Image

“รู้สึกว่าแค้น
และแม้ว่าจะไม่โกรธแล้ว
แต่ก็ยังไม่เคยลืมเรื่องราวต่าง ๆ”
– ภรรยาผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง –

โปรดอย่าขืนใจ
ให้ฉันลบความทรงจำ

scoop

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
แปลคำสัมภาษณ์ภาษามลายู-ไทย : นิการีม๊ะ หะยีนิเลาะ

“เหตุการณ์ตากใบ” เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ ต่อเนื่องถึงหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นการชุมนุมของคนมุสลิมชายแดนใต้ที่มีข้อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) หกคน ที่ถูกตั้งข้อหาว่ามอบปืนลูกซองของหลวงให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

มีชาวมุสลิมในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงทุกวัยทั้งชายหญิงร่วมอยู่ในที่ชุมนุมราว ๓,๐๐๐ คน มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ ๗ คน ถูกจับกุมราว ๑,๓๐๐ คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตบนรถระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ๗๘ คน ได้รับบาดเจ็บจากการขนย้าย ๑๐๙ คน ซึ่งจำนวนหนึ่งกลายเป็นผู้พิการ และอีก ๕๙ คนถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ซึ่งตอนหลังอัยการถอนฟ้องและได้รับการชดเชยจากรัฐในวงเงินรายละประมาณ ๓ หมื่นบาท

ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับเงินเยียวยารายละ ๕ หมื่นถึง ๔ แสนบาท ผู้พิการรุนแรงและผู้เสียชีวิตได้รายละ ๗.๕ ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นเรียกร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป  ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มองว่าการเยียวยายังไม่ครอบคลุมถึงความยุติธรรมที่ต้องมีการสะสางให้เห็นตัวผู้รับผิดชอบสั่งการที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ล้มตาย

คนจำนวนหนึ่งต้องการให้เหตุการณ์ผ่านไปแบบแล้ว ๆ กันไป ไม่ต้องรื้อฟื้นย้ำเตือนกีดกันไม่ให้รำลึกถึง คล้ายบังคับกลาย ๆ ให้ลืม แต่คนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์อยากได้รับการจดจำไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่มีประจักษ์หลักฐานชัดเจนว่าเคยเกิดขึ้นจริง ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำล้วนมีตัวตนอยู่จริง และยังมีชีวิตอยู่

“พอปล่อยนกไปไม่ได้ยินเสียงก็ทำใจได้หน่อย คิดว่าเขาไปทำงานยังไม่กลับมา”

Image

วันเกิดเหตุการณ์ตากใบ ลูกชายก๊ะยะห์ไปซื้อของในตลาดเตรียมตัวจะไปเป็นทหารเกณฑ์ แล้วติดอยู่ในที่ชุมนุม จนถูกกวาดจับไปพร้อมกับอีก ๑,๓๐๐ คน รวมทั้งพ่อของเขา พ่อเสียชีวิตบนรถขณะถูกทหารควบคุมตัว ส่วนเขาได้รับการปล่อยตัว มานอนบ้านได้คืนเดียวก็ต้องไปเข้าประจำการทหาร จนครบเกณฑ์จึงได้กลับคืนบ้านอีกครั้ง เป็นลูกชายคนโตที่แม่หวังพึ่งให้ดูแล  แต่ตอนนี้แม่ยังต้องบำบัดฟื้นฟูดูแลเขาหลังจากประสบอุบัติเหตุจนต้องนอนติดเตียง

ก๊ะยะห์
แม่บ้านที่สูญเสียสามี

ก๊ะยะห์เป็นแม่บ้านและเป็นแม่ของลูกสามคน อาชีพรับจ้างกรีดยาง เช้าวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เธอออกไปตลาดเจ๊ะเหในตัวอำเภอตากใบกับลูกชายคนโต เพื่อซื้อข้าวของเตรียมไปเข้าประจำการทหารเกณฑ์ต้นเดือนพฤศจิกายน แล้วบังเอิญเข้าไปติดอยู่ในที่ชุมนุม  เธอพลัดกับลูกชาย แต่ไปเจอกับสามี ถึงได้รู้ว่าเขาอยู่ที่นั่นด้วย และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่เธอได้เจอเขาขณะยังมีชีวิต

คืนนั้นสามี ลูกชายคนโต และน้องชายสองคนไม่กลับบ้าน

สองวันต่อมาเธอถึงรู้ว่าสามีเสียชีวิต ลูกชายได้รับการปล่อยตัวกลับมานอนบ้านคืนเดียวก็ต้องจากไปเข้าประจำการ

ลูกชายเพิ่งผ่านการถูกทารุณกรรม เพิ่งฝังศพพ่อที่เสียชีวิตในมือทหาร แล้วเขาก็ต้องเดินเข้าค่ายไปเป็นทหารเกณฑ์  แม่สูญเสียคู่ครองแล้วยังต้องห่างลูก โดดเดี่ยวอยู่กับความโศกเศร้า

จนครบ ๒ ปีปลดประจำการ ลูกชายได้กลับมาอยู่กับแม่ แต่ต่อมาเขาประสบอุบัติเหตุจนนอนติดเตียง แม่ต้องคอยดูแล

ทุกวันนี้ก๊ะยะห์ในวัยย่าง ๖๐ ปียังรับจ้างกรีดยาง อยู่บ้านกับลูกชายที่ต้องมีคนดูแลช่วยเหลือ และใจที่ยังอยู่กับ 
“อาแบ” มะหะมะ เล๊าะบากอ ที่จากไปในเหตุการณ์ตากใบ

ก๊ะ ภาษามลายูแปลว่าพี่สาว ใช้เรียกหญิงที่อาวุโสกว่า หรือผู้หญิงอาวุโสกว่าใช้เรียกตัวเอง 

อาแบ ภาษามลายูแปลว่าพี่ชาย ใช้เรียกชายที่อาวุโสกว่า และผู้หญิงมลายูชายแดนใต้มักเรียกสามีว่าแบ หรืออาแบ ส่วนสามีจะเรียกภรรยาว่าเด๊ะ แปลว่าน้อง

ปรกติตอนเช้าก่อนไปทำงานเขาจะออกไปกินน้ำชาที่กลางหมู่บ้านศาลาใหม่ ซื้อขนมกลับมาฝากคนที่บ้าน แล้วพาลูกไปส่งโรงเรียน แต่เช้าวันนั้นเขาไม่กลับมา

ราว ๙ โมง ก๊ะกับลูกชายคนโตชวนกันไปซื้อของที่ตลาด เขาจะไปเป็นทหารเกณฑ์ ไปถึงตลาดเจ๊ะเหเห็นคนเยอะก็ชวนลูกเข้าไปดูว่าเขามาทำอะไรกัน ก็ได้ยินข่าวว่ามาช่วย ชรบ. ที่ถูกจับ

ราว ๑๐ โมง ได้ยินเสียงปืน ตามหาลูกถามว่าจะออกไปมั้ย เขาว่าดูก่อน จะปล่อย ชรบ. จริงมั้ย

แต่กับอาแบนี่ไม่เจอ เขาออกไปกินน้ำชาตอนเช้าแล้วไม่ได้กลับมาบ้าน ก๊ะไม่รู้ว่าเขาไปที่ตาบา

บ่าย ๓ เขายิง บนถนนมีรถฉีดน้ำ ปิดทาง ออกไม่ได้ พวกผู้ชายหมอบลงกับพื้น ก๊ะคลานแบบทหาร หนีไปเจออาแบที่สนามเด็กเล่นที่อยู่คนละฟากถนนกับโรงพัก ก๊ะไม่คิดว่าจะได้เจอกับอาแบตรงนั้น อาแบบอกว่าต้องหนีลงไปแถวริมน้ำปลอดภัยกว่า คลานกันไปขึ้นหลังอาแบ อาแบก็พลิกให้ก๊ะหลบลงล่าง  คลานกันไปถึงริมน้ำ ก๊ะหมอบอยู่กับอาแบตรงนั้น  แบบอกให้อดทน เราต้องอยู่ตรงนี้ ก้มหัวลง เขาเอามือปิดเราไว้ ก๊ะคุยว่าเราจะทำยังไงกันดี แล้วเอาร่มมากางกันกระสุนและกันน้ำ

ผู้ชายแก่ ๆ คนหนึ่งโผล่หัวขึ้น ลูกปืนมาจากไหนไม่รู้โดนหัวเขา เขาโดนยิงแล้ว ก๊ะเห็นเลือดเต็ม เขาเอามือปิดแผลไว้และมีคนโดนยิงตายในเหตุการณ์ด้วย

เสียงปืนเงียบสักพักมีทหารมาบอกให้ผู้หญิงขึ้นมา ผู้ชายถอดเสื้อ อาแบใส่เสื้อสองชั้น แจ็กเกตตัวหนึ่ง เสื้อยืดอีกตัว เขาถอดแจ็กเกตให้ก๊ะ บอก-นี่ยะห์เอาขึ้นไป อีกตัวทหารใช้มัดมือไพล่หลัง  ผู้หญิงถูกสั่งเดินไปรวมกันที่ศาลาจอดรถ

มีกำแพงกั้น แต่ยังพอมองเห็นที่เขาทำกับผู้ชาย เห็นเขาเอาไม้ตี เขาสั่งให้นอน ถ้าช้าก็ตีเลย ผงกหัวขึ้นก็เตะ เห็นเขาขนผู้ชายขึ้นรถ แต่ไม่เห็นอาแบ

Image

แม่ที่สูญเสียลูกชาย (ผ้าคลุมผมลาย) กับลูกสะใภ้ที่เป็นม่ายต้องดูแลกันไปเมื่อไม่มีผู้ชายอยู่ในบ้าน

ขนขึ้นไปเป็นชั้น เอาขึ้นรถแล้วให้นอนทับกัน เขาคงอยากให้ตาย นี่พูดไม่ค่อยเพราะนะ เหมือนกลั่นแกล้ง นอนทับกันสี่ห้าชั้น คนข้างล่างจะหายใจอย่างไร

คิดเหมือนกันว่าเราจะได้กลับบ้านมั้ย จนเย็นค่ำตำรวจเอาน้ำมาหนึ่งขวดให้ผู้หญิงเปิดปอซอ (ละศีลอดประจำวัน เริ่มกินอาหารหลังจากงดมาทั้งวัน) ก่อนนั้นบวชถือศีลอดมาทั้งวัน ทหารมาคุยว่าเขาจะใช้รถสองสามคันมาส่งที่มัสยิดศาลาใหม่ จากนั้นเราเดินกลับเข้าหมู่บ้านกันมาสี่ห้าคน

กลับมาก็นอนไม่หลับ ลูกไม่มี แฟนก็ไม่มี น้องชายด้วยสองคน  คุยกับพ่อกับน้องคนสุดท้องอายุ ๑๕ ปี ว่าเราจะอยู่กันยังไง พี่น้องเราไปหมดแล้ว

นั่งคุยกันจนสว่าง เพื่อนบ้านมาชวนไปค่ายอิงคยุทธบริหารไม่เจอรายชื่อ ก็อยู่จนเปิดปอซอเย็น ทหารว่ากลับไปได้แล้ว เราถามขอนอนข้างหน้าค่ายได้ไหม เขาว่าไม่ได้ ก็กลับมาบ้าน เช้าวันพุธก็ไปอีก ก็รู้วันนั้นว่าคนไหนเสีย

ราวบ่าย ๓ ลูกชายโทร. มา เจ้าหน้าที่ให้ใช้โทรศัพท์ ลูกบอกอยู่กับเพื่อน แต่ไม่เห็นพ่อเลย ก๊ะก็ตกใจ ไม่คิดแล้วว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ พอมืดก็กลับบ้าน

เฟาสี
ลูกชายคนโต
“วันนั้นผมไปซื้อของกับแม่ พอเข้าไปในที่ชุมนุมแล้วก็ไปเจอเพื่อน ไม่เจอกับแม่อีก แต่แม่ไปเจอพ่อช่วงสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ. ตากใบ โดนเตะ ตอนเขาขนไปในรถผมอยู่ชั้น ๓ มีทหารคุมไปด้วย อยู่บนรถสั่งไม่ให้เสียงดัง ขอน้ำก็โดนตี  รู้ว่ามีคนเสียชีวิตในรถ คนที่โดนทับอยู่ชั้นล่าง

คืนวันที่ ๒๕ ไม่ได้กินอะไรเลย ครบรอบอีกวันถึงได้กิน คืนวันที่ ๒๗-๒๘ ตุลาฯ โดนแยกขังห้องมืดห้องละสองถึงสามคน อยู่ทั้งวันทั้งคืน มีการซ้อมทรมาน กลางวันยังถือบวช ตอนเย็นเขาจะเอาอาหารมาให้


ได้กลับบ้านคืนเดียวไปทหารเลย รู้สึกโกรธที่เขากระทำต่อเรา แต่ถ้าไม่ไปก็กลัวถูกจับ”

วันพฤหัสฯ ไปอีก ไปกับพ่อและผู้ใหญ่บ้าน เขาเรียกให้ไปดู เจอทั้งรายชื่อและรูป อยู่กันมาเป็นสิบปี รู้ว่าเขาใส่ฟันปลอม ตอนนั้นไม่มี หลุดหายไปแล้ว

ทหารถามว่าใครจะไปดูศพ ก๊ะไม่มีแรงแล้ว ไม่กล้าเข้าไป พ่อเข้าไปดูแล้วโทร. มาถามว่าวันนั้นอาแบใส่โสร่งสีอะไร ก๊ะจำได้ว่าใส่โสร่งสีครีม กางเกงในสีเขียว  เจอศพแล้วก็เอาใส่รถกระบะคันเดียวกันมา ลูกชายก๊ะบ๊ะ อาแบ และเพื่อนบ้านอีกคน มาถึงบ้านราวตี ๓ โต๊ะอิหม่ามกับเพื่อนบ้านช่วยกันทำศพพร้อมกันสามศพ

ก๊ะอยากเอาศพมาทำที่บ้าน แต่ไม่มีคนแล้ว ทุกคนรออยู่ที่มัสยิด ทำพิธีศพที่นั่น

เสียใจอยู่เหมือนกัน อาแบสร้างบ้าน ก๊ะอยากให้เขาได้ตายในบ้าน ได้ทำศพในบ้านตัวเอง ก๊ะอยากเอากลับมาทำที่บ้านแต่ไม่มีคนช่วย  ก๊ะเสียใจที่เขาทำบ้านไว้แล้วแต่ไม่ได้กลับมาบ้าน

เราแต่งงานกันตอนก๊ะอายุ ๑๕ ปี แบ ๒๑ ปี แต่งได้ ๒-๓ ปีก็มีลูกชายคนแรก  จริง ๆ ก๊ะยังไม่อยากแต่ง แต่ลุงของสามีเป็นพูโล (ขบวนการแบ่งแยกดินแดน) เขาบอกว่าไม่เอาก็จะเอา ถ้าสู่ขอดี ๆ ไม่ได้ก็จะมาฉุด ก็เลยต้องยอม แต่อาแบไม่ได้เป็นสมาชิกขบวนการ พ่อเขาก็ไม่ได้เป็น  ลุงมาขู่ เรากลัว

เรามีลูกสามคน ปีที่เกิดเหตุการณ์ลูกสาวคนกลาง ๙ ขวบ ลูกสาวคนเล็ก ๖ ขวบ  คนโตอายุ ๒๑ โดนเกณฑ์ทหารแล้ว จะไปทหารวันที่ ๑ พฤศจิกายน แต่ถูกจับในเหตุการณ์ตากใบ ไปอยู่ค่ายอิงคยุทธฯ ผู้ใหญ่บ้านไปคุย ขอให้ส่งตัวกลับมาก่อน จะไปทหาร

พอเห็นหน้าลูกก๊ะก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน พ่อเสียแล้ว พอลูกขึ้นบ้านมาก็คุยกับลูก “ลูกต้องทำใจหน่อยนะ คนเราสักวันก็ต้องจากไป...” (เสียงเครือ)

“พ่อจากไปก่อน สักวันเราก็ต้องไปเหมือนกัน ไม่รู้เมื่อไร” หลังทำศพสามี ลูกไปทหาร ก๊ะอยู่กับลูกเล็กสองคน

ก๊ะคิดว่าลูกจะไม่ไปทหาร พ่อเขาเพิ่งเสียเพราะทหารแต่เขาบอกจะไป เราว่าดีแล้วที่ลูกไป ถ้าอยู่บ้านกลัวว่าทหารจะมาจับ

พอลูกชายไปเป็นทหารแล้ว มีทหารเข้ามาที่บ้าน ก็กลัวเหมือนกัน แต่คิดว่าก๊ะไม่ใช่คนผิด เราเป็นผู้บริสุทธิ์ สามีก็บริสุทธิ์ เขาเป็นคนดี ไม่เคยทะเลาะกับใคร มีแต่ตั้งใจทำงาน ตัดไม้เลื่อยไม้ ทำงานก่อสร้าง ไม่มีพฤติกรรมทางผู้ร้าย อยู่แต่กับงาน

ทหารมาถามความเป็นอยู่ รู้สึกน้ำตาจะไหล จะร้องไห้เพราะเขามาทำเรา และเขาก็มาถามเรา นึกแล้วเจ็บใจไม่หาย  เขาถามอะไรเรามาก็ไม่อยากตอบ ไม่อยากพูด

ก็บอกว่าอยู่ลำบาก หัวหน้าครอบครัวไม่มี ลูกชายต้องไปเป็นทหาร

ทหารกลับมาถามว่า “ทำไมให้ลูกชายไปเป็นทหาร ทำไมไม่ให้ไปเป็นโจร” เขาคงคิดว่าพ่อเป็นโจร ไม่งั้นคง ไม่พูดออกมาอย่างนี้ ก็คิดในใจว่าทำไมทหารพูดแบบนี้ ก๊ะนิ่งเงียบ  เขาคงเห็นก๊ะเครียดก็เงียบไปเหมือนกัน

Image

กรงเปล่าที่เหลือเพียงเสียงนกในความทรงจำ กับบ้านที่เคยอยู่กับ “อาแบ”

ตอนเช้าเวลาแบไปกินน้ำชาแล้วกลับมา นกจะร้องทุกครั้ง พอแบไม่อยู่ ตอนนกร้องก็คิดถึง เวลาได้ยินเสียงนกก็คิดว่าอาแบกลับมา

เช้าวันศุกร์ถือกรงนกออกมา บอกมันว่าต้องออกไปหากินกันเองแล้ว เจ้าของไม่มีแล้ว

ปล่อยแล้วนกออกไปสองตัว อีกสองตัวไม่ออก นกกางเขนกับนกกวักปล่อยไม่ไป ก็ให้พ่อเอาไปเลี้ยง นกกรงหัวจุกคืนเจ้าของ

พอปล่อยนกไปไม่ได้ยินเสียง ก็ทำใจได้หน่อย คิดว่าเขาไปทำงานยังไม่กลับมา ก็พออยู่ได้  ก่อนนั้นพอได้ยินนกร้องก็นึกว่าอาแบกลับมาจากร้านน้ำชา

ปล่อยนกเช้าวันศุกร์นั้นแล้ว ข้าวของไม่เอาอะไรคิดว่าอยู่คนเดียวในโลก

ก๊ะเคยแต่งงานใหม่แต่อยู่ไม่ได้ ไปมักกะฮ์ไม่คิดถึงสามีใหม่เลย เห็นแต่หน้าอาแบ เลยคิดว่าอยู่คนเดียวดีกว่า

ปัจจุบันรับจ้างกรีดยางคนอื่นราว ๕๐๐ ต้น ตื่นละหมาด ดื่มน้ำชากาแฟแล้วก็ไปกรีดทำยางก้อน ๗-๑๐ วันเก็บขายทีแบ่งเท่ากัน รายได้วันละราว ๑๐๐ บาท คิดว่ายังไหว ยกบ้านที่สร้างมากับอาแบให้ลูกสาวกับลูกเขย  ออกมาปลูกบ้านอีกหลังอยู่กับลูกชายที่พิการ

Image

“ผมไม่หนี
ยอมตายถ้าผมไม่ผิด”

แบมะ
ผู้ต้องหาคดีตากใบ

แบมะแนะนำตัวว่าเขาเป็นชาวบ้านธรรมดา หน้านาก็ทำนา นอกฤดูทำนาข้ามไปรับจ้างก่อสร้างฝั่งมาเลเซีย จนเขาอายุเข้า ๔๙ ปี มีลูกสี่คน เมื่อปี ๒๕๔๗ วันเกิดเหตุการณ์ตากใบ เขากับเพื่อนในหมู่บ้านหกเจ็ดคนไปร่วมชุมนุมตามคำชักชวนของเพื่อน ภรรยาก็ไปกับพวกแม่บ้าน ขณะนั้นเธอท้องลูกคนที่ ๕ ได้ ๓ เดือน เธอปลอดภัย ทางการจัดรถมาส่งบ้าน ส่วนเขาถูกจับโยนขึ้นรถไปค่ายทหารอิงคยุทธบริหารและตกเป็น ๑ ใน ๕๙ คนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาเป็นแกนนำการชุมนุม

คิดว่าเขาเลือกจากอายุ ตอนนั้นอายุจะเข้า ๕๐ อยู่ลำดับที่ ๒๕ ในบัญชีจำเลย ซึ่งมีหลายคนอายุ ๔๐ ขึ้นไป

ก่อนมีเหตุการณ์ไม่เคยมีทหารมาที่บ้านเลย  เช้า ๆ ไปตัดยาง หน้านาก็ทำนา อยู่แบบชาวบ้านจริง ๆ  บางช่วงไปรับจ้างก่อสร้างที่มาเลเซีย กลับอาทิตย์ละครั้งหรือสองอาทิตย์ เป็นอยู่แบบนี้

วันเกิดเหตุการณ์เป็นเดือนปอซอ ถือศีลอด ตอนหัวรุ่งไปละหมาดซุบฮิ (ละหมาดเช้า) ที่มัสยิด กลับมานอนจน ๘ โมง เพื่อนที่ไปละหมาดด้วยกันโทร. มา “ไปเที่ยวเจ๊ะเหมั้ย” “ไปทำไม” “ที่หน้าอำเภอคนเยอะ จะไปดูมั้ย” “เออ ไปก็ไป”

เขาโทร. หาหลายคน แบดิงด้วย ตอนนั้นในหมู่บ้านมีรถกระบะซื้อขี้ยางคันหนึ่งเขาล้างสะอาดแล้ว ก็ขึ้นรถไปกันสี่คน ผ่านบ้านแบดิง แบบอกผมไปด้วย รวมหกเจ็ดคนไปคันเดียวกัน

ไปถึงหน้าโรงพักคนเยอะแล้ว ได้ยินเสียงตะโกนว่าให้ปล่อย ชรบ. ที่ตำรวจจับตัวไป  ตอนแรกไม่ได้ขว้างปาเลยแค่ตะโกน “ปล่อยเถอะ อย่าจับคนไม่ผิด”

กับ ชรบ. อยู่ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ หมู่บ้านไหนไม่รู้ ไม่เคยรู้จักกัน แต่เชื่อว่าเขาบริสุทธิ์

แบมะอยู่ข้างหลังไม่เห็นว่ามีคนปิดหน้า ไม่ได้ตะโกนแค่เป็นคนอยากดูอยากเห็น  แม่บ้านก็ชวนเพื่อนมาดู ติดอยู่ในนั้นด้วย แต่ตอนหลังเจ้าหน้าที่กันพวกผู้หญิงออกมา

อยู่จนละหมาดกลางวันก็ปูผ้าทำละหมาดดุฮฺริ (ละหมาดบ่าย) ตรงนั้น  จนบ่ายเขาฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา ถอยไปนอนทับกันอยู่ริมน้ำ น้ำลึกไปต่อไม่ได้แล้ว

อยู่เป็นชั่วโมง ราว ๔ โมงรถยีเอ็มซีมา เขาสั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลังแล้วให้คลานด้วยอกกับเข่าไปทีละคน กำลังจะขึ้นรถ ตีเลย ด้วยพานท้ายปืน ไม้หน้าสาม โดนทีเดียวล้มเลย

เพื่อนสนิทที่โทร. หาเราตายช่วงนั้น เขาโดนยิง น่าจะตายกับที่ แต่นำศพไปค่ายอิงคยุทธฯ

แบขึ้นรถราว ๕ โมงครึ่ง พื้นรถร้อนได้แผลติดตัวชั้นแรกเต็มชั้น ๒ ทับ ถึงสามสี่ชั้น มีหลังคาผ้าใบคลุม รอเต็มรถและรอขบวน ขึ้นก่อนอยู่ข้างล่างร้องช่วยด้วย ๆ หายใจไม่ได้แล้ว มือถูกมัดนอนทับกัน  หิวน้ำ ตัวร้อนจี๋ กางเกงผมเปียกแล้วไปนอนเกลือกกลิ้งบนรถ ขาเปื่อยขาดเป็นริ้ว บางคนใส่โสร่งก็หลุดเหลือกางเกงใน  ตอนแก้บวชเขาให้น้ำ แบ่งกันคนละนิด คนที่เชือกมัดมือหลุดช่วยส่งให้เพื่อน

Image

หนังสือยืนยันการถอนฟ้องของอัยการจังหวัดนราธิวาส ด้วยเหตุผลเพื่อ “...ความปลอดภัยหรือความมั่นคงแห่งชาติ...”

