นกชายเลนปากช้อน
นาเกลือโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร นกหายากที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก ประชากรเหลือราว ๘๐๐ ตัวเท่านั้น ในแต่ละปี “สปูนนี่” จะอพยพหนีความเหน็บหนาวในเขตทุนดรามาอาศัยหากินอยู่ตามหาดเลนและนาเกลือของประเทศไทย
ภาพ : นิยม ทองเหมือน
คนรักษ์นก นอกเขตอนุรักษ์
scoop
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
หัวใจผมเต้นไม่เป็นจังหวะจนแทบจะหลุดจากอก ระหว่างรอคนปลายทางรับสาย
“ตื๊ดดด...”
“อะไร”
“ปากช้อน”
“อะไรนะ” เขาถามกลับราวกับไม่เชื่อหู
“ปากช้อน พี่ เจอแล้ว...นกชายเลนปากช้อน”
“ตรงไหน”
“ข้างหน้าพี่นั่นแหละ ห่างออกไป ๓๐ เมตร ออกมาจากขอบบ่อไม่ถึง ๒๐ เมตรมั้ง”
เราอยู่บนผืนนาเกลือเดียวกัน ผมโทร. หาเขาจากคันดินริมฝั่งด้านหันขวางรับลมทะเล มองลึกเข้าไปในแผ่นดิน เห็นช่างภาพ สารคดี ยืนอยู่บนคันดินแนวตั้งฉากกับชายฝั่ง ขาตั้งกล้องอยู่ห่างจากชายคาซุ้มบังไพรไม่กี่ก้าวเท่านั้น
เรามากันแต่เช้าตรู่ ผมประกบ เสรี มานิช เพื่อสัมภาษณ์ ในใจลึก ๆ หวังว่านักดูนกแห่งบ้านปากทะเลจะช่วยชี้เป้าให้
นาเกลือผืนเดียวกันแต่จุดที่ช่างภาพอยู่ห่างกันเกินไป ถึงเร่งฝีเท้าไปหา กว่าจะถึงจุดหมายนกหายากเสี่ยงสูญพันธุ์ระดับโลกก็คงย้ายจุดหากินไปไหนต่อไหนแล้ว
ความจริงจะเร่งฝีเท้าก็ไม่ได้ด้วยสิ...ข้อกำหนดของนักดูนกคือ “ความสุขของนกต้องมาก่อน” แผ่นป้ายหน้าศูนย์อนุรักษ์บ้านปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีก็บอกให้เดินเข้าไปดูนกช้า ๆ หลีกเลี่ยงทีท่าดักล้อมหน้าล้อมหลัง
กลางผืนนาเกลือสมุทรอันกว้างใหญ่ นอกชายฝั่งเป็นน้ำทะเลโอบกอดอยู่ทุกทิศทาง เราทำได้เพียงส่งกำลังใจ ลุ้นให้ช่างภาพหามันเจอ ขอให้นกหายากปรากฏตัวในช่องวิวไฟน์เดอร์
แต่แล้วก็เหมือนถูกดับฝันจากคนข้าง ๆ เสรีบอกว่าคันดินอาจบังมุมกล้องอยู่
ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนกดวางสาย
ผืนนาเกลือกว้างใหญ่ไม่ต่างจากทะเล เงานกชายเลนเป็นพัน ๆ ตัวสะท้อนลงบนผิวน้ำ แทบไม่มีหมุดหมายบอกอย่างชี้ชัดว่านกตัวเล็ก ๆ ยืนอยู่ตรงไหน
ในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ สิ่งที่เราทำได้คือยอมรับโชคชะตา
บางสิ่งสำคัญเหมือนคำที่คนพูดกันต่อ ๆ มาว่า
อยู่ใกล้ตา...แต่มองไม่เห็น
พื้นที่อนุรักษ์
นอกเขตอนุรักษ์
ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครอง (protected areas) กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เช่น อุทยานแห่งชาติ (national park), เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (wildlife sanctuary), วนอุทยาน (forest park), เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (non-hunting areas), พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง (marine protected area), ฯลฯ ในแวดวงสิ่งแวดล้อมยังมีคำว่า “พื้นที่คุ้มครอง OECMs” ที่ย่อมาจาก “other effective area-based conservation measures” แปลตรง ๆ ว่า “มาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอื่น ๆ”
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) นิยาม OECMs ว่าเป็นพื้นที่นอกเขตพื้นที่คุ้มครองที่มีการบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึงวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ เศรษฐกิจ สังคม คุณค่าดั้งเดิมในท้องถิ่น ให้เป็นไปตามบทบาทหน้าที่และบริการที่ได้รับจากระบบนิเวศ เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่าเป็น “พื้นที่อนุรักษ์นอกเขตคุ้มครอง” หรือ “พื้นที่อนุรักษ์นอกเขตอนุรักษ์”
พื้นที่คุ้มครอง OECMs (บ้างก็เรียก “พื้นที่อนุรักษ์ OECMs” หรือ “พื้นที่ OECMs”) ไม่ได้อยู่ในเขตคุ้มครองในทางกฎหมาย การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนนี้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถึงแม้พื้นที่ OECMs จะอยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง แต่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มีมาตรการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
ดร. เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ผู้ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า
“อยากให้มอง OECMs ในเชิงภาพรวม เชื่อมโยงภาพใหญ่ในระดับ landscape และ seascape โดยเฉพาะแนวเชื่อมต่อกับพื้นที่คุ้มครอง ถ้ามองแบบนั้นจะเห็นว่าพื้นที่ OECMs ช่วยแก้ปัญหาความท้าทายการอนุรักษ์ในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะในพื้นที่กันชน (buffer zone) พื้นที่เชื่อมต่อ (corridor) เช่น แนวเชื่อมต่อจากอุทยานแห่งชาติสิรินาถ (จังหวัดภูเก็ต) ไปหาดท้ายเหมือง (จังหวัดพังงา) จนถึงอุทยานฯ แหลมสน (จังหวัดระนอง) แหล่งวางไข่สำคัญของเต่ามะเฟือง ซึ่งคาบเกี่ยวจังหวัดระนองกับพังงา พื้นที่อนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากที่ครอบคลุมหมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน (จังหวัดพังงา) พื้นที่สงวนชีวมณฑลทะเลสตูลที่รวมเกาะตะรุเตา หมู่เกาะเภตรา หมู่เกาะสาหร่าย แนวป่าชายเลนชายฝั่ง (จังหวัดสตูล) นอกจากนี้ในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ผสมพื้นที่เกษตรกรรม การจัดการแบบ OECMs ยังสอดคล้องกับบริบทความเป็นจริงของการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ระบบนิเวศอ่าวไทยตอนใน ระบบนิเวศที่ราบภาคกลาง หรือระบบนิเวศแบบทุ่งใหญ่ปากพลี จังหวัดนครนายก”
ความจริง OECMs ไม่ใช่เรื่องใหม่ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่หวงห้าม-เขตไม่ให้เข้าด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงทางการทหาร พื้นที่สีเขียวรอบหมู่บ้านไกลโพ้น หรือพื้นที่ส่วนตัวของเอกชน ล้วนเข้าข่ายพื้นที่ประเภทนี้
สาเหตุที่ทำให้ OECMs ได้รับการพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากในการประชุมระดับโลกที่ชื่อสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ ๑๕ (CBD, ส่วนหนึ่งของการประชุม COP 15) ใน ค.ศ. ๒๐๒๑ มีข้อสรุปให้ประเทศภาคีช่วยกันสนับสนุนเป้าหมายที่ ๓ ภายใต้กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งบนบก แหล่งน้ำในแผ่นดิน ทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ ๓๐ ภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐ หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “เป้าหมาย ๓๐×๓๐”
การอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติตามเป้าหมายข้างต้น จะเป็นหลักประกันว่าระบบต่าง ๆ ของโลกใบนี้ยังคงทำงานราบรื่น ปลอดภัย ผู้คนยังจะได้รับนิเวศบริการจากธรรมชาติ
