Image
ตี๋ สัปเหร่อวัดน้อยนอก ยกร่างสัตว์เลี้ยงที่เตรียมเผา ออกมาจากโลงศพเล็ก ๆ หลังจากเจ้าของโปรยดอกไม้ ถ่ายรูป และร่ำลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในโลงศพเล็ก ๆ นั้น
เต็มไปด้วยความรัก
แมวววว...
เรื่องและภาพ : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
“เขาก็เหมือนคน ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ มีแต่ร่างแล้วกลายเป็นเถ้าถ่าน พอสวดเสร็จก็นำร่างไปที่หน้าเตา ผมจะถามว่ามีอะไรจะลาเขาเป็นครั้งสุดท้ายไหม”

ภายในห้องสี่เหลี่ยมติดเครื่องปรับอากาศตัดกับอากาศร้อนแล้งในเดือนมีนาคม ด้านหน้าห้องมีเครื่องชั่งกิโลขนาดใหญ่อยู่บนโต๊ะ เมื่อเข้ามาแล้วมีเก้าอี้จำนวนหนึ่งพร้อมอาสนะของพระสงฆ์หนึ่งรูป ตู้บริจาคเพื่อช่วยเหลือสัตว์ และกล่องไร้ฝาขนาดเล็กสีชมพู

ตี๋-ภูมินทร์ สุขบรรเทิง สัปเหร่อผู้รับหน้าที่ฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงประจำวัดน้อยนอกและเป็นผู้เผาศพแมวอโศกและคุณมะลิ แมวเซเล็บชื่อดัง กล่าวหลังจากชี้แจงเรื่องลอยอังคารน้องแมวของลูกค้าเมื่อไม่กี่นาทีก่อน

กระดูกสีขาวหม่นชิ้นเล็กในห่อผ้าขาววางอยู่บนถาด บทสนทนาเป็นเรื่องเงื่อนไขของการลอยอังคาร การใช้บริการ และการเซ็นใบเสร็จรับเงินของร่างเล็กสี่ขาที่เพิ่งถูกเผาไป

ด้วยรักและผูกพัน
“ผมเคยมาปีที่แล้ว แมวเสียเหมือนกัน ตัดสินใจนำแมวมาทำพิธีเพราะรัก ผูกพัน ต้องการทำให้เขาอย่างดีที่สุด ไม่อยากฝังเฉย ๆ ผมให้พระสวดด้วย

“ผมไม่รู้เขาเป็นแผลเพราะอะไร ปรกติน้องจะเดินมาถู ๆ ไถ ๆ แต่วันนั้นเขาแปลก เข้ามายืนนิ่ง ขาสั่น ทิ้งตัวลงนอน เราก็เริ่มรู้แล้ว พอขึ้นรถปุ๊บน้องก็ไปเลย ตอนนั้นเสียใจมากครับ ร้องไห้ ขับรถอยู่แขนเดียว หมอบอกเป็นแผลติดเชื้อ เป็นแมวตัวแรกที่เสีย อยู่กับเรามา ๓ ปี วัน ต่อมาก็พาน้องมาสวด ลองค้นหาวัดที่รับเผาสัตว์ก็เจอวัดนี้อยู่แถวบ้าน”

นิติธร ใจกิจสุวรรณ เจ้าของแจ็กพอต แมวพันธุ์เปอร์เซียที่เพิ่งตายเล่า นี่เป็นครั้งที่ ๒ ที่เขามาทำพิธีที่นี่ แต่ไม่ได้นิมนต์พระมาสวดเหมือนครั้งก่อน เขาเสริมว่า การจัดงานให้แมวอย่างดีทำให้ไม่รู้สึกติดค้าง เพราะความเสียใจและความเศร้าจะได้บรรเทาลงบ้าง ยังมีแมวตัวอื่น ๆ ที่รอให้เลี้ยงดูต่อ
Image
น้องแมวลีหมิงในพิธีฌาปนกิจที่วัดกระทุ่มเสือปลา เจ้าของซื้อดอกไม้สดมาจัด เพื่อส่งน้องสู่อีกภพอย่างสมบูรณ์ที่สุด 
ภาพ : Pet Funeral Thailand

