ประโยชน์ของกองดอง
ที่คุณอาจคาดไม่ถึง
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
สำหรับคนชอบหนังสือ การมีกองหนังสือบนชั้น (หรือแม้แต่บนพื้น) ก็ช่วยให้มีความสุขได้ แต่มักมีคนตั้งข้อสงสัยว่าเราควรจะมีหนังสือเป็นร้อยหรือเป็นพันเล่มในบ้านจริงหรือ ? จำนวนหนังสือขนาดนี้ในชีวิตของเราจะอ่านได้หมดหรือ ? ถ้าอ่านไม่หมดแล้วยังจะซื้อเพิ่มอีกทำไม ?
นี่ยังไม่นับว่าหากจำเป็นต้องย้ายบ้าน ก็ถือเป็นภาระหนักหนาสาหัสสากรรจ์ทีเดียว
นิสัยการซื้อหนังสือมากองแต่ไม่อ่านหรือพูดให้น่าฟังอีกหน่อยคืออ่านไม่ทันซึ่งเรียกกันอย่างลำลองว่า “กองดอง”
นั้น มีชื่อเรียกในภาษาอื่นด้วย เช่น ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าซุนโดกุ (tsundoku, 積ん読) เป็นคำสแลงที่มีกำเนิดย้อนกลับไปถึงยุคเมจิ (ราว ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๙๑๒) พจนานุกรมภาษาอังกฤษบางเล่มก็มีเก็บศัพท์คำนี้ไว้ด้วยแล้วในปัจจุบัน เช่น Collins English Dictionary
ในหนังสือ The Black Swan : The Impact of the Highly Improbable (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า สะท้านตลาดด้วยเหตุการณ์ที่ยากจะเกิด) ของ นัสซิม ทาเลบ ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ ใช้คำเรียกหนังสือที่คนซื้อมากองไว้แต่ไม่อ่านนี้ว่า antilibrary (anti+library) ซึ่งน่าจะเอาคำศัพท์นี้มาจากนักเขียนชาวอิตาลีคือ อุมแบร์โต เอโก ที่เป็นนักสะสมหนังสือตัวยง
เอโกมีหนังสือในห้องสมุดส่วนตัวมากถึงราว ๓ หมื่นเล่ม !
อุมแบร์โต เอโก เขียนเล่าว่า คนที่มีโอกาสเห็นห้องสมุดส่วนตัวของเขาส่วนใหญ่มักจะอุทานด้วยความประหลาดใจ และถามว่าเขามีหนังสือทั้งหมดเท่าไรกัน เขาอ่านไปได้มากน้อยเท่าใดแล้ว มีคนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่เข้าใจว่าห้องสมุดนี้ไม่ได้เอาไว้อวดว่ามีหนังสืออยู่มากเท่าใดหรืออ่านหนังสือไปมากน้อยเท่าใด
ห้องสมุดแบบนี้เป็นเครื่องมือทำวิจัยแบบหนึ่งและประโยชน์ที่แท้จริงคือมีไว้แสดงให้เห็นว่าหนังสือที่เราอ่านแล้วมีน้อยกว่าหนังสือที่ยังไม่อ่านเพียงใด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือความรู้ที่เรามีอยู่ช่างมีปริมาณ (หรือคุณค่า) เพียงน้อยนิดหากเทียบกับสิ่งที่เรายังไม่รู้ !!!
หากจะตอบคำถามว่าอันที่จริงแล้วห้องสมุดของ อุมแบร์โต เอโก ใหญ่โตเพียงใด ก็คงต้องหาจุดอ้างอิง สมาคมห้องสมุดอเมริกันให้คำแนะนำว่าห้องสมุด สำหรับเมืองที่มีประชากร ๒.๕ หมื่นคน อาศัยอยู่ควรจะมีหนังสืออย่างน้อย ๑ หมื่น
เล่ม และสำหรับสังคมอเมริกันแล้ว การสำรวจใน ค.ศ. ๒๐๑๘ พบว่าในห้องสมุดสาธารณะมีหนังสือเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๒ หมื่นเล่ม
หากเทียบกันเช่นนี้แล้ว ห้องสมุดของ อุมแบร์โต เอโก ก็ใหญ่กว่าห้องสมุดสาธารณะทั่วไปของคนอเมริกัน และมีหนังสือที่ให้บริการคนจำนวน ๗.๕ คนได้ถือเป็น “ห้องสมุดเมือง” ขนาดย่อม ๆ ทีเดียว !
น่าสงสัยว่าในประเทศไทยมีห้องสมุดที่บรรจุหนังสือมากเท่านี้สักกี่แห่ง ?
