หมวกแก๊ป เสื้อเอี๊ยม แว่น และหนวด คือภาพลักษณ์ ประจำตัวของ ปรีชา วัฒนา ที่ใครเห็นก็จำได้ติดตาแต่หลายคนมักลืมชื่อจริงของเขา ส่วนใหญ่จึงเรียกเขาว่า “ลุงแมว” แทน
ปรีชา วัฒนา
อดีตบอสหมา หัวหน้าสมุนแมวไทย
แมวววว...
เรื่อง : นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
บ้านไม้โบราณสีเหลืองอ่อนสองชั้น ทิ้งร่องรอยความเก่าผ่านลวดลายของแผ่นไม้ฉลุที่ห้อยประดับอยู่ชั้นล่างพร้อมหน้าต่างบานกระทุ้ง ตัวบ้านรายล้อมด้วยกรงเล็กใหญ่ต่างขนาดตั้งวางทั่ว
มองผ่านม่านของกรงเหล็ก สบตาดวงกลมโตของเหล่าสมาชิกหน้าขนต่างสีในกรง พวกมันหางยาวร้องมะหง่าวๆๆ สลับสับเสียง เสมือนคำทักทายคนต่างถิ่นที่มาเยือน
ไม่ช้าหัวหน้าแมวไทยเยื้องกรายออกมาต้อนรับ
หนวดยาวดำเข้มทรงเสน่ห์ ลูกตาดวงกลมเท่เห็นชัดมาแต่ไกล หูสั้นทรงเล็ก ปากนิดจมูกหน่อย เมื่อเอ่ยปากเสียงกังวานชัดถ้อยชัดคำ กิริยาเชื่องช้าอ่อนเนิบ สมเป็นหัวหน้าเหล่าแมวในบ้านแมวไทยบางรัก
หลายคนเรียกเขาว่าลุงแมว ทั้งที่จริงเขาเป็นคน
ชื่อนี้ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เกิดจากสิ่งที่เขากระทำอนุรักษ์แมวไทยเท่าที่เหลืออยู่ห้าสายพันธุ์ จนใบหน้าถูกตราเป็นหน้าแมว ชายผู้นี้คือ ปรีชา วัฒนา ชายผู้อนุรักษ์แมวไทย
หัว-หน้าแมว
ปรีชา วัฒนา วัย ๗๕ ปี เป็นชาวทะเลตะวันออก เกิดและเติบโตที่เกาะไม้ซี้ กลางทะเลในเขตจังหวัดตราด ห่างจากแผ่นดินใหญ่ร่วม ๔๐ กิโลเมตร ก่อนเข้ามาศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่กรุงเทพมหานคร ใช้บ้านบางรักหลังนี้เป็นที่อาศัยเสมอมา เดิมบางช่วงเวลาสลับสับเปลี่ยนไปมากับเกาะที่เขาเกิดเพื่อดูแลกิจการของตระกูล ตอนนี้เขาพำนักที่บ้านบางรักอย่างถาวรเพื่อดูแลเหล่าสมุนสี่ขาตาสวยร่วม ๑๐๐ ตัว
เพียงกดกริ่งหน้าบ้าน เจ้าของบ้านแมวไทยบางรัก ก็พร้อมจะออกมาเปิดประตูต้อนรับทาสแมวให้เข้าไปชมแมวไทยที่อยู่เต็มบ้าน
เอาเข้าจริงปรีชาเข้าสู่สังคมการเลี้ยงแมวไทยเมื่อประมาณ ๑๕ ปีให้หลังมานี้เอง เปิดบ้าน ทำกิจการขายอาหารกระป๋องและทรายแมว ก่อนเปิดเว็บไซต์ www.แมวไทย.com จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการอนุรักษ์แมวไทย
ทุกวัน ตื่นตอนเช้าล้างหน้าแต่งตัว ออกกำลังกาย กลับมาทักทายแมวในกรง วนเวียนเปลี่ยนเสียง ๒ คุยกับแมวตลอดทั้งวัน พร้อมทำหน้าที่เลือกคู่ผสมพันธุ์ตกดึกมีแมวนอนร่วมเตียง
กิจวัตรแต่ละวันที่เกิดขึ้นของปรีชาผ่านสายตาเป้-เกศินี วรพันธุ์ ภรรยาวัย ๕๔ ปี และเก๋-กิ่งกาญจน์ วัฒนา ลูกสาวปรีชาวัย ๔๙ ปี หน่วยสนับสนุนชายหน้าแมวที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเล่าเรื่อง
บอสหมา
ก่อนหน้าที่แก๊งแมวไทยจะยึดครองพื้นที่บ้านหลังนี้ เหล่าสุนัข สัตว์สี่ขาเคยเป็นใหญ่มาก่อน
ไทยหลังอาน พูเดิล ชิวาวา สุนัขสามสายพันธุ์ที่ปรีชาเล่าว่าเคยเลี้ยงก่อนหันมาเลี้ยงแมว
ตั้งแต่เลี้ยงเล่น เพาะพันธุ์จำหน่าย กระทั่งเป็นช่างรับตัดแต่งขนมืออาชีพ
“เอาจริง ๆ ที่บ้านเป็นสายหมามาตั้งแต่สมัยคุณปู่เลย แล้วก็ตกทอดมาถึงรุ่นพ่อ มาถึงรุ่นเก๋” เก๋เล่า
ย้อนกลับไปสมัยเก๋ยังเด็ก เธอจดจำบรรยากาศของบ้านได้ดี หน้าบ้านเต็มไปด้วยหญ้า ต้นไม้นานาที่โตเต็มที่ มะม่วง ต้นแก้ว พร้อมฉากชีวิตเธอที่โตมากับหมา
“ตอนเด็ก ๆ แม่ไปตามได้ที่กรงหมา เพราะจะอยู่ในกรงกับหมา อยู่กับหมาตั้งแต่ยังไม่คลาน ข้าง ๆ คือหมาแล้ว หมาตัวใหญ่กว่าเรา อยู่กับหมามาตลอด ไม่เคยขาดหมา” หมาในความทรงจำของเก๋
“เลี้ยงหมาจนมีรายได้พอที่จะส่งลูกสาวเรียนมหาวิทยาลัยได้” ปรีชากล่าว
“บ้านอื่นขายควายส่งลูกเรียน บ้านนี้ขายหมาส่งลูกเรียน” เก๋ขยาย
ชิวาวา หมาพันธุ์เล็กสองตัวต้วมเตี้ยมดุ๊กดิ๊กอยู่ติดกับพื้นเดินวนทั่วบ้าน เก๋เรียกมันว่าเป็นกรรมการ ผู้คอยวิ่งเข้าไปห้ามปรามพวกแมวไม่ให้ตีกัน พวกมันเป็นหมาสองตัวจากยุคท้าย ๆ ที่ปรีชาเลี้ยง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับช่วงที่เขาเริ่มเลี้ยงแมว
ช่วงนั้นชีวิตหมาอยู่คู่ปรีชามาตลอด ส่วนแมวอยู่ในอีกสถานะต่างจากวันนี้
ขาวมณี แมวไทยขนสีขาวปลอดตลอดตัว ตาสองสีโดดเด่นเป็นประกาย ข้างหนึ่งสีฟ้า ข้างหนึ่งสีอำพัน
แมวตก
“ผมกับแมวเริ่มต้นด้วยความเกลียด” ปรีชาประกาศกร้าวผสานเสียงหัวเราะ ก่อนจะเล่าต่อถึงสาเหตุ
“ตอนที่ผมเลี้ยงไก่แจ้ กระทั่งมีไข่ ฟัก เกิดลูกเจี๊ยบวันดีคืนดีแมวตัวไหนผมจำมันไม่ได้ แต่ฝังใจ มันมาขโมยลูกเจี๊ยบไปกิน ตั้งแต่นั้นมาผมก็เกลียดแมว เจอที่ไหนตี ไล่ เอาน้ำราดสาดมัน ไม่ต้องมาอยู่ที่นี่”
แต่มารยาของสัตว์ชนิดนี้มันร้าย ตกคนง่ายผ่านลูกอ้อน ไม่เว้นแม้แต่คนที่ประกาศตนฝังใจเจ็บกับแมวเช่นปรีชา
“ผมเดินออกจากห้องน้ำมา มันล้มแผละลงบนหลังเท้า นอนเลย กลิ้งไปกลิ้งมาอยู่บนหลังเท้าผม” เขาเล่าย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน
เขาถามแมวกลับไป “จะเอาไง จะอยู่เหรอ แน่ใจเหรอ”
เขาไม่เล่าต่อว่าแมวตัวนั้นมีชะตากรรมอย่างไร ทิ้งท้ายเพียงว่า “หลังจากนั้นผมไม่เคยเจอมันขึ้นหลังคาบ้านผมอีกเลย”
“มันก็เดินในบ้านผม เหมือนเป็นเจ้าของบ้านไป”
เป็นที่รู้กัน เขาโดนมันตก
ขนมันเป็นสีตุ่น ๆ พร้อมตากลมสวย เขาเลยตั้งชื่อมันว่าคลีโอ เทียบชั้นกับใบหน้าและดวงตาของคลีโอพัตรา ราชินีอียิปต์โบราณ
นั่นคือแมวตัวแรกในชีวิตของคนเลี้ยงหมา แต่ช่วงเวลานั้นเขาบอกว่ารู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้รักแมว
แมวไทยตัวแรก
วันเวลาผันผ่านไม่สถาพร คลีโอแมวตาสวยตายลงเขาจึงรู้ว่าแมวมีผลต่อใจ
“วันที่คลีโอตาย ผมคิดว่าขาดอะไร สูญเสีย ทำไมถึงรู้สึกห่อเหี่ยวหดหู่อย่างนี้ แล้วก็เริ่มคิดว่าเป็นเพราะเรารักมัน”
ดวงตากลมโตของคลีโอแมวรักดับลง แต่นั่นเป็นก้าวสำคัญที่เปิดชีวิตให้ปรีชาเข้าสู่วงการแมวไทย
ขนสีดำ ดวงตาผสมสีเขียวเหลือง เป็นลักษณะเด่นของโกนจา หนึ่งในแมวไทยที่บันทึกในตำราโบราณว่าให้คุณแก่ผู้เลี้ยง ต่างจากความเชื่อที่ว่าแมวดำเป็นแมวร้าย
“ผมถึงกับต้องไปหาแมวมาเลี้ยงให้เหมือนเดิม เพื่อชดเชยสิ่งที่เสียไป”
ชั่วโมงนั้นเขาถามตัวเองว่าจะเลี้ยงแมวพันธุ์อะไร
ในช่วงชีวิตก่อนหน้าที่เขาเคยเลี้ยงหมาไทยหลังอานพอบ่งบอกถึงบางอย่างในตัวเขาได้บ้าง เขาชอบอะไรไทย ๆ นี่จึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้เขาเลือกเลี้ยง “แมวไทย”
เขาเล่าย้อนไปเมื่อ ๑๕ ปีก่อน ที่พยายามสรรหาแมวไทยด้วยตนเอง เริ่มจากการเข้าไปดูตามสนามประกวดแมว คุยกับกลุ่มสมาคมแมว ผู้จัดการประกวดแมว และผู้เข้าประกวดแมว กลุ่มคนที่เขาคิดว่าจะทำให้เขาได้แมวไทยแท้มาเลี้ยง จนท้ายที่สุดเขาได้คุยกับกลุ่มคนเลี้ยงแมวไทยและตัดสินใจเลือกแมววิเชียรมาศ สีตัวน้ำตาลผสานสีขาว เข้ามาเป็นสมาชิกในบ้าน
“วันนั้นผมได้ลูกแมวที่แม่เป็นวิเชียรมาศ ผมไปคัดสายพันธุ์มาเลย ชื่อบุษบา เป็นตัวแรกที่ผมเอาเข้ามาเลี้ยง สืบสายมาจากแมวที่นำเข้าจากอังกฤษ เป็นแมวที่มีดวงตาสีฟ้าเข้มต่างจากแมวไทยที่ตาเป็นสีฟ้าธรรมดา”
เมื่อบุษบาเข้ามาในบ้าน ความรักก็เบิกบานในใจเจ้าของ
แมวตัวนี้เข้ามาเป็นสื่อให้เขาได้รู้จักเป้ ภรรยาผู้ที่เป็นหน่วยสนับสนุนคนสำคัญให้ปรีชาขับเคลื่อนการอนุรักษ์แมวไทย ภาพถ่ายของบุษบาที่ปรีชานำไปอวดชาวบ้านในคลาสเรียนวิชาถ่ายภาพเมื่อปี ๒๕๕๕ ซึ่งมีเป้ร่วมเรียนอยู่ด้วย ตกเป้ได้อีกคน
“แมวอะไรจะตาลูกแก้วขนาดนั้น” เป้พูด
หลังจากนั้นแมวได้นำพาคู่ชีวิตใหม่ให้ได้อยู่ด้วยกันและร่วมสร้างทางของการอนุรักษ์แมวไทย
จากแมวหนึ่งตัวสู่ร้อยตัว