“ที่วัดนี้มีให้เลือกว่าจะเผาทำลายซากน้อง หรือให้พระสวดแล้วทำลายซากน้องเลย และลอยอังคารน้องเพื่อคืนสู่ธรรมชาติ การเผาศพแมวจะเร็วกว่าคน เรานิมนต์พระสงฆ์หนึ่งรูป พระท่านจะสวดยถาและสัพพีกับชักผ้าบังสุกุลน่ะครับ บทสวดสั้นกว่าเยอะ อาจมีรูปที่ญาติโยมนำมาตั้งเพื่อให้ดูสวยงาม โดยรวมใช้เวลาสวดราวครึ่งชั่วโมงอย่างช้า เผา เก็บกระดูกก็ประมาณ ๑ ชั่วโมง เผาเสร็จก็จบ ไม่มีกดกริ่ง” ตี๋อธิบายระหว่างรอคิวลูกค้ารายถัดไป

ยุคแรก ๆ การทำพิธีศพให้สัตว์โดยเฉพาะแมวหรือสุนัขจร สัปเหร่อจะนำศพเข้าเตาเผาจากนั้นก็ปิดงานโดยไม่มีรายละเอียดอื่น ๆ ตี๋เล่าว่าลูกค้ารู้ข้อมูลจากการบอกปากต่อปาก แต่การทำลายซากศพแมวด้วยการเผาก็ยังสู้การฝังไม่ได้ เจ้าหน้าที่เครื่องใช้ไฟฟ้าประจำวัดธาตุทองเองบอกว่าเมื่อก่อนเขาเห็นภาพคนจับศพแมวใส่ถุงแล้วโยนทิ้งขยะหรือลงเตาเผาอยู่บ่อยครั้ง

แต่ปัจจุบันการฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงในเมืองไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นจาก ๕-๑๐ ปีก่อน จำนวนวัดที่รับจัดการก็มีทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น วัดธาตุทอง วัดน้อยนอก วัดกระทุ่มเสือปลา วัดคลองเตยใน วัดไก่เตี้ย และศพสัตว์ที่มีคิวเผาทุกวันคือสุนัขและแมว

ธีรวัฒน์ แซ่ห่าน เจ้าของกิจการ Pet Funeral Thailand ซึ่งมีสาขามากมายตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดน้อยนอก วัดกระทุ่มเสือปลา วัดจันทรสุข วัดบางศรีเมือง เข้าออกวัดและคุ้นเคยกับภาพการฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างดี เขาพัฒนาธุรกิจนี้เป็นเจ้าแรก ๆ จนปัจจุบันธุรกิจมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น รับฝากศพสัตว์เลี้ยงในโลงเย็น บรรจุศพสัตว์เลี้ยง จัดเก็บกระดูกในโถมุก หรือนำกระดูกน้องแมวไปลอยอังคารต่อในเรือสปีดโบ๊ต

เดิมเขาทำธุรกิจอาบน้ำตัดขนสัตว์จนมีโอกาสไปร่วมงานศพสุนัขของลูกค้าที่สนิท แล้วพบว่ากระบวนการแทบไม่ต่างจากการเผาทำลายซาก

“สัปเหร่อจะโทร. ตามพระ รับซอง สวดสั้น ๆ แล้วก็ไป เจ้าหน้าที่ก็จับโยนเข้าเตา กระดูกรับด้านหลัง ต่อมาเราเลยแนะนำลูกค้าว่าการทำศพสัตว์ไม่ใช่อย่างที่เราคิดเสนอให้คุยกับเจ้าหน้าที่ ต่อโลงเล็ก ๆ ขึ้น เขาก็โพสต์ในเฟซบุ๊ก คนก็เข้ามากดไลก์กดแชร์ ติดต่อเราเข้ามาเยอะขึ้น แรก ๆ เราทำเหมือนจิตอาสาจนแฟนบอกลองทำเองดูไหม เลยทำไปเรื่อย ๆ จนปรับมาเป็นทุกวันนี้” ธีรวัฒน์เล่าที่มา

ในช่วงแรกธุรกิจนี้ยังใหม่อยู่มาก และวัดส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินกับการฌาปนกิจสัตว์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เขาเล่าว่า ช่วง ๑๐ ปีก่อนถ้าติดต่อไป ๓๐ วัด จะมีพระเพียง ๑ รูปที่ยอมรับฟัง แต่ไม่มีแนวโน้มอนุมัติ เพราะมองว่าญาติโยมอาจไม่สะดวกใจเข้ามาทำพิธีฌาปนกิจคนเพราะใช้สถานที่เผาร่วมกับสัตว์

“ตอนแรกที่ยังไม่มีเตาเผาเฉพาะของสัตว์เลี้ยง พอเรารับงานก็ติดต่อวัดเพื่อขอใช้สถานที่ ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อแสดงว่าเราไม่ได้มาแย่งอาชีพเขา มันเป็นงานคนละส่วนกับของวัด ลูกค้าก็คนละกลุ่มกัน”
ตี๋ สัปเหร่อวัดน้อยนอก โชว์รูปแมวของเขากับแฟนสาว อาชีพสัปเหร่อสัตว์เลี้ยงทำให้เขารักและดูแลแมวของตัวเองดีขึ้นกว่าเดิม 
พิธีและความเชื่อ
รายละเอียดของการทำศพแมว (หรือสัตว์อื่น ๆ) ต่างจากการฌาปนกิจคนในหลายมิติ ทั้งบรรยากาศ จำนวนคน บทสวด ขนาดโลงศพที่มีสีสดใส จำนวนพระ พื้นที่ความเป็นส่วนตัว การชั่งน้ำหนักเพื่อประเมินราคา และเตาเผาสัตว์เลี้ยงซึ่งมีความซับซ้อนกว่าที่คิด

“เตาเผาสัตว์เลี้ยงและเตาเผาคนคล้ายแต่ไม่เหมือนกัน เตาเผาคนเวลาใช้แล้ว ญาติโยมหรือคนรอบข้างจะไม่เข้ามายุ่งเพราะเป็นกิจของวัด ถึงจะเผาควันออกเป็นลำก็ไม่สนใจ แต่เตาเผาสัตว์เลี้ยงถ้ามีควันออกนิดหน่อย คนจะเริ่มเซนซิทีฟ หรือมีกลิ่นเหม็นก็จะไม่โอเค

“ดังนั้นเตาเผาของเราต้องทำอย่างมีมาตรฐานที่สุด มีระบบเผาระดับบนและระดับล่าง เผาระดับล่างคือเผาซากศพ เผาระดับบนคือม้วนควันเข้าไปกำจัดเหมือนรถยนต์ แล้วมีระบบกรอง คือกระบวนการเยอะกว่าเตาเผาคน” ธีรวัฒน์ให้ข้อมูล

ในแง่บทสวดจะคล้ายบทสวดของคน แต่งานศพแมวหรือสัตว์อื่น ๆ พระจะสวดให้พรเป็นส่วนใหญ่

“เราเชื่อว่าสัตว์สี่ประเภทจะกลับไปเกิดเป็นคนในชาติหน้า มีช้างหนึ่ง ม้าหนึ่ง สุนัขหนึ่ง แมวหนึ่ง เพราะฉะนั้นพอเขาเสีย จีวรที่เราถวายพระก็เหมือนแทนเครื่องนุ่งห่ม สังฆทานก็เหมือนของที่จำเป็นต้องใช้ในการเดินทางสู่ปรโลก และมีใบเบิกทางเป็นฮวงแซจี๊ เงินทอง เพราะเขาไม่สามารถอมเหรียญเหมือนคนได้

“ถ้าเป็นคนต้องมัดตราสัง ถือดอกไม้ งานของสัตว์เราใช้ดอกไม้ถวายพระแทน แล้วใช้สายสิญจน์คล้องขาหน้าไว้และโยงผ่านพระพุทธรูปและพระสงฆ์” ธีรวัฒน์แจกแจงรายละเอียดในพิธี