มีข้อมูลที่ระบุว่าห้องสมุดทั้งหมดของประเทศไทยมีอยู่ ๔๖,๔๔๘ แห่ง ที่เห็นว่ามีจำนวนเยอะ ๆ นี่ เป็นเพราะนับรวมห้องสมุดในโรงเรียนที่มีอยู่ ๔๕,๓๐๖ แห่งเข้าไปด้วย
เพิ่มเติมข้อมูลสักเล็กน้อยว่า สมาคมบรรณารักษ์โรงเรียนในอเมริการะบุว่า จำนวนหนังสือต่อเด็กนักเรียนหนึ่งคนที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายคือ ๑๒, ๑๓ และ ๑๕ เล่ม ตามลำดับ
ในทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยแล้ว ยังน่าจะห่างไกลจากตัวเลขนี้มาก
กลับมาที่ นัสซิม ทาเลบ อีกครั้ง ในหนังสือเล่มดังที่กล่าวถึงข้างต้น เขากล่าวถึงแนวคิดเรื่อง antilibrary ไว้อย่างสอดคล้องกับ อุมแบร์โต เอโก ว่า
“ห้องสมุดส่วนตัวไม่ได้มีไว้เพื่อกระตุ้นอัตตา แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือวิจัยหนังสือที่อ่านมีคุณค่าน้อยกว่าหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านเป็นอย่างมาก ห้องสมุดแบบนี้ควรจะต้องมีหนังสือที่คุณยังไม่มีความรู้ให้มากที่สุดเท่าที่การเงินของคุณอัตราการกู้ยืมของคุณ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เข้มงวดในปัจจุบันจะอนุญาตให้คุณทำได้”
การมีหนังสือมากมายเกินกว่าจะอ่านได้หมดสิ้นในชีวิตนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องกดดันหรือทำให้เราเคร่งเครียดหรือสับสน แต่กลับเป็นเครื่องเตือนใจให้ “ถ่อมตัว” และตระหนักรู้เรื่องความรู้น้อยของตัวเอง เพื่อที่จะได้ไม่มั่นใจจนเกินไปเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ จนเกิดอคติที่มาขัดขวางการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จนเลิกตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะการคาดหมายหรือคาดเดาของตัวเราเอง
ความรู้ของเรานั้นทั้งพร่อง ทั้งไม่สมบูรณ์ ทั้งมีน้อยเสียเหลือเกิน จนห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ ความตระหนัก รู้เรื่องนี้จึงเป็นตัวแทนของ “ความหารู้ไม่ (unknowledge)” ซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งกับความเชื่อมั่นในความรู้ของเรา
“ห้องสมุดที่ดีจึงเต็มไปด้วยหนังสือที่แทบจะไม่เคยได้อ่าน นี่แหละคือประเด็นของเรื่องนี้” ทาเลบบอกไว้เช่นนั้น เพราะเรามักจะประเมินคุณค่าของสิ่งที่เรายังไม่รู้ “ต่ำเกินจริง” สวนทางกับสิ่งที่เรารู้แล้วที่เรามักประเมินคุณค่า “สูงเกินจริง” แทบจะเสมอไป
โดยพื้นฐานแล้วเราจึงมักจะเข้าใจเรื่องความน่าจะเกิดขึ้นได้ของเรื่องชวนประหลาดใจผิดเพี้ยน
วิธีแก้ความมั่นใจเกินจริงที่ว่านี้จึงได้แก่การลดค่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับความรู้ของเราลง หันไปใส่ใจกับหนังสือที่ยังไม่อ่าน และไม่พยายามถือว่าความรู้ของเราเป็นดั่งทรัพย์สมบัติ เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของความรู้นั้น หรือแม้แต่มองว่ามันเป็นเครื่องมือส่งเสริมความภาคภูมิใจในตัวเอง
อาจต้องทำตัวเป็น “นักประสบการณ์นิยมวิพากษ์ (skeptical empiricist)” คือมองทุกอย่างบนหลักฐานจากประสบการณ์แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เห็นจากประสบการณ์นั้นอยู่เสมอ
มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ nesslabs ว่าเราอาจใช้กลยุทธ์ห้าข้อในการดำรงความคิดแบบนี้ไว้ ได้แก่ วิธีแรกคือขยายขอบเขตความรู้จากเอกสารอ้างอิง เมื่ออ่านหนังสือเล่มใดแล้วผู้เขียนอ้างอิงหนังสือเล่มอื่น ๆ ก็อาจจะจดชื่อหนังสือเหล่านั้นไว้บ้าง แล้วมองหาเล่มที่น่าสนใจ ตรงกับความต้องการ ความอยากรู้ในขณะนั้น นี่เท่ากับเปิดขอบฟ้าความรู้ให้กว้างขวางขึ้น
วิธีการที่ ๒ คือเมื่ออ่านหนังสือเล่มใดจบ ลองคุยกับคนอื่นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น หรือไม่ก็ลองค้นหารีวิวในเว็บไซต์ Goodreads หรือ Amazon
อีกวิธีการหนึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามเลยคือปล่อยให้ความบังเอิญทำงานบ้าง เลือกหนังสือสุ่ม ๆ จากร้านแบบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมาก่อน ดูแค่หน้าปกหรือชื่อเรื่อง วิธีนี้เหมือนการเปิดหน้าต่างบานใหม่ที่ทำให้เกิดการค้นพบใหม่ ๆ ในชีวิตได้เช่นกัน
วิธีการต่อไปคือเลิกล้มความคิดว่าจะอ่านหนังสือให้ครบหมดทุกเล่ม หรือแม้แต่หวังว่าหนังสือที่ยังไม่อ่านจะลดน้อยลง เพราะการมีหนังสือเยอะแยะที่ไม่ได้อ่านรายล้อมรอบตัวไม่ใช่เรื่องไม่ดี ดังที่เล่ามายืดยาวข้างต้น และอันที่จริงนี่คือการเปลี่ยนสิ่งที่ “เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้” ให้กลายเป็น “สิ่งที่เรารู้ว่าเราไม่รู้” ต่างหาก !
วิธีการสุดท้ายคือการปรับปรุงความสัมพันธ์กับความรู้ให้ดีขึ้น แรก ๆ เมื่อเริ่มมีกองดองใหญ่ขึ้น เราอาจจะรู้สึกแปลก ๆ
หรือรู้สึกไม่เหมาะสมที่จะซื้อหนังสือมาดองเช่นนั้น จนอาจเกิดความกังวลใจได้ แต่เมื่อใดที่ตระหนักว่า “ความรู้เป็นกระบวนการ ไม่ใช่ความเป็นเจ้าของ” เมื่อนั้นก็จะรู้สึกว่ากองดองก็คือการลงทุนแบบหนึ่งที่เราลงทุนในตัวเอง แม้จะมีรายได้น้อยและมีหนังสือแค่สามถึงสี่เล่มบนชั้นที่ยังไม่เคยอ่าน แค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว
เพื่อเป็นการให้กำลังใจ ขอยกตัวอย่างหนังสือคลาสสิกหรือหนังสือเล่มดัง ๆ ที่ผู้คนซื้อกัน ซึ่งก็แน่นอนว่าต่างก็คาดหวังว่าจะอ่านจบ แต่เมื่อมีการสำรวจด้วยวิธีการต่าง ๆ ว่าได้อ่านจริงมากน้อยแค่ไหนก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่หนังสือเหล่านี้ส่วนใหญ่อ่านกันไม่จบ โดยเฉพาะเล่มที่หนา ๆ
ตัวอย่างหนังสือยอดนิยมที่คนซื้อแต่ไม่อ่าน เช่น ลอร์ดออฟเดอะริงส์, ยูลิสซีส, โมบี้-ดิ๊ก, เก้าอี้ว่าง (The Casual Vacancy) ของ เจ. เค. โรว์ลิง คนเขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์, ฟิฟตี้เชดส์ออฟเกรย์, พยัคฆ์สาวรอยสักมังกร (The Girl with the Dragon Tattoo) ฯลฯ
ส่วนเล่มดังที่อ่านแต่ไม่จบก็มีเยอะแยะทีเดียว (ในวงเล็บคือเปอร์เซ็นต์ที่อ่านไปก่อนเลิกอ่าน) ไม่ว่าจะเป็น ประวัติย่อของกาลเวลา ของ สตีเฟน ฮอว์คิง (๖.๖ เปอร์เซ็นต์), คิด, เร็วและช้า (Thinking, Fast and Slow) (๖.๘ เปอร์เซ็นต์), ชีวิตและทางเลือก (Hard Choices) ของ ฮิลลารี คลินตัน (๑.๙ เปอร์เซ็นต์) แม้แต่หนังสืออีโรติกที่น่าจะอ่านแล้วฟินอย่าง ฟิฟตี้เชดส์ออฟเกรย์ ที่บางคนหยิบลงมาจากชั้น ก็อ่านไปได้แค่ ๒๕.๙ เปอร์เซ็นต์ ก่อนเลิกอ่าน !
เราจึงสามารถเรียนรู้และได้ประโยชน์มากมายจากการมีกองดองเป็นของตัวเองโดยไม่ต้องกังวลว่ากองดองจะมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกวัน