Image
ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๗๙
๒๔๗๕ พระยาพหลฯ
นายกฯ ที่ถูกลืม EP.02
scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : พ.ต. พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ผู้ถือลิขสิทธิ์
พิชญ์ เยาวภิรมย์ สำเนาภาพต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ และสำนักพิมพ์ต้นฉบับ เอื้อเฟื้อไฟล์ภาพ
วิกฤตการณ์
ถอยเข็มนาฬิกากลับไปวันที่ ๒๗ มิถุนายนในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งของวันนี้ มีการหารือกันในหมู่แกนนำคณะราษฎรถึงการตั้ง “กรรมการราษฎร” หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดแรก

นายพันเอก พระยาพหลฯ ตัดสินใจเสนอพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นประธาน (นายกรัฐมนตรี) แต่แกนนำคนอื่นคัดค้าน

อาจารย์ศรัญญูวิเคราะห์ว่า เพราะพระยาพหลฯ คิดว่าพระองค์เจ้าบวรเดช “เป็นเจ้านายหัวก้าวหน้า เคยคัดค้านการตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมมาแล้วในช่วงก่อนปี ๒๔๗๕”

แต่ คำพิพากษาของศาลพิเศษ ปี ๒๔๘๒ เปิดเผยว่า ที่ประชุมแกนนำคณะราษฎรส่วนมากเกรงว่าพระองค์เจ้าบวรเดช “จะปกครองไปในทางแบบเผด็จการ” หลวงประดิษฐ์ฯ จึงเสนอพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ขุนนางระบอบเก่าที่น่าจะมีทัศนะก้าวหน้าและกว้างขวางในต่างประเทศ ที่สำคัญคือ “สนิทสนมกับพระปกเกล้าฯ” จึงหวังว่า “จะได้ทำการสมัครสมานระหว่างคณะผู้ก่อการ กับพระปกเกล้าฯ ได้”

เรื่องนี้ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชวางพระองค์เหินห่างกับนายพันเอก พระยาพหลฯ ทันที

การเลือกพระยามโนฯ ยังทำให้ฝ่ายอำนาจเก่าหรือ “คณะเจ้า” แปลกใจไม่น้อย โดยท่านชิ้นเขียนว่า เป็น “ความประหลาดใจครั้งใหญ่” (the big surprise) 

กล่าวได้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดแรกนั้นเป็น “รัฐบาลปรองดอง คณะเจ้าคณะราษฎร” เพราะมีทั้งขุนนางเก่าและคนคณะราษฎรผสมกัน ฝ่ายคณะเจ้ายังวิจารณ์ว่าคณะราษฎรส่วนมาก “ไม่มีประสบการณ์” ในการบริหาร ในทางกลับกันท่านผู้หญิงละเอียด (ภรรยาหลวงพิบูลฯ) มองว่าผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวนมากก็เป็น “ท่านผู้ใหญ่ผู้มีเกียรติชื่อเสียงในวงราชการ” เสียมากกว่า ไม่ต่างกับคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ประกอบด้วยนักกฎหมายจบจากอังกฤษและเป็นคนระบอบเก่าเสียส่วนมาก มีฝ่ายคณะราษฎรเพียงคนเดียวคือหลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งจบจากฝรั่งเศส

หลวงพิบูลฯ ยังวิจารณ์เอาตรง ๆ ว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังทำ “ร่างขึ้นในอิทธิพลของพระมหากษัตริย์และของพระยามโนฯ” และฝ่ายคณะราษฎรนั้นถ้าไม่ยอม “ก็ถูกขู่เข็ญอย่างเต็มที่”

ช่วงนี้นายพันเอก พระยาพหลฯ นอกจากเป็นสส. ยังเป็นรัฐมนตรีลอย (ไม่มีกระทรวงว่าการ) รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก โดยมีนายพันโทพระยาทรงฯ เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. ฝ่ายยุทธการ จัดการจัดระเบียบกองทัพ โดยใช้ต้นแบบจากสวิตเซอร์แลนด์ที่มีกองทัพขนาดเล็ก โดยยุบหน่วยระดับกองพล กรม ให้เหลือแต่กองพัน ให้แต่ละเหล่า (ราบ ม้า ปืนใหญ่) ขึ้นกับผู้บังคับการเหล่าและขึ้นตรง ผบ.ทบ.

พันตรีพุทธินาถเล่าว่าระยะนี้บิดายกบ้านบางซื่อให้ป้าพิศ (ภรรยาเก่า) ย้ายครอบครัวไปอยู่วังปารุสกวัน ซึ่งคณะราษฎรขอพระราชทานเป็นกองบัญชาการ โดยในวังปารุสก์แบ่งเป็น “ตึกทหาร” (ตำหนักจิตรลดา) ติดถนนศรีอยุธยา ใช้เป็นที่ทำการฝ่ายทหารและ “คุณพ่อย้ายครอบครัวมาอยู่ชั้นบนของตึกนี้ ซึ่งพี่ชาย ตัวผม และน้องสาวอีกสองคนถือกำเนิดที่นี่” โดยมีนายพันโทพระยาทรงฯ อาศัยอยู่อีกด้านของตึก ขณะที่ “ตึกพลเรือน” ด้านติดถนนพิษณุโลก เป็นที่ทำการคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ที่มีหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นแกน
"ถ้าข้าราชการของพระองค์ (รัชกาลที่ ๗) ไม่โลภก็คงจะตลอดรอดฝั่งไปได้"

พระยาพหลฯ กราบบังคมทูลฯ รัชกาลที่ ๗ หลังทรงถามถึงอนาคตของระบอบรัฐธรรมนูญ

Image
ถ่ายหลังจากการ “ผจญภัยทางทะเล” ก่อนพบกับการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนฯ ในวันที่ ๑​ เมษายน ๒๔๗๖
แต่ถึงจะอยู่วังเดียวกัน ช่วงนี้กลับเกิดรอยร้าวระหว่างนายพันเอก พระยาพหลฯ กับนายพันโท พระยาทรงฯ คำพิพากษาของศาลพิเศษฯ เล่าถึงการลอบประชุมผู้บังคับกองพันในตึกทหารโดยนายพันเอก พระยาพหลฯ ไม่ทราบ จนครั้งหนึ่งนายพันเอก พระยาพหลฯ มารับแขกนอกตึก พอจะกลับขึ้นตึก ทหารยามไม่ให้ขึ้นและอยู่ในท่า “เตรียมแทง” พอพระยาทรงฯ มาดู ก็แก้ตัวว่า “ทหารไม่รู้จักผู้บังคับบัญชา” มีการวิเคราะห์ว่า ท่าทีนี้แสดงถึงความมุ่งหมายแย่งชิงอำนาจของนายพันโท พระยาทรงฯ

มิถุนายน-มีนาคม ๒๔๗๕ (นับตามปฏิทินเก่า) รัฐสภาและคณะกรรมการราษฎรก็ยุ่งอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ครม. ยังเร่งให้หลวงประดิษฐ์ฯ ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดยประสานงานกันอย่างใกล้ชิดและคอยกราบบังคมทูลรายงานรัชกาลที่ ๗ จนพอพระทัย ถึงกับครั้งหนึ่งตรัสว่าพระองค์ก็เป็น “โซเชียลลิสต์” (สังคมนิยม) เหมือนกัน

เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ต่อมารู้จักในชื่อ “สมุดปกเหลือง” มีเนื้อหาโดยย่อคือ รัฐบาลจะประกันความเป็นอยู่ประชาชน ๑๑ ล้านคน (ขณะนั้น) ผ่านระบบสหกรณ์ ให้ทุกคนมีสถานะคล้ายรับราชการ รัฐจัดซื้อที่ดินมาบริหาร มีรายละเอียดการตั้งหน่วยงานทางเศรษฐกิจ (สหกรณ์, ธนาคารกลาง) การเก็บภาษีมรดก โดยยืนยันว่าไม่มีการยึดที่ดินคนมั่งมี และมีกฎหมายอีกสองฉบับที่จะออกบังคับใช้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปได้