ซึ่งผู้ตกเป็นจำเลยบางคนมองว่า การถอนฟ้องที่ไม่ใช่ยกฟ้อง-ด้วยเหตุผลดังกล่าว ดูเหมือนรัฐให้โอกาส แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนตัดสินไปแล้วว่าชาวบ้านทำผิดจริง  ที่ชาวบ้านต้องการคือการพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะเขาไม่ใช่ผู้ก่อความไม่สงบ หรือผู้สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตามคำอธิบายของทางราชการหรืออคติเชิงลบของเจ้าหน้าที่

รถออกราว ๖ โมงครึ่ง ทหารเฝ้ามาบนรถตะคอก “กูเกลียดมานานแล้วพวกมึง” เราก็คิดว่าทำไมเขาพูดแบบนั้น ทำกับเราแบบนั้น บางคนถูกใส่ถุงดำคลุมหัว

มีจอดระหว่างทาง แต่ตรงไหนไม่รู้  ไปถึงไม่พร้อมกัน คันของผมไปถึงค่ายราว ๕ ทุ่ม

พวกอยู่บนลงก่อน เขายกให้ยืน แล้วลงเอง คนตายอยู่ล่างสุด

ลงรถแล้วอยู่เต็นท์ในสนาม เขาจัดไว้ อยู่ทั้งคืนได้กินมื้อแรกตี ๒ ครึ่ง เขาให้ถาดหลุมไปตักเอง

เช็กชื่ออยู่ตรงนั้น ๒ คืน กลุ่มหนึ่งไปชุมพร ไปสุราษฎร์ฯ แยกทางกัน แบไปอยู่สุราษฎร์ฯ เป็นคุกทหาร ไม่มีหน้าต่าง นอน อาบน้ำ อยู่ในนั้น ๖ วัน เรายังถือบวชค่ำเขาจัดข้าวให้ สอบสวนทีละคน คนละเป็น ๒ ชั่วโมง สอบประวัติ “ไปทำไม” “อยากไปดู ไปซื้อกับข้าวกินแก้บวช ไม่รู้จักใครเลย”

บอกเขาไปว่าจริง ๆ ชาวบ้านเขาไปดูการชุมนุมด้วยความอยากรู้อยากเห็น  การจ้างไม่มี ของแจกไม่มีไม่ได้สักอย่าง

จากค่ายทหารที่สุราษฎร์ฯ เขาให้กลับมาค่ายอิงคยุทธฯ อีกที เราไม่มีชื่ออยู่ในกลุ่มได้กลับบ้าน  เขาเลือก ๕๙ คน ให้อยู่ต่อ ๒ วัน อยู่ ๆ ก็เห็นรถขนนักโทษมาหกคันเขาบอกต้องไปอยู่เรือนจำก่อนกลับบ้าน  จากค่ายอิงคยุทธฯ มาถึงเรือนจำนราธิวาส ๔-๕ ทุ่ม มี ฮ. คุมข้างบน เขากลัวชิงนักโทษ  โดนหกข้อหา ทำลายทรัพย์สิน ชักชวนให้คนมาชุมนุม ฯลฯ อยู่ ๖ วันได้ประกันตัวด้วย ค่าประกันคนละ ๒.๕ แสน คนไม่มีโฉนดที่ดินของตัวเองต้องเช่า สู้คดี ๒ ปี มีทนายมุสลิมมาช่วย จนอัยการเขาถอนฟ้องทั้ง ๕๖ ราย* ไม่ได้คิดจะฟ้องกลับ

*ระหว่างคดี ผู้ต้องหารายหนึ่งถูกลอบยิงตาย รายหนึ่งป่วยตาย
และอีกรายรับสารภาพ คำพิพากษาจำคุก ๘ ปี โดยให้รอลงอาญา
๔ ปี

ส.อบต. ยะลามารวบรวมรายชื่อ คนติดคดีจะได้รับการเยียวยาจิตใจ ให้วัวสองตัว ราคา ๒ หมื่น  ต่อมาให้เช็คเยียวยาจิตใจ ๓.๒ หมื่นบาท จบเท่านั้นจนทุกวันนี้

ตอนแบไปทำงานอยู่มาเลเซีย ทหารเป็นร้อยคน มารถยีเอ็มซี รถหุ้มเกราะ  เขาคงอยากให้เรากลัวแล้วหนี หลายคนหนีไปมาเลเซียแล้วไม่กลับมา ก็บอกว่าเป็นกบฏไป  ลูกชายก๊ะแยนะก็เป็นคนหนึ่งที่หนีไปไม่กลับมาเพราะพอเกิดเหตุที่ไหนทหารจะมาสอบถามว่าวันนั้นอยู่ที่ไหนกับใคร

ผมไม่หนี ยอมตายถ้าผมไม่ผิด  เมื่อผมกลับมาบ้าน ตำรวจก็มา อส. ก็มา เป็นคนอิสลามด้วย เขาถาม “แบมะไม่หนีหรือ” “หนีทำไมล่ะ ไม่หนีหรอก มีอะไรก็ถาม จะบอกให้”

เขาถามว่า “นายมีอุดมการณ์ไหม” เราเป็นชาวบ้านโง่ ๆ เขามาถามแบบนี้ทำไม  “มีสิ ไม่ใช่อุดมการณ์แบกปืนนะ อุดมการณ์หาเงินส่งให้ลูกเรียน หาเช้ากินค่ำ เรื่องจะสู้รบกับใครในหัวเราไม่เคยมี  นายมาไกล มาเป็นทหารเป็นตำรวจที่นี่ก็คงมีอุดมการณ์” ผมบอกแบบนี้ เขาก็เงียบ ผมบอกมีแต่ปืนกระบอกนี้ มีลูกสองนัด (ชี้ที่หว่างขา) เขาหัวเราะ

เขาเข้าใจเราผิด เราไม่ได้ทำอะไร เราไม่ได้ยิงคนเลย แค่จะไปดูไปฟัง นี่ใบบริสุทธิ์ของเรา (เขาแสดงหนังสือแถลงถอนฟ้องคดีของอัยการ)

กับรัฐเรากลัวอยู่แล้ว ชีวิตเราลำบาก จะไปโน่นนี่ก็กลัว ระแวง คิดอยู่ตลอด ไม่รู้วันนี้จะเกิดอะไรขึ้นอีก

Image

Image

ฮัน วัย ๑๙ ปี ลูกชายคนเล็กที่ยังอยู่ในท้องแม่วันเกิดเหตุการณ์ตากใบ

ยี่สิบปีแล้วยังไม่มีคำตอบเลยว่าใครสั่งให้ยิง ใครสั่งให้ขึ้นรถแบบนั้น ไม่มีใครรับว่า “ผมสั่งเอง”

ที่กล้าออกมาเล่าเรื่องนี้ ผมคิดแค่ว่าเราไม่ได้ผิดอะไร ถ้าเราผิดคงไม่กล้าเล่า  ความจริงอยู่ในตัวเรา เกิดขึ้นแบบนั้น จริงอยู่ในตัวเอง  บางคนจะพูดก็กลัวแล้ว “อย่าพูดเลย ๆ ผิดกฎหมาย” แต่ผมไม่กลัว

เหตุการณ์ตากใบเป็นประวัติศาสตร์แล้ว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยเรา รุ่นลูกหลานไม่อยากให้เกิดอีกแล้ว เหตุการณ์แบบนี้ขอให้เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย อย่าเกิดขึ้นอีก  รุ่นลูกหลานเราอย่าต้องเป็นอย่างนี้แล้ว ที่กระทำกับชาวบ้าน ให้จบแค่นี้พอ ให้จบแค่รุ่นของเรา

ที่เราพูดวันนี้ไม่ได้อยากดังอยากอะไร แค่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ให้สุดที่เรา รุ่นลูกหลานข้างหน้าต้องไม่เกิดแบบนี้แล้ว

ก๊ะเยาะ
ภรรยาแบมะ
ตอนนั้นท้อง ๓ เดือน อยู่ในเหตุการณ์ด้วย พอเขาสั่งแยกชายหญิงก็ตกใจว่าสามีที่ถูกเอาตัวไปจะรอดหรือเปล่า เห็นเขาถูกจับโยนขึ้นรถ บางคนมีเลือดด้วย ตอนนั้นพูดไม่ได้เลย จะร้องไห้

ที่อยู่ในท้องเป็นลูกคนที่ ๕  สี่คนอยู่บ้าน ฝากปู่ย่าช่วยดู มีคนมาบอกว่าที่ตากใบยิงกัน และเสียงปืนก็ได้ยินมาถึงหมู่บ้าน มี ฮ. มาบินวนด้วย ลูก ๆ ก็ร้องไห้

กลับบ้านมาก็บอกลูกว่าพ่อไม่รู้ไปไหน ไม่ได้เล่าเขา  วันรุ่งขึ้นพี่ชายสามีไปสืบหา ไปหาที่ไหนก็ไม่มี ไปดูรายชื่อผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิตไม่มี

ประมาณ ๑ สัปดาห์มีการพาคนกลับบ้าน เขาว่าจะมาส่งที่มัสยิด ก็เอาเสื้อผ้าไปรับ แต่พอไปถึงไม่มี ก็ได้รู้ตอนนั้นว่าอยู่ในคุก เจ้าหน้าที่บอกว่าอยู่ในเรือนจำนราธิวาส

หลังถูกจับไปค่ายอิงคยุทธฯ เขาส่งต่อไปสุราษฎร์ฯ เลือกผู้ต้องหา ๕๙ คน มีภูมิลำเนาอยู่ในตากใบทั้งหมดมาเข้าเรือนจำนราธิวาส  เขาใช้หลักเกณฑ์อะไรไม่รู้ เจ้าตัวก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองโดนคดี รู้ตอนเขาบอกว่าต้องประกันตัวคนละ ๒ แสนกว่า

เราจะหาโฉนดหาเงินที่ไหนเพราะไม่มี
พ่อตาบอกว่าจะช่วยเพราะเขาไม่ใช่โจร

ประกันตัวมาอยู่บ้านก็กลัว ๖ โมงเย็นปิดบ้านหมด กลัวทหารมาจับตัวหรือมายิง  กลัวจนหลอนอยู่ประมาณ ๒ เดือน ไม่สามารถทำงานได้ ต้องไปหาหมอพื้นบ้านอิสลามให้ช่วยเรียกขวัญ

หลังรักษาตัวหายแล้วไปทำงานที่มาเลเซียอีก แต่อยู่ไม่ได้ ทหารมาที่บ้านบ่อย มาคอยถามโน่นนี่

คนที่ถูกขึ้นบัญชีแล้ว เวลาเกิดเหตุที่ไหน ทหารจะมาหาอยู่ตลอด บางคนจึงไม่สามารถอยู่บ้าน เขาต้องหนีไปมาเลเซีย

มีครั้งหนึ่งทหารมากันเยอะเป็นร้อย หลังสามีกลับไปทำงานที่มาเลเซียได้ราวเดือนหนึ่ง ประมาณตี ๔ มีคนมาเคาะประตูเรียก ก๊ะ ๆ  เปิดประตูมาเห็นทหารเต็มหมด จะขึ้นบ้าน  เราบอกว่าเดี๋ยวให้พ่อตาแม่ยายมาอยู่ด้วย  เขาเชื่อว่าคนร้ายอยู่ในบ้าน ทหารมาเยอะ พาเครื่องตรวจจับมาค้น เด็ก ๆ ก็กลัว ลูกสี่คนยังเล็ก แต่ค้นแล้วไม่มี บอกทหารว่าสามีอยู่มาเลย์ ถ้าอยากเจอให้มาวันศุกร์ เขาจะกลับมา

บางคนบอกสามีว่าไม่ต้องกลับมาเดี๋ยวเขา
มาจับ เราบอกว่าไม่ต้องหนี เราบริสุทธิ์ 

ทหารคอยมาถามหาจนสามีต้องกลับมารับจ้างกรีดยางอยู่บ้าน รายได้น้อยกว่าก่อสร้างที่มาเลย์หลายเท่า

ตอนนี้ไม่กลัวแล้ว อ่าน อัลกุรอาน ทำให้ใจเข้มแข็งขึ้น นึกถึงพระเจ้าให้ตัวเองมีความกล้า หลังจากนั้นเห็นทหารก็ไม่กลัวแล้ว  เราทำดี เขาทำอะไรไม่ได้ เราไม่ใช่โจรผู้ร้าย