เอกลักษณ์ประจำตัวแมววิเชียรมาศ คือแต้มด้วยขนสีน้ำตาลไหม้ตามตัวและใบหน้ารวมเก้าตำแหน่ง เป็นแมวไทยที่ได้รับความนิยมตลอดกาล โดยเฉพาะต่างประเทศรู้จักในชื่อ Siamese Cat หรือ Seal Point
ความผิดหวัง
ของหัวหน้าแมว
หลังจากได้บุษบามาไม่นาน ปรีชาต้องการหาลูกเขยให้ลูกสาวแมว จึงติดต่อปรองดองเป็นทองแผ่นเดียวกันกับปรีชา พุคคะบุตร อดีตกำนันผู้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้มีชื่อเสียงและเป็นบรมครูในเรื่องแมวไทยในขณะนั้น
จากบางรักสู่สมุทรสงคราม ระยะทางกว่า ๘๐ กิโลเมตร เขาพาลูกสาวแมวให้ไปอยู่กับแมวคู่รัก เมื่อนำกลับมาไม่นานบุษบาตั้งท้อง
แต่ใช่ว่าจะสมหวัง บุษบาตกกระไดพลอยโจนผสมพันธุ์กับแมวดำตัวอ้วนเหนียงออกที่เดินวนเวียนอยู่บนหลังคาบ้าน
ลูกบุษบาที่ออกมาเป็นแมวดำทุกตัว
“นั่นเป็นสิ่งที่ผมผิดหวังที่เลี้ยงแมววิเชียรมาศแล้วลูกเกิดมาเป็นแมวดำ เราผิดหวังเพราะอะไร เราไม่ได้เลี้ยงดูเขา ไม่ได้จัดสรรให้เขา”
แมวดำไม่ได้ผิด แต่เขาคิดอยากเลี้ยงแมวไทยแท้
“ลูกที่เกิดมาไปไหน ไม่ได้ไปไหนเลย อยู่ในบ้าน ผมเลี้ยงหมดทุกตัว”
เปี๊ยก กัลดาฟี่ อวบ คือชื่อเหมียวดำลูกบุษบา
ครั้งที่ ๒ เริ่มเข้าที่เข้าทาง เขาพาบุษบากลับไปหาคู่ใหม่ที่อัมพวาจนได้ลูกหลานเป็นแมวไทยดั่งใจหวัง
ทุกวันนี้มีหลักฐานให้เห็นเป็นแสนดี แมวไทยวิเชียรมาศเพศผู้ตัวกลม ลูกของแม่แมวบุษบาที่กลับดาวแมวไปเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว แสนดีเดินป้วนเปี้ยนส่งเสียงทะเลาะกับลูกแมวตัวอื่น ๆ ในบ้าน
“แม่แสนดีคือบุษบา พ่อแสนดีคือถุงเงิน เป็นแมวของกำนันปรีชา พุคคะบุตร ผู้ล่วงลับ” ลุงแมวพูด
เขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาด พร้อมศาสตร์ที่ได้จากกำนันปรีชา จึงรู้ว่ากรงเป็นสิ่งจำเป็น
"เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งที่เราได้อนุรักษ์แมวไทยที่มันมีชีวิตยาวนานมาหลายร้อยปีกว่าจะถึงวันนี้...แมวไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติเรา"
ศุภลักษณ์ หรือแมวทองแดง เมื่อต้องแสงอาทิตย์ เงาสะท้อนของขนจะเป็นสีน้ำตาลเหลือบทั่วตัว เทียบได้กับสีของช็อกโกแลต
โคราช หรือสีสวาด ขนสีดอกเลา คล้ายสีเงินเงาเคลือบตลอดตัว เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
“กรงสำคัญที่สุด ไม่มีอะไรที่จะควบคุมการผสมพันธุ์แมวได้เท่ากับกรง ต้องเลี้ยงแมวในกรงถึงจะอนุรักษ์สายพันธุ์แมวได้”
กรงที่ดูเหมือนกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่ในฐานะนักอนุ-รักษ์แมวไทย นี่คือสิ่งสำคัญ
“ถ้าไม่อนุรักษ์ เราจะไม่ได้ลูกแมวพันธุ์แท้ ถ้าผสมไม่เป็น ไม่มีการควบคุมการผสมพันธุ์ ก็จะเกิดแมวลักษณะแปลก ๆ ออกมา แมวไทยแยกด้วยสีขน แมววิเชียรมาศต้องผสมกับแมววิเชียรมาศ แมวโคราชต้องผสมกับแมวโคราชเท่านั้น เพราะฉะนั้นการอนุรักษ์คือการทำให้มันเหมือนเดิม ไม่ให้แตกต่างไปจากที่เราเห็น เคยเห็นเป็นอย่างไรมา พรุ่งนี้ก็ต้องเป็นอย่างนั้นอีก จะไม่มีการผิดเพี้ยนจากของดั้งเดิม นี้คือที่ผมใช้คำว่าอนุรักษ์ คือทำให้เหมือนเดิมไว้
“ผมถึงบอกว่าการเลี้ยงแมวเชิงอนุรักษ์ คุณต้องเลี้ยงในกรง”
หนึ่งปีหลังจากที่แมวไทยวิเชียรมาศตั้งรกรากที่บ้านบางรัก ปรีชาเริ่มคิดอยากขยายสายของสีแมวไทย
จากวิเชียรมาศมาสู่ขาวมณี แมวขาวตาสองสีทรงเสน่ห์ ตามด้วยโคราชหรือสีสวาดขนทุกเส้นเป็นสีเทา ศุภลักษณ์แมวไทยขนสีช็อกโกแลตทั่วตัว และล่าสุดโกนจา แมวดำ ลำดับสายพันธุ์แมวที่เข้ามาในบ้านหลังจากนั้น
“คอนโดฯ แมวค่อย ๆ เพิ่มออกมาจากในบ้าน เริ่มจากหน้าครัวแล้วไล่ออกมาเรื่อย ๆ” บันทึกจากสายตาของลูกสาวลุงแมว
ทุกวันนี้ทุกหย่อมหญ้าหน้าบ้านเป็นที่อยู่ของเหล่าแมว
“พอพูดถึงแมวไทยขึ้นมา ผมถามว่ามีใครบ้างไม่รู้จักผม ผมอยู่ในวงการนี้จนเป็นที่ยอมรับว่าผมทำทุกอย่างเพื่อการอนุรักษ์”
“เราจะดูแมวว่าแท้หรือไม่แท้ต้องดูจากของดั้งเดิมที่คนเก่าคนแก่เขามีการบันทึกหรือเลี้ยงกันเอาไว้ ถ้าเขามีตัวตนอยู่เราก็ไปขอดู แต่เมื่อเขาไม่มีตัวตนแล้ว อะไรที่เขาเคยบันทึกเอาไว้ ไปดู ไปศึกษา แมวที่เราเลี้ยงอยู่เหมือนของเขามั้ย มีแม่แบบให้เรามองดูว่าอันนี้ใช่ เราถึงบอกว่าแมวที่เลี้ยงอยู่วันนี้กับในสมุดข่อยคือแมวตัวเดียวกัน”
“แมวไทยแยกด้วยสีขน พร้อมกับหางที่ยาวเรียวและตรงเหมือนดินสอเหลาแหลม” คือเอกลักษณ์ของแมวประจำบ้านแมวไทยบางรัก ตามฉบับของปรีชา
ด้วยความพยายามของปรีชาในการอนุรักษ์แมวไทย ในปี ๒๕๕๕ สำนักงานเขตบางรักจึงประกาศให้บ้านแมวไทยบางรักเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นประจำเขต
บ้านแมวไทยบางรัก
แมวไทยแต่ละสำนักมีเอกลักษณ์เหมือนและต่างกันไป ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องมาตรฐานแมวไทยไม่รู้จบสิ้น กรมปศุสัตว์จึงแนะนำให้ปรีชาเลือกตั้งบ้านแมวไทยโดยใช้ชื่อถิ่นที่อยู่คือบางรัก
“เราจะไม่บอกว่าลักษณะแมวทุกอย่างจะเหมือนของเรา ไม่งั้นจะเกิดการโต้แย้งกัน ใครชอบแมวลักษณะไหนก็ไปเลือกเอาบ้านนั้น ไม่ต้องพูดว่าของผมดีที่สุด ลดการโต้เถียงขัดแย้งลง ให้เป็นเฉพาะถิ่นเราไปเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มาของแมวไทยบางรัก
