สำเร็จได้เพราะขยัน
หรือแค่โชคช่วย
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
เวลาเห็นคนประสบความสำเร็จ หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นผลมาจากความเก่ง ความขยันอดทน หรือแค่โชคช่วย เกิดมาในตระกูลร่ำรวย มีแต้มต่อมากมายในชีวิต เรื่องแบบนี้ถกเถียงกันเรื่อยมาและหาข้อสรุปยากเพราะออกแบบการทดลองกับชีวิตคนจริง ๆ ไม่ได้ จะให้ใครเป็น “กลุ่มควบคุม” ที่ไม่ประสบความสำเร็จคงไม่เหมาะ หลักฐานที่ใช้สนับสนุนจึงมักเป็นหลักฐานข้างเคียงและเรื่องเล่าชีวิตคนมากกว่า
เรื่องเล่าของคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสองคนที่ดูเผิน ๆ ราวกับมีรูปแบบแตกต่างกันสุดขั้วที่มักหยิบยกเป็นตัวอย่างในระยะหลัง (เช่น ในเว็บไซต์ของ เจมส์ เคลียร์ ผู้เขียนหนังสือ Atomic Habits และเว็บไซต์ของ แดเรียส โฟรูกซ์ ผู้เขียน The Stoic Path to Wealth) ได้แก่ กรณีของนักเขียนดังชาวญี่ปุ่น ฮารูกิ มูราคามิ และนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลชาวจีนคนแรกคือ ถูโยวโยว (To Youyou)
มูราคามิเขียนเล่าประวัติตัวเองไว้ว่าใน ค.ศ. ๑๙๗๘ ตอนอายุ ๒๘ ปี วันหนึ่งขณะที่กำลังชมการแข่งขันเบสบอลในสนามอยู่นั้น เขาก็รู้สึกขึ้นมาว่าตัวเองเขียนนิยายได้นี่นา เขาเขียนบรรยายว่า “ราวกับมีบางอย่างที่ปลิวลงมาจากท้องฟ้าและผมก็จับมันได้”
เขาแวะซื้อกระดาษและปากกาหมึกซึมระหว่างทางกลับบ้านและเริ่มต้นเขียน ทำแบบนี้ทุกวันหลังจากเขาปิดคลับแจซที่เขาเป็นเจ้าของแล้ว นั่งลงเขียนที่ห้องครัว ทำสิ่งที่ไม่เคยทำเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อนหน้านั้นเลย จนเสร็จได้เป็นนิยายขนาดไม่ยาวนักราว ๓ หมื่นคำ แล้วจึงส่งไปให้บรรณาธิการนิตยสารด้านวรรณกรรมคนหนึ่ง
ต้นฉบับดังกล่าวเป็นเพียงต้นฉบับเดียวที่เขามี เขาไม่ได้ทำสำเนาไว้ด้วยซ้ำ หากต้นฉบับไม่ถึงมือบรรณาธิการหรือโดนปฏิเสธแต่ต้น (ซึ่งก็จะไม่ส่งต้นฉบับคืนด้วย) อาชีพการเขียนของเขาคงจบตั้งแต่เพิ่งเริ่มได้แค่นั้น แต่หนังสือของเขาชนะรางวัลใหญ่ระดับประเทศ เขาจึงเขียนเล่มที่ ๒ และเล่มที่ ๓ ตามออกมา ก่อนตัดสินใจขายร้านทิ้งและหันมาเป็นนักเขียนเต็มเวลาในที่สุด หนังสือของเขาขายได้หลายล้านเล่ม เรื่องสั้นบางเรื่องได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และได้รางวัลออสการ์
อะไรจะเกิดขึ้นหากต้นฉบับแรกของเขาสูญหายหรือบรรณาธิการตาไม่ถึงโยนต้นฉบับของเขาลงตะกร้า ถ้าเป็นเช่นนั้นโลกก็คงไม่มีนักเขียนคนดังคนนี้ แล้วแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องของโชคได้หรือไม่ ?