แต่ข้อกล่าวหา “คอมมิวนิสต์” ก็ดังขึ้น เกิดแรงต้านในกรรมการราษฎร แม้หลวงประดิษฐ์ฯ จะชี้แจงในเอกสารว่ามองความเป็นจริงและนำ “ส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นเหมาะสม...ยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ”

ไม่นานปัญหาก็ลุกลาม เกิดความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี แม้ว่าหลวงประดิษฐ์ฯ ส่งสัญญาณ “ถอย” ยอมแก้เนื้อหาและย้ำว่าเป็นข้อเสนอทางนโยบาย แต่ข้อหาคอมมิวนิสต์ก็กลบเรื่องนี้ไปทั้งหมด

พระยามโนฯ ยังนำ “สมุดปกขาว” ที่เชื่อว่าเป็นพระบรมราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ ๗ เข้า ครม. ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของสหกรณ์ ปัญหาการเก็บภาษีมรดกที่จะทำได้แค่สามรุ่น ตั้งคำถามว่าราษฎรจะกลายเป็น “ทาส” วิจารณ์ความพยายามตั้งสมาคมคนงานว่าจะเป็นที่หาประโยชน์ของหัวหน้าคนงาน กระทบกระเทียบว่า “สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้”

ขณะที่นายพันเอก พระยาพหลฯ มองว่า “ถ้าได้แก้ไขเสียก็ใช้ได้” นอกจากนี้ยังได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๗ ที่หัวหิน และถูกตรัสถามว่าระบอบรัฐธรรมนูญ “จะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่” หัวหน้าคณะราษฎรจึงกราบบังคมทูลตอบว่า “ถ้าข้าราชการของพระองค์ไม่โลภ ก็คงจะตลอดรอดฝั่งไปได้”

ทั้งนี้ในการประชุม ครม. วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๕ (นับตามปฏิทินเก่า) นายพันเอก พระยาพหลฯ ยังยับยั้งไม่ให้หลวงประดิษฐ์ฯ ลาออก แต่เมื่อมีการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับ เขาเลือก “งดออกเสียง”  ขณะที่พระยามโนฯ อยู่ฝ่ายชนะมติ สถานการณ์ตึงเครียดยังเกิดขึ้นที่สภา ด้วย สส. ที่สนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯ ยังทวงถามถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจ เกิดความขัดแย้งเมื่อรัฐบาลส่งทหารมาค้นอาวุธ สส. ทำให้มีการโจมตีพระยามโนฯ ว่าเป็น “มโนเครซี” (เผด็จการพระยามโนฯ)
"คุณรักตัวหรือรักบ้านเมือง"

พระยาพหลฯ ถามหลวงพิบูลฯ ก่อนจะร่วมวางแผนทำรัฐประหาร วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖

ถ่ายเมื่อเปลี่ยนการปกครองใหม่ วังปารุสกวัน ปี ๒๔๗๕
Image
น่าแปลกที่ช่วงนี้พระยามโนฯ แนะนำให้นายพันเอก พระยาพหลฯ ไปพักผ่อน เขาจึงไปกาญจนบุรีในช่วง ๓๑ มีนาคม ๒๔๗๕-๑ เมษา-ยน ๒๔๗๖ เพราะมองว่าที่วุ่นวายอยู่เป็นเรื่อง “...หยุมหยิม ก็คาดหมายว่าจะตกลงกันได้ในที่สุด ไม่ได้คิดเลยว่าจะกลายเปนเรื่องใหญ่โต”

ขากลับ นายพันเอก พระยาพหลฯ และคณะนั่งเรือออกจากปากน้ำแม่น้ำแม่กลองสู่อ่าวไทยทางจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อเข้ากรุงเทพฯ ทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่พบคลื่นลมแรง จนเรือยนต์ ราชบุรี ที่โดยสารเกือบล่ม กว่าจะเทียบท่าที่สมุทรสาครเพื่อต่อเรือเล็กเข้าพระนครก็ล่าช้า จนเข้าสู่ ๐๒.๐๐ น. ของวันใหม่ แทนที่จะเป็น ๒๐.๐๐ น. ตามกำหนดเดิม  ในความเรียง “ผจนภัยไนทเล” นายพันเอก พระยาพหลฯ เล่าว่าเขาสังหรณ์ถึง “เหตุการน์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นในเบื้องหน้า”

เมื่อถึงพระนคร “พระยามโนฯ เอาประกาศ (พระราชกฤษฎีกา) ปิดสภาผู้แทนราษฎรมาให้ลงนาม”

สภาพที่ไม่มีเวลาสืบสาวเรื่องราว ทำให้ “ต้องรำลึกถึงความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ ผมจำต้องตัดความรักใคร่ในหลวงประดิษฐ์ฯ และหน้าที่ซึ่งผมพึงมีต่อประเทศออกไปเปนคนละส่วน และเข้าร่วมชื่อ...” (ประชาชาติ, ๗ เมษายน ๒๔๗๖) ในฐานะรัฐมนตรีผู้สนองพระบรมราชโองการ

แต่หลังจากนั้นพระยามโนฯ ก็ออกคำแถลงการณ์ของรัฐบาล โจมตีหลวงประดิษฐ์ฯ อย่างรุนแรงว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ แล้วบีบให้หลวงประดิษฐ์ฯ ออกนอกประเทศในวันที่ ๑๒ เมษายน 

ตามด้วยพิมพ์สมุดปกขาวแจกอีก ๓,๐๐๐ ฉบับ โดยแหล่งทุนนั้นชัดเจนว่ามาจากเครือข่ายคณะเจ้า (ประชาชาติ, ๒๐ เมษายน ๒๔๗๖)
๒๐ มิถุนาฯ - ยึดอำนาจ
เพื่อเปิดสภา

วันที่หลวงประดิษฐ์ฯ ลงเรือที่ท่าเรือ บี.ไอ. เพื่อออกนอกประเทศ มีคนจำนวนมากไปส่งทำให้ท่าเรือแน่นขนัด จนเอกชนเจ้าของท่าพยายามปิดประตูทางเข้า

เมื่อนายพันเอก พระยาพหลฯ ไปถึงจึงต่อรองกับผู้จัดการฝรั่งว่าหากเกิดความเสียหาย “จะยอมรับใช้ให้” ปัญหาจึงจบลงได้  เมื่อพบหลวงประดิษฐ์ฯ เขาก็ “สวมพวงมาลัยอันร้อยกรองอย่างวิจิตร...โผผวาเข้ากอดจูบหลวงประดิษฐ์ฯ อย่างมิได้เกิดความขวยเขินแต่ประการใด...ดุจหนึ่งชายหนุ่มและหญิงสาวที่มีความปฏิพัทธ์ต่อกัน...สุดแสนจะสะท้อนสะท้านใจแก่ผู้ประสบพบเห็นทั่วไป...”

เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ไปแล้วก็ปรากฏว่า “สี่ทหารเสือคณะราษฎร” คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระประศาสน์ฯ และพระยาฤทธิอัคเนย์ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งทางทหารพร้อมกัน และขอให้ใบลามีผลวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ กุหลาบระบุใน ประชาชาติ วันที่ ๑๙ มิถุนายน ว่านายพันเอก พระยาพหลฯ ลาออกด้วยความรู้สึก “ขมขื่นอย่างที่สุด” และเป็นสถานการณ์ผิดปรกติ

สันนิษฐานว่านายพันเอก พระยาพหลฯ ลาออกเพื่อแก้สถานการณ์ที่โดนกดดันอย่างหนัก โดยหวังให้รัชกาลที่ ๗ ทรงเรียกไปถาม ส่วนนายพันโท พระยาทรงฯ อยากให้พระยาพหลฯ ลาออก จึงอ้างว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ทหารควรถอยจากการเมือง แต่แผนจริงคือรอให้พระยามโนฯ แต่งตั้งตนกลับมาแทนที่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ส่วนนายพันโท พระประศาสน์ฯ และนายพันโท พระยาฤทธิอัคเนย์ ทำตามแผนพระยาทรงฯ

แต่เกมพลิก เพราะพระยามโนฯ ไม่ไว้ใจพระยาทรงฯ กลับไปตั้งพลตรี พระยาพิชัยสงครามเป็น ผบ.ทบ. และตั้งหลวงพิบูลฯ เป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. ฝ่ายยุทธการ เพราะทราบดีว่าหลวงพิบูลฯ ไม่ถูกกับพระยาทรงฯ
รัฐประหาร ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ คือการยุติกระบวนการรื้อฟื้นระบอบเก่า นำรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ กลับมาใช้ และเปิดสภาอีกครั้ง
Image
บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรยุคแรกหลังปี ๒๔๗๖ จะสังเกตเห็นไมโครโฟนแบบห้อยแขวน
หนังสือ ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า ของ ประยูร ภมรมนตรี เล่าว่า หลวงพิบูลฯ ไปเจรจากับพระยาศรีฯ ให้รับตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วนตัวเขาถวายคำรับรองกับรัชกาลที่ ๗ ว่าหลวงพิบูลฯ จะไม่ก่อปัญหา แต่ต่อมาหลวงพิบูลฯ พบว่าพระยาศรีฯ เตรียมย้ายนายทหารคณะราษฎรออกจากตำแหน่งคุมกำลังและ “คิดทำลายผู้ก่อการฯ” ทั้งยังหาทางย้ายตัวเขาด้วย

จึงทาบทามพระยาพหลฯ ให้เป็นหัวหน้ายึดอำนาจคืน

ยังปรากฏบันทึกของ จิตตะเสน ปัญจะ สมาชิกคณะราษฎร เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สั่งประหารผู้ก่อการ ๒๔๗๕ ที่เปิดเผยในปี ๒๕๔๒ (หลังเหตุการณ์ ๖๖ ปี) ว่ารัชกาลที่ ๗ มีพระบรมราชโองการประหารคณะผู้ก่อการ ๒๔๗๕ โดยใช้รายชื่อคณะราษฎรที่เข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษหลังอภิวัฒน์สองหนคือ ๗ และ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๕ “บนวังสวนจิตร์ฯ ชั้นบน” เป็นรายชื่อคนที่จะโดนประหาร

แต่ปรากฏว่าอาลักษณ์ที่เขียนราชโองการพบชื่อจิตตะเสนจึงตกใจ นำมาให้เขาดู จนรู้ว่าวันประหารคือ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ และพวกเขาจะโดนเอาศีรษะเสียบประจาน ๗ วัน

เรื่องนี้พลเอกบัญชรมองว่าไม่น่าเชื่อถือโดยสังเกตว่าการขอพระราชทานอภัยโทษน่าจะเกิดขึ้นที่วังศุโขทัยทั้งหมด แต่เอกสารเขียน “วังสวนจิตร์”  อย่างไรก็ตามหลักฐานชิ้นนี้ยังต้องถูกประเมินต่อไป

นายพันเอก พระยาพหลฯ เปิดเผยในเวลาต่อมาว่าคนที่เร่งให้ยึดอำนาจคือหลวงธำรงนาวา-สวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ที่ “มาพูดกับผมด้วยน้ำตาถึงสองสามครั้ง” แม่พิศ (อดีตภรรยา) ที่ “รบเร้าอยู่ทุกวัน” คุณหญิงลิ้นจี่ ภรรยา ดร. ประจวบ บุนนาค (คณะราษฎรสายพลเรือน) ที่ “ชี้หน้าด่าผมว่า ลูกผู้ชายทำแล้วให้คนอื่นเขามาชุบมือเปิบ จะมานั่งพุงกระเพื่อมอยู่ทำไม”

ไม่นับว่าเวลานั้นมีเงินติดตัวเพียง ๒๗ บาท จะหนีก็ลำบาก

นายพันเอก พระยาพหลฯ จึงตัดสินใจเรียกหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) มาคุย แล้วไปพบหลวงพิบูลฯ ถามว่า “คุณรักตัวหรือรักบ้านเมือง  เขา (หลวงพิบูลฯ) ตอบว่าเขารักชาติบ้านเมืองมากกว่า ผมบอกว่างั้นคุณสาบานมา เขาก็พนมมือว่าตามผมบอก” แล้วพระยาพหลฯ ก็วางแผนยึดอำนาจพระยามโนฯ

ยาสุกิจิ ยาตาเบ ทูตญี่ปุ่นบันทึกว่า ในคืนวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๗๖ นั้นเอง มีการเคลื่อนกำลังทหารเรือและกำลังทหารของหลวงพิบูลฯ มาขับไล่ตำรวจของรัฐบาลที่เฝ้าวังปารุสก์ราว ๑๐ คนออกไป

เช้าวันที่ ๒๐ มิถุนายน เขาก็เห็น “กองกำลังปืนกล รถเกราะและรถถังถูกระดมพลไว้ที่หน้าพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งที่หน้าสถานที่ราชการสำคัญ” และมีการตั้งศูนย์บัญชาการที่วังปารุสก์

ผศ. ดร. ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นิยามการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า ทำเพื่อยุติการรื้อฟื้นระบอบเก่า นำรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ กลับมาใช้ และเปิดประชุมสภา “หาได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญเหมือนครั้งอื่น ๆ ที่ตามมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่อย่างใด”

อาจารย์ศรัญญูยังวิเคราะห์ว่า ที่คนรุ่นหลังรับรู้ว่าการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นการเริ่มวงจรรัฐประหารโดยทหารนั้น การตีความหมายแบบนี้เกิดขึ้นหลังคณะราษฎรหมดอำนาจในทศวรรษ ๒๔๙๐ ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมใส่ “ความหมายใหม่” ลงไป โดยละเลยว่า

การปิดสภาเมื่อ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ ต่างหาก

คือการรัฐประหารครั้งแรกที่ผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
พระยาพหลฯ นำคณะรัฐมนตรีถวายตัวต่อรัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระราชินี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
“นายกฯ คนแรก”
จากคณะราษฎร

ในที่สุด นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒

อาจารย์ศรัญญูชี้ว่า การที่หลวงพิบูลฯ เป็นกำลังหลักในการยึดอำนาจรอบนี้ ทำให้บทบาทหลวงพิบูลฯ โดดเด่นขึ้น เช่นเดียวกับหลวงศุภชลาศัย (บุง) ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารเรือ

ส่วนนายพันเอก พระยาพหลฯ แถลงว่าจะเป็นนายกฯ แค่ ๑๐-๑๕ วัน ก่อนจะมอบอำนาจให้ผู้ที่มีความเหมาะสมบริหารประเทศต่อไป

พลเอกบัญชรยังวิเคราะห์ว่า ความใจกว้าง พูดน้อย ไม่สันทัดเกมการเมืองของนายพันเอกพระยาพหลฯ ทำให้เขาทำหน้าที่เพียงให้นโยบายรัฐมนตรีไปปฏิบัติ ดึงคนมีความสามารถอย่าง ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ อดีตขุนนางในระบอบเก่ามาเป็นที่ปรึกษา ส่วนกรณีหลวงประดิษฐ์ฯ ก็บอกนักข่าวว่าจะยังกลับมาไม่ได้ จนกว่า “จะเลือกตั้ง (สส.ประเภทที่ ๑ ช่วงปลายปี ๒๔๗๖) เสร็จเรียบร้อย”

