เกร็ด ๒๔๗๕ พระยาพหลฯ
นายกฯ ที่ถูกลืม
scoop
รวบรวม : สุเจน กรรพฤทธิ์
๘
จำนวนคนที่พระยาพหลฯ กำหนดให้เข้าร่วมประชุมแกนนำคณะราษฎร ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เพราะถือคติโหรเกี่ยวกับดวงเกิด
๒๗ บาท
เงินที่เหลือในบ้านพระยาพหลฯ (วังปารุสก์) ทำให้การลี้ภัยหรือหลบออกจากพระนครทำได้ยากสำหรับพระยาพหลฯ ซึ่งในเดือนเมษายน ๒๔๗๖ ไม่มีตำแหน่งทางราชการเหลืออยู่ ทั้งยังมีกำลังตำรวจมาล้อมวังปารุสก์อยู่ตลอดเวลา ทำให้พระยาพหลฯ ตัดสินใจยึดอำนาจวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖
ร้อยกว่าบาท
ท่านผู้หญิงบุญหลงเล่าว่า เมื่อพระยาพหลฯ ถึงแก่อสัญกรรม “แทบไม่มีเงินทำศพ มีเงินติดบ้านอยู่เพียงร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง เนื่องจากไม่มีรายได้ทางอื่น อาศัยเงินเดือนจริงๆ เลี้ยงครอบครัวตลอดมา” โดยภายหลังก็ได้รัฐบาลหลวงธำรงฯ ช่วยเหลือและได้รับพระบรมราชานุเคราะห์จัดงาน รวมถึงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเพลิงศพ จึงแก้ปัญหาเรื่องนี้ไปได้
๔๐๐ บาท
จำนวนเงินที่พระยาพหลฯ และท่านผู้หญิงบุญหลงบริจาคเพื่อสร้างวัดพระศรีมหาธาตุ “วัดประชาธิปไตย” ในปี ๒๔๘๕
๑,๖๐๐ บาท
เงินเดือนและเงินบำนาญที่พระยาพหลฯ ได้รับจนถึงแก่อสัญกรรม
ดูดวงไพ่ป๊อก
พระยาพหลฯ เล่าให้ผู้แทนหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฟังในปี ๒๔๘๒ ว่า “...ครอบครัวที่ผมพำนัก แกให้หญิงคนหนึ่งชื่อ เฟลาชินแบกค์ ซึ่งชำนาญดูโชคชะตาด้วยไพ่ป๊อกให้ดูบุตรบุญธรรมของแกคือตัวผมเอง ยายคนนั้นทำนายว่า ผมจะต้องแตกกับเจ้าของครอบครัวนั้น แล้วต่อไปจะได้เป็นใหญ่แล้วจะได้อยู่วัง...”
ต่อมาเมื่อสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเลือกข้างฝ่ายสัมพันธมิตร พระยาพหลฯ ก็ไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวในเยอรมันได้อีกเพราะเป็น “ชนชาติศัตรู” หลังปี ๒๔๗๕ พระยาพหลฯ ยังใช้วังปารุสกวันเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและทำเนียบรัฐบาลจนถึงปี ๒๔๙๐ ซึ่งตรงกับคำทำนาย
๕,๐๐๐ บาท
ประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในคณะราษฎร ระบุว่า “ในเรื่องการหาทุนรอน (เปลี่ยนแปลงการปกครอง) นั้นได้เรี่ยรายกันเองตามความจำเป็น รู้สึกว่าลำบากอยู่มาก เพราะเจียดจ่ายกันเองตามเงินเดือน ปืนผาหน้าไม้ยวดยานพาหนะก็จัดหากันเองทั้งสิ้น สำหรับข้าพเจ้านั้นเป็นหัวหน้าแผนกธนาณัติกรมไปรษณีย์โทรเลขมีเงินอยู่ในกำปั่นหลายหมื่นก็ไม่ได้แตะต้องใช้เงินราชการ คิดตัดใจว่าไม่สำเร็จก็ตาย เงินไม่มีความหมาย การปฏิวัติไม่มีการสอบ สรุปแล้วมีผู้เบิกเงินหมดไปเพียง ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเสนอขออนุมัติตัดยอดไปกระทรวงการคลัง” ทั้งนี้พระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีคนแรก ตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นการปฏิวัติที่ใช้เงินน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับที่อื่นทั่วโลก
นั่งสมาธิในสวน
สิ่งที่พระยาพหลฯ ทำก่อนตัดสินใจเสี่ยงตายขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ปรึกษาพระ
สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี หากเป็นเรื่องพิธีทางศาสนา มีบันทึกว่าพระยาพหลฯ มักไปกราบปรึกษาพระธรรมวโรดม (อยู่ ญาโณทโย) แห่งวัดสระเกศ “เป็นแขกประจำของท่านเสมอ
มิได้ขาด เพื่อปรึกษาสนทนาเกี่ยวแก่พิธีทางศาสนา”
ต่อมาพระรูปนี้ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
นิมิตบอกเหตุที่ญี่ปุ่น
ชาติเสือต้องไว้ลายฯ เล่าว่า วันหนึ่งขณะดูงานในญี่ปุ่น พระยาพหลฯ ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์ พันตรี หลวงสรายุทธสรสิทธิ์ไปสวนสาธารณะอูเอโนะ กรุงโตเกียว พบอนุสาวรีย์ ไซโง ทากาโมริ (Saigo Takamori, ปี ๒๓๗๑-๒๔๒๐) ก็สนใจ ถามล่ามคือร้อยเอกอะมะทัตสุก็ได้คำอธิบายว่าเป็นผู้ปราบอำนาจโชกุน “เชิญพระเจ้าแผ่นดินให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญฯ” แล้วกล่าวว่า “รูป (อนุสาวรีย์) นี้ช่างคล้ายท่านมาก ท่านจะได้เป็นอย่างคนนี้บ้างกระมัง”
ทั้งนี้ ไซโง ทากาโมริ มีเชื้อสายซามูไร มีแนวคิดต่อต้านตะวันตก ต่อสู้เพื่อดึงอำนาจจากโชกุนกลับไปถวายคืน พระจักรพรรดิ มีส่วนก่อตั้งรัฐบาลปฏิรูปเมจิ ภายหลังแตกหักกับรัฐบาลกลายเป็นกบฏ แต่คนญี่ปุ่นก็ยังคงนับถือเขาในฐานะผู้มีจิตวิญญาณซามูไรคนสุดท้าย
ในอีกภารกิจหนึ่ง พันตรี หลวงสรายุทธฯ ขี่ม้าตามขบวนเสด็จฯ พระยุพราชญี่ปุ่น ตรวจพลสวนสนาม ขณะก้าวขึ้นม้ากางเกงขาด เมื่อจบงาน อะมะทัตสุช่วยแก้ปัญหาด้วยการหาเสื้อหนาวมาคลุม จากนั้นให้พันตรี หลวงสรายุทธฯ ไปยืมกางเกงจากบ้านหลาน ไซโง ทากาโมริ (หนึ่งในผู้เชิญไปงานเลี้ยง) ซึ่ง “เป็นสีกากีแกมเขียวคล้ายคลึงกันมาก” พระยาพหลฯ รำลึกว่าคนก็ลือกันเลยคิดสนุกว่า “ผมจะได้เป็นไซโตสยามภายหน้า เพราะสวมกางเกงของหลานไซโตได้เหมาะดี”
ขากลับขณะโดยสารเรือ อะวะมารุ กลับสยาม พระยาพหลฯ นึกสนุก ปลอมเป็นพ่อค้าเพชรไปขอดูลายมือกับหมอดูบนเรือ แต่หมอดูดูแล้วก็บอกว่า “คนนี้ไม่ใช่พ่อค้า เพราะไม่มีเงินในกระเป๋ากี่มากน้อย แต่ต่อไปภายหน้าจะเป็นคนมีชื่อเสียงใหญ่โต ส่วนเงินนั้นไม่ค่อยมี” ซึ่งก็แม่นอย่างน่าอัศจรรย์
๒๕๓๐ (พุทธศักราช)
ครบ ๑๐๐ ปีชาตกาลพระยาพหลฯ ซึ่งทางการไทยไม่มีการจัดงานรำลึกถึง
พินัยกรรมพระยาพหลฯ
มีทั้งหมด ๑๔ ข้อ เปิดในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๙๐ โดยมีหลวงธำรงฯ (นายกฯ) หลวงอดุลฯ (ผบ.ทบ.) และหลวงประดิษฐ์ฯ (รัฐบุรุษอาวุโส) เป็นพยานตามเงื่อนไข ในเนื้อหาระบุการแบ่งทรัพย์สินแก่บุตรภรรยา เช่น บ้านและที่ดินที่เชียงแสน กาญจนบุรี บางซื่อ นอกนั้นก็แบ่งรูปเขียน รูปปั้น ให้บุตรเท่าๆ กัน ทั้งยังสั่งว่าให้จัดงานไม่เกิน ๕๐ วัน และทำแบบเรียบง่าย แต่ก็สายไปแล้ว เพราะพินัยกรรมนี้เปิดขึ้นหลังรัฐบาลจัดงานในระดับรัฐพิธีและมีพิธีพระราชทานเพลิงศพไปแล้ว
๑๔ (กุมภาพันธ์)
วันวาเลนไทน์ในปี ๒๔๙๐ เป็นวันถึงแก่อสัญกรรมของพระยาพหลฯ
ที่มาของนามสกุล
“พหลโยธิน”
รัชกาลที่ ๖ พระราชทานให้พระยาพหลโยธินรามินทราภักดี (นพ) พี่ชายพจน์ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๕๖ โดยทรงตรวจดูแล้วพบว่าผู้มีชื่อเสียงในตระกูลคือ “พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) ผู้เปนบิดาของเจ้า และทั้งตัวเจ้าเองก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณจนได้มีบรรดาศักดิเปนพระยาพหลอีกคน ๑ สมควรอยู่ที่จะให้มีคำว่า ‘พหล’ อยู่ในนามสกุลของเจ้า...”