เมื่อ “แมว” ยึดทำเนียบ
แมวววว...
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
ถ้าประวัติศาสตร์บอกเราว่า แมวปรับตัวเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานและทำการเกษตรเป็นหลักแหล่ง ถึงศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ คงต้องบันทึกอีกว่า แมวทั้งหลายได้ยึดและครอบงำศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาลชาติน้อยใหญ่ทั่วโลกไปแล้ว
จากทำเนียบขาว (สหรัฐอเมริกา) ถึงบ้านเลขที่ ๑๐ (อังกฤษ) กระทั่งครั้งหนึ่งในบ้านนายกรัฐมนตรีไทยก็เคยปรากฏว่ามีแมวยึดครองอยู่ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ตัว
เรื่องของแมวที่เข้ายึดอำนาจรัฐ (โดยอ้อม) มีอำนาจเหนือผู้นำรัฐบาล จึงเป็น “ประวัติศาสตร์ลับฉบับวิฬาร์” ที่ “มนุด” อาจไม่ทันสังเกต
“ลาร์รี” (Larry)
ณ บ้านเลขที่ ๑๐
ตำแหน่ง “หัวหน้างานจับหนูประจำคณะรัฐมนตรี (Chief Mouser to the Cabinet Offif ice)” ประจำ “บ้านเลขที่ ๑๐” ถนนดาวน์นิง กรุงลอนดอน (ทำเนียบรัฐบาลอังกฤษ) สืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เนวิลล์ แชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain, ค.ศ. ๑๙๓๗-๑๙๔๐) ซึ่งมีแมวชื่อบ็อบ (Bob) อยู่ประจำอย่างจริงจัง (ก่อนหน้านี้มีหนึ่งตัว แต่ไม่ชัดเจนนัก)
หลังจากนั้นบ้านเลขที่ ๑๐ ก็มีแมวประจำตลอดมา จนถึงยุคของ “ลาร์รี” แมวสลิดเพศผู้ซึ่งรับหน้าที่ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๑ นายกฯ คนแรกที่ลาร์รีทำงานด้วยคือ เดวิด คาเมรอน (David Cameron, ค.ศ. ๒๐๑๐-๒๐๑๖) สันนิษฐานว่าลาร์รีเป็นแมวจรเกิดราว ค.ศ. ๒๐๐๗ ก่อนจะถูกนำไปไว้ที่องค์กรช่วยเหลือสัตว์ Battersea Dogs & Cats Home ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านเลขที่ ๑๐ คนหนึ่งไปรับมาโดยตั้งใจจะให้ลูกนายกฯ เลี้ยง แต่สุดท้ายลาร์รีกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่ “ต้อนรับอาคันตุกะรักษาความปลอดภัย ตรวจสอบเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้พักผ่อน”
แน่นอนว่าหน้าที่หลักคือจับหนู แต่ในยุคโซเชียลมีเดีย ลาร์รีกลายเป็น “มีม” สำหรับนักข่าว เพราะชอบ “แย่งซีน” เวลานายกฯ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหลายครั้ง ทั้งนี้คาเมรอนแถลงต่อรัฐสภาก่อนลงจากตำแหน่งใน ค.ศ. ๒๐๑๖ ว่า เขาเสียใจที่ไม่ได้นำลาร์รีไปเลี้ยงเพราะมันเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐบาล” และอวดภาพที่ถ่ายกับลาร์รีเพื่อยืนยันว่า “รักจริง” จน สส. ทั้งสภาหัวเราะด้วยความเอ็นดู
ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๒ มีการนำเฟรยา (Freya) แมวตัวใหม่เข้ามาแบ่งเบาภาระลาร์รี หลังมันถูกสื่อวิจารณ์ว่าสัญชาตญาณล่าหนูตกต่ำลง (แน่ละ อายุย่อมมีผล) ปัจจุบัน (ค.ศ.๒๐๒๔) ลาร์รีอายุมากขึ้น ผ่านนายกฯ อังกฤษมาถึงห้าคน ลาร์รียังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปรกติ และน่าจะทำต่อได้อีกหลายปี เพราะบ้านเลขที่ ๑๐ แถลงว่าลาร์รียัง “มีความสุขและสุขภาพแข็งแรง (happy and healthy)”
“วิลโลว์” (Willow)
ณ ทำเนียบขาว
เดือนมกราคม ค.ศ. ๒๐๒๒ ทำเนียบขาวประกาศว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden, ค.ศ. ๒๐๒๐-ปัจจุบัน) ได้ต้อนรับ “วิลโลว์ (Willow)” แมวตัวเมียขนสั้นสีเทา มีสีขาวปนเล็กน้อย (grey shorthair tabby) เข้าสู่ทำเนียบในฐานะ “แมวหมายเลข ๑”
ชื่อ “วิลโลว์” ตั้งตามชื่อเมืองบ้านเกิดของสุภาพสตรี
หมายเลข ๑ จิลล์ ไบเดน (Jill Biden) คือวิลโลว์โกรฟ (Willow Grove) รัฐเพนซิลเวเนีย
จิลล์พบวิลโลว์ครั้งแรกใน ค.ศ. ๒๐๒๐ เมื่อวิลโลว์มานั่งฟังเธอปราศรัยช่วย โจ ไบเดน ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในฟาร์มปศุสัตว์แห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าของฟาร์มก็ยืนยันตามสไตล์ทาสแมวว่าเจ้าวิลโลว์แมวจรที่เพ่นพ่านอยู่แถบนั้น “เลือก” จิลล์เป็นเจ้าของเรียบร้อยแล้ว
การมาของวิลโลว์ทำให้ทำเนียบขาวมี “แมว” อีกครั้งหลังว่างเว้นตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George
W. Bush, ค.ศ. ๒๐๐๑-๒๐๐๙) ทั้งนี้โดยประเพณีทำเนียบขาวนั้นมีแมวประจำในฐานะสัตว์เลี้ยงของประธานาธิบดีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีอับราฮัม ลิงคอล์น (Abraham Lincoln, ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๖๕) ที่มีเจ้าแท็บบี (Tabby) และดิกซี (Dixie) ช่วยประมุขทำเนียบขาวคลายเครียดจากการทำงาน
บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Barack Obama, ค.ศ. ๒๐๐๙-๒๐๑๗) เคยหยอกไบเดนเมื่อกลับไปเยี่ยมทำเนียบขาวเมื่อ ค.ศ. ๒๐๒๓ ว่า ทำเนียบเปลี่ยนไปจากยุคเขามาก นอกจากตำรวจลับใส่แว่นตายี่ห้อ Ray-Ban รุ่น Aviator (ยี่ห้อโปรดของไบเดน) เขายังเห็น “แมว (วิลโลว์) วิ่งเพ่นพ่านในทำเนียบ” อีกด้วย
แน่นอนวิลโลว์กลายเป็น “มีม” ที่นักข่าวอเมริกันชอบนำไปเล่นไม่ต่างจากเจ้าลาร์รีของอังกฤษ
“ชิงชิง” (Jjing Jjing)
ณ ทำเนียบสีฟ้า
ในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ มุนแจ-อิน (Moon Jae-in, ค.ศ.
๒๐๑๗-๒๐๒๒) คือประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรกที่นำแมวมาเลี้ยงใน “ทำเนียบสีฟ้า/ช็องวาแด (Blue House/Cheong Wa Dae)”
“ชิงชิง” เป็นแมวจรลายขาวดำคล้ายกับวัว ที่ดา-ฮเย (Da-hye) ลูกสาวของมุนรับมาเลี้ยง ก่อนจะฝากให้บิดาดูแลต่อ
เมื่อเธอแต่งงานใน ค.ศ. ๒๐๐๗ หลังจากนั้นมุนก็กลายเป็นทาสของชิงชิง โดยมันอยู่กับมุนและภรรยาที่บ้านในเมืองยังซัน (Yangsan) จนมุนชนะเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ชิงชิงจึงกลายเป็น “แมวหมายเลข ๑” ในช็องวาแดพร้อมสุนัขชื่อ “มารุ (Maru)” ที่เข้าทำเนียบพร้อมกัน ภายหลังเขารับสุนัขจรชื่อ “ทอรี (Tory)” มาเลี้ยงด้วย
