Image

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น
สำหรับนกนักล่า สิ่งน่าทึ่งที่ธรรมชาติมอบให้ไม่เพียงสายตาเฉียบตรวจจับเหยื่อที่อยู่ไกลหลายกิโลเมตรได้ จะงอยปากที่แข็งแรง โค้งมน และแหลมคม บวกกับ “ฟัน” ชนิดหนึ่งของกรามบนอันทรงพลัง ซึ่งเมื่อรวมกับส่วนที่ยื่นออกมาของกรามล่างแล้ว ช่วยให้มันสามารถฆ่า-หักคอเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพ : กตัญญู วุฒิชัยธนากร

เหยี่ยวนกเขา
ภารกิจอพยพฝ่าศูนย์กลางโลก

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
สนับสนุนการลงพื้นที่ :
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

เสาร์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมและตุลาคมทุกปี

สอดคล้องกับวงจรการอพยพของนกในซีกโลกต่าง ๆ ได้รับการจัดเป็น “วันนกอพยพโลก (World Migratory Bird Day)” ที่กลุ่มคนรักสัตว์ปีกเพียรหาวิธีสร้างความตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์ให้ผู้คนเห็นความสำคัญของ “ถิ่นที่อยู่อาศัย” และ “ภัยคุกคามที่นกอพยพกำลังเผชิญ”

หลายประเทศนิยมจัดกิจกรรม “เทศกาลดูนก” ในฤดูที่นกนานาชนิดทั้งกลุ่มนกบก นกทะเล นกชายเลน นกลุยน้ำ นกเป็ดน้ำ ไปจนนกล่าเหยื่ออย่างเหยี่ยวหรือนกอินทรีมีการอพยพสูงสุด ซึ่งจะมีช่วงเวลาต่างกันตามระยะเวลาที่พวกนกใช้พักอาศัยในเส้นทางอพยพ

บรรดาสถานดูนกล่าเหยื่อ “เขาดินสอ” จังหวัดชุมพรของไทยขึ้นชื่อระดับโลก

แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครรู้พฤติกรรม เพราะพวกมันอาศัยในพื้นที่ห่างไกลและมักย้ายถิ่น รู้เพียงเมื่อถึงเดือนกันยายนจนพฤศจิกายนจะมีฝูงเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เหยี่ยวหน้าเทา เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ฯลฯ ฝ่าอากาศหนาวจากจีน มองโกเลีย ไซบีเรีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน มาขอไออุ่น-อาหารแถบเขาดินสอที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลกับเทือกเขาตะนาวศรี-จุดแคบสุดของแหลมมลายู ทำให้บริเวณนี้มีอุณหภูมิเหมาะแก่การร่อนบิน จนเป็นสถานจัด “เทศกาลดูเหยี่ยวอพยพ” ที่นักดูนกทั่วโลกสนใจ

ไม่กี่ปีนี้มีองค์กรไทยสนับสนุนอุปกรณ์ให้นักวิจัยศึกษา “เส้นทางอพยพ” ของ “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน” กับ “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น” กระทั่งตุลาคม ๒๕๖๒ จึงประกาศอย่างเป็นทางการว่านี่เป็น “ครั้งแรกในอาเซียน” ที่มนุษย์ติดตามได้ว่าฝูงนกย้ายถิ่นมีวิถีสัญจรในรอบฤดูกาลอย่างไร 

เพราะมี “เหยี่ยว-ผู้ช่วยนักวิจัย” ฝ่าเวหา ๑๔,๕๓๒ กิโลเมตร กลับมายืนยันผลผ่าน “เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์” ตัวจิ๋วที่นักวิจัยขอให้ช่วยสะพายไปด้วย

kyeew… kyeew… kyeew… kyeew…

เจ้าของเสียงสูงแหลมคมพากันโฉบร่อนเหนือเขาดินสอทักทายเสียงดัง

และนี่คือบันทึกจาก “เฟิร์น-เหยี่ยวจอมอึด” ผู้บินไกลกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางโลก !

Welcome to เขาดินสอ

เกือบจะเหมือนเดิมกับทุกปีที่เมื่อฤดูร้อนใกล้สิ้นสุด

ซีกโลกตอนเหนือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว กลางวันสั้น-กลางคืนนาน อากาศเริ่มเย็น-อาหารเริ่มหายาก ฝูงสัตว์นานาชนิดในเอเชียตะวันออกที่ชอบความอบอุ่นจะทยอยอพยพหนีหนาว เหยี่ยวจำนวนมากก็เช่นนั้น สัญชาตญาณบอกให้พวกมันมุ่งลงทิศใต้ไล่มาตามแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พฤติกรรมของเหยี่ยวจะอพยพโดยยึดแผ่นดินเป็นหลัก) ผ่านคาบสมุทรไทย-มาเลเซียและหมู่เกาะในอินโดนีเซีย 

ตามจริงเมื่อถึงฤดูกาลนกอพยพใครอยู่พื้นที่ไหนก็มองเห็นได้ เพียงแต่เหยี่ยวต้องอาศัยลมร้อนดูดซึมความร้อนของผืนแผ่นดินช่วยยกตัวมันให้สูงขึ้นและไปข้างหน้าได้โดยไม่สูญเสียพลังงานเยอะเกิน ยิ่งกว่านั้นคือเรื่องความปลอดภัย ถ้าเหยี่ยวอพยพผ่านทะเลแล้วไม่มีเกาะกลางท้องน้ำให้พักเป็นระยะก็อาจทำให้มันเหนื่อยมากจนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ จุดผืนแผ่นดินจึงสำคัญต่อเส้นทางอพยพของนก

ถือเป็นความโชคดีที่จังหวัดชุมพรตั้งอยู่บน “คอคอดกระ” บนแหลมมลายูซึ่งอยู่ทางใต้สุดของทวีปเอเชียในส่วนที่แผ่นดินบีบแคบสุด ระยะจากฝั่งทะเลตะวันตกจดฝั่งตะวันออกกว้างแค่ ๕๐ กิโลเมตร สูงเหนือระดับทะเลปานกลางเพียง ๓๕๐ เมตร ทำให้เหยี่ยวต้องบินผ่านช่องแคบนี้โดยปริยาย ประกอบกับมี “เขาดินสอ” ตั้งอยู่ใกล้คอคอดกระชายฝั่งอ่าวไทย และเขานมสาว (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ที่อยู่ทางทิศเหนือช่วยให้เหยี่ยวได้อาศัยลมร้อนจากผิวดินในการยกตัวขึ้นร่อนบนท้องฟ้า ซึ่งกว่าจะบินสูงได้ ใครก็ตามที่อยู่บริเวณเขาดินสอจึงมีโอกาสเห็นพวกมันได้ชัดเจนในระดับสายตา 

Image

เหยี่ยวปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้หลากหลาย ทั้งทะเลทราย ภูเขา ป่าไม้ ทุ่งโล่ง กระทั่งชายฝั่งทะเล ขอแค่ที่นั่นชุกชุมด้วยเหยื่อโอชะอย่างสัตว์ฟันแทะและสัตว์สายพันธุ์เล็ก

เขาดินสอจึงเป็นจุดที่เหมาะสมต่อการเฝ้าศึกษาและเก็บข้อมูลเหยี่ยวอพยพ

แต่ที่ผ่านมายังเป็นความลับว่าเมื่อเหยี่ยวพ้นเขาดินสอแล้วไปไหนต่อ ทำอะไร ใช้เวลาเพียงใด รวมระยะทางเท่าไรจึงถึงบ้าน แล้วนกที่มาเขาดินสอปีถัดไปใช่ตัวเดิมไหม

คณะวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยและมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ จึงจับมือกันศึกษาเส้นทางอพยพ-จุดแวะพักสำคัญซึ่งอาจเป็นทั้งแหล่งหากินและแหล่งทำรังวางไข่ในฤดูหนาวของ “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน [Chinese Sparrowhawk (Accipiter soloensis)]” กับ “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น [Japanese Sparrowhawk (Accipiter gularis)]” โดยเก็บข้อมูลผ่าน “เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์” ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุน

“ที่จริงเรามีการสำรวจสัตว์ทุกชนิดบนเขาดินสอตั้งแต่ที่นี่ยังไม่ได้รับการพูดถึงแง่ท่องเที่ยว ในส่วนนกล่าเหยื่อ เริ่มศึกษาปี ๒๕๕๔ เราจะจับเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เหยี่ยวนกเขาหงอน และเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำมาสวมห่วงขาซึ่งเป็นโลหะขนาดเล็กน้ำหนักเบา หรือไม่ก็ติดวิทยุรับส่งสัญญาณการเคลื่อนไหวด้วยดาวเทียม จนปี ๒๕๕๙ ได้รับอนุมัติทุนวิจัยจาก สวทช. ให้เก็บข้อมูลเส้นทางบินของเหยี่ยวอพยพ ช่วง ๓ เดือนแรกพบว่ามีนกอื่นอีกราว ๕๐ ชนิด แต่โดดเด่นสุดต้องยกให้นกล่าเหยื่อเพราะมีจำนวนมากที่บินผ่านนับล้านตัวได้ แค่เหยี่ยวก็มีถึง ๓๘ ชนิดแล้ว ในบรรดาเหยี่ยวที่เราเคยทดลองดักจับแล้วสำเร็จมากสุดคือสองชนิดที่เลือกใช้วิจัย ชนิดอื่นบางทีผ่านไปเป็น ๑๐ ปีจับได้แค่ครั้งเดียวก็ไม่เหมาะจะใช้เป็นตัวอย่าง”

นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ อดีตนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ย้อนจุดเริ่มทำวิจัยโดยประสานความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งยังมีข้าราชการจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี สนับสนุนการติดตามอย่างต่อเนื่องมาเกือบ ๑๐ ปี

“ผมว่าเวลานี้ยังไม่มีที่ไหนในโลกเหมาะเป็นแหล่งศึกษาเหยี่ยวหรือนกล่าเหยื่อดีเท่าเขาดินสอ ทุกปีจะมีชาวต่างชาติที่สนใจมุ่งมาที่นี่ เดินขึ้นเขาแต่เช้า อยู่บนเขาวันละหลายชั่วโมงเพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของเหยี่ยวที่อพยพผ่าน ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นตราบที่เขาดินสอยังเงียบสงบ อุดมด้วยผืนป่าเขียวขจี มีแหล่งอาหารสมบูรณ์แก่สัตว์ ไม่เป็นชุมชนเมืองมากเกินไป”

เพราะแหล่งอาหารสำคัญสำหรับนกอพยพทุกชนิดไม่เพียงฤดูผสมพันธุ์ยังรวมถึงการสะสมพลังไว้ใช้ตลอดเส้นทางอันยาวไกล ระหว่างทางพวกนกจึงต้องเสาะหาอาหาร-เหยื่อตามทุ่ง นา ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ ฯลฯ เพื่อเติมพลังงานเป็นระยะให้ตนอยู่รอด

ในวันที่มาได้พบชาวต่างชาติตรงจุดดูนกที่ทางศูนย์ศึกษาธรรมชาติเขาดินสอจัดให้นักท่องเที่ยวชื่นชมสัตว์ปีก-สมบัติของธรรมชาติท่ามกลางทิวทัศน์ที่หันหน้าออกทะเล ตอนแรกเป็นคู่รักชาวออสเตรเลียที่กำลังซุ่มดูนกนานาชนิด อีกเดี๋ยวก็มีชาวอังกฤษผู้เดินทางมาไทยเพียงลำพังมาสมทบและกลายเป็นเพื่อนใหม่โดยง่ายเพราะต่างเป็นนักดูนก เพลิดเพลินกับการมองไปยังท้องฟ้า

สวนทางกับสายตาเฉียบแหลมของเจ้าเหยี่ยวที่จะมองลงพื้นดิน จากเวหาจะเห็นทิวทัศน์ทะเลสามอ่าว (อ่าวบ่อเมา อ่าวทุ่งวัวแล่น และอ่าวสะพลี) มีภูเขาใหญ่ปกคลุมด้วยแมกไม้หนาแน่นตัดกับสีฟ้าของทะเล ทิศตะวันออกเห็นไกลถึงอำเภอบางสะพานน้อยของประจวบคีรีขันธ์ที่อยู่ติดชายฝั่งอ่าวไทย ตะวันตกเห็นถึงเขตแดนบางส่วนที่อยู่ติดประเทศเมียนมา ซึ่งแม้ตัวมันจะอยู่สูงกว่าพื้นดิน ๑.๕ หมื่นฟุต แต่หากพบเหยื่อโอชะแม้มีขนาดเล็กอย่างงู หนู ก็ถลาลงโฉบอย่างแม่นยำ !

แต่นั่นเอง...อาจทำให้ติดกับดักตาข่ายที่นักวิจัยขึงไว้ต้อนรับ

เสน่ห์ที่ทำให้นักรักษ์นกจากทั่วโลกมุ่งสู่เขาดินสอไม่ใช่แค่ชื่นชมการแสดงผาดโผนกลางอากาศ แต่การ
ได้จับจ้องเฝ้ารอนาทีสำคัญของนกนักล่าคือความท้าทายยิ่ง เพราะเพียงพริบตาของมนุษย์อาจพลาด การได้เห็นเหยี่ยวบางตัวพุ่งถลาจากที่สูงเพื่อตะครุบเหยื่ออย่างรวดเร็วจนน่าประหลาดใจ

ถ้าซูมเข้าไปใกล้ฝูง “เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ” (Black Baza) จะเห็นหน้าอกตอนบนมีแถบกว้างสีขาวและมีแถบดำพาดขวางลงมายังอกตอนล่าง จากอกถึงท้องก็มีลายพาดขวางสีน้ำตาลอมแดงสลับขาวเรียงลงมา ปีกสีดำของพวกมันมีลายจุดสีขาวและน้ำตาลแดงแต้มไว้ห่าง ๆ  เสียดายที่มุมแหงนคอมองทำให้ไม่ได้เห็นส่วนหัวที่มีขนตั้งขึ้นเป็นลักษณะหงอน เราอาจพบพวกมันได้ตามป่าในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในไทยพบได้ง่ายที่เขาดินสอในช่วงฤดูกาลอพยพ  
ภาพ : กตัญญู วุฒิชัยธนากร

Image

เหยี่ยวหน้าเทา (Grey-faced Buzzard) พบได้ในป่าโปร่ง พื้นที่ชุ่มน้ำ ทำรังผสมพันธุ์ในญี่ปุ่นและเกาหลี และอพยพลงมาทางใต้ในช่วงฤดูหนาว
ภาพ : กตัญญู วุฒิชัยธนากร

Image

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน (Chinese Sparrowhawk) มีหนังคลุมจมูกสีส้ม หัวสีเทา ลำตัวด้านบนสีเทา อกสีส้มอ่อน ท้องขาวมีลายพาดขวางจาง ๆ สีส้มอ่อน แข้ง-ตีนสีเหลืองอมส้ม หางเทามีแถบสีเข้มตรงปลายหาง สังเกตเพศได้ง่ายจากตัวผู้-ม่านตาสีแดง ตัวเมีย-ม่านตาสีเหลือง 
ภาพ : กตัญญู วุฒิชัยธนากร

“การแลกเปลี่ยนเหยื่อในอากาศ” เป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจ เมื่อเหยี่ยวตัวผู้จะเริ่มต้นวงจรสืบพันธุ์มันจะใช้วิธีเกี้ยวพาราสีโดยบินผาดโผนและส่งเหยื่อที่ล่ามาได้แก่ตัวเมีย แต่ไม่ง่ายที่สายตามนุษย์จะทันเห็น

เฟิร์น & satellite

สัตว์ป่าบางตัวถูกกำหนดให้เป็นผู้เพิ่มพูนความรู้แก่มนุษยชาติ

แทนที่จะเป็นเหยี่ยวอพยพทั่วไป มันจึงมีหน้าที่ดั่งผู้ช่วยนักวิจัย

และในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ คณะวิจัยก็ได้พบ “เฟิร์น” 

“หลักการคือเราจะเลือกจุดติดตั้งตาข่ายโดยพิจารณาพื้นที่โล่ง เพราะถ้าต้นไม้เยอะนกจะบินตํ่าลงมาไม่ได้ จากนั้นรอเวลาช่วงเช้าประมาณ ๗-๙ โมง หรือกลางวันที่อากาศดีมีลมแรงเหยี่ยวจะบินลงมาหากิน อาจมีบางตัวติดตาข่ายที่เราทำขึ้นพิเศษ คือเป็นตาข่ายแบบพรางตาและมีถุงรองรับนกที่ดักได้ตาข่ายละตัว เมื่อนกบินมาติดก็จะตกใส่ถุง นักวิจัยจะอาศัยจังหวะนี้รวบปีกขึ้นมา”

แอนดรูว์ เจ. เพียร์ซ (Andrew J. Pierce) ผู้เชี่ยวชาญสังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เล่าขณะนำเดินขึ้นเขาดินสอ

เมื่อผ่านจุดที่ขึงตาข่าย เขาสมมุติท่ารวบปีกว่าต้องระวังขานกด้วย ถ้าถูกเล็บเหยี่ยวเกี่ยวผิวจะเจ็บมาก เพื่อให้ใกล้เคียงความรู้สึกจึงเน้นลากเสียงคำว่ามากเป็นพิเศษ

“เวลาจับนกจะใช้วัสดุทึบแสงคลุมหัวนกเพื่อลดความตื่นกลัว แล้วให้สัตวแพทย์ตรวจสุขภาพ ชั่งน้ำหนัก วัดขนาดลำตัว ใส่ห่วงขา การติดตามนกโดยใส่ห่วงขาเป็นวิธีสากลที่ทำมาเป็น ๑๐ ปีแล้ว สามารถใช้สื่อสารกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ของแต่ละประเทศที่นกบินไปพักได้เช่น ถ้ามีผู้พบนกในงานวิจัยของไทยที่อินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่ประเทศนั้นก็จะส่งข่าวให้เรารู้”

