Image

กุโบร์ตะโละมาเนาะ ริมเทือกเขาบูโด ที่ฝากฝังร่างของเหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบ ๒๒ คน จากทั้งหมด ๘๕ คน สุสานแห่งนี้ตั้งอยู่คนละฝั่งสายน้ำกับมัสยิดโบราณ บ้านตะโละมาเนาะ ซึ่งมีประวัติความเป็นมา เชื่อมโยงกับต้นธารการต่อสู้นับ ๓๐๐ ปี ของคนมลายูปาตานี แต่ผู้นำศาสนาที่ทำพิธีกรรมฝังศพกล่าวว่า ผู้กลับสู่อัลลอฮ์กลุ่มนี้ไม่ใช่ชะฮีด หรือการตายในสงครามที่ต่อสู้กับศัตรู พวกเขาเป็นเพียงผู้ชุมนุมทวงถามความเป็นธรรม โดยปราศจากอาวุธ

๒๐ ปี “ตากใบ” :
ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ บาดแผล

scoop

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“ไม่ใช่จะมาทำเรื่องเหตุการณ์ตากใบอะไรอีกนะ คนเขาลืม ๆ กันไปแล้ว”

เสียงห้าว ๆ ของเจ้าหน้าที่ชายเจ้าของพื้นที่ดังมาจากข้างหลัง เมื่อเห็นเรายืนถ่ายรูปแม่น้ำตากใบอยู่หน้าสถานที่ราชการแห่งหนึ่งในหลายหน่วยงานรัฐที่ตั้งอยู่บนถนนพิทักษ์ประชากิจ และมีที่โล่งอยู่ราว ๒ ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นลานจอดรถ สนามเด็กเล่น กับสุมทุมพุ่มไม้เล็ก ๆ ลาดลงไปบรรจบกับฝั่งแม่น้ำ

บริเวณนี้ครั้งหนึ่งเป็นที่ร่วมชุมนุมของคนหลายพัน ซึ่งท้ายสุดนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ว่าได้ ที่เรียกขานกันต่อมาว่า “เหตุการณ์ตากใบ”

กล่าวกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐมากที่สุด  เป็นการชุมนุมที่มีคนตายมากที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการสูญเสียชีวิตคนบริสุทธิ์ที่มีตัวตนอยู่จริง มีถิ่นฐานบ้านช่องและหลักฐานยืนยันสถานะพลเมืองชัดเจน ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าลือหรือตำนานปรัมปรา ซึ่งรัฐยอมรับ มีการกล่าวขอโทษและจ่ายค่าเยียวยาให้ครอบครัวผู้สูญเสีย

และอาจด้วยเหตุนี้ที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าเหตุการณ์จบสิ้นแล้ว ไม่ควรรื้อฟื้นให้เกิดความวุ่นวายแตกแยกในสังคม

แต่ไม่ว่าใครอยากให้จดจำหรือใครอยากให้ลืม เหตุการณ์ตากใบก็ได้สร้างความทรงจำร่วมแก่คนรุ่นหนึ่ง และเป็นความทรงจำของคนรุ่นต่อมาแล้วด้วย

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งรัฐยอมรับ มีการกล่าวขอโทษและจ่ายค่าเยียวยา แต่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ยังต้องการความยุติธรรมในแง่การเปิดเผยความจริง

Image

หลักหินสลักอักษรยาวีความว่า “สุสานผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ ๒๕ ตุลาคม ๒๐๐๔  ๑๑ เราะมะฎอน ๑๔๒๕” เป็นที่ระลึกถึงผู้จากไป และเป็นอนุสรณ์เตือนใจคนที่ยังอยู่ ให้รู้ค่าสันติสุข

scrollable-image

Image

ท่าเรือตาบาของชุมชนดั้งเดิมซึ่งอยู่สุดเขตแดน อันเป็นที่มาของชื่อตากใบในภาษาไทย  วันเกิด “เหตุการณ์ตากใบ” คนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งที่สัญจรผ่านท่าเรือแห่งนี้เพื่อข้ามไปมากับฝั่งมาเลเซีย ถูกกวาดจับเป็นผู้ชุมนุมไปด้วย  นับตั้งแต่พื้นที่ชายแดนใต้อยู่ภายใต้ “กฎหมายพิเศษ” ท่าเรือ ถนน และพื้นที่ต้องสงสัยสุ่มเสี่ยง มักจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการหรือตระเวนตรวจตรา

ชนวน...

“เพื่อนโทร. บอกว่าวันที่ ๑๑ เขาจะแจกของหวานเดือนเราะมะฎอน”

หะยีดิ้ง มัยเซ็ง เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมหลายพันคนและถูกยิงได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์

เราะมะฎอน เป็นเดือนที่ ๙ ในปฏิทินอิสลาม เป็นช่วงที่คนมุสลิมถือศีลอด งดอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตก พร้อมกับการภาวนาชำระจิตใจและเข้มงวดกับการงดเว้นอบายมุข

วันที่ ๑๑ เดือนเราะมะฎอน ฮ.ศ. ๑๔๒๕ ที่หะยีดิ้งและคนชายแดนใต้อีกนับพันได้รับการชักชวนให้ไปรวมตัวที่ตากใบ ตรงกับวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗

ถ้าเป็นในพื้นที่อื่นก็คงนับเป็นการนัดชุมนุมกันธรรมดาทั่วไป แต่จะเป็นเพราะนราธิวาสในเวลานั้นอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก หรืออาจเพราะชาวบ้านไม่อยากเอาตัวเองเขาไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง จนทุกวันนี้ก็ยังแทบไม่มีใครแสดงตัวว่าตั้งใจจะไปชุมนุมด้วยตัวเอง มีแต่บอกว่าไปตามคำชักชวนของเพื่อนฝูงที่บอกว่าจะมีการแจกของ จะมีการทำละหมาดร่วมกัน บางคนบอกจะไปจ่ายตลาดแล้วบังเอิญตกอยู่ในที่ชุมนุม มีไม่มากที่บอกตามเป้าหมายจริงของผู้จัดการชุมนุมว่า ต้องการช่วย 
ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) หกคน ที่ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อราว ๒ สัปดาห์ก่อนหน้านั้น

ชรบ. หกคนที่ถูกปล้นปืน
ได้แก่ นายรอนิง บินมะ นายกามา อาลี ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุตามคำให้การว่าถูกคนร้ายสองคนใช้ปืนเอ็ม ๑๖ ปล้นเอาปืนขณะปฏิบัติหน้าที่  นายมาหามะรุสือลี เจ๊ะแว  นายอรุณ บินมะ  นายอับดุลราไม ฮะกือลิง  และนายรูกีมือลี ฮะกือลิง อ้างว่าถูกคนร้ายลักอาวุธปืนไปจากบ้าน  จากคำให้การที่ขัดแย้งกัน เมื่อถูกเจ้าหน้าที่สอบเค้นก็สารภาพว่า ถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบขู่เอาชีวิตลูกเมีย จึงยอมมอบปืนให้ไป

“เหตุการณ์ตากใบ” เกิดขึ้นและจบในวันเดียว เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ แต่ช่วงเกือบปีก่อนหน้านั้นเหตุการณ์รุนแรงที่เรียกกันว่า “ไฟใต้” เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง ข่าวคราวชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายรายวันมีปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ  ทางการจึงจัดการฝึกอบรมคนในหมู่บ้านให้เป็น ชรบ. ชุมชนละ ๑๐-๒๐ คน แล้วมอบอาวุธปืนลูกซองห้านัดให้ไว้ป้องกันตนเองในชุมชน รวมทั้งสิ้นนับ ๔,๐๐๐ กระบอก ในจังหวัดนราธิวาส ในยะลากับปัตตานีก็เช่นกัน

กระทั่งช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๕๔๗ ชรบ. หกคนจากหมู่บ้านโคกกูแวเข้าแจ้งความที่ สภ.อ. ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ว่าถูกคนร้ายปล้นปืนไป

บ้านโคกกูแว หมู่ที่ ๕ ตำบลพร่อน มี ชรบ. ๓๐ คน เป็นไทยพุทธ ๒๑ คน มลายูมุสลิม ๙ คน  หัวหน้า ชรบ. ฝ่ายมุสลิมที่เข้าแจ้งความให้การกับพนักงานสอบสวนว่า ได้รับปืนจากทางการมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ ต่อมามีคนมาขู่จะเอาปืน แต่ไม่ยอมให้ สุดท้ายถูกเรียกไปพบที่มัสยิด ขู่ว่าจะทำร้ายลูกเมีย พ่อแม่ หากไม่ยอมมอบปืนให้  พวกตนจึงยอมให้ปืนและลูกปืนไปให้คนร้ายกลุ่มเดิมซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร ชื่ออะไร เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗

หลักคิดทางศาสนาคงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ครอบครัวผู้สูญเสียยืนหยัดอยู่ได้คนมุสลิมชายแดนใต้เชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นบททดสอบจากอัลลอฮ์ และความอดทนเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา

ครอบครัวมุสลิมที่เคร่งครัดจะไม่นิยมเก็บภาพถ่ายคนที่จากไป  คิดถึงก็อยู่ในใจ และสวดดุอาอ์ให้ในละหมาด ด้วยเชื่อว่าชีวิตคนเราขึ้นอยู่กับพระเจ้า เมื่อถึงคราวก็ต้องกลับไปสู่อุ้งหัตถ์ของพระองค์

แต่จากการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนพบพิรุธจากคำให้การไม่ตรงกัน  ผู้กำกับการ สภ.อ. ตากใบ จึงตั้งข้อหา “ร่วมกันยักยอกทรัพย์ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่เจ้าพนักงานสอบสวน” และส่งตัวให้กับกองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้า ค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่ไม่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนร้าย  พวกเขาจึงถูกตำรวจตั้งข้อหาเพิ่ม อั้งยี่ ซ่องโจร สร้างเรื่องปกปิดว่าเป็นพวกเดียวกัน ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ซึ่งต่อมา ชรบ. รับสารภาพว่าให้ปืนกับคนร้ายไปโดยไม่ได้ถูกปล้น จึงถูกส่งฟ้อง แต่หัวหน้า ชรบ. ให้สัมภาษณ์ประทับจิต นีละไพจิตร ในภายหลังว่า พนักงานสอบสวนขอให้รับสารภาพไปก่อนแล้วจะช่วยให้ได้ประกันตัว

“เพื่อนโทร. มาบอกว่าให้ไปช่วย ชรบ. ที่ถูกจับกุม” มามะรีกะห์ บินอุมา ชาวตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเล่าจากมุมของเขา “ผมก็เลยชวนเพื่อนบ้านอีกสี่ห้าคนไปด้วยกัน”

อาจด้วยเหตุนี้ที่ทำให้เขาถูกทางการมองว่าเป็นแกนนำและตกเป็น ๑ ใน ๕๙ ผู้ต้องหาคดีตากใบ

“พวกเราคนมุสลิมเราต้องช่วยกัน” หะยีดิ้งบอก “เป็นความสามัคคี ถ้าเราไม่ไปช่วย เขาบอกว่าคนนี้ไม่ใช่พวก เขาบอกมา ถ้ารู้เราต้องไปช่วยกัน ดีไม่ดีเรื่องของเขา ไปให้เห็นหน้าเห็นตากัน”

มามะรีกะห์ หะยีดิ้ง และผู้ชายในหมู่บ้านอีกห้าคนรวมตัวกันเดินทางไปด้วยรถกระบะของเพื่อนคนหนึ่ง

“ไปกันราว ๙ โมงเช้า ระหว่างทางเห็นคนเต็มไปหมด ถึงสามแยกตากใบ มีรถตำรวจจอดขวางทาง จะไม่ให้ไป พวกเราลงไปช่วยกันยกรถออกข้างถนน  ตำรวจยืนดูอยู่ ไม่ว่าอะไร  ไปถึงหน้า สภ.อ. คนเต็มแล้ว”

เวลานั้นในที่ชุมนุมไม่ได้มีแต่ผู้ชาย แต่ยังมีผู้หญิง คนชรา และเด็ก ที่รู้ข่าวการชุมนุมก็เข้ามามุงดูและร่วมอยู่ในที่ชุมนุมไปด้วย

ขณะที่ตามเส้นทางเข้าสู่ตากใบตำรวจสั่งตั้งด่านสกัดไม่ให้คนเดินทางไปร่วมชุมนุม

ช่วงแรกของการชุมนุม ประธานชมรม
โต๊ะอิหม่าม อำเภอตากใบ ออกมาร้องขอให้ส่งตัวแทนมาเจรจา แต่ผู้ชุมนุมไม่ตอบสนอง

อิหม่าม ผู้นำในการบริหารปกครองชุมชนมุสลิมที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง และเป็นผู้นำในการทำละหมาดร่วมกันหลายคน เรียกอย่างยกย่องเกียรติยิ่งขึ้นว่าโต๊ะอิหม่าม

เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องประชุมกำหนดแนวทางแล้วชี้แจงต่อผู้ชุมนุมว่า จะอำนวยความสะดวกในการประกันตัวผู้ต้องหาแต่ผู้ชุมนุมต้องการให้ปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

แต่เมื่อแม่ทัพภาค ๔ (มทภ. ๔) และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๙ เดินทางมาถึงพื้นที่ ก็ได้ให้นายอำเภอตากใบติดต่อกำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ไปยื่นขอประกันตัว ชรบ. 

ก่อนเที่ยงผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเริ่มบุกเข้าบริเวณสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ [สภ.อ. ตากใบ (ปัจจุบันใช้ สภ.ตากใบ)]  เจ้าหน้าที่ยิงปืนขึ้นฟ้าชุดหนึ่งเพื่อกดดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่

มทภ. ๔ เรียกประชุมกองกำลังรักษาความสงบและหน่วยกำลังในพื้นที่ วางแผนเตรียมสลายการชุมนุม

ที่ประชุม
ผู้บริหารระดับสูงได้ข้อสรุปว่า หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่แยกย้ายกันไป มทภ. ๔ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตามประกาศกฎอัยการศึก จะเป็นผู้สั่งสลายการชุมนุม

ผู้บริหารระดับสูงที่ร่วมประชุม
พล.ท. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาค ๔  นายศิวะ แสงมณี รองผอ.กอ.สสส.จชต.  พล.ต.ท. วงกต มณีรินทร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส  พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๙  พล.ต. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๕ (ผบ.พล.ร.๕)

บางคนมองว่าเหตุการณ์จบไปแล้ว ไม่ควรรื้อฟื้น แต่ผู้ร่วมเหตุการณ์เห็นว่าควรถูกพูดถึงได้ และไม่ใช่ในฐานะคนผิด ทั้งควรให้เหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์ที่สามารถเป็นบทเรียนแก่คนรุ่นหลัง

Image

ภาพจากหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ 

Image
Image

สภ. ตากใบ ปี ๒๕๖๗ ต่างจาก สภ.อ. ตากใบ เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ไม่ใช่แค่ชื่อที่กร่อนสั้นลง ตัวอาคารและภูมิทัศน์ก็ถูกปรับแต่งพัฒนาไปตามยุคสมัย  แต่ภาพเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนร่วมสมัย โดยเฉพาะคนท้องถิ่นชายแดนใต้นับ ๓,๐๐๐ คนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ 

จากนั้นปลัดอำเภอได้รับมอบหมายให้นำกำนันผู้ใหญ่บ้านไปใช้ตำแหน่งดำเนินการประกันตัว ชรบ. ที่ศาลจังหวัด และได้นำพ่อแม่และญาติพี่น้องของ ชรบ. ทั้งหกคนมาร่วมเจรจากับผู้ชุมนุมผ่านเครื่องขยายเสียง

แต่ผู้ชุมนุมยืนกรานให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

ประมาณ ๑๕.๐๐ น. สถานการณ์เริ่มตึงเครียด ผู้ชุมนุมใช้ก้อนอิฐ สิ่งของขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ และพยายามจะเข้าไปใน สภ.อ. ตากใบ  ชุดปราบจลาจลจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสเข้าผลักดันฝูงชน สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น

เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุม

เริ่มจากการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับออกไป มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าสลายการชุมนุม ซึ่ง มทภ. ๔ ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ในภายหลังว่า ได้สั่งให้เปิดทางด้านเหนือของ สภ.อ. ให้ผู้ชุมนุมออกไป

แต่ผู้ร่วมอยู่ในการชุมนุมวันนั้นต่างบอกตรงกันว่าไม่สามารถออกจากที่ชุมนุมได้ เนื่องจากการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่

“ตั้งใจจะไปซื้อของที่ตลาด เห็นคนเยอะเลยเข้าไปดู แล้วออกกลับไม่ได้ เจ้าหน้าที่ปิดทางไว้หมด” สาปีน๊ะ กาบากอ ชาวตำบลศาลาใหม่ เล่านาทีก่อนถูกสลายการชุมนุม  นอกจากพี่น้องผู้หญิงสามคนที่ไปด้วยกัน เธอเพิ่งรู้ทีหลังว่ามีผู้ชายในครอบครัวอีกสี่ติดอยู่ในที่ชุมนุมด้วย

ตามรายงานของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา พิจารณาศึกษาเรื่อง “กรณีความรุนแรงที่ตากใบกับปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้” ก็ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐวางกำลังโอบล้อมปลายสุดของถนนหน้า สภ.อ. ทั้งสองด้าน  ด้านหลังผู้ชุมนุมเป็นแม่นํ้าตากใบ ประชาชนไม่สามารถออกได้ เพราะถูกล้อมไว้รอบด้าน

ก่อนสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ต้องการควบคุมตัวเฉพาะแกนนำราว ๑๐๐ คน  โดยถ่ายวิดีโอและภาพนิ่งไว้แล้ว แต่เมื่อมีคำสั่งให้ผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งหมดถอดเสื้อ ทำให้ไม่สามารถระบุตัวได้ จึงควบคุมตัวไปทั้งหมด

ท่าน้ำ สนามเด็กเล่น ศาลารูปดอกเห็ด สุดทางของฝ่ายผู้ชุมนุมซึ่งถอยร่นจากการฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา และการกราดยิงของเจ้าหน้าที่ มาจนสุดฝั่ง  ผ่านมา ๒๐ ปี สถานที่ยังคงอยู่ ชาวบ้านอ้างว่าบนแผ่นกระเบื้องสีน้ำตาลแดงยังมีรอยกระสุน  แต่สิ่งที่ไม่เคยปรากฏเลยแม้ชาวบ้านเฝ้าทวงถาม คือใครเป็นคนรับผิดชอบสั่งการในวันนั้น

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ฉบับวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๗

ปิดล้อมปราบ

หากมองจากแผนที่ประเทศไทย ตากใบอยู่ตรงส่วนล่างสุดทางฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีแม่นํ้าโก-ลกเป็นเส้นแบ่งเขตแดนกับมาเลเซีย สุดปลายแหลมปากน้ำโก-ลกเป็นที่ตั้งชุมชนตาบา ที่เรียกในภาษากลางว่าตากใบ แต่สถานที่ราชการของอำเภอตากใบส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ชุมชนเจ๊ะเห ซึ่งอยู่ห่างขึ้นมาทางทิศเหนือราว ๒ กิโลเมตร

ตากใบที่รู้จักกันทั่วไปในทุกวันนี้จึงหมายถึงที่เจ๊ะเห มากกว่าเมืองตาบาเดิม

ส่วนราชการสำคัญตั้งแต่ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจภูธร ห้องสมุดประชาชน สำนักงานที่ดิน ตั้งอยู่บนถนนพิทักษ์ประชากิจ ซึ่งเป็นเส้นนอกสุด ติดริมฝั่งแม่น้ำตากใบ ข้ามไปอีกฝั่งแม่น้ำคือปูเลาปันยัง เนินทรายที่ทอดยาวไปกับลำน้ำ ซึ่งฝั่งอีกด้านคือทะเลอ่าวไทย

เนื่องจากแม่น้ำตากใบมีปากน้ำออกสู่อ่าวไทยทั้งสองด้าน ทำให้ปูเลาปันยังมีสภาพเป็นเกาะ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าเกาะยาว มีสะพานรถใหญ่ข้ามไปมาได้อยู่ทางหัวเกาะด้านใต้ และเพิ่งมีสะพานขนาดรถมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านได้ เชื่อมแถวกลางเกาะมายังต้นถนนป้องนรภัย ทางทิศเหนือของ สภ.อ. ตากใบ บริเวณที่เกิด “เหตุการณ์ตากใบ”

“อัลลอฮุอักบัร ๆ ๆ” ตอเล็บถ่ายทอดเสียงที่เขาบอกว่าทำให้เขารู้สึกฮึกเหิมจากการได้ร่วมตะโกนอัลลอฮ์ยิ่งใหญ่ ๆ ๆ

เขาเป็นคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากการขนย้ายผู้ชุมนุมราว ๑,๓๐๐ คนที่ถูกควบคุมตัวจากตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร  ปัจจุบันตอเล็บรับราชการ จึงขอไม่เปิดเผยชื่อจริง

“ปล่อยคนไม่ผิด ๆ” อีกเสียงตะโกนของผู้ชุมนุม ถูกเล่าผ่านปากคำของตอเล็บ “คนที่สู้มากอยู่ข้างหน้า ผมยืนรอดูอย่างเดียว”

“ได้ยินเขาบอกว่าจะปล่อยตัว ชรบ. ตอนบ่าย ๓ แต่หลังจากนั้นไม่ได้ปล่อยคน กลับปล่อยอย่างอื่นมาแทน” สาปีน๊ะ กาบากอ เล่าถึงช่วงที่เหตุการณ์เริ่มรุนแรง จากการฉีดน้ำด้วยรถดับเพลิงใส่ผู้ชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตา จนถึงการยิงด้วยกระสุนจริง

ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์อยู่ถึง ๑,๐๐๐ คน เมื่อ มทภ. ๔ มีคำสั่งให้สลายการชุมนุม โดยใช้รถดับเพลิงของเทศบาลฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมและใช้แก๊สน้ำตา ก็มีเสียงปืนดังมาจากทางกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บหนึ่งนาย จากนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ยิงปืนต่อเนื่องหลายชุด

ปรากฏภาพจากวิดีโอของผู้สื่อข่าว อสมท และภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ ว่ามีทหารบางส่วนไม่ได้ยิงขึ้นฟ้า แต่ตั้งปืนยิงในแนวราบ

ใน รายงานการรวบรวมข้อมูลกรณีเหตุการณ์รุนแรงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ของคณะอนุกรรมการรวบรวมข้อมูลกรณีเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ก็ระบุว่า “ในการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อาวุธปืนพร้อมกระสุนจริง ยิงเข้าไปในที่ชุมนุมและได้ทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม ทั้ง ๆ ที่ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ และไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อน และไม่ได้ต่อต้านขัดขืนการควบคุมตัวแต่อย่างใด”

ซึ่ง พ.ต.ท. วุฒิชัย หันหาบุญ ชี้แจงว่า ในช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่กลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ดีอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้เป็นแบบอัตโนมัติ ดังนั้นขณะยิงปลายกระบอกปืนจึงอาจมีการสะบัดลงมาในระดับที่เป็นอันตรายได้  นอกจากนี้ในการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่รัฐจะยิงขู่เพื่อให้ผู้ชุมนุมหมอบราบลงกับพื้น และจะยิงรัวเพื่อมิให้ผู้ชุมนุมลุกขึ้นหรือวิ่งหนี ดังนั้นหากผู้ชุมนุมลุกขึ้นยืนหรือวิ่งหนีก็อาจถูกยิงได้  สำหรับผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุเจ็ดคนสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากกรณีดังกล่าว

ทุกวันนี้เหตุการณ์ตากใบถูกเล่าขาน
เป็นประวัติศาสตร์มุขปาฐะในพื้นที่ แต่ยังไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เสียงเล่าของผู้เป็นเหยื่อได้ปรากฏในฐานะความจริงอีกชุดหนึ่ง

Image

ช่วงต้นของเหตุการณ์ทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จนถึงนายกรัฐมนตรีต่างบอกว่าผู้ชุมนุมเป็นคนจากที่อื่น แต่เมื่อควบคุมตัวไปสอบประวัติ ๑,๓๐๐ คน พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนภูมิลำเนาตากใบและ ๕๙ คนที่ถูกรัฐตั้งข้อหาดำเนินคดี ฐานเป็นแกนนำการชุมนุมก็เป็นคนตากใบทั้งหมด

ภาพจากหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๗

รายงานของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภาฯ ชี้ว่า สาเหตุการสูญเสีย ส่วนหนึ่งเกิดจาก “การยิงปืนของเจ้าหน้าที่ราชการ มีทั้งลักษณะการยิงขึ้นฟ้า และมีการยิงในระดับตํ่าเข้าใส่ประชาชนผู้ชุมนุม...เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิตในบริเวณที่เกิดเหตุชุมนุม ๖ คน เสียชีวิตในที่โรงพยาบาลอีก ๑ คน ประชาชนผู้ชุมนุมอีกหลายคนถูกยิงบาดเจ็บสาหัส บ้างถูกยิงหลังจากที่นอนหมอบราบอยู่กับพื้นแล้ว...”

ผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุมเกือบทั้งหมดถูกยิงที่ศีรษะจากระยะไกลเข้าด้านหลัง รายหนึ่งถูกยิงที่อก และอีกรายที่มือและเท้า

รายงานข้างต้นระบุด้วยว่าเมื่อแม่ทัพภาค ๔ “ได้ดูหลักฐานภาพถ่ายแล้วกล่าวยอมรับต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า เจ้าหน้าที่ทหารบางส่วนได้มีการยิงจริง”

เช้าวันหลังการชุมนุม เจ้าหน้าที่ค้นพบอาวุธสงคราม ระเบิดมีดดาบในแม่น้ำแถวหน้า สภ.อ. ตากใบ แต่ผู้ร่วมชุมนุมยืนยันว่าไม่เห็นใครพกอาวุธ และตอนผ่านเข้าที่ชุมนุมและผ่านจุดสกัดต่าง ๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารตรวจค้นอย่างละเอียดมาแล้ว

ขณะที่คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ สรุปความเห็นในประเด็นนี้ว่า “ถ้า (ผู้ถูกควบคุมตัว) มีอาวุธคงมีการใช้อาวุธตอบโต้เจ้าหน้าที่อย่างแน่นอนและการสูญเสียของฝ่ายเจ้าหน้าที่คงมีมากกว่านี้...การที่งมอาวุธได้จากแม่น้ำต้องมีหลักฐานมาอ้างมากกว่านี้จึงจะทำให้เชื่อได้”

ในแถลงการณ์คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา “สรุปสลาย ‘ม็อบตากใบ’ ขัดหลัก ‘มนุษยธรรม’” ระบุว่า “เจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนที่บรรจุกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ชุมนุมซึ่งไม่ได้กระทำการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้ใดเลย  ทั้งนี้นอกจากจะมีผู้ชุมนุม ๖ คน ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว ผู้ชุมนุมอย่างน้อยอีก ๑๑ คน ยังได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน และยังยืนยันได้ว่ามีการทุบตีและทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม ทั้งระหว่างการปราบปรามการชุมนุม และขณะควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธ-บริหาร จังหวัดปัตตานี”

ใช้เวลาประมาณ ๓๐-๔๕ นาที เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ โดยมีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ ๑๔ นาย หนึ่งนายมีบาดแผลจากกระสุนปืน ส่วนที่เหลือเป็นการบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากโดนอาวุธ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองพยายามให้สถานการณ์ผ่อนคลายลง โดยขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมแยกผู้หญิงและเด็กออกก่อน

ผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงและเด็กถูกสั่งให้แยกมาอยู่รวมกันในโรงจอดรถข้าง สภ.อ.

หลังจากนั้นไม่มีคำตอบและไม่มีใครอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ผู้ชุมนุมชายยอมจำนน นอนหมอบราบยอมแพ้สิ้นเชิงแล้ว แต่ระหว่างกวาดจับควบคุมตัวตามภาพที่ปรากฏในวิดีโอและภาพถ่าย  เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามรวมทั้งที่อยู่ในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ ทุบตี ถีบเตะ ชกต่อยผู้ถูกควบคุมตัวอย่างไม่อาจเข้าใจได้

มีคำชี้แจงจากฝ่ายทางการว่าเป็นภาวะกดดันต่อเนื่องยาวนานของเจ้าหน้าที่ การสลายการชุมนุมเป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นของสถานการณ์

ด้านคณะกรรมการอิสระฯ เห็นว่า “วิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธ ใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์และทหารพรานซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการสลายการชุมนุมนั้น...เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม”

จากภาพข่าวและวีดิทัศน์บันทึกเหตุการณ์ยังปรากฏอีกว่า เมื่อควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้ว ผู้ชุมนุมชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้า แล้วบังคับให้เคลื่อนไปยังจุดควบคุมรอขึ้นรถ โดยใช้ลำตัวไถไปตามพื้น

ไม่มีคำตอบและไม่มีใครอธิบายว่า เกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ผู้ชุมนุมชาย ยอมจำนน นอนหมอบราบ ยอมแพ้สิ้นเชิงแล้ว แต่ระหว่างการกวาดจับ ควบคุมตัวยังถูกทุบตี ถีบเตะ ชกต่อย และบังคับให้เคลื่อนที่โดยใช้ลำตัวไถไปตามพื้น

Image

ภาพจำตากใบ ที่ไม่ต้องการคำบรรยายภาพใดอีก
  
ภาพ : สุรพันธ์ บุญถนอม

บาดแผลตากใบ

จากคำชี้แจงของแม่ทัพภาค ๔ ในภายหลังว่า ก่อนสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ประสงค์จะควบคุมตัวเฉพาะแกนนำราว ๑๐๐ คน

โดยถ่ายภาพทั้งวิดีโอและภาพนิ่งกับเตรียมรถยีเอ็มซีสี่คันจากค่ายอิงคยุทธบริหารมารอเตรียมขนย้ายตัว

แต่เมื่อสลายการชุมนุมและมีคำสั่งให้ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดถอดเสื้อ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุตัวแกนนำได้ จึงให้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดไปก่อน แล้วค่อยคัดแยกทีหลัง

เมื่อผู้ถูกควบคุมตัวมีจำนวนมาก ที่คุมขังในนราธิวาสมีไม่เพียงพอ จึงให้ขนทั้งหมดไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีเรือนจำทหารใช้ควบคุมผู้ชุมนุมได้

ขณะที่รถที่จะใช้ลำเลียงมีเพียงสี่คันที่ขนทหารพรานมา

การกวาดจับผู้ชุมนุมแบบหว่านแหจนล้นเกินรถลำเลียงที่เตรียมไว้นี้เองที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในที่สุด

รายงานของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ว่ามีรถทหาร ๒๖ คัน ขบวนแรก ๔ คัน กับอีกขบวน ๒๒ คัน  แต่ตามคำชี้แจงของ มทภ. ๔ ว่า มีรถทหารพราน ๔ คัน นาวิกโยธิน ๓ คัน และของกองอำนวยการร่วมถวายความปลอดภัยทักษิณ (กอร.ถปภ.ทักษิณ) ๑๘ คัน รวม ๒๕ คัน  ขณะที่เอกสารของฝ่ายทหารที่ส่งให้คณะกรรมการอิสระฯ ระบุว่ามีรถของตำรวจ ทหาร และนาวิกโยธิน รวม ๒๘ คัน  เฉลี่ยบรรทุกคันละ ๕๐ คน แต่คันแรก ๆ บรรทุกไม่ถึง ๕๐ คน คันหลัง ๆ จึงต้องบรรทุกหนาแน่น

ตามรายงานของ กอ.สสส.จชต. ว่าในทางปฏิบัติจริงบรรทุกคันละ ๕๐-๙๐ คน

“ถูกบังคับให้นอนคว่ำอยู่บนรถ” คำบอกเล่าของผู้ถูกควบคุมตัว

ในลักษณะนอนซ้อนทับกันหลายชั้น

ภาพในหนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ จะเห็นว่าผู้ถูกควบคุมตัวนอนคว่ำหน้าบนพื้นกระบะรถ ทับซ้อนกันมากกว่าสองชั้น

