Image
๒๔๗๕ พระยาพหลฯ
นายกฯ ที่ถูกลืม EP.01
scoop
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพเก่า : พ.ต. พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ผู้ถือลิขสิทธิ์
พิชญ์ เยาวภิรมย์ สำเนาภาพต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ และสำนักพิมพ์ต้นฉบับ เอื้อเฟื้อไฟล์ภาพ
“ข้าพเจ้าไม่จำเป็นจะต้องกล่าวมากมายว่าระบอบรัฐธรรมนูญมีคุณประโยชน์แก่ชาวไทยเราเพียงไร เพราะจะกลายเป็นการยกยอไป เรื่องนี้ท่านย่อมทราบอยู่แก่ใจที่เป็นธรรมย่อมเห็นอยู่กับตาที่มีแววในทางเที่ยงตรงและได้ยินอยู่แก่หูที่ไม่เบาความแห่งทุก ๆ ท่านแล้ว...

คำของข้าพเจ้าที่กล่าวแต่เพียงว่ารัฐธรรมนูญทำให้เป็นคนเต็มคนได้เท่านี้ก็พอ...

ขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายจงยินดีด้วยระบอบรัฐธรรมนูญเถิด...”

ส่วนหนึ่งจากคำปรารภของพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา
อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒

สำหรับคนทั่วไปเมื่อได้ยินชื่อ “พระยาพหลฯ” หลายคนเลิกคิ้วด้วยความสงสัย

บ้างคุ้นหู แต่ก็ไม่รู้ว่าเจ้าของนามนี้คือใคร สำคัญอย่างไร

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชื่อของเขาถูกกล่าวถึงบ่อยขึ้น วิกฤตการเมืองที่ดำเนินมาเกือบ ๒ ทศวรรษทำให้คนจำนวนหนึ่งหันกลับมาสนใจเรื่องราวในยุคที่เขามีชีวิต ไม่ว่าจะตีความไปในแง่บวกหรือลบ

เรื่องราวของเขานั้นปรากฏน้อยนิด ทั้งที่เขาคือผู้เริ่ม “ก้าวแรก” ให้ประชาธิปไตยไทย นับตั้งแต่ก้าวเท้าขึ้นไปยืนบนลัง ล้วงกระเป๋าหยิบแผ่นกระดาษออกมาคลี่ ก่อนจะอ่านแถลงการณ์อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ด้วยเสียงอันดัง ท่ามกลางนายทหารหลายกรมกองที่ยืนชุมนุมปะปนกันตรงหน้า ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

เกือบศตวรรษหลังจากนั้น สปอตไลต์กลับส่องไปที่หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) “รุ่นน้อง” ร่วมคณะที่สร้างแรงสะเทือนส่งผลมายังปัจจุบันมากกว่า

ด้วยผู้เขียนเชื่อว่าจะทำความเข้าใจเหตุการณ์ทางการเมืองให้ถ่องแท้ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงยาว (longue durée) โดยเฉพาะ “ปฐมบท” ต้นธารของเรื่องราว

ส่งท้ายคลื่นความร้อนกลางปี ๒๕๖๗ ท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทยที่สงบลงชั่วคราว

สารคดี ชวนท่านผู้อ่านย้อนศึกษาชีวิตของหัวหน้าคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และการเมืองไทยยุค “ประชาธิปไตยหัดเดิน”

ด้วยหวังว่าเมื่อศึกษา “อดีต” จะเข้าใจ “ปัจจุบัน” มากขึ้น
Image
“พหลโยธิน”
ผู้มากับดวง

หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) คือชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ ระบุว่า “พจน์” ลืมตาดูโลกตอนตี ๓ ครึ่งของวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๓๐ ที่บ้านหน้าวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ก่อนย้ายมาอยู่ที่ “บ้านข้างตรอกวัดราชบูรณะเคียงกับศาลเจ้าแม่ทับทิม เยื้องกับกระทรวงธรรมการ”

เทียบตำแหน่งบนแผนที่กับกรุงเทพฯ ปี ๒๕๖๗ บริเวณนี้คือพื้นที่หลังพระบรมมหาราชวังด้านทิศใต้ เป็นย่านที่เจริญขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔

บ้านที่พจน์ถือกำเนิดสันนิษฐานว่าอยู่ในพื้นที่ติดโรงเรียนสวนกุหลาบปัจจุบัน ทั้งนี้ “ส. พลายน้อย” นักเขียนสารคดีอาวุโส ยังสันนิษฐานอีกทฤษฎีว่าน่าจะอยู่บนถนนตรีเพชร

ส่วนบ้านหลังต่อมาน่าจะอยู่ใกล้กับบริเวณที่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนราชินี ซึ่งในอดีตกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ใช้เป็นที่ทำการระหว่างปี ๒๔๔๑-๒๔๔๗ โดยพื้นที่ใกล้ ๆ เคยเป็นที่ตั้งศาลเจ้าแม่ทับทิมหลังเก่า
Image
สายตระกูล “พหลโยธิน” รับราชการทหารและใช้บรรดาศักดิ์ “พระยาพหลพลพยุหเสนา” สืบต่อมาตั้งแต่รุ่นบิดาและพี่ชาย เขาจึงแทบจะถูกวางอนาคตไว้คล้ายกัน

อายุได้ ๒ ขวบ พจน์ป่วยด้วยไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) แต่ก็รอดมาได้ จากนั้นเริ่มเรียนหนังสือด้วยการจำอักษรไทยบนกระดานดำที่บิดาเขียนทิ้งไว้วันละตัวสองตัวในตอนเช้า ตกเย็นบิดากลับมาถาม หากจำได้ก็จะได้รางวัลเป็น “อัฐ ๒ ไพ” จำไม่ได้ก็โดนลงโทษ

พออายุย่าง ๖ ปี (ปี ๒๔๓๖) พจน์ก็ไปเรียนกับ “แม่ครูจู” ภรรยาสมุห์บัญชีกระทรวงกลาโหมนั่งเรียนไปก็ “ได้ยินเสียงปืนใหญ่ที่ปากน้ำ” ในเหตุการณ์ “ร.ศ. ๑๑๒” ที่ฝรั่งเศสนำเรือปืนบุกเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาจนเกือบถึงพระบรมมหาราชวัง จากนั้นก็ยื่นคำขาดให้สยามสละการอ้างสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการปะทะกันบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาให้แก่ฝรั่งเศส

โตขึ้นอีกหน่อยก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส แต่อ่อนวิชาเลข จน “ถูกโบยด้วยกิ่งยี่โถ ๑ โหล (๑๒ ที)” ก่อนกัดฟันผ่านไปได้ อย่างไรก็ตาม “ส. พลายน้อย” มองว่าเรื่องนี้น่าจะเกินจริง ด้วยขุนอนุกิจวิธูร (น้อย จุลวิธูร) “มหาหนอ” ครูใหญ่รักลูกศิษย์เหมือนลูก น่าจะเฆี่ยนไม่กี่ที แต่พจน์น่าจะถูกเข้มงวดเรื่องคัดลายมือ ทำการบ้าน ด้วยมหาหนอนั้นลงมือตรวจเองเกือบทุกระดับชั้น

อายุ ๑๒ ปี พจน์ก็สูญเสียบิดาที่ถึงแก่อสัญกรรมกะทันหัน เขาลาออกจากโรงเรียนวัดจักรวรรดิฯ ย้ายไปเป็นลูกศิษย์พระครูสังฆวินิจ (เลื่อน) ที่วัดพิชยญาติการาม ซึ่งอยู่อีกฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าเรียนที่โรงเรียนสุขุมาลลัย แผนกมัธยม (ตั้งอยู่ในวัดเดียวกัน) สอบไล่ได้ถึงชั้น ๔ ทั้งยังสอบทางธรรมได้ถึงชั้น ๓ จากสนามสอบที่จัดโดยวัดบวรนิเวศวิหาร