“ท่านเชื่ออาจารย์ปรีดี แม้จะเคยไปส่ง แต่พอเป็นนายกฯ ก็ยังคงพูดว่าจะยังไม่เอาหลวงประดิษฐ์ฯ กลับมาทันที เพราะคนยังสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องสืบสวนก่อนให้มั่นใจก่อน ท่าทีนี้ต่างกับหลวงพิบูลฯ ที่อยากจะเอากลับมาทันที” พลเอกบัญชรอธิบาย

ถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖ นายพันเอกพระยาพหลฯ ก็ทำหนังสือกราบบังคมทูลฯ ลาออกถวายเหตุผลว่า ต้องการทำงานในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ให้เต็มที่ การควบตำแหน่งนายกฯ ด้วยยัง “เป็นที่น่าครหา...การจะกลายเป็นว่าสยามดำเนินการปกครองโดยใช้อำนาจทหาร มีรัฐธรรมนูญไว้บังหน้า พลอยเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยอีกสถานหนึ่ง”

แต่รัชกาลที่ ๗ ทรงตอบว่าไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีเสียงครหาดังกล่าว ทรงชี้ว่าพระยาพหลฯ มีคุณสมบัติเหมาะ ทั้ง “มีหนังสือมาขอลาออก...ตามที่กล่าวไว้แล้ว เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าท่านจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยคำขอร้องของข้าพเจ้า ก็ไม่ได้ชื่อว่าท่านเสียสัตย์...” โดยพระราชทานหนังสือเนื้อหาเดียวกันไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้รัฐสภา “สนับสนุนคำร้องของข้าพเจ้านี้ด้วย”

นายพันเอก พระยาพหลฯ จึงต้องเป็นนายกฯ ต่อไปจากความเห็นชอบของรัฐสภาและรัชกาลที่ ๗ 

ที่น่าประหลาดใจคือ นายกฯ ขอให้หม่อมเจ้าสกลวรรณากรชี้แจงแทนตนหรือคณะรัฐมนตรีในสภาได้ ซึ่งก็ได้รับความยินยอมจากสภา ที่ยิ่งสวนทางกับคนอื่นคือขอให้คงเงินเดือนนายกฯ ที่ ๑,๕๐๐ บาทต่อเดือนเท่ากับรัฐมนตรี แม้ว่าผู้แทนราษฎรมองว่าน้อยเกินไป เพราะมองว่าเป็นภาษีราษฎร โดยตัวเขาเอง “เรื่องเงินทองนั้นตายด้าน ขอให้เข้าใจด้วย”

หลังจากนั้น รัฐบาลพระยาพหลฯ บริหารประเทศตั้งแต่ปี ๒๔๗๖-๒๔๘๑ มีตำหนักจิตรลดา “ตึกทหาร” วังปารุสก์เป็นทำเนียบ พันตรีพุทธินาถเล่าชีวิตประจำวันของบิดาในวังว่านอกจากงานนายกฯ ด้านการดูแลครอบครัวก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป “พ่อสอนหนังสือแบบปู่ เขียนอักษรไว้บนกระดานชนวน ตอนเย็นกลับมาก็จะให้ผมอ่านให้ฟัง อ่านได้ก็ลูบศีรษะ อ่านไม่ได้ผมก็โดนตี เวลางาน ท่านอยู่บนห้องทำงานชั้น ๒ จำได้ว่าครั้งหนึ่งพี่สาวเข้าไปเล่นซน โดนดุลั่นวัง พี่สาวกลัวจนแทบหาทางออกไม่ได้ทั้งที่ห้องนั้นมีประตูมากมาย”
"เวลาทำงานพ่อ (พระยาพหลฯ) ใช้ห้องชั้น ๒ (ของวังปารุสก์)"

พ.ต. พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา
กล่าวถึงบิดาสมัยเป็นนายกฯ

Image
ปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๗) พื้นที่วังปารุสก์ด้านติดถนนศรีอยุธยาเป็นพิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสก์ ตำหนักจิตรลดา (ตึกทหาร) เป็นที่จัดนิทรรศการถาวรที่ไม่มีเรื่องพระยาพหลฯ ปรากฏอยู่ อีกส่วนที่เป็น “ตึกพลเรือน” ยังคงเป็นพื้นที่ปิด เนื่องจากเป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อาจารย์ศรัญญูอธิบายว่ารัฐบาล “พระยาพหลฯ ๑” ใช้นโยบาย “แก้ไข-ไม่แก้แค้น” ไม่เอาเรื่องพระยามโนฯ แม้คณะราษฎรสายพลเรือนจำนวนหนึ่งต้องการเช็กบิล แต่พระยาพหลฯ ขอให้ “ประนีประนอม ไม่อยากเสียเลือดเนื้อ เพราะมองว่าพระยามโนฯ เป็นแค่ตัวกลางระหว่างคณะราษฎรกับพระปกเกล้าฯ  จะเห็นว่าหลัง ๒๐ มิถุนายน จะมีคณะราษฎรสายพลเรือนจำนวนหนึ่งลาออก ซึ่งพวกนี้เป็นสายสุดขั้วที่จะเอาเรื่อง”
ปราบกบฏบวรเดช
สี่เดือนหลังโค่นพระยามโนฯ เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นมากมาย

คำพิพากษาศาลพิเศษ ๒๔๘๒ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มเจ้านายนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช สอดคล้องกับที่ ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าใน สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ว่าขณะอยู่วังไกลกังวล หัวหิน มีคนไปมามาก กล่าวถึงพระราชวงศ์ องค์หนึ่งซึ่ง “ขอพระราชทานอนุญาตว่าจะเปลี่ยนแปลงใหม่” แต่ในหลวงทรงไม่เห็นด้วย

ยังมีเหตุการณ์ที่เป็นที่ถกเถียงต่อมาคือราชเลขานุการในพระองค์ทาบทามนายพันเอก พระยาพหลฯ ว่าจะพระราชทานเงิน ๒ แสนบาทโดยไม่ระบุจุดประสงค์ แต่นายกฯ ปฏิเสธ ท่านชิ้นเขียนในเวลาต่อมาว่าในหลวงรัชกาลที่ ๗ เพิ่งมาทรงทราบเรื่อง “ติดสินบน” นี้ ก่อนเสด็จสวรรคตไม่นาน

พอถึงเดือนกันยายน ๒๔๗๖ รัฐบาลพระยาพหลฯ ก็เรียกหลวงประดิษฐ์ฯ กลับประเทศ และเตรียมการเลือกตั้ง สส. ประเภท ๑ (เลือกโดยอ้อมจากผู้แทนตำบล) ในเดือนธันวาคม

ทว่า ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ ก็เกิดมี “คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ยกกำลังทหารจากนครราชสีมาตามทางรถไฟ ยึดกรมอากาศยานดอนเมือง ขยายแนวลงมาที่สถานีหลักสี่ คลองบางเขน ยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก โดยยังมีทหารอีก ๑๙ กองพันที่จะมาล้อมพระนคร ซึ่งหนึ่งในกลุ่มทหารหัวเมืองนั้นมีนายพันเอก พระยาศรีฯ เพื่อนสนิทนายพันเอก พระยาพหลฯ ซึ่งผิดใจกันมาตั้งแต่ครั้งอภิวัฒน์ ๒๔๗๕