“หางต้องยาวเรียวและตรงเหมือนดินสอเหลาแหลม” เอกลักษณ์ของแมวไทยบางรักที่เขาบัญญัติ โดยมีหลักยึดถืออยู่ที่ตำราแมวโบราณที่ผ่านการจดบันทึกและคัดลอกมาแต่อดีต
“เราจะดูแมวว่าแท้หรือไม่แท้ต้องดูจากของดั้งเดิมที่คนเก่าคนแก่เขามีการบันทึกหรือเลี้ยงกันเอาไว้ ถ้าเขามีตัวตนอยู่เราก็ไปขอดู แต่เมื่อเขาไม่มีตัวตนแล้ว อะไรที่เขาเคยบันทึกเอาไว้ ไปดู ไปศึกษา แมวที่เราเลี้ยงอยู่เหมือนของเขามั้ย มีแม่แบบให้เรามองดูว่าอันนี้ใช่ เราถึงบอกว่าแมวที่เลี้ยงอยู่วันนี้กับในสมุดข่อยคือแมวตัวเดียวกัน”
ภาพแมวไทยประกอบกับโคลงบรรยายลักษณะในตำราแมวโบราณ
โคลงไหว้ครูและอารัมภบทใน ตำราดูลักษณะแมว ของวัดอนงคารามวรวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นฉบับคัดลอกจากตำราแมวในสมุดข่อยโบราณที่ไม่ทราบอายุ พิมพ์เมื่อปี ๒๕๐๐ ในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทฺธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) เถราจารย์ผู้รักแมวเป็นหนึ่งในตำราแมวที่ปรีชายึดถือเป็นต้นแบบของบ้านแมวไทยบางรัก
ในตำราแมวเหล่านี้บันทึกเป็นโคลงลักษณะแมวไทยดีและโทษ พร้อมกับภาพแมวไทยที่เขียนไว้ประกอบโคลง แมวทุกตัวในภาพล้วนหางยาว
“ในเมื่อเรายึดถือสมุดที่ถูกบันทึกตำราของแมวมา ผมทำตามนี้ ผมได้ตามนี้ ผมถือว่าตรงนี้ถูกต้องแล้ว”
แมวมอง
พรพิมาย ทองดาวฤกษ์ ทองบางเลน ทองดาวคะนอง ทองสุโขทัย ทองบางสะพาน ทองพิษณุโลก ทองอุตรดิตถ์ ทองลพบุรี ทองบางเสาธง ตองอู บุเรงนอง เหลืองบุรีรัมย์ ขุนเบญจรงค์ สร้อยนพเก้า พลายงาม ขุนเดช
ทั้งหมดเป็นนามแสนอลังการของสัตว์หน้าขนที่เขียนอยู่บนแผ่นกระดาษติดอยู่หน้ากรงปะปนกันไป บางแผ่นสืบเนื่องเป็นพงศาวลีแมว
“ชื่อนำหน้าแมวศุภลักษณ์ที่เลี้ยงในบ้านขึ้นต้นด้วยทองหมด มีที่มาจากแมวตัวนี้ คนโบราณเรียกว่าแมวทองแดง เพราะฉะนั้นผมจะสร้างความแตกต่างจากแมวตัวอื่น” เขายกตัวอย่าง
ปรีชาจงใจตั้งชื่อแมวให้สอดคล้องเพื่อจำแนกประเภท หลายชื่อตั้งตามแหล่งที่มาของแมว
“ผมอยากสะท้อนแหล่งที่มาของเขา เวลาที่เรารู้ อ้อ ทองสองบาทมาจากบ้านที่จังหวัดระยอง จะมีสตอรีของมัน”
ส่วนชื่ออื่น ๆ ก็ตั้งตามใจที่อยากตั้ง
ชื่อแมวแสดงความใส่ใจ รู้สึกว่าเขาเป็นคนช่างคิดประดิดประดอย แม้แต่ต้นไม้ก็ไม่วายมีชื่อไปกับเขาด้วย จิกน้ำ ไม้ยืนต้นสูงใหญ่ข้างบ้านห่างจากกรงแมวเป็นหนึ่งในนั้น มันห้อยดอกเป็นพู่ลู่ตรงชี้ลงสู่ดิน แตกกิ่งแผ่ก้านเป็นเงาให้คนที่อยู่เบื้องล่าง