หากแต่การเก็บรักษาพื้นที่ธรรมชาติไว้ให้ได้ร้อยละ ๓๐ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ทุกวันนี้สถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญคือการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนและเกษตรกรรม การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ การเสื่อมถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ นำมาซึ่งการลดลงและสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
หลายประเทศกำลังขบคิดว่าจะหาพื้นที่ใดมาประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองตามกฎหมาย
การให้ความสำคัญกับพื้นที่อนุรักษ์ OECMs จึงเป็นคำตอบที่ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่า
นกลอยทะเลคอแดง นกชายเลนบึง นกตีนเทียน ลุยน้ำหากินในนาเกลือบ้านปากทะเล นกชายเลนขนาดเล็กเหล่านี้หากินในนาเกลือตลอดทั้งวัน โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายตามการขึ้นลงของน้ำทะเล
(นกตัวใหญ่สุดในภาพคือนกตีนเทียน นกชายเลนบึงเป็นตัวปากยาวกว่านกลอยทะเลคอแดง)
นาเกลือที่มนุษย์สร้างขึ้นกลายเป็นระบบนิเวศที่เอื้อประโยชน์ให้นกชายเลน โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า “นาขัง” หรือ “วังขังน้ำ” ซึ่งระดับความเค็มของน้ำยังไม่สูงนัก
คนอยู่ได้
นกอยู่ได้
“พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลเป็นตัวอย่างเขตอนุรักษ์นอกพื้นที่คุ้มครองในประเทศไทยที่ชัดเจนที่สุด ตรงตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง มีชาวบ้าน ชาวนาเกลือ คนตัวเล็กตัวน้อยช่วยกันดูแลรักษา แต่ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครถูกเชิดหน้าชูตา ทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งพักพิงของนกท้องถิ่นหายาก รวมทั้งนกอพยพที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกหลายชนิด”
นิยม ทองเหมือน ผู้จัดการโครงการบ้านปากทะเล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย อธิบายให้ผมฟังก่อนพบนกชายเลนปากช้อนตัวเป็น ๆ
ยามสายวันหนึ่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทีมงาน สารคดี ออกเดินทางจากสำนักงานย่านสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี มุ่งลงใต้ ไม่นานบรรยากาศนอกรถก็เปลี่ยนไป จากตึกสูงของเมืองใหญ่กลายเป็นผืนนาเกลือกว้างไกลสุดลูกตา ผืนนาน้ำเค็มรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางเรียงต่อกันจากขอบฟ้าด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง
ก่อนถึงหัวโค้งสุดท้าย พี่โชเฟอร์หักพวงมาลัยนำเราเข้าสู่ทางดินลูกรังแคบพอให้รถแล่นสวนกัน พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลตั้งอยู่สุดทางนั้น
แผ่นป้ายแนะนำโครงการข้างเรือนรับรองหลังเล็ก ๆ บอกให้รู้ว่าโฉนดที่ดินแปลงตรงหน้ามีรูปร่างคล้ายอีโต้ มีใบมีดรูปสี่เหลี่ยมยื่นเข้าหาทะเล และมีส่วนแคบ ๆ เป็นด้ามจับตรงจุดที่เรายืนอ่านป้าย
ย้อนเวลากลับไปราว ๕ ปีก่อน สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยประกาศขอรับบริจาคเงินมาซื้อที่ดินนาเกลือประมาณ ๕๐ ไร่ ติดชายฝั่งอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี การรณรงค์เกิดขึ้นหลังทางสมาคมเก็บข้อมูลนกชายเลนแถบนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ แล้วพบว่าเป็นจุดที่นกชายเลนปากช้อนมารวมตัวกันมากที่สุด เคยบันทึกไว้มากถึง ๘-๑๐ ตัวต่อ ๑ ฤดูกาล
นกชายเลนปากโค้ง
มีปากดำแหลมโค้ง พบได้ตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ ทั้งฟากอันดามันและอ่าวไทย รวมถึงบริเวณอ่าว ก ไก่ ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีถึงจังหวัดชลบุรี ชอบอาศัยตามหาดเลน นาเกลือ และบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา
นกชายเลนปากโค้งขณะบินเห็นตะโพกและโคนหางด้านบนสีขาว
ทุกปีเมื่อถึงฤดูหนาว ฝูงนกชายเลน
นับแสนตัวจะอพยพจากแหล่งทำรังวางไข่ในไซบีเรีย มาอาศัยอยู่ในไทย ตลอดระยะเวลา ๗ เดือน ราวตุลาคม-เมษายนของทุกปี ขณะที่นกบางส่วนอาจบินไปถึงออสเตรเลีย
ซุ้มบังไพรของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยในพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล กลางผืนนาเกลือของจังหวัดเพชรบุรี เป็นเหมือนบ่อลึกลงไปให้ยืนมอง พอดีกับระดับพื้นนาเกลือภายนอก สะดวกสำหรับการถ่ายภาพและเก็บข้อมูลนก
นิยม ทองเหมือน
ผู้จัดการโครงการบ้านปากทะเล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
นกชายเลนปากช้อน [Spoon-billed Sandpiper (Calidris pygmaea)] มีชื่อเรียกเล่น ๆ ในวงการว่า “สปูนนี่” อพยพมาจากทางตอนเหนือสุดขอบโลก แต่ละปีปีกเล็ก ๆ จะกระเตงร่างที่โดดเด่นตรงปากแผ่แบนสีดำ โบยบินลัดฟ้ามาจากชายฝั่งตะวันออกสุดของไซบีเรีย เลาะตามแนวตะเข็บชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของรัสเซีย จีน คาบสมุทรเกาหลี หนีความเหน็บหนาวและขาดแคลนอาหารช่วงฤดูหนาวของแถบขั้วโลกเหนือ มุ่งใต้ลงมาอาศัยหากินอยู่ตามหาดเลนและนาเกลือของประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์ของอีกปี
เมื่ออากาศถิ่นที่จากมาอุ่นขึ้นก็จะบินกลับไปทำรังและวางไข่ รวมระยะทางบินมาแล้วบินไปมากกว่า ๘,๐๐๐ กิโลเมตร
นกชายเลนปากช้อนเป็นหนึ่งในนกที่เหลืออยู่น้อยที่สุดในโลก งานวิจัยจากทุกพื้นที่ที่มีรายงานเข้ามาระบุว่า มีนกเต็มวัยเหลืออยู่ประมาณ ๔๙๐ ตัว นกวัยเด็กประมาณ ๒๘๓ ตัว รวมประชากรล่าสุดราว ๘๐๐ ตัวเท่านั้น
การเอาตัวรอดในธรรมชาติของนกสองวัยแตกต่างกัน นกวัยเด็กยังขาดประสบการณ์ มีโอกาสบาดเจ็บเสี่ยงตายมากกว่า โดยเฉพาะระหว่างอพยพเดินทางไกล นักวิจัยจึงให้ความสำคัญกับจำนวนประชากรนกเต็มวัยเพราะคลาดเคลื่อนน้อยกว่า
ปัจจุบัน IUCN Red List จัดนกชายเลนปากช้อนอยู่ระดับ CR-Critically Endangered species หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
งานรณรงค์ของทางสมาคมระดมทุนได้ถึง ๘ ล้านบาท เพียงพอซื้อที่ดินจากเอกชนตามความต้องการ
วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ สมาคมรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาด ๔๙-๓-๙๐ ไร่ เสร็จสมบูรณ์แล้วร่วมกับ Rainforest Trust องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๓ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกาศเป็น “พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล” (Pak Thale Nature Reserve) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเก็บรักษานาเกลือรูปอีโต้ให้เป็นแหล่งพึ่งพิงของนกหายาก เป็นสถานศึกษาระบบนิเวศชายฝั่ง รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำหรับคนทั่วไป
...
“นาเกลือเป็นระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้นแต่เอื้อให้กับนกอพยพ” นิยมเอ่ยขณะเดินนำเรามุ่งหน้าสู่ซุ้มบังไพร เน้นย้ำกำชับว่าให้เดินบนคันดินใหญ่ รองรับน้ำหนักคนได้โดยไม่ทรุดตัว ห้ามเหยียบย่ำในแอ่งนาเกลือโดยเด็ดขาด
ระหว่างทาง เสรี มานิช หยุดตั้งกล้องเทเลสโคปให้เราส่องดูนกเป็นระยะ
“นั่นสติ๊นท์คอแดง อยู่รวมกับน็อตเล็ก น็อตใหญ่...”