เรียนที่โรงเรียนสุขุมาลลัยไม่นาน พระศรี-ณรงค์วิชัย (นพ) พี่ชายต่างมารดา ก็จัดงานโกนจุกให้พร้อมน้องคนอื่น จากนั้นพจน์ก็บรรพชาเป็นเณรอยู่ ๗ วันที่วัดกัลยาณมิตร  ช่วงปีนี้ยังป่วยด้วยโรค “ฝีลำเสา” ที่สะโพกด้านขวา ซึ่งฝีชนิดนี้ขึ้นเป็นแนวยาว แข็งเป็นไต มีการอักเสบ ทำให้เป็นไข้ และอาจทำให้พิการได้

แต่ดวงก็แคล้วคลาด หายจากโรคภัยอีกครั้ง
Image
นายร้อยเยอรมัน
พจน์วัย ๑๔ ปี เข้าสู่ชีวิตทหาร เมื่อพี่ชายฝากเป็นนักเรียนโรงเรียนทหารบกที่ตั้งอยู่หลังพระราชวังสราญรมย์ ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๔๔ โดยเริ่มเรียนจากชั้น ๒ (มีทั้งหมด ๖ ชั้น)

ช่วงนี้พจน์ประสบอุบัติเหตุขณะฝึกท่ากระโดดลอดบ่วงแขนแล้วเสียหลักจนศีรษะฟาดพื้นและชัก แต่ก็กลับเป็นปรกติหลังปฐมพยาบาล  ในแง่การเรียน พจน์ทำผลการเรียนได้ดี จนสอบเลื่อนชั้นจาก ๕ ไปชั้นที่ ๖ สอบได้ที่ ๑ ในรุ่น ซึ่งหมายถึงได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาวิชาทหารในยุโรปด้วย

พล.อ. บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารปืนใหญ่ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ยุค ๒๔๗๕ วิเคราะห์ว่า เหตุที่พจน์ถูกส่งไปที่เยอรมนีเป็นผลจาก “เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒...ทำให้ (รัชกาลที่ ๕) ทรงตระหนักว่าต้องทำให้ประเทศทันสมัย...รวมถึงการจัดกองทัพแบบยุโรป สมัยนั้นมหาอำนาจทางทหารที่ขึ้นชื่อที่สุดคือฝรั่งเศสและเยอรมนี ส่วนอังกฤษเป็นเด่นทางเรือ...” ซึ่งตรงกับหนังสือกราบบังคมทูลฯ ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่ทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕ (ปี ๒๔๔๒) ว่า ที่เยอรมนีการทหาร “...ดียิ่ง แลมีค่าเล่าเรียนราคาถูก ทั้งทางที่ทหารไทยเราจะจัดให้ดำเนินต่อไปโดยวิธีคอนติเนนต์ แล้วก็ไม่มีประเทศใดจะดียิ่งไปกว่า” 

พจน์จึงนับเป็นนักเรียนนายร้อยเยอรมันที่เป็นลูกข้าราชการสามัญรุ่นแรก ๆ ที่มีโอกาสไปเรียนในยุโรปกับเจ้านาย โดยในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๔๗ พจน์วัย ๑๗ ปี ลงเรือโดยสารเดลี (Deli) ร่วมกับเพื่อนต่างฐานันดรสองคน ที่ภายหลังคือ พลตรี หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล และพลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี ไปเปลี่ยนเรือที่สิงคโปร์ โดยลงเรือเดินสมุทรชื่อ พรินซ์เรเก็นท์ลุทโพลด์ (Prinzregent Luitpold) ไปลงที่ฝรั่งเศสต่อรถไฟไปถึงกรุงเบอร์ลินในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ในช่วงแรกพจน์พักในสถานอัครราชทูตสยาม จากนั้นย้ายไปอยู่กับศาสตราจารย์ฟอนเกอร์เนอ (Prof. von Goerne) และย้ายไปบ้าน ดร. ฟ็อลฮาเซอ (Dr. Vollhase) เพื่อเตรียมสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงโกรส-ลิคเทอเฟลเดอ (Großß-Lichterfelde) แต่ถึงแม้สอบได้ในปี ๒๔๕๐ ปัญหาเรื่องภาษาก็ทำให้พจน์ต้องซ้ำชั้น ๖ ถึง ๒ ปี ก่อนเลื่อนไปเรียนชั้น ๗ ได้ในปีที่ ๓ สอบผ่านเป็นนักเรียนทำการนายร้อยได้ในช่วงปลายปี ๒๔๕๓
พจน์ถือเป็น "สามัญชน" ลูกข้าราชการทหารรุ่นแรก ๆ ที่ได้มีโอกาสเรียนในยุโรปเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้านายชนชั้นสูง
คำบรรยายเก่าเขียนว่า “ถ่ายเมื่อเป็นนักเรียนอยู่ที่บ้าน โพรเฟสเซอร์ ฟอน เกอร เน ในเมืองโกรสซ์-ลิชเตอร์ เฟลเด้” (อายุ ๑๖ ปี)
ระหว่างเรียน ประสบการณ์ที่เขาจำได้ดีคือถูกผู้บังคับการโรงเรียนตำหนิเรื่องคะแนนวิชาประวัติศาสตร์สากล จนเกิดมานะ “ตื่นขึ้นมาแต่เวลา ๔.๐๐ น. และดูหนังสือไปจนถึงเวลาที่จะต้องทำกิจอย่างอื่นตามกำหนดการของโรงเรียน” เมื่อถึงวันสอบไล่ ผู้บังคับการพบเขาเข้าก็ถามว่าจะสอบวิชาอะไร เมื่อทราบว่าเป็นวิชาที่เคยตำหนิจึงตามไปฟัง ปรากฏว่าพจน์ “...ได้คะแนนสอบปากเปล่าในวิชาประวัติศาสตร์สากลถึง ๘ คะแนน ตรงกับเครื่องหมาย ‘ดีมาก’” จนผู้บังคับการตบไหล่ชมต่อหน้ากรรมการ

พจน์ยังเก่งวิชาฟันดาบ เคยประมือกับเพื่อน คือ แฮร์มันน์ เกอริง (ต่อมาคือจอมพลอากาศเกอริง มือขวาฮิตเลอร์) กับรุ่นน้องคือพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) บ่อยครั้ง ทำให้เมื่อกลับสยาม ทั้งพระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ ยังซ้อมดาบกันเป็นประจำ จนมีคำพูดหยอกเมื่อขัดคอกันว่า “ยังงี้มาฟันกับข้าดีกว่าวะ”

เมื่อเรียนจบ ร้อยตรีพจน์รับราชการกับกองทัพเยอรมนีในกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๔ เมือง มัคเดอบวร์ค (Magdeburg) ถึงแม้จะเป็นเวลาเพียง ๙ เดือน แต่ก็เกิดเหตุการณ์มากมาย เช่น ประสบอุบัติเหตุระหว่างนำม้าออกจากคอก “ศีรษะจึงทิ่มพรวดลงไปกระแทกพื้นหินอย่างเร็ว...สลบหมดสติทันทีทันใดถึงกับต้องหามไปยังโรงพยาบาล...” เคราะห์ดีที่เมื่อเข้าโรงพยาบาล ๙ วันก็หายดี

พจน์ยังได้ยศร้อยตรีจากกองทัพเยอรมนีก่อนที่ปลายปี ๒๔๕๕ จะมีคำสั่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมให้ลาออกเพื่อเตรียมตัวเรียนวิชาช่างแสง (นายทหารสรรพาวุธ) ที่เดนมาร์ก ปีถัดมาจึงต้องไปเรียนภาษาเดนมาร์ก จากนั้นก็ย้ายไปอยู่กับร้อยเอกแฮร์เตล นายทหารเดนมาร์กในกรุงโคเปนเฮเกน
ถ่าย ณ ค่ายที่พักในสนามยิงปืน “อาลเตนกราโบว์” เมื่อเป็นนายร้อยตรีแล้ว ร่วมกับนายทหารประจำการและกองหนุนในกรม ป. ๔ มัคเดอบวร์ค
Image
ชาติเสือต้องไว้ลายฯ เล่าว่า ร้อยตรีพจน์ยังคงชอบทำอะไรผาดโผน เช่น ครั้งหนึ่งร้อยโทแอร์ฮอฟ ครูสอนวิชาคำนวณ จัดงานเลี้ยงที่บ้าน ครูที่รูปร่างสูงใหญ่เล่นสนุกสาธิต “ยกน้ำหนักลูกปืนชนิดกลมโตประมาณเท่าผลส้มโอขนาดใหญ่ด้วยนิ้วก้อย ไปไว้เหนือหัว จากนั้นยุให้คนอื่นลอง ปรากฏว่าไม่มีใครทำได้ ครูจึงหันไปถามร้อยตรีพจน์ ปรากฏว่าคำตอบคือ ‘ได้’…แล้วท่านก็รี่เข้ายกด้วยนิ้วก้อย...จะเอาชนะครูดูบ้าง ก็ยกขึ้นไปลอยอยู่ได้เช่นเดียวกัน บรรดาทุกมือของแขกทุกคนก็ตบประสานขึ้นพร้อมกันดังสนั่น…”