“ชาวบ้านเขาเรียกต้นจิกน้ำ มันขึ้นอยู่ตามน้ำ แล้วดอกก็จะโรยลงน้ำ จะไหลไปเป็นทางยาว ๆ พอมาอยู่บ้านนี้ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสร้อยรัตติกาล เพราะมันจะบานกลางคืนเหมือนสายสร้อยย้อยลงมา” ชายคนเดิมกล่าว
ตำราแมวโบราณนานาฉบับที่ปรีชาใช้ศึกษาและนับเป็นต้นธารองค์ความรู้ที่นำมาสู่เอกลักษณ์ของแมวไทยในบ้านแมวไทยบางรัก
ครั้งหนึ่งชื่อนี้เคยเป็นชื่อแมวโคราชในบ้านมาก่อน
“ตอนนั้นที่ให้ชื่อนี้เพราะผมไปรับเขาเข้าบ้านตอน ๔ ทุ่ม” ปรีชาเล่า
หลังจากแมวตาย ชื่อแมวจึงกลายมาเป็นชื่อของต้นไม้
เลื่อนตามองข้างกรงแมวมีตู้ใส ข้างในใส่ถ้วยรางวัลนับสิบจากเวทีประกวดแมว
หนึ่งถึงสองปีหลังจากเลี้ยงแมวไทยจริงจัง บ้านแมวไทย บางรักอยู่ตัว ปรีชาเริ่มนำแมวที่เขาผสมเองในบ้านลงสนามประกวด
“เป็นประสบการณ์ คนนั้นเขาทำกัน เราลองไปดูสิ พอแข่งได้ถ้วยใบนี้ในสนามไทย ผมก็มีโอกาสได้รับเชิญเอาแมวไปลงในสนามต่างประเทศ ก็ลองว่าจะไปได้ถึงไหนในสนามที่มีแต่แมวฝรั่งและมีกรรมการที่ไม่ใช่คนไทยด้วย ตอนนั้นผมเอาลงไปหลายตัว ไปสู้กับแมวฝรั่ง ทำให้กรรมการได้รู้จักแมวไทยที่สูญพันธุ์ไปแล้วก็คือศุภลักษณ์”
การได้รางวัลของเขาเป็นเสมือนการอนุรักษ์แมวไทยในตัว
ส่วนถ้วยรางวัลที่เขาภูมิใจคือถ้วยพระราชทานของรัชกาลที่ ๙ เมื่อปี ๒๕๕๘ ถือว่าใหญ่ที่สุดในสังคมการประกวดแมว ครั้งนั้นเขาพากอไผ่ แมวไทยโคราช ลงสนามประกวด
“เป็นความทรงจำอย่างหนึ่ง คือเป็นถ้วยใบสุดท้ายที่มี ‘ภปร’ ติดข้างถ้วย”
มองลอดรั้วออกไปหน้าบ้าน ทางผ่านตอนเดินเข้ามาเห็นรถยนต์สีขาวคันเล็กกะทัดรัดสี่ที่นั่ง ด้านข้างติดสติกเกอร์
ว่า “อาหารแมว ทรายแมว ลูกแมววิเชียรมาศ” และ “www.แมวไทย.com” ส่วนด้านหลังรถมีสติกเกอร์ติดไว้ว่า
“ผู้อนุรักษ์ แมวไทยโบราณ”
นั่นแหละเป็นเหตุให้รถคันนี้ต้องเล็กน่ารักพอเหมาะกับลักษณะของเจ้าของบ้านและความน่ารักของแมวที่เขาเลี้ยง เพราะรถคันนี้มีไว้สำหรับส่งสินค้าของเหล่าแมวในเขตใกล้บ้าน ทั้งทรายแมว อาหารกระป๋องแมว
“เราจำเป็นต้องใช้รถที่ค่อนข้างเล็ก เวลาเราทำงาน ขับรถคันเล็กเข้าไปในซอยเพื่อส่งของสะดวก เลยเลือกรถไซซ์นี้มา”
หลายสิ่งในบ้านแมวไทยบางรักล้วนแต่มีเรื่องเล่า
มองแมว
หลายสายตามองมาที่บ้านแมวไทยบางรักเพื่อเลือกหาแมวไทยพันธุ์แท้
หลายครั้งปรีชามักได้รับคำถามจากคนเลี้ยงแมวมือใหม่ ถ้าคิดจะเลี้ยงแมวต้องทำอะไรเป็นอันดับแรก
