นักศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ ชั้นปี ๕ ช่วยดูแลเจจู แมวจร ไม่ให้ดิ้นมากจนเกินไป ระหว่างการฝังเข็มคนไข้รายแรกของพวกเขา
ฝังเข็ม
ศาสตร์การแพทย์โบราณ
สู่เทรนด์รักษาเจ้าเหมียว
แมวววว...
เรื่อง : กัญญาณัฐ์ เตโชติอัศนีย์
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์สองคนกำลังเข็นรถเข็นคันเล็กขนาดครึ่งตัวคนเข้ามาที่คลินิกฝังเข็มสีขาวโพลน ฉันมองน้องแมวขนาดเท่าสามฝ่ามือ หันคอที่สวมปลอกคอกันเลีย
พยายามมองบรรยากาศรอบ ๆ ด้วยความเอ็นดู
อีกใจหนึ่งก็สงสารที่เห็นน้องเดินลำบาก มีอาการปวดตัวช่วงล่างอย่างหนัก นักศึกษาสัตวแพทย์ที่เพิ่งมาฝึกงานในคลินิกวันแรกพยายามประคองสะโพกเบา ๆ ให้น้องลองเดิน แต่ไม่มีขาไหนก้าวออกแม้แต่ก้าวเดียว
น้องแมวถูกอุ้มขึ้นมาบนเตียงคนไข้ คุณหมอค่อย ๆ หยิบเข็มเล็กจิ๋วฝังลงบนสะโพกของมัน เสียงร้องจากความเจ็บปวดเริ่มดังและยาวขึ้นตามลำดับ พร้อมหางที่กระดิกเป็นจังหวะ
แอร๊กกกก
ทันทีที่เข็มที่ ๔ ฝังลงบนสะโพกอย่างเบามือ แมวไร้เจ้าของที่ไม่มีใครรู้อายุก็แยกเขี้ยวด้วยความตกใจ พร้อมส่งเสียงเมี้ยวเข้ม ๆ พอเข็มต่อ ๆ มามันขยับขาหลังหนีจนเข็มร่วงกราวลงบนเตียง คุณหมอฝังเข็มเข้าไปใหม่ ก่อนเปิดสวิตช์เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ทำให้เจ้าเหมียวร้องลั่นคลินิก
ถ้าคุณเคยเข้าคลินิกการแพทย์ทางเลือกและทำหัตถการเพื่อรักษาเป็นประจำ เชื่อว่าหลายคนคงพอเข้าใจความรู้สึกของน้องแมวตอนนี้ได้ดี เพราะขนาดคนตัวใหญ่กว่าแมวหลายเท่าบางครั้งก็ยังรู้สึกเจ็บ (เล็กน้อย) เลย
ได้แต่ภาวนาให้เจ้าเจจูอดทนอีกนิด เพราะที่นี่เคยฝังเข็มรักษาสัตว์ที่เดินไม่ได้ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง และคุณหมอที่กำลังฝังเข็มอยู่นี้ก็เป็นสัตวแพทย์คนที่ ๓ ของประเทศไทยที่เรียนจบด้านการฝังเข็มสัตว์มาโดยตรง
ฉันยังยืนให้กำลังใจอยู่ใกล้ ๆ อยากรู้ว่าเจ้าเหมียวจะใจสู้จนครบเวลารักษา ๓๐ นาทีหรือไม่
หัตถการโบราณ
สู่ศาสตร์ในห้องกายภาพ
การฝังเข็มถือเป็นหนึ่งในการรักษาและบรรเทาอาการของโรคที่อยู่คู่ประเทศจีนมานานกว่า ๔,๐๐๐ ปี ก่อนจะประยุกต์ศาสตร์นี้มารักษาในสัตว์ด้วย
สถาบันวิจัยการเกษตรแห่งชาติจีนเล่าไว้ในหนังสือการฝังเข็มในสัตว์ว่า เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อนเคยมีผู้ฝังเข็มม้าป่วยที่โรครุมเร้าให้หายเป็นปรกติ
ปัจจุบันการฝังเข็มรักษาสัตว์สามารถทำได้กับสัตว์ทุกประเภท ตั้งแต่สัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างสุนัข แมว กระต่าย เม่น แพรรีด็อก ชูการ์ไกลเดอร์ จนถึงปลา