ครูจึงตบหลังด้วยความชื่นชม กล่าวว่า “ความจริงกำลังของเธอไม่ถึงฉันหรอก แต่เธอตั้งใจยกด้วยความบากบั่นจะเอาชนะฉัน” แล้วชมว่าศิษย์คนนี้ “เอแนร์ยี่ (energy/กำลัง) มากแท้ ๆ” ซึ่งก็เป็นไปตามคำครู วันรุ่งขึ้นนิ้วก้อยร้อยตรีพจน์ “บวมอูม” ไปเรียบร้อย

ในที่สุดชีวิตการเรียนในยุโรปก็ต้องจบลง เหตุมาจากช่วงนี้ร้อยตรีพจน์เจอวิกฤตค่าครองชีพ เพราะรัฐบาลสยามตัดค่าเลี้ยงดูนักเรียนไทยลงกว่าครึ่ง เขากับเพื่อนจึงตัดสินใจทำหนังสือขอเงินเพิ่มไปยังกระทรวงกลาโหมที่มีกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชเป็นเสนาบดี ซึ่งทรงเห็นด้วย แต่โชคร้ายพระองค์กลับสิ้นพระชนม์ เรื่องจึงยังค้างอยู่ ทำให้ร้อยตรีพจน์กับเพื่อน ๆ ทำหนังสือร้องเรียนตามไปอีกฉบับ

หนังสือฉบับนี้เองทำให้เสนาธิการทหารบก (ขณะนั้น) คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเห็นว่านักเรียนนายร้อยพวกนี้ “หัวแข็งกันนัก”

จึงออกคำสั่งเรียกกลับสยามทั้งหมดในปี ๒๔๕๗
ชีวิตนักเรียนไทยในยุโรปสิ้นสุดลงหลังพจน์และเพื่อนทำหนังสือประท้วงการตัดลดค่าใช้จ่ายของนักเรียนมายังกระทรวงกลาโหม (ไม่ต่างจากกรณีของปรีดี พนมยงค์)
Image
Image
Image
ปืนใหญ่แบบ “ภูเขา” ที่พระยาพหลฯ ออกแบบ
ภาพ : ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ
นายทหารปืนใหญ่
เมื่อต้องกลับ ร้อยตรีพจน์ก็ถอนเงินที่อดออมในธนาคารมัคเดอบวร์คกลับมาแลกเงินบาทได้ ๘๐๐ บาท ส่วนหนึ่งฝากไว้คลังออมสินที่ราชบุรี อีกส่วนซื้อเครื่องแบบ จัดบ้านพักที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๔ ราชบุรี หน่วยทหารหน่วยแรกที่ไปประจำ ท่ามกลางข้อสงสัยของผู้คนว่าทำไมนักเรียนเยอรมันถูกส่งไปประจำหัวเมือง

อยู่ราชบุรีไม่นานก็ถูกย้ายไปประจำในกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ บางซื่อ ในปี ๒๔๕๘ โดยกรมทหารปืนใหญ่นี้เรียกว่า “กรมครู” เพราะเป็นหน่วยเดียวของทหารปืนใหญ่ที่ยังลากปืนโดยใช้ม้าเทียม ความคลาสสิกนี้ทำให้กรมได้เข้าร่วมงานพระราชพิธีบ่อยครั้ง

ตอนนี้เองที่ร้อยตรีพจน์เจียดเงินสร้าง “บ้านบางซื่อ” อยู่ริมถนนเตชะวณิช (ย่านเตาปูน) ปัจจุบัน ผมไม่พบข้อมูลว่าบ้านหลังนี้อยู่บริเวณไหนของถนน ขณะที่ ผศ.ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในเขตกรมทหารแถบนั้น
Image
อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันไม่ทราบสถานะ)
ภาพ : ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ
ผมยังพบว่าในปี ๒๔๕๘ ร้อยตรีพจน์มีบุตรีแล้วสองคน ซึ่งคล้ายกับข้อมูลใน สยามนิกรรายสัปดาห์ (๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๗) ที่ระบุว่าปี ๒๔๕๓ พระยาพหลฯ แต่งงานกับท่านผู้หญิงบุญหลงวัย ๑๖ ปี ขณะที่บันทึกท่านผู้หญิงบุญหลงให้ข้อมูลว่าแต่งงานในวัย ๑๕ ปี 

หนังสือชีวประวัติพระยาพหลฯ หลายเล่มยังมักกล่าวถึงภรรยาพระยาพหลฯ ปะปนกันสองชื่อ คือ “คุณหญิงพิศ” (บ้างก็เขียนว่า “พิจ”) และ “ท่านผู้หญิงบุญหลง” 

พ.ต. พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรคนที่ ๔ ของพระยาพหลฯ อธิบายประเด็นนี้ว่า คุณพ่อมีภรรยาสองคน คนแรกคือ “ป้าพิศ” พี่สาวมารดาที่อยู่กินกันมาก่อน แต่เมื่อไม่มีทายาท “คุณพ่อจึงแต่งงานกับคุณแม่ (ท่านผู้หญิงบุญหลง) โดยหย่ากับป้าพิศที่เป็นพี่สาว” โดยได้รับความยินยอมจากสตรีทั้งสองคน

ท่านผู้หญิงบุญหลงเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ฉันโตขึ้นมาในกองทหาร เป็นเด็กเมืองกาญจนบุรีและพบท่านเจ้าคุณที่นั่น...” (สารพัดหมอ, มีนาคม-เมษายน ๒๕๒๗) ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่พระยาพหลฯ ใช้เวลานอกราชการไปพักผ่อนเข้าป่าดูสัตว์อันเป็นกิจกรรมที่โปรดปราน
น่าสนใจว่า ลักษณะท่านผู้หญิงบุญหลงเป็นคนเข้มแข็ง ผิดกับสามีที่คนรอบข้างมองว่า “มีอาการแม้นผู้หญิง อ่อนน้อมละมุนละไม วาจาอ่อนโยนยิ้มย่อง จังหวะของคำพูดไม่ช้าไม่เร็วแต่มีกลเม็ดขบขันน่าฟัง ซึ่งเกิดแต่ความสุขุมรอบคอบ ชวนให้น่าเคารพนับถือและน่ารักใคร่ยิ่งนัก”

เข้าสู่ปี ๒๔๖๐ พจน์ได้ยศร้อยเอก ได้บรรดาศักดิ์ “หลวงสรายุทธสรสิทธิ์”  พอดีกับที่สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยประกาศสงครามกับมหาอำนาจกลาง (เยอรมนี, ออสเตรีย-ฮังการี) ผลคือพจน์ถูกส่งไปอารักขาสถานทูตเยอรมันในพระนครเนื่องจากสื่อสารภาษาเยอรมันได้ดี
"วาจาอ่อนโยน ยิ้มย่อง... มีกลเม็ดขบขันน่าฟัง ซึ่งเกิดแต่ความสุขุมรอบคอบ..."

กุหลาบ สายประดิษฐ์
บรรยายลักษณะพระยาพหลฯ

ประตูทางเข้าศูนย์การทหารปืนใหญ่ในอดีตมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร (ภาพบน) ก่อนจะถูกรื้อทิ้งและสร้างใหม่ในปี ๒๕๖๒ พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อค่าย (ภาพล่าง)
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ต่อมาโดนย้ายไปที่ฉะเชิงเทรา กินตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๙ ก่อนที่ปี ๒๔๖๑ จะโดนย้ายอีกรอบ คราวนี้กลับมาประจำที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ อีก

แต่เป็นการย้ายแบบไม่ปรกติ เพราะถูกกล่าวหาว่าไม่จ่ายเบี้ยเลี้ยงทหารจากกรมเดิม

เรื่องนี้ นิทานชาวไร่ ของ น.อ. สวัสดิ์ จันทนี ที่บันทึกเกร็ดเมืองไทยช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ กล่าวว่า “เกิดไต่สวนกันขึ้น ก่อนจะส่งคดีให้อัยการ ทูลกระหม่อมจักรพงศ์ทรงทราบเรื่องเข้าก็สั่งย้ายหลวงสรายุทธฯ กลับกรุงเทพฯ ทันที เพราะพระองค์แน่ใจว่าหลวงสรายุทธฯ ไม่โกงแน่” ต่อมาเมื่อ “สืบเข้าจริง ๆ กลายเป็นพวกนายสิบยักยอกหรือลอยแพนายนั่นเอง”

ร้อยเอก หลวงสรายุทธฯ จึงไร้มลทิน กลับกรมเก่าในฐานะผู้บังคับการกรม ไม่นานก็ติดยศพันตรีและย้ายไปประจำกรมทหารปืนใหญ่ทหารบก ในตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่

พ้นจากการคุมกำลังรบ ไปทำงานสายเสนาธิการ
พันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ ขณะเป็น ผอ. โรงเรียนทหารปืนใหญ่โคกกะเทียม อยู่ในบ้านพักอย่างสมถะ นอนบนเสื่อจันทบูร นั่งทำงานบนโต๊ะเล็ก ๆ ดื่มน้ำฝนจากคนโท
Image
บ้านพักของพันโท หลวงสรายุทธสรสิทธิ์ ขณะเป็น ผอ. โรงเรียนทหารปืนใหญ่โคกกะเทียม ลพบุรี (ปัจจุบันไม่ทราบสถานะ)
ภาพ : ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ
นักนิยมไพร
เมื่อประจำกรมทหารปืนใหญ่ทหารบก นายพันตรี หลวงสรายุทธฯ วัย ๓๒ ปี ได้รับงานสำคัญคือต้องตรวจรับปืนใหญ่ใหม่และไปดูงานด้านทหารที่ญี่ปุ่น การเดินทางของเขาครั้งนี้ทำให้สยามได้ “ปืนใหญ่ภูเขา แบบ ๖๓ (ป. ๖๓)” มาใช้

หนังสือ ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ ของศูนย์การทหารปืนใหญ่ฯ ระบุว่า ปืนชนิดนี้เบา ใช้ม้าลากได้ พันตรี หลวงสรายุทธฯ เป็นผู้ออกแบบ แต่ให้ญี่ปุ่นจัดสร้างต่อมานำเข้าประจำการในกองทหารปืนใหญ่สยามหลายหน่วย

ระหว่างปี ๒๔๖๕-๒๔๖๘ นายพันตรี หลวงสรายุทธฯ ได้เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์เป็นนายพันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ จากนั้นก็ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทหารปืนใหญ่โคกกะเทียม จังหวัดลพบุรี (ปี ๒๔๖๙)

นายพันโทหนุ่มไปลพบุรีคราวนี้คนเดียว โดยนั่งรถไฟไปลงที่สถานีโคกกะเทียม จากนั้นใช้รถถ่อจากสถานีรถไฟตามรางไปจนถึงโรงเรียน เข้าอาศัยในบ้านพักผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนทหารปืนใหญ่อย่างสมถะ “นอนบนเสื่อจันทรบูร นั่งทำงานบนพื้นห้องกับโต๊ะทำงานขนาดเล็ก ดื่มน้ำฝนในคนโท...”
"(เดินป่า) หาความสงบใจ ดูที่ใดเป็นที่วิเวก แล้วก็พักนอนชมทิวไม้ ...ยิ่งได้ยินเสียงช้างร้อง... รู้สึกว่าเป็นสุข"

พระยาพหลพลพยุหเสนา

Image
พระยาพหลฯ ในชุดเดินป่า
นอกจากสอนวิชาปืนใหญ่ ระหว่างนี้ยังทำตนเป็น “นักนิยมไพร” ด้วยรอบ ๆ โรงเรียนยังเป็นป่า แต่แทนที่จะยิงสัตว์ กลับชอบ “...หาความสงบใจ ดูที่ใดเป็นที่วิเวกแล้วก็พักนอนชมทิวไม้ ฟังเสียงลิงค่างบ่างชะนีแลนกร้อง ยิ่งได้ยินเสียงช้างร้อง ประสาทผมยิ่งชอบมาก รู้สึกว่าเป็นสุข...ลืมเรื่องยุ่งวุ่นเดือดร้อนทั้งหลายได้สนิท...”  นายพันเอก หลวงแพทยาดุลศิษฎ์ หมอประจำตัวที่ไปด้วยเล่าว่า หากไปกับทีมนายพราน เมื่อถึงคราที่ต้องยิง “...ท่านก็ดึงมือไว้ บอกว่าให้มันกินน้ำเสร็จเสียก่อน พอมันกินเสร็จแล้วเราตั้งท่าจะยิงอีกก็ห้ามไว้...พอกวางตกใจตื่นกระโดดเปิดเปิงเราก็ยิงตามไม่ถูก ท่านก็หัวเราะดังเอิ๊ก ๆ ชอบใจใหญ่”

ปี ๒๕๖๗ บ้านนายพันโท พระสรายุทธฯ ยังถูกรักษาไว้ใน “ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล” ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี  ถือเป็นบ้านเลขที่ ๑/๒๔๖๑ ภายในค่าย

ย้อนไปในปี ๒๕๔๐ สมัยที่ค่ายนี้ชื่อ “พหลโยธิน” บ้านหลังนี้ถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา จากความพยายามของ พล.ต. ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารปืนใหญ่ (ขณะนั้น) นอกจากนี้ยังรวบรวมสิ่งของของพระยาพหลฯ จัดแสดงในอาคารขนาดเล็กข้าง ๆ  ทั้งนี้ในค่ายยังมีอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ซึ่งมีพิธีวางพวงมาลาทุกปีในวันที่ ๒๙ มีนาคม 

น่าสนใจว่าในปี ๒๕๖๒ ชื่อ “ค่ายพหลโยธิน” ที่รัชกาลที่ ๙ พระราชทาน (ในปี ๒๔๙๕) ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ค่ายภูมิพล” (รัชกาลที่ ๑๐ พระราชทาน) มีการย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ออกจากจุดเดิม และล่าสุด (ปี ๒๕๖๗) ไม่มี
งานวันที่ ๒๙ มีนาคม นอกจากนี้การขอเข้าชมก็ทำได้ยาก การติดต่อยากลำบากเพราะคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์และเจ้าหน้าที่ที่ไม่อำนวยความสะดวกใด ๆ
Image
พระยาพหลฯ ขณะไปดูการซ้อมรบของทหารญี่ปุ่นพร้อมกับนายทหารชาติอื่น ๆ ที่เมืองโยโกฮามะ ในปี ๒๔๖๓
เมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปลพบุรีเพื่อสอบถามที่หน้าค่ายก็ได้คำตอบว่าให้ทำหนังสืออีกครั้งโดยติดต่อ “เจ้าหน้าที่กองวิทยาการ” (ที่เพิ่งจะได้ช่องทางติดต่อตรงนั้น) ไม่นานก็มีโทรศัพท์สอบถามว่า “เกี่ยวกับการเมืองหรือไม่” ก่อนจะอนุญาตและตกลงนัดหมายเข้าชม จากนั้นก็ขอยกเลิกกะทันหัน เจ้าหน้าที่ที่โทร. กลับมาระบุว่า “ต้องปรับปรุงสถานที่เพราะไฟไหม้” และ “ตอบไม่ได้ว่าจะได้เข้าชมเมื่อไร”