ข้อหนึ่งที่เราสรุปได้แน่นอนก็คือ การที่หนังสือเล่มแรกของเขาได้รับการตีพิมพ์และได้รางวัล คงไม่เพียงพอที่จะทำให้เขากลายเป็นดาวเด่นในวงการวรรณกรรมโลกได้
คนที่เป็นแฟนคลับคงพอรู้ว่ามูราคามิเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ทำงานหนักมาก ส่วนใหญ่แล้วเขาตื่นขึ้นมาเขียนงานตั้งแต่ตี ๔ และเขียนต่อเนื่องยาวไปจนถึงเที่ยงพอถึงช่วงบ่ายจะซ้อมวิ่งและเปิดเพลงเก่า ๆ ที่ชอบฟัง เขาเป็นนักวิ่งมาราธอนตัวยง เข้านอนราว ๓ ทุ่ม กิจวัตรจะเป็นแบบนี้ ทำให้เขาเขียนนิยายเล่มใหม่ออกมาได้ทุก ๆ ๒-๓ ปี บางเล่มเช่น 1Q84 ยาวเป็นพันหน้า
การเปิดฉากชีวิตนักเขียนของเขาอาจเป็นโชคและเป็นตัวส่งให้เขาโดดเด่นขึ้นมา แต่นิสัยการทำงานหนักอย่างสม่ำเสมอทำให้เขาเป็นดาวค้างฟ้า
ส่วนนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ถูโยวโยวนั้น มีวิถีชีวิตแตกต่างจากมูราคามิแทบจะสิ้นเชิง
ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ ทหารจีนที่ไปช่วยสู้รบในเวียดนามต้องเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียจำนวนมาก รัฐบาลจึงระดมนักวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวนี้และตั้ง “Project 523” ขึ้น ถูเชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนโบราณของจีน หลังจากหลายเดือนผ่านไป เธอและทีมรวบรวมรายชื่อยาโบราณได้ เกือบ ๒,๐๐๐ ขนาน และออกไปเก็บตัวอย่างพืชมากกว่า ๖๐๐ ต้น พวกเขาค่อย ๆ ศึกษาการออกฤทธิ์จนตัดลดเหลือตัวเลือกที่พอมีความเป็นไปได้ ๓๘๐ ชนิด
หลังจากทดสอบยาเหล่านี้กับหนูทดลองทีละชนิดไปตามลำดับ พบความล้มเหลวซ้ำซากไม่หยุดหย่อนเป็นร้อยครั้ง จนผ่านไป ๒ ปีก็ยังไม่พบตัวยาใดที่ใช้การได้จริงเลย !
แต่แล้ววันหนึ่งก็พบว่าสารประกอบชื่ออาร์ทีมิซินิน (artemisinin) ที่สกัดจากพืชชื่อชิงเฮา (qinghao) ให้ผลการรักษาที่ดี แต่เมื่อทำการทดลองซ้ำ ผลที่ได้กลับไม่แน่ไม่นอน ถูตัดสินใจกลับไปตรวจสอบข้อมูลตั้งต้นอีกครั้ง นำผลการทดลองทั้งหมดมาดูเพื่อหาช่องโหว่ และค้นหาข้อมูลเพิ่มว่ามองข้ามอะไรไปบ้างหรือไม่ จนสุดท้ายก็พบคำตอบในตำรายาฉบับหนึ่งที่มีอายุ ๑,๕๐๐ ปีว่า ระหว่างการสกัดยาออกมา หากใช้อุณหภูมิสูงเกินไปก็อาจทำลายสารออกฤทธิ์ได้
ทีมของเธอจึงใช้ตัวทำละลายที่สกัดสารออกฤทธิ์ได้ที่อุณหภูมิไม่สูงมากนัก และบราโว ! ในที่สุดเธอก็ทำการทดลองที่ให้ผลการรักษา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ทุกครั้งที่ทดลองได้
งานที่เล่ามาเริ่มต้นใน ค.ศ. ๑๙๖๙ และค้นพบความจริงเรื่องสารออกฤทธิ์นี้ไม่เกินกลางคริสต์ทศวรรษ ๑๙๗๐ แต่ผลงานของเธอกลับโดนห้ามเผยแพร่จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๗๘ ซึ่งก็เป็นช่วงหลังสงครามเวียดนามแล้ว ๓ ปี จึงมีการตีพิมพ์การค้นพบสู่โลกภายนอก และต้องรอถึง ค.ศ. ๒๐๐๐ องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ใช้ตัวยาดังกล่าวรักษาโรคมาลาเรีย จนช่วยชีวิตคนได้นับล้านคน ประมาณว่ามีผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวไปแล้วมากกว่า ๑ พันล้านคน
ถูโยวโยว ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา หรือการแพทย์ ใน ค.ศ. ๒๐๑๕ ขณะอายุ ๘๕ ปี ต้องรอถึงราว ๔๐ ปีหลังการค้นพบของเธอ โชคดีที่เธออายุยืนเพราะรางวัลโนเบลไม่ให้คนที่เสียชีวิตไปแล้ว !
กรณีของถูถือว่าพิเศษจริง ๆ เธอเป็นคนจีนคนแรกที่ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้ โดยที่เธอขาดแคลนถึงระดับ “๓ ไม่” คือ ไม่เคยเข้าเรียนระดับบัณฑิตวิทยาลัยที่ใด (ไม่ได้จบดอกเตอร์) ไม่มีตำแหน่งวิชาการใด ๆ และไม่เคยทำวิจัยในต่างประเทศเลย จึงถือเป็นตัวอย่างของการต่อสู้ฝ่าฟันด้วยความมุ่งมั่นและใช้สติพินิจพิจารณาปัญหา ถ้าเป็นทางธรรมะก็ต้องว่าไม่ได้มีแค่เพียงฉันทะและวิริยะ แต่ยังมีจิตตะและวิมังสา (พินิจพิเคราะห์) อย่างเต็มเปี่ยมอีกด้วย
หนังสือ Success and Luck : Good Fortune and the Myth of Meritocracy (ความสำเร็จหรือโชค : โชคดีและความเชื่อเรื่องผลของความมุ่งมั่น) ของ โรเบิร์ต แฟรงก์ สรุปไว้ว่า โชคส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตทุกคนมากอย่างไม่น่าเชื่อ คนที่เกิดใน “ท้อง” คนที่รวยกว่า และ “ประเทศ” ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จง่ายกว่ามาก และเราก็มีอคติหลายรูปแบบที่จะทำให้ตัวเองเชื่อไปในทางว่าเราประสบความสำเร็จได้ก็เพราะความเก่งกาจหรือฝีมือ โดยไม่ตระหนักในความจริงข้างต้นนี้
อย่างไรก็ตามการทำงานหนักและมุ่งมั่นก็มีผลต่อความสำเร็จเช่นกัน แต่อาจไม่มากอย่างที่เราคิด ในหนังสือยกตัวอย่างการทดลองไว้หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งเป็นการทดลองง่าย ๆ ที่เพื่อนร่วมงานของเขาทำ โดยขอให้อาสาสมัครนึกถึงเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเร็ว ๆ นี้ จากนั้นแบ่งกลุ่มให้เขียนอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กลุ่มที่ ๑ ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ในเรื่องดังกล่าว กลุ่มที่ ๒ คุณสมบัติส่วนตัวหรือสิ่งที่ทำและกลุ่มที่ ๓ แค่อธิบายว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น
หลังจากทำแบบทดสอบ มีการให้เงินค่าเข้าร่วมทดลองจำนวนหนึ่งแก่อาสาสมัคร แต่ขอให้บริจาคเงินเพื่อการกุศลเท่าใดก็ได้ ปรากฏว่ากลุ่มที่เขียนถึงปัจจัยภายนอก (หรือที่จริงคือเขียนว่าโชคช่วยนั่นเอง) บริจาคเงินมากกว่ากลุ่มที่เขียนเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวราว ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มควบคุมก็มอบให้ประมาณกึ่งกลางของสองกลุ่มนี้ ดูเหมือนคนที่ตระหนักในโชคดียินดี “แบ่งปัน” โชคดังกล่าวมากกว่าคนที่เชื่อว่าได้เงินมาเพราะฝีมือหรือความสามารถ
อันที่จริงมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นด้วยว่า เมื่อคนเรามีเงินมากถึงระดับหนึ่งแล้ว การใช้จ่ายเงินให้ตัวเองมากขึ้นไม่ได้ทำให้มีความสุขมากเท่ากับใช้จ่ายเงินเพื่อให้คนอื่นมีความสุขมากขึ้น
แบบหลังนี้กลับทำให้ตัวเองมีความสุขเพิ่มมากขึ้นได้มากกว่า
สรุปแล้วความสำเร็จประกอบไปด้วยทั้งโชคและความอุตสาหะ แต่เรามักไม่อยากเชื่อในเรื่องโชคเท่าไร และความสำเร็จจะยั่งยืนไม่ได้เลยหากเราไม่ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง การทำงานหนักจึงอาจเป็นตัวเรียกโชคให้อยู่กับเราไปนาน ๆ อย่างแท้จริง