แอนดรูว์เล่าว่าตัวเขาเป็นสมาชิกกลุ่มนักดูนกมาก่อนที่จะเลือกศึกษาและทำงานวิจัยเรื่องเหยี่ยวอย่างจริงจัง มีเครือข่ายรวมถึงอาจารย์ในประเทศต่าง ๆ ที่ทำวิจัยเรื่องนกและตั้งตาข่ายดักนกอยู่มาก

“ปรกติถ้าใส่ห่วงขาไปจากเราก็จะมีทีมดูนกอพยพในประเทศอื่นที่เขาตั้งตาข่ายดักช่วยเป็นหูเป็นตาให้ แต่กลับไม่เคยได้รับรายงานว่ามีทีมไหนพบนกที่เราใส่ห่วงขาเลย กระทั่งเราสังเกตว่านกที่ใส่ห่วงไป ๓๐๐-๔๐๐ ตัวตั้งแต่เกือบ ๑๐ ปีที่แล้วไม่มีตัวไหนที่เราจับได้ซ้ำ จึงไม่สามารถติดตามผลได้”

น่ายินดีที่ครั้งนี้ สวทช. สนับสนุนการเก็บข้อมูลงานวิจัยเส้นทางอพยพของเหยี่ยวนกเขาผ่าน “เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ (GPS satellite)” ซึ่งรู้กันว่าราคาสูงลิบโดยเฉพาะการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม ที่นอกจากช่วยให้ศึกษาพฤติกรรมและติดตามพื้นที่ใช้ประโยชน์ของเหยี่ยวตัวนั้น ๆ ได้อย่างแม่นยำ ยังให้ข้อมูลที่ละเอียดมาก

ในไทยมีการใช้ “เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ (GPS satellite)” นี้กับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเหยี่ยวด้วย เช่นที่ห้วยขาแข้งใช้กับเต่า เสือโคร่ง อีเห็น ชะมด และสัตว์ป่า อีกหลายชนิด

Image

ตัวอย่างนกสตัฟฟ์ของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับที่คณะวิจัยใช้ศึกษา

“อุปกรณ์ satellite นี้ในต่างประเทศก็ใช้ศึกษานกอยู่ ผมจึงสั่งซื้อจากอเมริกา อันที่จริงในไทยก็ใช้เทคโนโลยีวิทยุติดตามตัวกับนกประจำถิ่นในหลายพื้นที่ แต่เป็นวิทยุคนละระบบ เพราะนกประจำถิ่นใช้อาณาเขตในการวิจัยไม่กว้าง แต่เราจะเก็บข้อมูลนกที่อพยพมาไกลมาก นอกจากศึกษาเส้นทางก็อยากรู้เรื่องความสูงของการบิน ถิ่นที่อยู่ในแต่ละจุดพัก รวมถึงเหยี่ยวแต่ละตัวบินได้กี่กิโลเมตรต่อวัน จึงต้องเลือกใช้ระบบที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ซึ่งอุปกรณ์ satellite ตอบโจทย์ด้านความแม่นยำในขอบเขตระยะทางไกลได้ดี”

ด้วยศักยภาพของเครื่องมือยังให้ข้อมูลเชิงลึกได้ว่า เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนมีรูปแบบอพยพที่เหมือนหรือต่างจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น ชนิดไหนบินเร็วหรือไกลกว่า ตัวเมียหรือตัวผู้มีความสามารถในการบินมากกว่า แต่จะมีข้อมูลยืนยันคำตอบได้ก็ต้องอาศัยจำนวนติดตั้งเครื่องมือมากกว่านี้ ยิ่งต้องการข้อมูลละเอียด ทุกชั่วโมงที่จับสัญญาณล้วนคือค่าใช้จ่าย ซึ่งโครงการนี้ยังจำกัดความหวังไว้กับผู้ช่วยนักวิจัยได้เพียงแปดตัว เป็นเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนกับเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นชนิดละสี่ตัว

“แล้วไม่ใช่เหยี่ยวตัวไหนก็ได้ อุปกรณ์มีน้ำหนัก ๕ กรัม เป็นเครื่องมือคล้องไว้ที่ปีกคล้ายนักเดินทางสะพายกระเป๋าเป้ ซึ่งตามหลักการน้ำหนักอุปกรณ์ต้องไม่เกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวนก เป็นเกณฑ์ที่ผ่านการทดสอบว่าปลอดภัย ไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมใช้ชีวิตและอัตรารอดชีวิต เหยี่ยวที่เราต้องการจึงต้องโตเต็มวัยและมีน้ำหนักอย่างน้อย ๑๕๐ กรัม เล็กกว่านั้นไม่ได้”

ตัวเมียได้รับเลือกเพราะมีความแข็งแรง น้ำหนักตัวมาก และอาจได้ข้อมูลแหล่งวางไข่ฤดูหนาว

ซึ่งเฟิร์น-เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนก็ผ่านเกณฑ์ จึงได้ยกฐานะเป็นผู้ช่วยนักวิจัย

“ในการติดตั้งต้องปรับสายสะพายให้พอดีลำตัวนก อุปกรณ์แนบชิดตัวนกที่สุด เราใช้เชือกชนิดพิเศษเป็นเส้นใยจากเทฟลอนที่แข็งแรง ป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เลื่อนหลุดหรือกลายเป็นอันตรายแก่นก ขั้นตอนติดตั้งเบ็ดเสร็จไม่เกิน ๓๐ นาที แล้วปล่อยนกคืนสู่ธรรมชาติ”

หลังจากนั้นทุก ๒ วันจะเช็กสัญญาณดาวเทียมติดตามเส้นทางใช้ชีวิตของนกผ่านเว็บไซต์ http://www.argos-system.org/ หรือแอปพลิเคชัน CLS view  เทคโนโลยีนี้แม่นยำในระยะ ๐.๕-๑.๕ กิโลเมตร ตัวเครื่องชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ ชาร์จครั้งหนึ่ง ๔๘ ชั่วโมง ใช้งานได้ ๑๐ ชั่วโมง แล้วทำการชาร์จต่อ เป็นเช่นนั้นตลอดอายุเครื่องนานอย่างน้อย ๑ ปี ซึ่งพอดีกับช่วงเวลาที่นักวิจัยต้องการข้อมูล

ทันทีที่เฟิร์นกับเหยี่ยวสาวรวมแปดตัวทะยานสู่ท้องฟ้าพร้อมภารกิจที่รับมอบหมาย

การใช้ชีวิตปรกติของพวกมันจากนี้จะมีความหมายต่อองค์ความรู้ของมนุษยชาติ

Image

แผนที่แสดงเส้นทางอพยพ
เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน
และเหยี่ยวนกเขา
พันธุ์ญี่ปุ่น

อ้างอิงแผนที่จาก : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

เฟิร์น Journey

หลังติดตามบันทึกอัตราจับสัญญาณของอุปกรณ์ satellite ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๑ 

ตุลาคม ๒๕๖๒ คณะวิจัยก็พร้อมบอกเล่าประสบการณ์น่าตื่นเต้นสู่สาธารณะ

รูปแบบย้ายถิ่นของนกมีหลากหลาย ทั้งใช้ทิศสนามแม่เหล็กโลก ใช้ตำแหน่งขึ้น-ลงอาทิตย์ จันทร์ และดาวสำหรับรักษาเส้นทาง หรือสืบความรู้รุ่นสู่รุ่น โดยมากการอพยพเกิดระหว่างพื้นที่ซีกโลกเหนือตอนบนกับตอนล่างของทวีปในแนวเหนือ-ใต้ เพราะมีแผ่นดินกว้างกว่าและการเปลี่ยนแปลงอากาศมีความต่างชัดเจน นกและเหยี่ยวอพยพที่พบในไทยส่วนใหญ่ก็เป็นแนวเหนือ-ใต้ 

แต่คราวนี้ได้รับความรู้ละเอียดขึ้นอีกว่าสถานที่ใดบ้างคือเป้าหมายพักแรม

“ในบรรดาเหยี่ยวแปดตัวที่ได้รับติดตั้งเครื่องมือ มีเพียงสองตัวที่บินกลับมาเขาดินสอในปีถัดมา คือ ‘เฟิร์น’ กับ ‘เฮรา’ เป็นเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนทั้งคู่ แต่เฟิร์นคือแชมป์ที่บินครบลูปก่อนด้วยระยะทางทั้งสิ้น ๑๔,๕๓๒ กิโลเมตร ไม่น่าเชื่อเลยว่านกตัวเล็ก ๆ จะบินได้ไกลกว่าระยะเส้นผ่านศูนย์กลางโลก”

รงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มจธ. เผยแผนที่จากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงผลการติดตามเจ้านกล่าเหยื่อขนสีเทาน้ำตาลที่ได้จากบันทึกอัตราการจับสัญญาณจนครบรอบการอพยพ ทำให้รู้ว่าเมื่อเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนออกจากเขาดินสอแล้วจะลงใต้ไปยังตะวันออกของ “เกาะนูซาเติงการา (Nusa Tenggara Timur)” ในจังหวัดทางใต้สุดของอินโดนีเซียซึ่งมีพรมแดนทางบกร่วมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต 

“เป็นครั้งแรกของโลกเลยนะที่มีรายงานว่ามีนกเหยี่ยวอพยพบินไกลถึงติมอร์-เลสเต” รงรองขยายความว่าพวกมันส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ที่นั่น ๗๐-๘๐ วัน ส่วนเฟิร์นมีหลักฐานว่าอยู่ช่วงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ถึง ๘ มีนาคม ๒๕๖๑ ก่อนจะตามเพื่อน ๆ อพยพกลับไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของจีนประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 

ช่วงกลางวันที่ยาวในฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกตอนเหนือกระตุ้นให้เกิดการอพยพกลับของสัตว์ โดยเฉพาะพวกนกที่ต้องการฟักไข่โดยไม่ใช้เวลานานเกินไป หรือต้องการแหล่งอาหารเลี้ยงลูกนก

“ขณะเฟิร์นบินไปลงประเทศติมอร์-เลสเต เกิดหลงทางบินเหนือทะเลอย่างโดดเดี่ยวนานถึง ๑๐ ชั่วโมงโดยแทบไม่ได้แวะพัก คาดว่าอาจเป็นแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง จากนั้นมันก็บินต่อจนถึง ‘กว่างซีจ้วง’ ประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นทางที่เริ่มอพยพ”

ทว่าเขตตอนเหนือของโลก ฤดูร้อน-อบอุ่นมักมีเวลาแสนสั้น พวกนกต้องเร่งออกไข่เร่งเลี้ยงลูกจิ๋วตามไปด้วย เพราะไม่นานก็ต้องเตรียมอพยพหนีหนาวลงใต้ไปยังภูมิภาคเขตร้อนอีกแล้ว

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและพันธุ์ญี่ปุ่นมีวงจรชีวิตคล้ายกัน ทั้งเรื่องอาหาร อพยพ ผสมพันธุ์และวางไข่ เมื่อพวกมันเริ่มต้นจับคู่ผสมพันธุ์ที่ถิ่นเกิดแล้วจะทำรัง-วางไข่ในป่าสนหรือป่าเลียบแม่น้ำวางไข่ ๒-๕ ใบ พ่อ-แม่จะช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกในรังจนกว่าฤดูกาลอพยพจะมาถึงอีกครั้ง

Image

ข ไข่ของเหยี่ยว
เป็นไปไม่ได้ที่จะออกเดินทางตามรอยเส้นทางอพยพของเหยี่ยวเป็นไปได้ยากที่เราจะมีโอกาสพบไข่ของเหยี่ยวในพื้นที่ผสมพันธุ์ จึงเป็นเรื่องดีที่ไทยมี “พิพิธภัณฑ์ไข่นก” ในสวนนกชัยนาท ช่วยรวบรวมไข่ของเหยี่ยวจากทั่วโลกให้เราศึกษาวงจรชีวิตช่วงหนึ่งของนกตัวอย่างไข่ที่ยกมาเพียงแสดงรูปทรง ลวดลาย สีสันอันหลากหลาย  แต่ไม่ใช่การลำดับเปรียบเทียบสัดส่วนจริงของไข่เหยี่ยวแต่ละชนิด

บันทึกของเฟิร์นระบุว่า ใช้เวลาอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนช่วงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ถึง ๗ กันยายน ๒๕๖๑ ก่อนจะตามเพื่อน ๆ มายังเขาดินสอ และกลายเป็นเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนตัวแรกที่บินครบรอบ ทำหน้าที่สมบูรณ์ในฐานะผู้ช่วยนักวิจัย

“ส่วนเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น ทีมวิจัยรับสัญญาณจากเหยี่ยวได้เพียงหนึ่งตัว และติดตามได้แค่พื้นที่บน ‘เกาะบังกาเบลีตุง’ ส่วนหนึ่งของเกาะสุมาตราและ ‘เกาะบอร์เนียว’ ในอินโดนีเซีย ซึ่งมันเลือกใช้อาศัยช่วงฤดูหนาวและอยู่บริเวณนี้ราว ๑๓๐-๑๗๐ วัน ก่อนอพยพกลับขึ้นทางเหนือไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในแคว้นอามูร์ทางตะวันออกของรัสเซีย จากนั้นสัญญาณก็ขาดหาย...”

