งานเสวนาเรื่องเล่าจากตากใบ เมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗ เจ้าของความทรงจำสี่ท่านจากชายแดนใต้ มีโอกาสได้มาเล่าความทรงจำ ๒๐ ปี ให้พี่น้องในเมืองหลวงฟัง ท่ามกลางสิ่งของจัดแสดงในนิทรรศการ “ลบไม่เลือน ๒๐ ปี ตากใบ” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน
มองต่างตากใบ
ผู้ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“เหตุการณ์ตากใบ” เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เกิดขึ้นและสิ้นสุดในวันเดียว แต่ถูกนับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งสำคัญใน “สถานการณ์ไฟใต้” อันต่อเนื่องยาวนาน เป็นเหตุการณ์ชายแดนใต้ที่มีการสูญเสียชีวิตมากที่สุด ที่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าปรัมปรา มีผู้เข้าร่วมเกี่ยวข้องรู้เห็นอยู่ในเหตุการณ์หลายพันคน เป็นกรณีที่รัฐยอมรับและมีการกล่าวคำขอโทษเป็นทางการ และได้จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นฟ้องร้องคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทั้งนี้นอกจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง “เหตุการณ์ตากใบ” ยังเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับหลายคนหลายฝ่าย ซึ่งต่างมีความเห็น ข้อเสนอ ข้อเรียกร้องจากมุมมองของตน ในการจัดการความทรงจำ ชำระ และบันทึกเหตุการณ์ตากใบไว้เป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่หวังว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก
“คงมีสักวันหนึ่ง ที่คนที่เขาต้องการ
ให้มาขอโทษจะมาปลดล็อกนี้”
พ.อ. อุทัย รุ่งสังข์
ทำงานป้องกันชายแดนใต้มาร่วม ๓๐ ปี
ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี ค่ายสิรินธร กอ.รมน. ส่วนหน้า
ตอนเกิดเหตุการณ์ผมเป็นนายทหารยศพันตรี อยู่หน่วยป้องกันชายแดนอยู่ที่ทุ่งสง เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน ๔ มกราคม ๒๕๔๗ มีการตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมอยู่ในส่วนหลังที่คอยช่วยสนับสนุนส่งเสริม จนเลื่อนยศเป็นพันโทก็ได้มาเป็นครูฝึกอยู่ที่ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
ผู้ชุมนุมจากเหตุการณ์ตากใบที่ถูกจับกุม ถูกคัดกรองเป็นกลุ่ม ๆ ที่ต้องสงสัยถูกตั้งข้อกล่าวหานำไปสอบสวนกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องปล่อยตัวกลับบ้าน กลุ่มกลาง ๆ ที่อาจกล่าวว่าเป็นสีเทา ๆ จำนวนเกือบ ๒๐๐ คน ถูกส่งตัวไปศูนย์อบรมมวลชนเสริมสร้างสันติสุข ในค่ายรัตนพล ผมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครูฝึก มีลูกทีมราว ๒๐ คน ดูแลอบรมคน ๒๐๐ นี้ให้เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน ซึ่งผมก็ได้เข้าใจเขาไปด้วย
อยู่ด้วยกันตั้งแต่ตี ๕ จน ๓ ทุ่มครึ่ง เขาเข้านอน ผมกลับที่พัก แบบนี้ด้วยกันทุกวันเกือบ ๒ เดือน เป็นพุทธคนเดียว นอกนั้นเป็นมุสลิมทั้งหมด
จากที่ได้คุยกับผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งบอกว่ามีคนบอกว่าเย็นวันนั้นจะมีการเปิดปอซอ (ละศีลอดประจำวัน เริ่มกินอาหารหลังจากงดมาทั้งวัน) ร่วมกัน อีกกลุ่มทราบว่าจะมีการแจกของ อีกกลุ่มบอกไปช่วย ชรบ. หกคนที่ถูกจับโดนซ้อมอยู่ และอีกกลุ่มเดินทางกลับจากทำงานฝั่งมาเลเซีย มาเจอการชุมนุมพอดี พอเกิดเหตุการณ์ออกไปไหนไม่ได้ก็เป็นผู้ชุมนุมไปด้วย
ใช้หลักศาสนกิจ มีผู้นำศาสนามาสอน กิจกรรมบันเทิงกีฬา เย็นเปิดสภากาแฟ ผมให้ทุนเขาเปิดร้านน้ำชา ชงชา ทำโรตีกินกัน เปิดใจคุยกันเป็นกลุ่ม ๆ ให้โทรศัพท์เครื่องหนึ่งเวียนกันโทร. หาญาติ และอนุญาตให้ญาติมาเยี่ยมได้ทุกวันอาทิตย์ ไม่มีรั้ว ไม่มีทหารคุม ทำอาหารให้สามมื้อโดยแม่ครัวมุสลิม
แรก ๆ รู้สึกโกรธแค้น ไม่พูดกับเราเลย พออยู่ไป ๓-๔ สัปดาห์เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กัน อยู่ด้วยกัน นั่งคุยกันก็เข้าใจกัน แต่บาดแผลเขายังมี เป็นความเจ็บปวดที่เขาได้รับจากการถูกกดทับตอนขนย้าย เท้า เข่า หน้า ที่ถูกกดอยู่กับเหล็ก นี่เป็นสิ่งที่ผมได้รู้เห็น ผมช่วยทำแผลรักษาให้ รอยแผลหายหมด แต่ก็คงยังอยู่ในใจเขา
ช่วงนั้นคาบเกี่ยวกับงานฮารีรายอ* ผมตัดสินใจปล่อยกลับบ้านชั่วคราว ให้เขาไปฉลองรายอกับครอบครัว ๔ วันวัดใจกันว่าปล่อยแล้วจะกลับมาไหม จากความไว้เนื้อเชื่อใจที่อยู่ด้วยกันมา
เมื่อครบกำหนดปรากฏว่ามี ๒๐ กว่าคนไม่กลับมารายงานตัวอบรมกับเราให้ครบหลักสูตร ผมเก็บข้อมูลไว้ ตอนหลังเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาก็เชื่อมโยงได้ว่าใน ๒๐ กว่าคนที่ไม่กลับมานั้น มีบางคนเกี่ยวกับการปล้นปืน ๔ มกราคม ๒๕๔๗ มีบางคนเป็นสมาชิกกลุ่ม RKK อยู่ในกลุ่มแกนนำที่ชักชวนชาวบ้านมาชุมนุมที่ตากใบ เมื่อมีการต่อสู้เจ้าหน้าที่ถูกวิสามัญ ก็มีคนกลุ่มนี้อยู่ด้วย
หลังจากเข้าค่ายอบรมเกือบ ๒ เดือน กลุ่มเทาก็กลายเป็นขาวกลับไปอยู่บ้านใช้ชีวิตปรกติ มีปัญหาก็โทร. หาเรา บางทีเจ้าหน้าที่พื้นที่ยังไปดู เขาระแวง ผมบอกว่าบอกไปเลยว่าลูกศิษย์ครู พันโทอุทัย มีงานก็โทร. มาเชิญ ผมเคยจัดรวมที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ครั้งหนึ่ง รียูเนียน เขาถืออาหารมาทานร่วมกัน หลังผ่านไปราว ๒ ปี มาเกือบครึ่งหนึ่ง ยังติดต่อกันอยู่ บางคนต่อมาเป็นอิหม่าม บางคนเป็นเจ้าหน้าที่ราชการ
ผมมองว่าประวัติศาสตร์ศึกษาได้ แต่เราจะดึงท่อนไหนมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการเดินไปข้างหน้า ถ้าเราไปติดกับดักวังวนของประวัติศาสตร์ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาตีปัตตานี เหตุการณ์กรือเซะ-ตากใบ ปี ๒๕๔๗ ก็จะติดอยู่ในวังวน เดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้ เราเดินทางกลับไปแก้ไขไม่ได้อีก แต่อย่าให้เกิดแบบนั้นอีก
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของคนในเวลานั้น มีการขอโทษเป็นทางการจากท่านนายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ ทักษิณก็ขอโทษผ่านรายการออนไลน์จากต่างประเทศแล้ว มีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว ๖๔๑ ล้าน รายละตั้งแต่ ๑.๕ หมื่น จนถึง ๗.๕ ล้านบาท
แต่จะลบล้างความรู้สึกเขาได้ไหม แต่เท่าที่ฟังก็ยังมีเรื่องติดอยู่ในใจ แต่เท่าที่ถามญาติบางคนเขาก็ลืมไปแล้ว เขาไม่ได้คิดอะไรแล้ว ทำงานทำการ เดินไปข้างหน้าดีกว่านั่งจมปลักกับประวัติศาสตร์บาดแผลแล้วไม่มีกิน แต่กลุ่มผู้ไม่หวังดีจะคอย remind ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นทุกครบรอบปี เขาไม่พูดถึงการชดเชย การขอโทษที่รัฐทำไปแล้ว
ธงของผู้ไม่หวังดีอยากแบ่งแยกดินแดน ในมุมมองผมก็เหมือนปกครองตนเองกลาย ๆ อยู่แล้ว สมัยก่อนว่าพูดว่าคนข้างนอกมาปกครอง ไม่เข้าใจวิถีชีวิตเขา เลยทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่ปัจจุบันไปไล่ดู ผู้ว่าฯ ปัตตานีเป็นผู้หญิงมุสลิม ผู้นำ อบจ. อบต. เทศบาล เป็นมุสลิมทั้งหมด ข้าราชการเกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นมุสลิม ก็ปกครองกันเองอยู่แล้ว
...
*งานฮารีรายอ คืองานฉลองเทศกาลวันขึ้นปีใหม่หลังเดือนถือศีลอด ก่อนวันงานคนมุสลิมจะจับจ่ายซื้อเสื้อผ้าข้าวของเตรียมต้อนรับเทศกาล ในวันงานจะไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อขออภัยและให้อภัยแก่กันและกัน ลูกหลานจะกลับมาบ้านโดยพร้อมเพรียงเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวจะอบอุ่นไปด้วยความรักผูกพัน
กลุ่มโจรใต้ที่ปัจจุบันเรียกว่าผู้ก่อเหตุรุนแรง (ผกร.) มีอยู่จริง มีตัวตน บ่งชี้ได้จากวัตถุพยานมีดีเอ็นเอพ้องกับดีเอ็นเอที่ติดอยู่ที่ปืนผู้ร้ายที่โดนวิสามัญฆาตกรรมหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์โยงไปหาอย่างอื่นได้อีก ปืนกระบอกเดียวกันเคยก่อเหตุที่อื่น ซึ่งพิสูจน์ได้จากหัวกระสุน ถูกเวียนเอาไปใช้หลายที่ มีการทำเป็นขบวนการ ไม่ใช่คนเดียวทำทุกที่
ขบวนการ BRN เปิดหน้าออกมาเจรจา แต่ไม่เคยอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่บ่งชี้ถึงเขาคือวัตถุพยาน ดีเอ็นเอจากที่เกิดเหตุ ภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งตอนนี้เรามีเยอะมาก การเผาล่าสุด ๕๐ กว่าจุดช่วงเราะมะฎอนปีนี้ก็เห็นชายแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ถืออาวุธมาคุมเชิงให้คนเผา แต่ในการก่อเหตุย่อย ๆ บางทีก็แต่งกายเป็นผู้หญิง ขับมอเตอร์ไซค์มาวางระเบิด ใส่ผ้าคลุมผม
เราต้องแสดงด้วยหลักฐาน เช่นเขาเชื่อว่าคนนี้เป็นนักรบพระเจ้า แต่ทำไมมีปืนที่เคยไปยิงคนอื่นตามที่หลักฐานดีเอ็นเอ เราสู้ด้วยสิ่งนี้จนเขายอมจำนนว่าเราไม่ได้จับแพะ เมื่อก่อนเป็นการกล่าวหา สายข่าวบอกมาชาวบ้านไม่ยอมรับ ปิดล้อมชิงตัวประกัน แต่ยุคนี้จำนนด้วยหลักฐาน ส่วนใหญ่ใช้กล้องกับหลักฐานดีเอ็นเอที่ตรงกับวัตถุพยาน ภาพถ่าย ท่าทางการเดิน ซึ่งคนเรามีลักษณะเฉพาะอยู่ เขายอมรับเอง เรื่องจับแพะก็หายไป
ไม่ใช่ประวัติศาสตร์
ที่น่าจดจำ แต่จะบังคับ
ให้เลือนหายไปคงไม่ได้
ชาวบ้านที่เขาไม่ได้ก่ออาชญากรรม แต่ในทางการเมืองเห็นด้วยกับฝ่ายตรงข้ามรัฐ จะวางท่าทีต่อเขาอย่างไร
กลุ่มนี้แค่แนวความคิด หน่วยของผมนี่แหละจะไปสร้างความเข้าใจ
งานของศูนย์สันติวิธีเน้นสร้างความเข้าใจ สัมผัสประชาชน แนะแนวอาชีพ เน้นเด็กนอกสถานศึกษา เด็กชายแดนใต้ไม่ได้เรียนต่อเยอะมาก
ปัญหาชายแดนใต้ถ้าเราลงพื้นที่จริงจะรู้ ๑. ความยากจน ๒. ยาเสพติด ๓. ความไม่สงบ ตากใบอยู่ในปัญหาที่ ๓ แต่ที่เขาต้องการให้ช่วยคือความยากจน รัฐจะช่วยอย่างไร ผมอยากให้เจริญ อยากให้เดินไปข้างหน้าอย่างเดียว
แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ mindset ของเขา ถ้ายังฝังอยู่กับประวัติศาสตร์บาดแผลก็ห้ามเขาไม่ได้ อย่างความเชื่อว่าเขาเป็นมลายู เป็นเจ้าของพื้นที่ ความคิดความเชื่อเป็นเรื่องยากที่เราจะปลดล็อกได้
“ประวัติศาสตร์บาดแผล” โดยนัยก็เหมือนยอมรับว่ามีความผิดพลาดจริง ?
ใช่ นี่เรื่องจริง ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในยุคนั้น กลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว
ผู้สูญเสียได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่เขาบอกว่ายังต้องการรู้ว่าใครเป็นคนทำให้ญาติเขาตาย ?
อันนี้เรายังปลดล็อกไม่ได้ คลิกนี้ยังไม่ได้ปลดล็อกเขาต้องการคนที่ทำผิดมาขอโทษต่อญาติ ก็ไล่ไปสิใครเป็นแม่ทัพ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ใครเป็นรัฐบาลตอนนั้น ผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านั้นก็เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาผมเหมือนกัน
อย่างที่ออสเตรเลีย นายกฯ ขอโทษต่อชาวอะบอริจินมีการให้เกียรติ ก็เลยเกิดบรรยากาศที่ดีต่อกัน ชายแดนใต้ก็คงเหมือนกัน คงมีสักวันหนึ่งที่คนที่เขาต้องการให้มาขอโทษจะมาปลดล็อกนี้ พูดโดยส่วนตัวไม่ใช่ในฐานะเจ้าหน้าที่ ผมเห็นด้วย ถ้าอยากคลายคลิกนี้ออกก็ต้องขอโทษกัน
ถ้าเป็นผมเดินทางมาเลย ญาติพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบที่ยังมีชีวิตอยู่ ขอโทษเขาอย่างจริงจัง เหมือนญี่ปุ่น เกาหลี แต่ละชาติที่เคยเกิดปัญหากัน เขามีการขอโทษกันไป ผมก็หวังแบบนั้น
แต่บังคับไม่ได้ คนทำอาจบอกว่าทำตามหน้าที่ ทำไปตามองคาพยพ การตาย ๗๘ คนบนรถไม่ใช่ความบกพร่อง เพียงตระหนักรู้น้อยไปหน่อย ไม่มีใครรู้ว่าทำแบบนี้แล้วจะเกิดการตาย รถ ๒๐ กว่าคันต้องขนคนเป็นพัน วิ่งสองเที่ยวไม่ได้ ถ้ามืดสถานการณ์จะเปลี่ยน ไม่ได้ถ่วงเวลาให้คนตาย เวลาเดินทาง ๕ ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มขนคนขึ้นรถหกล้อเต็มทุกคัน รอออกพร้อมกันเป็นขบวนมาจนถึงค่าย
คนในพื้นที่ต้องการบันทึกไว้ให้ชัดเจน ไม่ใช่ “แล้วๆ กันไป” แล้วกลายเป็นเรื่องเล่าขานเลื่อนลอย ?
ทำได้ เป็นการชำระประวัติศาสตร์ เอามาเป็นบทเรียนอย่าให้เกิดแบบนี้ขึ้นอีก ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ฟังทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่ คนกลาง ชาวบ้าน ทำด้วยความเป็นธรรม ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งเขียน แล้วอัดอีกฝ่ายหนึ่งให้รับผิด
ตอนนี้บางทีคนที่พูดไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง แต่รับฟังคนอื่นต่อ ๆ กันมา ถ้าจะชำระจริง ๆ ต้องเอาคนที่ยังมีชีวิตอยู่มาคุยกัน เอาคนสูญเสีย ญาติ รวมทั้งลูกศิษย์ผมด้วย และต้องตอบด้วยความจริงด้วยว่าคุณไปร่วมเพราะอะไร ไม่หมกเม็ด มีการชักชวน มีรถมารับ คนเป็นพันจึงมาร่วมกันได้ และโดยหลักการชุมนุมจะมีการสร้างการรวมตัว ก่อความวุ่นวาย แล้วมีการสร้างวีรชนให้ตาย มีการแห่ แล้วคนพวกนี้จะถอยออกจากระบบ ปล่อยให้ไหลไปเอง การชุมนุมที่ กทม. ก็เป็นแบบนี้ พอถึงจุดหนึ่งแกนนำแทรกหนี เหลือแต่คนบริสุทธิ์กับคนที่มีอารมณ์ขึ้นเห็นเพื่อนถูกยิง เกิดการแห่ ผมเดาว่าตากใบอาจมีแกนนำสัก ๒๐-๓๐ คนทำให้เกิดเหตุ พอเจ้าหน้าที่สลายก็ถอยออก แล้วดันคนบริสุทธิ์ไปอยู่ข้างหน้า พอมีปฏิบัติการโดนคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย
เหตุการณ์ตากใบจะเป็นบทเรียนให้สังคมได้อย่างไร
ทำให้ตรงนี้เป็นบทเรียนที่ต้องไม่เกิดขึ้นอีก แล้วเราเดินไปข้างหน้าด้วยกัน
ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ แต่จะบังคับให้เลือนหายไปได้ไหม คงไม่ได้
คนที่สูญเสียไม่อยากถูกบังคับให้ลืม ?