ในความเป็นจริง รัฐบาลพระยาพหลฯ ทราบเบาะแสกบฏมาบ้างแล้วและเตรียมพร้อมอยู่ระดับหนึ่ง โดยก่อนเกิดเหตุ ๑ วัน นายพันเอกพระยาพหลฯ ไปเยี่ยมทหารที่ราชบุรี บังเอิญพบกับนักบินที่นำเครื่องบินทหารมาลงสนามบิน ถามจนได้ความว่าพระองค์เจ้าบวรเดชให้มาชวนทหารราชบุรี “ส่งกำลังสมทบเข้าตีพระนคร” นายพันเอก พระยาพหลฯ จึงกลับพระนครทันที แล้วตั้งหลวงพิบูลฯ เป็นผู้บังคับกองกำลังผสม รวมกำลังทหารในกรุงเทพฯ ต่อสู้กับกลุ่มกบฏ และมีการรบกันไปตามรางรถไฟสายอีสานยาวนานกว่า ๒ สัปดาห์ (ดูรายละเอียด “กบฏบวรเดช” แบบเจาะลึกได้ใน สารคดี ฉบับที่ ๔๖๓)

จากการค้นคว้าแฟ้ม “กบฏบวรเดช” ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ผมพบว่านายพันเอกพระยาพหลฯ เฝ้าดูสถานการณ์ที่วังปารุสก์ให้หลวงพิบูลฯ มีบทบาทนำในสนามรบและคอยร่างแถลงการณ์ให้อนุมัติเป็นครั้ง ๆ ผ่านโทรเลขเข้ารหัส
Image
ประชาชนชาวพระนครจำนวนมากออกมาต้อนรับทหารฝ่ายรัฐบาลที่กลับจากการไปปราบกบฏบวรเดชในช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๔๗๖
พลเอกบัญชรมองว่าในธรรมเนียมทหาร หากมอบอำนาจให้ผู้บังคับการในสนามรบเป็นเรื่องปรกติที่หลวงพิบูลฯ จะเป็นคนนำ ยิ่งเมื่อคิดถึงความเป็นจริงว่า ในเหตุการณ์นี้ทหารเรือวางตัวเป็นกลางไม่ฟังคำสั่งรัฐบาล มีการประกาศกฎอัยการศึก ก็ยิ่งทำให้หลวงพิบูลฯ มีอำนาจมาก

เมื่อปราบกบฏเสร็จในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ พระองค์เจ้าบวรเดชก็ลี้ภัยไปที่เมืองไซ่ง่อน อินโดจีนของฝรั่งเศส พระยาศรีฯ ถูกยิงเสียชีวิตในการรบที่สถานีหินลับ ทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิต ๑๗ คน บาดเจ็บ ๕๙ คน รัฐบาลจัดงานศพให้วีรชน ๑๗ นาย โดยทำ “เมรุสามัญชน” ครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง

จากนั้นตั้งศาลพิเศษดำเนินคดีผู้ต้องหากว่า ๖๐๐ คน ออก พ.ร.บ. จัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กักบริเวณผู้ต้องสงสัยว่าจะล้มล้างรัฐธรรมนูญถึง ๑๐ ปี มีโทษปรับ ๕๐๐-๕,๐๐๐ บาท จำคุก ๓-๒๐ ปี ซึ่งต่อมาถูกวิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต

อาจารย์ศรัญญูมองว่ากฎหมายนี้ “เพื่อป้องปราม เพราะเมื่อมีการกล่าวหา จะมีคณะกรรมการพิจารณาดูหลักฐาน ส่วนการจำกัดบริเวณ ผู้ถูกกักก็มีอิสระกว่าถูกจำขังในคุก เป็นการลดบทบาททางการเมือง กฎหมายนี้ออกโดยรัฐสภา ศาลพิเศษก็ตั้งขึ้นพิจารณาคดีกบฏโดยเฉพาะ ตัดสินจบก็หมดสภาพ ต่างกับมาตรา ๑๗ ของจอมพลสฤษดิ์และศาลพิเศษในยุคหลังที่มีมากและฝังตัวในระบบการเมืองอย่างถาวร”

ต่อมาหลังเลือกตั้ง สส. ประเภท ๑ สส. ชุดใหม่ที่เปิดประชุมในเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ ก็นำประเด็นหลวงประดิษฐ์ฯ มาทวงถามรัฐบาล “พหลฯ ๒” โดย ฟัก ณ สงขลา สส. อุตรดิตถ์ เสนอญัตติให้สภาตั้งกรรมการสืบ เพราะ “ยังเคลือบคลุมอยู่” ต้องการให้ “ประจักษ์ชัดแจ้งลงไปว่ามีมลทินหรือไม่” โดยสภาตั้งกรรมาธิการชุดหนึ่ง มีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศเข้าร่วมด้วยสองคนตามความต้องการของนายพันเอกพระยาพหลฯ ที่ต้องการให้มีคนนอกเพื่อความเป็นกลางมากที่สุด

โดยกรรมาธิการมุ่งสอบแนวคิดหลวงประดิษฐ์ฯ มากกว่ามุ่งไปที่สมุดปกเหลือง “ซึ่งเป็นของที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้” และเป็นเพียงข้อเสนอเชิงนโยบาย ผลออกมาว่าไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านในสภามองว่าต้องพิจารณาสมุดปกเหลืองด้วยเพราะเป็นชนวน แต่สภาก็ลงมติรับรองการสอบสวน

ต่อมานายพันเอก พระยาพหลฯ เปิดใจต่อสภาว่า ตนพยายามรักษาความเป็นกลางไว้ โดยรำลึกถึงคราวที่ส่งหลวงประดิษฐ์ฯ ไปต่างประเทศว่า ที่ตนแสดงอาการอาลัยชัดเจนเพราะ “...รู้อยู่เต็มใจว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมิได้เป็นไปดังคำกล่าวหานั้น...ข้าพเจ้าแสดงให้แลเห็นว่า คนดีถูกกล่าวหา แต่เรื่องเช่นนี้ข้าพเจ้ารู้สึกอยู่แต่ในใจข้าพเจ้า และได้บอกหลวงประดิษฐ์มนูธรรมทีหลังว่า คุณหลวงมีความรู้ แต่ขาดความรู้ในทางน้ำใจของพวกเราบางคน ข้าพเจ้าเองโดนมาอย่างนี้โดยหลายครั้งหลายหนแล้ว...หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรู้แต่เพียงเท่าที่ได้เคยไปเรียนมาจากต่างประเทศ จึงพลาดท่าเสียทีถึงกับนอนหงายเช่นนี้...”
การประนีประนอม
ที่ล้มเหลว

อาจารย์ศรัญญูมองว่าการปราบกบฏบวรเดชคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้รัฐบาลพระยาพหลฯ “มั่นคงทางการเมืองมากขึ้น” เพราะนั่นหมายถึงการพ่ายแพ้ของ “คณะเจ้า” ส่งผลโดยตรงต่อสถานะในหลวงรัชกาลที่ ๗

ด้วยในช่วงปลายเหตุการณ์ พระองค์เลี่ยงการปะทะและเลือกข้างด้วยการไปประทับที่สงขลายังมีคำครหาว่าพระองค์มีส่วนสนับสนุนกบฏ จนเกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับราชสำนัก การตั้งศาลพิเศษยังส่งผลให้มีข้าราชบริพารใกล้ชิดจำนวนหนึ่งถูกตั้งข้อหาด้วย

เข้าสู่เดือนมกราคม ๒๔๗๖ (นับตามปฏิทินเก่า) รัชกาลที่ ๗ ตัดสินพระทัยเสด็จประพาสยุโรป ก่อนไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ โดยก่อนเสด็จฯ ออกจากสยามตรัสทางวิทยุช่วงหนึ่งว่าจะทรงถือโอกาส “เจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้ดียิ่งขึ้นด้วย” และทรง “...ไว้วางใจในคณะรัฐบาลซึ่งมีนายพันเอกพระยาพหล-พลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่อย่างเต็มที่...”

