เจาะใจคนโรคจิต
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
เวลาพูดถึง “คนโรคจิต” แต่ละคนก็อาจวาดภาพไปต่าง ๆ นานา อาจมีบางคนนึกถึงภาพตัวละครอย่าง ฮันนิบาล เลกเตอร์ ที่แสดงโดย แอนโทนี ฮอปกินส์ ในภาพยนตร์ชื่อดังเรื่องอำมหิตไม่เงียบ (The Silence of the Lambs) และเรื่องอื่น ๆ ที่ตามมาในชุดเดียวกัน หรือไม่ก็ แจ็ก นิโคลสัน ในบท แจ็ก ทอร์แรนซ์ ในเรื่อง The Shining ที่เป็นนิยายดังของ สตีเฟน คิง และเป็นหนังที่กำกับโดยผู้กำกับภาพยนตร์มากฝีมืออย่าง สแตนลีย์ คูบริก
ในภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดังกล่าวและอีกมากมายหลายเรื่องฉายภาพของคนโรคจิตที่เฉลียวฉลาดและโหดเหี้ยมอำมหิต แต่คนแบบนี้มีอยู่จริงหรือ ?
เคนต์ คีห์ล (Kent Kiehl) นักประสาทวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโกเล่าประสบการณ์การทดลองครั้งหนึ่งให้ฟังว่า เขาให้นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยหลายคนไปสัมภาษณ์คนร้ายโรคจิตในที่คุมขัง โดยไม่เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติคนเหล่านี้ให้ฟังก่อน
ปรากฏว่านักจิตวิทยาฝึกหัดพวกนี้ล้วนแล้วแต่ให้ความเห็นว่า คนที่ตนไปสัมภาษณ์ซึ่งพูดจาดี ดูน่าเชื่อถือ มีความเป็นไปได้ว่าจะโดนลงโทษแบบผิดฝาผิดตัว ต่อมานักศึกษาประหลาดใจมากเมื่อคีห์ลให้ข้อมูลประวัตินักโทษว่า คนเหล่านั้นมีทั้งแมงดา คนค้ายา คนฉ้อโกง ขโมยจี้ปล้น และฆาตกร ซึ่งมีหลักฐานแน่นหนามากอย่างดิ้นไม่หลุด เมื่อนักศึกษามีโอกาสกลับไปสัมภาษณ์อีกครั้งและถามข้อมูลพวกนี้ออกไป นักโทษเหล่านั้นก็มักพูดแก้ตัวในทำนองว่า การที่ไม่ได้เล่าเรื่องพวกนั้นให้ฟังก็เพราะว่านักศึกษาไม่ได้ถามและพวกเขาก็เลิกนิสัยเหล่านั้นไปหมดแล้ว
ศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกลักษณะแบบนี้ว่ามีการสวมหน้ากากภาวะสุขภาพจิตปรกติ (mask of sanity) อยู่ หรือจะพูดแบบคำไทย ๆ ว่า “ตีหน้าซื่อ” ก็คงได้ แสดงว่าพวกเขาฉลาดพอจะรู้ว่าคนปรกติควรจะตอบสนองอย่างไรในสถานการณ์นั้นและจะหลอกล่อคนอื่นได้ยังไง !
แม้ว่าจะโดนจับกุมเกี่ยวเนื่องกับความผิดจากการกระทำที่ชั่วร้ายหรือโหดร้ายวิปริตผิดวิสัยคนทั่วไป แต่คนพวกนี้กลับไม่ได้แสดงอาการผิดปรกติให้เห็นเลย ไม่มีทั้งอาการสับสน กระวนกระวายใจ หรือมีความกดดันใด ๆ ที่มองเห็นได้เลย อีกทั้งไม่ได้แสดงอาการแปลกแยกหรือเข้าสังคมไม่ได้ จนดูเผิน ๆ อาจคิดว่าเป็นคนปรกติทั่วไปดี ๆ นี่เอง เป็นคนทั่วไปที่ควบคุมตัวเองได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้นในหลายกรณียังพบด้วยว่าหลายคนฉลาดกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ แต่คุณจะไม่มีวันเห็นคนพวกนี้สำนึกผิดหรือต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีศีลธรรมมากขึ้นเลย
ถือเป็นเรื่องง่ายที่จะตีความว่าคนโรคจิตพวกนี้เป็นคนเลวโดยสันดาน ฉกฉวยโอกาสเอาเปรียบ คดโกง หรือก่ออาชญากรรมโหดร้าย ราวกับปราศจากความรู้สึกดีชั่วหรืออารมณ์ใด ๆ แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าในจำนวนนี้อย่างน้อยอาจมีส่วนหนึ่งที่เป็น “ผู้ป่วย” มากกว่าจะเป็นคนร้ายหรือฆาตกรใจเหี้ยมโดยสันดาน ?
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ก็ควรจะแตกต่างจากอาชญากรทั่วไปหรือไม่ และ “ผู้ป่วย” ควรต้องรับการรักษาแทนที่จะต้องนำไปจำคุกหรือลงโทษแบบอื่นหรือไม่ ?
การที่จะตอบคำถามนี้ได้คงต้องมีวิธีประเมินชัดเจนว่าป่วยจริงหรือไม่
มีการประเมินว่ามีผู้ป่วยโรคจิตอยู่ราว ๐.๕-๑.๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากร และอาจมีคนคุกในสหรัฐอเมริการาว ๑๕-๓๕ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้ป่วยโรคจิต เมื่อคนพวกนี้ออกจากคุกก็มีแนวโน้มสูงถึงสี่ถึงแปดเท่าที่จะก่ออาชญากรรมซ้ำอีก หากเทียบกับคนปรกติ ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการคนโรคจิตมีผู้คำนวณว่าแค่เพียงในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็สูงถึง ๒.๕-๔.๐ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีแล้ว
หากรักษาคนเหล่านี้ได้ก็คงประหยัดงบประมาณมหาศาล
งานวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคจิตบางส่วนมีความผิดปรกติของร่างกายอย่างหนัก สมองประมวลผลแตกต่างจากคนทั่วไปจนไม่สามารถรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นเชื่อมโยงเรื่องการไม่สามารถแยกแยะน้ำเสียงแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ได้ เช่นน้ำเสียงแสดงความรู้สึกหวาดกลัว
ย้อนกลับไปต้นคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ มีการทดลองคลาสสิกของทีมที่นำโดยโรเบิร์ต ดี. แฮร์ ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พวกผู้ป่วยโรคจิตแยกแยะความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคำแสดงอารมณ์ไม่ได้ การทดลองทำง่าย ๆ โดยเขาให้ผู้ต้องหาที่น่าจะเป็นผู้ป่วยโรคจิตมองคำต่าง ๆ ที่แสดงบนจอ หากเป็นคำที่มีความหมายก็ให้กดปุ่ม
ผลที่พบก็คือไม่ว่าจะเป็นคนปรกติหรือผู้ป่วยก็แยกแยะคำที่มีอยู่จริงกับคำหลอก ๆ ที่โชว์ขึ้นมาได้ไม่แตกต่างกัน แต่ครั้นดูเฉพาะในกลุ่มคำที่มีอยู่จริงและเป็นคำที่ “แสดงนัย” บวก (เช่นน้ำนม) หรือลบ (เช่นแผลเป็น) หรือเป็นกลาง (เช่นประตู) หากเป็นคำที่มีนัยบวกหรือลบ คลื่นสมองของคนทั่วไปจะโดนกระตุ้นทั้งคู่ แต่กับพวกโรคจิตกลับตอบสนองน้อยมากและกราฟคลื่นสมองก็ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง
ผู้ป่วยโรคจิตกลุ่มนี้ยังเข้าใจคำอุปมาอุปไมยได้ไม่ดีเท่าคนทั่วไป อีกทั้งยังแยกแยะคำศัพท์นามธรรม เช่น ความรัก ความเชื่อใจ การอุทิศตัว ความอยากรู้อยากเห็น ไม่ค่อยออกด้วย ยกตัวอย่างประโยค “ความรักเป็นยาแก้ความเจ็บป่วยของโลก” ผู้ป่วยโรคจิตมองว่าคำนี้มีนัยเป็นลบแทนที่จะเป็นบวก
คีห์ลวิจัยพบใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ว่าพวกโรคจิตระบุคำนามที่เป็นนามธรรม (เช่น ความรัก การหลอกลวง ความเชื่อใจ การอุทิศตัว และความอยากรู้อยากเห็น) ผิดมากกว่าคนทั่วไป
โจชัว บักโฮลต์ซ (Joshua Buckholtz) นักประสาทวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ในรัฐเทนเนสซี ตรวจสอบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคจิตที่เป็นอาชญากร พบว่าคนกลุ่มนี้มีสารโดปามีน มากกว่าคนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ สารนี้หลั่งออกมาเมื่อได้รับการกระตุ้นให้ทำสิ่งต่าง ๆ เป็นเสมือน “รางวัล” ที่ทำให้พึงพอใจ ความต้องการให้ร่างกายหลั่งโดปามีนมาก ๆ นี่เองที่อาจกระตุ้นให้คนพวกนี้ทำอาชญากรรมต่าง ๆ โดยไม่สนใจผลที่จะตามมา
ใน ค.ศ. ๒๐๑๗ มีงานวิจัยสำคัญที่ทีมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งร่วมงานกัน นำทีมโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พวกเขาทดสอบคนโรคจิตโดยใช้อุปกรณ์ตรวจการทำงานของสมองที่เรียกว่า fMRI สิ่งที่นักวิจัยพบก็คือมีความบกพร่องของการเชื่อมต่อของสมองสองส่วนคือ สมองที่เชื่อมโยงกับการให้รางวัล ความพึงพอใจ และการเสพติด (nucleus accumbens) และสมองที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมทางสังคม (ventromedial prefrontal cortex)
ผลลัพธ์ก็คือสมองส่วนหลังที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการวิเคราะห์ผลในอนาคตจากการตัดสินใจเรื่องตรงหน้านั้นทำงานไม่เต็มที่หรือทำงานไม่ได้เลย วงจรควบคุมการตัดสินใจจึงเสียหายไป ทำให้มักตัดสินใจทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยงและผิดศีลธรรมมากกว่าคนทั่วไป
หากมองจากสิ่งที่คนโรคจิตทำ ก็ไม่น่าแปลกใจว่าคนทั่วไปมักมองคนกลุ่มนี้ว่าเป็นพวก “คนเลือดเย็น” เป็นคนร้ายที่ไร้อารมณ์ความรู้สึก ทำเรื่องแย่ ๆ ได้สารพัดกับคนอื่นได้ แต่ความจริงที่ลึกลงไปคือ คนพวกนี้เป็นผู้ป่วย และอาการป่วยทำให้เกิดนิสัยที่ดูราวกับเป็นคนเลือดเย็นต่างหาก
งานวิจัยที่มากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการรับรู้หรือมองโลก รวมไปถึงความผิดปรกติทางร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก การตัดสินใจ และความเสียใจต่อผลการกระทำของตัวเอง อาจนำทางไปสู่การรักษาที่ได้ผลมากกว่าการลงโทษ ซึ่งตามข้อมูลที่ได้กล่าวไปข้างต้นแสดงให้เห็นว่าไม่ค่อยได้ผล
อาชญากรโรคจิตบางคนจึงอาจไม่ใช่คนเลวโดยสันดาน แต่เป็นผู้ป่วยที่มีระบบการตัดสินใจบกพร่องต่างหาก