อวลกลิ่น
ห้างยาฝรั่งในย่านจีน
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
หัวมุมของสี่แยก ถนนเสือป่าตัดถนนเจริญกรุง ปรากฏตึกฝรั่งสีครีม
ล่างสุดของอาคารสี่ชั้นคือที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน
ชวนระลึกอดีต “หมอชัย-นายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ” เจ้าของห้างขายยาเบอร์ลินผู้เติบโตในครอบครัวคนจีนชาวปราจีนบุรี ไปเรียนหนังสือที่เมืองจีนแต่เด็ก กระทั่งได้ทุนที่มหาวิทยาลัยทางการแพทย์ถงจี้เยอรมัน (Tongji German Medical School) ในเซี่ยงไฮ้ หลังจบการศึกษา “แพทย์แผนตะวันตก” ก็กลับเมืองสยาม เปิดคลินิกเอกชน-ห้างขายยาแห่งแรก ๆ ของย่านเจริญกรุง-เยาวราชตั้งแต่ปี ๒๔๗๕
นิทรรศการไล่เรียงเนื้อหา เล่าชีวิตชาวจีนเจริญกรุง-เยาวราช ค่อยเข้าเรื่องการแพทย์ที่ “ห้องตรวจ” จำลองบรรยากาศวางโต๊ะ-เก้าอี้ไม้ไว้ซักประวัติ-อาการผู้ป่วย เตียง
ตรวจโรค ที่แขวนเสื้อกาวน์ของหมอชัย ชั้นวางเครื่องมือ
และอุปกรณ์ตรวจรักษาอย่างเข็มฉีดยาแบบโบราณ กล้องจุลทรรศน์จากเยอรมนี ตู้เก็บตำราแพทย์หลักสูตรเยอรมัน (เดิมห้องตรวจจริงอยู่ชั้น ๒ ของอาคาร)
ถัดมาเป็น “ห้องปรุงยา” (อดีตใช้พื้นที่ชั้น ๓) ยาจำนวนมากที่ผลิตจะจัดเก็บไว้รวมกับขวด กล่อง และสลากยา บนชั้น ๔ เลื่องลือว่าเป็นสูตรยาดีที่มีชื่อเสียง เช่น ยาหม่องตราเทวดาเป่าขลุ่ย หรือยาน้ำ “เนโอ-โทนิน” ช่วยเจริญอาหาร
ยังมีเครื่องมือผลิตยาจากเยอรมนีขนาดน้อย-ใหญ่ ทำหน้าที่แตกต่าง ทั้งบด ชั่ง ตวง ผสมยา น่าสนใจทั้ง “เครื่องตอกยา” ไฟฟ้ายี่ห้อ Korsch ที่ต้องตอกทีละเม็ด ด้วยความเร็วนาทีละ ๒๕๐ เม็ด (เครื่องตอกยาสมัยใหม่ผลิตนาทีละหลายพันเม็ด) เหมาะกับธุรกิจขายยาในครอบครัว และปรับเปลี่ยนขนาดเม็ดยาให้ใหญ่-เล็กได้ตามที่ขึ้นทะเบียนยาไว้
“เครื่องชักรอกส่งยา” สำหรับขนส่งระหว่างชั้น ๓-๔ ที่ชาวจีนในละแวกเรียกขาน “เหล่าเต๊งฟาร์มาซี” ยังมี “กระเป๋าของเซลส์ขายยา” สะท้อนความทันสมัยของห้างขายยาเบอร์ลินยุคแรก รวมถึงการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ยาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ก่อนส่งต่อการจำลอง “ห้องจ่ายยา” ที่มีลักษณะเป็นเคาน์เตอร์กั้นระหว่างเจ้าหน้าที่กับลูกค้า เพื่อแจกจ่ายยาแก่คนไข้ ด้านหลังเคาน์เตอร์จะมียาหลากชนิด โดยมากเป็นยาผง เมื่อคนไข้ตรวจเสร็จจากชั้น ๒ จะเดินลงมาส่งใบสั่งยาให้ผู้ช่วยปรุงยาที่ชั้นล่างแล้วรอรับยา สมัยก่อนใช้วิธีห่อใส่กระดาษให้คนไข้ไปละลายน้ำกลั่นดื่มที่บ้าน ซึ่งเดิมห้องจ่ายยาก็อยู่ชั้นล่างสุดของอาคาร เพราะใช้เป็นที่พักให้ผู้ป่วยนั่งรอคิวตรวจด้วย
ปัจจุบันโรงงานผลิตยาย้ายไปตั้งแถวร่มเกล้า และห้างขายยาเบอร์ลินก็พัฒนาเรื่อยมาจนเป็นบริษัทเบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ จำกัด มีชื่อเสียงทั้งยาโรคทางเดินอาหาร ความดัน หัวใจ โรคด้านเมแทบอลิซึม ฯลฯ ยากที่ใครจะได้รู้เห็นกระบวนการเบื้องหลัง ทายาทจึงรวบรวมคุณค่าประวัติศาสตร์ยาและหลักฐานเครื่องมือประดามียุคที่การแพทย์แผนฝรั่งเริ่มเจริญในสยามมาไว้ที่นี่ ในตึกที่มีกลิ่นอายของการรักษาจริง เพื่อเป็นแหล่งศึกษาสมบัติของประเทศ
ซุกอยู่ตรงไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู
พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน
๓๕๙ ถนนเจริญกรุง แขวง/เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ๑๐๑๐๐
โทร. ๐-๒๒๒๕-๔๒๖๑
ค่าเข้าชม ๔๐ บาท
เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์
เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.