อยากให้จำก็ได้ แต่เราจะยังวนอยู่ในนั้นไหม จำแล้วเดินไปข้างหน้า แต่ถ้าจำแล้วเอามาเคียดแค้นกัน นั้นไม่เห็นด้วย
จำได้ บันทึกได้ remind ได้ แต่อย่าให้มาสร้างความเคียดแค้นต่อกันเลย
และอยากให้สรุปออกมาให้ชัด ๆ เลยว่าอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า ลูกหลานมาอ่านเรื่องนี้ก็ได้รู้ข้อเท็จจริง ไม่มี bias ซ้ายขวา
จดจำประวัติศาสตร์ไว้ได้ ผมไม่ได้อยากให้ลืม แต่อย่าเอามาเป็นบ่วงคล้องตัวเองไว้ตรงนี้ เวลาเล่าอย่า bias ก็แล้วกัน เล่าเท่าที่เรารู้จริง ๆ อย่าใส่ความรู้สึกเข้าไปให้เกิดความเกลียดชัง เพราะพอเกิดแล้วคนจะอยู่กันคนละฝั่งไปด้วยกันไม่ได้
ประวัติศาสตร์ลบล้างไม่ได้ แต่อยากให้เดินไปข้างหน้า หัวใจคือให้สามารถเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้
“รู้ว่าเราจะแพ้ แต่ชนะที่ให้สิทธิ์
กับผู้เป็นเหยื่อได้สู้”
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
อยู่ในทีมทนายความมุสลิมของทนายสมชาย นีละไพจิตร มาตั้งแต่เรียกร้องผลักดันให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงและเหตุการณ์รุนแรงชายแดนใต้ อยู่ในทีมทนายจำเลยในคดีตากใบ และเป็นทีมทนายโจทย์ในคดีฟ้องแพ่งเรียกค่าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ล่าสุดกำลังยื่นฟ้องคดีอาญาต่อผู้สั่งการสลายการชุมนุมตากใบ ก่อนคดีจะหมดอายุความในเดือนตุลาคม ๒๕๖๗
ทางราชการบอกว่าได้เยียวยาไปแล้ว แต่ผู้กระทำต้องได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายด้วย ไม่ใช่เอาเงินฟาดอย่างเดียว ตอนรัฐจะจ่ายเงินเมื่อปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ ก็ให้บันทึกข้อความว่าต้องไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญา ญาติต้องยอมเซ็น แต่ทนายเราไม่เซ็น จะเขียนว่าไม่เอาความอาญาไม่ได้ คดีแพ่งเรายอมรับ รับเงินแล้วจบ แต่โทษอาญายอมความไม่ได้
เราฟ้องตั้งแต่แม่ทัพภาค ๔ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองที่รับผิดชอบสั่งการสลายการชุมนุมวันนั้น ข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง บล็อกพื้นที่ชุมนุมรอบ สภ.อ. ตากใบไม่ให้ออก แล้วสลายการชุมนุม
ประเด็นต่อมาคือการทำให้ตาย คนพันกว่าแต่ใช้รถเพียง ๒๕ คันในการลำเลียง ตก ๕๐-๖๐ คนต่อคัน จึงต้องใช้วิธีให้นอนทับซ้อนกัน ๔-๕ ชั้น นั่นย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการทำอย่างนี้ทำให้เขาตายด้วยวิธีรุนแรงและโหดร้าย บังคับให้อยู่ในสถานการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ เป็นเหตุฉกรรจ์ทำให้คนตาย
ผู้รับผิดชอบสั่งการที่คอยรับรถที่เดินทางมายังค่ายอิงคยุทธบริหารเห็นแล้วว่ามีคนตาย แต่ไม่แจ้งรถคันต่อมาให้เปลี่ยนแผน คุณรู้และเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้คนตาย แต่คุณดูดาย
เมื่อปี ๒๕๕๒ ตอบว่าการตายไม่ได้เกิดจากการทำความผิดทางอาญา แต่เพราะขาดอากาศหายใจ ผู้ว่าฯ เห็นด้วยคดีเลยยุติ ตามวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๖ แต่เรารับไม่ได้ ญาติรับไม่ได้ เลยจะฟ้องคดีอาญา เงินเยียวยาได้รับแล้วจริง แต่เราต้องการความยุติธรรม นี่คือหัวใจของการฟ้องคดี
ในรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงฯ บอกว่า จริงๆ เจ้าหน้าที่ต้องการจับแกนนำประมาณ ๓๐-๔๐ คน จึงเตรียมรถไว้น้อย
ระบุตัวไม่ได้ ไม่สามารถแยกแยะได้ ตอนสลายการชุมนุมเขาก็ยิงสาดไปในแนวระนาบ เขาอ้างว่าคนปิดหน้าเป็นแกนนำ และพอเขาสั่งให้ถอดเสื้อ ไม่รู้ว่าเป็นคนไหนนั่นทำให้ต้องเอาไปทั้ง ๑,๓๐๐ คน ตามที่เขาอ้าง ทำให้เกิดปัญหาการขนย้าย
ที่ผ่านมาได้ร่วมทำคดีอะไรมาแล้วบ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ
ได้ทำคดีหลังตั้งรูปคดีการตาย ๗ ศพ หน้า สภ.อ.ตากใบ สำนวนการไต่สวนการตายที่ค่ายอิงคยุทธฯ ปัตตานี ๗๘ ศพ สำนวนคดีการถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีคนที่เป็นแกนนำ ๕๔ ราย
การไต่สวนคดีสรุปว่ากลุ่มคนตายในที่เกิดเหตุตายจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเขาอ้างว่าผู้ร่วมชุมนุมมีอาวุธ มีการต่อสู้เจ้าหน้าที่จึงยิงถึงแก่ความตาย
กลุ่มที่เสียชีวิตบนรถขณะอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่ผิด
ผู้ถูกตั้งข้อหา ๕๔ คน อัยการมีคำร้องขอถอนฟ้อง โดยอ้างมาตรา ๒๑ เรื่องการดำเนินคดีแล้วไม่เกิดประโยชน์กับสังคมสาธารณะ ก่อนจะมีการไต่สวนคดีชันสูตรพลิกศพและการจ่ายเงินเยียวยา เกิดในช่วงเวลาเดียวกัน ราวปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒
ส่วนเรื่องฟ้องคดีแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายให้ญาติผู้ตาย เจรจาตกลงกันยอมจ่ายรายละ ๗.๕ ล้าน เป็นจังหวะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จ่ายเงินเยียวยาให้กับคนเสื้อแดงจากเหตุการณ์รุนแรงเหมือนกัน ก็เลยต้องใช้เกณฑ์เดียวกันกับเหยื่อความรุนแรงชายแดนใต้ในเกณฑ์เดียวกับคนเสื้อแดง ก่อนนั้นไม่เคยได้ยินว่าจะมีการจ่าย เพียงแต่มีการต่อรองไม่ให้ติดใจเอาความ
แล้วก่อนที่จะมาถึงคดีตากใบ ?