การลำเลียงคนที่ใช้วิธีให้ผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งถูกมัดมือไพล่หลังนอนราบไปบนรถบรรทุกหกล้อของทหารจนเต็มพื้นรถ แล้วให้คนถัด ๆ ไปขึ้นนอนทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป ตามคำให้การของคนบนรถบอกว่าบางคันซ้อนกันถึงเจ็ดชั้น

Image

ภาพจากหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ เป็นประจักษ์หลักฐานที่ทำให้ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่มีการเล็งยิงในแนวราบ นอกจากการยิงขึ้นฟ้าตามที่อ้าง

ระหว่างทางยังมีการจอดรับผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ตามด่าน ขึ้นรถเพิ่มอีกด้วย เป็นกลุ่มผู้สัญจรผ่านทางที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าจะมาร่วมชุมนุมจึงได้สกัดจับไว้ก่อน เช่นที่ด่านสามแยกตากใบ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ชุมนุมราว ๒.๕ กิโลเมตร ผู้สัญจรไปมาที่เป็นมุสลิมถูกจับกุม ซึ่งจำนวนมากให้การชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา ในภายหลังว่าไม่ได้มาร่วมชุมนุม และบางคนเสียชีวิตบนรถ

“กรณีของลูกผมนั้น เขากลับจากโรงเรียนซึ่งต้องผ่านด่านตรวจ เขาก็โดนจับด้วย บางคนที่ต้องสัญจรไปมาอยู่ทุกวันตามปรกติก็โดนจับและเสียชีวิตในเหตุการณ์ คนที่โดนจับส่วนมากไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะไปประท้วงกับเขาหรอก แต่คนที่ประท้วงนั้นเป็นคนที่ต้องการความเป็นธรรมแก่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน” หามิ สาเมาะ พ่อของบูคอรี สาเมาะ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ

“ผมโดนเชือกมัดนิ้วโป้ง ขึ้นรถนอนทับสามชั้น ตอนแรกผมอยู่บน พยายามเลี่ยงไม่ให้ทับคนอื่น จนสุดท้ายผมไถลลงมาอยู่ใต้สุด มีคนทับอยู่สองชั้น ด้านล่างเป็นพื้นรถ มองไม่เห็นอะไรเลย กว่าจะไปถึงทรมานไม่อยากจะบอก เพื่อนผมถูกกดทับจนแขนเสีย นุ่งโสร่งเองไม่ได้อยู่เกือบปี” ตอเล็บเล่าประสบการณ์จากขบวนลำเลียงมรณะ “คนจะหมดลมหายใจเจ็บจนเสียสติไปกัดเพื่อนคนข้าง ๆ  โชคดีอย่างหนึ่งที่เป็นช่วงเดือนบวช การไม่ได้กินทำให้เราอยู่ได้ ถ้ากินอิ่ม ๆ แล้วอยู่ท่านั้นคงอยู่ไม่ได้  ถ้าไม่อยู่ในเดือนบวชคงตายเยอะกว่านี้มาก”

แบเลาะห์ถูกทับเป็นชั้นที่ ๗ ซึ่งเป็นชั้นล่างสุด เขาจึงได้รับบาดเจ็บมาก ทหารส่งตัวเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลยะลา หลังเกิดเหตุการณ์ ๔ วัน ภรรยาไปเยี่ยม เธอแทบจำสามีไม่ได้ถ้าไม่เห็นนาฬิกาที่เขาสวมอยู่ เพราะหน้าตาเขาบวมช้ำ ศีรษะถูกเย็บ ขาทั้งสองข้างขยับไม่ได้  หมอต้องเจาะเอาเลือดที่คั่งออกเพราะเส้นเลือดตาย ซึ่งเป็นผลจากการโดนทับเป็นเวลานาน  แบเลาะห์ต้องอยู่โรงพยาบาลถึง ๑๓ วัน หลังจากหายแล้วบริเวณแผลลีบลงและผิวเป็นสีดำ

“เขาอยู่ชั้น ๒ ของผู้ชายที่ซ้อนทับกันห้าชั้น ที่อยู่ข้างล่างมีเลือดอาบทั้งตัว ซึ่งกลายเป็นศพเสียแล้ว และคนที่อยู่ข้างบนก็ได้กล่าวนามของพระเจ้า แต่ไม่นานพวกเขาก็ไม่สามารถส่งเสียงอะไรได้อีก เพราะถ้าใครออกเสียงนิดหน่อย เจ้าหน้าที่ก็จะทุบหัวด้วยปลายด้ามปืน ข้างบนมีผ้าใบสีดำปิดมิดชิด ทำให้หายใจไม่ออก จนมาลีกีก็ไม่รู้ว่าใครเสียชีวิตไปแล้วบ้าง” ยาเร๊าะ วาดะ เล่าเรื่องของลูกชายที่ถูกตัดขาขวา และหมอเกือบตัดแขนขวาด้วย เนื่องจากการถูกกดทับบนรถบรรทุก

ภาพจากวิดีโอ ปากคำเจ้าหน้าที่ทหาร และผู้ถูกควบคุมตัว ระบุตรงกันว่า ทหารพราน ตำรวจตระเวนชายแดน และทหารนาวิกโยธิน เป็นผู้ลำเลียงผู้ถูกควบคุมตัวขึ้นรถ

รถบรรทุกแต่ละคันมีเจ้าหน้าที่คุมไปด้วย ระหว่างทางผู้ถูกควบคุมตัวยังถูกทำร้าย

บางคันมีการจอดระหว่างทาง ตามที่ อับดุลเลาะห์ เจ๊ะห์ฮะ ให้สัมภาษณ์ไว้ใน ประชาไท ว่า “ระหว่างทางรถจอดหลายครั้ง บางครั้งจอดนานมาก...ผมถามคนที่ถูกจับมาด้วยกันว่าพวกเขาทำอะไรอยู่ มีคนบอกว่าทหารกินข้าวอยู่...รถหยุดอยู่ที่นี่ประมาณ ๔๐ นาที หรือเกือบ ๑ ชั่วโมง มีคนถามว่า ‘อีกนานมั้ยจะได้ไป’ ทหารที่อยู่บนรถบอกว่า ‘ตามใจกู กูจะไปตอนไหนก็ได้’”

การลำเลียงผู้ถูกควบคุมตัวจากตากใบไปค่ายอิงคยุทธฯ ระยะทางประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๕-๖ ชั่วโมง และใช้เวลาลำเลียงผู้ชุมนุมลงจากรถอีกนาน ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวคนที่โดนทับอยู่ข้างล่าง ซึ่งอ่อนเพลียจากการปะทะระหว่างถูกสลายการชุมนุม การถูกทำร้ายขณะอยู่บนรถจำนวนหนึ่งต้องตายอย่างทรมาน

เมื่อรถคันแรกที่พบว่ามีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย แต่ก็ไม่มีการแจ้งให้รถคันหลัง ๆ แก้ไขปรับปรุงวิธีการขนย้ายแต่อย่างใด

เมื่อควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว เจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ชายถอดเสื้อ นอนคว่ำบนพื้น มัดมือไพล่หลัง บางส่วนถูกมัดต่อกันเป็นแถวด้วยเชือกเส้นเดียวกัน 

ภาพจากหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๗

ตลอดสัปดาห์สุดท้ายของเดือน
ตุลาคม ๒๕๔๗ “เหตุการณ์ตากใบ” เป็นข่าวหลักหน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์ในประเทศอยู่แทบทุกฉบับ และเป็นที่โจษจันไปทั่วโลกในประเด็นความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

Image

จากนั้นถูกนำตัวไปขึ้นรถบรรทุกทหาร คันละ ๕๐-๙๐ คน โดยให้นอนคว่ำทับซ้อนกันขึ้นไป ๒-๗ ชั้น กลายเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ในพื้นที่ชายแดนใต้

ภาพจากหนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗

ทำให้ต่อมารถคันที่ ๒๑ มีผู้เสียชีวิตถึง ๒๓ ราย จากที่บรรทุกมา ๙๐ คน ใช้เวลาเดินทาง ๕ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๑๗.๐๐ ถึง ๒๒.๐๐ น.