จริง ๆ แล้ว “ชิงชิง” เริ่มเป็นที่รู้จักในสื่อเกาหลีใต้ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๒ คราวที่มุนลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ครั้งแรก โดยตอนนั้นเขาประกาศชัดเจนว่าจะนำ “แมวเข้าทำเนียบ”
การมาของชิงชิงและผองเพื่อนส่งผลต่อนโยบายรัฐบาลมุนเรื่องสัตว์เลี้ยงอย่างเห็นได้ชัด มีการออกนโยบายสนับสนุนงานสัตวแพทย์ เพิ่มพื้นที่วิ่งเล่นแก่สัตว์เลี้ยงในที่สาธารณะ รณรงค์ให้ประชาชนรับแมวและสุนัขจรมาเลี้ยงแทนการซื้อสายพันธุ์ราคาแพง รวมถึงตั้งศูนย์ทำหมันและช่วยเหลือตามชุมชนต่าง ๆ
“เซี่ยงเซี่ยง” และ “อาไฉ”
ณ ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน
เซี่ยงเซี่ยงเป็นแมวเพศเมียสีเทา อาไฉเป็นแมวเพศผู้สีเหลืองแดง
สส. พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ต้นสังกัดของ ไช่อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) เจอเซี่ยงเซี่ยงข้างสถานีรถไฟในสภาพเปื้อนโคลนหลังเหตุการณ์พายุฮวาเหลียนพัดขึ้นเกาะไต้หวันจึงเก็บมาเลี้ยง จากนั้นก็มอบแก่ไช่
ไช่ได้อาไฉมาในฐานะของขวัญจากเพื่อน โดยเป็นแมวจรในไร่สับปะรด เทศบาลมณฑลไถตง ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน ซึ่งไช่เคยผ่านไปหาเสียงคราวชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
แมวสองตัวอยู่กับไช่ในห้องชุด
ไช่มักอัปเดตเรื่องของแมวสองตัวนี้ลงในโซเชียลมีเดียและได้รับความนิยมมาก แมวของไช่ยังเป็นพรีเซนเตอร์ในโปสเตอร์เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวไต้หวันหลังการระบาดของโควิดซาลง
ไช่เป็นนักการเมืองคนสำคัญของไต้หวันที่รณรงค์ให้คนรับสัตว์จรไปเลี้ยงแทนการซื้อ นอกจากแมวเธอยังมีสุนัขนำทาง
อีกสามตัวด้วย
“นายทาส”
ของ สมัคร สุนทรเวช
สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีไทย (ผู้ล่วงลับ) เป็นหนึ่งในนักการเมืองผู้เป็น “ทาสแมว” และเลี้ยงแมวมากว่า ๑๐ ตัวตราบจนถึงแก่อสัญกรรม
ย้อนแย้งกับมุมมองอนุรักษนิยมสุดขั้วของเขาคราวเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ (เขาเห็นด้วยกับการปราบปรามนักศึกษา) สมัครกลับรักแมวทุกตัวที่พบ โดยเล่าในหนังสือคนรักแมว ว่า เขาเลี้ยงแมวมาหลายตัว ส่วนหนึ่งได้จากเจ้าหน้าที่ที่พอทราบว่าเขารักแมวก็นำมาให้เป็นของขวัญ
บางตัวอยู่กับเขานานหลายปี บางตัวอยู่ได้ไม่กี่วันก็หลงออกจากบ้านแล้วไม่กลับมาก็มี
สมัครเลี้ยงแมวระบบเปิด ทำให้หลายตัวพบจุดจบก่อนอายุขัย เช่น ไปกินน้ำ “ตามอ่างฝังดินที่เขามาฉีดยากันยุง
เลยน้ำลายฟูมปากตายไป” บางตัวก็ตกลงไปติดในช่องว่างระหว่างกำแพงคือ “ไอ้เจ้าเสือเหลืองตกลงไปตอนไหน วันไหน ไม่มีใครรู้ใครเห็น และไม่มีใครได้ยินเสียงมันร้อง มารู้เอาตอนที่มันหายไปหลายวันจนกลิ่นของมันส่งออกมาจากตรงที่มันตกลงไปนั่นแหละ” เขาจึงต้องฝังมันไว้ตรงนั้นตลอดกาล
อดีตนายกฯ คนที่ ๒๕ ของไทยสรุปบทเรียนจากการเลี้ยงแมวว่า “ถ้ารักและอยากเลี้ยงก็เลี้ยงมันไว้เถิดครับ อย่างน้อยที่สุดมันก็สอนให้เรารู้จักเอาใจคนอื่น และยังให้รู้จักรอบคอบระมัดระวังในการเลี้ยงดู”