ภาพที่เห็นผ่านเลนส์กำลังขยายสูงคือนกชายเลนปากสั้นสีดำ หัวและลำตัวด้านบนสีเทา ลำตัวด้านล่างสีขาว หากินปะปนกับนกชายเลนขนาดเล็กชนิดอื่น แต่ละตัวเดินสลับวิ่ง จิกกินสัตว์เล็ก ๆ ตามพื้นเลนอย่างรวดเร็ว
ผมสังเกตว่าเสรีระบุชนิดของนกที่อยู่ห่างหลายร้อยเมตรได้ด้วยตาเปล่า จำแนกชนิดพันธุ์ได้ถูกต้องแม่นยำราวกับตาเห็นอยู่ใกล้ ๆ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากล้องส่องทางไกลชนิดสองตาหรือกล้องเทเลสโคปแต่อย่างใด
เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เราพบนกหลายชนิดออกหากินในนาเกลือสมุทร ไม่ว่าจะเป็นนกชายเลนขาเขียวลายจุด นกซ่อมทะเลอกแดง นกกาน้ำเล็ก นกกาน้ำใหญ่ นกปากแอ่นหางลาย นกปากแอ่นหางดำ นกนางนวล ฯลฯ รวมทั้งยังมีนกป่าหรือนกทุ่ง เช่น นกกระติ๊ดขี้หมู นกกระติ๊ดสีอิฐ นกเอี้ยงสาลิกา นกเขาชวา นกเขาไฟ ฯลฯ
ระดับน้ำในนาเกลือค่อนข้างตื้นและคงที่ เป็นแหล่งอาหารชั้นดีสำหรับกลุ่มนกชายเลน เช่น นกสติ๊นท์ นกหัวโต นกชายเลนปากโค้ง นกชายเลนปากกว้าง ที่มีปากและขาสั้น
นกน็อตใหญ่
พบได้ตามหาดเลน หาดทราย และบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา มักพบรวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ เดินหาสัตว์เล็ก ๆ ใต้พื้นเลนกินไปช้า ๆ
นกน็อตใหญ่ปะปนอยู่กับนกหัวโตทรายเล็ก (ในภาพคือนกที่ปากสั้นและตัวเล็กกว่า) ทั้งสองชนิดมักพบรวมฝูงกัน หากินในหาดเลนที่อุดมด้วยสัตว์หน้าดิน เช่น หอย ไส้เดือนทะเล กุ้ง ปู
ภาพจำของนาเกลือที่ดูอ้างว้าง โดดเดี่ยวเดียวดาย ร้อนระอุด้วยเปลวแดดอันโหดร้าย ตรงกันข้ามกับการเป็นแหล่งอาหารและแหล่งพักพิงของนกนานาชนิดที่นักดูนกให้ความสนใจ
“สถานภาพและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำแต่ละแห่งกำลังเปลี่ยนแปลงไป
...ไม่ว่าจะเป็นการทำนากุ้ง การขยายถนน การตักหน้าดินขาย หากรักษาพื้นที่ทำนาเกลือสมุทรแบบดั้งเดิมไม่ได้ ถิ่นอาศัยของนกชายเลนก็จะหมดสิ้นไป”
ความลับ
ของนาเกลือ
ความเค็มของเกลือที่เป็นผลผลิตปลายทางผนวกกับภาพจำของนาเกลือที่แลดูอ้างว้าง เดียวดาย ร้อนระอุด้วยเปลวแดดอันโหดร้าย ทำให้ใครต่อใครพากันเข้าใจว่านาเกลือไร้สิ่งมีชีวิต ทั้งที่จริงนาเกลือเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ
พวกตัวอ่อนของแมลงที่อาศัยอยู่ในแอ่งน้ำเป็นดั่งแม่เหล็กให้นกชายเลนลงมารุมกินโต๊ะ
“นกชายเลนที่หาอาหารในนาเกลือ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มตัวเล็ก ปากสั้น อาหารหลักคือตัวอ่อนของกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่เรามองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น แต่มีอยู่มหาศาลเลยนะ โดยเฉพาะบ่อตื้นที่ชาวนาเกลือใช้พักน้ำ”
ชายหนุ่มเจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยให้รายละเอียดเมื่อเราเดินมาถึงซุ้มบังไพรที่ทางสมาคมสร้างไว้ด้วยวิธีขุดพื้นดินลึกลงไปให้ความสูงของผิวน้ำอยู่ในระดับสายตา ความลับของนาเกลือ ค่อย ๆ ถูกคลี่ออกผ่านปากเจ้าหน้าที่สมาคมที่อยู่เบื้องหลังโครงการศูนย์อนุรักษ์บ้านปากทะเลมาตั้งแต่แรกเริ่ม
เกลือทะเล (sea salt) หรือเกลือสมุทรผลิตโดยการตากน้ำทะเลจนงวดแห้ง เหลือแต่ผลึกเกลือสีขาว การทำนาเกลือมีมาแต่โบราณและถือเป็นอาชีพเก่าแก่อย่างหนึ่งของชาวไทย
“คนทำนาเกลือต้องใช้น้ำทะเลเป็นวัตถุดิบ แต่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยที่มีระยะทางประมาณ ๒,๖๐๐ กว่ากิโลเมตร กลับไม่สามารถทำนาเกลือได้ทั้งหมด พื้นที่เหมาะทำนาเกลือมีอยู่จำกัด ต้องเป็นที่ราบ มีดินเหนียวผสม เพื่อช่วยลดโอกาสที่น้ำจะซึมลงใต้ดิน รวมทั้งป้องกันไม่ให้น้ำจืดแทรกขึ้นมา พื้นที่หลัก ๆ ของชาวนาเกลือจึงอยู่ตามจังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี”
“นาเกลือช่วยให้นกมีแหล่งอาหาร...นอกจากหากินได้แทบทั้งวันแล้ว ยังใช้นาเกลือเป็นแหล่ง รวมฝูงพักผ่อน ใช้เป็นที่นอนและหลบภัย”
อารุณ มีชัย เกษตรกรบ้านปากทะเล
นิยมเล่าว่าเจ้าของจะแบ่งพื้นที่ทำนาเกลือออกเป็นสี่ถึงห้าแปลง แต่ละแปลงยกขอบสูงคล้ายคันนา เรียงลำดับเป็น นาขัง-นาตาก-นาแผ่-นาดอก-นาวาง ตามกระบวนการผลิตเกลือสมุทรแบบดั้งเดิม แปลงที่อยู่ติดทะเลเรียกว่า “นาขัง” น้ำทะเลจะพักที่ส่วนนี้ก่อน ทอดเวลาให้สิ่งสกปรกตกตะกอนจนน้ำใส จากนั้นวิดน้ำเข้า “นาตาก” ให้น้ำทะเลระเหยออกเพื่อเพิ่มระดับความเค็ม แปลงที่อยู่ติด ๆ กันเรียกว่า “นาแผ่” และ “นาดอก” การถ่ายน้ำกลับไปกลับมาระหว่างแปลงนาทั้งสองจะยิ่งเพิ่มระดับความเค็ม แปลงสุดท้ายเรียกว่า “นาวาง” ชาวนาจะทิ้งน้ำไว้จนเกลือตกผลึก นาวางมักอยู่ใกล้ถนนเพื่อความสะดวกในการขนเกลือไปขาย
นาขังคลุมพื้นที่มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของระบบทำนาเกลือ ส่วนที่เหลือแบ่งออกเท่า ๆ กัน
“นาขังนี่แหละที่นกมักเลือกลงกินอาหาร เพราะว่ามีสัตว์น้ำและสารอาหารจากทะเลไหลเข้ามาอยู่อาศัย ค่าความเค็มยังใกล้เคียงกับน้ำทะเล” นิยมอธิบายขยายความ
ทุกวันนี้ชาวบ้านปากทะเลยังอนุรักษ์วิถีทำนาเกลือแบบดั้งเดิม (traditional salt pans) อาศัยการผันน้ำทะเลเข้ามาขังในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่นกชายเลนอพยพเข้ามาในประเทศไทย
...
ขาและปากของนกเป็นสุดยอดแห่งวิวัฒนาการ ความยาวและรูปทรงที่แตกต่างกำหนดพฤติกรรมการกิน นกปากสั้นจะชอบหาอาหารในเขตน้ำตื้น ยิ่งปากยาวก็ยิ่งลึก ซึ่งส่วนมากจะสัมพันธ์กับความยาวของขา
ปากแหลมเรียวสีดำกับขาเรียวสีแดงอมชมพูเด่นสะดุดตาเป็นเครื่องหมายการค้าของนกตีนเทียน นอกจากหาดเลน นาเกลือ ยังพบตามทุ่งนา หนองบึง รวมถึงทะเลสาบ
มองลงมาบนพื้นโลกด้วยสายตาของนก นาเกลือทั้งระบบเชื่อมต่อกันเป็นผืนแผ่นเดียว ตรงชายขอบแผ่นดินติดทะเล
พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ ของระบบนาเกลือบ้านปากทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งชาวนาเกลือพยายามอนุรักษ์รูปแบบการทำนาเกลือแบบดั้งเดิมเอาไว้
อารุณ มีชัย เกษตรกรบ้านปากทะเล ทำนาเกลือมาตั้งแต่เด็กและเป็นเจ้าของพื้นที่นาเกลือรอบ ๆ นาเกลือของสมาคมได้นอนดูนกแทบทุกวัน เล่าว่าตลอดทั้งวันนกจะโยกย้ายตำแหน่งไปตามแอ่งนาเกลือที่มีอาหารและค่าความเค็มเหมาะสม
“นกไม่ได้ลงทุกแปลง นาเกลือช่วยให้นกมีแหล่งอาหาร ไม่ต้องห่วงว่าน้ำทะเลจะลงหรือขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังใช้นาเกลือเป็นแหล่งรวมฝูงพักผ่อน เป็นที่นอน และหลบภัย เดี๋ยวนี้ชายหาดถูกคนรบกวนทั้งกลางวันและกลางคืนแล้วไม่ใช่หรือ” เขาเอ่ยปากถามบนเปลญวนที่ผูกอยู่ข้างนาเกลือ
เสรี มานิช นักอนุรักษ์นกและธรรมชาติบ้านปากทะเล-แหลมผักเบี้ย (ซ้าย)
ทุกวันนี้ทางสมาคมยังเปิดรับเงินบริจาคเพื่อนำไปเป็นทุนบริหารจัดการพื้นที่บ้านปากทะเล เช่น การปรับสภาพพื้นที่นาเกลือให้เหมาะสมสำหรับนก การผันน้ำเพื่อสร้างแหล่งอาหาร การสร้างซุ้มบังไพร การเก็บข้อมูลนกและระบบนิเวศในมิติต่าง ๆ และที่สำคัญคือการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลถูกกัดเซาะไปแล้วประมาณ ๒๒ ไร่ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูป้องกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน
แปลงนาเกลือของอารุณก็อยู่ในสถานการณ์แทบไม่ต่างกัน เสรี มานิช นักอนุรักษ์นกและธรรมชาติบ้านปากทะเลแหลมผักเบี้ย ซึ่งในอดีตเคยเป็นชาวประมงและเคยสัมผัสชีวิตคนทำนาเกลือมาก่อนเล่าว่า