“ตอนเด็ก ๆ ลูกอยากเป็นทหาร อยากเป็นตรวจ ชอบเล่นปืน... หลังพ่อเขาเสียในเหตุการณ์ตากใบ ทหารมาที่บ้าน ถามว่ามีปืนไหม เขาไปหยิบมาทั้งตะกร้าให้ทหารดู”

Image

ก๊ะน๊ะ
แม่ของลูกสองคน
ภรรยาของ มามาสุกรี ลาเต๊ะ
ผู้เสียชีวิตศพแรกจากค่ายอิงคยุทธบริหาร

ก๊ะน๊ะเป็นชาวตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ได้สามีชาวอำเภอระแงะ อยู่กินกันเป็นปรกติสุขตามประสาครอบครัวชาวนา  หลังแต่งงานใหม่ ๆ ทั้งคู่แยกบ้านจากพ่อแม่ไปอยู่บ้านหลังเล็กที่เป็นยุ้งข้าว ก่อนชวนกันไปทำงานร้านอาหารไทยในมาเลเซีย จะเก็บเงินสร้างบ้าน

แต่ช่วงกลับมาอยู่บ้านในเดือนเราะมะฎอน ปี ๒๕๔๗ สามีไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตากใบและเสียชีวิต “เนื่องจากขาดอากาศหายใจ” ตามคำวินิจฉัยของแพทย์  ขณะนั้นเธอตั้งครรภ์ลูกคนเล็กได้ ๔ เดือน

บ้านที่วาดฝันกันไว้ได้สร้างจนเสร็จ แต่มีเพียงเธออยู่กับลูกชายคนเล็กวัย ๑๙ ปี  บ้านยุ้งข้าวกลายเป็นอนุสรณ์แห่งรักที่ยังมีเชื้อข้าวเปลือกของสามีเก็บอยู่
...

ตอนนั้นเป็นเดือนบวชวันที่ ๑๑ สามีได้เงินจากงานรับจ้างในนามา ๑,๒๐๐ บาท แบ่งกับเมียคนละ ๖๐๐ บาท เขาบอกว่าจะไปตลาดตากใบ

ก๊ะบอกว่าจะไปด้วย อยากไปซื้อของเหมือนกัน สามี
บอกมีแต่ผู้ชาย ผู้หญิงคนเดียวจะไปได้อย่างไร ตื๊ออยู่สองสามครั้งเขาก็บอกไปไม่ได้ ๆ ก็เลยฝากสามีซื้อของให้ช่วยซื้อเสื้อรายอ* มาให้ลูกชายคนโต เอาตัวใหญ่หน่อย เด็กโตเร็ว  ก๊ะเองฝากซื้อมะตะบะ ตอนนั้นท้องอยู่ ๔ เดือนอยากกินมะตะบะเจ้าอร่อยในตากใบ

รออยู่ที่บ้านจน ๕ โมงกว่า สามียังไม่กลับมา จน
วันรุ่งขึ้นน้องสาวแฟนซึ่งอยู่อีกหมู่บ้านมาบอกว่าพี่ชายเสียชีวิตแล้ว เธอชวนไปรับศพด้วยกันที่ค่ายอิงคยุทธฯ

ฉันช็อก ทำอะไรไม่ได้เลย ไปด้วยไม่ไหว ขอไปรอ
ที่บ้านแม่ รอน้องรับศพกลับมา เป็นศพแรกที่ได้รับกลับมาจากค่ายทหาร ทำพิธีในค่ำวันนั้นเลย

ตามตัวเขาเป็นจ้ำเหมือนโดนไฟ คอหัก ใบหน้าบวมช้ำเขียวจำไม่ได้ กระเป๋าตังค์ที่ใส่บัตรประชาชนหายไป แต่จำได้ดีจากแหวนที่นิ้ว กับกางเกงที่ใส่

เพื่อน ๆ ที่อยู่กับเขาบอกว่าถูกกระทำตั้งแต่ที่ตากใบ ในมรณบัตรบอกว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ เราว่า เออ ถ้าไม่ขาดอากาศก็ไม่ตาย

ฝังศพแล้วจบเหตุการณ์วันนั้น แต่เหตุการณ์ยังไม่จบ ทหารไปมา ๆ อยู่อย่างนั้นแหละ ทั้งที่บ้านนี้และบ้านเดิมของเขาที่อำเภอระแงะ

ตอนแรกเมื่อแต่งงานกันเขามาอยู่บ้านฉันที่หมู่บ้านนี้ 
เราอยู่บ้านพ่อแม่ ต่อมาแยกเรือนไปอยู่ด้านหลังที่ตอนนี้เป็นยุ้งข้าว เราวางแผนกันว่าจะปลูกบ้านใหม่ จึงพากันไปทำงานในร้านอาหารไทยที่มาเลเซีย ลูกคนโตฝากไว้กับยาย

ครอบครัวเรายากจน ฉันได้เรียนหนังสือแค่ ม. ๓ อยากเรียนต่อแต่ไม่ได้เรียน ไม่มีเงิน  แม่รับจ้างกรีดยาง บอกว่าไม่มีเงินส่งแล้ว  ฉันว่าถ้าไม่เรียนหนังสือก็จะไม่อยู่บ้าน อายเพื่อน เพื่อนเรียนกันหมด ก็เลยไปหางานทำที่มาเลเซีย มีญาติทางพ่ออยู่ที่นั่น ตอนแรกเป็นพี่เลี้ยงเด็กอยู่ ๗ ปี ก่อนได้เข้าทำงานร้านต้มยำ ได้เงินเดือน ๑,๕๐๐ เหรียญมาเลย์ ส่งเงินให้แม่ให้น้องเรียน  พอแต่งงาน
ได้สักปีก็ชวนสามีไปทำงานที่มาเลเซีย หลานแม่เปิดร้านอาหารไทยอยู่ที่นั่น  ทำทุกอย่าง เป็นกุ๊ก เด็กเสิร์ฟล้างจาน เพิ่งกลับบ้านมาในปีที่สามีเสียชีวิต
...

*วันฮารีรายอ
เป็นเทศกาลฉลองหลังละศีลอด ในระหว่างเดือนบวชก็มักเตรียมซื้อข้าวของ เสื้อผ้าชุดใหม่ไว้ใส่ในวันงาน ซึ่งญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน ไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่และรื่นเริงสังสรรค์กันในขอบเขตของศาสนา

Image
Image
Image

เราได้อยู่กินด้วยกันราว ๕ ปี ก่อนแต่งไม่เคยรู้จักกัน ผู้ใหญ่เป็นคนจัดการให้  เขาเป็นคนเงียบ ๆ ไม่พูดมาก ปรกติไม่ค่อยออกไปไหน นอกจากไปกินน้ำชาในหมู่บ้าน วันนั้นเพื่อน ๆ ชวนกันไปซื้อของที่ตากใบ เขาบอกแบบนั้น เรื่องจริงเป็นอย่างไรไม่รู้

ตอนเขาอยู่ถึงหน้านาก็ทำนา ตอนสามีตายหยุดทำปีหนึ่ง จากนั้นก็ทำมาทุกปี จ้างเขาไถ  ส่วนถอนกล้า ดำ เกี่ยว ทำเองหมด เกี่ยวทีละรวง รวบเป็นกำ รวมแล้วขนมาบ้าน ทำเองหมด  หนักที่สุดตอนขนนี่แหละ จะให้พ่อทำพ่อก็แก่แล้ว ขนจากนามาถนน ขึ้นรถมาบ้าน แล้วขนขึ้นยุ้งข้าวอีก

กรีดยางด้วย ๓ ไร่ รับจ้างปลูกหญ้าแฝกของ อบต. ที่รือเสาะวันละ ๓๐๐ บาท  อะไรที่ได้ตังค์ทำหมด ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ เบื่อ คิดมาก ถ้าไปทำงานไม่ต้องคิดอะไร เหนื่อยก็นอน

เราต้องเป็นเสาหลักของลูกเลย ตอนลูกยังเล็กเห็นเพื่อนเล่นว่าว ลูกอยากเล่นด้วย เราไม่มีผู้ชายที่จะทำว่าวให้เขา ลูกงอแง แม่ต้องไปหาไม้ไผ่มาเหลาทำเอง จะขึ้นไม่ขึ้นไม่รู้ ขอให้มีว่าวให้ลูกได้เล่น 

รู้สึกเศร้า น้อยใจอยู่เหมือนกัน แต่พอนึกได้ว่าถึงเวลาก็ต้องจากไป อิสลามสอนให้เราคิดแบบนั้น ก็ทำให้ปลง อยู่ต่อไปได้ ไม่อยากเศร้าไปกว่านั้น

ลูกชายคนโตนิสัยเหมือนพ่อ เป็นคนเงียบ ๆ  ส่วนคนเล็กพูดเยอะ เวลามีงานวันพ่อที่โรงเรียนเขาจะวาดรูปหัวใจมาให้แม่  ตอนนี้อายุ ๑๙ ปี เรียนวิทยาลัยเทคนิคยะลา ปี ๑ ช่างไฟฟ้า

ตอนเด็ก ๆ ลูกอยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ ชอบเล่นปืน ไปเที่ยวงานอะไรก็ซื้อปืน  หลังพ่อเขาเสียในเหตุการณ์ตากใบ ทหารมาที่บ้าน ถามว่ามีปืนไหม เขาไปหยิบมาทั้งตะกร้าให้ทหารดู  พอโตขึ้นเราถามว่าอยากสมัครตำรวจไหม เขาบอกไม่เอา ขี้เกียจ

ลูกคนโตจบ ม. ๖ แล้วไม่อยากเรียน อยากแต่งงาน ก็ให้แต่ง ดีกว่าไปติดยา  ใจแม่อยากให้เรียนต่ออีก อยากให้เรียนสูง ๆ แม่อยากเรียนแต่ไม่มีโอกาส  แต่งงานมีลูกแล้วพากันไปทำงานโรงงานอาหารทะเลที่หาดใหญ่ด้วยกัน ฝากลูกสาวอายุ ๔ ขวบไว้กับย่า
...
ได้เงินเยียวยาแบ่งหกส่วน พ่อแม่เขา ลูกติดของเขาหนึ่งคน ก๊ะกับลูกสองคน  ตอนแรกได้ ๓ หมื่นบาทเป็นค่าทำศพ จากนั้นจ่ายเป็นงวด ๆ ทั้งหมดคิดรวมอยู่ใน ๗.๕ ล้านบาท แบ่งเข้าบัญชีของแต่ละคน

ครอบครัวเราไม่เคยมีปัญหากัน ไม่ได้คิดอะไร ได้เท่าไรเอาเท่านั้น ไม่ได้สนใจตรงนั้น  ส่วนของก๊ะได้มาก็ซื้อสวนยาง ๘ ไร่ ตอนนี้จ้างให้คนอื่นกรีด เก็บเงินไว้ให้ลูกเรียน

ไม่ได้แต่งงานใหม่ งานในครอบครัวต้องทำเองหมด การเลี้ยงลูกต้องทำหน้าที่ผู้ชายไปด้วย  ยังดีที่มีทุน ถ้าเขาไม่เยียวยาคงลำบากกว่านี้ แต่ถ้าเลือกได้ก็ขอเลือกชีวิตแฟนไว้ดีกว่า 

ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ถ้ามีปืนก็ถือว่าสู้รบกัน  แต่นี่เขามีปืน แต่เราไม่มีอะไรเลย เหมือนทำคนบริสุทธิ์อยู่ฝ่ายเดียว

Image

Image

“ตั้งแต่นั้นมาทุกวันศุ ก ร์หลังละหมาดเช้า พ่อจะไปที่กุโบร์ สวดดุอาอ์ให้ลูก ไม่เคยขาดตลอด ๒๐ ปี ”

ก๊ะบ๊ะ
แม่ของลูกสามคน
มูฮำหมัด โซ๊ะ ลูกชายคนโต เสียชีวิตบนรถทหารระหว่างถูกควบคุมตัวไปค่ายอิงคยุทธบริหาร

Image

ก๊ะบ๊ะเป็นเกษตรกรและแม่บ้าน ชาวตำบลศาลาใหม่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอตากใบราว ๑๐ กิโลเมตร สายวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เมื่อรู้ข่าวว่าลูกอยู่ในที่ชุมนุมที่อำเภอ เธอออกไปตามหาแต่ไม่พบ และตัวเธอเองก็ติดอยู่ในที่ชุมนุมด้วย

