ไข่วิจิตร
คิด-cool
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
บรรดา “ไข่วิจิตร” ในพิพิธภัณฑ์ไข่นก สวนนกชัยนาท
คือหัตถศิลป์ที่นำเทคนิคงานช่างสิบหมู่มาประยุกต์ใช้
อันที่จริงมนุษย์โลกรู้จักประดิษฐ์งานศิลปะจากเปลือกไข่
มานาน ทั้งวาด-ลงยา ทาสี ปะติดตกแต่ง ไปจนฉลุลาย-แกะสลัก ซึ่งถือเป็นการอวดทักษะฝีมือชั้นสูง
ในต่างประเทศนิยมใช้เปลือกไข่นกกระจอกเทศ เพราะใบใหญ่ (ขนาด ๖-๘ นิ้ว หนักเกิน ๑ กิโลกรัม เป็นไข่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) เปลือกอ่อนนิ่มให้ขูดได้ด้วยเครื่องมือ แต่ก็แข็งพอจะคงรูปอยู่ได้หลังถูกกรีดบางส่วนออก
ส่วนคนไทยนิยมใช้ไข่ห่าน-ไข่เป็ดเพราะหาได้ทั่วไป
หากได้ไข่ดิบมา ช่างศิลป์จะประดิดประดอยตอกรูเล็กเอาไข่แดงและไข่ขาวออก ล้างทำความสะอาด ตากแห้ง ค่อยนำมาบรรจงกรีด-แกะสลัก ฉลุเป็นลวดลาย จากนั้นจึงนำโลหะมีค่าอย่างแก้ว คริสตัล หรือเครื่องทองมาประดับประดา ตกแต่งอย่างพิถีพิถัน แล้วเคลือบให้เปลือกไข่ไม่แตกง่าย
รู้กันว่ายากสุดของการรังสรรค์คือระวังไม่ให้เปลือกร้าว
ไข่วิจิตรที่พบจึงน่าทึ่งว่าช่างศิลป์กะเทาะเปลือกออกมากถึงหนึ่งส่วนสี่ของพื้นผิวทั้งใบ ทั้งที่ส่วนประกอบสำคัญของเปลือกไข่คือคอลลาเจนที่สานเป็นตัวตาข่ายและมีหินปูนทำให้เปลือกแข็ง เมื่อขาดแรงยึดเกาะกินพื้นที่ขนาดนั้นน่าจะทำให้เปลือกไข่เปราะง่าย ทว่าช่างศิลป์ยังเนรมิตงานศิลปะนั้นออกมาได้คงรูปทรงสวยงาม
จากเปลือกไข่ธรรมดา เมื่อผ่านวิธีคิดและการทำงานประสานมือ-สมาธิ
สิ่งที่อยู่บนแท่นก็ประหนึ่งประติมากรรมขนาดเล็กบนพื้นผิวที่บอบบาง