เปลือกอาคารพลังลม
คิด-cool
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
แม้มองไม่เห็น แต่การมีอยู่ของบางสิ่งก็ช่วยให้รู้ว่าสายลมกำลังเคลื่อนไหว
การออกแบบเปลือกอาคารจะคำนึงถึงสภาพอากาศในท้องถิ่น ไทยอยู่เขตร้อนชื้น อาคารสมัยใหม่จึงให้ความสำคัญกับการป้องกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ ลดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ และช่วยให้โลกลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง
ยิ่งศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคองมีฐานะเป็นแหล่งศึกษาพลังงานของประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณเขายายเที่ยงและเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา โดดเด่นด้วยทรัพยากรลมจนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมมากที่สุดในประเทศ เป็นต้นแบบการนำนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยด้วยระบบ wind hydrogen hybrid มาใช้ จะสร้างเปลือกอาคารศูนย์การเรียนรู้ทั้งทีจึงไม่ธรรมดา
สถาปนิกออกแบบให้ “เปลือกอาคารพลังลม” มีชีวิตชีวาตลอดเวลาด้วยวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ตามแรงลมทั้งหมด ๒,๖๐๐ ชิ้น โดยรับแรงบันดาลใจมาจาก “กังหันลมแกนตั้ง” ที่มีแกนหมุนและใบพัดตั้งฉากกับการเคลื่อนที่ของลมในแนวราบ ไม่ว่าลมจะพัดมาจากทิศไหนก็รับมือ-รับลมในแนวราบได้ทุกทิศทาง
เราจึงได้มองเห็นสิ่งที่มองไม่เห็น ด้วยการเคลื่อนหมุนของ “เปลือก” ขณะที่สายลมทำงาน