กระทั่งเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม แยกกลุ่มผู้ชายขึ้นรถส่งตัวไปค่ายทหารอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานี กักตัวผู้หญิงไว้ในโรงจอดรถของ สภ.อ. ตากใบ จนค่ำจึงนำตัวขึ้นรถมาส่งที่ตัวตำบล  ต้องเดินเท้าเข้าหมู่บ้านกลางความมืด ถึงบ้านราว ๔ ทุ่ม แต่เธอไม่ยอมหลับนอน ยังคงสืบข่าวตามหาลูก จนผ่านไป ๒ วันถึงได้พบว่าลูกกลับสู่อัลลอฮ์แล้ว

...
วันนั้นลูกชายไปกับเพื่อน แม่ตามไปดูลูก แต่ไปแล้วไม่ได้เจอลูก เจอเพื่อนบ้านซึ่งไปอยู่ตรงนั้นกันราว ๓๐ คน ทั้งหญิงชาย  พอเจอคนเยอะแม่ก็ติดอยู่ในนั้น จนเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมต่างก็แตกหนี โดนฉีดน้ำและโดนยิง ทุกคนชุลมุนไปอยู่ริมน้ำ มีคำประกาศให้ผู้หญิงขึ้นมารวมกันอยู่ข้างโรงพัก ทราบว่าผู้ชายถูกนำตัวขึ้นรถ

เมื่อเขามาส่งบ้านแม่ไม่นอน คอยถามข่าวคราวจากผู้ใหญ่บ้านซึ่งประสานกับทางการ ทราบว่าลูกอยู่ค่ายอิงคยุทธฯ

รุ่งขึ้นเช้าวันอังคารที่ ๒๖ ทราบว่ามีรายชื่อผู้เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธฯ ก็ไปดูกันแต่ไม่เจอ วันพุธไปอีกทีก็พบว่ามีรายชื่อลูก เขาให้ไปดูศพ  สามีไปดูบอกว่าใบหน้าบวมเขียว จำไม่ได้ แต่จำผ้าเช็ดหน้าสีแดงในกระเป๋าหลังกางเกงยีนได้

หมู่บ้านเรามีเสียชีวิตสามคน รับมาด้วยรถกระบะของครอบครัวเราที่ซื้อมาได้ราว ๑ สัปดาห์  ลูกชายอยากซื้อรถ ก็ช่วยกันกรีดยาง ทำนา เก็บเงินได้ ๓ แสนบาท ซื้อรถกระบะสีแดงมือสองมา  เขายังไม่ทันได้ลองขับ  แล้วพ่อก็ได้ขับรถคันนี้ไปรับศพลูกกลับมาทำพิธีที่มัสยิด อาบน้ำ ละหมาด แล้วนำไปฝังที่กุโบร์บาเดาะมาตี

ตั้งแต่นั้นมาทุกวันศุกร์หลังละหมาดเช้าพ่อจะไปที่กุโบร์ สวดดุอาอ์ให้ลูกไม่เคยขาดตลอด ๒๐ ปี
...

Image
Image
Image
Image

ลูกชายกลายเป็น “คนในดุอาอ์” ซึ่งพ่อจะมาหาเขาทุกเช้าวันศุกร์ ที่กุโบร์บาเดาะมาตี

หลังเหตุการณ์คนในหมู่บ้านกลัวทหารตำรวจกลัวเขามาเอาตัวไป  เราก็รู้ว่าเขาทำผิด แต่ด้วยเขาเป็นเจ้าหน้าที่ก็กลัวเขาหาว่าเราผิด

ตอนนั้นมีลูกชายอีกคนอายุ ๑๔ ปี เรียนปอเนาะอยู่ที่ศาลาใหม่ ก็กลัวมากว่าทางการจะมาเอาตัวไป  ส่วนคนสุดท้องเป็นลูกสาว ตอนนั้นยังอายุ ๙ ปี

ช่วงแรกกลัวมากเพราะเรารู้สึกโดดเดี่ยว  ก๊ะแยนะสะละแม เป็นคนแรกที่ยื่นมือมาช่วยให้เรากล้าพูดความรู้สึกที่แท้จริงให้คนอื่นฟังได้ และรู้ว่าเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว มีเพื่อนพร้อมจะช่วย  แต่ก่อนเรากลัวว่าอยู่คนเดียวแล้วมีทหารมาเราจะพึ่งใครไม่ได้ แต่การมีคนมาช่วยทำให้เราเริ่มมีความกล้า

ตอนหลังคุณโซรยา จามจุรี และหมอเพชรดาวมาคุณอังคณา นีละไพจิตร ก็มา บอกว่าถ้าอยากได้ความยุติธรรมกลับมา เราต้องกล้าสู้เพื่อความเป็นธรรม  เกิดความกล้าขึ้น เพราะรู้สึกว่ามีคนยื่นมือเข้ามาช่วย นานเหมือนกันกว่าจะกล้าพูด

บางคนกลัวว่าคนนอกเข้ามาจะนำทหารตำรวจเข้ามาในหมู่บ้าน แต่เราไม่คิดอย่างนั้น  คิดว่าเราพูดความจริงมีแต่พูดดี ๆ ไม่ว่ากล่าวให้ร้ายเขา เราไม่ว่ากล่าวทหารตำรวจ แต่ว่าไปตามหลักฐาน เราจึงกล้าพูด  ถ้าเป็นเรื่องจริง ไม่กลัว

ยี่สิบปีแล้ว ยังไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบ ตอนนี้มีหลายหน่วยงานช่วยเรียกร้องความยุติธรรม แต่ลึก ๆ ในใจเรายังไม่แน่ใจว่าจะมีใครมารับผิดชอบต่อเรื่องนี้

อยากให้มีคนออกมารับผิดชอบต่อเรื่องนี้ อยากได้ยินคำขอโทษจากคนที่ทำ อยากรู้คนร้ายที่แท้จริง
...
เหตุการณ์ที่แท้จริงในวันนั้นจะมีเบื้องลึกอย่างไร ไม่ทราบ แต่ลูกเป็นเด็กเรียบร้อย ตอนนั้นเขาอายุ ๑๙ ปี เรียนปอเนาะจบชั้น ๑๐ เพื่อนชวนไปเรียน กศน. เจ๊ะเหบอกว่าเผื่อสอบเป็นลูกจ้างราชการได้

ช่วงนั้นเขาเป็นเด็กที่ผู้ใหญ่บ้านสอนงานอยู่ บอกว่า เมื่ออายุถึงจะให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพราะเป็นเด็กเรียบร้อย ผู้ใหญ่ส่งเสริมเขา

เรารู้ว่าอายุขัยของคนพระเจ้ากำหนดมาแล้ว แต่ว่าการตายโดยผู้อื่นกระทำมันไม่ถูกต้อง ตายด้วยความทรมานจากการซ้อนทับกัน เหมือนตั้งใจทรมานคนให้ตาย เด็กคนนี้ถ้ายังอยู่เขาทำประโยชน์ได้อีกเยอะ

อยู่ด้วยความอดทน ดุอาอ์ให้ลูกตลอดห้าเวลา ดุอาอ์ขอให้เราไม่คิดมาก ให้เราเข้มแข็งและอยู่ได้ ไม่ยึดกับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว

ได้รับเงินเยียวยา ๗.๕ ล้านบาท แต่มันไม่คุ้มกับที่ต้องเสียลูก

เมื่อรู้ว่าจะให้เหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์เราก็ยินดีเมื่อเป็นประวัติศาสตร์เด็ก ๆ รุ่นใหม่ก็ได้รู้เรื่องราว  อาหรับหรือที่ไหน ๆ เขาก็มีประวัติศาสตร์ เวลาไปตามพิพิธภัณฑ์เราก็ได้เห็น แม่ชอบแบบนั้น ชอบศึกษา  เรื่องฉนวนกาซาก็ได้ยินเขาพูดกัน แต่ไม่เข้าไปดู จะสะกิดแผลในใจถ้าเห็นคนทำร้ายกัน  วิดีโอตากใบก็ไม่เคยดู ดูไม่ได้

เขาตายโดยไม่มีความผิด ถ้าลูกแม่มีบัญชีว่าไปยิงคน เป็นผู้ร้าย แล้วคุณมายิงก็จะไม่รู้สึกถึงขนาดนี้ แต่นี่คุณทำให้คนบริสุทธิ์เสียชีวิต
...

เสื้อตัวโปรดของมูฮำหมัดที่ครอบครัวเก็บไว้ ๒๐ ปี ได้รับการนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “ลบไม่เลือน ๒๐ ปี ตากใบ” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน ระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม - ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗

Image

Image

“ตอนนั้นน้องอายุ ๑๖ ปี อยากได้เสื้ออิสลามลายวงกลมและสี่เหลี่ยมเล็กๆ สีฟ้าแต่ไม่มีเงินซื้อ แม่ก็ไม่มีตังค์ ก๊ะเป็นคนซื้อให้ ราคา ๗๐๐ บาท ก๊ะจำได้ ”

ก๊ะปีน๊ะ
พี่คนโตในพี่น้อง ๑๐ คน ๖ คนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตากใบเสียชีวิต ๑ คน และอีกคนตกเป็นผู้ต้องหา

เช้าวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ก๊ะปีน๊ะออกไปจ่ายตลาดกับน้องสาวคนที่ ๔ และ ๕ อย่างที่ทำอยู่ประจำทุกวัน แต่วันนั้นเห็นคนเยอะเลยแวะไปดู ทั้งสามสาวจึงพากันติดอยู่ในที่ชุมนุม

หลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมถึงได้รู้ว่าผู้ชายในบ้านถูกจับตัวไปสี่คน

น้องชายคนที่ ๒ ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี  น้องชายคนที่ ๓ ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน  น้องชายคนที่ ๖ เสียชีวิตบนรถระหว่างถูกควบคุมตัว  ส่วนสามีของเธอได้รับบาดเจ็บที่เท้าขวา

ขณะอยู่ในเหตุการณ์ ก๊ะปีน๊ะในวัย ๓๔ ปีกำลังตั้งครรภ์ อายุของลูกคนโตที่เจริญวัยไปแต่ละปีเท่ากับช่วงเวลาที่เธอสูญเสียน้องชายชื่อ อาบีดี กาบากอ
...
เช้าวันนั้นน้องนอนอยู่ เพื่อนมาปลุก ชวนกันออกไป เมื่อรู้ว่ามีเหตุการณ์ที่ตากใบก็ยังไม่รู้ว่าน้องอยู่ที่นั่นไหม มารู้เมื่อเพื่อนบ้านบอกว่ามีรายชื่อน้องชายในผู้เสียชีวิต ในวิดีโอมีรูปน้องถูกกระทำ เห็นชัดคนที่ถูกลากตัวไปนั่นคือน้องฉัน

ส่วนก๊ะนั้นจะไปซื้อของที่ตลาดตากใบ เห็นคนเยอะเลยแวะไปดู คุยกับเพื่อนก็ทราบว่าจะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ ชรบ. หกคนซึ่งไม่ได้รู้จักส่วนตัว

ก๊ะไปยืนอยู่หลัง ๆ ได้ยินว่าเขาจะปล่อยบ่าย ๓ ก็นั่งรอ แต่กลายเป็นปล่อยอาวุธกับแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำใส่ก่อน หลังจากนั้นก็ยิง ชุลมุน หนีไปไหนไม่ได้ ไม่รู้ใครอยู่ตรงไหน ก๊ะหนีลงไปขอบน้ำ

Image

มีช่วงที่เขาหยุดยิงพักหนึ่ง ผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อแล้วหมอบ ผู้หญิงถูกเรียกขึ้นไปอยู่ในโรงจอดรถข้างโรงพัก ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ข้างล่างแล้ว

สักพักได้ยินเสียงไชโยของฝ่ายเจ้าหน้าที่เหมือนว่าเขาชนะแล้ว

หลังจากนั้นนำผู้ชายขึ้นรถไปค่ายอิงคยุทธฯ เจ้าหน้าที่มาเล่าให้พวกผู้หญิงฟังว่าซ้อนกันเจ็ดชั้น

ตอนหัวค่ำก็บอกผู้หญิงว่าให้เตรียมตัวจะส่งกลับบ้านมาลงรถที่มัสยิดศาลาใหม่ เดินเข้าหมู่บ้านเอง ๒ กิโลเมตร ถึงบ้านตอน ๔ ทุ่ม  วันรุ่งขึ้นถึงรู้ว่าน้องชายเสียชีวิต รู้เร็วเพราะน้องมีบัตรประชาชนอยู่กับตัว

สามีก็อยู่ในเหตุการณ์ แต่ตอนแรกยังไม่รู้ เขาออกไปทำงาน แต่ไม่รู้ว่าไปไหนต่อ คืนนั้นก็ไม่กลับบ้าน  เขาได้รับบาดเจ็บ โดนนอตบนพื้นรถทิ่มแถวตาตุ่ม เพราะนอนหมอบอยู่ใต้สุด รักษาอยู่ค่ายอิงคยุทธฯ ๒ สัปดาห์ได้กลับบ้าน ไม่มีคดี แต่เดินขาเป๋อยู่นาน

น้องชายอีกคนที่โดนคดีถูกส่งตัวมาเรือนจำนราธิวาส ๖ วัน ประกันตัวออกมาสู้คดี แล้วก็พ้นคดี

เพื่อนบ้านที่เห็นใจปลอบใจเรา  ในหมู่บ้านมีคนพุทธหนึ่งครัวเรือน อยู่ถัดไปจากบ้านแม่ ช่วงนั้นรู้สึกว่าเขากลัวเรา เขาก็คิดว่าเรากลัวเขา เพราะส่วนราชการก็เป็นคนพุทธ แต่เขาก็ยังออกไปไหนมาไหนอยู่แถวนี้ เจอกันก็คุย แต่ความรู้สึกลึก ๆ เหมือนมีเส้นบาง ๆ มากั้นว่าต่างระแวงกัน

หลังเหตุการณ์ก๊ะกลับไปทำงานรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าที่มาเลเซีย  คนแถวนี้ทั้งหมู่บ้านเย็บผ้าเป็นตั้งแต่เด็ก ๆ รุ่นพี่สอนให้ตัดเย็บ กลับมาตอนคลอดแล้วไม่ได้ไปอีกหลังจากมีลูก

อยู่บ้านรับจ้างกรีดยางของเพื่อนบ้าน ทำนาทำสวนของตัวเอง มีรถคันหนึ่งรับจ้างขนของ แต่ตอนนี้รถเสีย

ปรกติไม่ค่อยได้ออกไปไหน ไม่รู้ว่าใครมองเราอย่างไร  เราผ่านเหตุการณ์ตากใบมาเขาต้องคิดอยู่แล้วแต่เราบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้คิดอะไร อยู่ของเราไป เราคือผู้บริสุทธิ์ ไม่ทอะไรผิด ได้เล่าเหตุการณ์ตากใบให้ลูกคนโตฟัง คนเล็กยังไม่เล่า 
...

Image

Image

แบดิงถอดเสื้อกรีดยางให้ดูรอยแผลกระสุนใต้ราวนมเฉี่ยวซี่โครงทะลุหลัง จากนั้นร่างกายเขาไม่แข็งแรงดังเดิม ต้องเลิกทำงานรับเหมาก่อสร้างที่ประเทศมาเลเซีย มากรีดยางหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เลี้ยงชีพอยู่ในหมู่บ้าน

“ถ้าจะให้เจ็บแบบนี้แล้วจ่าย ๕ แสน ผมไม่ยอมให้เจ็บดีกว่า”

แบดิง
ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ

“บางคนไม่อยากพูดถึง พูดออกมาไม่ได้ มันเสียใจ แต่ผมพูดได้ไม่เสียใจ”

ในช่วงเกือบ ๒๐ ปีมานี้ แบดิงเล่าเหตุการณ์วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ มานับครั้งไม่ถ้วน เมื่อมีคนถาม ไม่ว่าจะเป็นทหาร ภาคประชาสังคม ผู้เข้ามาให้ความช่วยเหลือเยียวยาสื่อมวลชน ทั้งหนังสือ ทีวี ออนไลน์

แบดิงเป็นมุสลิม จบชั้นประถมฯ ๔ จากโรงเรียนในหมู่บ้านคนพุทธ มีเพื่อนชาวพุทธเยอะ จึงพอรู้ว่าช่วงนั้นคนพุทธมองคนมุสลิมอย่างไร

ก่อนนั้นเขาเป็นช่างทำบ้าน รับเหมาก่อสร้าง พาทีมลูกน้องไปทำงานที่มาเลเซีย  หลังได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ตากใบไม่ได้ไปทำงานมาเลเซียอีก มาทำนาอยู่บ้าน กรีดยางของตัวเอง ๔๐๐ ต้น เก็บขี้ยางขายกิโลกรัมละ ๒๐ กว่าบาท

“ไม่มีความเสียใจและไม่มีความกลัว  ลูกแปดคนออกเรือนไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรต้องห่วง”
...
“ปล่อยคนไม่ผิด ๆ”
(แบดิงเล่าเหตุการณ์วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบและหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส)

ราว ๑๐ โมงกว่า มีเสียงเรียกร้องว่าให้ปล่อย ชรบ.

“อัลลาฮุอักบัร”

คำนี้มีความหมายว่าอัลลอฮ์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้ยินแล้วมีความฮึกเหิม  ตะโกนเสียงดัง บอกถ้าไม่ปล่อย ชรบ.ไม่กลับ  มีการเอาก้อนหิน อิฐแดงที่หักเป็นท่อน ๆ ปาเข้าไปใน สภ.อ.

ก่อนนั้น ชรบ. หรือ “ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน” หกคนของหมู่บ้านโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบถูกจับเพราะมีคนมาปล้นปืนจากเขา แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นพวกเดียวกัน เลยมีคนประท้วงเป็นพัน รวมตัวกันอยู่หน้าอำเภอ หน้าโรงพัก ในสนามเด็กเล่น ทั้งผู้ชาย เด็กผู้หญิง คนแก่

ราว ๑๑ โมง เขายิงปืนขึ้นฟ้า เจ้าหน้าที่ให้การตอนหลังว่าเขายิง ๒๐๐ นัด ระเบิด ๒ ลูก  ความจริงมีปืนสั้น เอชเค ปืนสงครามด้วย อาจเป็นพันนัด แต่ชาวบ้านก็ยังตะโกนอยู่ บอกถ้าไม่ปล่อยไม่กลับ

Image

จนถึงช่วงละหมาด เราก็รองผ้าทำละหมาดกันตรงนั้น

ราวบ่าย ๓ เขายิงมาแนวราบ ใครนอนไม่โดน ถ้ายืนโดน ผมเห็นช่องว่างในสนามเด็กเล่น มีอิฐแดงก่อเป็นกระถางดอกไม้ จะวิ่งไปหาที่บังความปลอดภัย  ผมวิ่งไปตรงนั้น ตอนนั้นแหละผมโดนยิง คนยิงอยู่หน้าประตูทางเข้า ยิงด้วยปืนสั้น

เขาว่ามีภาพผมในวิดีโอด้วย วันนั้นผมใส่กางเกงขาว เสื้อแดง ผมขาวแล้วตอนนั้นอายุ ๔๙ ปี โดนยิงเข้าหลังสลบเลย มีแผลหัวแตกด้วย เจ้าหน้าที่ลากไปหน้า สภ.อ. นำขึ้นรถตู้ไปกับผู้บาดเจ็บสี่ห้าคน ไปรู้สึกตัวตอนมืดแล้วที่โรงพยาบาล หมอบอกให้ยกมือถอดเสื้อยืดสีแดงเลือดโชกท่วมตัว

ส่วนคนที่ถูกจับ เขาให้ถอดเสื้อมัดมือตัวเอง ขนไปกับรถ ๒๕ คัน ในหนังสือบอกว่า มีซ้อนกันถึงเจ็ดชั้น เขาอยากให้ตายให้หมด เจ้าหน้าที่ทำให้ขาดอากาศหายใจ

สามีก๊ะยะห์ที่ตาย ตอนขึ้นรถยังดีอยู่ ไม่บาดเจ็บทุกคนเห็น เขาเดินขึ้นเอง ไปกลางทางโดนยังไงไม่รู้ คนที่อยู่รถคันเดียวกันบอกว่าตามตัวมีรูด้วยสามแผล
...
(มองกลับไปคิดว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ?)
ถ้าปล่อย ชรบ. ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น

พูดถึงก็รู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น  เมื่อไปขอความเป็นธรรมกลายเป็นว่าเราเป็นคนร้าย เหมือนรัฐยื่นข้อหาให้เราได้ข้อหากลับมาอีก เหมือนไม่มีความเป็นธรรมต่อเรื่องนี้ 

ไม่อยากให้จับแบบหว่านแห ต้องรู้ว่าคนนี้ทำผิดอะไร อย่าจับคนที่บริสุทธิ์ไป  คนร้ายมีไหมบอกไม่ถูก ถ้าคนในหมู่บ้านรู้จักหมด แต่ที่อื่นบอกไม่ได้  อาจมีคนร้ายอยู่จริงสักคน แต่เขาหนีไปแล้ว พวกที่ถูกกวาดจับไปทั้งหมดต้องรับเคราะห์ อยากให้สืบสวนสอบสวนให้ดีไม่อยากให้จับแพะหรือคนบริสุทธิ์ไป

เหตุการณ์ไฟใต้มีผู้ร้ายจริง แต่ก่อเหตุแล้วหนีไปแล้วคนที่อยู่นี่ไม่รู้เรื่อง แล้วคนที่ถูกจับคือคนที่ไม่รู้เรื่อง วันนั้นบางคนแค่ผ่านทางแวะดูเหตุการณ์ก็ถูกจับด้วย

ตอนนั้นโกรธ แต่โกรธไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้  ความรู้สึกตอนนี้คือปลง  แต่คนที่ทำต้องรับผิดชอบ และจะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

(เพื่อนที่โทร. มาชวนไปตากใบวันนั้นเป็นใคร ?)
บอกต่อกันมา คนเรียกน่าจะเป็นเพื่อน ๆ ของ ชรบ.นั่นแหละ อยากให้ไปช่วยเพื่อนเขา บอกว่าจะมีการแจกของหวานเดือนเราะมะฎอน  ในเหตุการณ์ตากใบไม่มีคนพุทธเลย ชรบ. เป็นอิสลาม เขาไม่ได้โทร. ชวนคนพุทธ หลานคนที่ขับรถกระบะพาเราไปก็ได้รับบาดเจ็บ มือหักยืดเหยียดไม่ได้

(เมื่อไปถึงไม่มีของหวานแจก ทำไมยังอยู่ต่อ ?)
เขาไม่ให้ออกตั้งแต่ ๑๑ โมง เจ้าหน้าที่ปิดทาง เข้าออกไม่ได้ จะกลับก็กลับไม่ได้แล้ว  รถที่ขี่ไปก็จอดอยู่หน้าอำเภอทั้งสองด้าน เอาออกมาไม่ได้ ต้องกลับไปเอาวันหลัง

เจ้าหน้าที่เริ่มฉีดน้ำ บางคนใช้ร่มกัน แก๊สน้ำตาก็มากับน้ำ ผมมีเสื้อกันฝนติดตัว ช่วงเช้าราว ๙ โมงฝนตกบ่าย ๓ โมงตอนถูกยิงฝนตกหนัก น้ำเต็มถนนหน้า สภ.อ.

ตอนนั้นคนที่อยู่ข้างหน้าหายไปเลย ปิดหน้าตาไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่เขาบอกว่าเป็น “หมาตำรวจ” อยู่ข้างหน้าระดมผู้ชุมนุม ตะโกนปลุกระดมให้ร้องตาม เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิงตามเขาไป  หลังจากนั้นก็หายหมด ไม่รู้ไปไหน พอคนมีอารมณ์ร่วมก็หายไป ชาวบ้านยังเรียกร้องต่อ พอเจ้าหน้าที่ปราบก็ปราบคนที่เหลืออยู่นี้ เป็นคนที่ไม่รู้อะไร แค่บอกให้ปล่อย ชรบ.  ถ้ารู้ว่ามาแล้วจะตาย จะเกิดเหตุแบบนี้ ไม่มีใครไปชุมนุม

ผ่านไปหลายปี ขึ้นศาลหลายครั้ง กว่าจะได้ค่าเยียวยาผู้บาดเจ็บ ๕ แสน เจ็บหนัก ๓-๔ ล้าน คนเสียชีวิต ๗.๕ ล้าน แต่ถ้าจะให้เจ็บแบบนี้แล้วจ่าย ๕ แสน ผมไม่ยอมให้เจ็บดีกว่า

(ถึงตอนนี้อยากให้ทำอย่างไร ?)
ทำให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาเมื่อคิดว่าเป็นโจรก็ไปไล่จับ เจ้าตัวยังไม่รู้ตัว เห็นว่าเป็นอิสลามก็จับเลย คนพุทธ ผ่านไปมาไม่ว่าอะไร  คนอิสลามถือมีดพร้าจอบเสียมก็ไม่ได้

Image

Image

ก๊ะแยนะ
หญิงม่ายที่ลูกชายตกเป็นผู้ต้องหาคดีตากใบ ผู้ริเริ่มจัดงานรำลึกเหตุการณ์และต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาคดีตากใบและผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์

ก๊ะแยนะเป็นชาวบ้านคนแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกรณีตากใบ ต่อมาสามีเธอถูกลอบยิงตายในสวนหลังบ้าน เธอเคยถูกทหารเรียกไปรายงานตัวเนื่องจากถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ และเคยถูกเจ้าหน้าที่บุกค้นบ้านสองครั้ง ทั้งหมดนี้ชาวบ้านเชื่อว่าเหตุมาจากการเป็นแกนนำของเธอ ปัจจุบันเธอได้ยุติงานทุกอย่างเนื่องจากความเจ็บไข้ มีชีวิตประจำวันอยู่กับการสวดภาวนา “เวาะซือแบะ” ซึ่งถือไว้ในมือแทบตลอดเวลา

“พอถึงวันที่ ๒๕ ตุลาคมก็นึกถึงเหตุการณ์ นั่นแหละจึงจัดงานรำลึกมาทุกปี ไม่อยากให้คนลืม”

ก๊ะแยนะเป็นคนที่ทุกคนรู้จักเมื่อพูดถึงเหตุการณ์ตากใบ 

เธอไม่ใช่แกนนำ ไม่ใช่นักกิจกรรม แต่เป็นหญิงชาวบ้านธรรมดา เป็นแม่ของลูกแปดคน กับลูกบุญธรรมสามคน ก่อนนั้นเธอทำงานเย็บผ้าและทำนา จนลูกชายคนหนึ่งตกเป็นผู้ต้องหาเหตุการณ์ตากใบ เธอจึงลุกขึ้นมาต่อสู้คดีให้ลูกชายและผู้ต้องหาทั้ง ๕๘ ราย ซึ่งมีคนที่เป็นญาติและเพื่อนบ้านก๊ะแยนะ ในตำบลไพรวันถึง ๑๗ คน รวมทั้งเรียกร้องค่าเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตทั้ง ๘๕ คน โดยเริ่มจากการได้รู้จักกับทนายรัษฎา มนูรัษฎา ซึ่งก๊ะแยนะได้รับเป็นผู้ประสานงานให้ และช่วยเป็นล่ามเนื่องจากจำเลยส่วนใหญ่พูดไทยไม่ได้  นอกจากนี้ก๊ะแยนะเป็นคนแรกที่เริ่มจัดงานรำลึกเหตุการณ์ในวันที่ ๑๑ เดือน เราะมะฎอน หรือไม่ก็วันที่ ๒๕ ตุลาคมของทุกปี จนกระทั่งเธอล้มป่วยเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว  เธอยังพูดจาสื่อสารได้รู้เรื่องดี แต่ไม่สามารถลุกจากเตียงได้

“พูดไม่ค่อยสวยแล้ว”

คำพูดจากความพยายามของก๊ะแยนะ เป็นความพยายามจะพูดไทยของหญิงมลายู และความพยายามที่ฝืนจากภาวะโรคอัมพฤกษ์

ความหมายในคำพูดคือออกตัวว่าพูดไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำ หลังจากล้มป่วยเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตกมาเกือบ ๒ ปีแล้ว

แต่ความจำยังแจ่มใสและสื่อสารโต้ตอบได้รู้เรื่องทั้งหมด

โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ตากใบ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เธอบอกว่ายังจำได้ดีที่สุด
...

วันเกิดเหตุการณ์ตากใบ ก๊ะจำได้ไม่เคยลืม อยู่ในเหตุการณ์ด้วย

ปรกติทำงานเย็บผ้า ถึงฤดูทำนาก็ทำ นอกนั้นก็เย็บผ้า รับจ้างเย็บผืนละ ๑๒๐ บาท ได้วันละ ๑๐ ผืน วันนั้นที่จริงก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรหรอก ก๊ะออกไปหากับข้าวที่ตากใบ ไปซื้อด้ายมาทำงานเย็บผ้า

พอถึงสามแยกเห็นทหารเยอะ ประมาณ ๙ โมงกว่า ๆ มีคนบอกว่าเขาชุมนุมกัน เราก็เลยขอเข้าไปดู ทหารก็ให้เข้าไปได้ยินเขาบอกว่าชาวบ้านมาขอความยุติธรรมให้หกคนที่ถูกจับ

พอพวกเจ้าหน้าที่ยิงปืน ก๊ะจะกลับก็ออกมาไม่ได้ทหารไม่ให้ออก ต้องอยู่ตรงนั้น แถวหน้าเสาธงของ สภ.อ. หลังจากนั้นหนีลงไปริมน้ำ ก๊ะก็หมอบหลบอยู่ใต้เท้าของพวกผู้ชาย เสียงปืนดังมาก  สักพักทหารสั่งให้ผู้หญิงยืนขึ้น ก๊ะก็ยืนขึ้นและตะโกนบอกว่าผู้หญิงมาทางนี้ ทหารจะต้องไม่ยิงผู้หญิง หยุดได้สักพักก็ได้ยินเสียงปืนยิงเข้าหาพวกผู้ชายอีกรอบ  พวกเราผู้หญิงก็ตะโกนบอกว่า พอแล้ว เด็ก ๆ ที่อยู่ข้าง ๆ เราร้องไห้ พร้อมกับตะโกนบอกให้ทหารพอแล้ว

ลูกสาวถูกก้อนหินที่หัว หัวแตกเลือดออก เห็นเด็กถูกทหารจับและตี แล้วก็เห็นคนแก่คนหนึ่งถูกทหารทำร้ายเสียชีวิตที่นั่นเลย

เห็นทหารยิงปืนกราด ยิงลงพื้นดินเลย ไม่ได้ยิงขึ้นฟ้าคนก็นอนกันเต็ม ผู้ชายถอดเสื้อ  นอนอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงเขาก็หยุด มีทหารมาบอกให้ผู้หญิงกับเด็กอยู่ด้วยกัน  ทุกคนเงียบกันหมด ก๊ะก็ยืนขึ้นบอกว่า จะให้ยืนขึ้นยังไง พวกคุณยิงปืนกันอยู่  ทหารก็เลยออกมานำทางไป จนค่ำทหารให้ขึ้นรถมาส่งที่ศาลาใหม่

ก๊ะกลับมาบ้าน ไม่ได้นอนเลย ลูกชายอายุ ๒๒ หายไป ไม่รู้ว่าเขาไปไหน อยู่ ๆ ก็ได้ยินมาว่าถูกพาตัวไปปัตตานีแล้ว  วันพุธที่ ๒๗ ไปอีก ถึงกลางทางลูกชายโทร.มาบอกว่าอยู่ดี ได้กินข้าว

มีญาติที่เป็นนักศึกษา ม.อ. โทร. มาถามว่ามีญาติเราตายหรือถูกจับบ้างไหม ก๊ะบอกว่ามีเยอะเลย คนตำบลศาลาใหม่ ตำบลไพรวัน เป็นญาติกันทั้งนั้น เขาให้เบอร์โทร. ปรึกษาทนายรัษฎา มนูรัษฎา แล้วนัดเจอกัน เขามาหาที่ศาลาใหม่

ก๊ะไม่รู้จักทนาย ไม่เคยขึ้นศาลมาก่อน เป็นคนชอบเรียนรู้ ออกไปทำงาน ติดต่อกับคนข้างนอกทำให้พูดไทยได้ ก็ได้ช่วยเป็นล่ามให้ชาวบ้านที่พูดไทยไม่ได้

ทางการตั้งข้อหาเฉพาะคนในตากใบ ๕๙ คน เพราะเหตุเกิดที่ตากใบ เขาเชื่อว่าแกนนำต้องอยู่ที่ตากใบ ส่วนคดีคนตาย ๗๘ คน เราฟ้องกลับ จนได้รับค่าเยียวยา

สมัยก่อนลำบากมาก ต้องไปขึ้นศาลที่สงขลา เงินไม่มีเราก็ไป วันหนึ่งก๊ะพาผู้สูญเสียไปขึ้นศาล ฝ่ายนั้นว่า “เอ๊ะ พวกคุณนี่ยังไง ได้เงินเยียวยา ๔ แสนนี่ยังไม่คุ้มเหรอ” ก๊ะก็หน้าแดง ลุกขึ้นพูดเลย “ทำไมพวกคุณคิดว่าเยอะแล้วเหรอ ๔ แสนนี่ คนที่มีลูก ๑๐ คนล่ะ ลูกจะเรียน ไม่มีพ่อแล้วจะทำอย่างไร ทีตำรวจตายวันนี้ พรุ่งนี้จ่ายเลย ๓ ล้าน”

เรื่องตากใบไม่มีใครเอา ทุกคนก็กลัว แต่ฉันไม่กลัว

ก๊ะไม่รู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันเกิดจากอะไรและไม่รู้จะโกรธใคร  หลังเกิดเหตุการณ์ตากใบมีเจ้าหน้าที่มาค้นบ้าน ก็ไม่เจออะไร แต่เริ่มโกรธตอนที่เขาเอา ฮ. มาบินวนรอบหมู่บ้านตอนกลางคืน เราก็เริ่มกลัว ชาวบ้านก็กลัว

ลูกเราอยู่ในเหตุการณ์ตากใบด้วยสองคน ผู้ชายติดคดี เราสู้คดีจนพ้นคดี แต่ตอนนี้ไม่อยู่บ้านแล้ว เขาว่ากลัวไม่ได้อยู่มา ๘ ปีแล้ว  อยู่ที่ไหนไม่รู้ ติดต่อได้ แต่กลับมาไม่ได้ สามีก็ถูกยิงในเหตุการณ์ไฟใต้

ผู้หญิงที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่ใช่เราคนเดียว มีหลายคน แต่เวลาทำอะไรฉันคนเดียว คนอื่นกลัว

ทำมาทุกอย่าง วันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ จัดงานวันที่ ๒๕ ตุลาคมทุกปี บางปีเราทำวันที่ ๑๑ เดือนเราะมะฎอน ชวนคนมาละหมาดดุอาอ์ ทำบุญให้อัลลอฮ์ช่วย ทำเรื่องคดีด้วย ขึ้นศาลด้วย ทำเรื่องตากใบมาเกือบ ๒๐ ปี ไม่เคยกลัว เรามองไปข้างหน้า

งานรำลึกเหตุการณ์ตากใบจัดมา ๑๘ ปี ก่อนหน้านี้เราเป็นคนทำ ตอนหลังทำไม่ได้แล้ว ไม่สบาย ให้คนอื่นเขาจัดต่อไป ตอนนี้พูดไม่ค่อยดี บางวันพูดไปก็มีคนหัวเราะ คนไม่สบายนี่พูดไม่ค่อยเป็น

พอถึงวันที่ ๒๕ ตุลาคมก็นึกถึงเหตุการณ์ นั่นแหละจึงจัดงานรำลึกมาทุกปี ไม่อยากให้คนลืม

อยากให้เป็นประวัติศาสตร์ ให้ลูกหลานได้จำไว้ว่าเคยมีเหตุการณ์ตากใบ

อยากให้เกิดความเป็นธรรมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาพูดแต่ว่าประชาชนทำผิดต้องถูกลงโทษ แต่นายไม่เคยมีความผิด มีแต่ผิดพลาดเท่านั้น

และอยากฝากให้น้อง ๆ คนรุ่นหลัง หรือคนที่เรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือที่ไหน ๆ เวลาอ่านหนังสือหรือรับรู้เรื่องตากใบ ก็ให้รู้ว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ละคร
...

*หมายเหตุ คำสัมภาษณ์ก๊ะแยนะ บางส่วนจาก “เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน” โดย เอกรินทร์ ต่วนศิริ. ใน ๒ ปีตากใบ ชีวิตที่ต้องการคำตอบ, ๒๕๔๙. และ “ก้าวที่กล้าเพื่อความยุติธรรมของ แยนะ สะแลแม” โดย โซรยา จามจุรี. ใน “ตากใบ” ในอากาศ ความทรงจำที่ปลิดปลิวจากความรับรู้, ๒๕๕๐.

“ผมร่วมเหตุการณ์ตากใบ ไม่เสียใจเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้น พระเจ้าประทานให้ผมมากกว่าบททดสอบที่ได้ร ับ”

ตอเล็บ
ผู้ร่วมเหตุการณ์ตากใบ
และรอดชีวิตจากการขนคนซ้อนทับกันบนรถบรรทุก
ปัจจุบันเป็นข้าราชการในจังหวัดนราธิวาส

เมื่อปี ๒๕๔๗ ตอเล็บเป็นคนหนุ่มเพิ่งจบการศึกษาจากอาหรับ เพิ่งแต่งงาน ยังไม่ทำงาน เขาไปอยู่ในเหตุการณ์ตากใบจากคำชวนของเพื่อนคนหนึ่ง และเขายังไปชวนเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านต่ออีกหลายคน  อาจด้วยเหตุนี้หรือไม่ทางการจึงคัดให้เขาอยู่ในกลุ่ม “สีเทา” ที่ต้องเข้าค่ายฝึกอบรมเกือบ ๒ เดือน เป็นกลุ่มกลางระหว่างกลุ่มที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี กับกลุ่มที่ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน

หลังได้รับการปล่อยตัว เขาไปสอบเข้าเป็นข้าราชการ ทำงานมากระทั่งปัจจุบัน เขายืนยันว่าไม่เสียใจและไม่ปิดบังว่าเคยร่วมเหตุการณ์ตากใบแต่ไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานและหน่วยงานต้นสังกัดหรือไม่ จึงยังไม่ขอเปิดหน้า


ผมเหมือนคนในกะลา ถ้าไม่ได้ไปอยู่ในค่าย ๔๐ กว่าวันก็คงไม่ได้รู้จักอะไรหลายอย่าง

ตอนไปอยู่ใหม่ มีหน่วยหนึ่งมาสอบตลอด เครียดมาก เสธ. อุทัย รุ่งสังข์ ที่เป็นหัวหน้าครูฝึก บอกว่ามาอยู่กับแกแล้วแกจะดูแลเอง ใช้หลักศาสนา อาชีพ อบรมหลากหลายครบ ๔๐ วันปล่อยกลับบ้าน จากนั้นทหารมาติดตามครั้งสองครั้ง  เพื่อนมักโทร. มาถามว่าเจออย่างนี้จะทำอย่างไร ผมบอกอย่าหนี ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ

คนจากหมู่บ้านเดียวกันที่เราไปอยู่ในเหตุการณ์ตากใบมีทั้งหมดหกคน คนหนึ่งโดนยิงเสียชีวิตในนั้น เขาเป็นคนที่สู้อยู่ข้างหน้า แต่ไม่ใช่กลุ่มปิดบังใบหน้า  อีกคนกลับมาอยู่บ้านได้พักหนึ่งป่วยเสียชีวิต ช้ำที่ปลายนิ้วเหมือนโดนยาพิษ  เขาลือว่ารับสิ่งไม่ดีจากที่นั่น เราทั้งสี่คนที่เหลือก็กลัวกัน ร่างกายผมก็ไม่ปรกติ ตอนเช้าไม่มีแรงเหมือนมีอะไรอยู่ในตัว เลยไปทำพิธีไสยศาสตร์ กินยาสมุนไพรหาหมอบ้าน ก็อยู่รอดมาจนปัจจุบัน
...
ผมไปมักกะฮ์ ปี ๒๕๔๖ ตอนเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนผมอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์  ก่อนเกิดเหตุการณ์ตากใบผมเพิ่งเรียนจบกลับมา แต่งงานแล้วยังไม่มีลูก  วันนั้นเพื่อนในหมู่บ้านชวนว่าไปช่วย ชรบ. ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อนบอกจะมีละหมาดฮายัต เขาไม่ได้บอกว่าจะประท้วง ถ้าประท้วงผมไม่ไป

ละหมาดฮายัต คือการละหมาดขอพรในสิ่งที่ปรารถนาเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นหนึ่งการละหมาดที่ไม่บังคับ

ไปตั้งแต่เช้า ไปเจอเพื่อนคนโน้นคนนี้ที่ไม่ได้เจอกันนาน อยู่กันยาวเพราะอยู่ในช่วงเดือนบวช ไม่ต้องกินข้าว พอเที่ยงเราก็ไม่ค่อยไหว แต่คนที่ต่อต้านจริง ๆ เขาสู้ตั้งแต่เช้า เที่ยง ยันเย็น จนสลายม็อบก็ยังสู้ จนบางคนเสียชีวิตตรงนั้น

ช่วงเดือนบวช หมายถึงช่วงถือศีลอดของคนมุสลิมในเดือนเราะมะฎอน โดยจะงดอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนหลังพระอาทิตย์ตกดิน  ท่านนบีฯ วางปฏิบัติให้ละศีลอดด้วยผลอินทผาลัมจำนวนคี่ ถ้าไม่มีใช้ขนมหรืออาหารอื่นแทนได้ หรือละศีลอดด้วยการดื่มน้ำเปล่าสามอึก  ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักเรียกการละศีลอดว่าเปิดปอซอ

มีการชูมือกล่าว “อัลลาฮุอักบัร” เราอิสลามคำว่า พระเจ้ายิ่งใหญ่ เป็นคำสูงส่ง

ช่วงเขาจะสลายม็อบ ถ้ารู้ต้องไปก่อน มีหลายคนหลบออกไป แต่เราไม่รู้ ยืนดูอย่างเดียว  จนได้ยินเสียงปืนรัวนับไม่ถ้วน  ถอยลงไปอยู่ริมน้ำ โงหัวไม่ได้ วิถีกระสุนไม่ได้ยิงสูง ต้องนอนหมอบอย่างเดียว มีคนโดน ไม่รู้จะไปทางไหน ตำรวจอยู่รอบ ข้างหลังเป็นแม่น้ำ

ตอนถูกจับนอนไปบนรถผมได้ยินทั้งสองหู ประเมินจากที่เขาพูด ผมรู้สึกเหมือนกับว่าอิสลามกับไทยพุทธทะเลาะกัน ทหารเหยียบพวกเราแล้วว่า “พวกมึงหรือที่ทำร้ายพวกกู” 

น้ำหนักคำพูดแรงกว่านี้อีก  ผมเจ็บในคำพูด ตอนนั้นถ้าตัวต่อตัวแบบไม่มีใครมีอาวุธ ชกกันแน่แหละ

ฟังจากเสียง มีทหารคุมมาในรถราวสี่ห้าคน เดินอยู่บนพวกผม มีอาวุธครบมือ  คนที่พูดอะไรออกมาก็โดนทุกคนในรถก็เงียบ

ถูกมัดมือไพล่หลังอยู่ในท่านอนซ้อนทับกันสามสี่ชั้น จากที่เราเจ็บ ชาจนหายเจ็บ แล้วหลังจากนั้นทรมานมากเลย บางช่วงมีลมตีเข้ามาในช่องว่างตรงหน้าเรานิดหนึ่ง โอ้ ดีใจมากเลย

ไปถึงที่ร้องไห้เลย ลุกไม่ได้ ต้องมีคนช่วยยกลงจากรถ คืนแรกในค่ายทหารรู้สึกว่าได้กินแต่น้ำ ข้าวยังไม่มี วันรุ่งขึ้นผมบวชต่อเลย ไม่มีอะไรกินบวชดีกว่า จนค่ำถึงได้กิน

รุ่งขึ้นอีกวันเขาให้ใช้โทรศัพท์โทร. กลับบ้าน ผมโทร.หาพี่ชาย เขายังไม่เล่าอะไร แฟนผมเป็นคนเล่าในตอนหลังว่า ที่บ้านเขาเตรียมการรับศพผมแล้ว คนที่บ้านคิดว่าผมตายไปแล้ว ทำความสะอาดบ้านเตรียมจะไปรับศพ

อยู่ในค่ายทหารเป็นเรือนนอนใหญ่ มีกระบวนการสอบสวน ไม่แน่ใจเขาคัดอย่างไร ผมถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ๑๐๐ กว่าคนที่ต้องไปเข้ารับการอบรมอยู่เกือบ ๒ เดือน
...

ปี ๒๕๔๘ ผมไปสอบเป็นราชการ อยู่ปัตตานี ๖ ปี จากนั้นมานราธิวาสจนถึงปัจจุบัน

มองย้อนกลับไป ที่ผมร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตากใบผมไม่เสียใจเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้น อัลลอฮ์กำหนดมาแล้ว คนอิสลามเชื่อในบททดสอบ ผมจึงเชื่อว่าหลังโดนบททดสอบที่หนัก พระเจ้าจะประทานสิ่งที่ดีให้ผมมากกว่าบททดสอบที่ได้รับ  ผลในปัจจุบันมันเยอะมากที่พระเจ้าประทานเรา ให้มีเงินเดือนได้ส่งลูกสี่คนเรียนหนังสือ คนโตเพิ่งจบ ม. ๖

คนที่มาชวนผมวันนั้น ตอนเราลำบากเขาก็ช่วยอะไรไม่ได้ เขาเป็นอุสตาซจากตากใบ  มาสอนหนังสือในหมู่บ้าน เจอกันที่สุเหร่าทุกวัน เป็นคนรุ่นน้อง ตอนสอนเขาสอนตามปรกติ แต่หลังเกิดเหตุการณ์มีความรู้สึกฝังลึกอยู่ตลอด จนตอนนี้อยู่ไม่ได้ หนีไปมาเลย์

จากคนที่แข็งแรงมาก เขาได้รับบาดเจ็บตอนอยู่บนรถแขนเสียจนนุ่งโสร่งเองไม่ได้เกือบปี จากนั้นร่างกายเขาคงไม่แข็งแรงเหมือนเดิม แต่ใจคงแข็งแรงมากกว่าเดิม ปัจจุบันก็ยังต่อต้านรัฐจนไม่ยอมอยู่ไทย
...
ครั้งหนึ่งเมื่อไม่เกิน ๗ ปี ผมไปประชุมที่กรุงเทพฯ มีหนังสือราชการเชิญเรียบร้อย  ตอนมาขึ้นรถไฟจะกลับบ้าน พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ผ่านเส้นทาง ตำรวจต้องเคลียร์พื้นที่ ผมเดินอยู่ในสถานีหัวลำโพง กล้องจับใบหน้าผมประมวลผลขึ้นมา ตำรวจสองสามคนเอาตัวผมไปนั่งสอบสวน มองด้วยสายตาเหมือนผมเป็นคนร้าย แต่หัวหน้าชุดมาคุยดี ผมบอกเป็นข้าราชการกำลังจะขึ้นรถไฟกลับบ้าน ตำรวจบอกถ้าตกรถไม่ทันขบวนนี้จะจ่ายค่าตั๋วให้

ตำรวจให้ดูว่าเขามีฐานข้อมูลของผม เคยทำอะไรมา ผมบอกเคยร่วมเหตุการณ์ตากใบ เขาถึงบางอ้อ ประสานตำรวจรถไฟดูแลผมจนถึงหาดใหญ่ แล้วให้ตำรวจนราธิวาสมารับไปส่งที่บ้าน

คนที่มารับจากสถานีรถไฟหาดใหญ่เป็นเพื่อนผมเป็นพนักงานสอบสวน ด้วยหน้าที่เราต้องประสานงานกัน บ่อย ๆ วันนั้นเขาก็มาตามหน้าที่ มาถึงเห็นว่าเป็นผมก็แปลกใจ
...
ผมไม่เคยไปร่วมงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบ คลิปยังไม่ดูเลย เห็นก็เลื่อนผ่าน ไม่อยากดู  แต่สามารถบอกประสบการณ์ตรงนี้ให้กับลูก ๆ ได้  ที่ผมไปเพราะเราไม่รู้ ตอนนี้รู้แล้ว หลักศาสนาไม่ใช่แบบนี้ ศาสดาไม่ได้บอกให้ทำอย่างนี้ ต้องพูดให้ลูกชายเข้าใจ  ให้ย้อนไปดูท่านศาสดา สมัยท่านคนเข้ารับอิสลามด้วยนิสัยและการดูแลของศาสดา พอชนะสงครามท่านดูแลเชลยศึกมากกว่าดูแลทหาร ให้อาหารเขาครบสามมื้อ แต่ทหารในกองทัพได้กินแค่สองมื้อ คนพวกนี้แหละที่เข้ารับศาสนาอิสลาม เราต้องเอาตรงนี้มาบอกต่อจนปัจจุบัน ไม่ใช่ต้องไปทำร้ายคนต่างศาสนา นั่นผิดจากหลักของท่านศาสดาไปมาก

ตอนนี้การปฏิบัติศาสนกิจไม่ได้ถูกปิดกั้น จะไปละหมาดตอนไหนทำได้  ถ้าเมื่อไรปิดกั้นนั่น
วายิดต้องต่อสู้ นี่ยังไม่ถึงขั้น อีกยาวไกลมาก

ผมต้องสอนให้ลูกชายเข้าใจ ให้เขาย้อนไปดูท่านศาสดา
...  

วายิด ภาษาอาหรับ หมายถึงการต่อสู้
เพื่อปกป้องศาสนาอิสลาม