แต่เวลาที่ใช้ขนย้ายทั้งสิ้นราว ๑๐ ชั่วโมง โดยรถคันแรกออกจาก สภ.อ. ตากใบราว ๑๖.๐๐ น. คันสุดท้ายลำเลียงคนลงที่ค่ายอิงคยุทธฯ เสร็จสิ้นราว ๐๒.๐๐ น. ของวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๗

ช่วงเย็นวันที่ ๒๖ ตุลาคม มทภ. ๔ แถลงข่าวว่าผู้ชุมนุมที่ สภ.อ. ตากใบ อยู่ในอาการมึนเมา “คล้ายเมาเหล้า แต่ไม่มีกลิ่นสุรา”  ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว มีผู้เสียชีวิตเพียงหกคน

จนถึงช่วงค่ำจึงได้รับการยืนยันจาก พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ศพ ว่ามีผู้เสียชีวิตบนรถระหว่างขนย้าย ๗๘ ราย สาเหตุการตายอันเนื่องมาจาก “การขาดอากาศหายใจ และมีอาการชักเกร็งอันมีสาเหตุมาจากการขาดน้ำและอากาศ”

รวมกับที่ถูกยิงเสียชีวิตในที่ชุมนุม ๖ คน และบาดเจ็บไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก ๑ ราย รวมผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ๘๕ ราย คนอายุน้อยที่สุดเป็นเด็กชาย อายุ ๑๔ ปี

ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกทำร้ายและการขนย้าย ๑๐๙ คน  ในจำนวนนี้ ๑๑ รายบาดเจ็บสาหัส และ ๖ รายอวัยวะใช้การไม่ได้ดังเดิม

จากวันเกิดเหตุ ๒๕ ตุลาคม ผ่านไปจนถึงวันที่ ๒๗ ญาติถึงติดต่อกับผู้ถูกควบคุมตัวได้ ที่เสียชีวิตก็ได้รับศพกลับมาประกอบพิธีกรรม

“แรก ๆ ทำอะไรไม่ถูก คือตกใจกับการเสียชีวิตของลูกไม่เชื่อกับคนที่มาบอกว่าลูกเสียชีวิตแล้ว  มีคนมาถาม เรื่องราวความเป็นมาอย่างไร เราเองก็ไม่รู้ บอกไม่ถูก  จนกระทั่งประมาณ ๔-๕ วัน ก็ทำใจได้ขึ้นมา แต่ก็ต้องมานั่งคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกเรา” ความรู้สึกของ หามิ สาเมาะ ต่อลูกชายที่จากไป

“สภาพศพที่ไปรับมีแผลที่หลังเยอะมาก กรามหัก ฟันที่เคยเรียงสวยไม่มีเหลือให้เห็นเลย ในใบชันสูตรศพเขียนว่าขาดอากาศหายใจ แต่ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเป็นยังไง” ภรรยาเล่าถึงสภาพร่างกายที่ไร้ลมหายใจของ มะรอนิง มากะ

แพทย์สรุปสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจาก “ขาดอากาศหายใจ” เนื่องจากถูกกดทับบริเวณใบหน้าหรือหน้าอกและบางส่วนเสียชีวิตจากอาการชักเกร็งเนื่องจากขาดน้ำ ทำให้เกิดการเสียสมดุลของเลือดและสารคัดหลั่งในร่างกาย

ขัดกับสภาพศพที่ญาติยืนยันว่า ผู้ตายมีรอยบวมช้ำตามใบหน้า บางคนฟันหัก  ในจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร พบว่าหลายศพมีร่องรอยกระสุนปืนปรากฏอยู่

มารดาของผู้เสียชีวิตรายหนึ่งบอกว่ารู้สึกโกรธมาก เพราะญาติที่ดูแถบบันทึกภาพเหตุการณ์บอกว่าลูกของเธอถูกตีจนสลบและอาจเสียชีวิตที่หน้า สภ.อ. ตากใบ

ชายจากอำเภอเจาะไอร้องกล่าวว่า “เยาะ (พ่อ) ติดใจอยู่ว่า เราไปขอรับศพ ได้รับใบมรณบัตรมาด้วย สภาพศพหน้าเละ แต่ใบมรณบัตรกลับเขียนว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ”

“สภาพศพที่เห็นนั้นมีรอยช้ำเต็มไปหมดทั้งตัว แต่ในใบมรณบัตรเขียนว่าขาดอากาศหายใจ  ก๊ะต้องการรู้ความจริงว่าทำไมลูกก๊ะตาย ใครทำอะไรกับเขาบ้าง และน่าจะบอกด้วยว่ามีใครผิดบ้างจากเหตุการณ์นี้” แม่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งลูกชายอีกคนเป็นผู้ต้องหาคดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง และเป็นพยานในคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ให้สัมภาษณ์ ประทับจิต นีละไพจิตร เมื่อ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕

Image

ความจริงในท้ายที่สุดผู้เสียชีวิต ๘๕ รายในเหตุการณ์ตากใบ  ไม่มีใครเป็นศพไร้ญาติ เพียงแต่การสื่อสารอันจำกัดในยุคนั้น และความกันดารห่างไกล ทำให้ผู้นำศาสนาต้องตัดสินใจนำเหยื่อกลุ่มใหญ่ ๒๒ ศพ ที่ยังไม่สามารถระบุสถานะบุคคล มาทำพิธีฝังรวมกันไว้ที่กุโบร์ตะโละมาเนาะ  มุมด้านในติดเทือกเขาบูโดทุกวันนี้จะมีป้ายอักษรยาวี ระบุว่าเป็น “สุสานผู้เสียชีวิตจากกรณีตากใบ”

ภาพจากหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๗

รายงานข้อเท็จจริงในกรณีตากใบสี่ฉบับของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา มีข้อสรุปสอดคล้องกันว่า เจ้าหน้าที่ของทางราชการได้ปฏิบัติโดยมีเจตนา โดยเล็งเห็นผลว่าการกระทำดังกล่าวอาจเกิดการบาดเจ็บและถึงแก่ชีวิตได้ จึงเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ โดยไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเจตนาไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งตรงกับผลสรุปของ กอ.สสส.จชต. ด้วย

ในการพิจารณาว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนี้ คณะกรรมการอิสระฯ เห็นว่า เมื่อ มทภ. ๔ ได้ออกประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ ในพื้นที่อำเภอตากใบ ให้มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในการรักษาความสงบเรียบร้อย  ในการสลายการชุมนุม มทภ. ๔ ได้สั่งการให้ ผบ.พล.ร.๕ เป็นผู้ควบคุมกำลังและเป็นหน่วยภาคยุทธวิธีในการดำเนินการ

คณะกรรมการอิสระฯ จึงเห็นว่า พล.ต. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.๕ เป็นผู้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ. ตากใบ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเจ็ดคน รวมทั้งรับผิดชอบในการควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธฯ โดยไม่ได้อยู่ดูแลควบคุมภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรีที่อำเภอเมืองนราธิวาส เมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น. โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น  คณะกรรมการอิสระฯ จึงเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่บกพร่องไม่ครบถ้วนตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

พล.ต. สินชัย นุตสถิตย์ รอง มทภ. ๔ ผู้รับผิดชอบงานการข่าวและสายงานยุทธการ ได้รับคำสั่งจาก มทภ. ๔ ให้เตรียมน้ำ อาหาร พื้นที่ รองรับผู้ถูกควบคุมตัว เมื่อพบว่ามีคนตายในรถ มิได้มีคำสั่งหรือดำเนินการใด ๆ กับรถบรรทุกที่จอดอยู่เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้น