หากเป็นบรรยากาศงานศพแมวทั่วไป ผู้เข้าร่วมพิธีอาจมีไม่ถึง ๑๐ คน ความเศร้าโศกมีตั้งแต่อาการนิ่งจนน้ำตาท่วมทุ่ง  ผู้เข้าร่วมพิธีจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตรงโลงศพเพื่อถ่ายรูปและบอกลาน้อง  มีการโปรยดอกไม้ก่อน เจ้าหน้าที่จะยกร่างแมวไปยังเตาเผา รอให้เจ้าของสั่งเสียและวางดอกไม้จันทน์เป็นครั้งสุดท้าย

“อันดับแรกผมต้องถามจุดประสงค์ของเจ้าของว่าต้องการนิมนต์พระสวดไหมหรือเผาเลย ถ้าน้ำหนักน้องเกิน ๓๐ กิโลกรัมก็จะมีเรตราคาอยู่ หลังจากนั้นกระดูกที่หลงเหลือ เราจะถามเจ้าของว่าอยากให้เราไปลอยอังคารให้หรือจะไปลอยเอง หรือจะเก็บ จะฝัง เราจะแนะนำว่าการเก็บการฝังมันไม่ดี เพราะเป็นการเหนี่ยวรั้งวิญญาณเขา บางคนไม่อยากไปลอยอังคารเพราะกลัวน้องหนาว เราก็แนะนำ เช่น เอาเหรียญซื้อที่พระเแม่คงคา ขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษา บางคนนำน้องมาสวด ไม่เผา อยากพาร่างน้องไปอยู่ที่บ้าน บางเคสที่รักมากก็สตัฟฟ์ และเอากระดูก เอาร่างน้องส่วนที่ไม่ได้ใช้มาเผา มาสวดทำบุญ” แทน-วรวุฒิ ชัยมูล สัปเหร่ออายุงาน ๕ ปีที่วัดกระทุ่มเสือปลาอธิบายให้ฟังหน้าเตาเผาสีเขียวมินต์

“ผมเคยทำงานที่ร้านพิซซ่าซึ่งมีการเทรนการทำงานเป็นระบบ ผมก็ปรับบริการของเราให้ทำเป็นขั้นตอน คือพอรับโปรดักต์มาแล้วเราก็ถ่ายรูป ทำพิธี นำน้องเข้าเตา” แทนเล่าพร้อมรอยยิ้ม
Image
เฉโป แมวเซเล็บที่เจ้าของนำร่างน้องมาฌาปนกิจที่วัดกระทุ่มเสือปลา นับเป็นงานหนึ่งที่มีผู้คนมากมายมาร่วมไว้อาลัย
ภาพ : Pet Funeral Thailand

ส่งให้ดีที่สุด
ข้อท้าทายที่สัปเหร่อต้องเจอและผ่านไปให้ได้ ยิ่งถ้าเป็นสัปเหร่อมือใหม่ คือกลิ่นเน่า สภาพเละเทะของศพแมว อันเป็นปัจจัยแห่งการปรับตัวครั้งสำคัญ

“แต่ก่อนผมทำงานรับจ้างทั่วไป เป็นพนักงานประจำอยู่บริษัทน้ำขวด แรก ๆ ไม่ชินครับ ไม่นึกว่าจะเหม็นขนาดนี้ เคสแรกคือน้องหมาที่เป็นแผลกดทับ แต่พอทำไป ๆ ก็เริ่มชิน อุ้มเขาได้

“มีเคสน้องแมวที่เจ้าของหาเขาไม่เจอเพราะตกตึกลงมาไปติดอยู่ใต้ซอก เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เจ้าของจำได้เพราะปลอกคอ เราก็ไปเอามาเผา ส่วนใหญ่ถ้าศพกลายเป็นกระดูกเลย คือเขาขุดจากหลุมฝังขึ้นมา อาจเป็นเรื่องของความเชื่อว่าอย่าเอาเขาไว้ในบ้าน เราก็มีสวดบังสุกุล ส่งดวงวิญญาณให้เขาไปสู่สุคติ แล้วก็เผา” ตี๋ สัปเหร่อ วัดน้อยนอกเล่า