เคสที่เจอส่วนใหญ่จะเป็นระบบประสาท มีอาการขาหลังอ่อนแรง
หรือเดินไม่ได้ หลายตัวฝังเข็มแล้วได้ผลค่อนข้างดี กลับมาเดินหรือใช้ชีวิตได้ตามปรกติ
การฝังเข็มสัตว์มีความยากกว่าคน เพราะสัตว์อาจไม่ให้ความร่วมมือ ประกอบกับขนที่ปกคลุม เข็มที่ฝังอาจหลุดและต้องคอยฝังเข็มเข้าไปใหม่
รวมถึงกรณีล่าสุดที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพกบสีน้ำตาลตัวใหญ่ส่งสายตาอ้อน ๆ กำลังถูกฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า พร้อมข้อความเรียกเสียงฮือฮาในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม จนในที่สุดเขาตัดสินใจเปิดเพจ “ชายไปร้” เพื่ออัปเดตการรักษากระดูกก้นกบของกบที่ถูกกระแทกด้วยการฝังเข็ม ทำให้กบเซเล็บตัวนี้มีผู้รออ่านเรื่องราวการฝังเข็มของมันถึง ๑.๕ หมื่นคน
คุณหมออาร์ม-นายสัตวแพทย์สุทธิโชค กุลตรัย-ลักษณ์ สัตวแพทย์ประจำคลินิกฝังเข็ม โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าขั้นตอนฝังเข็มแมวว่า
“ปรกติการฝังเข็มแมวจะเริ่มจากฝังเข็มเปล่า ๆ ก่อน แล้วค่อยใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเสริม จากนั้นเมื่อฝังเข็มเสร็จอาจจะฉีดวิตามินกระตุ้นที่จุดฝังเข็มเพิ่มเติม”
เข็มที่ฝังลงบนตัวน้องแมวจะช่วยให้บริเวณที่ปวดทุเลาลง ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ผลดี
ส่วนโรคที่นิยมฝังเข็มมักเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทระบบสมอง อาการปวดต่าง ๆ จนถึงโรคลมชัก
“เคสที่เจอส่วนใหญ่จะเป็นระบบประสาท มีอาการขาหลังอ่อนแรงหรือเดินไม่ได้ หลายตัวฝังเข็มแล้วได้ผลค่อนข้างดี กลับมาเดินหรือใช้ชีวิตได้ตามปรกติ”
แต่ถ้าเป็นโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนอาจต้องใช้ยาจีนร่วมด้วย
“ยาจีนในสัตว์คล้าย ๆ ของคน เพราะยาจีนจะเป็นสูตร ๆ แล้วแต่ว่าผสมอะไร ในสัตว์จะใส่เป็นแคปซูล แต่ตอนนี้ที่จุฬาฯ ยังไม่มียาจีน จึงเน้นรักษาเรื่องระบบประสาทเป็นส่วนใหญ่ เพราะได้ผลค่อนข้างดี แม้ไม่ต้องกินยา”
หลังฝังเข็มแล้ว คุณหมอสุทธิโชคจะสอนวิธีนวดกดจุดครั้งละหนึ่งถึงสองท่า เพื่อให้เจ้าของกลับไปนวดสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
คุณหมอสุทธิโชคเดินทางไปเรียนฝังเข็มกับสถาบันด้านแพทย์แผนจีนในสัตว์ กับศาสตราจารย์ด้านฝังเข็มชาวจีนที่สหรัฐอเมริกาในปี ๒๕๕๔ โดยเรียนตั้งแต่คอร์สฝังเข็มขั้นพื้นฐาน คอร์สสมุนไพรจีน คอร์สนวด แยกย่อยออกเป็นประเภทของหัตถการต่าง ๆ รวมถึงเรื่องอาหารฤทธิ์ร้อน-เย็น