ย้อนไปในปี ๒๔๖๙ ที่ค่ายแห่งนี้เอง นายพันโท หลวงสรายุทธฯ เก็บข้าวของเดินทางกลับพระนครเพื่อรับหน้าที่อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก

โดยไม่รู้ว่าเขากำลังจะได้เริ่มภารกิจสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่
“คำถาม”
ของพระยาพหลฯ

ที่พระนคร นายพันโท พระสรายุทธฯ ได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอก (ปี ๒๔๗๑) ได้บรรดาศักดิ์ “พระยาพหลพลพยุหเสนา” ทั้งยังมีตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในหลวงรัชกาลที่ ๗ ทำให้ได้ตามเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา บาหลี ช่วงกลางปี ๒๔๗๒ จนเห็นความเป็นไปในต่างแดนมากขึ้น

ช่วงนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เขียนถึงนายพันเอก พระยาพหลฯ ว่า ในสมัยเขายังเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ทำงานในกรมยุทธศึกษาทหารบก วันหนึ่งเดินอยู่ในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ปัจจุบันคือกองบัญชาการกองทัพบกถนนราชดำเนิน) ก็สวนกับนายทหารปืนใหญ่คนหนึ่งที่มี “ร่างใหญ่ เดินก้มหน้า กิริยาเสงี่ยม” ซึ่งก็คือนายพันเอก พระยาพหลฯ

กุหลาบไม่ทราบเลยว่าพระยาพหลฯ คนนี้จะกลายเป็นผู้ก่อการ  ในทางกลับกัน ตอนนั้นนายพันเอก พระยาพหลฯ ก็ไม่ทราบเช่นกันว่ามีนักเรียนไทยในยุโรปรวมตัวกันคิดเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว และคนที่เดินผ่านตนไปจะกลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคประชาธิปไตย
Image
ถ่ายเมื่อกลับจากญี่ปุ่น โดยสารรถไฟสายใต้เข้าพระนคร พระยาพหลฯ (คนซ้ายสุด) พบกับ “พวกโดยเสด็จทูลหม่อมอัษฎางค์”
นายพันเอก พระยาพหลฯ เล่าให้กุหลาบฟังใน เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ว่า แรงขับดันที่จะทำการปฏิวัติเกิดจากสองเรื่อง เรื่องแรก ในการประชุมประจำปีครั้งหนึ่งของกระทรวงกลาโหมที่ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ประทับเป็นประธาน เขาอ่อนอาวุโสที่สุดในที่ประชุม ได้เสนอเรื่องสำคัญสองเรื่อง และจำได้ว่าพระยาสุรเสนา เจ้ากรมเกียกกาย คัดค้าน แต่ถกไปสักพัก “ความเห็นของเจ้าคุณพหลฯ มีน้ำหนักเป็นที่พอใจของที่ประชุม แต่ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อนายทหารผู้ใหญ่ได้คัดค้านความเห็นของท่านแล้ว องค์จอมทัพผู้เป็นประธานก็ให้ถือตามความเห็นของผู้มีอาวุโส...” เรื่องที่ ๒ คือ โครงการซื้อ “ปืนสโตร๊คบัน” จากฝรั่งเศส ที่นายพันเอก พระยาพหลฯ มองว่าเป็นปืนเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไม่ใช่รุ่นที่ปรับปรุงกลไกให้ทันสมัย เมื่อชี้แจงให้ที่ประชุมนายทหารผู้ใหญ่ทราบ “แม้จะได้อ้างหลักฐานประกอบ...แต่ก็ไม่ได้รับความสนับสนุน...”

ดังนั้นเมื่อมีงานเลี้ยงนายทหารที่มีทูตทหารฝรั่งเศสร่วม นายพันเอก พระยาพหลฯ จึงตรงไปถามทูตทหารฝรั่งเศสตรง ๆ ว่าปืนที่เสนอขายเป็นปืนเก่าหรือไม่ ปรากฏว่าทูตยอมรับ พอเขาซักต่อว่า “...ท่านมิได้คิดหรือว่า กองทัพไทยควรจะมีอาวุธที่ทันสมัยไว้ใช้ในการป้องกันประเทศ” คำตอบที่ได้คือ “ข้าพเจ้าไม่คิดว่า เมืองไทยจะต้องรบกับใคร...ควรจะมีอาวุธก็แต่สำหรับใช้การปราบจลาจลภายในบ้านเท่านั้น...”

เรื่องนี้ติดอยู่ในใจนายพันเอกพระยาพหลฯ ตลอดมา

กุหลาบยังบรรยายว่า ในแง่นิสัย พระยาพหลฯ “ซื่อตรงต่อความรู้สึกผิดชอบ...จึงมักมีเรื่องที่ขัดเคืองพระทัยของเจ้านายใหญ่โตแทบทุกพระองค์ ไม่ว่า กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ กรมพระนครสวรรค์ฯ กระทั่งรัชกาลที่ ๗ (ขณะยังไม่เสวยราชย์)” เช่น ครั้งหนึ่งกรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงตำหนิการไปดูงานที่ญี่ปุ่นของนายพันเอกพระยาพหลฯ แต่ภายหลังทรงสอบพบว่าไม่เป็นจริงตามที่รับรู้มา ก็ถอนคำว่ากล่าว แต่ “ช้าไป หนังสือตอบโต้อย่างตรงไปตรงมา (ของนายพันเอก พระยาพหลฯ)...สวนทางมาเสียแล้ว”
เรื่องนี้ทำให้พระองค์กริ้ว ไม่ตรัสกับพระยาพหลฯ ถึง ๓ ปี

สถานการณ์เหล่านี้เองทำให้นายพันเอกพระยาพหลฯ คิดจริงจังว่า “ทำอย่างไรหนอ การบริหารแผ่นดินจึงจะไม่ถูกผูกขาดไว้ในกำมือของพวกเจ้านาย...ฉวยพวกผู้ใหญ่เกิดดำริอะไรโง่ ๆ ขึ้นมามิหยุดหย่อน และพวกผู้น้อยที่มีปัญญา ซึ่งในบางคราวก็อาจจะมีความคิดเห็นดี ๆ ได้นั้นจะขัดขืนทัดทานไว้ก็มิฟังแล้ว ก็อาจเป็นเหตุให้บ้านเมืองประสบความล่มจมได้

“หรืออย่างน้อยก็ไม่มีวันเจริญก้าวหน้าเทียมทันกับประเทศเพื่อนบ้านเขาได้แน่”
เข้าร่วม
“คณะราษฎร”

ต่อมานายพันเอก พระยาพหลฯ เล่าความคับข้องใจกับเพื่อนสองคนคือ นายพันเอก พระยาทรงฯ อาจารย์ใหญ่วิชาทหารโรงเรียนนายร้อย และนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เสนาธิการกองทัพที่ ๑ โดยในเวลานั้นนายพันเอก พระยาพหลฯ เองก็รู้สึกว่าเรื่องที่คิดเป็น “เรื่องลม ๆ แล้ง ๆ” เพราะ “ภาวะของประชาชนในเวลานั้น ดูไม่แสดงว่ามีความกระตือรือร้นต่อการบ้านเมืองอย่างใด...”

แต่วันหนึ่ง พันตรี จมื่นสุรฤทธิ์พฤฒิไกร น้องชายที่ทำงานอยู่กรมทหารมหาดเล็กมาหาที่บ้านและบ่นเรื่องบ้านเมือง ก่อนจะเสนอพี่ชายว่า ควรแก้ไขโดย “...เปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน...ล้มเลิกบรรดาเอกสิทธิ์ของเจ้านายและกำจัดขุนนางกังฉินสอพลอฉ้อราษฎร์บังหลวงให้หมดสิ้นไป...”

นายพันเอก พระยาพหลฯ ฟังแล้วก็เตือนว่าเป็นเรื่อง “ใหญ่หลวงนัก เกินกำลังของเราทั้งสองจะคิดได้ตลอด” การก่อการยังต้องหาพวก พลาดก็ “หัวจะขาดด้วยกันหมด” ขอให้เลิกคิด

พันตรี จมื่นสุรฤทธิ์ฯ จึงแจ้งพี่ชายว่าคนนั้นมีอยู่พร้อม หากพี่ชายร่วมก็ “จะได้สมัครพรรคพวกเป็นอันมาก” นายพันเอก พระยาพหลฯ จึงเตือน โดยยกกรณีคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก่อนในสมัยรัชกาลที่ ๖ แต่คนในกลุ่มผู้ก่อการบางคนกลับใจไปแจ้งทางการ สุดท้ายก็โดนจับกุมทั้งหมด

พันตรี จมื่นสุรฤทธิ์ฯ จึงกล่าวถึงนายประยูร ภมรมนตรี บุตรพันโท พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ทูตทหารบกสยามประจำเยอรมนีซึ่งเคยสอนภาษาให้พระยาพหลฯ สมัยเรียนต่อต่างประเทศ โดยรับรองว่าประยูรคิดอ่านมั่นคง แต่ “ยำเกรงว่าคุณพี่เป็นผู้ใหญ่ ไม่อาจมาพูดจาชักชวนคุณพี่ด้วยตัวเอง” ก่อนสำทับว่า “ขอจงเห็นแก่ความเจริญของบ้านเมือง รับร่วมมือกับคุณประยูร เพื่อให้การใหญ่ครั้งนี้ได้สำเร็จลุล่วงไป แม้จะมีภัยถึงแก่ชีวิตก็จะได้ชื่อเสียงปรากฏในพงศาวดาร...” การนัดหมายจึงเกิดขึ้น
ถ่ายเมื่อตามเสด็จรัชกาลที่ ๗ เสด็จประพาสสิงคโปร์
ภายหลัง พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี เขียนใน บันทึกเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ว่า นายพันเอก พระยาพหลฯ นั้นตนไป “กราบเรียนเชิญด้วยตนเอง” และ “เทิดทูนให้ท่านเป็นหัวหน้า”

ส่วนการเตรียมทางทหารเป็นงานของนายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) และนายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ดังนั้น “คณะราษฎรสายทหารบก” ก็ได้นายพันเอก พระยาพหลฯ เป็น “ทหารผู้ใหญ่” และการร่วมมือครั้งนี้ทำให้แนวร่วมอุ่นใจ ที่มีทหารชั้นยศสูงสนับสนุน

เรื่องที่นายพันเอก พระยาพหลฯ ทำไม่สำเร็จประการเดียวช่วงนี้คือการชวนพระยาศรีฯ เข้าร่วม เพราะเมื่อลองหยั่งเชิงพระยาศรีฯ ก็ “ได้แต่นิ่งฟัง ไม่ทักท้วงและไม่สนับสนุนประการใด”

การประชุมแกนนำคณะราษฎรครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงต้นปี ๒๔๗๕ (สันนิษฐานว่าเป็นเดือนมีนาคม) ในที่ประชุมมีการเสนอรายนามผู้ก่อการในรูปแบบบัญชีสินค้าเพื่อรักษาความลับ ตั้งนายพันเอก พระยาพหลฯ เป็นผู้นำ ให้พระยาทรงฯ ร่างแผนการยึดอำนาจและตัดสินใจไม่ก่อการช่วงสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปี

จนถึงการประชุมครั้งที่ ๔ วันที่ ๑๒ มิถุนา-ยน ๒๔๗๕ ที่บ้านประยูร ที่ประชุมตัดสินใจใช้วิธีจับเจ้านายองค์สำคัญ ตัดการสื่อสารในพระนคร นำกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ

ช่วงเตรียมการนี้ มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่ง นายพันเอก พระยาพหลฯ เข้าเฝ้าพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากร รุ่นพี่นักเรียนเยอรมัน อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในรัชกาลที่ ๗ ที่ทรงลาออกตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ (จากปัญหาตัดเงินเดือนทหาร ทำให้พระองค์ถูกจับจ้องว่าจะเป็นผู้ปฏิวัติ)

ในวงสนทนา นายพันเอก พระยาพหลฯ “ทูลเชิงตลกทำนองว่า กรุงเทพฯ นี่ถ้าจะยึดให้ได้ง่าย ๆ เงียบ ๆ จะทำอย่างไรดี” ปรากฏว่าพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ตอบทันทีว่า “มันจะยากอะไร ก็จับเจ้านายสูง ๆ จับนายพลสำคัญ ๆ ไปเก็บไว้ต่อรองก็สิ้นเรื่อง” แล้วก็รับสั่งราวกับทรงรู้อะไรดี โดยปิดท้ายว่า “ฝ่ายพรรคพวกของเราจะรักษาสัจวาจาได้แค่ไหน หัวใจมันอยู่ตรงนี้แหละ”

เป็นอันว่าแผนยึดพระนครตามข้อเสนอพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ตรงกันกับแผนผู้ก่อการอย่างน่าพิศวง

สำหรับคณะราษฎร วันลงมือครั้งแรกถูกกำหนดไว้ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน แต่ปัญหาต่าง ๆ ทำให้เลื่อนเป็น ๒๑, ๒๓ จนการประชุมครั้งที่ ๘ กำหนดเป็น ๒๔ และที่ประชุมย้ำว่าจะไม่เลื่อนอีก ด้วยตำรวจสืบเข้าใกล้ตัวแกนนำมากขึ้นทุกที และช่วงนี้เป็นจังหวะดีที่สุด

เนื่องจากรัชกาลที่ ๗ ประทับอยู่ที่อำเภอหัวหิน
Image
ถ่ายกับผู้ก่อการ ๒๔๗๕ ฝ่ายทหารบกที่ตึกทหาร วังปารุสกวัน (สี่ทหารเสือ)
ย่ำรุ่ง ๒๔๗๕
นายพันเอก พระยาพหลฯ เมื่อรับเป็นหัวหน้าคณะ “บางคราวก็ยังมีใจวอกแวกหวนอาลัยในชีวิต” เพราะห่วงครอบครัว แต่หลัง “ทำความเพียรข่มจิต” ไปนั่งใต้ร่มไม้ในสวน จนได้คำตอบว่า “...บุตรภรรยาของคนอีกตั้งหมื่นตั้งแสนที่ได้ถูกปล่อยให้ต่อสู้กับเคราะห์กรรมไปแต่ลำพังในโลกนี้ คนเหล่านั้นเขาอยู่มาได้อย่างไร...ถ้าเราต้องตายในวันนี้เพื่อแก่ชาติบ้านเมือง จะไม่ดีกว่าการผัดไว้ตายในพรุ่งนี้โดยปราศจากความมุ่งหมายอะไรเลยหรือ ?” ในที่สุดก็ “ไม่วอกแวกผันแปรอีกเลย”

เขายังตัดสินใจบอกท่านผู้หญิงบุญหลงเพราะ “ภรรยานั้นเป็นเพื่อนร่วมตาย”

อธิบายว่าการนี้ “มิได้แน่ใจว่าจะทำไปสำเร็จดอก มองเห็นข้างศีรษะจะหลุดจากบ่านั้นมากกว่าแต่ที่เห็นแน่ตระหนักในใจก็คือ ถ้าไม่เร่งรัดจัดเปลี่ยนระบอบการปกครองเสียแต่ในเวลานี้แล้ว ภายหน้าบ้านเมืองก็คงจะประสบความหายนะถึงล่มจมไปเป็นแน่” โดยท่านผู้หญิงบุญหลงไม่คัดค้าน ทั้งยังรับปากว่า ข้อแรก หากสามีพลาดจะอยู่เป็นพยานเล่าว่าการก่อการ “มิได้หมายจะช่วงชิงเอาราชบัลลังก์” แต่มุ่ง “ให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้มีสภาการปกครองแผ่นดิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้บ้าง” ข้อ ๒ จะเลี้ยงดูบุตรและคนที่ท่านรักดุจสมัยสามียังมีชีวิต

ถึงคืนวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๕ นายพันเอก พระยาพหลฯ ก็ลาภรรยาและขอให้ปลุกราวตี ๓ เพราะนายพันโท พระประศาสน์พิทยา-ยุทธ (วัน ชูถิ่น) จะขับรถมารับประมาณตี ๔ “จะได้รับประทานอาหารนิดหน่อย และแต่งตัวให้เสร็จ อาหารที่จะรับประทานนั้น ขอให้ทำโกโก้แต่เพียงถ้วยเดียว” จากนั้นก็เข้านอนแต่หัวค่ำ

ทว่าราวตี ๒ เมื่อเห็นรถตำรวจผ่านหน้าบ้านท่านผู้หญิงบุญหลงเกิดระแวง ก็ปลุกสามีขึ้นมา แต่นายพันเอก พระยาพหลฯ มองว่าเป็นการตรวจปรกติ กลับเข้านอนต่อไป

จนเช้ามืด ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นายพันโทพระประศาสน์ฯ ก็ขับรถมาถึง เมื่อ “ร้องถาม...แน่น้ำเสียงดีแล้ว ท่านผู้หญิงบุญหลงจึงลุกไปเปิดประตูรับพระประศาสน์ฯ เข้ามาในบ้าน” นายพันเอก พระยาพหลฯ ซึ่งรออยู่แล้ว ก็หยิบปืนพก เดินขึ้นรถ มุ่งไปที่ “ริมทางรถไฟตรงทางสามแพร่ง” (คือบริเวณ “สามเหลี่ยมจิตรลดา” หรือ “บ้านสามเหลี่ยม” หลังด่านเก็บค่าขึ้นทางด่วนยมราช ซึ่งเป็นที่กลับรถไฟแห่งเดียวที่ยังใช้งานจนปัจจุบัน)

๐๕.๐๐ น. นายพันเอก พระยาพหลฯ พบนายทหารบกคนอื่น ๆ ของคณะราษฎร ณ จุดนัดหมาย จากนั้นมุ่งหน้าไปที่กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ (ปัจจุบันคือบริเวณตรงข้ามอาคารรัฐสภาสัปปายะสภาสถาน)

รถที่นายพันเอก พระยาพหลฯ นั่งตอนนี้เริ่มเบียดเสียด จนหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ (สมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก) ต้องนั่งบนตักของท่านหัวหน้าคณะราษฎร
"ถ้าไม่เร่งรัดจัดเปลี่ยนระบอบการปกครองเสียแต่ในเวลานี้แล้ว ภายหน้าบ้านเมืองก็คงจะประสบความหายนะ"

พระยาพหลฯ กล่าวกับภรรยา
ก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

Image
๐๕.๓๐ น. ถึงกองรักษาการณ์ของกรมทหารม้าที่ ๑ นายพันเอก พระยาพหลฯ  นายพันเอก พระยาทรงฯ  นายพันโท พระประศาสน์ฯ ก็แจ้งว่าเกิดจลาจลในพระนคร

“ฝ่ายผู้บังคับกองรักษาการณ์ซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย เมื่อเผชิญหน้ากับนายทหารผู้ใหญ่ทั้งสาม อีกทั้งเคยอยู่ในฐานะเป็นอาจารย์ของตนมาแต่ก่อนด้วย ก็เชื่อคำลวงนั้นอย่างสนิท” ผลคือแตรสัญญาณบอกเหตุดังทั้งกรมทหารม้าที่หลับใหลตื่นด้วยความชุลมุนเพราะถูกสั่งให้พร้อมในเวลาไม่กี่นาที

ส่วนพระยาพหลฯ ก็ “รุดไปยังคลังอาวุธ ใช้กรรไกรซึ่งเตรียมไปพร้อมแล้วเข้าตัดโซ่กุญแจประตูคลัง อันเต็มไปด้วยหีบกระสุนและปืนกลเบา” ขณะที่นายพันโท พระประศาสน์ฯ ไปที่โรงเก็บยานเกราะ ยึดยานเกราะ รถบรรทุก บัญชาให้ทหารขึ้นประจำรถ สั่งนำหีบกระสุนและปืนกลเบาขึ้นรถ อีกส่วนให้เดินแถวไปยังกรมทหารปืนใหญ่ที่อยู่ห่างออกไป ๑๐ นาที

ปฏิบัติการส่วนนี้ทั้งหมดจบลงใน ๓๐ นาที

ตอนนี้ขบวนยานเกราะและรถบรรทุกทหารมุ่งไปที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ (ปัจจุบันอยู่เยื้องกับอาคารรัฐสภา) ที่นายพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) จัดกำลังรออยู่แล้ว จากนั้นเมื่อขบวนเคลื่อนผ่านกองพันทหารช่าง นายพันเอก พระยาพหลฯ ก็ตะโกนเรียกทหารที่ฝึกอยู่หน้ากรมให้ขึ้นรถ ก็ปรากฏว่ายอมตามมาโดยง่าย

ปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการอิสระ ค้นคว้าเส้นทางเคลื่อนกำลังช่วงนี้ไว้ใน “นาทีปฏิวัติ ๒๔๗๕ : อยากรู้ ย่ำรุ่งคือกี่โมง ? พระยาพหลฯ ยืนอ่านคำประกาศตรงไหน ? อ่านอะไรแน่ ?” ใน ศิลปวัฒนธรรม (มิถุนายน ๒๕๕๕) ว่า ขบวนมีทั้งทหารม้า ทหารปืนใหญ่ หัวขบวน “นำโดย ‘ไอ้แอ้ด’ รถถังจากกรมทหารม้า รถบรรทุกทหารและอาวุธวิ่ง...ปิดขบวนด้วยทหารช่าง” ใช้เส้นทางผ่านสะพานแดง ถนนพระรามที่ ๕ เลี้ยวขวาเข้าถนนศรีอยุธยาผ่านวัดเบญจมบพิตร มุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยถึงตรงนี้ นายพันโทพระประศาสน์ฯ แยกไปกับกำลังบางส่วนเพื่อไปคุมตัวสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร พระยาสีหราชเดโชชัย (เสนาธิการทหารบก) และพระยาเสนาสงคราม (ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑)

เวลาเดียวกัน หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน) ลอยเรืออยู่ในคลองรอบกรุง แจกประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ย้ำว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร” วิจารณ์เจ้าที่ไม่จัดการศึกษาให้ราษฎร ล้มเหลวเรื่องบริหารเศรษฐกิจ โดยกล่าวถึงทางแก้ไขคือ “...ต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด” ย้ำว่า “คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ (รัชกาลที่ ๗) ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมาย...” ขณะที่คณะราษฎรสายอื่น ๆ แยกกันทำงานจนสำเร็จ
Image
ลายบน “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ที่เคยฝังอยู่บนลานพระบรมรูปทรงม้า บริเวณที่พระยาพหลฯ อ่านแถลงการณ์
เมื่อแสงรุ่งอรุณสาดลงที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ทหารเหล่าต่าง ๆ ที่ถูกหลอกมาก็ถูกนำมาปะปนกันเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วยสั่งการได้ไม่ถนัด  ประยูรเขียนใน บันทึกเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ว่า เมื่อถึงเวลา ๐๗.๐๐ น. นายพันเอกพระยาพหลฯ ก็ก้าวออกมา “อ่านประกาศยึดอำนาจเสียงสนั่นดังลั่น มีนายทหารของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งทหารบก ทหารเรือ กระจายกันคุมเชิงอยู่รอบ ๆ ในที่สุดเมื่อได้อ่านคำประกาศสุดสิ้นแล้ว ก็ได้เปล่งเสียงไชโยกึกก้อง แล้วก็นำขบวนเข้างัดพระทวารด้านหน้าของพระที่นั่งอนันตสมาคมจัดเป็นความสำเร็จเบื้องต้นของคณะฝ่ายทหารที่ทำการยึดอำนาจ”

เอกสารหลายชิ้นยังชี้ว่า สิ่งที่นายพันเอกพระยาพหลฯ อ่าน ไม่ใช่ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ แต่เป็นข้อความที่ร่างเอง  หนังสือ ทหารเรือปฏิวัติ ของ “นายหนหวย” ที่สัมภาษณ์ผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือ อธิบายว่า “พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ สองสหายก็พากันร่างคำแถลงการณ์ขึ้นเพื่อประกาศแทนคำสมมติในการฝึก...ไม่ใช่ฉบับที่พิมพ์แจกจ่ายแก่ประชาชน” โดยที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อเผื่อเกิดผิดพลาดแล้วถูกยึดเอกสาร

