นกแต่ละตัวที่ถูกปล่อยคืนธรรมชาติถูกติดแท็กเป็นอุปกรณ์ติดตามตัวเล็ก ๆ ที่ขาเพื่อติดตามพฤติกรรม
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง
หนึ่งในนกน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่ตัวสูงใกล้เคียงกับคน ลำตัวและปีกสีเทา คอและขายาว
หลังสูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทยร่วม ๔๐ ปี โครงการนำร่องปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสถานเพาะเลี้ยงสู่พื้นที่ชุ่มน้ำของจังหวัดบุรีรัมย์เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๔
ในช่วงแรกเริ่มของโครงการ นกต้องปรับตัวให้เคยชินกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทดลองปล่อย การดำรงชีวิตออกหากินของนกขนาดใหญ่เป็นภาพแปลกตาของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ
เริงฤทธิ์ คงเมือง ช่างภาพและนักเขียนสารคดีเล่าว่า วันหนึ่งระหว่างวิ่งออกกำลังกายรอบอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากเมื่อหลายปีก่อน มองเห็นนกกระเรียนอยู่กลางทุ่ง ภาพแปลกตาทำให้เขาเริ่มนำกล้องมาบันทึกภาพเก็บไว้
ทั้งที่ชื่อว่านกกระเรียนพันธุ์ไทย แต่รายงานการพบครั้งท้ายสุดย้อนไปถึงปี ๒๕๑๑ ในพื้นที่อีสานใต้ ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์ และนำไปเลี้ยงไว้ที่สวนรุกขชาติช่อแฮ จังหวัดแพร่ มีชีวิตอยู่ต่อมา ๑๖ ปีจนตายลงในปี ๒๕๒๗
ปีถัดมา เดือนมกราคม ๒๕๒๘ มีผู้อ้างว่าพบนกกระเรียนพันธุ์ไทยสี่ตัวในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน นับแต่นั้นก็ไม่มีข่าวการพบเห็นในธรรมชาติอีก คงเหลืออยู่แต่นกในสถานเพาะเลี้ยงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับในบางพื้นที่ของประเทศกัมพูชา เวียดนาม ลาว
พ่อแม่นกกระเรียนพันธุ์ไทยพาลูกเดินหากินใกล้บริเวณรัง การจับคู่ ทำรัง และวางไข่ ยืนยันว่านกที่ปล่อยสู่ธรรมชาติสามารถขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง
นกกระเรียนพันธุ์ไทย [Eastern Sarus Crane (Grus antigone sharpii)] เป็นหนึ่งในนกน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่ตัวสูงใกล้เคียงกับคน คือ ๑๖๐-๑๘๐ เซนติเมตร ลำตัวและปีกสีเทา คอและขายาว ช่วงคอตอนบนเป็นตุ่มหนังสีแดงสดใส กลางกระหม่อมเป็นแผ่นหนังเปลือย ขณะย่างเดินและโบยบินแผ่ปีกกว้างรับกับเรือนร่าง ตั้งแต่คอถึงขาสีแดงอมชมพูเหยียดตรง ดูสง่างาม
นกกระเรียนพันธุ์ไทยชอบอาศัยในพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำ เขตป่าโปร่ง ป่าพรุ รวมทั้งทุ่งหญ้า วางไข่ตามท้องทุ่ง ขอบหนองน้ำหรือเกาะกลางน้ำที่มีหญ้าหรือต้นไม้รก กินสัตว์เล็ก ๆ และหญ้าแห้วทรงกระเทียมเป็นอาหาร แต่การเปลี่ยนสภาพพื้นที่เป็นแปลงเกษตรเชิงพาณิชย์ทำให้ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยค่อย ๆ ลดลงและสูญไป
ความพยายามนำนกกระเรียนสายพันธุ์ไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติเกิดจากความร่วมมือขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากทดลองเพาะขยายพันธุ์ภายในกรงเลี้ยงเป็นผลสำเร็จ จึงเลือกพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่ปล่อยนก ด้วยมีภาพถ่ายเก่าที่ยืนยันว่าบุรีรัมย์เคยมีนกกระเรียนพันธุ์ไทย และปัจจุบันยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับนานาชาติมากถึงสี่แห่ง
การออกหากินของนกขนาดใหญ่เป็นภาพแปลกตาของประชาชนที่อาศัยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำในช่วงแรก ๆ
การปรับเปลี่ยนวิถีของชาวบ้านที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ช่วยเพิ่มโอกาสให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยมีชีวิตรอดในธรรมชาติ
เมื่อรู้ว่านกกระเรียนพันธุ์ไทยกำลังจะกลับคืนถิ่น ผู้คนในชุมชน กลุ่มเกษตรกร ได้เริ่มปรับเป็นวิถีเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอื้อต่อการดำรงชีวิตของนก ทั้งการอยู่อาศัย หาอาหาร สืบพันธุ์ ทำรัง วางไข่ ขณะเดียวกันนกกระเรียนพันธุ์ไทยก็ช่วยเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น การใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ว่า “สารัช” จาก “Sarus Crane” การถักทอผ้าไหมลายนกกระเรียนพันธุ์ไทยจำหน่ายกลายเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือและการสื่อถึงความรักในสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์อื่น ซึ่งยังช่วยเพิ่มรายได้และส่งเสริมการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
นกกระเรียนพันธุ์ไทยปล่อยคืนถิ่นที่บุรีรัมย์ครั้งแรกในปี ๒๕๕๔ เริ่มจับคู่กันปี ๒๕๕๗ และพบทำรังในปี ๒๕๕๙ ได้ลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่มีชีวิตรอดในธรรมชาติชุดแรกสามตัว
ยืนยันว่านกที่ปล่อยสู่ธรรมชาติขยายพันธุ์ด้วยตัวเองได้
ทุก ๆ ปีจะมีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยประมาณ ๑๐-๑๕ ตัว ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๗ ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่าที่ผ่านมาปล่อยนกคืนสู่พื้นที่ธรรมชาติแล้ว ๑๐๕ ตัว มีชีวิตรอดในธรรมชาติ ๗๑ ตัว มีลูกนกเกิดเองไม่น้อยกว่า ๑๕ ตัว อาศัยอยู่ร่วมกับนกชนิดอื่น ๆ ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เช่น นกเด้าดินอกแดง นกนางแอ่นทรายสร้อยคอดำ นกเด้าดินทุ่ง
พื้นที่แห่งการอยู่ร่วมกันโดยไม่มีการล่าหรือคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัย
...
กลางปี ๒๕๖๗ เริงฤทธิ์พาลูกไปว่ายน้ำเล่นกับเพื่อน มองเห็นนกกระเรียนพันธุ์ไทยสองตัวบินข้ามหัวไปลงหากินในทุ่งนาหลังหมู่บ้าน ผู้คนในหมู่บ้านต่างดีอกดีใจเมื่อเห็นว่านกตัวใหญ่เขยิบใกล้เมืองเข้ามาเรื่อย ๆ แล้ว
การกลับมาของนกที่ไม่พบในธรรมชาตินานหลายสิบปี และถูกจัดอยู่ในสถานภาพสูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีในหน้าประวัติศาสตร์งานอนุรักษ์ที่ช่วยจุดประกายความหวัง เหมือนดังคำที่เริงฤทธิ์บันทึกไว้ในยามเช้าของวันหมอกหนา ขณะกระเรียนพันธุ์ไทยฝูงหนึ่งกำลังรื่นเริงกับอาหารเช้าในทุ่งนา มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยอีกตัวเดินแยกออกมายังตำแหน่งที่องค์ประกอบของภาพลงตัวที่สุด
“หลังกดชัตเตอร์ แน่นอนว่าผมเริ่มเห็นโอกาสและความหวังที่กระเรียนสายพันธุ์ไทยจะกลับมาโบยบินอย่างอิสรเสรีเหนือน่านฟ้า”