อ๊อฟ-ภัทร รัตรสาร อดีตนักกีฬายิงปืนประจำจังหวัด ผู้กลายมาเป็นนักพัฒนาแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลและเจ้าของฟาร์มแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมแมวระดับโลก The Cat Fanciers’ Association (CFA)
เส้นทางสู่บรีดเดอร์แมว
ระดับโลกกับการประกวด
แมวอเมริกันเคิร์ลของ
ภัทร รัตรสาร
แมวววว...
เรื่องและภาพ : ธเนศ แสงทองศรีกมล
ปรกติภาพแมวที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดียผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือของผู้เขียนมักจะเป็นเจ้าแมวส้มตัวแสบที่โชว์อภินิหารทำลายบ้านช่องของผู้เลี้ยง หรือไม่ก็เป็นเจ้าแมวหน้าตาแสนหยิ่งที่ดูท่าทางจะไม่สำนึกเอาซะเลยว่าใครเป็นคนหาข้าวหาปลาให้มันกินจนอิ่มท้อง โดยเฉพาะพวกแมวฝรั่งที่ค่อนข้างถือเนื้อถือตัว ไม่อยากแตะต้องกับสิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์” เท่าไร
ในวันที่อากาศค่อนข้างครึ้มฝน ผู้เขียนเดินเข้าบ้านหลังนี้เพื่อมาสัมภาษณ์ เสียงทักทาย “ครืดดดดดดด ฟุดฟิด ๆ ๆ ครืดดดด เหมียว” จากเจ้าแมวตัวเบ้อเร่อดังขึ้นพร้อมเข้ามาคลอเคลียคนแปลกหน้าปานสนิทกันมาสิบปี “แมวอเมริกันเคิร์ล” ขนาดตัวเท่ากับตุ๊กตาที่วางไว้หัวเตียง ขนนุ่มลื่นและพองเป็นปุยนุ่น ดวงตาโตชวนหลงใหล และใบหูที่ม้วนไปข้างหลังอันเป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์นี้เมื่อเห็นแล้วแทบจะมัดหัวใจไว้แน่น
ย้อนไปเมื่อ ๑๐ ปีก่อน แมวที่มีหูพับมาข้างหน้า มีใบหน้าที่แสนมึน รูปร่างน่ากอดอย่าง “สกอตติชโฟลด์” เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย อ๊อฟ-ภัทร รัตรสาร จึงตั้งใจหอบเงินกว่า ๓ หมื่นบาทเดินทางไปที่สุพรรณบุรีเพื่อสู่ขอแมวที่เขาเห็นประกาศขายในอินเทอร์เน็ตมาไว้ในครอบครอง
ทว่าหลังจากการพูดคุยกับเจ้าของแมวสกอตติชโฟลด์และตกลงวันดูตัว (แมว) เสร็จเรียบร้อย เจ้าของแมวกลับโทร. มาบอกว่าแมวตัวนั้นไม่อยู่แล้ว เพราะอ๊อฟไม่ได้วางเงินจองไว้
พบอเมริกันเคิร์ล
: ชะตาที่ผูกกัน
ก่อนหน้าที่อ๊อฟเริ่มจับแปรงหวีขนแมว เขาจับปืนในฐานะนักกีฬายิงปืนของเขตและจังหวัดอยู่ราว ๆ ๑๐ ปี ด้วยตารางการซ้อมยิงปืนที่ค่อนข้างมาก เขาจึงอยากหาสัตว์เลี้ยงสักตัวเพื่อคลายเหงาให้คนรัก “จริง ๆ ผมก็รับปากไปงั้นแหละ แต่พอเขาทวง ก็ต้องไปหามาให้” อ๊อฟแซวตนเอง
แต่ขณะนั้นที่พักยังเป็นคอนโดมิเนียมทำให้การเลี้ยงสุนัขที่ผุดขึ้นมาเป็นความคิดแรกเป็นเรื่องยาก อ๊อฟและคนรักจึงตกลงกันว่าสัตว์เลี้ยงตัวแรกที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่คงต้องเป็น “แมว”
“เราเชื่อเสมอว่าสิ่งมีชีวิตมีชะตาที่ผูกกัน” เมื่อไม่ได้สกอตติชโฟลด์ตามที่มั่นหมาย อ๊อฟก็ท่องอินเทอร์เน็ตอีกครั้งเพื่อหาแมวจากฟาร์มอื่น ทว่าแมวที่มีชะตาผูกกับอ๊อฟกลับเป็นแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลแทน
อเมริกันเคิร์ลเป็นแมวขนาดปานกลาง (elegant body) มีรูปร่างเพรียวสง่า ขนบริเวณอกและหางฟูสวยงาม มีเอกลักษณ์คือ “ใบหูม้วนไปข้างหลัง”
หูที่ม้วนมาข้างหลังทำให้อ๊อฟสนใจแมวสายพันธุ์นี้มาก นั่นเป็นก้าวแรกในการเป็น “ทาสแมว” หลังจากคุยรายละเอียดต่าง ๆ กับเจ้าของฟาร์ม อ๊อฟจึงออกเดินทางเพื่อไปดูแมวตัวนี้ที่ฟาร์มแถว ๆ กม. ๘
“ตอนนั้นแค่อยากไปดูเฉย ๆ ครับ” อ๊อฟเปรยขึ้น
“สภาพคือถูกเลี้ยงในกรง ขนไม่ดี ตัวผอมมาก เราเห็นแล้วก็สงสาร คิดว่าต้องซื้อกลับมาแล้วละ เพราะถ้าไม่ซื้อก็ไม่รู้ว่ามันจะมีชีวิตยังไง เราไม่มีความรู้อะไรเลย คิดแค่จะช่วยมันออกมา” อ๊อฟบรรยายถึงภาพแรกที่พบกัน
ปัจจุบันราคาของอเมริกันเคิร์ลในตลาดต่างประเทศจะอยู่ราว ๆ ๙๐,๐๐๐-๑๒๐,๐๐๐ บาท แต่ที่ฟาร์ม กม. ๘ ขณะนั้นอยู่ที่ ๓๕,๐๐๐ บาท ความตั้งใจเพียงแค่จะไปดูว่าแมวหูม้วนหลังคือแมวอะไร กลับได้แมวตัวนี้มาเป็นสมาชิกตัวแรกของบ้าน โดยที่ก็ยังไม่ได้ซื้อกระบะทราย ของเล่น อาหารแมว กระทั่งความรู้ในการเลี้ยงแมวก็แทบจะไม่มี
ด้วยความที่อยากรู้จักแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลให้ลึกซึ้งกว่าเดิม เขาจึงศึกษาค้นคว้าและพบว่าชูลามิท (Shulamith) คือชื่อแมวอเมริกันเคิร์ลสีดำเพศเมียตัวแรกถูกพบที่หน้าประตูบ้านของ โจล รูกา และ เกรซ รูกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ. ๑๙๘๑ เมื่อถึงคราวที่เจ้าชูลามิทให้กำเนิดลูกหลาน เจ้าพวกตัวน้อยก็มีหูม้วนไปข้างหลังเช่นกัน ลักษณะนี้ได้รับการยอมรับสายพันธุ์โดย The International Cat Association (TICA) เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๗ และ The Cat Fanciers’ Association (CFA) ใน ค.ศ. ๑๙๙๓
แมวอเมริกันเคิร์ลสายพันธุ์แท้จะต้องมี “ใบเพ็ดดีกรี (pedigree)” ที่ฟาร์มนั้น ๆ จดทะเบียนจากสมาคมแมวต่าง ๆ ซึ่งอเมริกันเคิร์ลที่อ๊อฟรับมานั้นก็มีใบเพ็ดดีกรีจาก CFA และด้วยความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นจนอยากพัฒนาแมวและผสมพันธุ์แมวที่เขามีอยู่ให้ดียิ่งกว่าเดิม อ๊อฟจึงจำเป็นต้องผสมพันธุ์แมวที่มีอยู่กับแมวสายพันธุ์แท้ (แมวที่มีใบเพ็ดดีกรีของ CFA และไม่เคยผสมข้ามสายพันธุ์) ด้วยกันเท่านั้น
ด้วยเอกลักษณ์หูม้วนของอเมริกันเคิร์ล มันจึงมักถูกจับไปผสมข้ามสายพันธุ์ (mixed breed) อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปลายทางของมันก็จะส่งผลเสียกลับมายังอเมริกันเคิร์ลที่เป็นสายพันธุ์แท้
ก้าวสู่บรีดเดอร์
ตั้งต้นพัฒนาสายพันธุ์แท้
หลังจากอ๊อฟศึกษาวิธีการดูแลเฉพาะทางของแมวอเมริกันเคิร์ลและเริ่มปรนนิบัติให้แมวของเขามีสุขภาพดี ขนสวย รูปร่างสวยมากขึ้นได้แล้ว เขาจึงสอบถามกลับไปยังเจ้าของฟาร์มเดิมเพื่อหาแมวอเมริกันเคิร์ลเพศผู้มาผสมพันธุ์ให้เจ้าขนฟูนุ่มลื่น
“คุณดูแลแมวได้ดีมากนะ แต่อย่าลืมว่ามันเป็นแมวด้อยที่สุดในครอก” เจ้าของฟาร์มตอบกลับ
อ๊อฟเล่าถึงครั้งที่เดินทางไปพบเจ้าอเมริกันเคิร์ล เขาเห็นแมวสายพันธุ์นี้สองตัวในฟาร์ม แต่ค่าตัวที่ค่อนข้างสูงทำให้อ๊อฟรับมาได้เพียงหนึ่งตัว
ช่วงเวลานั้นอ๊อฟคาดเดาว่ามีฟาร์มนี้ฟาร์มเดียวที่เพาะพันธุ์แมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ล เขาจึงหารูปแมวสายพันธุ์นี้ที่ได้รับรางวัลจากสมาคมระดับโลกต่าง ๆ เพื่อถามหาแมวตัวอื่นจากเจ้าของฟาร์ม ทว่าเจ้าของฟาร์มกลับบอกว่าแมวในรูปที่อ๊อฟหามานั้นไม่ใช่สายพันธุ์แท้และยังให้ข้อมูลอีกว่าอเมริกันเคิร์ลหูม้วนไปข้างหลังมากเท่าใดก็ยิ่งสุขภาพดี ซึ่งอ๊อฟเห็นว่าข้อมูลนี้ขัดกับมาตรฐานสายพันธุ์ของสมาคมแมวระดับโลกที่ระบุไว้ว่าหูต้องตั้งขึ้นและม้วนกลับมา ๙๐-๑๘๐ องศา (สำหรับแมวประกวด) โดยที่ไม่แตะหลังหัว และการม้วนของหูแมวอเมริกันเคิร์ลก็ไม่มีผลเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพใด ๆ ทั้งสิ้น
การพูดคุยหลายครั้งทำให้อ๊อฟเข้าใจได้ว่าเขาไม่สามารถหาข้อเท็จจริงใด ๆ จากทางฟาร์มต้นทางได้อีก ทั้งยังรู้สึกว่าถูกสบประมาท เขาจึงเริ่มต้นหาแมวจากที่อื่นและตั้งใจว่าจะพัฒนาแมวสายพันธุ์นี้ให้ดียิ่งกว่าเดิม
“คิดว่าถ้าเขาพูดมาแบบนี้ เดี๋ยวผมจะทำแมวให้ดีกว่าให้ดู” เขากระแทกเสียงพร้อมความตั้งใจแรงกล้า
แต่เหล่าบรีดเดอร์ (breeder ผู้เพาะพันธุ์) อเมริกันเคิร์ลในไทย ณ ขณะนั้นยังมีไม่มากนัก โชคดีที่โลกมีอินเทอร์เน็ตแล้ว ซึ่งพาอ๊อฟท่องไปที่ฟาร์มอเมริกันเคิร์ลได้ทั่วโลก จนเขาพบฟาร์มแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย และนั่นก็กลายเป็นก้าวแรกของอ๊อฟในเส้นทาง “ผู้เพาะพันธุ์แมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ล”
“ผมใช้เวลาครึ่งปี” อ๊อฟเอ่ยขึ้นจนทำให้ผู้เขียนประหลาดใจถึงช่วงเวลายาวนาน
อ๊อฟอธิบายว่า ด้วยเอกลักษณ์หูม้วนของอเมริกันเคิร์ลมันจึงมักถูกจับไปผสมข้ามสายพันธุ์ (mixed breed) อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจะส่งผลเสียกลับมายังสายพันธุ์แท้ นั่นเป็นเหตุผลที่ต้องใช้เวลากว่าครึ่งปีหลังจากการติดต่อในครั้งแรกเพื่อที่จะยืนยันกับฟาร์มที่ประเทศมาเลเซียว่าเขาตั้งใจจะเป็นบรีดเดอร์แมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลจริง และเป็นครึ่งปีที่อีกฝั่งหนึ่งก็จะพิสูจน์ความตั้งใจของอ๊อฟด้วยเช่นเดียวกัน
สามเดือนแรกเป็นการพูดคุยถึงทัศนคติในการเพาะพันธุ์แมวโดยที่อ๊อฟไม่เห็นแมวสักปลายขน
ต่อมาอ๊อฟได้เจอเจ้าของฟาร์มที่มาเลเซียครั้งแรกในงานประกวดแมวที่ประเทศไทย เขาพาแมวมาประกวดและเพื่อมาดูอเมริกันเคิร์ลของอ๊อฟตามที่นัดหมายกันไว้ ณ ตอนนั้นเจ้าของฟาร์มบอกเงื่อนไขไว้สามข้อ หนึ่ง แมวของอ๊อฟเพาะพันธุ์ได้แต่ประกวดไม่ได้ สอง จะต้องจดทะเบียนฟาร์มกับสมาคม CFA เพื่อรับรองความน่าเชื่อถือและสาม จะต้องส่งแมวเข้าประกวด โดยหลังจากจดทะเบียนฟาร์มแมวเรียบร้อย เจ้าของฟาร์มจะนำแมวมาให้ส่งประกวด อ๊อฟจะต้องดำเนินการให้ครบทั้งสามเงื่อนไข หากไม่เห็นด้วยหรือไม่สามารถทำได้ในเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ข้อตกลงถือเป็นอันสิ้นสุด
เงื่อนไขข้อแรกทำให้อ๊อฟเข้าใจว่าในวงการแมวนั้นแบ่งแมวเป็นสามระดับ คือ เลี้ยงเล่น ขยายพันธุ์ และประกวด
ระดับแรกไม่มีอะไรมากไปกว่าการเลี้ยงแมวแบบปรกติ แต่ระดับที่ ๒ และ ๓ เป็นความแตกต่างที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อเริ่มต้นพัฒนาสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ล ทั้งสองระดับเหมือนกันในเรื่องโครงสร้างของแมว เช่น ลักษณะของหูและองศาดวงตา สัดส่วนศีรษะและลำตัว แต่มีส่วนที่ต่างกันคือระดับที่ใช้ขยายพันธุ์นั้นมีบางจุดที่ไม่สมดุลหรือด้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพของระดับประกวด อย่างเช่นสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลบางตัวอาจมีหูม้วนมากเกินไปจากมาตรฐานสายพันธุ์ ซึ่งหากนำไปประกวดก็อาจถูกปรับตกรอบหรือกลับบ้านมือเปล่า
เมื่อจดทะเบียนฟาร์มเสร็จสรรพ เป็นครั้งแรกที่อ๊อฟได้เห็นแมวที่เขาพูดคุยดูใจกันมากว่าครึ่งปี ทว่าก็ยังไม่ได้เป็นเจ้าของ
บรีดเดอร์ชาวมาเลเซียนัดพบอ๊อฟอีกครั้งที่สนามบินในไทย หลังจากการพูดคุยสัพเพเหระ เขาขอให้อ๊อฟพาไปที่พักเพื่อความมั่นใจในขั้นตอนสุดท้ายว่าแมวของเขาจะได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานตามที่เขาต้องการ ซึ่งบรีดเดอร์ชาวมาเลเซียพร้อมพาแมวกลับหากเห็นว่าความเป็นอยู่ของแมวอาจไม่ดีพอ
การเยี่ยมชมเสร็จสิ้นด้วยความพอใจ บรีดเดอร์ชาวมาเลเซียก็เริ่มพูดคุยกับอ๊อฟถึงเงื่อนไขที่ ๓
เตรียมประกวดแมว
“ผมมาสอนคุณอาบน้ำแมว” เจ้าของไฟลต์บิน ๑,๓๐๐ กว่ากิโลเมตรพูดขึ้น
นี่เรียกได้ว่าเป็นการอาบน้ำแมวที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตของอ๊อฟ จากเดิมที่เคยอาบน้ำให้เจ้าอเมริกันเคิร์ลเพียงไม่กี่ขั้นตอน วันนั้นอ๊อฟได้รู้ถึงเจ็ดขั้นตอน เช่น การแปรงขนก่อนเริ่มอาบ การตัดเล็บ (ผู้เขียนก็เพิ่งทราบว่าใช้กรรไกรตัดเล็บของมนุษย์ได้) การใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง การขจัดคราบมันบนเส้นขน การเลือกใช้แชมพูชนิดต่าง ๆ การเติมความชุ่มชื้นด้วยคอนดิชันเนอร์ ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยรายละเอียดและต้องลงมือทำเพื่อเรียนรู้ หากเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง
นอกจากนี้แล้วความนุ่มลื่นของเส้นขนก็เป็นสิ่งสำคัญ อ๊อฟให้ผู้เขียนลองนึกถึงตอนสระผมและใช้ครีมนวดผม ความมันและลื่นของขนอเมริกันเคิร์ลจะเป็นเช่นนั้นเลย
สิ่งที่จะทำให้ขนแมวนุ่มลื่นในระดับเหมาะสมก็คือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมนั่นเอง ซึ่งส่วนนี้ไม่อาจบอกได้เพราะเป็นความลับทางการประกวด แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการปิดรูระบายน้ำในซิงก์และใช้น้ำยาที่ล้างออกจากร่างกายของแมวมาพรมบนตัวแมวอีกครั้งก่อนล้างน้ำเปล่าสุดท้าย อ๊อฟอธิบายว่ามันคือการคืนความชุ่มชื้นที่ชำระออกไปในขั้นตอนการขจัดคราบมันกลับสู่ผิวแมวเช่นเดิม การทำแบบนี้จะทำให้ขนแมวมีน้ำหนัก พองสวยและนุ่มลื่น การอาบน้ำอาจกินระยะเวลากว่า ๓ ชั่วโมงครึ่งกว่าที่แมวจะงดงามที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และกระบวนการครั้งนั้นก็เป็นพื้นฐานการอาบน้ำสำหรับการประกวดแมวครั้งแรกของอ๊อฟที่จะเกิดขึ้นในอีก ๑ เดือนข้างหน้า
“งดงามที่สุด” แน่นอนว่าเป็นคำจำกัดความของแมวทุกตัวที่ถูกรักโดยเจ้าของ หากแต่ในวงการประกวดแมว คำว่างดงามนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานสายพันธุ์” (breed standard) ที่กำหนดลักษณะการเข้าข่ายว่างามไว้ ตั้งแต่หัวจดหาง โดยมาตรฐานสายพันธุ์นี้ก็จะขึ้นอยู่กับสมาคมแมวแต่ละแห่งด้วย
เจ้าแมวอเมริกันเคิร์ลจากมาเลเซียนี้เป็นตัวที่จดทะเบียนไว้กับ CFA สมาคมแมวยักษ์ใหญ่จากอเมริกา ทว่าในช่วงเวลานั้นแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลยังไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้เลี้ยงแมวหรือกระทั่งผู้พัฒนาสายพันธุ์มากนัก (rare breed) ความงดงามของสายพันธุ์นี้จึงยังอยู่บนเครื่องหมายคำถามและดุลยพินิจของกรรมการ
เกณฑ์การประกวดบนเวทีของ The Cat Fanciers’ Association (CFA) แบ่งระดับของแมวเป็นสามรุ่น ดังนี้
แมวที่มีอายุ ๔-๘ เดือน
แมวที่มีอายุ ๘ เดือนขึ้นไป
แมวที่มีอายุ ๘ เดือนขึ้นไปที่ทำหมันแล้ว
แมวที่เข้าร่วมการประกวดของ CFA จะได้รับตำแหน่งเมื่อได้รับคะแนนหรือผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้
Open
แมวที่อายุ ๘ เดือน ขึ้นทะเบียนกับ Cat Fanciers’ Association (CFA) หรือมีใบเพ็ดดีกรีที่ขึ้นทะเบียนกับ World Cat Congress (WCC) ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมการประกวดของสมาคม CFA
Champion
แมวระดับ Open ที่สะสมโบผู้ชนะ (Winner ribbon) จนครบตามที่กำหนด [ไม่ถูกปรับออกจากการประกวดเนื่องจากมีลักษณะโครงสร้างส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ถูกต้องตามที่มาตรฐานสายพันธุ์กำหนดไว้ (Disqualify)]
Premie
แมวระดับ Open ที่สะสมโบผู้ชนะ (Winner ribbon) จนครบตามที่กำหนด [ไม่ถูกปรับออกจากการประกวดเนื่องจากมีลักษณะโครงสร้างส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ถูกต้องตามที่มาตรฐานสายพันธุ์กำหนดไว้ (Disqualify)] ในรุ่นแมวที่ทำหมันแล้ว
Grand Champion
แมวระดับ Champion ที่สะสมแต้มในการแข่งขันจนครบ ๑๒๕ แต้ม
Grand Premier
แมวระดับ Premier ที่สะสมแต้มในการแข่งขันจนครบ ๒๕ แต้ม
Division Winner
ตำแหน่งแมวสวยที่สุดในประเทศนั้น ๆ บนตารางเก็บคะแนนเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลประกวดในแต่ละปี (พฤษภาคม-เมษายน)
National Winner
ตำแหน่งแมวสวยที่สุดในภูมิภาคนั้น ๆ บนตารางเก็บคะแนนเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลประกวดในแต่ละปี (พฤษภาคม-เมษายน) (รางวัลระดับโลก) ของทั้งสามคลาส
Breed Winner
แมวสายพันธุ์นั้น ๆ ที่มีคะแนนสูงสุดจากการเก็บคะแนนในตารางคะแนนเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลประกวดในแต่ละปี (พฤษภาคม-เมษายน)
เรียนรู้จาก
เวทีประกวดระดับโลก
อ๊อฟเล่าว่าแต่ก่อนในปีหนึ่งมีการประกวดแมวเพียงแค่สี่ถึงห้าครั้ง แต่ละครั้งเต็มไปด้วยดาวเด่นแห่งเวทีประกวด อย่างแมวสายพันธุ์เปอร์เซียขนยาวที่ขึ้นชื่อว่างดงามที่สุด หากอยู่ในมือของบรีดเดอร์ชาวไทย ทว่าความยากของอ๊อฟและเจ้าอเมริกันเคิร์ลสายพันธุ์มาเลเซียไม่ใช่เรื่องนั้น
ด้วยเกณฑ์การประกวดที่ค่อนข้างซับซ้อน เจ้าแมวสายเลือดมาเลเซียไต่ขึ้นไปถึงระดับ Champion ทว่าไม่สามารถขึ้นไปสูงกว่านั้นได้
“โครงสร้างมันอาจเป็นจุดหนึ่งที่เขาไม่เลือก แต่อีกอย่างคือลักษณะนิสัย เวลาเข้าไปอยู่ในโชว์มันจะขดตัวตลอดเวลา เราเลยรู้ว่ามันไปต่อไม่ได้” อ๊อฟบรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีประกวดแรก
ปรกติการประกวดแมวจะแบ่งเป็นสี่ขั้นตอน โดยอันดับของแมวจะถูกแทนด้วย “สีของโบ”
แมวในสายพันธุ์เดียวกันจะแข่งขันกันเพื่อหาอันดับ ๑-๓ โดยแยกการตัดสินออกเป็นเพศและขนตามที่หลักเกณฑ์การประกวดกำหนดไว้
ธงสีน้ำเงิน - แมวอันดับ ๑ ในเพศและสีเดียวกัน
ธงสีแดง - แมวอันดับ ๒ ในเพศและสีเดียวกัน
ธงสีเหลือง - แมวอันดับ ๓ ในเพศและสีเดียวกัน
เมื่อกรรมการเลือกได้แมวอันดับ ๑ ๒ และ ๓ เรียบร้อยแล้วก็จะนำแมวที่ได้รับธงสีน้ำเงินมาตัดสินกันเพื่อหาแมวอันดับ ๑ และอันดับ ๒ โดยไม่แบ่งตามเพศ (Best of Class) แมวอันดับ ๑ จะได้ธงสีดำ และแมวอันดับ ๒ จะได้ธงสีขาว
ถัดจากนั้นกรรมการจะนำแมวธงสีดำและธงสีขาวมาตัดสินอีกครั้ง เพื่อให้ได้แมวสองตัวที่ดีที่สุด (Best of Breed) โดยอันดับ ๑ จะได้ธงสีน้ำตาล และอันดับ ๒ จะได้ธงสีส้มนั่นเอง
สำหรับแมว Open และ Champion สวยที่สุดในสายพันธุ์นั้น ๆ จะได้รับธงสีม่วง (Best of Breed Champion) และสุดท้ายจะเป็นรอบ Final 10 โดยเป็นการตัดสินจากแมวสายพันธุ์ ๑๐ ตัวที่ดีที่สุด ไม่แบ่งสีขน ไม่แบ่งเพศ ซึ่งแมวที่จะเข้าสู่รอบนี้ได้จำเป็นต้องเป็นอันดับ ๑ ของแต่ละสายพันธุ์ (ได้รับธงสีน้ำตาล ขาว ม่วง)
ทว่าการสะสมคะแนนเพื่อขึ้นมาถึงในระดับ Grand Champion กลับเป็นเรื่องยากสำหรับสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ล อธิบายอย่างคร่าว ๆ คือในรอบแข่งขันเพื่อหาธงสีน้ำตาล (Best of Breed) ผู้ที่ได้ธงสีน้ำตาลหรืออันดับ ๑ ก็จะได้คะแนนตามจำนวนแมวสายพันธุ์เดียวกันที่ประกวดในรอบนั้นแล้วลบออก ๑ คะแนน (๑ คะแนนนั้นหมายถึงตนเองที่เป็นหนึ่งในผู้ประกวด) ยกตัวอย่างเช่น หากแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลมี ๑๐ ตัว ผู้ที่ได้รับธงสีน้ำตาลก็จะได้รับ ๙ คะแนน และอันดับถัด ๆ มาก็จะได้คะแนนลดหลั่นกันไป
ในช่วงแรกที่อ๊อฟเริ่มส่งแมวประกวด แมวอเมริกันเคิร์ลนั้นมีจำนวนน้อยมาก ทำให้การเก็บคะแนนค่อนข้างใช้เวลานาน ฉะนั้นทางเดียวที่จะทำให้อเมริกันเคิร์ลได้คะแนนมากคือแมวตัวนั้นต้องสวยงามมากพอที่จะเข้าตากรรมการและถูกเลือกเข้าไปใน Final 10 หมายถึงรอบที่กรรมการคัดเลือกแมวเข้าไปตามดุลยพินิจ เพื่อเก็บสะสมคะแนนจากการแข่งขันกับแมวทั้งหมดในงานประกวดนั้น อย่างเช่นหากมีแมวที่ประกวดในรอบนี้ทั้งหมด ๓๐ ตัว คะแนนที่แมวตัวนั้นจะได้รับก็อาจสูงถึง ๒๙ คะแนนนั่นเอง
“ทางเดียวที่จะได้แต้มคือต้องเข้ารอบ Final เท่านั้น แต่เพราะเคิร์ลถูกนับอยู่ในแมวขนยาวซึ่งต้องสู้กับแมวที่ขนยาวจริง ๆ อย่างเปอร์เซียหรือเมนคูน ก็จะยากกว่า มันจึงต้องเป็นแมวที่สวยจริง ๆ ถึงจะได้ที่ ๑” อ๊อฟอธิบายพร้อมเล่าต่อว่า “การประกวดเป็นเรื่องของกรรมการกับแมวเท่านั้น บรีดเดอร์มีหน้าที่ดูแลแมวให้พร้อมที่สุด หวีขนและอุ้มมันเข้าไป”
ด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับอเมริกันเคิร์ลที่ค่อนข้างน้อย รวมถึงพฤติกรรมในการประกวดที่ไม่น่าประทับใจนักของเจ้าอเมริกันเคิร์ลเชื้อสายมาเลเซีย มันจึงไม่อาจไปถึงจุดสูงสุดได้
หากแต่การประกวดครั้งนั้นก็ไม่เสียเที่ยว เพราะอ๊อฟตั้งใจกลับมาพัฒนาสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลให้ดีกว่าเดิมให้เจ้าเคิร์ลมาเลเซียตัวนี้เป็นพ่อพันธุ์หลักผสมร่วมกับอเมริกันเคิร์ลตัวเมียที่เขามีอยู่ จนกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่พาอ๊อฟเข้าใกล้คำว่า “บรีดเดอร์คนสำคัญ” เข้าไปทุกที
“เราประกวดและเพาะพันธุ์แมวไปสักพักหนึ่งจนรู้ว่าแมวตัวไหนไม่ใช่เกรดประกวด มันเป็นจุดที่ว่าต่อให้เอาไปประกวดเวทีไหนก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ” เขาอธิบายเสริม
“เราประกวดและเพาะพันธุ์แมวไปสักพักหนึ่งจนรู้ว่าแมวตัวไหนไม่ใช่เกรดประกวด มันเป็นจุดที่ว่าต่อให้เอาไปประกวดแค่ไหนก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ”
ด้วยลักษณะขนยาวและขนมันต่างกันในแต่ละจุด การอาบน้ำอเมริกันเคิร์ลจึงมีมากถึงเจ็ดขั้นตอน หากรวมการเป่าขนด้วยแล้วอาจกินเวลานานถึง ๓ ชั่วโมง ในการอาบน้ำเพื่อเตรียมประกวดจะเพิ่มกระบวนการอื่นอีก เช่น ตัดขนตา อาบน้ำสองถึงสามรอบ เพราะแมวจะสวยงามที่สุดบนเวทีประกวดเมื่อได้อาบน้ำ
เสริมเทคนิค
พิชิตแชมป์ทุกระดับ
หลังจากการประกวดครั้งแรก อ๊อฟรับรู้ว่าการพัฒนาสายพันธุ์แมวจนไปถึงจุดสูงสุดหาใช่ทำไปอย่างไร้ขั้นตอน ทว่าต้องวางแผนและเตรียมการอย่างดีตั้งแต่การเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมถึงจังหวะและเวลาผสมพันธุ์
“การผสมแมวเหมือนการหมุนไข่ หมุนวงล้อตอนที่ออกรางวัล มันคือเรื่องของความน่าจะเป็นตามหลักคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อสเปิร์มชนไข่ครั้งหนึ่งก็หมุนครั้งหนึ่ง” เขาเล่าพลางหัวเราะ
อ๊อฟอธิบายว่าการประกวดแมวจะเริ่มตั้งแต่แมวอยู่ในช่วงอายุ ๔-๘ เดือนที่เป็นรุ่นแมวเด็ก พอถึงช่วงอายุ ๘ เดือนขึ้นไปก็จะเป็นช่วงแมวโต และมีประเภทแมวหมันที่ต้องมีอายุ ๘ เดือนขึ้นไป ฉะนั้นการวางแผนประกวดก็ต้องดูวันเริ่มผสมพันธุ์ให้สอดรับเพื่อให้ลูกแมวที่เกิดมามีอายุพอดีกับวันเวลาที่จัดประกวด ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลและบำรุงสุขภาพของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ไปพร้อมกัน
ในการผสมพันธุ์หนึ่งครั้งจะมีลูกแมวสี่ถึงห้าตัวต่อครอก แต่นั่นก็ไม่ใช่ทุกตัวที่นำเข้าประกวดได้ โดยเฉพาะสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลที่มีลักษณะเด่นอยู่ตรงใบหูม้วนไปข้างหลัง หูแมวพันธุ์นี้จะเริ่มม้วนหลัง ๒๔ ชั่วโมงแรกเกิดและการพัฒนาของหูจะเริ่มนิ่งในช่วงอายุ ๔-๖ เดือน ซึ่งทำให้การวางแผนประกวดค่อนข้างซับซ้อน
“แต่จริง ๆ สำหรับบรีดเดอร์ หน้าที่ในการทำแมวก็คือดูแลเขาให้ดีที่สุดนั่นแหละครับ” อ๊อฟเปรยขึ้นหลังจากผู้เขียนเริ่มหน้านิ่วคิ้วขมวดกับรายละเอียด
รายละเอียดเหล่านี้แหละที่สำคัญกับการประกวดแมวอย่างยิ่ง อ๊อฟแจกแจงว่าแมวแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะของร่างกายและขนแตกต่างกัน ทำให้วิธีการอาบน้ำ การให้อาหารหลักและอาหารเสริมมีรูปแบบต่างกันไปด้วย อย่างสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลเป็นแมวร่างกายแบบขนาดตัวปานกลาง (elegant body) หากอ้วนเมื่อไรก็ตกรอบประกวดทันที เนื่องจากในมาตรฐานของสายพันธุ์ระบุน้ำหนักของแมวทั้งเพศผู้และเพศเมียเอาไว้ ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เปอร์เซียที่มีร่างกายแบบ chubby body ที่มีโครงร่างสั้นกว่าและบรีดเดอร์จำเป็นต้องทำให้มันอวบอ้วน
อีกส่วนหนึ่งคือ “การอาบน้ำแมว” ที่คล้ายเป็นเสื้อผ้าของแมว เมื่อมองก็รู้ว่าบรีดเดอร์คนนั้นมือเก่าหรือมือใหม่
หลังจากบรีดเดอร์ชาวมาเลเซียเดินทางกลับ อ๊อฟและคนรักร่วมกันดูแลและพัฒนาแมวทั้งสองตัวนั้นต่อ โดยคนรักของอ๊อฟจะทำหน้าที่อาบน้ำและดูแลแมวเป็นหลัก ส่วนอ๊อฟจะดูเรื่องการพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของแมวและรายละเอียดในการประกวด
ภาพ : Sugar Curl Cattery
"วันที่ผมได้แมวแกรนด์ตัวแรก ผมตบหน้าเขา (บรีดเดอร์คนที่เคยสบประมาทอ๊อฟ) ได้แล้วนะ ตอนนี้ผมเป็นอันดับ ๑ ของเมืองไทยแล้ว ผมทำดีมากกว่าเขา เก่งมากกว่าเขา ที่สำคัญคือเราเริ่มต้นจากศูนย์จนมาถึงวันนี้"
“คุณลองไปคุยกับบรีดเดอร์คนนั้นนะ ไปถามเขาว่าอาบน้ำยังไง” กรรมการคนหนึ่งที่งานประกวดแมวพูดกับอ๊อฟ
สี่เดือนแรกหลังจากได้รับแมวมา อ๊อฟก็เดินสายประกวดแมวอเมริกันเคิร์ลเชื้อสายมาเลเซียตัวนั้น แต่หลังจากคุยกับบรีดเดอร์คนที่กรรมการแนะนำ อ๊อฟก็ได้รู้ว่าการอาบน้ำแมวไม่มีสูตรสำเร็จ อย่างสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลที่แม้จะมีขนยาว แต่ขนบริเวณลำตัวต้องเรียบลื่นแนบไปกับร่างกาย ในขณะที่ขนบริเวณหน้าอกและหางต้องพองออก ซึ่งแตกต่างจากแมวขนยาวสายพันธุ์เปอร์เซียที่ต้องขนพองทั้งตัว ฉะนั้นการศึกษามาตรฐานสายพันธุ์จึงจำเป็นสำหรับบรีดเดอร์ทุกคน
อ๊อฟใช้เวลา ๒ ปีหลังจากผสมพันธุ์อเมริกันเคิร์ลที่เขามีอยู่กับตัวจากฟาร์มที่มาเลเซีย ลูกหลานของมันสี่ตัวแรกได้ก้าวเท้ามังคุดเข้าสู่เวทีการประกวด และกลายเป็น “อเมริกันเคิร์ลจากไทยตัวแรกที่ได้เป็น Grand Champion” ของสมาคม CFA
“วันที่ผมได้แมวแกรนด์ตัวแรก ผมตบหน้าเขา (บรีดเดอร์ที่เคยสบประมาท) ได้แล้วนะ ตอนนี้ผมเป็นอันดับ ๑ ของเมืองไทยแล้ว ผมทำดีมากกว่า เก่งมากกว่าเขา ที่สำคัญคือเราเริ่มต้นจากศูนย์จนมาถึงวันนี้ วันที่ผมมีแมวมากขึ้น ผมเป็นที่รู้จัก และกรรมการก็เริ่มรู้จักแมวสายพันธุ์นี้มากขึ้น” อ๊อฟกล่าวอย่างเรียบนิ่ง
กว่า ๘ ปีที่อ๊อฟโลดแล่นอยู่บนเวทีประกวดแมวในนามฟาร์ม “Sugar Curl Cattery” เขาเล่าว่าขณะนี้แมวจากฟาร์มของเขาคว้ารางวัลบนเวทีประกวดมาแล้วทุกระดับโดยระดับสุดท้ายคือ Distinguished Merit (DM) ที่หมายถึง การที่บรีดเดอร์ทำให้ลูกของแมวเพศเมีย (แมวเพศเมียนี้ไม่จำเป็นต้องเป็น Champion) ได้รับตำแหน่ง Grand Champion ทั้งหมด ๕ ตัว (เพศเมีย) หรือ ๑๐ ตัว (หากเป็นเพศผู้) และเขาเป็นคนแรกในภูมิภาคเอเชียที่ทำสำเร็จ
ร่วมอนุรักษ์เพื่อการดำรงอยู่ของอเมริกันเคิร์ลสายพันธุ์แท้
ปัจจุบันอ๊อฟก้าวถึงจุดสูงสุดในฐานะบรีดเดอร์แล้ว ก้าวต่อไปคือเป็นกรรมการของสมาคม CFA ซึ่งเขาจะต้องเก็บสะสมการเป็นผู้ช่วยควบคุมเวทีการประกวด (Ring Clerks) ห้าครั้ง โดยต่างผู้ควบคุมเวทีประกวด หลังจากนั้นจะต้องเป็นผู้ควบคุมการประกวดด้วยตนเอง (Master Clerks) จำนวนห้าครั้งโดยต่างกรรมการ และเมื่อเก็บจำนวนครั้งครบแล้ว จะต้องศึกษาแมวทุกสายพันธุ์ตามฟาร์มแมวแต่ละชนิดขน (Cattery Visit) ซึ่งฟาร์มเหล่านั้นก็ต้องได้รับการรับรองจาก CFA นั่นหมายถึงการฝึกตัดสินแมว (Judging Program) นั่นเอง
“เราเริ่มมีการร่วมมือกับบรีดเดอร์ต่างประเทศ เพื่อทำให้ต้นทุนในการผสมพันธุ์น้อยลง และทำให้แมวสายพันธุ์นี้อยู่รอด”
การประกวดแมวได้รับความนิยมมาก มีเจ้าภาพใหญ่เป็นสมาคมแมวระดับโลก อย่างเช่น The Cat Fanciers’ Association (CFA) หรือ World Cat Federation (WCF) โดยการประกวดของแต่ละสมาคมมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น CFA เน้นการเก็บคะแนน WCF เน้นการเก็บใบรับรอง (certificate)
แม้ปัจจุบันแมวอเมริกันเคิร์ลได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นสายพันธุ์หายากและอยู่ในห้วงเวลาของการ “อนุรักษ์” อ๊อฟเล่าว่านับตั้งแต่การเสียชีวิตของบรีดเดอร์ชาวอเมริกันที่เป็นหลักสำคัญของแมวสายพันธุ์นี้ จำนวนแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลและจำนวนบรีดเดอร์ก็ลดลงด้วย ทำให้ปัจจุบันทั้งโลกมีเพียงราว ๆ ๒๐ ฟาร์มเท่านั้นที่ยังคงพัฒนาสายพันธุ์นี้อยู่ และหากจำแนกลึกลงไปถึงฟาร์มที่ทำงานในลักษณะการอนุรักษ์ คือผสมพันธุ์โดยใช้อเมริกันเคิร์ลสายพันธุ์แท้ด้วยกันเท่านั้นก็อาจเหลือเพียงราว ๑๐ ฟาร์ม
“กรรมการคนหนึ่งบอกว่าที่ญี่ปุ่นไม่มีเคิร์ลเลย ถ้าเขาไม่มาในงานประกวดก็จะไม่เคยเจอเลย” อ๊อฟเล่าลงรายละเอียด
อีกเงื่อนไขที่ทำให้อเมริกันเคิร์ลสายพันธุ์แท้ลดลงก็คือ “หูม้วนหลัง” อันแสนน่ารักของมัน
ด้วยยีนโดดเด่นนี้ทำให้อเมริกันเคิร์ลมักถูกนำไปผสมข้ามสายพันธุ์อยู่บ่อยครั้ง เพื่อทำให้แมวตัวอื่น ๆ มีหูม้วนไปข้างหลังเหมือนอเมริกันเคิร์ล จนทำให้คนทั่วไปบอกได้ยากว่าตัวนี้หรือตัวนั้นคือสายพันธุ์แท้ นั่นทำให้เหล่าบรีดเดอร์อเมริกันเคิร์ลมักจะตั้งเงื่อนไขไว้สูงมากหากใครสักคนต้องการที่จะรับแมวสายพันธุ์นี้ไปดูแล เช่นเดียวกับที่อ๊อฟเคยมีประสบการณ์ถูกทดสอบจากเจ้าของฟาร์มมาเลเซีย
การที่จำนวนแมวอเมริกันเคิร์ลมีน้อย การผสมพันธุ์เพื่อพัฒนาก็ทำได้ยากยิ่งขึ้น อ๊อฟเพิ่มเติมว่าในสมาคมแมวอื่น ๆ อนุญาตให้ผสมอเมริกันเคิร์ลกับแมวพื้นถิ่น (domestic cat) ได้ โดยที่จะต้องจดทะเบียนผังเพ็ดดีกรี ทว่าสมาคม CFA บังคับให้ผสมเฉพาะสายพันธุ์เดียวกันเท่านั้น
ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก แมวอเมริกันเคิร์ลหลีกเลี่ยงการผสมแบบเลือดชิด (inbreeding) ได้ยากเนื่องจากจำนวนที่จำกัด การผสมเลือดชิดหมายถึงการผสมพันธุ์ระหว่างแมวที่มีพ่อแม่ท้องเดียวกันหรือเครือญาติใกล้กัน โดยอาจส่งผลกระทบไปถึงแมวรุ่นต่อ ๆ ไป เช่น เกิดความบกพร่องทางร่างกาย พิการ ร่างกายไม่ทนทานต่อโรคอายุสั้นกว่าปรกติ “เราไม่เจอข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบในไทย แต่ความยากอยู่ที่ต้องหาแมวจากเมืองนอกเข้ามาเติมสายเลือดในเมืองไทยเท่านั้นเลย” อ๊อฟอธิบาย
เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้มีผู้พัฒนาสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลน้อยลง หรือหากจะส่งออกไปให้คนทั่วไปเลี้ยงดูก็ต้องเป็นแมวหมันเท่านั้น การผสมพันธุ์และพัฒนาแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลจึงเป็นไปอย่างช้า ๆ นับตั้งแต่ที่แมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลถูกรับรองจากสมาคมแมวระดับโลกตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๗
ภาพ : Sugar Curl Cattery
“ผมทำแมวของผมด้วยแพสชัน ราคาของแมวไม่ได้บอกทุกอย่าง”
ขณะเดียวกันเรื่องที่เหมือนจะเรียบง่ายแต่กลายเป็นยากกว่านั้นคือ “การให้ความรักและการดูแลที่เหมาะสม” กับแมวตัวหนึ่งที่เหล่าบรีดเดอร์ทุ่มเทพัฒนาขึ้นมา หลายครั้งที่เหล่าผู้เลี้ยงหน้าใหม่ต้องการเลี้ยงแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ล แต่อ๊อฟกลับไม่เห็นชีวิตที่ดีของแมวรออยู่เลย
“เมื่อก่อนเคยเลี้ยง แต่ให้คนอื่นไป ผมอยู่หอพักแล้วมันร้องเสียงดัง”
“ก่อนหน้านี้มีสามตัวค่ะ แต่ตอนนี้เหลือสอง อีกตัวหายไปเพราะหนูเลี้ยงนอกบ้าน” อ๊อฟคิดว่านอกจากบรีดเดอร์ที่หายากแล้ว คนเลี้ยงแมวคุณภาพก็หายากเช่นเดียวกัน ด้วยความที่เขาไม่อยากเห็นแมวของตัวเองอยู่บนป้ายประกาศแมวหาย ราคาแมวที่สูงและเงื่อนไขยุ่งยากจึงเป็นการคัดกรองผู้เลี้ยงในระดับหนึ่ง ในอีกทางการขายแมวหมันอาจเป็นทางเลือกดีกว่าสำหรับผู้เลี้ยงทั่วไป
“ผมทำแมวด้วยแพสชัน ราคาของแมวไม่ได้บอกทุกอย่าง แต่ถ้ามีคนที่พร้อมจ่ายเงินซื้อแมวประมาณเท่านี้ ก็มั่นใจระดับหนึ่งว่าเขาจะเลี้ยงแมวเราได้ดี ไม่ใช่แค่ว่าซื้ออาหารให้มัน แต่ถ้ามันป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือเขาก็จะช่วยเหลือมันได้ด้วย” อ๊อฟอธิบายหนักแน่น
เพื่อการดำรงอยู่ของอเมริกันเคิร์ลสายพันธุ์แท้ อ๊อฟเล่าว่ามีการร่วมมือกันกับฟาร์มที่ประเทศต่าง ๆ เพื่อหาแมวอเมริกันเคิร์ลสายเลือดใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาสายพันธุ์ในประเทศไทย รวมถึงการส่งออกแมวอเมริกันเคิร์ลจากไทยเพื่อเติมสายเลือดใหม่ให้ตลาดต่างประเทศด้วย “เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงการผสมแบบเลือดชิด เราจำเป็นต้องหาแมวจากประเทศอื่นมาพัฒนาสายพันธุ์ต่อ” อ๊อฟอธิบาย
“เริ่มมีการร่วมมือกับบรีดเดอร์ต่างประเทศ แลกสายกัน เพื่อทำให้ต้นทุนในการผสมพันธุ์น้อยลงและทำให้แมวสายพันธุ์นี้อยู่รอด ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ผู้เล่นหรือบรีดเดอร์ที่จะเข้ามาน้อยลงไป ในอนาคตแมวอเมริกันเคิร์ลอาจจะหายไปก็ได้” อ๊อฟย้ำอีกครั้ง
ภาพ : Sugar Curl Cattery
วันนี้ฟาร์ม Sugar Curl Cattery ของอ๊อฟเป็นที่เดียวในโลกที่ได้รับการรับรองจาก CFA ว่าเป็นสถานเลี้ยงแมวอเมริกันเคิร์ลสำหรับการเยี่ยมชม (Cattery Visit) โดยรับรองว่าผู้ที่ต้องการศึกษาแมวสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลต้องมาที่ฟาร์มนี้ และหากต้องการผู้เชี่ยวชาญที่เล่าได้ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยันวิธีการดูซอกขนของอเมริกันเคิร์ล ก็ต้องมาหาอ๊อฟ-ภัทร รัตรสาร
“ผมมักจะพูดเสมอว่า ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีใครจำเป็นต้องรู้จัก เป็นแค่บรีดเดอร์ตัวเล็ก ๆ ที่ทำสายพันธุ์อเมริกันเคิร์ลในวงการ แต่ว่าวันหนึ่งทุกคนก็บอกว่าผมเป็นบรีดเดอร์อันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว สิ่งที่ผมทุ่มเทมาตลอดเวลาหลายปีมันออกดอกออกผล และคุณภาพของแมวอเมริกันเคิร์ลจาก Sugar Curl ก็คือต้นแบบในการตัดสินที่ใช้อ้างอิง เป็นแบบอย่างที่ใช้สอน ไม่มีใครไม่รู้จักแมวอเมริกันเคิร์ลจากฟาร์ม Sugar Curl มีเสียงพูดกันว่าแมวสายพันธุ์นี้ต้องหน้าแบบ Sugar Curl เท่านั้น” อ๊อฟเล่าอย่างภาคภูมิใจ
นี่เป็นการสนทนาที่ผู้เขียนไม่อยากลุกออกจากที่นั่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอรรถรสของอ๊อฟ แต่อีกส่วนก็คงเป็นเจ้าแมวอเมริกันเคิร์ลขนนุ่ม ๆ ที่เอาตัวแนบผู้เขียนตลอดการสัมภาษณ์ จนอดคิดไม่ได้ว่าเหล่าบรีดเดอร์จะเศร้าเพียงใดในทุกครั้งที่แมวต้องออกจากบ้านเดิมเพื่อไปอยู่กับเจ้าของใหม่
“เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมไม่ชอบเลย ใจหาย หนักใจทุกครั้ง เพราะทุกตัวเราก็เลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก” คำตอบจากน้ำเสียงอ่อน ๆ ของอ๊อฟยืนยันว่าแมวคือสมาชิกในครอบครัวและควรดูแลเขาอย่างเต็มที่ที่สุด
การเดินทางกลับที่พักของผู้เขียนวันนั้นจึงเต็มไปด้วยทรายเต้าหู้พรีเมียม อาหารแมวระดับ holistic หลายต่อหลายถุง ซึ่งนอกจากสิ่งที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ก็คงเป็นความหวังที่อยากให้เจ้าแมวลายสลิดสองตัวที่ผู้เขียนเลี้ยงอยู่มีสุขภาพดีและมีความสุขยิ่งกว่าเดิม
“นั่นแหละครับ การพบเจอแมวคือพรหมลิขิต แต่พอเวลาผ่านไปมันเป็นเวรกรรมล้วน ๆ” เราทั้งคู่หัวเราะลั่นก่อนจากกัน
อ้างอิง
https://cfa.org/register-a-cattery/ - ขั้นตอนการจดทะเบียนฟาร์มแมว
https://cfa.org/clerking-program/ - ขั้นตอนการเป็นผู้ช่วยผู้จัดการเวทีประกวด
https://cfa.org/applying-to-the-judging-program/ - ขั้นตอนการเป็นกรรมการ