พื้นที่อนุรักษ์นก
นอกเขตอนุรักษ์
OECMs (Other Effective Area-based
Conservation Measures)
พื้นที่อนุรักษ์ซึ่งเกิดขึ้นและดูแลโดยเอกชน องค์กรอนุรักษ์ หรือชุมชน รวมทั้งพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่อาจยังไม่มีการบริหารจัดการที่ชัดเจน มีอยู่มากมายหลายแห่ง นี่คือตัวอย่างจำนวนหนึ่งของพื้นที่จากเหนือจดใต้
1. พื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ
ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
พื้นที่เอกชนของ นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” หนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา นักจัดกิจกรรมสำรวจประชากรนก Bird Walk, Bird Talk ฯลฯ เก็บรักษาป่าดงแขมและพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า ๘๐ ไร่ ไม่ให้ถูกรบกวนจนกลายเป็นที่พักพิงของนกกว่า ๒๓๐ ชนิด เช่น นกพงปากยาว [Large-billed Reed Warbler (Acrocephalus orinus)] ซึ่งไม่มีรายงานการพบบนโลกนี้มานานกว่า ๑๓๐ ปี นกเขนคอไฟ [Firethroat (Luscinia pectardens)] นกที่ทำรังวางไข่ในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน เทือกเขาหิมาลัย แล้วบินอพยพลงใต้มาทางเมืองไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้ว่านกชนิดนี้หลังจากวางไข่แล้วไปอยู่ที่ไหน
2. ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง
อำเภอท่าอุเทน และอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
พื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระบบนิเวศแบบป่าบุ่งป่าทาม การปราศจากเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำสงครามทำให้ปลาและสัตว์น้ำยังว่ายตามลำน้ำได้อย่างอิสระ เป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อน เกื้อหนุนการดำรงอยู่ของสัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งนกนานาชนิด เช่น เป็ดดำหัวดำ [Baer’s Pochard (Aythya baeri)] ซึ่งเป็นนกอพยพที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ด้วยความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งคนท้องถิ่น กรมทรัพยากรน้ำ องค์กรไม่แสวงหากำไร องค์กรทางธุรกิจ ฯลฯ มีส่วนช่วยกันปกป้องพื้นที่ให้พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) แห่งที่ ๑๕ ของประเทศไทย
3. เขาพระพุทธบาทน้อย
ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ตั้งอยู่ภายในวัดพระพุทธบาทน้อย เป็นเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน รายล้อมด้วยดงโรงงานและแปลงเกษตร มีอาณาเขต
ไม่กี่ร้อยไร่ แต่ความหลากหลายทางชีวภาพสูงยิ่ง เป็นที่อยู่อาศัยของ “สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น” คือนกจู๋เต้นเขาหินปูน ชนิดย่อยสระบุรี [Limestone Wren Babbler (Napothera crispifrons calcicola)] พบที่เขาหินปูนของสระบุรีเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น เป็นนกกินแมลงอาศัยอยู่บริเวณเชิงผา โพรงซอกหิน นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลื้อยคลานชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทย เช่น จิ้งจกดิน ตุ๊กกายหางขาว ตุ๊กกายเขาวง ตุ๊กแกตาเขียว ชุมชนร่วมกับวัดแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์เป็นสามส่วนหลัก คือ พื้นที่หวงห้ามสำหรับเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหายาก พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและใช้ประโยชน์เก็บหาของป่า และพื้นที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้
4. วัดสวนใหญ่ วัดอัมพวัน วัดขวัญเมือง วัดมะเดื่อ อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมือง
นนทบุรี
