HI HOMO
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ศิลปกรรม : ชลชาติ พุ่มจันทร์
(นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ยากจริงที่จะเที่ยวพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าวันเดียว
ไม่ใช่แค่ขนาดพื้นที่ในอาคาร ๓๗,๐๐๐ ตารางเมตร !
ยังอัดแน่นด้วยเนื้อหาจัดแสดงใหญ่สามกลุ่ม คือ บ้านของเรา ชีวิตของเรา และในหลวงของเรา แต่ละกลุ่มขนทัพมาอวดความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก ไล่ตั้งแต่ก่อเกิดจักรวาล ระบบสุริยะ วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตจนกำเนิดสายพันธุ์มนุษย์ ก่อนนำทางสู่สรรพชีวิตในระบบนิเวศและกิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อชีวนิเวศนั้น ๆ ทั้งขั้วโลกใต้ ขั้วโลกเหนือ ทุนดรา ป่าไทกา ทะเลทราย เขตอบอุ่น และเขตร้อน
แต่ละนิทรรศการงัดสื่อความรู้มาใช้สารพัดแบบ ทั้งป้าย โรงภาพยนตร์ ตู้เกม หุ่นเสมือนจริง ฯลฯ ยังชวนเล่นสัมผัสบรรยากาศจำลอง อย่างถ้าเดินลอดอุโมงค์ลมเย็นในอุณหภูมิติดลบก็จะคล้ายอยู่ขั้วโลกเหนืออันหนาวเหน็บ เรียนรู้วิถีชาวเอสกิโม ก่อนอบอุ่นขึ้นทีละนิดเพื่อทำความรู้จักพืชพรรณและสัตว์น้อยใหญ่ที่ปรับตัวดำรงชีพร่วมกับมนุษย์ หรือเมื่อเดินผ่านพื้นที่แห้งสุดโต่งอย่างทะเลทรายก็จะพบผองพืชและฝูงสัตว์ รวมถึงบ้านกลางทะเลทรายของชนพื้นเมืองที่ใช้ชีวิตสัมพันธ์กับทรัพยากรในพื้นที่
จากนั้นนิทรรศการจะค่อย ๆ ร้อยเรียงสู่ประเทศไทยแบบไร้รอยต่อ เน้นเรื่องดิน น้ำ ป่า และอาชีพของคนไทย แสดงพระเกียรติคุณและพระปรีชาของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ใช้หลักการวิทยาศาสตร์มองความสัมพันธ์ของระบบนิเวศอย่างเข้าใจภูมิศาสตร์พัฒนาวิถีดำรงชีพให้พสกนิกรเห็นความสำคัญของจิตสำนึกอนุรักษ์ นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรแต่ละท้องถิ่น
อดีต-ปัจจุบันในพื้นที่กว้าง จำนวนไม่น้อยคงยกนิ้วให้นิทรรศการ “การเดินทางของมนุษยชาติ (Human Odyssey)” ที่มีหุ่นมนุษย์แต่ละยุคผ่านการคัดสรร หกสายพันธุ์หลัก ทั้ง โฮโม ไฮเดลเบอร์เกนซิส, ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส, โฮโม แฮบิลิส, โฮโม อีเร็กตัส, โฮโม นีแอนเดอร์ทัลเอนซิส, โฮโม เซเปียนส์ และโฮโม ฟลอเรซิเอนซิส แสดงวิวัฒนาการทางกายภาพที่พัฒนาเรื่อยมาจาก ๕๐๐,๐๐๐ ปี ทั้งหน้าตา-รูปร่างจนยืนตรงเดินสองขาอย่างมั่นคง ซึ่งกว่าแต่ละสายพันธุ์จะรู้จักใช้มือที่มีลักษณะพิเศษ ใช้ปัญญารังสรรค์วัฒนธรรมและปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่แตกต่างก็ล้วนมีเรื่องน่าตื่นใจไม่น้อย
ในจำนวนหุ่นจำลองเผ่าพันธุ์ที่ถอดแบบการค้นพบซากดึกดำบรรพ์และหลักฐานทางโบราณคดีมาอย่างพิถีพิถัน น่าตื่นตาหุ่นมนุษย์สกุล “โฮโม ฟลอเรซิเอนซิส (Homo floresiensis)” ที่บ้างเรียก “มนุษย์ฮอบบิต” คนตัวเล็ก-สายพันธุ์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ ๑๐๐,๐๐๐ ปีก่อนจะสูญพันธุ์ไปราว ๑๒,๐๐๐ ปี และเพิ่งค้นพบกระดูกเมื่อปี ๒๕๔๖ ที่เกาะฟลอเรส ประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นกระดูกมนุษย์ คำนวณอายุได้ราว ๖๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ปี และสันนิษฐานว่ามนุษย์ผู้ใหญ่ของสายพันธุ์นี้มีความสูงเฉลี่ยเพียง ๑๑๐ เซนติเมตร ซึ่งถ้าอ้างอิงกับเกณฑ์ตารางส่วนสูงตามสำนักโภชนาการ กรมอนามัยกำหนดใหม่ในปี ๒๕๖๓ จะสูงเทียบเท่าเพียงเด็กอายุ ๕ ขวบ !
ท่ามกลางหุ่นมนุษย์สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ล้วนจำลองจากเพศชายร่างกำยำ โฮโม ฟลอเรซิเอนซิส ไม่เพียงตัวเล็กสุด ยังเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวที่เดินทางข้ามยุคมารอ say Hi ! Homo สมัยใหม่
ซุกอยู่ตรงไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู
พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๒๐
โทร. ๐-๒๕๗๗-๙๙๙๙ เปิดวันอังคารถึงวันศุกร์ เวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ น.
(วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดถึง ๑๗.๐๐ น.)