ส่วนแทนย้อนประสบการณ์คล้ายคลึงว่า

“ผมเคยเจอมาหมด สภาพเละ โดนรถชน แต่ร้ายสุดคือเน่าอืดหรือขุดมาซึ่งมีกลิ่นแรงมาก ต้องมัดให้แน่นสนิท แล้วก็บอกลูกค้าว่าไม่สามารถแกะหรือเปิดได้ เจ้าของน้องก็เข้าใจ ถ้ากลิ่นเหม็นมากจริง ๆ ก็ต้องไว้ข้างนอกและโยงสายสิญจน์ออกมา” เขาเล่าพร้อมเปิดเตาให้ดูศพสุนัขที่ถูกเผาอยู่ ไอร้อนระอุลอยตามลมเล็กน้อยแต่ไม่ค่อยมีกลิ่น

การอยู่กับความร้อนตลอดเวลาเพราะบางวันมีคิวเผาศพสัตว์เลี้ยงทั้งวันถือเป็นอีกข้อท้าทายของสัปเหร่อ (ตี๋เล่าว่าเคยทำงานตั้งแต่ ๘ โมงถึง ๓ ทุ่ม เผาศพทั้งหมดราวเจ็ดแปดเคส นั่นอาจเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่จำได้)
เตาเผาของวัดน้อยนอกเชื่อมต่อกับห้องทำพิธี หลังจากสัปเหร่อแจ้งให้ลูกค้าบอกลาและวางดอกไม้จันทน์เรียบร้อยแล้ว จึงนำร่างของสัตว์เลี้ยงมาเผาโดยมีเจ้าของและสัปเหร่ออยู่ด้วย
“เราต้องเปิดดูว่ากระดูกเขาตรงไฟไหม ถ้าเผาใหม่ ๆ ตัวเขาจะยังนิ่ม แต่พอโดนไฟจะหด ก็จะหลุดออกจากเตา เราต้องเกลี่ยเพื่อไม่ให้น้องหลบไฟ สักพักกระดูกสีแดง ๆ จะกลายเป็นถ่าน พอเย็นจะกลายเป็นสีขาว  ตอนเก็บกระดูกต้องเก็บทุกชิ้นส่วนให้หมด ไม่เอากระดูกตัวอื่นมาปน

“บางคนจะขอแบ่งกระดูกไปเก็บ เราก็แนะนำว่าไม่ดีวิญญาณเขาจะไปไม่ครบ ๓๒ เขาต้องกลับชาติมาเกิดเพราะเขามีเลือดเนื้อมีชีวิต ถ้าจะเก็บจริง ๆ ให้เก็บเล็บหรือเขี้ยวหรือฟัน เพราะสามารถงอกออกมาได้  เราจะถามก่อนว่าเขาเชื่อเรื่องนี้ไหม ถ้าไม่เชื่อจะแบ่งเก็บไปก็ได้” แทนอธิบายยาว ๆ

ในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ บางเคสนั่งเครื่องบินมาจากประเทศจีนเพราะรู้ข่าวสารจากโลกออนไลน์และ Pet Funeral Thailand มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับโรงพยาบาลสัตว์
หลายแห่ง ดังนั้นจึงมีเคสชาวต่างชาติ หรือเคสที่พยายาม นำแมวมาเผาแม้อยู่ในสภาพเละเทะ รับได้ยาก