เนื้อหาการเรียนการสอนแพทย์แผนจีนของสัตว์ประยุกต์หลักการและทฤษฎีมาจากของคน แต่ดัดแปลงให้เข้ากับร่างกายสัตว์ เช่นการแมะ
“สัตว์ก็มีเหมือนกัน แต่ของคนเป็นข้อมือ ของสัตว์จะเป็นขาพับด้านในกับขาหลัง เวลายืนเราจะช้อนด้านหลังเพราะเป็นเส้นเลือดใหญ่ พวกแพทย์แผนจีนจะดูการเต้นของชีพจร เต้นแรงเต้นเบา เต้นช้าเต้นเร็ว การวินิจฉัยก็จะดูอันนี้เป็นส่วนหนึ่ง แล้วก็สอบถามจากเจ้าของ ดูพฤติกรรมเขาด้วยความร้อนความเย็น”
แต่หลายอย่างก็ไม่เหมือนการรักษาคน
“เราครอบแก้วน้องได้ไหมคะ” ฉันถาม
“ในสัตว์จะไม่นิยม เพราะแก้วเป็นสุญญากาศ ต้องโกนขนสัตว์ก่อนแล้วต้องโกนเยอะ ไม่อย่างนั้นมันดูดไม่ได้ อย่างที่ผมไปเรียนเขาไม่ได้สอนเรื่องครอบแก้ว แต่มีรุ่นพี่คนหนึ่งเขาไปเรียนของคนก็จะได้เรียนครอบแก้ว แล้วเอามาประยุกต์ใช้ในสัตว์บ้าง”
เจ้าเจจูในรถเข็นสีส้มเตรียมกลับเข้าพักรักษาตัวในอาคารผู้ป่วยใน หลังได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้ว
ส่วนความถี่ในการรักษา ปรกติเริ่มต้นที่หนึ่งถึงสองครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ แล้วประเมินอาการ หากดีขึ้นอาจเริ่มเว้นห่างได้
ตอนนี้เจ้าเจจูกรีดเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสัญญาณว่าทนความเจ็บปวดไม่ไหวแล้ว เนื่องจากบาดแผลอาจอักเสบหรือปวดมากเกินไป
คุณหมอจึงหยุดฝังเข็มและนำเครื่องเลเซอร์มาช่วยให้อาการปวดของน้องทุเลาลง แววตาขวางไม่เป็นมิตรเริ่มเปลี่ยนไปหลับตานอนนิ่งขึ้น พลางครางเบา ๆ ด้วยความเจ็บปวด
หลังจากแมวลายสลิดกลับไปไม่นาน สุนัขพันธุ์ปั๊กสีขาวตัวอ้วนก็เดินเข้ามาที่คลินิกฝังเข็มอย่างคุ้นเคย คนไข้รายใหญ่นอนนิ่งให้คุณหมอค่อย ๆ ฝังเข็มลงบนสะโพกของมันทีละเล่ม โดยไม่ส่งเสียงร้องใด ๆ
ถึงหน้าตาจะไม่ได้พริ้มมีความสุข แต่ก็ไม่ได้แสดงถึงความทรมานสักนิด
“ถ้าเทียบหมากับแมว แมวฝังเข็มยากกว่า และตัวเด็ก ๆ จะยากกว่าตัวแก่ ๆ” คุณหมอเล่าเสียงนุ่ม “เวลาฝังเขาจะดิ้น แล้วบางทีมีสายไฟมันก็จะหลุดเหมือนเมื่อครู่ เพราะขนเขาลื่นกว่า เวลาฝังเข็มแล้วมันจะไม่อยู่เหมือนผิวหนังคน หรือบางตัวดุ เขาเจ็บ หันมากัดเราก็มี"
“แล้วคุณหมอรับมือยังไงคะ”
“เอามือไปรับ” คุณหมอหัวเราะ “ตอนหลังมือไวแล้วก็หลบ แต่ต้องดูว่าถ้าเจ็บมากอาจต้องเว้นก่อน ไปทำอย่างอื่น เช่นเลเซอร์ ก็จะเจ็บน้อยลงหน่อย”
นอกจากสัตว์ที่เจ็บมาก ๆ แล้ว ยังมีสัตว์บางประเภทที่ต้องระวังเป็นพิเศษและให้แพทย์วินิจฉัยก่อนฝังเข็ม เช่น สัตว์ที่เป็นโรคมะเร็ง เพราะการฝังเข็มใกล้ก้อนมะเร็งอาจจะทำให้มะเร็งโตไวขึ้น สัตว์ตั้งท้องหากฝังเข็มผิดจุดอาจเร่งคลอดก่อนกำหนด ส่วนสัตว์ที่เป็นโรคลมชักไม่สามารถใช้การกระตุ้นไฟฟ้าได้
แม้ศาสตร์นี้จะมีมายาวนาน แต่ยังต้องรักษาควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันด้วย
เพราะฉะนั้นก่อนจะมาถึงมือคุณหมอสุทธิโชค โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ มีระบบคัดกรอง โดยสัตว์ที่จะเข้ารับการฝังเข็มต้องผ่านการตรวจจากแผนกอายุรกรรมในครั้งแรก ซึ่งไม่ต่างจากโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับสัตว์เลี้ยงหลายแห่ง
รู้หรือเปล่า
ในวงการสัตวแพทย์ปัจจุบัน
นำศาสตร์การแพทย์
ทางเลือกของคน
มาประยุกต์ใช้กับ
น้องแมว
จัดกระดูก
•
อายุรเวท
•
การบำบัดพลังเรกิ
•
แพทย์แผนไทย
ศาสตร์เหล่านี้ประยุกต์
จากการแพทย์
ทางเลือกของคน
ซึ่งส่วนใหญ่เปิดให้บริการ
ในต่างประเทศ
และยังไม่เป็นที่
แพร่หลายมากนัก
การแพทย์ทางเลือก
ที่ยังไม่แพร่หลายในไทย
ฉันเดินทางไปยังโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร เพื่อสอบถามขั้นตอนรักษาแมวด้วยการฝังเข็ม พบว่าส่วนใหญ่การฝังเข็มแมวเป็นส่วนหนึ่งของการทำกายภาพบำบัด จึงต้องมีคำวินิจฉัยจากแพทย์แผนปัจจุบันก่อน จากนั้นจึงจะฝังเข็มได้
ราคาค่าฝังเข็มจะแตกต่างกัน โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ ราคา ๗๐๐-๘๐๐ บาทต่อครั้ง ขณะโรงพยาบาลสัตว์ของเอกชนมีค่าฝังเข็ม รวมค่าบริการทางการแพทย์ ๑,๒๐๐-๒,๒๐๐ บาทต่อครั้ง หรือซื้อแบบแพ็กเกจฝังเข็มห้าครั้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์ได้
ทุกวันนี้การฝังเข็มแมวยังยากต่อการเข้าถึง เพราะหากสนใจต้องสอบถามตามโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์ชื่อดัง ซึ่งจะเปิดให้บริการเฉพาะสาขาใหญ่ ๆ เท่านั้น
นอกจากนี้แพทย์เฉพาะทางด้านฝังเข็มอาจเข้ามาประจำคลินิกเพียงสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ส่วนโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ คุณหมอสุทธิโชคจะเปิดคลินิกให้บริการในวัน-เวลาราชการ หรือโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อมีแพทย์เฉพาะทางสองคนสลับกันเข้ามาให้บริการทุกวัน และเปิดคลินิกนอกเวลาสั้น ๆ ในวันพุธ
อีกทั้งโรงพยาบาลที่มีคลินิกเฉพาะทางด้านฝังเข็มส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานครและตามเมืองใหญ่ ๆ ทำให้การฝังเข็มแมวยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
ฉันได้พูดคุยกับกลุ่มคนเลี้ยงแมวหลายคนซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าสามารถรักษาแมวด้วยการฝังเข็มได้