ทว่าเมื่อประทับในอังกฤษ รอยปริร้าวก็ชัดเจนเมื่อทรงวีโต้ (ยับยั้ง) กฎหมายสี่ฉบับที่ผ่านสภา คือ ร่าง พ.ร.บ. อากรมฤดกและการรับมฤดก พุทธศักราช ๒๔๗๖ ที่ทรงต้องการให้เพิ่มข้อความเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้อง
พระยาพหลฯ ยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลทำ มิได้ตั้งใจขัดพระทัยรัชกาลที่ ๗
แต่เพื่อ "ให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ"

ผู้ก่อการสายทหาร
ถ่ายที่หน้าวังปารุสกวัน ในปี ๒๔๗๕

กฎหมายอีกชุดคือร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ. ๒๔๗๗  ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะกฎหมายอาชญา ฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๗ และร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ ที่เนื้อหา
เกี่ยวเนื่องกัน เพราะทรงมองว่าอำนาจพระราชทานอภัยโทษถูกลดทอนลง

แต่สภาก็ลงมติยืนยัน โดย สส. ปราจีนบุรีระบุว่าการทักท้วงของพระองค์อนุโลมตามไม่ได้เพราะเป็นการ “นอกเหนือรัฐธรรมนูญ” และยืนยันอำนาจสภาที่ได้รับฉันทะจากประชาชน

ตุลาคม ๒๔๗๗ รัชกาลที่ ๗ ทรงโทรเลขแจ้งผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระนครไปยังนายพันเอก พระยาพหลฯ ว่า ความเห็นของพระองค์กับรัฐบาล “ขัดกัน” เสียแล้ว และตรัสถึงแนวคิดสละราชสมบัติ 

นายกฯ จึงกราบบังคมทูลฯ ผ่านผู้สำเร็จราชการว่า กิจการที่ทำหาได้เจตนา “ขัดพระราช-หฤทัย...แต่ได้ปฏิบัติการไปโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น” และส่งตัวแทน คือ ประธานสภา เลขาธิการ ครม. และเลขานุการกระทรวงการต่างประเทศไปเข้าเฝ้าฯ ที่อังกฤษร่วมกับทูตสยามประจำปารีส 

การเข้าเฝ้าฯ เจรจากินเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๔๗๖ จนถึงช่วงปลายปี (มีนาคม) ๒๔๗๗

โดยสรุปคือ รัชกาลที่ ๗ ทรงมี “พระราชบันทึก” วิจารณ์เหตุการณ์ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงยกปัญหาการเลือก สส. ประเภท ๒ (แต่งตั้ง) ปัญหาอำนาจวีโต้กฎหมายของพระองค์ในระหว่างที่สภาส่วนหนึ่งยังมาจากการแต่งตั้ง (สส. ประเภท ๒)

ทั้งยังทรงเปลี่ยนท่าทีจากสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ อย่างสิ้นเชิงหลายเรื่อง เช่น ทรงเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญให้มีเสรีภาพ ให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ ให้เลิก พ.ร.บ. ป้องกันรัฐธรรมนูญ อภัยโทษนักโทษการเมือง ไม่ตัดงบประมาณทหารรักษาวัง “ขอให้รัฐบาลจ่ายอาวุธ และลูกกระสุนเท่ากับกองร้อย กองพันทหารราบอื่น ๆ” ให้ทหารรักษาวัง

ยังมีประเด็นย่อย เช่น การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ทรงไม่ต้องการ “มีฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ” พระราชอำนาจการอภัยโทษที่ถูกจำกัดเวลาตัดสินพระทัยลง พระราชอำนาจเลือก สส. ประเภท ๒ (แต่งตั้ง) โดยทรงขอให้นำเรื่องนี้เข้าสภา

กรณีปัญหาเรื่อง สส. ประเภท ๒ รัฐบาลตอบว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ที่ขณะร่างทอดพระเนตรใกล้ชิด ส่วนการตั้ง สส.ประเภท ๒ หลังเลือกตั้ง สส. ประเภท ๑ ในเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ คนที่ได้รับเลือกนั้นเป็นผู้ก่อการ ๔๗ คนจาก ๗๘ คน นอกนั้นเป็นผู้มีประสบการณ์ ทั้งยังเกิดขึ้นขณะที่พระองค์ยังไม่เสด็จนิวัตพระนครจนวันที่ ๙ ธันวาคม (ก่อนเปิดสภาวันเดียว) รัฐบาลก็รีบทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อในวันนั้น (เรื่องนี้ก็ยังมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลไม่โทรเลขถวายรายชื่อล่วงหน้า)
พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗ มักถูกใช้โดยคนรุ่นหลังที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง โดยถูกตัดออกจาก "บริบทของเหตุการณ์" เสมอมา
ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องการยืนยันกฎหมายหลังกษัตริย์ทรงวีโต้ ที่ควรจะเป็นเสียง สองในสามนั้น รัฐบาลกราบบังคมทูลฯ ว่าไม่เห็นด้วย เพราะถ้าดูจำนวนเสียงโหวตที่ผ่านกฎหมายที่ทรงวีโต้ ก็เห็นว่ามิได้ส่งผลใดถึงแม้จะแก้ อีกทั้งถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้รัฐธรรมนูญที่เพิ่งบังคับใช้ขาดความศักดิ์สิทธิ์ไป

ทางด้าน พ.ร.บ. จัดการป้องกันรักษารัฐ-ธรรมนูญ รัฐบาลมองว่าเป็นการป้องกันดีกว่ารอให้เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้ “เสียชีวิตของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินไปโดยใช่เหตุ” เช่นกรณีกบฏบวรเดช

ด้านคดีกบฏบวรเดช รัฐบาลกราบบังคมทูลฯ ว่างดส่งฟ้องมาระยะหนึ่งแล้ว ผู้ต้องหาที่ยังอยู่ในกระบวนการก็ควรปล่อยให้กระบวนการไปถึงที่สุด ส่วนประเด็นทหารรักษาวังนั้น ตามประเพณี “หามีอาวุธเช่นนั้นไม่” ทั้งยังกราบบังคมทูลฯ ข้อคำนึงคือพระองค์ทรงเป็นจอมทัพอยู่แล้ว หากทำเช่นนั้น ทหารผู้ภักดีเหล่าอื่นอาจ “รู้สึกโทรมนัสว่า พระมหากษัตริย์ไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย” เพราะมีการติดอาวุธให้กองกำลังรักษาพระองค์

ต่อมานายกฯ กราบบังคมทูลฯ รัชกาลที่ ๗ ผ่านราชเลขาฯ ว่า ครม. ลงมติ “กราบบังคมทูล (ตอบ) อย่างชัดเจนแล้ว” ส่วนสภาก็ลงมติเอกฉันท์ “ผ่านวาระ” ที่พระองค์ขอให้พิจารณาไป “จึงไม่มีอะไรจะกราบบังคมทูลเพิ่มเติมอีก”

เมื่อถึงทางตัน ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ (เดือนสุดท้ายของปีตามปฏิทินเก่า) รัชกาลที่ ๗ มีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้มีวรรคสำคัญซึ่งเป็นที่รู้จักดีในยุคต่อมาว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงของราษฎร”

อาจารย์ศรัญญูระบุว่าถ้าอ่านเฉพาะท่อนนี้ จะไม่เห็นภาพทั้งหมด “ต้องอ่านเอกสารฉบับเต็มที่รัฐบาลพระยาพหลฯ พิมพ์เรื่องการสละราช-สมบัติ หากแยกเอกสารออกจากกัน เอกสารแต่ละฝ่ายก็จะเข้าข้างตัวเอง ที่ผ่านมาฝ่ายอนุรักษนิยมมักหยิบประโยคนี้มาใช้ทางการเมืองโดยแยกจากบริบทแวดล้อม ทั้งที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชุดเอกสาร” โดยอธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขณะทรงสละราชย์คือภาวะ “การต่อรองระหว่างรัชกาลที่ ๗ กับรัฐบาลพระยาพหลฯ ในช่วงแรกประนีประนอมกัน แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งต้องการอำนาจมากขึ้น อีกฝ่ายก็ไม่ยอมเพราะสถานการณ์เปลี่ยนรัฐบาลปฏิเสธ สุดท้ายคำขาดเรื่องสละราชสมบัติก็กลายเป็นทางออกเดียว”

