ๆ นี้เองคือกุญแจสำคัญของการเข้าใจแผนที่อันเก่าแก่ที่สุด เพราะอักษรที่จารึกบนชิ้นส่วนเล็กว่า “กำแพงใหญ่” (The Great Wall) ช่วยให้เทียบเคียงกับข้อความหลังแผ่นดินเหนียวได้ว่าแถวไหนอธิบายถึงสามเหลี่ยมไหน และนำมาสู่การค้นพบอันน่าประหลาดใจ คือจารึกที่เขียนว่าบนยอดภูเขาทางขวาของกำแพงใหญ่เป็นที่ตั้งซากกระดูกงูของเรืออาร์ก (Ark) ตามบัญชาของพระเจ้าที่ให้มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อต้อนสัตว์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดหนีภัยน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ อันเป็นตำนานที่ชาวบาบิโลเนียบันทึกไว้บนแผ่นดินเหนียวอายุ ๑๘๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช คล้ายกับตำนานเรือโนอาห์ของชาวคริสต์ที่เล่าไว้ภายหลัง
ฟิงเคิลกล่าวทีเล่นทีจริงว่า “ถ้าเราเดินทางย้อนยุคไปสมัยนั้น และถามชาวบาบิโลนว่าอยากไปเที่ยวดูซากเรืออาร์ก ก็อาจมีคนยื่นแผนที่ดินเหนียวนี้ให้และบอกว่าไปตามแผนที่ได้เลย”
น่าคิดว่าคนในอนาคตอีกหลายพันปีข้างหน้าจะแกะรอยแผนที่เก่าชำรุดซึ่งมนุษย์ในสหัสวรรษนี้ขีดเขียนไว้ออกหรือไม่ แผนที่โบราณนั้นกำลังจะนำทางไปที่ใด มีตำนาน ความคิด ความเชื่ออะไรซ่อนอยู่ในนั้น
และหากน้ำท่วมโลกอีกครั้ง หรือเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๓, ๔, ๕...จะยังเหลือใครเขียนแผนที่ มีสิ่งมีชีวิตใดเหลือให้บันทึก และใครจะอ่านแผนที่
ภาพ : https://www.worldhistory.org/image/526/babylonian-map-of-the-world/
ภาพกราฟิกข้อความอักษรคูนิฟอร์มด้านหลังแผ่นดินเหนียว มีคำอธิบายถึงภูเขาศักดิ์สิทธิ์แต่ละลูก บางลูกมีนกยักษ์ซึ่งบินไม่ได้ บางลูกต้นไม้ออกผลเป็นเพชรพลอย ทั้งหมดมีภูเขาแปดลูก
ภาพ : https://www.khanacademy.org/humanities/ancient-art-civilizations/ancient-near-east1/babylonian/a/map-of-the-world
เอกสารประกอบการเขียน
หนังสือ
Star Maps History, Artistry, and Cartography เขียนโดย Nick Kanas, Praxis Publishing
The Road to There กว่าจะเป็นแผนที่โลก เขียนโดย Val Ross แปลโดย นฤมล ตัญญพงศ์ปรัชญ์, นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์
ประมวลแผนที่ : ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์-การเมือง กับลัทธิอาณานิคมในอาเซียน-อุษาคเนย์, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แผนที่แผนทางในประวัติศาสตร์โลกและสยาม เขียนโดย ไมเคิล ไรท, สำนักพิมพ์มติชน
บทความจากเว็บไซต์
“A Brief History of the Wind Rose” (https://thecartographic
institute.com/a-brief-history-of-the-wind-rose/)
“Mapping the World : A Short History of Cartography”
(https://historyguild.org/mapping-the-world-a-short-history-of-cartography/)
“portolan chart”
(https://www.britannica.com/technology/portolan-chart)
“Revolutionary Cartography and the Cassini Map of France”
(https://www.nypl.org/blog/2022/10/18/revolutionary-cartography-and-cassini-map-france)
“The Babylonian Map of the World with Irving Finkel | Curator’s Corner S9 Ep5”
(https://www.youtube.com/watch?v=LUxFzh8r384&t=607s)
“The heritage and cultural values of ancient Chinese maps”
(https://www.geogsci.com/EN/10.1007/s11442-017-1450-0)
“Wonderful world : Mercator's Atlas, 1613”
(https://www.joh.cam.ac.uk/wonderful-world-mercators-atlas-1613)