“ให้ปรึกษาคนข้างตัวคุณก่อน” ประโยคที่เขามักตอบกลับ
“เธอยังไม่เห็นถามฉันเลย ไม่เคยถามเลย แล้วจะให้คนอื่นไปถามได้ไง” เป้พูดสวนแกมหยอก
“มาคิดได้ทีหลัง” ปรีชาตอบกลับก่อนที่จะกลับมาตอบต่อ
ปรีชาในวัย ๗๕ ปี ยืนยันว่าจะยังคงเป็นผู้อนุรักษ์แมวไทยโบราณต่อไปเรื่อย ๆ
“แมวมันหากินเองไม่เป็น คุณต้องหาให้มันกิน แมว อึฉี่เป็นที่เป็นทางก็จริง แต่คุณต้องมีหน้าที่เก็บทิ้งทุกวัน ถ้าคุณไม่อยู่ คุณอีกคนทำได้มั้ย ถ้าเขาตอบ yes วันแรกเนี่ยนะ คุณเลี้ยงเถอะ อุปสรรคอะไรเกิดขึ้นมาคนข้างตัวคุณจะช่วยได้เสมอ เพราะฉะนั้นให้ความสำคัญกับคนข้างตัวคุณด้วย”
ส่วนคนที่อยากเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์เขามีอีกคำแนะนำ
“ถ้าคนมาบอกจะอนุรักษ์แมว เราต้องเลือกแมวคนละครอก คนละสายกัน การผสมเลือดชิดไม่ใช่เรื่องดี ครอกเดียวกันเอาไปเลี้ยงได้ในกรณีเลี้ยงเล่น เอาไปทำหมัน แต่กรณีการผสมพันธุ์ ไม่ควรจะเอาพี่น้องท้องเดียวกันหรือสายเลือดชิดไปผสมกัน”
ทิ้งท้ายฝากถึงคนเลี้ยงแมว
ตลอดระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา แมวหลายชีวิตถือเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของปรีชา
เกือบทุกกิจวัตรในชีวิตของปรีชา เป้ และเก๋ ตั้งแต่ตื่น เดิน นั่ง นอน ล้วนสัมพันธ์กับแมว
“คุยกันหน้ากรงแมว เหมือนแมวก็เป็นบุคคลหนึ่งที่อยู่ร่วมวงสนทนาโดยตลอด” เก๋ยกตัวอย่าง
แมวไทยในบ้านแมวไทยบางรักเกิดขึ้นผ่านความรักในสัตว์น้อยหน้าขนผสานไปกับใจที่อนุรักษ์แมวไทยของบุคคลในบ้าน
ในวันที่ปรีชาเข้าสู่วัย ๗๕ เขายังคงมุ่งหวังให้การอนุรักษ์แมวดำเนินต่อไป
“อยากจะให้ทำงานนี้ต่อ เพราะเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งที่เราได้อนุรักษ์แมวไทยที่มันมีชีวิตยาวนานมาหลายร้อยปีกว่าจะถึงวันนี้ ไม่อยากจะให้หยุดอยู่แค่นี้ เราภูมิใจในความเป็นไทย แมวไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติเรา” ความหวังของปรีชา
“มากกว่านั้นชีวิตเราไม่หงอยเหงา แมวไม่มีพิษมีภัย” เขากล่าวตอบ
สุดท้ายปลายทางของปรีชาเขาเตรียมส่งต่อสู่เป้และเก๋ให้เป็นผู้สานต่อเจตนารมณ์
เก๋มองว่า “เราเดินเส้นทางเดียวกันมาตลอดโดยที่ไม่มีใครแยกไปไหน เพราะฉะนั้นมันราบเรียบ เราไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเดินตาม เพราะเราเดินไปด้วยกัน มันคือส่วนหนึ่งในชีวิตเลย”
“ผมเขียนข้างรถเลยว่า ผมคือผู้อนุรักษ์แมวไทยโบราณ” ลุงแมวทิ้งท้ายผ่านคำนิยามตัวเอง