ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
บูโดโมเดล
ปรีดา เทียนส่งรัศมี
นักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก พื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี
จากจุดเริ่มต้นสู่ตำนาน งานวิจัย“นกเงือก” (ภาคสนาม)
กว่า ๔ ทศวรรษ
สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก
ขอขอบคุณ คุณจีระ พสุพรพงศา
ประจำอยู่ที่บูโด
ผมมาถึง (บูโด) ปี ๒๕๓๙ มาอยู่จริง ๆ ปี ๒๕๔๑ แต่ก่อนอยู่ห้วยขาแข้ง เขาเขียว เก็บข้อมูลนกเงือกคอแดง แทบไม่เจอคนเลย พอมาเจอคนก็ต้องปรับตัว อาศัยว่าอยู่ป่ามาก่อน รู้ว่าธรรมชาติของป่าของคนคือความจริงใจ การให้เกียรติสำคัญ
ผมอาสามาเอง อยากเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนราธิวาส ตอนนั้นเขาบอกจะไปได้เหรอ ภาคใต้ไม่สงบนะ ผมไม่สนใจ ไม่ได้คิดถึงความสงบ ความปลอดภัย ผมอยากจะมาเรียนรู้ธรรมชาติ เขาบูโดชันมาก ถ้าไม่มาตอนวัยรุ่นหมดโอกาสนะ ผมตัดสินใจแล้ว และมันใช่ ดีใจครับที่อาจารย์พิไลให้โอกาส
พอมาอยู่แล้วผมคิดว่ามันยิ่งใหญ่ เขาลูกเล็ก ๆ แต่หลากหลาย ผมไม่เคยเรียนรู้มากมายขนาดนี้ บรรยายไม่ถูก ต้องมาเห็นกับตาถึงจะรู้ว่า rainforest ภาคใต้ยิ่งใหญ่แค่ไหน ไม่ใช่เฉพาะบูโด ยังมีฮาลา-บาลา
นกเงือกเป็นสื่อที่นำพาผมเข้าป่า เจอพื้นที่สวย ๆ เจออะไรดี ๆ เจอเพื่อนที่ดี เจอคนมีน้ำใจ
เด็กลูกทุ่ง
ผมเป็นเด็กลูกทุ่ง เด็กบ้านนอก อยู่กับป่ากับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็กจะรู้สึกผูกพัน คิดว่าธรรมชาติมีสิ่งที่น่าเรียนรู้มาก ๆ อย่างเจอนกตัวหนึ่งก็อยากจะรู้ว่ามันทำรังแบบไหนออกลูกเวลาใด
บ้านผมอยู่บางสะพาน อยู่ใกล้ทะเล ตอนเด็ก ๆ ก็เที่ยวป่า ยิงนกตกปลาตามประสา ไม่ได้เอามากินหรอก แต่อยากเห็นมันใกล้ ๆ ไม่มีผู้ใหญ่แนะนำ ไม่มีกล้องสองตา (binoculars) คิดว่านกตัวนี้สวยก็ได้แต่เรียนรู้ไปตามกลุ่มวัยรุ่น พยายามหาความรู้เรื่อย ๆ หนังสือที่ชอบตอนเด็ก ๆ คือ ป่าในบ้าน ของ ทองทิว สุวรรณฑัต อ่านแล้วรู้สึกเหมือนว่าสัตว์มีชีวิต เหมือนมีคนคุยกับมันรู้เรื่อง ถ้าเราเรียนรู้มันก็จะเข้าใจ สื่อสารกับมันได้
เมื่อก่อนยังไม่รู้ว่าการอนุรักษ์เป็นอย่างไร งานวิจัยเป็นแบบไหน ยังไม่ค่อยรู้เรื่องนก แต่ผมใฝ่เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก มีคุณอาเป็นไอดอล ผมจะพิเศษกว่านักวิจัยคนอื่นคืออาจารย์พิไลเป็นคุณอาของผม เหมือนเจอขุมทรัพย์ เป็นของขวัญให้เราเลย ผมพยายามทำตามที่อาจารย์บอกและสอน คิดว่ามันคือเส้นทางที่ถูกต้อง เพราะอาจารย์มีประสบการณ์ เป็นทั้งไอดอลทั้งหัวหน้า
