“ร่องรอย”
พระยาพหลฯ
scoop
ภาพถ่าย : สุเจน กรรพฤทธิ์,
หนังสือ ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลฯ,
ประเวช ตันตราภิรมย์, บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ภาพวาด : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
Image
โรงงานกระดาษไทย 
จังหวัดกาญจนบุรี  
วางศิลาฤกษ์ในปี ๒๔๗๙ เริ่มเดินเครื่องผลิตกระดาษในปี ๒๔๘๑ โดยสังกัดกรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม จากนั้นถูกโอนเข้าสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี ๒๔๘๕ ต่อมา ครม. มีมติยกเลิกกิจการในปี ๒๕๓๐ และขายโรงงานกับเครื่องจักรให้ภาคเอกชน 

ในปี ๒๕๖๖ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีเข้ามาดูแลสถานที่และอาคาร เปิดเป็นลานกิจกรรมสาธารณะ ภายในเขตโรงงาน ศาล และอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ยังคงตั้งอยู่และมีผู้มากราบไหว้เป็นระยะ
Image
โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา 
จังหวัดกาญจนบุรี

สร้างในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ยุคที่ ๒ (หลังสงครามโลก) โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งาน เพื่อรำลึกถึง “พี่ใหญ่” ของคณะราษฎร เพราะ “พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา มีนิวาสถานและสนใจที่จะทำนุบำรุงจังหวัดกาญจนบุรีมาเปนเวลาช้านานแล้ว” โดยมีการวางศิลาฤกษ์ในปี ๒๔๙๔ 
Image
ถ้ำพระยาพหลฯ
จังหวัดกาญจนบุรี 

มีเรื่องเล่าว่า พระยาพหลฯ ชอบไปทัศนาจรนอกเวลาราชการ
Image
โรงงานน้ำตาลไทย 
อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

ปัจจุบันไม่ดำเนินกิจการแล้ว พื้นที่อยู่ในความดูแลของบริษัทเอกชน แต่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ยังเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปคารวะได้
Image
บ้านพักพระยาพหลฯ
ศูนย์การทหารปืนใหญ่ 
ค่ายภูมิพล จังหวัดลพบุรี 

กองวิทยาการ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ระบุทางโทรศัพท์กับสารคดี ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗ ว่า “ปิดปรับปรุง” ไม่มีกำหนด เนื่องจากความร้อนสร้างความเสียหายให้กับสถานที่ (ในทำนอง “ไฟไหม้”) จึงไม่ทราบสภาพสิ่งของและการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนค่ายนั้นถูกเปลี่ยนชื่อไปแล้ว
Image
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
บางเขน กรุงเทพฯ
สร้างเพื่อรำลึกเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช บรรจุอัฐิของทหารและตำรวจ ๑๗ นาย ที่เสียชีวิตขณะต่อสู้กับกบฏ ปัจจุบันหายสาบสูญไร้ร่องรอย
Image
หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ 
ลานพระบรมรูปทรงม้า กรุงเทพฯ

สุนทรพจน์พระยาพหลฯ ในพิธีวางหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๙ ระบุว่า “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ ทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์วางไว้ ณ จุดที่ข้าพเจ้าได้รับอุปโลกน์จากพวกพี่น้องผู้ก่อการให้เป็นผู้นำ และที่นั้นข้าพเจ้าได้ยืนกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อปลุกใจเพื่อนที่เคยร่วมตายทั้งหลาย” เพื่อ “เป็นเครื่องป้องกันการหลงลืม และเพื่อให้เป็นอนุสรณ์สืบต่อไปภายภาคหน้า” โดยที่นี้เป็น “ที่กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเราถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติด้วย” 

หมุดนี้หายสาบสูญตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ และถูกแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส” ปัจจุบันไม่ทราบสถานะของหมุดประหลาดนี้ เนื่องจากกลายเป็นเขตพระราชฐานและมีการล้อมรั้วปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าไปได้อีก
Image
วัดพระศรีมหาธาตุ-
วัดประชาธิปไตย
กรุงเทพฯ

เริ่มก่อสร้างในปี ๒๔๘๕ พล.อ. จรูญ รัตนกุล เสรีเริง-ฤทธิ์ ประธานกรรมการในการสร้างระบุในปี ๒๕๒๕ ว่า “พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ปรารภกับข้าพเจ้าว่าขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปรกติแล้วควรจะทำบุญอะไรสักอย่าง มีความเห็นว่าควรสร้างวัดสักแห่งหนึ่ง” เขาจึงมองว่าที่ดินใกล้ทางแยกบางเขนเหมาะสม และรับมอบภารกิจการเป็นประธานจัดสร้าง โดยเสร็จสิ้นภายใน ๑ ปี จากการออกแบบของกรมศิลปากร 

พระยาพหลฯ ได้อุปสมบทที่นี่ในปี ๒๔๘๘
Image
ซอยท่านผู้หญิงบุญหลง
กรุงเทพฯ

เคยเป็นที่นาของพระยาพหลฯ ต่อมาหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ขอแบ่งซื้อที่ดินเพื่อทำทางเข้าออกจากที่ดินของตนเองซึ่งเป็นที่ตาบอดด้านใน ท่านผู้หญิงบุญหลงเมื่อทราบ ก็ตกลงยกให้หลวงสุวรรณฯ ฟรี ๆ หลวงสุวรรณฯ จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติว่า “ซอยท่านผู้หญิงบุญหลง”
Image
เพลงชาติ
(ปี ๒๔๗๗)

พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) แห่งกรมมหรสพ เป็นผู้แต่งทำนอง ตามคำขอของหลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) นายทหารเรือผู้ใหญ่ซึ่งเป็นสมาชิกคณะราษฎร ในปี ๒๔๗๕ ซึ่งทำให้เขามีปัญหาในชีวิตราชการ เนื่องจากเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง ตำหนิอย่างรุนแรงที่ช่วยเหลืองานคณะราษฎร 

ส่วนเนื้อร้องนั้นมีหลายเวอร์ชัน ของดั้งเดิมแต่งโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) โดยเนื้อร้องมีฉบับไม่เป็นทางการ กับฉบับที่ได้รับการรับรองโดยรวมกับคำร้องของนายฉันท์ ขำวิไล (ฉบับสากล) แต่เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ในปี ๒๔๘๒ จึงมีการประกวดอีกรอบ และคำร้องของพันเอก หลวงสารานุประพันธ์ ที่ชนะเลิศก็กลายมาเป็นเนื้อร้องที่เราร้องกันอยู่ในปัจจุบัน
Image
ถนนพหลโยธิน 
เปิดใช้งานในปี ๒๔๘๓ เดิมชื่อ “ถนนประชาธิปัตย์” เมื่อแรกเปิดมีระยะทางยาวถึงจังหวัดลพบุรี
Image
อุโบสถวัดมณฑป 
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระยาพหลฯ สร้างขณะที่เป็นนายกฯ
Image
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
กรุงเทพฯ

มีเรื่องเล่าว่า พระยาพหลฯ ไม่สามารถหาหมอไปทำคลอดให้ภรรยาร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ ผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะคลอดบุตรในช่วงกลางดึกได้  เรื่องนี้พระยาพหลฯ จำฝังใจ จึงตั้งใจหาทางสร้างหน่วยรักษาพยาบาลทหาร แทนที่จะอาศัยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของสภากาชาดไทยไปเรื่อย ๆ

ต่อมาได้รับโอนโฮเต็ลพญาไทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีการตั้งกองเสนารักษ์ทหารบกประจำไว้ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลทหารบก ในปี ๒๔๘๙ โดยให้สังกัดกรมแพทย์ทหารบก และกลายเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน