Image
พระยาพหลฯ คือ
“เสาหลัก” ของคณะราษฎร
ผศ. ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๓ มุมมอง กรณีพระยาพหลฯ
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“พระยาพหลฯ เป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเชษฐบุรุษหรือรัฐบุรุษผู้ใหญ่ ที่ถือเป็นเสาหลักของคณะราษฎรที่ได้รับการยกย่องจากสมาชิกคณะราษฎรทุกฝ่าย รวมถึงมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ให้แก่ประเทศชาติคือ หนึ่ง เปลี่ยนแปลงการปกครอง  สอง พิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ประคองระบอบใหม่ให้เข้ารูปเข้ารอย วางรากฐานให้มั่นคง ปูทางให้การสร้างชาติของจอมพล ป. ในระยะถัดไป  หลายเรื่องในยุคจอมพล ป. มีแนวคิดตั้งแต่สมัยพระยาพหลฯ แล้ว  สาม  ทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงคงอยู่ในระบอบใหม่ บทบาทนี้จะเห็นตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมาจนถึงช่วงรัชกาลที่ ๗ สละราชบัลลังก์ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเหล่านี้ ถ้าไม่มีพระยาพหลฯ เป็นผู้นำ การเมืองอาจจะพลิกผันเปลี่ยนไปจากที่เราเห็นในยุคปัจจุบัน
“ภายในคณะราษฎรมีคนหลากหลายแนวคิดและอุดมการณ์ นับตั้งแต่สังคมนิยม เสรีนิยม จนไปถึงอนุรักษนิยมบุคลิกของพระยาพหลฯ เป็นคนใฝ่ธรรมะ ไม่อยากมีอำนาจมีลักษณะประนีประนอม คุยได้ทุกฝ่ายรวมถึงกลุ่มขุนนางเก่าและกลุ่มเจ้านาย เป็นผู้มีบารมีระดับหนึ่งที่สามารถโน้มน้าวสมาชิกคณะราษฎรได้ พระยาพหลฯ เป็นคนที่เลือกใช้คนเป็นด้วยการมอบหมายหน้าที่แก่บุคคลตามความรู้ความสามารถ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถึงเวลาคับขัน พระยาพหลฯ ก็กล้าที่จะตัดสินใจด้วยความเด็ดขาด

“ในแง่บทบาท ก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระยาพหลฯ
เป็นนายทหารที่เรียนจบจากยุโรป แต่ก็ไม่มีบทบาทสำคัญในการคุมกำลังพล เมื่อพระยาพหลฯ เข้าร่วมกับคณะราษฎรก็ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะราษฎรจากความอาวุโสสูงสุด หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทบาททางการเมืองที่โดดเด่นไปตกอยู่กับ ปรีดี พนมยงค์ ขณะที่บทบาทด้านความมั่นคงจะไปตกอยู่กับพระยาทรงฯ ส่วนพระยาพหลฯ จะเห็นบทบาทชัดเจนเมื่อท่านดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว 
เพราะมี "พระยาพหลฯ อยู่ คณะราษฎรถึงรวบรวมผู้คนได้
Image
บทสัมภาษณ์พระยาพหลฯ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งให้ภาพเบื้องหลังเหตุการณ์ ๒๔๗๕
(หนังสือของ อ. ศรัญญู เทพสงเคราะห์)

Image
หนังสือสะสมส่วนหนึ่งของอาจารย์ศรัญญูเกี่ยวกับพระยาพหลฯ
“ปัญหาซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ปี ๒๔๘๐ ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ ที่มีการขายที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกให้แก่สมาชิกคณะราษฎรระดับรองและบุคคลทั่วไป เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นเพราะมีการอภิปรายในสภาโดยนายเลียง ไชยกาล สส. อุบลฯ ผมมองว่าเป็นความรับผิดชอบของคณะราษฎรการกระทำแบบนี้ตามหลักการไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดจริยธรรมเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีแรก ๆ ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ

“ถ้าไล่ดูจะพบว่าพระยาพหลฯ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการซื้อขายที่ดินนี้ คนที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือพระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ รัฐมนตรีสั่งการสำนักพระราชวัง บทสรุปของเหตุการณ์นี้มีการแสดงความรับผิดชอบเกิดขึ้น รัฐบาลพระยาพหลฯ ลาออกผู้ซื้อที่ดินทุกรายก็ขอคืนที่ดินแก่พระคลังข้างที่ มีการตั้งกรรมการอิสระตรวจสอบกรณีนี้ จนนำไปสู่การลงโทษรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังบางคน แต่เรื่องนี้ถูกนำมาโจมตีคณะราษฎรอีกครั้ง โดยนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน

“ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนรัฐบาล พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ตั้งพระยาพหลฯ เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยาพหลฯ ป่วยแล้ว เรื่องนี้เกิดจากคุณควงกลัวว่า จอมพล ป. พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะแพ้โหวตในสภาแล้ว แกยังมีตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอาจยึดอำนาจ ก็น่าคิดว่าตอนนั้น จอมพล ป. ไปเก็บตัวอยู่ที่โคกกะเทียม ลพบุรีบรรยากาศความตึงเครียดนี้ปรากฏเด่นชัดจนนายกฯ ควงต้องเดินทางไปลพบุรีกับขุนศรีศรากร เพื่อเข้าพบจอมพล ป.

“ช่วงที่พระยาพหลฯ เสียชีวิตในปี ๒๔๙๐ เป็นห้วงเวลาสำคัญทางการเมือง รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ย่ำแย่แล้ว
มีคนไม่พอใจรัฐบาลคณะราษฎรสายพลเรือนจากปัญหาเศรษฐกิจ ฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังฟื้นตัว มีการปั่นกระแสโจมตีทางการเมืองหลายเรื่อง แต่ผมคิดว่าถ้าพระยาพหลฯ ยังมีชีวิตต่อมาก็คงทำอะไรไม่ได้มากนัก ในงานศพพระยาพหลฯ เป็นครั้งสุดท้ายที่ปรีดีกับจอมพล ป. พบกัน หลังจากนั้นเราก็ทราบกันดีว่ามีการยึดอำนาจในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นการสิ้นสุดยุคคณะราษฎร
Image
“กระแสโจมตีคณะราษฎรปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๗) เราเห็นแอนิเมชันฝ่ายขวาทำออกมา ผมมองว่ามันไม่ต่างกับงานของ ‘นายหนหวย’ [นามปากกาของ ศิลปชัย ชาญเฉลิม (ปี ๒๔๖๕-๒๕๔๓) นักเขียนสารคดีแนวการเมืองและประวัติศาสตร์ซึ่งมีมุมมองอนุรักษนิยม] รูปแบบใหม่ โครงเรื่องทั้งหมดเป็นของเก่า โจมตีคณะราษฎร ขับเน้นดรามาเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๗ ข้อมูลเหล่านี้มันไม่เห็นใหม่ตรงไหน เพราะมันเป็นเรื่องเล่าแบบเดียวกับฝ่ายขวานับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐

“ส่วนกรณีมีการเปลี่ยนชื่อสถานที่อย่างค่ายทหารที่เกี่ยวกับพระยาพหลฯ มันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามความจำแน่นอน แต่เป็นเรื่องแปลกที่พระยาพหลฯ ซึ่งเป็นคนประนีประนอมกลับโดนโจมตี ภาพของท่านต่างกับปรีดี หรือจอมพล ป. ที่กลายเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่มาก 

“ต้องไม่ลืมว่าหมวกอีกใบหนึ่งของพระยาพหลฯ คือทหารที่เป็นนายกฯ เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า คนที่ทหารมองเป็นวีรบุรุษยกย่องในฐานะทหาร ไม่ได้มองด้านที่เป็นผู้นำคณะราษฎร ถึงวันหนึ่งก็ถูกรื้อออก สิ่งที่เราถือว่าพิเศษมาก ผู้สั่งย้าย สั่งรื้อ เอาความหมายทางการเมืองใส่สถานที่ สร้างอนุสาวรีย์ใหม่แทนที่อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ในค่ายทหาร นี่คือการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์และต้องการเปลี่ยนภูมิทัศน์ใหม่ทั้งหมดและทำลายความทรงจำบุคคลสำคัญทางการเมืองสายประนีประนอม การกระทำเหล่านี้จึงสื่อความหมายทางการเมืองอย่างชัดเจน และผลคือคนสนใจพระยาพหลฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจไม่ตรงตามจุดมุ่งหมายของผู้สั่งการ”