Image

“เจ้าชายน้อย”
จากหมู่บ้านคัมช็อน

Souvenir & History

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์

เห็นพวงกุญแจ “เจ้าชายน้อย” (The Little Prince) คงแทบไม่ต้องอธิบายว่าเขาคือใคร 

แต่พวงกุญแจนี้ไม่ได้มาจากฝรั่งเศส ประเทศบ้านเกิดของ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี (Antoine de Saint-Exupéry) ผู้แต่งบทประพันธ์ แต่ผมกลับได้มาจากร้านขายของที่ระลึกในสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

ร้านขายของที่ระลึกที่ว่านี้อยู่ในหมู่บ้านคัมช็อน (Gamcheon) จุดเช็กอินที่ได้รับความนิยมติดอันดับต้น ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปเยือนปูซาน ในฐานะหมู่บ้านวัฒนธรรม (cultural village)

แต่เรื่องหนึ่งที่ผมประหลาดใจคือ ผู้ไปเยือนส่วนมากไม่ค่อยสนใจ “ประวัติศาสตร์” หมู่บ้านแห่งนี้มากนัก

จากบอร์ดนิทรรศการและจากการสืบค้น ผมพบว่าคัมช็อนเริ่มก่อร่างสร้างชุมชนขึ้นบนเนินเขาสูงด้านทิศตะวันตกของเมืองปูซานในคริสต์ทศวรรษ ๑๙๒๐  ผู้คนส่วนมากเข้ามาอาศัยเพราะความต้องการแรงงานของธุรกิจท่าเรือที่กำลังเติบโตในเมืองท่า

จนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ สงครามเกาหลี (ค.ศ.๑๙๕๐-๑๙๕๓) ระหว่างเกาหลีเหนือ (หนุนหลังโดยสหภาพโซเวียต) กับเกาหลีใต้ (หนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกา) ก็เกิดขึ้นตามมา  ในการรบช่วงแรกเกาหลีใต้เป็นฝ่ายรับ รัฐบาลต้องถอยมาใช้เมืองปูซานเป็นเมืองหลวงชั่วคราวทดแทนกรุงโซลที่ถูกยึด

Image

ผลคือปูซานกลายเป็นแหล่งหนีภัยสงคราม ผู้อพยพส่วนหนึ่งเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยในคัมช็อน ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านบนเนินเขาสูงชันริมทะเล บ้านไม้ชั่วคราวจึงเรียงรายไปตามเนินตั้งแต่ตอนนั้น

เมื่อสงครามเกาหลียุติ บ้านจำนวนมากก็ร้างและทรุดโทรม คัมช็อนค่อย ๆ หมดชีวิตชีวาไปอย่างเงียบ ๆ แต่ก็กลับมา “เกิดใหม่” อีกครั้งใน ค.ศ. ๒๐๐๙ เมื่อภาคประชาชน กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ตัดสินใจใช้งานศิลปะฟื้นฟูหมู่บ้านให้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและศิลปะ

ศิลปิน นักศึกษาวิชาศิลปะจำนวนมากเข้ามาทดลองทำงานที่นี่ โดยมีชุมชนเป็นดั่งพื้นที่ทดลองมีชีวิต ผลคือลักษณะทางกายภาพของชุมชนเปลี่ยนไป มีการทาสีแนวพาสเทลตามกำแพง บ้าน วาดกราฟฟิตีตามที่ต่าง ๆ ในชุมชน ติดตั้งงานศิลปะ ที่สำคัญคือโครงการ Empty House Residency Project ที่ตั้งใจเปลี่ยนบ้านร้างในคัมช็อนให้เป็นพื้นที่ทดลองศิลปะ (workshop)  ซึ่งตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๒๐๑๕ มีการเชิญศิลปินทั้งในและต่างประเทศมาพักพิงและสร้างงานอย่างน้อย ๑ ปี ผลคือกิจกรรมเหล่านี้เปลี่ยนหมู่บ้านนี้ให้เป็นศูนย์กลางทางศิลปะและวัฒนธรรมในปูซาน 

Image

สถิติใน ค.ศ. ๒๐๑๕ ระบุว่านักท่องเที่ยวไปเยือนคัมช็อนกว่า ๑.๔ ล้านคน โดยที่ที่ไปเช็กอินมากที่สุดคือประติมากรรม
“เจ้าชายน้อย” นั่งชมวิวหมู่บ้านกับ “หมาจิ้งจอก” 

ตรงจุดนี้ผมพบว่ามีคิวถ่ายภาพแทบจะตลอดเวลา ขณะที่อาคารอื่น ๆ เช่น ร้านขายของที่ระลึก กำแพง อาคารเก่า ทุกอย่างล้วนมีเอกลักษณ์ งานศิลปะบางชิ้นเล่าเรื่องหมู่บ้านคัมช็อนไว้อย่างน่าสนใจ

เมื่อแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือใกล้หมด ผมตัดสินใจไม่ต่อแถวชักภาพกับเจ้าชายน้อยและจิ้งจอก หันหลังเดินลงจากเนินเขา ใช้เวลาที่เหลือขากลับเข้าเมืองเดินสำรวจไปตามตรอกซอยลึกลับที่เต็มไปด้วยงานศิลปะและเรื่องเล่า

ส่วนเขา “เจ้าชายน้อย” ผมเก็บกลับบ้านมาเป็นพวงกุญแจแทน