Image

หมากงาช้างยักษ์
ถักเปียทรงคอร์นโรว์

ธรรมชาติ ทํามาโชว์

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ 
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

พบสิ่งมีชีวิตที่น่ารักมากในป่าชุมชนของหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๒ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

บริเวณป่าเชื่อมต่อภูเขาชายแดนไทย-มาเลเซีย 

คล้ายสิ่งนั้นกำลังยืนหันหลังอวดเรือนผมสีแดงเข้ม ถักเปียทรงคอร์นโรว์ 
(cornrows) ร้อยลูกปัดสีเขียวอ่อน ดูสนุก
ราวกับป่าแฟชั่นของคนผิวสีที่ถักเปียเส้นเล็ก ๆ ติดหนังศีรษะเป็นแนว (ประวัติศาสตร์เล่าว่าเป็นภูมิปัญญาที่ชาวแอฟริกันโบราณซุกเมล็ดข้าวหรือข้าวโพดไว้ในเส้นผมเวลาต้องเดินทางจึงเป็นที่มาของชื่อเรียกเปียที่ดูคล้ายฝักข้าวโพด)

เจ้าของเปียคอร์นโรว์ในป่าชุมชนนี้
แท้แล้วคือช่อดอกของปาล์มสวยชนิดหนึ่งที่ชื่อ “หมากงาช้างยักษ์” [Pinanga malaiana (Martelli) Scheff.] 

ความรู้ทางพฤกษศาสตร์อธิบายว่าเจ้าต้นที่สูงได้ถึง ๗ เมตรนี้มีลำต้นสีเขียวเข้ม กาบใบสีเหลือง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสีเขียว ใบย่อยมีปลายใบแหลม ชอบยืนแตกกอบริเวณแสงรำไร 
แล้วเมื่อถึงเวลาขยายพันธุ์หน่อของมันจะแตกห่างจากลำต้นที่ทอดเลื้อยไปใต้ดินแล้วตั้งขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่า “ก้านช่อ-ดอก” สีแดงเข้มโดดเด่นตัดกับสีเขียวสดของผืนป่าที่ออกบริเวณข้อลำต้นนั้นคือต้นที่ผุดจากดินเสียเอง

สิ่งที่ชวนให้จินตนาการถึงใครสักคนที่ถักเปียคอร์นโรว์ ก็คือช่อดอกแบบแยกแขนงที่มี “ก้านช่อย่อย” หลายเส้นยาวห้อยลงดินประมาณไม้บรรทัดนี่ละ 
(ปรกติมีประมาณ ๓-๖ เส้น แต่ช่อดอกที่เราพบมีจำนวนมากกว่า สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ซึ่งปรกติช่วงเวลาออกดอกจะอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม แต่เราก็ยังทันได้พบในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒)

แล้วยิ่งจังหวะที่พบเป็นช่วงที่พืชกำลังติด “ผลจิ๋วทรงรี” (ขนาดผลกว้างไม่เกิน ๓ เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดสามารถขยายพันธุ์ทางธรรมชาติได้) เรียง
ติดด้านข้างของก้านช่อในระนาบเดียวกันยิ่งชวนสร้างภาพในสมองไปถึงชาวแอฟริกันโบราณที่ซุกเมล็ดพันธุ์ไว้ในเส้นผม หรือแฟชั่นคนรุ่นใหม่ที่ร้อยลูกปัดสีสัน

เวลานี้ลูกปัดแห่งผืนป่ายังเป็นผลอ่อนสีเขียว อีกระยะเมื่อสุกเต็มที่พวกผลจิ๋วจะเปลี่ยนสู่สีม่วงดำ คิดเล่น ๆ ต่อว่าถ้ามีลมแรงพัดมาคราใด ก้านช่อย่อยเหล่านี้ก็คงปลิวไสว

ให้ยิ่งคล้ายใครสะบัดเปียผม เท่น่าดู