ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
ครั้งก่อน ผมชวนให้ใช้ใบอ่อนและใบเพสลาดของต้นกำจัด (หรือมะข่วง, พริกพราน) มาปรุงกับข้าว นอกจากที่ปรกติใช้เปลือกเม็ดแห้งให้กลิ่นรสเผ็ดซ่าชาลิ้นในน้ำพริกเผาหรือแกงหน่อไม้ใบย่านาง โดยหั่นเพียงหยาบๆ ใส่ผัดเผ็ดหรือแกงรสจัด แทนใบกะเพรา ใบโหระพา ใบมะกรูด ฯลฯ ปรากฎว่าได้กับข้าวจานใหม่ รสเป็นเอกลักษณ์ถูกใจ
โดยมีผลพลอยได้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ต้นกำจัด ซึ่งจะออกช่อเม็ดให้เก็บขายเก็บกินได้เพียงปีละครั้ง จนอาจรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าที่จะเก็บรักษาไว้ในพื้นที่ เสี่ยงต่อการถูกตัดโค่นทิ้งง่ายๆ ในที่สุด
ช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน ต้นกำจัดจะแตกช่อเม็ดอ่อนสีเขียวและจะแก่จัดเป็นสีแดงในเดือนสิงหาคม เมื่อเก็บลูกแก่จากต้นมาได้เพียง ๒-๓ วัน เปลือกจะแห้งเป็นสีน้ำตาล เราสามารถเก็บเปลือกนี้ไว้ใช้ทำกับข้าวได้นานข้ามปีทีเดียว
ผมเพิ่งค้นพบโอชารสของเม็ดกำจัดอ่อนเมื่อเดือนที่แล้วนี้เองครับ มันอร่อยจนอดไม่ได้ที่จะต้องขอเล่าเรื่องว่าด้วยเม็ดกำจัดซ้ำอีกครั้ง
เม็ดอ่อนนี้ เมล็ดในไม่แข็งมาก กลิ่นน้ำมันหอมระเหย และรสเผ็ดซ่ายังไม่รุนแรงเต็มที่ คนอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี บอกว่า บุบเม็ดพอแตก ใส่ปรุงในผัดกะเพรา ผัดเผ็ด กระทั่งน้ำพริกกะปิก็ใส่ได้ มันทำให้รสชาติเผ็ดแบบเดิม แผ่ซ่านกระจายในปากมากขึ้น
สูตรที่ผมค้นพบ และคิด (เอาเอง) ว่าอร่อยมากๆ นี้ ดัดแปลงง่ายๆ จากน้ำพริกพริกไทยอ่อนที่คนปักษ์ใต้นิยมทำกิน
เริ่มด้วยการตำน้ำพริกกะปิแบบมาตรฐาน ผมตำกระเทียม หอมแดง กะปิ เกลือป่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ให้เข้ากันก่อน แล้วใส่เม็ดกำจัดอ่อนลงบุบด้วยสากพอแตกเม็ด ปรุงรสเปรี้ยวเค็มหวานด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา และน้ำตาลปี๊บ ถ้ามีผลไม้เปรี้ยวอื่นๆ เช่น มะยม กระท้อน มะดัน ตะลิงปลิง มะม่วงหาวมะนาวโห่ เราจะหั่น สับ ซอยผสมในน้ำพริกก็ได้ โดยลดน้ำมะนาวลง หรือชักออกเสียเลยก็ได้
เอากระทะตั้งน้ำมันตั้งบนเตาไฟ ตักน้ำพริกในครกลงผัด เติมน้ำนิดหน่อย จากนั้นผมใส่กากหมูตำหยาบๆ ลงคลุกเคล้าให้เป็นเนื้อน้ำพริกผัดข้นๆ ชิมรสจัดๆ ตามต้องการ...แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยครับ
รสชาติเม็ดกำจัดอ่อนที่สุกในน้ำมันร้อนๆ จะเผ็ดฉุน ซาบซ่า อร่อยมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเราเคี้ยวไปโดนเปลือกของมัน ความซึ้งซ่านในรสอร่อยก็จะทบเท่าทวีคูณยิ่งขึ้น
ผู้รักรสลุ่มหลงใหลในโภชนากระยาหารรสวิเศษเลอเลิศ สมควรได้ทดลองชิมดูสักครั้งหนึ่งในชีวิตจริงๆ ครับ...