ถึงตอนนี้ นายพันเอก พระยาพหลฯ ยังต้องเผชิญปัญหา “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” (constitutional crisis) ทันที เพราะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๗ คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงหยุดลงพระนามในกฎหมายและเอกสารที่ต้องมีพระปรมาภิไธยปรากฏ การบริหารราชการแผ่นดินจึงชะงักลง

นายพันเอก พระยาพหลฯ  ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ และหลวงธำรงฯ จึงรีบไปเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลฯ ขอให้ทรงทำหน้าที่ต่อระหว่างที่พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนสภา ทว่าสมเด็จฯ กรมพระนริศฯ ตัดสินพระทัยไม่ลงนามในเอกสารใด ๆ อีก

อาจารย์ศรัญญูระบุว่า จุดยืนของนายพันเอกพระยาพหลฯ ตอนนี้สำคัญมาก ด้วยเขายังคงยืนยันระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ยึดมั่นขั้นตอนในสภาและตัดสินใจทูลเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี

ในการเข้าเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระนริศฯ นายพันเอก พระยาพหลฯ ได้ทูลว่า รัฐบาลให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร (พระยาศรีธรรมาธิเบศร์) ที่เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๗ ในอังกฤษ จัดการเก็บความพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติแจ้งกลับสยามผ่านโทรเลขเพื่อเสนอสภา

จากนั้น “จะได้ขอให้สภาผู้แทนราษฎรรับรองผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นเสวยราชสมบัติ...โดยยึดหลักแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์...แหละได้แก่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล”
Image
คณะรัฐมนตรีชุด “พระยาพหลฯ ๓” ซึ่งรวมคนสำคัญของคณะราษฎรเอาไว้ในภาพ เช่น ปรีดี พนมยงค์ แปลก พิบูลสงคราม และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นต้น
รัฐบาล
“พระยาพหลฯ”

หลังรัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ การเมืองสยามก็เข้าสู่ยุครัฐบาล “พหลฯ ๒” ที่เข้าบริหารประเทศอย่างเต็มตัว ทั้งนี้ที่ผ่านมาหนังสือส่วนมากมักบรรยายยุครัฐบาลพระยาพหลฯ แบบย่นย่อ แม้พระยาพหลฯ จะเป็นนายกฯ อยู่ ๕ ปี (ปี ๒๔๗๖-๒๔๘๑) และมีทั้งหมดถึงห้าชุด คือ

“พหลฯ ๑” (มิถุนายน-ธันวาคม ๒๔๗๖) ลาออกเนื่องจากมีการเลือกตั้ง สส. ประเภท ๑ เข้าสภา

“พหลฯ ๒” (ธันวาคม ๒๔๗๖-กันยายน ๒๔๗๗) ลาออกเนื่องจากแพ้มติโควตาส่งออกยาง

“พหลฯ ๓” (กันยายน ๒๔๗๗-สิงหาคม ๒๔๘๐) ลาออกเนื่องจากแพ้มติประเด็นที่ดินพระคลังข้างที่

“พหลฯ ๔” (สิงหาคม-ธันวาคม ๒๔๘๐) ยุบสภา เนื่องจากแพ้มติข้อบังคับที่ประชุมเรื่องเสนอรายละเอียดงบประมาณ

สุดท้ายคือ “พหลฯ ๕” (ธันวาคม ๒๔๘๐-ธันวาคม ๒๔๘๑) ยุบสภา เนื่องจากนายพันเอกพระยาพหลฯ ลงจากตำแหน่งนายกฯ

โดยรอยต่อยุค “พหลฯ ๒” ไปยัง “พหลฯ ๓” พระยาพหลฯ ปฏิเสธไม่รับตำแหน่งอย่างหนักแน่น หลังแพ้มติสภา โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมรู้สึกเข็ดเขี้ยว” แต่ในที่สุดก็ต้องยอมดำรงตำแหน่งต่อ

อาจารย์ศรัญญูมองว่า ตลอด ๕ ปีที่นายพันเอก พระยาพหลฯ รับตำแหน่งนายกฯ ทุกครั้ง เพราะ “เป็นตัวเลือกเดียวที่ทุกฝ่ายรับได้ เจ้าตัวก็ปฏิเสธหลายครั้ง แต่สภาก็ยังผลักดันให้ทำงานต่อ เพราะเขาเป็นตัวกลางระหว่างหลายกลุ่ม ในกลุ่มคณะราษฎรเอง กลุ่มของหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) กับ กลุ่มของหลวงพิบูลฯ (แปลก) ก็แข่งกันอยู่ ต้องมีพระยาพหลฯ ช่วยประสาน”

ในสมัยรัฐบาล “พหลฯ ๓” ยังเกิดคลื่นใต้น้ำคือ “กบฏนายสิบ” ในเดือนสิงหาคม ๒๔๗๘ เมื่อมีกลุ่มทหารชั้นยศนายสิบ นำโดยสิบเอก สวัสดิ์ มะหะหมัด จะยึดอำนาจ ตามแผนจะสังหารผู้นำบางคน เช่น หลวงประดิษฐ์ฯ หลวงพิบูลฯ และกราบบังคมทูลเชิญรัชกาลที่ ๗ ครองราชย์อีกครั้ง แต่แผนรั่ว ทำให้รัฐบาลจับกุมนายทหารชั้นประทวนได้ทั้งหมด ๒๒ นาย พลเรือน ๑ คน แล้วตั้งศาลพิเศษ สั่งประหารชีวิตสิบเอกสวัสดิ์ (เพราะปฏิเสธทุกข้อหา) โดยถือเป็นนักโทษคนแรกที่รับโทษประหารแบบยิงเป้า

นอกจากนี้ยังเกิดความพยายามลอบสังหารแกนนำคณะราษฎร เช่น มีคนพยายามวางยาพิษพระยาพหลฯ (ปี ๒๔๗๗) ความพยายามสังหารหลวงพิบูลฯ สองครั้ง (ปี ๒๔๗๘ และปี ๒๔๘๑)

ศึกในสภาที่หนักที่สุดของรัฐบาลนายพันเอกพระยาพหลฯ เกิดขึ้นในสมัย “พหลฯ ๓” คือกรณีซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ ที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลเข้าไปจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปรับโครงสร้างกระทรวงวังให้เข้ากับระบอบรัฐธรรมนูญแต่ปรากฏว่ามีการนำที่ดินทรัพย์สินฯ ออกขายในราคาถูกให้ผู้ซื้อที่เชื่อมโยงกับแกนนำคณะราษฎร จนมี สส. ตั้งกระทู้ถามในสภาและรัฐบาลแพ้มติ โดยเมื่อเกิดรัฐบาล “พหลฯ ๔” ก็มีการตั้งกรรมการสอบ ลงโทษเจ้าหน้าที่กระทรวงวังและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และที่ดินส่วนมากมีการส่งคืน
ถ้าไม่สังเกต จะไม่พบผลงานรัฐบาลพระยาพหลฯ เพราะมักเกิดขึ้นผ่านหน้าที่ของปรีดีและหลวงพิบูลฯ
Image
ในภารกิจหนึ่งขณะเป็นนายกฯ
Image
ถ่ายในปี ๒๔๗๘ ลงจากเครื่องบินโดยสารหลังไปตรวจราชการที่จังหวัดพระนครและนครปฐม
ความวุ่นวายระยะนี้ทำให้นายพันเอก พระยาพหลฯ กล่าวว่า “ฉันพูดไม่ออก เวลานี้คนมันอยากที่ฉัน (ตำแหน่งนายกฯ)...มันอยู่ในนี้ ๆ” (ทุบอก)

แต่อาจารย์ศรัญญูมองว่าในยุคพหลฯ ๒-๕ “ความขัดแย้งก็จางลงมาก มีการประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดใหม่มากขึ้น”

ส่วนในแง่การวางบทบาทสถาบันการเมืองเริ่มเกิดแบบแผนสื่อสารระหว่างรัฐบาลและกษัตริย์โดยเฉพาะ “หลัก ‘The king can do no wrong’ กษัตริย์ไม่ทรงทำการใดโดยไม่มีผู้สนองพระบรมราชโองการ เช่น เมื่อตรัสกับสาธารณะรัฐบาลก็ร่างแถลงการณ์ถวาย ผู้สำเร็จราชการฯ ต้องปฏิญาณตนต่อรัฐสภาเพื่อยึดโยงกับประชาชน กระทั่งการลงมติในสภา ถ้าแพ้ พระยาพหลฯ ก็ไม่ลังเลที่จะลาออก ต่างกับสมัยพระยามโนฯ ที่แพ้โหวตสองครั้งก็ไม่ลาออก”

น่าสนใจว่าคนรุ่นหลังที่ศึกษาการเมืองไทยจะไม่ค่อยสังเกตเห็นผลงานรัฐบาลพระยาพหลฯ เท่าใด แต่จะไปรู้จักผ่านผลงานของหลวงประดิษฐ์ฯ ที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่างประเทศ หลวงพิบูลฯ ที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมากกว่า

กรณีหลวงประดิษฐ์ฯ เมื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มีนาคม ๒๔๗๖ ตามปฏิทินเก่า) ก็วางระบบการปกครองแบบเทศบาลให้เป็นรูปร่าง ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อขยายการศึกษา เมื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (สิทธิทางการศาล) ทำให้ชาวต่างชาติในสยามกลับมาอยู่ใต้กฎหมายสยามอีกครั้ง ปรับแก้การลงโทษด้วยการตัดคอที่ “สยดสยอง” มาเป็นการยิงเป้า เมื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็จัดตั้ง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบการเงินของประเทศ
หน้าที่ของรัฐบาลพระยาพหลฯ คือฟื้นฟูระบอบรัฐธรรมนูญและวางพื้นฐาน "ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ" ที่จะเกิดขึ้นในยุคจอมพล ป. อย่างชัดเจน
Image
ถ่ายขณะเป็นนายกฯ (ไม่ทราบภารกิจ)
กรณีหลวงพิบูลฯ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กันยายน ๒๔๗๗) ลงมือปรับปรุงกองทัพให้มีโครงสร้างคล้ายยุคก่อนพระยาทรงฯ เข้ามาจัดการ พลเอกบัญชรอธิบายว่า หลวงพิบูลฯ ทำให้รอยร้าวทหารพระนครกับหัวเมืองที่เคยเป็นชนวนกบฏบวรเดชดีขึ้น “เพราะสมัยพระยาทรงฯ ยุบกองพล กรม เอากองพันทั้งหมดไปขึ้นตรงกับ ผบ.ทบ. ผมมองว่าท่านพลาด ทำลายสายการบังคับบัญชา นอกจากคนที่โดนปลดไม่พอใจ ถ้าเกิดสงครามกองทัพแบบนี้รบไม่ได้ การสั่งการจะช้ามาก ยังไม่นับการยุบโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทั้งที่พระยาทรงฯ จบมาด้วยซ้ำ...พอหลวงพิบูลฯ แก้ทำให้ทหารหัวเมืองสถานะดีขึ้น มีการจัดซื้ออาวุธทำกองทัพให้ทันสมัย กระจายอาวุธไปทุกหน่วย เพิ่มทหารอีก ๔ กองพัน มอบธงชัยเฉลิมพลสร้างกำลังใจ เรื่องนี้กลายเป็นการสร้างฐานความนิยมของหลวงพิบูลฯ ด้วย”

อย่างไรก็ตามหนังสือ กองทัพคณะราษฎร ล้อมรั้วประชาธิปไตยในยุคปฏิวัติสยาม ของปรัชญากรณ์ ลครพล อธิบายเรื่องเดียวกันว่าการจัดการกองทัพที่พระยาทรงฯ ทำเป็นไปเพื่อลดอำนาจเสนาบดีกลาโหม รวมอำนาจตัดสินใจที่ “คณะกรรมการกลางกลาโหม” นี่คือสิ่งที่ “ทำให้กองทัพคณะราษฎรมีความพร้อมและได้เปรียบในการรบ” กับกบฏบวรเดช เนื่องจากอาวุธที่ทันสมัยนั้นอยู่กับกองทหารภายในพระนคร

แต่โครงสร้างนี้ก็สลายไปในที่สุด เมื่อหลวงพิบูลฯ (แปลก) สลายกรรมการกลางกลาโหม กลับไปใช้โครงสร้างที่อำนาจรวมอยู่ที่ รมว. กลาโหมอีกครั้ง โดยอีกทางหนึ่งก็เพื่อรับมือภาวะสงครามที่ตั้งเค้าทั่วโลก

อีกเบาะแสหนึ่งที่อาจช่วยให้เราแกะรอยแนวคิดการบริหารของนายพันเอก พระยาพหลฯ ได้คือ สุนทรพจน์ขณะเขาเดินทางไปตรวจราชการที่ต่าง ๆ เช่น ในปี ๒๔๗๙ พระยาพหลฯ สั่งให้แปลรัฐธรรมนูญจากภาษาไทยเป็นมลายูแจกจ่าย “เพื่อนร่วมชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม” ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ๑,๐๐๐ ฉบับ ระหว่างตรวจราชการภาคใต้ เพื่อให้ราษฎรรู้จักรัฐธรรมนูญมีการนำรัฐธรรมนูญจำลองไปประดิษฐานตามจังหวัดต่าง ๆ โดยรัฐบาลจัดรถไฟขบวนพิเศษนำไปส่ง เพื่อให้ประชาชนหัวเมืองรู้จักรัฐธรรมนูญมากขึ้น (ปี ๒๔๗๗) ทั้งเน้นย้ำว่าไม่ว่าทำอาชีพอะไร ชนชั้นใด ก็ล้วน “เพื่อนร่วมชาติ” ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน (ปี ๒๔๗๙)

พระยาพหลฯ ยังเน้นเรื่องการพัฒนาเยาวชนโดยมองว่า “...ยุวชนของชาตินี่แหละ จักต้องเข้ารับหน้าที่แทน (ผู้ใหญ่) ต่อไปในภายหน้า...” โดยขอให้ยุวชน “พยายามรับการฝึกอบรมและฝึกตนให้มีอุปนิสัยอันดีงามอยู่เสมอ และขอให้ครูอาจารย์ อบรมด้านศีลธรรมไปด้วย” (ปี ๒๔๗๙)

อาจารย์ศรัญญูเล่าว่า ระยะนี้คนที่โดดเด่นขึ้นมาคือหลวงประดิษฐ์ฯ และหลวงพิบูลฯ “มีการแสดงกำลังบารมีเป็นระยะ บางทีฝ่ายหลวงพิบูลฯ ก็ลาราชการไปเฉย ๆ หายไปนานโดยไม่บอกว่าไปทำอะไรก็มี”

แต่การประลองนี้ก็ยังอยู่ในความควบคุมเพราะ “พระยาพหลฯ” ยังนั่งหัวโต๊ะ ครม.