พล.ท. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มทภ. ๔ ผู้มีอำนาจสูงสุดเมื่อประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งยังต้องติดตาม ควบคุมสอดส่องว่าภารกิจที่มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติลุล่วงหรือมีปัญหาอย่างใดหรือไม่ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อเวลา ๐๑.๓๐ น. ของวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๗ มทภ. ๔ ได้ทราบข่าวว่ามีคนตายประมาณ ๗๐ คน แต่มิได้ดำเนินการอะไร จนอีกวันถึงมาที่ค่าย เพื่อตอบข้อสอบถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา  คณะกรรมการอิสระฯ จึงเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา

การเยียวยา 
ความยุติธรรม 
คำขอโทษ

ผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวในเหตุการณ์ตากใบจำนวน ๑,๒๒๔-๑,๓๗๐ คน ซึ่งในรายงานของ กอ.สสส.จชต. คณะกรรมการอิสระฯ และคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา ระบุตัวเลขต่างกัน  ทุกคนถูกเจ้าหน้าที่ยึดบัตรประชาชน กระเป๋าสตางค์ นาฬิกา โทรศัพท์มือถือเมื่อมาถึงค่ายอิงคยุทธฯ

ตามข้อมูลว่าทางค่ายอิงคยุทธฯ จัดเตรียมอาหารและน้ำไว้ให้เวลา ๒๐.๓๐ น. แล้วเสร็จเมื่อล่วงถึง ๐๓.๓๐ น. ของเช้าวันที่ ๒๖ ตุลาคม

“ระหว่างรอสอบประวัติอยู่ในเต็นท์กลางสนาม คืนนั้นฝนตกก็ไปอ้าปากรับน้ำฝนจากหลังคาเต็นท์ พอมีแรงตักข้าวกิน” มามะรีกะห์ บินอุมา เป็นคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากการขนย้าย

แต่อาจไม่เพียงพอหรือไม่ทั่วถึง ดังปรากฏว่าผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งไม่ได้รับอาหาร

“คืนนั้นได้กินแต่น้ำ เช้าก็ถือบวชต่อเลย ครบรอบอีกวันถึงได้กินข้าว” ตามคำเล่าของตอเล็บ “นับว่าโชคดีที่ช่วงนั้นถือศีลอด ถ้ากินอิ่มแล้วขนมาอย่างนั้นจะตายมากกว่านี้ เหมือนเวลาขนปลาดุกเขาจะให้อดอาหารวันสองวัน”

ความรุนแรงใหญ่ๆ หลายครั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ในปี ๒๕๔๗ ก่อกระแสเรียกร้องสันติภาพไปทั่วประเทศ กระทั่งเกิดองค์กร เครือข่ายหลายภาคส่วนเข้าร่วมช่วยเหลือ แก้ไข เยียวยาสถานการณ์ ภายใต้ขอบข่ายบทบาทที่ทำได้  ยี่สิบปีผ่านมาเหตุรุนแรงรายวันยังไม่เงียบหาย ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เรียกกันว่า “สถานการณ์ไฟใต้” ยังไม่ถึงจุดจบ

ภาพจากหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๗

สามวันหลังเหตุการณ์ เมื่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภาเข้าไปเยี่ยมในที่คุมขัง พบว่าผู้ถูกควบคุมตัวยังไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้รับสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน

ต่อมาคนที่รอดชีวิตถูกส่งไปควบคุมและสอบสวนต่อในค่ายทหารห้าจังหวัดในเขตภาคใต้

หลังการสอบสวนบันทึกประวัติผู้ถูกควบคุมตัว กลุ่มที่ทางการระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุม ๕๙ คน ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ส่งตัวเข้าเรือนจำนราธิวาส

ในระหว่างการชุมนุม เจ้าหน้าที่ นายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้นำศาสนาในพื้นที่ พยายามจะบอกว่าผู้ก่อเหตุชุมนุมที่ตากใบไม่ใช่คนตากใบ เป็นคนมาจากที่อื่น

แต่เมื่อสอบประวัติผู้ถูกควบคุมตัว ๑,๓๐๐ คน พบว่าผู้ชุมนุมมาจาก ๑๒ อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร โดยมาจากอำเภอตากใบมากที่สุด แต่ไม่มีจากตำบลพร่อน ที่เป็นภูมิลำเนาของ ชรบ. ทั้งหกคน

นอกจากนั้นมาจากห้าอำเภอของปัตตานี ที่เชื่อมต่อกับจังหวัดนราธิวาส  และหนึ่งคนมาจากอำเภอรามัน จังหวัดยะลา  ซึ่งคนจากปัตตานีกับยะลาเป็นกลุ่มที่บอกว่ามาประกอบอาชีพหรือทำธุระส่วนตัว ไม่ได้ตั้งใจมาชุมนุม

ส่วน ๕๙ คน ที่ถูกทางการฟ้องคดี เป็นคนภูมิลำเนาตากใบทั้งหมด

พวกเขา
ถูกกล่าวโทษหกข้อหา ทั้งที่เป็นฝ่ายถูกทำร้าย

ผู้ถูกควบคุมตัวที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นกลุ่มเสี่ยง จำนวน ๑๓๐ คน ถูกส่งเข้ารับ
การอบรมศาสนาและอาชีพ ที่ค่ายรัตนพล กองพลพัฒนาที่ ๔ คลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา เป็นเวลา ๔๒ วัน เพื่อแยกสลายแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน  บันทึกประวัติและเก็บข้อมูลด้านพันธุกรรม (DNA) เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เข้าร่วมก่อความไม่สงบ

ข้อกล่าวหา
ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ และเมื่อพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกเสีย แต่ผู้มั่วสุมไม่เลิก  ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์

การอบรมศาสนาและอาชีพ
ปรกติใช้สำหรับรองรับผู้ถูกจับกุมในยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบมาเข้ารับการอบรม

ส่วนใหญ่ที่เหลือได้รับการปล่อยตัว ซึ่งจำนวนไม่น้อยได้รับบาดเจ็บตั้งแต่บาดแผลเล็กน้อยไปจนฉกรรจ์ รวมทั้งถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ แขน ขา ดวงตา

การเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต ๘๕ ราย รัฐบาลได้มอบเป็นเงินช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไม่ใช่เงินชดเชยผู้เสียหายในคดีอาญา หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากที่กองทัพภาคที่ ๔ และทางจังหวัดนราธิวาส ช่วยค่าทำศพรายละ ๑ หมื่น กับ ๑,๐๐๐ บาท ตามลำดับ

ต่อมาคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) ได้ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตสองครั้ง ช่วงต้นปี ๒๕๔๘

ครั้งแรก ๑ แสน และ ๓ แสนบาท โดยงวดหลังได้ในลักษณะมรดก ตามคำแนะนำของกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด โดยแบ่งให้บิดา ๕ หมื่นบาท มารดา ๕ หมื่นบาท ภรรยา ๓.๗ หมื่นบาท ที่เหลือแบ่งตามจำนวนลูก ลูกชายได้สองเท่าของลูกหญิง ตามหลักกฎหมายมรดกของศาสนาอิสลาม ซึ่งผู้เยาว์ต้องบรรลุนิติภาวะจึงสามารถเบิกเงินมาใช้ได้

ส่วนผู้บาดเจ็บสาหัสถึงพิการแขนขา ไตวาย ได้เงินช่วยเหลือรายละ ๒ แสนบาท

“เงินที่รัฐบาลให้มาแค่ ๔ แสนบาทนั้นมันเพียงพอแล้วหรือกับการที่ต้องเสียคนที่เรารักคนหนึ่ง ผมคิดว่าแม้รัฐบาลจะให้สัก ๑๐ ล้านบาท มันก็ยังไม่ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมาเลย เพราะการเสียชีวิตของลูกผมนั้นเป็นการเสียชีวิตจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่รัฐ  การที่ผมพูดอย่างนี้เพราะมันเป็นความจริง ผมได้สัมผัสกับตัวเองและเห็นชัดว่ามีรอยกระสุนปืนตามลำตัวของลูกผมเอง ตอนที่ผมไปรับศพเขากลับมา” หามิ สาเมาะ พ่อของ บูคอรี สาเมาะ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายม็อบตากใบ