คดีแรกที่เราทำเป็นคดีช่วงหลังจากเหตุการณ์ปล้นปืน ๔ มกราคม ๒๕๔๗
ไม่ได้ไปแก้คดีปล้นปืน ไปช่วยคนที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุโน่นนี่ ที่ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ทำ เขายืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
๕ มกราคม หลังปล้นปืนวันเดียว เราเป็นทนายให้จำเลยสามคน เราไปที่โรงพักปัตตานี เขาเอาตัวไปครึ่งวัน ตอนเย็นมาเจอเราร้องไห้ โดนหนักมาก ตอนสืบคดีลงมาข้างล่างศาล ตำรวจถามผมว่าจบโรงเรียนธรรมฯ รุ่นไหนเขามีความรู้สึกว่า โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิส่งเราเรียนแล้วให้มาสู้ช่วยโจร เขามองว่าแหล่งคนร้าย ผมไม่ได้เรียนปอเนาะ
จำเลยสามคนนี้ ชั้นต้นตัดสินลง ศาลอุทธรณ์ลง อยู่ในเรือนจำมา ๗ ปี ๖ เดือน ศาลฎีกายกฟ้อง คดีสีเทา เงินเยียวยาก็ไม่ได้ โจรจริงไม่จริงผมไม่รู้ แต่เขายืนยันว่าเขาไม่ผิด สุดท้ายศาลก็ตัดสินว่าเขาไม่ผิด
ดูตามหลักฐานเรามั่นใจว่าเขาไม่ผิด แต่เขารับสารภาพเพราะถูกซ้อม กฎอัยการศึกเพิ่งประกาศใช้วันเดียว ทุกอย่างใหม่หมด ทุกคนคิดว่ามีอำนาจเต็มที่ ทำได้ทุกอย่าง รัฐปรารถนาดีว่าต้องเกิดความสงบให้ได้ แต่ใช้วิธีการผิดไป
อดินัน อับดุลเลาะห์ กอเซ็ง ไม่รู้จักกัน มาเจอเราบอกว่าญาติมาร้องเรียน เจอกันที่โรงพักปัตตานี เขาร้องไห้บอกว่าเจ็บทั้งตัว
ถ้าจำไม่ผิดพวกนี้อยู่ที่มายอ เขาขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปในตลาด กล้องจับภาพได้ แล้วทนมือทนตีนไม่ได้รับสารภาพ ก็ปั้นหลักฐานขึ้นมา ตอนนั้นยังไม่ใช้นิติวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าดีขึ้นเยอะมาก ดีเอ็นเอ ลายนิ้วมือแฝง กล้องวงจรปิด การใช้โทรศัพท์ สามารถพิสูจน์ผู้กระทำความผิดได้มากขึ้น เดี๋ยวนี้จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่จึงจับกุมคนน้อยลง ที่จับได้หลักฐานก็ชัด
เป็นพัฒนาการที่ได้จากการที่เราค้านคดีนี่แหละ เวลาเราถามค้าน เขาก็อุด ๆ ๆ ตรงนี้ เราดีใจนะจะได้ไม่จับแพะ
คดีที่เราได้รับการร้องขอให้ช่วย ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการปิดล้อมจับกุมกล่าวหาว่ามีส่วนก่อเหตุที่โน่นที่นั่น แล้วญาติมาร้อง เราก็ตรวจสอบข้อเท็จจริง บางทีญาติก็ไม่รู้เรื่องเหตุการณ์ แต่มีเจ้าหน้าที่มาเอาตัวคนในครอบครัวไป ถูกกล่าวหา ถูกทำร้ายด้วยวิธีไม่ถูกต้องตามกฎหมายญาติมาร้องว่าเขาถูกกระทำ เราก็เข้าไปช่วย
การไต่สวนคดีชันสูตรจะเป็นการค้นหาความจริงไม่ใช่การสู้ระหว่างโจทก์กับจำเลย เอาพยานหลักฐานมาวางให้ศาลเห็นว่าความจริงเป็นอย่างไร
ที่ทำอยู่จะไม่โดนคนมองว่าเป็นการช่วยโจรหรือ
ก็มี เราจะบอกลูกความเสมอว่าถ้าผิดต้องรับ พยานหลักฐานที่เราไปดูกับอัยการในชั้นศาล หากหลักฐานชัด เราจะบอกจำเลยแบบนี้สู้ไปก็ไม่ชนะ รับสารภาพศาลยังปรานี ผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่ได้หมายความว่าต้องสู้จนชนะ
เราตั้งกรอบไว้ว่าเราจะไม่เข้าไปในคดีถ้าไม่มีใครมาร้องเรียน เราไม่ได้วิ่งหาคดีเพื่อทำผลงาน คนที่มาหาเราคือญาติผู้ต้องหาที่มาร้องขอความเป็นธรรมที่มูลนิธิ พอญาติถูกเอาตัวไปตามกฎหมายพิเศษเขามาร้องเรียน เราไปให้ความช่วยเหลือปกป้องสิทธิ์ ที่ผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ไปใช้ศาลเตี้ยกับเขาไม่ได้
โดนซ้อมให้รับ กลับคำให้การได้ คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนไม่ใช่หลักฐานชั้นดี กลับคำในชั้นศาลได้ ไม่ขัดกฎหมาย แต่ศาลจะดูหลักฐานแวดล้อมอื่น การกันไว้เป็นพยานแล้วมากลับคำ หากหลักฐานอื่นไม่มีน้ำหนักศาลจะเชื่อ
ตอนหลังมีกล้องวงจรปิด การพิสูจน์ดีเอ็นเอ ถ้าเห็นหลักฐานจะบอกเขาว่าไม่รับสารภาพ ถ้าแพ้จะโดนโทษหนัก รับสารภาพศาลยังให้ความปรานี
ดีเอ็นเอที่ใช้เป็นหลักฐานในคดี เชื่อได้แค่ไหนว่าจะไม่มีการปลอมสวมทับ
ปลอมยากมาก แต่เคยมีความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนนราธิวาส จนศาลฯ นราธิวาสให้ผมไปช่วยเป็นทนายให้เด็กคนนี้ เป็นวัยรุ่นไทยพุทธ เคยบวชสามเณรถูกจับข้อหาก่อการร้าย ผู้พิพากษายังไม่เชื่อ จนต้องประสานงานให้ผมช่วยแก้คดีเขาหน่อย ไม่มีใครเชื่อตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ไม่มีใครเชื่อว่าเขาอยู่ในขบวนการก่อการร้าย แต่หลักฐานดีเอ็นเอยืนยันว่าเด็กคนนี้ไปอยู่บนภูเขา ปฏิเสธไม่ได้ต้องดำเนินคดีกับเขา