เรื่องธรรมชาติเป็นห้องเรียนยิ่งใหญ่ที่สุด เรียนรู้ไม่สิ้นสุด ไม่จบสิ้น แต่ค่อย ๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย เก็บต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ธรรมชาติช่วยเราได้ แล้วจะสนุก ได้ความรู้ใหม่ ๆ มากมายเมื่อเข้าไปอยู่กับมันจริง ๆ
“คุณลองมาสัมผัสดูแล้วจะรู้ว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้น่ากลัว
อย่างที่จินตนาการปรุงแต่งกันเลย มีทะเล มีธรรมชาติ มาขึ้นเขาบูโดสักครั้งในชีวิต ลองดูแล้วจะรู้ว่าประเทศไทยมีแบบนี้”
กฎของคนอยู่ป่า
ไปป่าเราก็ให้เกียรติพื้นที่ที่สัตว์ป่าอยู่ ป่าก็คือบ้านของสัตว์ป่า เราไม่ส่งเสียงดัง รบกวนให้น้อยที่สุด เป็นกฎของคนอยู่กับป่าอยู่แล้ว เป็นกฎของทุกคนว่าไปบ้านคนอื่น บ้านชาวบ้านเราก็ต้องรบกวนน้อยที่สุด ต้องให้เกียรติมากที่สุด
เหมือนกับต้นไม้ที่นกอาศัย ไปแตะไปต้องไปยุ่งไปเกี่ยวไม่ดี ไปเรียนรู้อย่างเดียวในธรรมชาติ ผมถูกปลูกฝังมาอย่างนี้
คนอยู่กับธรรมชาติ คนอยู่ป่า คนเห็นแก่ตัวอยู่ไม่ได้ ผมถึงประทับใจคนมุสลิมอยู่กับป่า อยู่กับธรรมชาติ ไม่ต้องห่วงเลยไปที่ไหนเขาใจดี ผมอยู่ที่นี่มาราว ๓๐ ปี อยู่ได้อย่างมีความรู้ และมีความรู้ใหม่ ๆ จากธรรมชาติ ได้เอาความรู้ที่ร่ำเรียนมาด้านศิลปะสอนเด็ก ๆ ผมมีความสุข อาจารย์พิไลมีความสุข นี่เป็นเป้าหมายของท่านอยู่แล้ว ถึงเราอาจจะไม่ได้เศษเสี้ยวของอาจารย์ แต่ก็ทำตามที่อาจารย์บอกอย่างดีที่สุดแล้ว
คุณสมบัติของนักวิจัยภาคสนาม
คุณสมบัติของนักวิจัยภาคสนามคือต้องมีใจรักในธรรมชาติ มีน้ำใจ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา สามสิ่งนี้ผมว่าสำคัญ แล้วอีกอย่างคือต้องมีร่างกายแข็งแรงด้วยนะ
นักวิจัยนกเงือกต้องแข็งแรง ถ้าอ่อนแอคงทำไม่ได้ เพราะนกเงือกอยู่ในป่า เขาสูง เราต้องใช้กำลังเดินไปหามัน คนมีอายุนี่ยากจะทำงานวิจัยนกเงือก หมดสิทธิ์เห็นความงดงาม หมดโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ผมจะบอกให้ฟัง ไม่ต้องเชื่อนะ จากประสบการณ์ผมคิดว่าเส้นทางสายนี้คนที่ไม่แข็งแรงหรือไม่รักจริงจะหมดโอกาส คนรุ่นใหม่อายุยังน้อยถ้าอยากเดินเส้นทางสายนี้ขอให้รีบตัดสินใจให้กล้าหาญ อย่าเอาเวลาวัยรุ่นไปอยู่ที่หน้าจอหรือในห้องแอร์เลย เพราะธรรมชาติ ร่างกายเราไม่รอเรา รีบเรียนรู้ ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นกเงือกสอน
ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือ ชีวิตของเขาเป็นอย่างนั้น ดูแลครอบครัวอย่างดี เผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่นด้วย ผมดูแล้วนกเงือกปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เวลาเขาแพร่กระจายเมล็ดเขาไปทั่ว ไม่ได้กำหนดว่าตรงไหน เมล็ดไม้ใหญ่ ๆ นี่นกเงือกปลูกทั้งสิ้นเลย เพราะไม่มีสัตว์ชนิดไหนพาไปได้ไกล ๆ ปลูกแล้วเขาไม่ได้กินเองนะ ผมไปที่ไหนก็อยากจะเป็นแบบนกเงือก เอาผลไม้ไปปลูกที่โน่นที่นี่ ปลูกในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ใครจะกินก็ได้ นกเงือกก็เหมือนกัน สัตว์ตัวไหนจะมากินผลไม้ก็ได้ ไม่หวง ไม่มีขอบเขต ไม่เหมือนคน มีไร่ปลูกพืช สัตว์มากินหน่อยฆ่ามันไล่มัน
มีคนกลุ่มหนึ่งที่ผมประทับใจ นกเงือกนี่แหละพาผมไปพบ ก็คือกลุ่มซาไก โอรังอัสลี สอนว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์จริง ๆ ต้องแบบนี้ ผมว่านะแบบโบราณไม่สะสม ไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปัน แค่นี้จบแล้ว เขาดำเนินชีวิตมาเป็นพันปี อยู่กับป่า อยู่กับธรรมชาติ
นกเงือกนี่สอนผมหลาย ๆ อย่าง พาไปหลาย ๆ แห่งที่สร้างสรรค์ ได้ทำงานศิลปะ พบมิตรภาพใหม่ ๆ เจอเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่มาช่วยเหลือกัน มีน้ำใจ ผมประทับใจนกเงือกที่พาเราไป
เพื่อนร่วมโลก
ผมอยู่กับนกเงือกมาเกือบครึ่งชีวิต มันคือเพื่อนที่น่ารักมาก ถ้าเรียนรู้จะรู้ว่าพฤติกรรมมันเป็นอย่างนี้นะ เราเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับมันได้อย่างกลมกลืน แบบเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน
เพราะฉะนั้นด้วยองค์ความรู้ของที่สะสมมา ระยะเวลาที่เราทำวิจัยจะบอกได้เลยว่านกเงือกอยู่ตรงไหน
ทุกเดือนจะมาเจอกันที่นี่ ศาลานกเงือกที่ชาวบ้านอุทิศให้กับโครงการ ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
ชุมชนมุสลิม
การทำงานในชุมชนมุสลิมไม่ต้องใช้เทคนิค เราใช้พฤติกรรมของเรา ผมเปิดใจ คบกับใครจริงใจเท่านั้น จริงใจกับเขาก่อนเลยครับ ไม่ว่าใคร เรามีน้ำใจ เขาก็ดูออก
มันคล้าย ๆ เป็นรังสี กลิ่นอายของความมีน้ำใจ มีเมตตา มันมีเซนส์บอกเราจากน้ำเสียง จากการกระทำว่าคนนี้มีน้ำใจ คนไหนเห็นแก่ตัวเราจะรู้เลย ผมเจอคนหลากหลาย เขี้ยวงากะลาแก่ก็มี เพราะเขาเจออะไรมาเยอะ พอเจอว่าเขามีเล่ห์เหลี่ยม เราดูรู้ ทำงานกับคน ๑๐ คนก็มีปัญหา ๑๐ แบบ ต้องเข้าใจ ทำงานชุมชนผมทำใจอยู่แล้ว
เอาง่าย ๆ คนที่ไม่รักศิลปะ ธรรมชาติ เสียงดนตรี เราต้องห่าง เพราะจิตใจเขาหยาบ คนพวกนี้คาดเดาก็ยาก แต่ถ้าเด็ก ๆ เขาบริสุทธิ์ มันง่าย เราสบาย
มีเด็ก ๆ หลายรุ่นในหมู่บ้านหรือชุมชนที่เคยมาเรียนวาดรูปกับผม เมื่อก่อนนี่เยอะมากเพราะผมเขียนรูปตามกำแพงด้วย ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผมอยากจะประชาสัมพันธ์เรื่องนกเงือกให้คนได้เห็น เริ่มจากเห็นก่อนแล้วเข้ามามีส่วนร่วม ชาวบ้านต้อนรับเราเพราะเขารู้ว่าไม่ใช่ข้าราชการ ตำแหน่งคือลูกจ้างชั่วคราว ไม่มีรับทรัพย์อะไร ที่ผ่านมามีคนเข้ามาหาผลประโยชน์ มากอบโกย ถ้าเราเจอก่อนก็โชคดี เด็ก ๆ ก็อาจจะโชคดีด้วย ในความหมายของผมคือเขาได้มาเรียนรู้ธรรมชาติ มาช่วยกันดูแล หรือมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำอะไรดี ๆ เวลาสอนเด็ก ๆ ผมสนุก ถือเป็นการผ่อนคลาย
อีกอย่างชุมชนมุสลิมเขามีพระเจ้า มีอัลลอฮ์เป็นศูนย์รวมจิตใจ ทำชั่วเมื่อไรจะรู้สึกอึดอัดใจ ชาวบ้านที่ผิดคำพูด ผิดคำสัญญามาขอสารภาพกับผม ผมประทับใจเขานะในแง่ที่ว่าเราให้อภัยกัน ให้เกียรติ บางทีผิดพลาด ทำงานชุมชนเราถึงอยู่ได้ แล้วชาวบ้านก็เข้าใจโครงการดีมาก
สิ่งลี้ลับ
เรื่องลี้ลับในป่านี่อาจเป็นเพราะผมไม่ค่อยเชื่อก็เลย ไม่ค่อยเจอ เราเรียนรู้ทุกเสียงในป่า ไม่ว่ากลางค่ำกลางคืนหรือกลางวันมันมีที่มาหมดแหละ บางทีมีเสียง ฮ้า ฮ้า ฮ้า คนกลัวว่าเสียงอะไร แต่ถ้ารู้ที่มาที่ไป เฮ้ย ตัวอะไรวะร้องแบบนี้ มันร้องทำไม ร้องช่วงเวลาไหน ร้องเพื่ออะไร เราได้เรียนรู้ไปอีก นี่ไงสรรพสิ่งในป่า เขาถึงบอกว่าการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด เสียงแมลงเล็ก ๆ เสียงนก เรารู้ แต่ก็มีที่ยังไม่รู้ ผมเองขนาดอยู่ในป่ามานานบางอย่างก็ยังไม่รู้ ถึงบอกว่าความรู้ในธรรมชาติให้ตายก็ยังเรียนรู้ไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้นทุกคนอย่ามายิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติเลย มาเรียนรู้ดีกว่า
ถึงวันนี้เป็นอย่างไร ทำลาย ทำฝาย ทำเขื่อน ไม่เกรงใจกัน ไม่ยำเกรงธรรมชาติ คนพวกนี้ธรรมชาติลงโทษหมด สักวันหนึ่ง
เพราะฉะนั้นคนทำงานวิจัยภาคสนามต้องมีร่างกายแข็งแรง อยู่ในป่าคนเดียวได้ ต้องไม่กลัวสรรพสิ่งในป่าผีสางนางไม้ไม่ต้องพูดถึง เขาทำอะไรเราไม่ได้อยู่แล้ว พูดถึงสัตว์ร้ายก็หาวิธีป้องกัน แล้วก็เรียนรู้มัน เพราะเราอยู่กับสัตว์ป่าได้โดยที่เราเรียนรู้ชีวิตของเขา เรารู้แล้วว่าจะหลบหลีกอย่างไร งูเลื้อยมาอย่างนี้ต้องหลบแบบไหน งูตัวไหนมีพิษหรือไม่มีพิษ เราก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ
มีตกต้นไม้ ก็ธรรมดา ผมรับสภาพอยู่แล้ว เรื่องงูกัด กระทิงขวิดผมไม่เคยเจอ ผมแค่ตกต้นไม้แล้วสลบไป ก็ปวดหลังมาจนถึงทุกวันนี้ นักวิจัยภาคสนามก็ต้องแบบนี้ เข้าป่าก็ต้องมีเหตุการณ์ ไม่ต้องซีเรียส เรื่องเสี่ยงชีวิตผมไม่สนใจหรอก เพราะเราทำหน้าที่แล้ว เรื่องนั้นไม่มีใครทำอะไรเราได้หรอก
รางวัลที่ยิ่งใหญ่