“ผมจะบอกลูกน้องทุกคนว่าถ้าเขาไม่รัก เขาไม่หอบมาหาคุณหรอก ไหนจะเลือด ไหนจะน้ำเหลือง ไหนจะกลิ่น แล้วยังต้องจ่ายเงินให้เราอีก ทุกคนกลับไปรถก็ต้องเข้า car care ดังนั้นคุณต้องพึงสังวรณ์ไว้เลยว่าเขาเป็นทุกข์ต้องทำให้สมกับที่เขารักและไว้ใจ ทุกที่เราจะมีประตูปิดกั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว คนที่เราจะให้เข้ามาคือคนที่เราไว้ใจจริง ๆ หนึ่งคือพระที่มาทำพิธี สองคือเจ้าหน้าที่เรา และคนที่ลูกค้ายินดีที่จะร้องไห้ให้เห็นได้” ธีรวัฒน์เล่าเบื้องหลังการทำงาน

“ตอนแมวเซเล็บ คือเฉโป มาฌาปนกิจที่นี่ เขาเป็นที่รักขนาดไหนคนถึงมาแน่นเต็มลาน เราต้องมีเจ้าหน้าที่คอยกันไว้ให้ขึ้นเฉพาะเจ้าภาพ ส่วนแฟนคลับก็จะอยู่อีกชั้นหนึ่ง”
Image
การลอยอังคารทำได้หลายรูปแบบ บางคนเลือกใช้บริการเรือสปีดโบ๊ตพาไปจุดที่ต้องการ ตั้งแต่นนทบุรี
จนถึงพัทยา
ภาพ : Pet Funeral Thailand

บรรยากาศของวัดที่เคยเงียบเชียบและมีคนเพียงไม่กี่ชีวิต หลายครั้งก็คึกคักเพราะมีแมวเซเล็บมาจัดงานฌาปนกิจ ทาสแมวจะมาร่วมงานเยอะจนทำรถติดหน้าวัด ตอนทำพิธีต้องต่อลำโพงข้างนอกให้ทุกคนได้ยินบทสวดและจัดคิววางดอกไม้จันทน์

“บางเคสก็เป็นแมวจร มีคนขับรถไปแล้วเห็นรถชนน้องแมว เขาก็นำไปรักษา แต่ปรากฏว่าน้องเสีย เขาก็มาจัดพิธีให้ บางคนมีเงินก็จัดพิธีสวดด้วย บางคนไม่มีเงินก็โปรยดอกไม้แล้วเอาเข้าเตาเลย  ผมเจอเคสที่อุปการะน้องแมวจรหลายกลุ่ม น้องมีอาการไม่สบายก็พาไปรักษา และในกลุ่มหมู่บ้านนั้นก็ระดมทุนค่ารักษาและมาเผาที่นี่ เขาจะโทร. หากันว่าน้องเสียแล้วนะ” แทนเล่าประสบการณ์พร้อมเสริมว่ามีลูกค้านำแมวจรมาทำพิธีฌาปนกิจค่อนข้างเยอะ

ส่วนตี๋ยิ้มน้อย ๆ บอกเราเรียบ ๆ ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลแบบเดียวกับที่เขาพูดกับเจ้าของที่เพิ่งเสียสมาชิกแมวในครอบครัวไป

“อลังการที่สุดคือเขามาจัดดอกไม้เอง มีพวงหรีด มีรูปน้องมาเอง ขอสถานที่วัด ขอเวลา ๒ ชั่วโมง จัดศพเหมือนคนเลย แล้วก็นิมนต์พระมาสวด บรรยากาศเศร้าอย่างเห็นได้ชัด เขาจะอยู่กับน้องตลอด อยู่ตรงโลง ลูบหัวเขา ส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัวแค่สามสี่คน

“เราเป็นคนเผาก็ไม่รู้ว่าแมวตัวไหนเป็นเซเล็บ แมวตัวแค่นี้ก็เหมือนศพธรรมดา ทำไมงานนี้คนมาเยอะจัง ตอนมีชีวิตอยู่เขาคงเป็นแมวน่ารักมีคนติดตามเยอะ คนที่มาก็ร้องไห้

“เราก็ได้แต่บอกว่าเขาไปสบายแล้วครับพี่ เขาเป็นหนึ่งชีวิต มีโรคภัยไข้เจ็บเหมือนเรา แล้วก็มีอายุขัยของเขา”