อย่างไรก็ตามเงินเยียวยาที่ได้รับในลักษณะมรดก ทำให้ภรรยาหลายคนที่ต้องรับภาระดูแลบุตรที่เกิดกับผู้เสียชีวิตได้รับส่วนแบ่งน้อยโดยไม่ได้รับการดูแลจากบุพการีของฝ่ายชายซึ่งได้รับส่วนแบ่งมากกว่า กลุ่มผู้เสียหายจึงรวมตัวกันฟ้องร้องคดีแพ่งต่อหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมตากใบ เรียกร้องค่าเสียหาย ๑๐๗,๔๓๘,๔๓๗ บาท ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องดีการออกมาต่อสู้ทางศาลในที่แจ้งจะช่วยลดการต่อสู้ด้วยความรุนแรงในที่ลับ

โดยในที่สุดรัฐยอมจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวน ๔๒,๒๐๑,๐๐๐ บาท เนื่องจากมีการนำยอดเงินเยียวยาที่เคยให้ไปก่อนแล้วมาหักลบด้วย แบ่งจ่ายญาติผู้เสียชีวิตตกรายละ ๔ แสนบาท และจ่ายเงินอีก ๗ ล้านบาทให้กับผู้บาดเจ็บ แบ่งรายละ ๓ หมื่นบาท โดยการเซ็นสัญญา “โจทย์จะไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับจำเลยอีกต่อไป”

ส่วนคดีอาญาต่อกรณีผู้ถูกยิงเสียชีวิตในที่ชุมนุม อัยการเห็นว่า “มีพยานบุคคลยืนยันว่าผู้เสียชีวิตทั้งหกคน มีพฤติกรรมยุยงให้ประชาชนก่อความวุ่นวาย และไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต จึงไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้”

ขณะที่การไต่สวนกรณีการเสียชีวิตจากการขนย้ายผู้ชุมนุม ๗๘ ศพ ศาลจังหวัดสงขลาสรุปคดีว่า “ผู้ตายขาดอากาศหายใจ แม้จะตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ แต่โดยเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่”

สองปีหลังเหตุการณ์ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวคำขอโทษต่อหน้าพี่น้องมุสลิมกว่า ๑,๕๐๐ คน กรณีที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกรณีตากใบ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ พร้อมยืนยันว่าจะถอนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง ๕๖ คน ที่ถูกดำเนินคดี

แต่กล่าวกันว่าเป็นคำขอโทษในบริบทที่ต่างจากกระบวนการสมานฉันท์นานาชาติ ด้วยไม่ใช่ผู้นำในช่วงเกิดเหตุการณ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และไม่ใช่ความผิดของผู้กล่าว  แต่เป็นการขอโทษแทน จึงไม่เป็นไปตามหลักสมานฉันท์

ที่สำคัญไม่ปรากฏรายงานว่ามีเหยื่อเหตุการณ์ตากใบคนใดอยู่ในที่ประชุมนั้นบ้างหรือไม่  ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้นำศาสนาในสามจังหวัด ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากไม่ทราบว่ามีการกล่าวขอโทษ

Image

ทิวมะพร้าวและแนวเนินทรายบนเกาะยาว
แลนด์มาร์กตากใบเมื่อมองไปทางเวิ้งทะเล

ถัดมาในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ อัยการสูงสุดได้สั่งถอนฟ้อง ด้วยเหตุผล “...การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และอาจส่งผลต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ...”  ซึ่งชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหามองว่าการถอนฟ้องไม่ใช่ยกฟ้อง  ถอนฟ้องดูเหมือนรัฐให้โอกาส แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนตัดสินไปแล้วว่าชาวบ้านทำผิดจริง ที่เขาต้องการคือการปลดปล่อยชาวบ้านจากผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ จำเลยต้องการพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์  เพราะเขาไม่ใช่ผู้ก่อความไม่สงบ หรือสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน หลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตามคำอธิบายของทางราชการทัศนคติเชิงลบของเจ้าหน้าที่

“ผมไม่ได้เป็นแกนนำชุมนุม ที่เราไปอยู่แถวหน้าเพราะเราต้องการห้ามปรามเจ้าหน้าที่และชาวบ้านไม่ให้ใช้ความรุนแรง แต่โดนกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ยิ่งมองเราไม่ดี  ส่วนการถอนฟ้องก็เป็นแค่การชะลอเรื่อง ไม่ใช่ไม่เอาเรื่องพวกเรา และไม่ได้พิสูจน์ว่าพวกเราไม่ใช่แกนนำ  หลังจากถอนฟ้องไป หมู่บ้านเราก็ถูกค้นบ่อยขึ้น และหมู่บ้านก็กลายเป็นหมู่บ้านสีแดง” ตามปากคำของ มะมิง กาบากอ หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีจากตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ

ต่อมาในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ จากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ เท่ากับกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๓  รายละ ๗.๕ ล้านบาท ผู้ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี ๑๕๗ คน รายละ ๑.๕ หมื่นบาท

ในทางคดีจะสิ้นอายุความเมื่อครบ ๒๐ ปี ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๗

แต่ในทางความยุติธรรมทางสังคม การเปิดเผยสะสางความจริงให้ปรากฏ เพื่อบันทึกเป็นบทเรียนจากประวัติ-ศาสตร์ที่มีหลักฐานชัดเจนครบถ้วน เป็นสิ่งที่ยังทำและขับเคลื่อนกันต่อไปไม่มีอายุความ

ชาวบ้านต้องการคำตอบว่าใครทำให้ตาย ไม่ใช่แค่ขาดอากาศหายใจตามที่ระบุในใบมรณบัตร ใครสั่งการให้สลายการชุมนุมอย่างโหดร้าย และมีเจ้าหน้าที่หน่วยใดต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียครั้งนี้บ้าง

และไม่ว่าหน้าประวัติศาสตร์กระแสของรัฐไทยจะยอมบันทึกเหตุการณ์ตากใบไว้ในประวัติศาสตร์ฉบับทางการหรือไม่

แต่ประวัติศาสตร์บาดแผลบทนี้ก็คงอยู่ในความทรงจำและคำเล่าขานของผู้คนในพื้นที่ไม่ลบลืม  

อ้างอิง
กองสารนิเทศ กรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด. (๒๕๔๙). “การชี้แจงผลการสอบสวนขั้นต้นในเหตุการณ์ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ที่ อ. ตากใบ”. ใน ๒ ปี ตากใบ ชีวิตที่ต้องการคำตอบ. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

คณะกรรมการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา. (๒๕๔๙). “รายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เรื่องกรณีความรุนแรงที่ตากใบกับปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้”. ใน ๒ ปี ตากใบ ชีวิตที่ต้องการคำตอบ. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗. (๒๕๔๙). “รายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗”. ใน ๒ ปี ตากใบ ชีวิตที่ต้องการคำตอบ. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC). “สรุปการพิจารณาคดีตากใบ กรณีอัยการเป็นโจทย์ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ร่วมประท้วง ๕๙ คน”. ใน ๒ ปี ตากใบ ชีวิตที่ต้องการคำตอบ. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร (บรรณาธิการ). (๒๕๖๖). ลิ้มรสความทรงจำ : ตากใบ. นนทบุรี : ภาพพิมพ์.

จำรูญ เด่นอุดม และคณะ. (๒๕๓๓). เล่าขานตำนานใต้ ตำนานเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง สถานที่ และบุคคลสำคัญของท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

มัทนี จือนารา และคณะ. (๒๕๕๐). “ตากใบ” ในอากาศ : ความทรงจำที่ปลิดปลิวจากความรับรู้. นครปฐม : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (ศพส.) มหาวิทยาลัยมหิดล.

อารีฟิน บินจิ และคณะ. (๒๕๕๘). ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู. พิมพ์ครั้งที่ ๔. สงขลา : มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้.

ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๗.

หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗.

หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๙, ๒๔ มกราคม ๒๕๑๙.

หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๒๗, ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๘, วันที่ ๘, ๒๔, ๒๕ มกราคม ๒๕๑๙.

หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗.

หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๙.

ขอขอบคุณ
นิการีม๊ะ หะยีนิเลาะ, ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์, ผศ.ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์, ณายิบ อาแวบือซา, จริยาภรณ์ กระบวนแสง, จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้ (DSMA)
หอสมุดแห่งชาติ