คุณหมอสุทธิโชคเล่าไปในทางเดียวกันว่า ทุกวันนี้การฝังเข็มสัตว์ยังไม่แพร่หลายมากในประเทศไทย แม้แต่ในวงการสัตวแพทย์เอง เนื่องจากมีสัตวแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทางด้านนี้น้อยมาก
นายสัตวแพทย์สุทธิโชค กุลตรัยลักษณ์ สัตวแพทย์เฉพาะทางด้านการฝังเข็มคนแรกและคนเดียวของโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ ในห้องสำหรับฝังเข็มและกายภาพบำบัด
“หมอหลายคนยังไม่รู้ว่ามีการฝังเข็มแบบนี้ ไม่รู้ว่าโรคลักษณะไหนเหมาะกับการฝังเข็ม แต่หมอที่นี่ทั้งหมดจะรู้”
ย้อนกลับไปประมาณ ๑๐ กว่าปีก่อน จุดเริ่มต้นของการฝังเข็มสัตว์ในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อมีสัตวแพทย์ท่านหนึ่งอ่านตำราการฝังเข็มสัตว์ แล้วทำตามตำราจนได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงไปเรียนต่อด้านนี้ในต่างประเทศ
สัตวแพทย์เฉพาะทางด้านฝังเข็มสัตว์คนถัดมาไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านการฝังเข็มสัตว์ที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาในช่วงที่คุณหมอสุทธิโชคกำลังเรียนคณะสัตวแพทยศาสตร์ปีสุดท้าย
“จริง ๆ ส่วนตัวคือสนใจพวกการแพทย์ทางเลือกของคนอยู่แล้ว อย่างจัดกระดูก ฝังเข็ม ตอนนั้นยังไม่มีคนทำ เลยมองทิศทางไม่ออกว่าจะเป็นยังไง แต่มีโอกาสเลยเรียนไปก่อนกลับมาค่อยว่ากัน”
คุณหมอสุทธิโชคเล่าต่อว่าตอนนั้นเลือกเรียนคอร์สฝังเข็มเบื้องต้น ใช้เวลา ๖ เดือน
“ผมกลับมาปี ๒๕๕๕ เป็น (หมอฝังเข็ม) คนที่ ๓ ของประเทศ ก็ได้ทำงานที่นี่เลย เพราะตอนนั้นยังไม่มีการฝังเข็ม อาจารย์ที่นี่เลยเปิดให้มีการฝังเข็มสัตว์ ก็ทำมาเรื่อย ๆ แล้วทั้งโรงพยาบาลก็มีหมอฝังเข็มอยู่คนเดียว แต่ยังพอ เคสวันหนึ่งเฉลี่ย ๘-๑๒ ตัว เยอะสุดคือ ๒๐ ตัว”
ทุกวันนี้สัตวแพทย์ไทยไปเรียนเฉพาะทางด้านการฝังเข็มในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยคุณหมอสุทธิโชคคาดการณ์ว่าในประเทศไทยมีสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านฝังเข็มไม่เกิน ๑๐๐ คน และแม้เทรนด์การแพทย์ทางเลือกของสัตว์เลี้ยงจะมีอัตราเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ก็ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
คุณหมอสุทธิโชคกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการรักษาแมวด้วยการแพทย์ทางเลือกไม่ได้มีเฉพาะฝังเข็มเท่านั้น แต่ยังมีสัตวแพทย์ที่เรียนศาสตร์การแพทย์ทางเลือกของคนแล้วนำมาปรับใช้กับสัตว์ด้วย
น่าคิดว่าต่อไป ประเทศไทยจะมีการแพทย์ทางเลือกสำหรับสัตว์แขนงไหนเปิดให้บริการอีกบ้าง