เราเป็นทนายก็ต้องไล่หาว่าได้ดีเอ็นเอเด็กคนนี้มาอย่างไร เยาวชนคนนี้เคยมาเที่ยวงานหลักเมืองยะลา แล้วไปตีกับก๊วนเด็กอิสลามบาดเจ็บกันไป ตำรวจให้ถอดเสื้อตรวจบาดแผล เก็บดีเอ็นเอพิสูจน์หลักฐาน แล้วสลับเสื้อกัน เมื่อตำรวจไปถล่มค่ายบนภูเขาที่นราธิวาส ได้ร่องรอยดีเอ็นเอ นำมาเข้าระบบ ตรวจพบว่าตรงกับเด็กที่เคยมีเรื่องในงานศาลหลักเมือง เป็นเด็กไทยพุทธ ทุกคนก็ต้องยอมจำนนด้วยหลักฐาน แต่เพราะเป็นเด็กไทยพุทธจึงมีการท้าให้ตรวจดีเอ็นเอใหม่ สุดท้ายไม่ตรง ก็เลยรื้อฟื้นใหม่ จึงสรุปได้ว่าตอนเก็บตอนงานหลักเมืองเก็บสลับกัน ดีเป็นเด็กไทยพุทธ ถ้าคนที่สลับกันเป็นพี่น้องมุสลิมก็จบเลย ถ้าอิสลามต่ออิสลามซ้อนกัน อย่างไรคนก็จะเชื่อไปแล้ว นี่เป็นเรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่ในปัญหาชายแดนใต้ ท้าพิสูจน์อย่างไรก็ไม่มีใครฟังแล้ว แต่เรื่องนี้ผมขอคัดอะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ และการให้ความเป็นธรรมกับสังคม คำพิพากษา คำเบิกความคัดไม่ได้เลย ถ้าให้คัดก็มีการเผยแพร่ เกิดความเสียหาย
เราไม่ได้วิ่งหาคดีเพื่อทำผลงาน คนที่มาหาเราคือญาติผู้ต้องหาที่มาร้องขอความเป็นธรรมที่มูลนิธิ พอญาติถูกเอาตัวไปตามกฎหมายพิเศษเขามาร้องเรียน เราไปให้ความช่วยเหลือปกป้องสิทธิ์ ที่ผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ไปใช้ศาลเตี้ยกับเขาไม่ได้
กลัวโดนอุ้มไหม
เชื่อว่ามีคนคิด แต่ไม่ได้รับไฟเขียวให้ทำ เพราะการทำอย่างนั้นกับเราที่อยู่ในที่สว่าง ผมว่าจะเป็นอีกปัญหาของสังคม ถ้าเกิดอะไรกับผม
เราเชื่ออย่างหนึ่งว่าไม่ได้มีจิตใจที่จะช่วยคนผิด เราช่วยเพราะต้องการให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม ไม่ใช่ต้องการสู้กับรัฐ
ผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็พอใจว่าลูกน้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายเสื่อมเสียแก่หน่วยงาน ทุกคนก็ระมัดระวัง ทำในกรอบกติกา เราช่วยอำนวยความยุติธรรมให้รัฐในการทำงานกับชาวบ้าน ไม่ใช่ฉุดรั้งการทำงานของรัฐ ต้องมองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการของรัฐ
ฝ่ายขบวนการล่ะ
เราอยู่กลางเขาควาย ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเราเข้าข้างความถูกต้อง เราให้เขารับสารภาพเพื่อช่วยชีวิตเขา แน่นอนต้องมีคนไม่พอใจอยู่แล้ว
การทำหน้าที่ทนายความเป็นองค์ประกอบสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคม จะหาว่าทนายเป็นพวกของผู้กระทำความผิดเลยไม่ได้ คนที่ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ทนายไม่ได้เป็นทนายโจรเป็นผู้ช่วยผู้ถูกกล่าวหา เป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม นี่คือหัวใจของมัน
ทำคดีนับว่าแพ้หรือชนะไหม
บางทีเวลาทำคดีแบบนี้ เราบอกน้อง ๆ เสมอว่าเรารู้ว่าเราจะแพ้ แต่เราชนะที่ให้สิทธิ์กับผู้เป็นเหยื่อได้สู้ แค่เขากล้าลุกขึ้นยืนเขาก็ชนะแล้ว ถ้าเราปล่อยให้ใครทำอะไรไปแล้วไม่มีใครมาตรวจสอบ เขาก็ลอยนวลไปอยู่อย่างนี้ เราชนะที่ให้โอกาสชาวบ้านได้ใช้ช่องทางกฎหมาย หากมีการกระทำที่ไม่ถูกตามกฎหมายต่อผู้ถูกควบคุมตัว เขาจะไม่กล้าทำอะไรมาก เพราะมีคนดูอยู่ แค่นี้ก็บุญแล้ว
เรารู้ว่าจำเลยต้องลากคดีให้พ้นอายุความแน่ แต่อย่างน้อยเราให้ชาวบ้านกล้าลุกขึ้นยืน เรียกร้องความเป็นธรรม
เรารู้ว่าเราจะแพ้ แต่ชนะที่กล้าลุกขึ้นทวงถามความเป็นธรรม เท่านั้นก็ชนะแล้ว
“การจับคนซ้อนกันอย่างนั้น
ไม่ใช่การกระทำที่คนจะอยู่ได้”
อับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสมัด
ผู้ทำพิธีกรรมให้กับกลุ่มผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ
เจ้าของปอเนาะบาบอแม* (ดารุลกุรอานิลการีม)
อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส
*บาบอ เจ้าของปอเนาะ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
ทหารในค่ายอิงคยุทธฯ ที่เป็นมุสลิม โทร. บอกบาบออยากให้ไปช่วยทำพิธี เขาบอกศพไม่ได้ใส่โลง อยู่ในสนามมา ๒ วันแล้ว
บางคนเสนอว่าไม่ต้องอาบน้ำ เขาเป็นชะฮีด คือการต่อสู้กับศัตรู ตายในสงคราม จะไม่อาบน้ำศพ แต่บาบอว่านี่ไม่ใช่ต่อสู้ ไม่ใช่สนามรบ เขาแค่ไปแสดงความรู้สึกไปถามตำรวจว่า ชรบ. อยู่ที่ไหน
ที่ญาติจำได้ก็พากลับไปทำพิธีที่บ้านราว ๖๐ คน ที่เหลือ ๒๒ ศพ บาบอรับไปฝังที่กุโบร์ตะโละมาเนาะ อำเภอบาเจาะ บางคนบอกว่าบาบอนำไปโยงกับประวัติศาสตร์ ความจริงไม่เกี่ยว แค่เป็นกุโบร์ที่กว้าง รถเข้าไปถึง และอยู่ใกล้ที่สุดเมื่อเข้านราธิวาส เราคิดแค่นี้ เขาตีความเลยไป
...
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่ยังอยู่ในใจ แต่ยังเจ็บใจ พอคิดถึงก็น้ำตาไหล ไม่เคยมีที่ไหนในโลกนี้ บาบออยู่ตะวันออกกลาง ๑๐ กว่าปี เห็นการรบกันบ่อย แต่การกระทำแบบนั้นไม่เคยเห็น อิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็ไม่เคยเห็นแบบนั้น มันแปลกจริง ๆ เอาต้นแบบการกระทำมาจากไหน
หลักศาสนาไม่ถูกต้องอยู่แล้ว หลักมนุษยธรรมก็ไม่มีเลย
ระหว่างทางจากตากใบไปปัตตานี คนข้างทางได้ยินเสียงตลอดทาง ตูลงฆาเตะ ตูลงกาแวฆาเตะ ช่วยด้วย ๆ เพราะโดนตีกับปืน คนที่รอดชีวิตก็บอกแบบนั้น
การลงโทษต้องแยกแยะ คนร้ายก็คนร้ายถ้ามีจริงแต่คนที่ชุมนุมไม่มีปืนไม่มีอะไร ที่สำคัญการจับคนซ้อนกันอย่างนั้นไม่ใช่การกระทำที่เหมาะสมที่คนจะอยู่ได้
ทำไมทำขนาดนั้น รู้สึกอย่างไรกับคนที่นี่ เขาเป็นคนชั้นสองชั้นสามหรือว่าคนไม่มีชาติเลยหรืออย่างไร เหมือนชีวิตเขาเป็นคนนอกระบบ ถ้าคิดว่าเป็นประชากรของเราก็อาจจะไม่ทำอย่างนั้น
คนไทยโกรธแค้นอะไรคนมลายู เป็นคำถามในใจคนที่เห็นเหตุการณ์วันนั้น
“เป็นความทรงจำที่ไม่อยากจำ
แต่ถ้าเราไม่จำเขาเจ็บปวดกว่า”
ฮากิม พงตีกอ
ผู้นำเยาวชน นักกิจกรรม
เลขาธิการ The Patani ภูมิภาค Barat Laut
สังคมชายแดนใต้ถูกผลิตซ้ำจากเหตุการณ์ จากชุดนโยบาย ความรุนแรง การถูกซ้อมทรมานจากทหาร รวมทั้งการอุ้มหายที่ถูกเล่าซ้ำ ยิ่งถ้ามีเกิดขึ้นซ้ำก็จะยิ่งย้ำความเจ็บปวด คนรุ่นใหม่เกิดมาก็ยังแบกความเจ็บปวดอยู่ ความทรงจำความเจ็บปวดถูกส่งผ่านสำนึกชาติพันธุ์ เรื่องหะยีสุหลงผมเกิดไม่ทัน แต่ก็มีสำนึกเจ็บปวด
ความทรงจำเรื่องตากใบ ผมได้ทราบจากซีดีตอนเรียน ม. ๓ อยู่ที่สะบ้าย้อย หลังผ่านเหตุการณ์ไป ๒ ปี เล่าต่อกันว่าเป็นซีดีลับที่ทุกคนต้องซ่อน ถ้าพูดให้รัฐเสียหายจะโดนจับ
ได้ร่วมงานรำลึกตากใบเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ๗ ปี ตอนอยู่ปี ๑ ม. รามฯ แสดงกิจกรรมละครใบ้ที่หอศิลป์ กทม. ในนามองค์กรนักศึกษา สนนท. ปีก่อน ๆ นั้นรุ่นพี่ทำกันมาก่อนแล้ว
เป็นการถามหาความเป็นธรรม ที่ว่าตายเพราะขาดอากาศ ใครทำให้ขาดอากาศ ปัจจุบันก็ยังถามว่าใครคืออากาศ ต้องไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกกับคนรุ่นหลัง ให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพโดยใช้บทเรียนของกรณีตากใบ
มีคนโทร. เรียก ซึ่ง ชรบ. นั่นก็เป็นคนของรัฐ และการชุมนุมก็เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนกลุ่มนั้น การโทร. นั่นถือเป็นการจัดตั้งในความหมายหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไป ความจริงไม่ใช่ประเด็นที่รัฐจะมีความชอบธรรมในการทำร้ายประชาชน แต่รัฐพูดเหมือนเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญ
เป็นการถามหาความเป็นธรรม ที่ว่าตายเพราะขาดอากาศ ใครทำให้ขาดอากาศ ปัจจุบันก็ยังถามว่าใครคืออากาศ ต้องไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกกับคนรุ่นหลัง ให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพโดยใช้บทเรียนของกรณีตากใบ
ที่นี่เราต้องใช้จำนวนประชาชนในการพูด ถ้าไม่กดดันรัฐไม่ฟัง แต่เขามีประสบการณ์รัฐใช้ความรุนแรงกับคนที่พูด เราก็สร้างให้เขาเชื่อมั่นว่ามีสิทธิในการพูด
เหตุการณ์ตากใบถูกเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ ผู้ชุมนุมก็อาจถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ ต้องชำระความเป็นธรรมให้เขารู้สึกปลอดภัยไม่ถูกมองแบบนั้น
ต้องให้ความเป็นธรรมในความหมายของการเอาความจริงออกมา ใครสั่งการ สังคมต้องรู้ ให้ความเป็นธรรมในการเยียวยาต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ตัวเงิน ดูชีวิตลูกหลานเขาโตมาเป็นอย่างไร
ส่วนหนึ่งคือการเอาผิดผู้สั่งการ ผู้นำฝ่ายปฏิบัติ รัฐใช้คนไม่มีประสบการณ์ในการสั่งการ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ระดับปฏิบัติการไม่มีความผิดก็ต้องสำนึกในการกระทำ อย่างน้อยก็เพื่อให้รู้สึกว่าสังคมนี้ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่
เป็นความทรงจำที่ไม่อยากจำ คนบอกว่าญาติเหยื่อไม่อยากจำ แต่ถ้าคนลืม ครอบครัวผู้สูญเสียจะเจ็บปวดมาก การพูดก็เจ็บปวด แต่ถ้าให้ลืมเจ็บปวดกว่า ดังนั้นเหตุการณ์ตากใบลืมไม่ได้ และต้องสร้างความเป็นธรรมให้จริง แล้วตากใบยังตามหลอกหลอนผู้ผลิตซ้ำความรุนแรงในพื้นที่ เราต้องช่วยกันนำมาพูดเปิดเผย ให้คนจำเป็นบทเรียน การพูดก็ทำให้เขาได้รับความเป็นธรรมบางอย่าง การบอกว่าลืมดีกว่าถือเป็นความรุนแรงสำหรับผม และเยาวชนจะรู้สึกโกรธ
“แค่มีคนไปเยี่ยม รับฟังเขาแบบเข้าใจ เขาก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว”
โซรยา จามจุรี
ประธานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (CIVIC WOMEN) อาสาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงชายแดนใต้
บางคนอาจมองว่าการเยียวยาเป็นงานสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือ ให้เงิน วัตถุสิ่งของ แล้วจบ จริง ๆ ไม่ใช่ มันยิ่งใหญ่กว่านั้น การเยียวยาเป็นงานสันติวิธีด้วย เหมือนเป็นการไปกู้ทุ่นระเบิด ผู้ได้รับผลกระทบเหมือนทุ่นระเบิด ถ้าไม่กู้ก็มีวันระเบิดขึ้นได้ เราพยายามตัดวงจรการใช้ความรุนแรง
ช่วงต้นช่วยครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ ที่มีผู้เสียชีวิต ๓๒ คน เราไปช่วยแม่ ๆ ลูก ๆ ของผู้เสียชีวิต คนข้างนอกอาจมองว่าเยียวยาทำไมลูกเมียโจร
เป็นการช่วยในมิติการเยียวยา ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไม่มีพรมแดน ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร แต่คนที่เหลืออยู่ที่บ้านเป็นผู้บริสุทธิ์ พ่อเขาเป็นโจรจริงไหมก็ยังบอกไม่ได้ ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่เขาโดนยิงเสียชีวิตไปก่อน
เราทำเดี่ยว ๆ ไม่ได้ จะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะที่เราเข้าไปทำกับกลุ่มที่รัฐมอง “เป็นอื่น” อย่างกรณีกรือเซะ เราทำร่วมกับคนนอกที่มีสถานะทางสังคมชัดเจน ทำกับมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ทำให้เรามีจุดแข็ง
จากแกนนำผู้หญิงที่เรารู้จัก แนะนำต่อกันไปจนรู้กันแทบทั้งหมดในกลุ่มผู้สูญเสีย เยี่ยมหลายครั้งต่อเนื่อง ไม่ทิ้งเขา เขาควรได้รับการเห็นอกเห็นใจจากเราที่ถือเป็นเพื่อนในชายแดนใต้และคนจากที่อื่นด้วย
ให้เขาเข้มแข็ง ไม่รู้สึกว่าเป็นเหยื่อ แต่เป็นนักคุ้มสิทธิที่ลุกมาช่วยเหลือตัวเอง และให้การเยียวยาคนอื่นได้ด้วย
ก๊ะแยนะ สาละแม เป็นแกนนำสำคัญของเรา ลูกชายแกถูกจับในเหตุการณ์ตากใบ ผู้ชุมนุมกลายเป็นผู้ต้องหา แต่ผู้สลายการชุมนุมไม่ถูกดำเนินคดี เป็นอะไรที่แปลกมหัศจรรย์มาก ๆ ก๊ะแยนะสู้เพื่อลูก และแกสู้เพื่อลูกชายคนอื่น ๆ ด้วยทั้ง ๕๘ คน จนนำมาสู่การถอนฟ้องคดีโดยอัยการสูงสุด ซึ่งเราก็มีส่วนเข้าไปช่วยแกในแง่การทำงานกับกรรมการสิทธิมนุษยชน ในช่วงหลังการปฏิวัติ ๒๕๔๙ การถอนฟ้องมีจุดสตาร์ตจากการเยียวยามาสู่การเรียกร้องความเป็นธรรม
เราเริ่มเข้าไปช่วยตั้งแต่ ๒๕๔๗ ก่อนที่รัฐจะให้กับผู้ได้รับผลกระทบรายละ ๕ แสนบาท หลังจากเจ้าหน้าที่สามฝ่าย ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ รับรองว่าเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
ตอนแรกก็เหมือนคนแปลกหน้า แต่ตามธรรมเนียมหลักการศาสนา เมื่อมีความสูญเสียเกิดขึ้นทุกคนจะเข้าไปเยี่ยมครอบครัว มอบเงินหรือสิ่งของเป็นการให้ความช่วยเหลือ นี่เป็นประเพณีของคนที่นี่อยู่แล้ว ฝังศพใน ๒๔ ชั่วโมง แต่การเยี่ยมทำได้ตลอด
แค่มีคนไปเยี่ยม รับฟังเขาแบบเข้าใจ ที่เรียก deep listening เขาก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว
...
การเยียวยานับเป็นส่วนหนึ่งของความยุติธรรม เรา empower เหยื่อจาก victim ให้กลายเป็น victor ให้เขาสามารถก้าวข้ามจากการเป็นเหยื่อมาเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับครอบครัวและชุมชน
การเอ็มพาวเวอร์ต้องทำเรื่องจิตใจด้วย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เขาเข้มแข็ง ไม่รู้สึกว่าเป็นเหยื่อ แต่เป็นนักคุ้มสิทธิที่ลุกมาช่วยเหลือตัวเอง และให้การเยียวยาคนอื่นได้ด้วย
คนที่ถูกกระทำไม่ใช่แค่โศกเศร้า แต่มีความคับแค้น ขมขื่น ถึงขั้นอยากเอาคืน ยิ่งหากรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อเราเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา มันลดความคับแค้นลง ถ้าอยากเอาคืนเราก็บอกให้ใช้กระบวนการยุติธรรม
มะรอโซเป็นตัวอย่างผลผลิตจากเหตุการณ์ตากใบที่ชัดเจน เขาเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไปชุมนุมที่ตากใบและถูกจับกุม ซึ่งไม่มีการฟ้องร้องดำเนินการต่อผู้กระทำความผิด มีการเยียวยาที่รัฐให้เต็มที่ ๗.๕ ล้านบาท แต่การให้ความยุติธรรมล่ะ การให้ผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการขอโทษ ซึ่งเหยื่อบอกว่าให้อภัยได้อย่างไร เขายังไม่ได้สำนึกผิด ยังไม่ขอโทษ ยังไม่ได้รับโทษ
มะรอโซก็คงรู้สึกคับแค้นใจ เป็นเงื่อนไขสุกงอมให้เขาพร้อมจะไป เช่นเดียวกับคนจำนวนมากที่ถูกบ่มเพาะจนเกิดเงื่อนไขที่สุกงอม ยอมจับอาวุธเข้าสู้กับรัฐเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เช่นเดียวกับมะรอโซซึ่งเป็นผู้รอดจากเหตุการณ์ตากใบ งานของเราคือไม่ให้เกิดกรณีแบบมะรอโซ จึงพยายามเยียวยาและมีพื้นที่อื่นในการต่อสู้โดยไม่ต้องจับอาวุธ
แม้ไม่มีหลักฐานประจักษ์ในเชิงการพิสูจน์ แต่ก็ถือเป็นการร่วมด้วยช่วยกันของภาคประชาสังคม ปลดล็อกเงื่อนไขที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นการสูญเสียไม่สิ้นสุด
การเยียวยาเป็นการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมได้ มันเชื่อมโยงกัน
งานสงเคราะห์ช่วยเหลือบางทีก็ถูกด้อยค่าว่าแค่แจกของ เราก็ทำด้วยเพราะเขาเดือดร้อนอยู่ แต่ไม่พอต้องทำงานในระยะยาวด้วย
การที่รัฐให้เงินเยียวยา ๕ แสนบาท เขาก็ได้เอาไปเป็นทุนการศึกษา บางคนไปซื้อที่ดิน เพราะถ้าถือเป็นเงินสดจะหาย ซื้อสวนยางเก็บกินระยะยาวนี่จำเป็นมาก
...
งานครบรอบเหตุการณ์ตากใบ เราก็ไปพบปะพูดคุยกัน
รัฐอาจมองว่าเป็นการรื้อฟื้น แต่เป็นการทำบุญ เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ เขาก็จัดงานกันทุกครบรอบปี เป็นการรำลึกถึง มุสลิมไม่ทำเชิงสัญลักษณ์ ไม่มีอนุสรณ์สถาน ทำกันที่บ้าน ที่โรงเรียนตาดีกา มีการพูดถึงเหตุการณ์ เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ลืมไม่ได้ เรายิ่งต้องจำเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก อันนี้สำคัญ ไม่ใช้ความรุนแรง จำเพื่อเป็นบทเรียน หากล้างแค้นเอาคืนก็ใช้สันติวิธีต่อคนที่ทำให้ตาย ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน นั่นจะไม่จบสิ้น แล้วคนที่ไม่ได้อยู่ในปาร์ตี้เอ ปาร์ตี้บี คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ก็อาจโดนลูกหลงไปด้วย
เจ้าหน้าที่พูดเองว่าความรุนแรงครั้งล่าสุด ๔๐ จุด ช่วงเดือนเราะมะฎอนปีนี้อาจมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ตากใบ เพราะครบรอบตรงกับวันที่ ๑๑ เดือนเราะมะฎอน หากนับตามตามฮิจเราะห์ศักราช