“นกชายเลนที่ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลกเหลืออยู่แค่ไม่กี่ตัวเท่านั้น แต่กลับตั้งกล้องถ่ายภาพได้ง่าย ๆ ที่นี่ พอนักดูนก รู้ข่าวก็ชวนกันมา บางวันมาหลายคันรถ นาเกลือมันกว้างใหญ่ ไม่รู้หรอกว่าผืนไหนเป็นของใคร บ่อยครั้งไม่ขออนุญาต ไม่เอ่ยปากถาม คงนึกว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ลงจากรถก็เดินดุ่ม ๆ ไม่ระวัง ก็เหยียบย่ำจนคันดินพังเสียหาย ถ้ารถขับเร็ว ไม่เกรงใจกัน ฝุ่นละอองก็ตกในนาเกลือ การทำนาเกลือสมุทรแบบดั้งเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะผ่านหน้ามรสุมที่น้ำทะเลหนุน พื้นที่ได้รับความเสียหายหลายรอบ ต้องออกแรงซ่อมแซมคันดินกันใหม่ เวลาผลิตเกลือได้น้อยก็ส่งผลกระทบต่อรายได้”
หลังกล้องเทเลสโคปที่กางขามั่นคงอยู่บนคันดินริมนา เขาเอ่ยโดยไม่เงยหน้าขึ้นจากกล้อง
“บางครั้งคนที่เข้ามามองด้วยสายตาดูถูก เหยียดหยาม ไม่ให้เกียรติ เพราะเห็นว่าเป็นชาวบ้าน ชาวนาเกลือแต่ก็ไม่เคยมีใครว่าอะไร”
อาจเป็นเพราะนาเกลือคือชีวิตและจิตใจ
“หัวใจของชาวนาเกลือกว้างใหญ่เหมือนกับนาเกลือ”
ฝูงนกนักล่าบินร่อนอยู่บนฟ้าเหนือทุ่งใหญ่ปากพลีที่ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า ๕๐-๖๐ ฟุต
นกจำนวนมากเข้ามาอาศัยหากินและเกาะนอนบริเวณทุ่งใหญ่ปากพลี เนื่องจากมีแหล่งน้ำและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญคือไม่ถูกรบกวนจากผู้คนมากนัก
พื้นที่สาธารณประโยชน์
ร่างกำยำแผ่ปีกบนพื้นขาวโพลนด้วยแสงจากดวงอาทิตย์ ไม่ว่าจะมองเหลี่ยมมุมใดก็บ่งบอกถึงเรือนกายอันโฉบเฉี่ยว ปราดเปรียวแบบนกนักล่า
คะเนด้วยสายตา เจ้าของปีกแข็งแรงบนท้องฟ้าน่าจะมีราว ๕๐ ชีวิต บินร่อนบนระดับความสูงไม่ต่ำกว่า ๕๐-๖๐ ฟุต
สิทธิชัย อิ่มจิตร หรือ “สจ. โก๋” สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายกบอกว่าเป็นธรรมชาติของเหยี่ยวที่จะอาศัยการลอยตัวของอากาศร้อนพยุงตัวและร่อนไป
“มันชอบบินหากินเหนือแหล่งน้ำตามพื้นโล่ง ๆ กระพือปีกช้า ๆ มองหาเหยื่อบนพื้น แต่แหล่งอาหารไม่ใช่ที่นี่ที่เดียวหรอกนะ เท่าที่ดูทุกวันมันจะออกไปหากินไกล ๆ แล้วก็บินกลับมารวมฝูงกัน”
…
สองชั่วโมงจากจังหวัดนนทบุรีมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านถนนมิตรภาพ เข้าสู่เขตรอยต่อของจังหวัดนครนายกกับปราจีนบุรี ผมเดินทางมาทุ่งใหญ่ปากพลีตามคำแนะนำว่าที่นี่เป็น “แหล่งรวมนอน” ของนกหายาก
ที่ราบลุ่มภาคกลางยังคงเป็นถิ่นอาศัยของนกน้ำและนกทุ่งนานาชนิด นกเป็ดน้ำนับหมื่นตัวยังพบได้ตามบึงหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ทุ่งนา พงหญ้าริมน้ำ พื้นที่น้ำท่วมขัง เป็นแหล่งหาอาหารของนกยาง นกยอดหญ้า นกพง ฯลฯ
ผืนป่าที่ถูกประกาศเป็นเขตคุ้มครองตามกฎหมายอาจเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของนก แต่หากสังเกตจะเห็นว่าเราพบนกได้แทบทุกหนแห่ง ในแถบถิ่นอันหลากหลาย หย่อมป่าละเมาะที่แทรกตัวอยู่ในชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ หรือแม้แต่สวนสาธารณะ ต่างก็เป็นแหล่งอาหารและถิ่นอาศัยสำคัญ
ในบรรดานกไม่น้อยกว่า ๑,๐๑๔ ชนิดในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นนกประจำถิ่น นกอพยพ หรือนกย้ายถิ่นที่เข้ามาทำรังวางไข่ ต่างมีถิ่นอาศัย พฤติกรรม ลักษณะเด่นแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เกิดจากความพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ในธรรมชาติ
นครนายกเป็นจังหวัดในที่ราบลุ่มภาคกลางที่มีแหล่งดูนกและนกที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าจังหวัดอื่น ๆ เฉพาะพื้นที่ “ทุ่งใหญ่ปากพลี” รับรู้กันในหมู่นักดูนกว่าที่นี่เป็นดงเหยี่ยวดำ
สจ. โก๋ยื่นแผ่นพับที่เขียนบอกว่ายามเช้านักท่องเที่ยวจะได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเหยี่ยวนับพันตัวออกหากินพร้อมมวลหมู่นกประจำถิ่น ตกบ่ายแก่ ๆ เป็นเวลาที่เหยี่ยวกลับมารวมฝูงบนต้นยูคาลิปตัสกลางทุ่งใหญ่
สิทธิชัย อิ่มจิตร
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก
เหยี่ยวดำที่พบในประเทศไทยมีสองชนิด คือ เหยี่ยวดำใหญ่และเหยี่ยวดำไทย ทั้งสองมีลักษณะคล้ายกัน จุดเด่นของเหยี่ยวดำใหญ่คือใต้ปีกมีแถบสีขาวกว้าง ส่วนเหยี่ยวดำไทยมีจมูกและขาสีเหลือง
ครัวของนกนักล่าด้านหน้าซุ้มบังไพร ล้อมรอบด้วยต้นยูคาลิปตัส
“ตรงนี้เป็นที่ลุ่มต่ำ อยู่ห่างจากถนนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงภายในยังเกิดขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่รอบ ๆ ฤดูน้ำหลากมีสภาพเป็นทุ่งน้ำท่วม ฤดูหนาวเป็นทุ่งนาตากฟาง หลังน้ำลดจะมีงูและหนู ท้องทุ่งหน้าน้ำมีพืชและสัตว์เล็ก ๆ หลายชนิดที่เป็นอาหารของนก” สจ. โก๋กล่าวถึงทุ่งใหญ่ปากพลีที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของนกนักล่าจำพวกเหยี่ยว อินทรี และแร้ง
เหยี่ยวดำที่พบในประเทศไทยมีสองชนิด คือ เหยี่ยวดำใหญ่และเหยี่ยวดำไทย
เหยี่ยวดำใหญ่ [Black-eared Kite (Milvus lineatus)] หรือเหยี่ยวหูดำ เป็นเหยี่ยวอพยพ มีถิ่นกำเนิดในประเทศรัสเซีย จีน เกาหลี มองโกเลีย และญี่ปุ่น จะบินเข้ามาพักบริเวณทุ่งใหญ่ปากพลีเฉพาะช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่ราวเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนเมษายนของอีกปี ช่วงกลางวันจะออกไปหากินพื้นที่อื่น แล้วกลับมานอนรวมกันเป็นฝูงตามกิ่งไม้เตี้ย ๆ ส่วนใหญ่ใช้บริการต้นยูคาลิปตัสที่แผ่กิ่งก้านอยู่ในระดับไม่สูงจนเกินไป แต่บางพื้นที่ก็พบเกาะนอนบนต้นตาล ลักษณะเด่นของเหยี่ยวดำใหญ่คือใต้ปีกมีแถบสีขาวกว้าง
ส่วนเหยี่ยวดำไทย [Black Kite (Milvus migrans lineatus)] จุดเด่นอยู่ตรงปลายหางเว้าลึก จมูกและขาสีเหลือง เคยถูกจัดหมวดว่าเป็นเหยี่ยวประจำถิ่น แต่หลังจากหน่วยวิจัยนกนักล่าและเวชศาสตร์การอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ผศ. นสพ. ดร. ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ติดตามศึกษานิเวศวิทยาการสืบพันธุ์ ทำให้ทราบว่าเหยี่ยวดำไทยก็อพยพตามฤดูกาล บินมาทำรังวางไข่ในเมืองไทยระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคมปีถัดไป แล้วอพยพกลับไปอาศัยในประเทศอินเดียระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน-ตุลาคม
ทั้งเหยี่ยวดำใหญ่และเหยี่ยวดำไทยต่างก็ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒
ถ้าคนต้องการเรือนนอนที่ปลอดภัย บ้านที่อยู่แล้วสบายใจ ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะมีภยันตรายจากรอบนอก นกก็ไม่ต่างกัน ธรรมชาติของนกจะเลือกสร้างรังในจุดที่ศัตรูเข้าถึงยากที่สุด เช่น ปลายกิ่งไม้ โพรงไม้ บางชนิดทำรังอยู่บนเกาะกลางทะเล ถ้ายังไม่ถึงช่วงเตรียมวางไข่ก็จะเลือกเกาะนอนบนกิ่งไม้ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด
“ทุ่งใหญ่ปากพลีเป็นทุ่งโล่งหลายพันไร่ มีป่ายูคาลิปตัสกระจายอยู่ ล้อมรอบด้วยคูน้ำที่เราขุดเอาไว้ อยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ (อบต. ท่าเรือ)” สจ. โก๋ คนท้องถิ่น เคยบันทึกไว้ตั้งแต่ยังเป็นสมาชิก อบต. ท่าเรือ ว่าบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ทำนาและเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งแย่งพื้นที่กันบ่อย ๆ