เนื้อหาแถลงการณ์จึงเขียนเป็นภาษา “เยอรมันแต่อ่านเป็นภาษาไทย...มีใจความสำคัญแต่เพียงว่าบัดนี้คณะราษฎร, ทหาร, พลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองไว้แล้วโดยเด็ดขาด เพื่อลบล้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชอันเก่าแก่ลง และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นตามแบบอารยะชาติทั้งหลาย ขอให้นายทหารที่มิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติอยู่ในความสงบอย่าทำการขัดขวาง และออกจากลานพระรูปฯ ไปไม่ได้จนกว่าจะได้สั่งให้กลับไป หากจะพอใจให้ความร่วมมือสนับสนุนแก่คณะราษฎร ซึ่งยึดอำนาจการปกครองก็ยินดียิ่ง ทั้งนี้เพื่อความเจริญของชาติบ้านเมือง”

สี่ปีต่อมา (ปี ๒๔๗๙) ที่จุดเดียวกัน นายพันเอก พระยาพหลฯ ยังได้ทำพิธีฝัง “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในบริเวณที่เขายืนอ่านประกาศ ซึ่งเป็นตำแหน่งเยื้องไปทางทิศอีสานของพระบรม-ราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็น “เครื่องป้องกันการหลงลืมและเปนอนุสสรณ์สืบต่อไปภายภาคหน้า” (ประชาชาติ, ๑๒ ธันวาคม ๒๔๗๙)

และ ๘๒ ปีต่อมา, ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘, ๐๕.๐๐ น. หลังการรัฐประหารโดย คสช. ครบรอบ ๑ ปี ผมมีโอกาสไปฟังคนกลุ่มหนึ่งอ่านบทกวี ณ บริเวณฝัง “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ”  พวกเขาแต่งบทกวีรำลึกถึงเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อ่านเสร็จแล้วก็นำพวงมาลัย ข้าวตอกดอกไม้วางบนหมุดเพื่อคารวะคณะราษฎร ท่ามกลางการจับตามองของตำรวจ

ไม่คาดคิดว่านั่นคือครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ด้วยในปี ๒๕๖๐ หมุดถูกถอดออกและหายไปอย่างลึกลับ  ต่อมาลานพระบรมรูปทรงม้ายังถูกกั้นรั้ว ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างแต่ก่อน 

ที่สำคัญปรากฏสิ่งที่เรียกว่า “หมุดหน้าใส” มาฝังเอาไว้แทนในตำแหน่งเดียวกัน
Image
พระยาพหลฯ (แถวที่ ๒ คนที่ ๓ จากซ้าย) ถ่ายในวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ ๑​
"เรื่องนี้ (การอภิวัฒน์) ได้คิดกันมานานแล้วและได้พยายามจะใช้วิธีอันละม่อมที่สุด"

พระยาพหลฯ กล่าวในคราวเรียกประชุมเสนาบดีจากระบอบเก่า

ผู้รักษาพระนคร
ย้อนไปเย็นวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ 
๑๖.๐๕ น. 

นายพันเอก พระยาพหลฯ เริ่มลงนามคำสั่งฉบับแรกในฐานะ “ผู้รักษาพระนคร” ขอให้ข้าราชการทุกคนทำงานตามปรกติ เซนเซอร์หนังสือพิมพ์ควบคุมข่าวสาร ถึงช่วงเย็นก็เป็นประธานประชุมเสนาบดีและปลัดทูลฉลองจากทุกกระทรวงที่ถูกเรียกตัวมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม

ในที่ประชุม นายพันเอก พระยาพหลฯ มอบให้หลวงประดิษฐ์ฯ ชี้แจงจุดประสงค์การอภิวัฒน์ และการบริหารราชการช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลวงประดิษฐ์ฯ ยืนยันกับที่ประชุมว่า เสนาบดี ปลัดทูลฉลอง ทำงานต่อไปได้ในห้วงเวลานี้โดยอาศัย “อำนาจคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร”

ส่วนประเด็นร้อนคือการยอมรับรัฐบาลใหม่จากต่างประเทศ มีบันทึกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ วิวาทะกับพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ จากระบอบเก่า ที่ยืนยันว่าจะทำหน้าที่เพียงแค่ “สื่อสาร” กับต่างประเทศเท่านั้น แต่จะไม่ยอมส่งคำขอให้นานาประเทศรับรองรัฐบาลใหม่ จนกว่ารัชกาลที่ ๗ จะทรงให้คำตอบคณะราษฎร โดยประกาศเป็นนัยว่าถ้ากดดัน “ข้าพเจ้าก็ลาออก”

เพื่อหยุดปฏิกิริยาต่อต้าน นายพันเอก พระยาพหลฯ กล่าวขึ้นว่า “เรื่องนี้ (การเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ได้คิดกันมานานแล้ว และได้พยายามจะใช้วิธีอันละม่อมที่สุด ซึ่งจะใช้วิธียอดเยี่ยมกว่านี้ไม่ได้”

๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ เมื่อรัชกาลที่ ๗ ทรงตอบรับเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถาน-การณ์ก็เริ่มคลี่คลาย ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (ท่านชิ้น) ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองทหารรักษาวัง เขียนไว้ว่า เหตุที่รัชกาลที่ ๗ ทรงรับเพราะต้องการ “หลีกเลี่ยงการนองเลือด”

รัชกาลที่ ๗ ตัดสินพระทัยกลับพระนครด้วยรถไฟขบวนพิเศษแทนที่จะเป็นเรือหลวง สุโขทัย ที่นำ “คำขาด” คณะราษฎรไปถวาย เมื่อเสด็จฯ ถึงพระนครในวันที่ ๒๖ คณะราษฎรก็ส่งแกนนำเข้าเฝ้าฯ ที่วังศุโขทัย

พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ คณะราษฎรสายทหารเรือ ระบุภายหลังว่า คณะราษฎรทราบความไม่พอพระทัยตั้งแต่ส่งคนเข้าเฝ้าฯ ครั้งนี้ในกรณีประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ที่รัชกาลที่ ๗ ทรงเห็นว่า “เป็นคำจาบจ้วงล่วงเกินรุนแรง” แต่ก็พระราชทานอภัยโทษ โดยออกพระราชโองการนิรโทษกรรมให้

ทว่าเมื่อแกนนำทูลเกล้าฯ ถวายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ทรงขอเวลาอ่าน ๑ คืน จากนั้น ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายลงไป  

ผลคือต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใหม่ จุดนี้เองที่นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่าการต่อรองระหว่าง “ระบอบเก่า” และ “ระบอบใหม่” เริ่มขึ้น

ส่วนนายพันเอก พระยาพหลฯ “ผู้รักษาพระนคร” จบงานในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ เมื่อมีการเปิดประชุมสภานัดแรกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑/๒๔๗๕ ระบุว่า หลังหลวงประดิษฐ์ฯ อ่านรายนามผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดชั่วคราว (ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร) ๗๐ นาย ก็มีการแจ้งว่าพระยาวิชิตชลธีปฏิเสธตำแหน่ง สส. โดยบอกป่วย ทำให้มีการเสนอนายพันเอก พระยาพหลฯ เป็น สส. แต่เจ้าตัวปฏิเสธเพราะ “ไม่มีความปรารถนาข้อนี้มาแต่ไร ๆ เลย หวังเพียงจะถากถางให้เพื่อประโยชน์ของราษฎร ๑๒ ล้านเท่านั้น”

ขณะที่พระยาประมวลวิชาพูลขอให้รับเพื่อประโยชน์กับราษฎร และเมื่อ สส. คนอื่นลงมติสนับสนุน นายพันเอก พระยาพหลฯ จึงจำต้องรับ จากนั้นจึงทำภารกิจสุดท้ายคือส่งมอบอำนาจให้สภา

เขากล่าวสั้น ๆ เพียง “บัดนี้ ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบการงานปกครองแผ่นดินที่ได้ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไป”