Image

ภาพแปลกตาของครอบครัวนกแก๊กบนเกาะยาวน้อย พ่อนกเตรียมป้อนอาหารให้แม่นกที่ฝังตัวอยู่ภายในโพรงไห

Image

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : แสงเดือน ถนอมวงศ์ธนา

ต้นปี ๒๕๖๑ มีข่าวสะพัดในหมู่อาสาสมัครเฝ้าระวังนกเงือกกลุ่มชุมชนคนรักนกเงือกเกาะยาวน้อย ว่ามีนกเงือกสร้างบ้านใน “ไห” หลายคนไม่อยากจะเชื่อหู แค่ได้ยินข่าวก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถาม 

สถานการณ์ขาดแคลนโพรงรังตามธรรมชาติของนกเงือกบนเกาะยาววิกฤตหนักถึงขนาดต้องทำรังในไห ซึ่งน่าจะอันตรายสำหรับ “แม่นก” และ “ลูกนก” อย่างนั้นหรือ ?

นกเงือกพันธุ์นกแก๊ก หรือนกแกง เป็น ๑ ใน ๑๓ ชนิดของนกเงือกที่พบในประเทศไทย มักทำรังในโพรงต้นยาง หว้า ขี้หนอนควาย สมพง กะเพราต้น  ถ้าไหอยู่บนพื้น พ่อนก แม่นก ลูกนก จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร ?

เมื่อ ภราดร บุตรละคร กลุ่มชุมชนคนรักนกเงือกเกาะยาวน้อย และผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจเรารักษ์เกาะยาวเดินทางไปดู ก็พบไหสี่ใบวางอยู่บนพื้นดินจริง จากที่ไม่อยากจะเชื่อหูเปลี่ยนเป็นไม่อยากจะเชื่อตา ไหแต่ละใบอยู่ในสภาพล้มกลิ้งระเกะระกะ ห่างจากตัวบ้านประมาณ ๕๐ เมตร ใบหนึ่งแม่นกเงือกใช้ดินปิดปาก “โพรง” และฝังตัวอยู่ข้างในแล้ว อีกใบหนึ่งมีรอยปิดปากโพรงแต่ไม่มีแม่นก

นกแก๊ก
เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบนเกาะยาวน้อย อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน รวมทั้งรีสอร์ตที่รองรับนักท่องเที่ยว

เกาะยาวน้อยตั้งอยู่ใกล้เกาะยาวใหญ่ เป็นหนึ่งในสามตำบลของอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นภูเขาปกคลุมด้วยไม้ใหญ่แน่นหนา สภาพป่าทึบทอดตัวตามแนวเกาะที่มีขนาด ๒๘,๔๕๖.๙๗ ไร่

ต้นปี ๒๕๒๓ พื้นที่ส่วนหนึ่งบนเกาะถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ส่วนที่ไม่ได้ประกาศเป็นป่าอนุรักษ์เป็นที่ราบตามหุบเขาที่มีคนอยู่อาศัย ประชากรบนเกาะ ๑๘ หมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ประกอบอาชีพทำประมงท้องถิ่น เลี้ยงกุ้งมังกร เลี้ยงปลาในกระชัง ภาคเกษตรมีสวนยางพารา ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์

เกาะยาวน้อยตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ รอบเกาะมีหาดทรายสวยงาม ลึกลงไปใต้น้ำนอกชายฝั่งเป็นแนวปะการัง

เมื่อก่อนบนเกาะมีป่าไม้แน่นขนัด มองไปทางไหนพบกับความเขียวขจี แต่หลังจากประชากรเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกระแสการท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินทั้งด้านการเกษตร ที่อยู่อาศัย ธุรกิจท่องเที่ยวที่มีทั้งบ้านพักโฮมสเตย์และรีสอร์ตขนาดใหญ่ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง สถานการณ์ละม้ายคล้ายเกาะอื่น ๆ ในพื้นที่ทะเลอันดามัน ยกตัวอย่างเขาพระแทว อำเภอถลาง เกาะตะเภาน้อย จังหวัดภูเก็ต เคยมีนกเงือกอาศัยอยู่มาก แต่ทุกวันนี้ไม่มีนกเงือกแล้ว

เมื่อพื้นที่ป่าลดลง แหล่งอาหารของนกเงือกก็ลดลง จำนวนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีโพรงสำหรับทำรังก็แทบหาไม่ได้ ทำให้นกเงือกที่เกาะยาวน้อยประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต

Image

นกแก๊กเป็นนกเงือกขนาดเล็ก ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ดี พบทั้งในป่าดิบ ป่าโปร่ง ชายป่า สวนผลไม้ กระทั่งใกล้แหล่งชุมชน

นกแก๊กหากินตามชายหาด นอกจากกินลูกไม้และผลไม้ ซึ่งเป็นอาหารหลัก

เหตุการณ์นกเงือกทำรังในไหบนพื้นดินจุดประเด็นให้เกิดการรวมกลุ่มกันของคนที่อาศัยในเกาะยาวน้อยอย่างจริงจัง ก่อตั้งกลุ่ม “ชุมชนคนรักนกเงือกเกาะยาวน้อย” เพื่อทำกิจกรรมอนุรักษ์นกเงือกให้อยู่คู่เกาะยาวน้อยตลอดไป โดยมีนักวิจัยจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คอยให้คำปรึกษา แผนงานช่วงแรกคือสำรวจแหล่งนกเงือกและแหล่งอาหารในเกาะ ตามด้วยการหาพันธุ์ไม้และเพาะพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหาร เช่น ต้นเต่ารั้ง ตะขบป่า หลาวชะโอน โดยมีวาระเร่งด่วน คือการสร้างโพรงรังเทียมที่ปลอดภัย ในช่วงที่พ่อแม่นกเงือกกำลังหาโพรงรัง

โพรงรังเทียมมีทั้งที่ทำจากไม้ ราคา ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท ใช้งานได้ประมาณ ๒-๓ ปีบนเกาะที่มีความชื้นสูง และมีโพรงไหประกอบด้วยไหดินและเสาสำหรับวางไห ทั้งชุดประมาณ ๒,๐๐๐ บาท ใช้ได้ยาวนานจนกว่าไหจะผุ

การดูแลรักษาป่า สร้างบ้านให้นกเงือกวางไข่ กลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวในอีกทางหนึ่ง รีสอร์ตขนาดใหญ่ที่เคยมีนกเงือกเข้ามาอยู่อาศัยก็เริ่มติดตั้งโพรงรังนกเงือก

หลายกิจกรรมที่ผ่านมา ทั้งสร้างซุ้มดูนกเงือก ไกด์ชุมชนชมนกเงือก สร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้การอนุรักษ์นกเงือกที่เกาะยาวน้อยเข้มแข็ง จนทำให้มีนกเงือกเพิ่มขึ้น และนกได้อพยพไปอาศัยที่เกาะยาวใหญ่ จนต้องขยายพื้นที่ดูแลนกตามไปด้วย

ผู้ก่อตั้งเพจเรารักษ์เกาะยาวระบุว่า “นกแก๊กอาศัยร่วมกับคนในเกาะยาวมานาน เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ไม่ว่าบ้านหลังไหนมีผลไม้สุก และเป็นผลไม้ที่นกเงือกชอบ นกเงือกก็จะเป็นแขกประจำของบ้านนั้น ช่วยกันกินจนหมด แล้วก็มาเยี่ยมอีกเมื่อผลไม้สุกในคราต่อไป...

“เป้าหมายในตอนนี้ นอกจากเพิ่มจำนวนโพรงรังเทียมแล้ว คือการขยายพื้นที่อนุรักษ์นกเงือกไปยังเกาะยาวใหญ่ นอกจากติดตั้งโพรงรังเทียมแล้วจะสร้างชุมชนเครือข่ายอนุรักษ์นกเงือก สร้างงานและรายได้จากการอนุรักษ์นกเงือก เพิ่มจุดชมนกเงือกทั้งเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่”