“ทางการเห็นท่าไม่ดีจึงให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนช่วยกันชี้แนวเขต ขุดทำแนวกั้นพื้นที่ทั้งหมด แล้วเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘ทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ของตำบลท่าเรือ’ ต่อมาชาวบ้านร่วมกันปลูกต้นยูคาลิปตัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเทพฯ เมื่อต้นไม้โตขึ้นก็เริ่มมีนกเข้ามาพักอาศัย หลายชนิดไม่เคยมีมาก่อน เช่น นกเป็ดน้ำ นกกาบบัว นกกระทุง และมีปริมาณมากขึ้นทุกปี เฉพาะนกเหยี่ยวดำเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันตัว” สจ. โก๋ถ่ายทอดเรื่องราว
เหยี่ยวดำใหญ่
เหยี่ยวอพยพที่เข้ามาพักและหากินบริเวณทุ่งใหญ่ปากพลีช่วงฤดูหนาว กลางวันจะออกบินไปหากินในพื้นที่รอบ ๆ จับเหยื่อพวกหนูนา งู กบ และนกขนาดเล็กชนิดอื่นเป็นอาหาร แล้วกลับมานอนรวมกันบนพื้นหรือกิ่งไม้เตี้ย ๆ
ทุ่งใหญ่ปากพลีมีขนาดหลายพันไร่ เป็นทุ่งนาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และทุ่งนาตากฟางในฤดูหนาว ต่อมาทางชุมชนและราชการร่วมกันขุดทำแนวกั้นพื้นที่ เรียกว่า “ทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ของตำบลท่าเรือ”
สิ่งที่ตามมาคือการบอกกล่าวกันแบบปากต่อปาก นักดูนกทั้งชาวไทยและต่างชาติพากันเข้ามาส่องนกมากขึ้นเรื่อย ๆ จนชาวชุมชนตื่นตัว รู้สึกหวงแหน บางครั้งก็นำอาหารมาให้นก
“ตำบลท่าเรือมีสภาพเป็นที่ลุ่มต่ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำท่วมขังนาน ๆ ชาวบ้านจะออกมาจับปลาไปกินเป็นอาหารแปรรูปเป็นรายได้เสริม มีเศษหัวปลาเหลือก็เอามาให้นกกิน นอกจากเหยี่ยวยังมีอินทรีที่เป็นนกนักล่าเหมือนกันตามเข้ามา นกกาดำก็มากินอาหารเน่า ๆ ที่พวกเหยี่ยวกินเหลือทิ้ง” สจ. โก๋กล่าวถึงสถานการณ์เมื่อร่วม ๒๐ ปีก่อน
อย่างไรก็ตามจำนวนนกที่เข้ามามากกลับทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เหยี่ยวดำหลายตัวต้องนอนเกาะต้นไม้แห้งที่ล้มลงบนพื้น ต่อมายังเกิดไฟไหม้ป่ายูคาลิปตัส เฉพาะปี ๒๕๕๙ เกิดไฟไหม้ถึงสามครั้ง สร้างความเสียหายอย่างหนัก ต้นยูคาลิปตัสก็น้อยลงจนน่าใจหาย
“ไฟไหม้แต่ละครั้งผู้นำชุมชน ชาวบ้านจะช่วยกันดับไฟ แต่ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จ รถดับเพลิงเข้าไม่ถึงต้นไม้ที่มีนกเกาะ เพราะมีตอและต้นไม้ใหญ่ล้มขวางทางอยู่ ก็ได้แต่ช่วยกันจนสุดความสามารถ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็รับบริจาคต้นไม้มาปลูกเพื่อให้นกได้มาอาศัย”
เคยมีการประเมินว่าพื้นที่ทุ่งใหญ่ปากพลีนี้มีเหยี่ยวดำเข้ามาประมาณ ๖ หมื่นตัว มีนกอื่น ๆ เข้ามาใช้พื้นที่ราว ๓๘ ชนิด เป็นนกน้ำ ๑๔ ชนิด เหยี่ยว ๒ ชนิด และนกอื่น ๆ
หัวใจคือพื้นที่
ในมิติการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจังหวัดนครนายก เหยี่ยวดำกับนักท่องเที่ยวกลายเป็นของคู่กันไปแล้ว โดยมีกุญแจสำคัญคือ “พื้นที่”
งานวิจัยหัวข้อ “แผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนของพื้นที่ดงเหยี่ยวดำทุ่งใหญ่ปากพลี จังหวัดนครนายก” ของ จุฑาธิปต์ จันเอียด อาจารย์ประจำสาขาท่องเที่ยว คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับคณะ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์จากทั้งสาขาท่องเที่ยวและสาขาสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายของทรัพยากรทางธรรมชาติ และศึกษาศักยภาพความพร้อมของพื้นที่ในมิติของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ให้รายละเอียดว่าดงเหยี่ยวดำเป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพภายในท้องถิ่น มีเหยี่ยวดำและนกอพยพนานาชนิดมาใช้ประโยชน์พื้นที่เป็น habitat (ที่อยู่อาศัย) ชั่วคราว มีลักษณะเป็นที่ชุ่มน้ำ มีน้ำขังตลอดปี บริเวณโดยรอบทำนาปลูกข้าว
ผลการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ของตำบลท่าเรือพบพืชยืนต้น ๒๐ ชนิด ได้แก่ ขี้เหล็ก ยางนา ไทร ตาล กระถินณรงค์ หางนกยูงฝรั่ง เหลืองปรีดียาธร ฯลฯ โดยมียูคาลิปตัสเป็นต้นไม้เด่นกระจายตัวทั่วทุ่งในระยะห่าง ๆ พืชคลุมดิน เช่น เทียนนา กก กระจูด มีแห้วทรงกระเทียมเป็นพืชเด่น พบมากตาม ริมบ่อน้ำ พืชผิวน้ำ เช่น บัวสาย บัวผัน บัวหลวง แพงพวยน้ำ ฯลฯ พืชใต้น้ำ เช่น สาหร่ายหัวไม้ขีด สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายเส้นด้าย สาหร่ายหางกระรอก ฯลฯ กลุ่มหญ้า เช่น หญ้าดอกแดง หญ้าแฝก หญ้าดอกขาว หญ้าชันกาด ฯลฯ ไม้พุ่ม เช่น กกสามเหลี่ยม เอื้องเพ็ดม้า มีพืชยืนต้นและพืชบกส่วนหนึ่งถูกปลูกเสริมเข้ามา เช่น ปาล์มน้ำมัน มะม่วงหิมพานต์ โพธิ์ มะขามป้อม สุพรรณิการ์ ฯลฯ
ในปี ๒๕๖๔ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินว่าน่าจะมีเหยี่ยวดำเข้ามาประมาณ ๖ หมื่นตัว
แต่นกที่เข้าใช้พื้นที่ทั้งหมดมีมากถึง ๓๘ ชนิด แบ่งเป็นนกน้ำ ๑๔ ชนิด เหยี่ยว ๒ ชนิด นกกระเต็น ๒ ชนิด กลุ่มนกกินลูกไม้ ๑ ชนิด กลุ่มนกกินซาก ๑ ชนิด กลุ่มนกนางแอ่น ๒ ชนิด นกเขา ๒ ชนิด และนกกินแมลง กินปลาเล็กอีก ๑๔ ชนิด
…
ผลสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในทุ่งใหญ่ปากพลี พบพืชยืนต้น จำนวน ๒๐ ชนิด และยังเป็นบ้านหลังสุดท้ายของปลาซิวสมพงษ์ ๑ ใน ๑๐๐ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ของโลกที่พบในประเทศไทยเท่านั้น
ปลาซิวสมพงษ์เป็นอีกหนึ่ง “ชีวิต” ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของทุ่งใหญ่ปากพลีในฐานะ “บ้านหลังสุดท้าย” ของสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์
ปลาตัวเล็กจิ๋วในวงศ์ปลาซิว ตัวโตเต็มที่ยาวไม่เกิน ๒.๕ เซนติเมตร เป็น ๑ ใน ๑๐๐ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลกตามเกณฑ์ IUCN Red List ที่พบในประเทศไทยเท่านั้น อดีตเคยพบตามทุ่งนาน้ำหลาก หนองบึงที่มีน้ำใสสะอาดและมีพรรณไม้น้ำหนาแน่น ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง
ในเชิงภูมิศาสตร์ ทุ่งน้ำหลากตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี เป็นที่ราบลุ่มต่ำที่สุดของที่ราบลุ่มภาคกลาง เชื่อมต่อกับพื้นที่รับน้ำในตำบลปากพลี อำเภอปากพลี และตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ที่รองรับน้ำธรรมชาติมาจากแม่น้ำปราจีนบุรีและป่าเขาใหญ่
ทุกปีเมื่อถึงหน้าน้ำหลากปลาซิวสมพงษ์จะว่ายเข้าสู่ท้องทุ่งเพื่อหาอาหาร ผสมพันธุ์ และวางไข่ เมื่อน้ำลดไหลกลับสู่ลำน้ำ ปลาซิวสมพงษ์ก็ว่ายออกจากท้องทุ่งกลับลงสู่แหล่งน้ำตาม
ทุกวันนี้ประเมินว่าพื้นที่ทั้งหมดในหน้าน้ำหลากที่มีลักษณะเป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ เหลืออยู่แค่ราว ๑๕๐ ตารางกิโลเมตร เฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยของปลาซิวสมพงษ์ไม่น่าเกิน ๕๐ ตารางกิโลเมตร
ในยามหน้าแล้ง น้ำในทุ่งแห้งเหือด ปลาซิวสมพงษ์ต้องว่ายเข้าไปหลบตามคลอง หนอง บึง ที่อยู่ต่ำและมีสภาพน้ำดี เฉพาะส่วนที่เชื่อมโยงกับทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ตำบลท่าเรือคาดว่ามีขนาดพื้นที่รวมไม่ถึง ๑ หมื่นตารางเมตร เป็นสภาพวิกฤตด้านถิ่นอาศัยที่นับวันจะรุนแรง
อนาคตหากพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง ถูกรบกวน หรือแม้แต่เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถิ่นอาศัยของปลาซิวสมพงษ์อาจหายไป
...
ทรัพยากรทางธรรมชาติที่โดดเด่น ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชบกและพืชน้ำ เป็นดั่งขุมทรัพย์ที่ยากประเมินค่าของทุ่งใหญ่ปากพลี อย่างไรก็ดีระบบนิเวศสำคัญก็มีโอกาสเสี่ยงจะสูญหาย ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่
สิทธิชัยให้ความเห็นว่าต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจกับคนในชุมชน สำหรับคนนอกถ้าให้ความร่วมมือ นับถือผู้คุ้มครองดูแลก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะลดปัญหา
“เข้าใจนกแล้วก็อย่าละเลยคน เข้ามาแล้วก็โอภาปราศรัยกับคนในพื้นที่บ้าง หรือแม้แต่ช่วยสนับสนุนสินค้าของคนในชุมชนก็ตาม”
งานวิจัยบ่งชี้ว่าอุปสรรคของการอนุรักษ์พื้นที่ทุ่งใหญ่ปากพลีให้เป็นบ้านของสรรพชีวิตคือการลักลอบจับสัตว์ป่าของบุคคลภายนอก หรือแม้แต่ความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รู้สถานภาพสัตว์ป่าของคนท้องถิ่น การสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐไม่เพียงพอ ปัญหาไฟไหม้ป่าเป็นประจำ รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ระบบนิเวศของชุมชนเปลี่ยนไป
นกปากแอ่นหางดำ
น่าจะเป็นนกชายเลนชนิดแรก ๆ ที่หลายคนพบหรือจำแนกชนิดด้วยตัวเอง เพราะมีลักษณะเด่นตรงปากยาวสีชมพูปลายดำ แถมยังมีแถบหางและแถบปีกสีดำชัดเจนขณะบิน อพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตลอดช่วงฤดูหนาว
แนวชายฝั่งกำลังเปลี่ยนสภาพด้วยโครงการต่าง ๆ ทำให้ระบบนิเวศหาดเลนหายไป พื้นที่ใช้สอยหรือแหล่งอาหารของนกทะเลก็ลดลง
ข้ามฟ้า
ข้ามเวลา
หลังพบกันและกล่าวคำอำลาที่ศูนย์อนุรักษ์บ้านปากทะเล จังหวัดเพชรบุรี ผมขอติดตามการลงพื้นที่สำรวจประชากรนกชายเลนในพื้นที่ภาคตะวันออกของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยในคราวต่อมา
การสำรวจประชากรนกชายเลนเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทางสมาคมดำเนินการเป็นประจำทุกเดือนต่อเนื่องมานานหลายปี ในการสำรวจครั้งนี้ ตัวเอกที่เป็นเป้าหมายหลักคือนกทะเลขาเขียวลายจุด
นกทะเลขาเขียวลายจุด [Spotted Greenshank หรือ Nordmann's Greenshank (Tringa guttifer)] มีแหล่งทำรัง วางไข่หลักอยู่รอบทะเลโอค็อตสค์ (Sea of Okhotsk) ทางทิศตะวันออกของประเทศรัสเซีย ทุกปีฝูงนกจากไซบีเรียจะอพยพลงมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูหนาว คาดว่าประชากรทั่วโลกเหลืออยู่เพียง ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ตัวเท่านั้น
“ข้อมูลที่ทางสมาคมและนักดูนกในเมืองไทยเก็บรวบรวมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเมินได้ว่ามีนกทะเลขาเขียวลายจุดประมาณ ๓๓๔-๓๖๑ ตัว หรือมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของประชากรนกชนิดนี้ทั่วโลกพักพิงอยู่ในเมืองไทยช่วงฤดูหนาว ส่วนมากอาศัยอยู่รอบอ่าวไทยตอนใน รอบอ่าว ก ไก่ โดยเฉพาะบริเวณบ้านปากทะเล-แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ปากแม่น้ำประแส จังหวัดระยอง ชายทะเลจันทบุรี รวมทั้งบริเวณคลองใหญ่ จังหวัดตราด นอกจากนี้ยังมีประชากรบางส่วนอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งอันดามัน” นิยมไล่ลำดับจากหลังพวงมาลัยรถที่กำลังมุ่งไปทางทิศตะวันออก
สุชาติ แดงพยนต์ ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะทีมสำรวจนกของสมาคม เดินทางมาด้วยกัน เน้นย้ำกำหนดการว่าเราจะมุ่งหน้าไปยังเดอะ เกลือ คาเฟ่ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก จากนั้นจะเข้าสู่พื้นที่หนองไม้แดง-คลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี, ชายฝั่งทะเลบางกะไชย จังหวัดจันทบุรี พักค้างแรม ๑ คืน แล้วมุ่งสู่ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณชายฝั่งทะเลคลองใหญ่-คลองจาก-หาดเล็ก จังหวัดตราด วันสุดท้ายถึงจะย้อนกลับมาสำรวจบริเวณปากน้ำประแส จังหวัดระยองก่อนกลับ การสำรวจทั้งหมดจะใช้เวลา ๓ วัน
“เราใช้วิธี scan sampling หรือเก็บข้อมูลแบบกวาด ในแต่ละจุดตั้งกล้องเทเลสโคปร่วมกับกล้องส่องทางไกลแบบสองตา จำแนกนกชนิดต่าง ๆ ในวงกลมระยะการมองเห็นของกล้องประมาณ ๑๐๐ เมตร ใช้เวลาจุดละ ๑๕-๒๐ นาที บันทึกชนิด จำนวน ลักษณะแหล่งอาศัย อาหาร พฤติกรรมการกิน” นักดูนกจากโคกขามอธิบาย
สุชาติ แดงพยนต์
ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร
...