ดีใจนะที่เขาให้รางวัล แสดงว่าเขาเห็นความสำคัญของงานที่เราทำ ซึ่งน้อยมากที่คนจะเห็นความสำคัญของงานสิ่งแวดล้อมอนุรักษ์พวกนี้ ถึงจะมีโล่รางวัลแต่รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือเขาเห็นความสำคัญของงาน ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่เล็งเห็นคุณค่า แต่สำคัญคือขอให้ต่อเนื่องและระยะยาว บางทีมอบรางวัลแล้วทิ้งเราเลย
บางทีสปอนเซอร์หรือพวกที่สนับสนุนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของงานพวกนี้ ไม่ใช่เฉพาะโครงการนกเงือกนะ ผมหมายถึงงานวิจัยต่าง ๆ ที่มันสำคัญมากด้วย บางคนบูลลี่พวกนักวิจัยด้วยซ้ำ
เขาไม่เห็นคุณค่าว่าข้าว ยารักษาโรคที่ใช้ดำเนินชีวิตมาจากงานวิจัยทั้งสิ้น ไม่อย่างนั้นจะสรุปได้อย่างไรว่าพืชต้นนี้จะเอาไปใช้ทำอะไร มันต้องทำซ้ำ ๆ ลองคิดดูว่านักวิจัยทุกคน ครึ่งชีวิตของเขาที่ต้องเสียสละ เพราะฉะนั้นต้องให้เกียรติ ผมหมายถึงนักวิจัยทั่วทั้งโลกด้วย ผมคิดว่าพวกเขายิ่งใหญ่ที่สุด สิ่งนี้สำคัญ งานวิจัยจะเป็นคำตอบได้กับทุกสิ่งในธรรมชาติ
งานศิลปะบนกำแพงบ้านพักตำรวจตระเวนชายแดน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
บูโดโมเดล
วันนี้ตอนบ่ายไปถ่ายนก ตอนนี้นกเข้ารัง ขึ้นไปบันทึกภาพ เก็บข้อมูลว่านกเอาอะไรมาป้อนกัน อาหารบนภูเขา เก็บรวบรวมสถิติทุกปีเพื่อวิเคราะห์ว่าแต่ละปีเป็นแบบไหน หมดช่วงนี้ก็วางแผนซ่อมโพรงรัง ชาวบ้านก็มีกิจกรรมเฝ้านกเงือก เด็ก ๆ ปิดเทอมก็ขึ้นเขาไปเรียนรู้ด้วย
งานของเราตลอดทั้งปีเป็นแบบนี้ คิดว่าดีแล้ว เป็นรูปแบบที่ลงตัวแล้ว พร้อมเป็นต้นแบบ เป็น “บูโดโมเดล” ให้พื้นที่อื่น
เกาะยาวน้อยเป็นตัวอย่างการเอา “บูโดโมเดล” เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ เช่น การทำโพรงเทียม การอยู่ร่วมกับชุมชน เขาเอาไปต่อยอดจากของเรา เราไปแนะนำเขาแค่นิดหน่อยเท่านั้น
ถ้ามีใจให้กับสัตว์กับธรรมชาติ เดี๋ยวจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้สิ่งนี้อยู่กับเราได้นาน ๆ ธรรมชาติ นกเงือก หรือสัตว์อื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน ถ้ามีนกเงือกอยู่ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีสัตว์อื่นอยู่ด้วยในระบบนิเวศของมัน เพราะนกเงือกกินอาหาร สัตว์อื่นก็กินอาหารคล้าย ๆ นกเงือก ก็อยู่ร่วมกัน
อย่างที่เราตกลงทำวิจัยร่วมกัน และทำ MOU กับป่าไม้มาเลเซีย เขาก็เอาต้นแบบจากบูโดนี่แหละไปทำ นักอนุรักษ์ในอินเดียก็ทำตามที่เราแนะนำ เอาจากของเราไปทั้งนั้น เพราะประสบการณ์ของเรายาวนานที่สุด
นกเงือกไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทย นกเงือกอยู่กันทั่วโลก ในเอเชีย แอฟริกา เราพยายามถ่ายทอด แชร์ข้อมูลกัน มันเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ต่อยอดได้ดีมากทุกคนต้องตระหนักภาวะโลกร้อนด้วย
สานต่อ
เราทำหน้าที่ของเราในฐานะนักวิจัยนกเงือกแล้ว เราเสียสละกันครึ่งชีวิต เดินเขาจะไม่ไหวกันหลายคนแล้ว พวกพี่ ๆ มีความรู้เยอะแยะ พร้อมที่จะส่งต่อ เอาข้อมูลมาให้ พร้อมส่งสิ่งที่ดีแล้ว ใครจะสานต่อหรือจะปล่อยปละละเลยก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แล้วน้อง ๆ พร้อมที่จะเรียนรู้หรือเปล่า พร้อมที่จะรักษาทรัพยากรตรงนี้ต่อไหมหรือจะปล่อยให้สูญพันธุ์ในรุ่นของเราก็แล้วแต่
สิ่งที่เคยมาเรียนรู้จากนกเงือกถ้าคุณจะไม่สนใจต่อ เห็นขยะอยู่ตรงหน้าแล้วไม่เก็บก็อาจเหม็นเน่าไปทั้งบ้านของคุณเอง ธรรมชาติก็เหมือนกัน ถ้าคุณไม่ดูแลสักวันมันก็ต้องกลับมาทำลายหรือไม่เอื้อให้คุณอีกต่อไป
ตอนเด็ก ๆ ผมมีผู้ใหญ่หลาย ๆ คน อย่างคุณอา พี่กาหลิบ (ณรงค์ จิระวัฒน์กวี) ทีมงานนกเงือกทุกคนพยายามถ่ายทอดความรู้ให้ อะไรที่เขามี พยายามรวบรวม เรียบเรียง เป็นจิ๊กซอว์ผืนใหญ่ ๆ แล้วก็เอาจิ๊กซอว์ผืนนี้ส่งต่อให้เด็กรุ่นใหม่ มันก็จะเกิดประโยชน์ นี่คือเป้าหมายเก็บไว้คนเดียวไม่เกิดประโยชน์
อย่างทุกวันนี้สิ่งที่โครงการนกเงือกทำ ก็มีคนเอาไปต่อยอดหลาย ๆ อย่าง ตามที่เรามีประสบการณ์มาเหมือนเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ภูมิใจในโครงการของเราที่เอาความรู้ใหม่ ๆ จากในป่ามาต่อยอดให้คนรุ่นหลัง หรือนักวิจัยรุ่นใหม่ เป็นข้อมูลพื้นฐานให้คนรุ่นต่อไป
แน่นอนอยู่แล้ว เด็กสำคัญ เขาต้องโตและต้องอยู่ที่นี่ ผมเห็นเด็กพวกนี้บางคนตั้งแต่เกิด บางคนพอโตก็มาช่วยงานผม ประทับใจ อย่างน้อยพอโตขึ้นเขาอยู่บ้าน ไม่ได้ทำงานนกเงือก แต่ก็ไม่ล่านกเงือกนะ พอเจอนกเงือกก็มาบอก พี่ปรีดาผมเห็นนกเงือกอยู่ในสวน
ตอนนี้ผมมีกลุ่มจิตอาสาหรือน้อง ๆ มาช่วยงานสามคน ช่วยถ่ายรูป ติดตามดูนก ที่เขามาสัมผัสธรรมชาติเพราะเห็นตัวอย่างจากเราก่อนว่านกเงือกมันสวยงาม เราก็พาไปดูให้เห็นว่ามันดี ให้เขาเอาไปต่อยอด เราซ่อมโพรงเทียม เขามาช่วยซ่อม ทำโพรงเพิ่ม
เขามาเพราะนกเงือก ไม่ได้มาเพราะผม มาเห็นนกเงือกแล้วเขาก็เจออย่างอื่นด้วยระหว่างทาง เจอต้นไม้ พันธุ์ไม้ ดอกไม้สวย ๆ เจอนกอื่น ๆ สัตว์ แมลง ซึ่งมันสวยงามหมดนะถ้าคุณหยุดแล้วพิจารณา พอเห็นความงามแล้วก็อยากจะรู้ว่ามันอยู่อย่างไร กินอย่างไร มาจากไหน ก็สนุกอีกแบบในธรรมชาติ
ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เชิงเขาบูโด ติดตั้งโพรงรังนกเงือกกับพี่น้องมุสลิมและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
เราทำหน้าที่ของเราในฐานะนักวิจัยนกเงือกแล้ว เราเสียสละกันครึ่งชีวิต เดินเขาจะไม่ไหวกันหลายคน
สันติสุขที่ชายแดนใต้
ผู้คนที่นี่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ สิ่งที่ถูกสื่อสารออกไปเรื่องราวของนกเงือก ธรรมชาติที่สวยงาม ทำไมไม่นำเสนอกัน สวยงามจะตาย จริง ๆ ผู้คนน่ารักมากแต่ไปทำให้ดูน่ากลัว คุณลองมาสัมผัสดูแล้วจะรู้ว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่จินตนาการปรุงแต่งกันเลย มีทะเล มีธรรมชาติ มาขึ้นเขาบูโดสักครั้งในชีวิต ลองดูแล้วจะรู้ว่าประเทศไทยมีแบบนี้ด้วย
อยากบอกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ปรุงแต่งกัน ลองมาสัมผัสดูว่านกเงือก ทะเล หรือผู้คนน่ารัก ทุกสิ่งทุกอย่าง วัฒนธรรม ศิลปะ สวยงาม น่าเรียนรู้ น่าศึกษา ลองดูครับ ไม่อย่างนั้นผมจะอยู่ที่นี่ถึง ๓๐ ปีเหรอครับ ครึ่งค่อนชีวิตจนจะปีนเขาไม่ไหวแล้ว
โครงการนกเงือกภาคใต้ไปที่ไหนก็ปลอดภัย ทุกคนต้อนรับอย่างดี นี่คือความประทับใจ ผมรู้สึกเหมือนนกเงือกมีบุญคุณ ผมถึงตอบแทน
“งานวิจัยภาคสนามคือหัวใจของงานวิจัยนกเงือก”
ปรีดา เทียนส่งรัศมี
ถึงศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์
อาจารย์พิไลเป็นหัวหน้าและเป็นคุณอาของผม ถ้าเป็นพระก็คือพระอรหันต์เพราะท่านบริสุทธิ์ พร้อมที่จะแบ่งปัน สิ่งนี้สำคัญมากสำหรับสังคมปัจจุบันอาจารย์คือครู สอน ให้ความรู้ และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยท้อกับปัญหาตรงหน้า งานที่ยากลำบากคือสิ่งท้าทายสำหรับอาจารย์ นี่คือต้นแบบมาก ๆ
งานวิจัยนกเงือกเหมือนทำง่าย ๆ แต่คนที่ทำง่าย ๆ จะฉาบฉวย แค่ ๑ ปี หรือ ๒ ปีเลิก แต่อาจารย์เรียนรู้จริง ๆ เพื่อส่งต่อในสิ่งที่ถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่อาจารย์สอน อยากให้เอาแบบอาจารย์ ผมก็เอาแบบอาจารย์มา อาจารย์จะเน้นเลยว่างานวิจัยภาคสนามคือหัวใจของงานวิจัยนกเงือก ธรรมชาติมันต้องมาเห็นด้วยตัวเอง
บ้านเราตอนเด็ก ๆ ไม่ได้ร่ำรวย เป็นครอบครัวใหญ่ก็ต้องช่วยกัน นาน ๆ อาจารย์จะแวะมาหา ตอนนั้นยังไม่มีทุนทำวิจัย งานวิจัยในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครสนับสนุนเพราะเห็นผลช้า อาจารย์ก็ต้องควักทุนเอง ก็พาญาติ ๆ ไปช่วยงาน มีคุณพ่อผมไปร่วมด้วย ครอบครัวผม พี่สาวผมคือพี่ปุ๊ก (ศิริวรรณ นาคขุนทด) ก็เป็นญาติ ต้องไปร่วมเพราะค่าตอบแทนต่ำ เราช่วยกันในเครือญาติ สนับสนุนสิ่งที่ถูกต้อง มีอาจารย์คอยสอน ครอบครัวผมเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเราจะช่วยกัน ได้ค่าแรงไม่เยอะแต่เราภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือ น้องชายแท้ ๆ ของผมก็ไปอยู่เขาใหญ่กับอาจารย์ตั้งแต่เล็ก ซึมซับจากธรรมชาติตามที่เคยเห็น เพิ่งกลับมาเป็นครูที่บ้าน ก็สอนเด็ก ๆ ดูนก สอนให้รักธรรมชาติต่อ วิธีดูแลสิ่งรอบ ๆ บ้านก็ต่อยอดจากอาจารย์พิไล