การขยายตัวของเมือง กิจกรรมขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่ปริมณฑลทางฝั่งตะวันตกอย่างจังหวัดนนทบุรีมีพื้นที่สีเขียวน้อยลง ทำให้นกแก้วโม่ง [Alexandrine Parakeet (Psittacula eupatria)] ซึ่งเป็นนกแก้วขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมีจำนวนลดลง แต่วัดหลายแห่ง เช่น วัดสวนใหญ่ วัดอัมพวัน วัดขวัญเมือง วัดมะเดื่อ ยังคงเก็บรักษาต้นยางนาสูงใหญ่อายุร่วม ๑๐๐ ปีไว้ให้นกแก้วโม่งอาศัยใช้โพรงตามลำต้นทำรัง เกาะคอนนอนตามกิ่ง และออกหากินตามสวนผลไม้ ชาวบ้านร่วมกันก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่งวัดสวนใหญ่ และช่วยกันเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตาป้องกันการจับนกแก้วโม่งไปเลี้ยง ขาย หรือทำร้าย นอกจากนกแก้วโม่งยังมีนกแขกเต้าและนกอื่น ๆ ด้วย
5. ปากน้ำประแส
ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อประกาศเป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพในประเทศไทย (Flyway Network Sites in Thailand) โดยจะเป็นลำดับที่ ๔ ของประเทศไทยต่อจากปากน้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่, ปากทะเล-แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี, นาเกลือโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร บริเวณปากน้ำมีระบบนิเวศหลากหลาย มีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ เช่น หาดเลน หาดทราย ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง เป็นจุดบรรจบของน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย เป็นแหล่งอาศัยและหาอาหารที่สำคัญของนกทะเลขาเขียวลายจุด [Spotted Greenshank หรือ Nordmann's Greenshank (Tringa guttifer)]
6. บ้านปากทะเล
ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
สภาพพื้นที่เป็นนาเกลือติดชายฝั่งทะเล กระบวนการทำนาเกลือแบบดั้งเดิมเอื้อให้นกนานาชนิดเข้ามาพักอาศัย โดยเฉพาะนกอพยพที่บินมาจากช่วงฤดูหนาวของแถบตอนเหนือสุดของไซบีเรีย ซึ่งตรงกับฤดูกาลทำนาเกลือในประเทศไทย คือ ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์ เมื่อปี ๒๕๖๒ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยเรี่ยไรเงินและซื้อนาเกลือแปลงหนึ่งพื้นที่ประมาณ ๔๙ ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล ฯลฯ เพื่อรักษาไว้เป็นแหล่งอาศัยของนกอพยพ โดยเฉพาะนกชายเลนปากช้อน [Spoon-billed Sandpiper (Calidris pygmaea)] ที่มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่งในระดับโลก
7. เนินทรายบางเบิด
ตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
เนินทรายชายฝั่งขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่กว่า ๒,๐๐๐ ไร่ ระยะทางยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จุดสูงสุดอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า ๓๐ เมตร ในปี ๒๕๖๓ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทยสำรวจพบว่าเป็นแหล่งวางไข่ของนกหัวโตมลายู [Malaysian Plover (Charadrius peronii)] นกชายเลนชนิดเดียวที่ต้องทำรังวางไข่บนหาดทราย พบได้ตั้งแต่หาดทรายแหลมหลวงหรือแหลมผักเบี้ยยาวลงไปทางภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จากการศึกษาทั้งหมด ๑๐ หาด วิเคราะห์ขนาดเม็ดทรายที่นกทำรังวางไข่ สัตว์หน้าดิน จุดที่อยู่ระหว่างน้ำขึ้น-น้ำลง สูงสุด-ต่ำสุด พบว่าหาดบางเบิดเป็นหาดทรายที่นกหัวโตมลายูทำรังบนพื้นทรายได้ปลอดภัยมากที่สุด และลูกนกมีโอกาสเจริญเติบโตเป็นนกวัยหนุ่มได้มากที่สุด
8. อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ตั้งอยู่ในส่วนอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัย พื้นที่ประมาณ ๑,๓๕๐ ไร่ ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการทางวิชาการและเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยของนักเรียน นักศึกษา บุคคลภายนอก รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด ภายในพื้นที่มีหอชมฟ้า มองเห็นเทือกเขาหลวงทอดเป็นแนวยาวทางทิศตะวันตก มีสวนสมุนไพรใช้ประโยชน์ด้านการเรียนการสอนของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มีการสำรวจพบนกจับแมลงตะโพกเหลือง [Yellow-rumped Flycatcher (Ficedula zanthopygia)] ที่เดินทางมาไกลกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร จากแผ่นดินทางตะวันออกของจีน ลงกินน้ำใน “บ่อน้ำนก” ทำจากไม้ไผ่ผ่าซีก