ประเทศไทยตั้งอยู่บนเส้นทางการบินอพยพเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (East Asian-Australasian Flyway : EAAF) ทำให้มีนกอพยพบินผ่านและแวะอาศัยจำนวนมาก
แหล่งพักพิงช่วงฤดูหนาวของนกทะเลขาเขียวลายจุดที่สำคัญนอกจากประเทศไทยคือประเทศมาเลเซีย ซึ่งคาดว่ามีประชากรประมาณ ๒๔๐ ตัว ตามมาด้วยประเทศอินโดนีเซียประมาณ ๑๑๔ ตัว
ช่วงปลายหนาวของต้นปี ๒๕๖๗ จังหวัดชายทะเลตะวันออกมีฝนโปรยปราย
สุชาติอธิบายว่าการออกดูนกทุกครั้งต้องพยายามทำความเข้าใจลมฟ้าอากาศ ตรวจสอบระดับน้ำขึ้นน้ำลง เพราะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมของนก เมื่อน้ำลดหาดเลนและพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นแหล่งอาหารของนกจะแผ่กว้าง
หลังฝนพรำชุ่มฉ่ำหยุดโปรยสาย เราลงจากรถไปลุยกันต่อ ผมสังเกตว่าสุชาติแทบไม่ต่างจาก เสรี มานิช นักดูนกชั้นครูแห่งบ้านปากทะเล-แหลมผักเบี้ย ที่จำแนกชนิดพันธุ์นกชายเลนได้อย่างแคล่วคล่องราวกับตาเห็นอยู่ใกล้ ๆ
การจำแนกชนิดนกให้ถูกต้องแม่นยำต้องอาศัยประสบการณ์ ซึ่งเกิดจากความพยายามสังเกต ศึกษาจากคู่มือดูนก และจดบันทึก ถึงอย่างนั้นยังมีปัจจัยที่อาจทำให้จำแนกชนิดนกผิด เช่น สีและลวดลายที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ช่วงอายุ อากัปกิริยาของนก มุมมองของนักดูนก สภาพอากาศ ระยะห่าง
“ถ้าไม่แน่ใจก็ไม่ควรรีบเดาสุ่มเพราะจะทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ให้อดทนสังเกตรายละเอียดของนกที่พบต่อไป จนกว่าจะแน่ใจค่อยจำแนกชนิด” สุชาติบอกจากหลังกล้องเทเลสโคปเมื่อเราเดินทางมาถึงปากน้ำประแส
เมื่อมองผ่านเลนส์ ผมเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของนกชัดเจน ทั้งสีสัน ลักษณะปาก หลัง ท้อง รวมทั้งพฤติกรรมที่พวกมันแสดงออก
เมื่อนำเลนส์ออก ผมเห็นสิ่งมีชีวิตต่างชนิดที่สวยงามท่ามกลางธรรมชาติอันเป็นแหล่งอาศัย
ชายฝั่งทะเลและหาดเลนบริเวณปากแม่น้ำเป็นแหล่งหากินที่สำคัญของนก เมื่อเรือแล่นออกจากฝั่งทางคลองแสมเข้าสู่พื้นที่หน้าหาดที่มีไม้ปักเป็นแนวเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สองข้างทางเป็นฟาร์มหอยนางรม นิยมเล่าว่าพื้นที่แถบนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อประกาศเป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพในประเทศไทย (Flyway Network Site in Thailand) โดยจะเป็นลำดับที่ ๔ ต่อจากปากน้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ปากทะเล-แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี และนาเกลือโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร
หลักเกณฑ์เสนอพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพของ EAAF ต้องเข้าเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใด เช่น ๑) มีประชากรนกน้ำ ๒ หมื่นตัวหรือมากกว่า ๒) มีชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ๓) ประชากรนกไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ตัวต่อการอพยพแต่ละครั้ง
“พื้นที่ปากน้ำประแสจะเป็นแห่งแรกของภาคตะวันออก” นักอนุรักษ์หนุ่มจากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยบอกอย่างมีความหวัง
“การอนุรักษ์นกชายเลนจะต้องยกระดับไปสู่การบริหารจัดการดูแลถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร”
นกทะเลขาเขียวลายจุด
เกาะราวไม้ไผ่ที่ใช้ทำฟาร์มหอยนางรม บริเวณปากน้ำประแส จังหวัดระยอง เป็นนกที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) คาดว่าประชากรทั่วโลกเหลืออยู่เพียง ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ตัวเท่านั้น
นกซ่อมทะเลอกแดง
ลักษณะคล้ายพวกนกปากแอ่น แต่ปากสีดำยาวตรง ปลายปากหนา คอและขาสั้นกว่า ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง พบปะปนกับนกปากแอ่นหางดำ ในภาพคือบริเวณหนองไม้แดง-คลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี สภาพพื้นที่เป็นดินเค็มน้ำทะเลท่วมถึง
นกแต่ละตัวเป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่พวกมันอาศัย อย่างไรก็ตามพื้นที่ส่วนมากซึ่งเป็นแหล่งพักพิงสำคัญของนกทะเลขาเขียวลายจุดยังไม่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ จึงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียแหล่งอาศัยและอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรในระดับโลกได้
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยสรุปผลการสำรวจนกชายเลนขาเขียวลายจุด ช่วงฤดูกาลนกอพยพตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๖ ถึงกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งส่วนที่ทางสมาคมออกสำรวจเอง และมีรายงานแจ้งเข้ามา ๔๓๔ ตัว ถือเป็นจำนวนที่น่าพึงพอใจ เช่น
พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล-แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี จำนวน ๒๕๐ ตัว (สำรวจโดยทีมสมาคม-เสรี มานิช)
พื้นที่นาเกลือสมุทรมณีรัตน์ บางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน ๓๒ ตัว (สำรวจโดยทีมสมาคม-สุชาติ
แดงพยนต์)
พื้นที่หนองไม้แดง-คลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี จำนวน ๕๒ ตัว (สำรวจและแจ้งข่าวโดยหมอแม็ค)
พื้นที่ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง จำนวน ๘๐ ตัว (สำรวจโดยทีมสมาคม และ สอิ้ง-สนุก ปะสิ่งชอบ)
พื้นที่ปากแม่น้ำกระบี่ เกาะกลาง-คลองประสงค์ จังหวัดกระบี่ จำนวน ๑๔ ตัว (สำรวจและแจ้งข่าวโดยคุณออม เครือข่ายอนุรักษ์นกชายเลนกระบี่)
แต่สิ่งที่ทำเอาหัวใจฟูเป็นเหตุการณ์ในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เฟซบุ๊กเพจ Spoon-billed Sandpiper Task Force เผยแพร่ภาพเส้นทางบินของนกชายเลนปากช้อนหมายเลข A6, K9 ที่ถูกติดธงสีและแท็กสัญญาณดาวเทียมบริเวณต้นขา พบว่านกทั้งสองตัวตั้งต้นบินกลับบ้านจาก เดอะ เกลือ คาเฟ่ จังหวัดฉะเชิงเทรา !
ทั้งสองตัวมุ่งหน้าไปทางเดียวกัน แต่ไม่ได้บินไปด้วยกัน และไม่ได้บินทับเส้น !
A6 ผ่านภาคอีสานเข้าสู่ประเทศลาว ผ่านตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ไปแวะพัก (stopover site) ตรงติ่งแหลมของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยื่นออกไปเกือบเชื่อมเกาะไหหลำ แล้วบินต่ออีก ๑,๕๐๐ กิโลเมตรไปยังเมืองไท่โจว มณฑลเจ้อเจียง
ชายเลนปากช้อน K9 เลือกบินเลาะไปตามขอบตะเข็บอีสานตอนล่าง แนวพรมแดนไทย-กัมพูชา ผ่านลาวใต้ ผ่านตอนกลางประเทศเวียดนามไปออกทะเลจีนใต้ แล้วบินผ่านเกาะไหหลำ ช่วง ๑,๖๐๐ กิโลเมตรแรกมันแวะพักที่เมืองซินฮุย เมืองกวางตุ้งกับเมืองจางปู มณฑลฝูเจี้ยนที่อยู่ติดช่องแคบไต้หวัน แล้วเดินทางอีก ๑,๐๐๐ กิโลเมตรไปยังเมืองตงหลิง มณฑลเจียงซู
ข้อมูลจากสัญญาณดาวเทียมที่ได้รับการเผยแพร่รอบแรกแจกแจงเส้นทางถึงตรงนั้น
อีก ๑ เดือนครึ่งให้หลัง อุปกรณ์ตรงต้นขายังคงทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังดาวเทียม เพื่อรายงานกลับมาว่า A6 ได้บินต่อไปยังเกาหลีเหนือและเลือกหยุดพักการเดินทาง
ส่วน A9 ผ่านเกาหลีเหนือแล้วยังบินลัดฟ้าเลาะชายฝั่ง ประเทศรัสเซีย ไปสิ้นสุดที่ไซบีเรียแผ่นดินสุดขอบโลก เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๗
นกบินมาแล้วก็ต้องบินกลับ การมีนกหายากเดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ช่วงเวลาหนึ่งในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใดทั้งสิ้น !
ชุมชนบางกรวยเริ่มติดตั้งรังเทียมบนต้นยางนาภายในวัดสวนใหญ่ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ พบลูกนกแก้วโม่งโผล่ที่ปากรังเทียมในปี ๒๕๖๕ จึงติดตั้งรังเทียมเพิ่ม ขยายพื้นที่ไปยังจุดอาศัยอื่น ๆ ของนกในจังหวัดนนทบุรี
นกแก้วโม่ง
นกแก้วขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หัวไหล่มีสีแดงเป็นสัญลักษณ์ อาศัยตามป่าโปร่งที่ราบ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ยังพบได้ในเขตเมืองของจังหวัดนนทบุรี
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ใกล้ตา
การดูนกเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ธรรมชาติ ไม่เพียงเป็นกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลิน แต่ยังทำให้เข้าใจระบบอันซับซ้อนที่เกื้อกูลกันระหว่างสิ่งมีชีวิต
ผมชอบคำอธิบายที่เขียนไว้ในแผ่นพับฉบับหนึ่งที่วางอยู่ในศูนย์รับรองนักท่องเที่ยวใกล้ ๆ แหล่งรวมนอนของเหยี่ยวดำ
“การดูนกไม่ใช่เพียงการได้ ‘เห็น’ นกเท่านั้น แต่หมายถึงการ ‘เข้าใจ’ นก”
นกบางชนิดปรับตัวเข้ามาอยู่อาศัยกับคนในเมือง แต่นกอีกหลาย ๆ ชนิดจำเป็นต้องพึ่งพาสภาพตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาสูงทางภาคเหนือ ป่าดงดิบทางภาคใต้ ป่าละเมาะในภาคกลาง เพราะนกแต่ละชนิดย่อมมีถิ่นอาศัย แหล่งอาหาร พฤติกรรม ลักษณะเด่นแตกต่างกันไป
นกแต่ละตัวต่างทำหน้าที่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะช่วยผสมเกสรดอกไม้ กระจายเมล็ดพันธุ์ กำจัดแมลงและสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ “คน” ไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับ “นก”
ต้นยางนาอายุประมาณ ๒๐๐ ปี หนึ่งในสองต้นภายในวัดสวนใหญ่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ยางนาเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๔๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างทึบ เป็นที่อยู่อาศัยของนกและสัตว์นานาชนิด ขณะเดียวกันก็เป็นไม้เศรษฐกิจที่ถูกตัดฟันจนหายากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
นกแก้วโม่ง
มักทำรังในโพรงไม้ที่อยู่สูง ๑๕ เมตรขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นต้นยางนา ต้นไทร ต้นตะเคียนทอง
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์
หลายเดือนที่ผ่าน ข่าวการเก็บรักษาต้นยางนาอายุกว่า ๑๐๐ ปี และสวนผลไม้ในจังหวัดนนทบุรี แว่วมาให้ผมได้ยินอยู่เสมอ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสารคดีเรื่องนก
ไม่น่าเชื่อว่าถิ่นอาศัยของนกแก้วโม่ง [Alexandrine Parakeet (Psittacula eupatria)] สัตว์ป่าคุ้มครองที่ยังคงเหลืออยู่ในชุมชนเมืองทุกวันนี้...จะอยู่ปลายจมูกเรานี่เอง
วัดมะเดื่อ วัดสวนใหญ่ วัดอัมพวัน วัดขวัญเมือง ฯลฯ เป็นถิ่นอาศัยอันปลอดภัยของนกแก้วโม่งล้วนตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี บางวัดอยู่ห่างจากสำนักงานนิตยสารสารคดี ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ วัดเหล่านี้ต่างมีจุดร่วมเดียวกันคือมีต้นยางนาสูงใหญ่อายุขัยยืนยาวให้นกใช้โพรงบนต้นทำรัง มีสวนผลไม้และแหล่งน้ำรายรอบ รวมทั้งมี “คน” ในชุมชนที่มี “หัวใจ” มอบให้ “นก”
สำหรับต้นยางนารวมทั้งต้นตาลสูง ๆ ไม่ได้มีความสำคัญกับนกแก้วโม่งเพียงในแง่ของการเป็นพื้นที่ทำรังยอดอ่อน ใบ เปลือก ผล ยังเป็นแหล่งอาหารแรกเริ่มให้ลูกนกที่เพิ่งออกจากรัง
เช่นเดียวกับถิ่นอาศัย...ผู้คนที่พยายามเก็บรักษาพื้นที่ให้นกแก้วโม่งก็อยู่ไม่ไกล...แค่ปลายจมูกเรานี่เอง
กลุ่ม Z TEAM, กลุ่ม OUTDOOR SOLUTION และกลุ่มฅนรักษ์นกเงือก ช่วยกันนำรังเทียมใหม่ ขึ้นไปติดตั้งบนต้นยางนาภายในวัดสวนใหญ่ ทดแทนรังเทียมเดิมที่ชำรุดหลังใช้งานมาเกือบ ๔ ปี
ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์
ชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่งวัดสวนใหญ่
การอนุรักษ์ต้นยางนา ต้นไม้ใหญ่อื่น ๆ สวนผลไม้ รวมถึงแหล่งน้ำ จะเป็นการช่วยอนุรักษ์นกแก้วโม่ง และนกอีกหลายชนิดให้คงอยู่สืบต่อไป
“บ้านใหม่” ติดตั้งบนต้นไม้สูงภายในวัดสวนใหญ่ นอกจากนกแก้วโม่งแล้ว นกที่เข้าใช้รังเทียมเหล่านี้ มีทั้งนกตะขาบทุ่ง นกเอี้ยง นกแขกเต้า ฯลฯ
ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ ช่างทำโช้กอัปฝากระโปรงรถยนต์ที่ลุกขึ้นมาศึกษาชีวิตนกแก้วโม่ง หาทางดูแลรักษาถิ่นอาศัย และยังเป็นผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่ง วัดสวนใหญ่ เล่าว่า
“สอบถามคนสูงอายุก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเกิดมาก็เห็นฝูงนกเข้ามาอาศัยอยู่ในวัดสวนใหญ่ และวัดต่าง ๆ ในจังหวัดนนทบุรี มีทั้งนกแก้วโม่ง นกแขกเต้า ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน นกแก้วโม่งชอบทำรังในโพรงไม้ที่มีความสูงมากกว่า ๑๕ เมตร เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เป็นนกมังสวิรัติ ชอบกินผลไม้ เมล็ดธัญพืช ยอดอ่อน ดอกตูม น้ำหวานของดอกไม้ รวมทั้งเปลือกไม้เป็นอาหาร”
ขณะที่นกแขกเต้าสามารถปรับตัวทำรังวางไข่ตามซอกหลังคาอาคาร โบสถ์ สิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ ทำให้แพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนได้ดี แต่ทุกวันนี้ประชากรนกแก้วโม่งกลับมีแนวโน้มลดลง เพราะแหล่งที่อยู่อาศัยน้อยลงตามการขยายตัวของเมือง ต้นไม้ใหญ่ ๆ ก็ล้มตายไปตามกาลเวลา
“ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเป็นสิ่งสำคัญมากที่คนเมืองนนท์ต้องช่วยกันดูแลรักษา ถ้าปล่อยให้ทรุดโทรมหรือล้มลงก็คงไม่มีนกแก้วโม่งในจังหวัดนนทบุรี”
การแบ่งปันที่อยู่อาศัยให้สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เป็นประตูอีกบานที่พาเราเข้าใกล้กัน ความพยายามปรับตัวเพื่อเรียนรู้กันและกันจะช่วยให้เราต่างอยู่รอดได้ในธรรมชาติ
เพราะไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตใด คน สัตว์ ต้นไม้ ต่างมีโลกใบเดียวเท่านั้น
กว่าจะบรรลุเป้าหมายการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ การเพิ่มขึ้นของพื้นที่อนุรักษ์
กว่าเราจะใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจและผูกพัน
“นก” อาจเป็นข้อต่อการเปลี่ยนผ่านสำคัญครั้งนี้
ขอขอบคุณ
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand - BCST)
มูลนิธิศึกษาและวิจัยนกเงือก (Thailand Hornbill Research Foundation)
ชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่งวัดสวนใหญ่
ชุมชนคนรักนกเงือกเกาะยาวน้อย
และขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับมิตรภาพ พี่นิค-นิยม ทองเหมือน, พี่แดง-เสรี มานิช, พี่เปีย-อารุณ มีชัย, พี่ตี๋-สุชาติ แดงพยนต์, คุณขวัญข้าว สิงหเสนี, พี่ปุ๊ก-ศิริวรรณ นาคขุนทด, พี่เต-สมิทธิ์ สุติบุตร์, คุณชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์, ดร. ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์, คุณวินัย พุ่มอยู่ และอาจารย์น้อม งามนิสัย
เอกสารประกอบการเขียน
เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์. (๒๕๖๐). ๑๐๐ นกในจังหวัดนครนายก. ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบ้านนา : โรงพิมพ์พงษ์วริน.
จุฑาธิปต์ จันทร์เอียด, ภัทรพงษ์ เกริกสกุล, อรินทม์ งามนิยม, กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ และ อัญชัญ ตัณฑเทศ. (๒๕๖๔). “แผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนของพื้นที่ดงเหยี่ยวดำ ทุ่งใหญ่ปากพลี จังหวัดนครนายก”. ใน วารสารสหศาสตร์ศรีปทุม-ชลบุรี. ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๓ กันยายน-ธันวาคม ๒๕๖๔.
ธนภัทร กลับชุ่ม, อาจอง ประทัตสุนทรสาร และ อัจฉราภรณ์ เปี่ยมสมบูรณ์. ความหลากหลายของนกชายเลนที่ลงหากินในบ่อนาเกลือที่ถูกทิ้งร้าง จังหวัดเพชรบุรี. การประชุมวิชาการการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ (๒๕๖๑) : ๑๐๘-๑๑๙.
นุชจรินทร์ เพชรเกลี้ยง, สุธินี หีมยิ, แฟนฉัน คงสม และ วรรณิศา ปลอดขำ. นกชายเลนและความหนาแน่นของสัตว์หน้าดินทะเลขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอำเภอละงู จังหวัดสตูล. การประชุมวิชาการระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ ๓ ประจำปี ๒๕๖๔ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อชุมชน” ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.
มงคล ไชยภักดี และ วัลยา ชนิตตาวงศ์. (๒๕๕๐). “สถานการณ์และการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย”. หน้า ๓๐๕-๓๒๗. ใน ผลงานวิจัยและรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ประจำปี ๒๕๔๙. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช.
รุ่งโรจน์ จุกมงคล. (๒๕๓๖). ดูนก. กรุงเทพฯ : สารคดี.
รุ่งโรจน์ จุกมงคล. (๒๕๕๘). Thailand BIRD GUIDE. กรุงเทพฯ : สารคดี.
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๓ (ชลบุรี) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก ปี ๒๕๕๖.
เอกสารแผ่นพับ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก, ดูเหยี่ยวอพยพ@ดงเหยี่ยวดำทุ่งใหญ่ปากพลี จังหวัดนครนายก.
โครงการสำรวจแบบมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ ในตำบลท่าเรือ จังหวัดนครนายก โดย Critical ecosystem partnership fund, ปลาซิวสมพงษ์ ทุ่งใหญ่ท่าเรือ-ปากพลี ระบบนิเวศที่กำลังสูญพันธุ์.