โดยปรกติเป็นได้ว่าหากนกพักหากินในที่ร่มครึ้มการส่งสัญญาณจะหายไปบางช่วง แต่ถ้าขาดไปนานอาจหมายถึงนกตัวนั้นอยู่ในสภาวการณ์ไม่ปรกติ แม้ธรรมชาติจะออกแบบโครงสร้างให้นกปรับตัวได้ดีเพื่อใช้ชีวิตในอากาศ ทั้งขนปีก หาง กระดูก ปอด โพรงอากาศในเนื้อเยื่อ ระบบเผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงานเพื่อดำรงชีพ แต่แหล่งอาหารที่ “สมบูรณ์และปลอดภัย” ก็จำเป็นมากที่สุด

จะอย่างไรคณะวิจัยก็บันทึกเส้นทางอพยพของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นได้แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพียงว่า ช่วงเวลา ๕๐ วัน มันสามารถเดินทางในระยะ ๗,๖๙๙ กิโลเมตร

“เราเพิ่งทดลองติดเครื่องมือให้เหยี่ยวแค่แปดตัว โดยวัดผลรอบปีเดียว การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นผลการศึกษาเบื้องต้น ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในส่วนอัตราการรอดชีวิตของเหยี่ยวอพยพ อนาคตหากเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มจำนวนติดตั้งเครื่องมือได้ก็อาจนำไปสู่ข้อมูลใหม่”

Image

แอนดรูว์ เจ. เพียร์ซ นำชมพื้นที่วางกับดักตาข่ายบนเขาดินสอที่ขึงไว้ต้อนรับผู้ช่วยนักวิจัยบางตัว

ยิ่งหากเส้นทางอพยพในแต่ละปีมีความชัดเจนก็จะเป็นประโยชน์ “ด้านอนุรักษ์”

“เช่น ถ้าเหยี่ยวจำนวนหนึ่งบินไปหยุดพักที่จุดสำคัญซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีมนุษย์ใช้ประโยชน์ หรือมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและทุ่งหญ้าดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่เกษตร ไม่ว่าจะปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา หรือพืชสกุลอะเคเซีย แล้วสัญญาณจากเครื่องมือติดตามเกิดขาดหายเหมือนกันหรือหายไปจากจุดใดจุดหนึ่งซ้ำ ๆ ก็อาจเพียงพอให้สันนิษฐานว่าบริเวณนั้นน่าจะมีการล่านก…” 

ทีมวิจัยไทยจึงแบ่งปันการศึกษานี้แก่ผู้เกี่ยวข้องในต่างแดน หวังให้เกิดการตรวจสอบ เพราะพื้นที่ดังกล่าวอาจมีการล่าสัตว์ หมายรวมถึงสัตว์อพยพอื่นนอกจากเหยี่ยว 

ไม่เฉพาะการเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ยาฆ่าศัตรูพืชและสารกำจัดวัชพืชที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องพืชผลแต่เป็นอันตรายต่อเหยื่อซึ่งเป็นแหล่งโปรตีน-พลังงานสำคัญก็ย่อมส่งผลต่อการอยู่รอดของนก เพราะโดยวิถีนกอพยพจะมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมศัตรูพืชในระบบนิเวศอยู่แล้ว (นกหลายชนิดทำหน้าที่ผสมเกสรแทนแมลงโดยเคลื่อนย้ายเมล็ดพืชและสารอาหารไปทั่วโลก) การมีเหยื่อบางชนิดมากเกินโดยไม่มีนก-นักล่าตามธรรมชาติอาจเกิดการระบาดที่ทำลายเกษตรกรรมด้วยซ้ำ ยังมีเรื่องการพัฒนาจากป่าสู่เมืองในหลายเส้นทางอพยพของนกที่มีแสงรบกวนกระทบต่อแหล่งอาหาร กระเทือนถึงแหล่งทำรังวางไข่ ทำให้การขยายพันธุ์ของนกเกิดระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง 

หากเราฟังภาษาของเฟิร์นได้ ในวันที่บินกลับมาเยือนเขาดินสออีกครั้งอาจได้ยินมันกู่ก้องฟ้า

“kyeew… kyeew… kyeew… kyeew…

“สวัสดี เราคือผู้รอดชีวิตตลอดเส้นทางอพยพ โปรดช่วยให้พวกเราได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง”
...
วันนกอพยพโลก ปี ๒๕๖๗

ชาวรักนกทั่วโลกยังคงรณรงค์ผลักดันนโยบายอนุรักษ์ เน้นย้ำให้รัฐบาลออกมาตรการเชิงรุกลดใช้ยาฆ่าแมลง-ปุ๋ยเคมี ส่งเสริมทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงรักษาผืนป่า-พื้นที่เกษตรกรรมอันเป็นแหล่งอาหารและพักพิงของนกอพยพ เนื่องจากการบินระยะไกลนั้นเกี่ยวข้องกับการข้ามพรมแดนหลายแห่งที่มีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรการอนุรักษ์ที่ต่างกัน จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศตลอดเส้นทางบินอพยพด้วย และเป็นเรื่องด่วนที่ทุกรัฐบาลควรเริ่มทันที