Image

ท้ายครัว

เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย

กลางฤดูร้อนเป็นเวลาบานของดอกแคนา (Trumpet tree) ไม้ยืนต้นทรงสวยที่คนเมืองมักปลูกเป็นไม้ประดับสวนสาธารณะ แต่การที่พวกเขาส่วนใหญ่กินดอกแคนาไม่เป็น ดอกที่ร่วงเต็มโคนต้นในตอนเช้าตรู่จึงไม่ถูกเก็บไปลวกไปต้มจิ้มน้ำพริกกินเหมือนตามต่างจังหวัด

ดอกแคนามีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ รสขมน้อยๆ ของมันชวนให้เราเจริญอาหาร แคนาต้นหนึ่งๆ ดอกจำนวนมากจะบานในตอนกลางคืน จึงไม่แปลกที่แม้คนต่างจังหวัดจะกินเป็น แต่ก็กินไม่ทันหรอกครับ นอกจากจะหาวิธีเก็บไว้เป็นเสบียงกรังในแบบต่างๆ

Image

ผมเคยเห็นคนพม่าเมืองมัณฑะเลย์ขายดอกแคหัวหมูหรือแคหางค่างแห้งในตลาดสด เลยคิดว่าเราน่าจะลองประยุกต์วิธีทำดอกแคแห้งดูบ้าง โดยผมตื่นแต่เช้า เก็บดอกสดตามใต้ต้นมาเท่าที่หาได้ ตัดก้านดอกออกนิดนึง ขลิบปลายกลีบดอกให้เหลือเนื้อดอกส่วนที่แข็งๆ หน่อย ฉีกแบดอกออก เด็ดก้านเกสรสี่ก้านทิ้งไป เอาลงต้มในหม้อน้ำเดือดที่ผสมเกลือเล็กน้อยราวๆ ๑ นาที ตักแช่ในกะละมังน้ำเย็น สงขึ้นบีบน้ำพอหมาดๆ แผ่ตากบนถาดแบน แดดร้อนๆ อย่างช่วงนี้ ไม่ถึงวันก็แห้ง เก็บไว้ทำอะไรกินได้อีกนาน

Image

ลองแกงอ่อมกินสักหม้อก็ได้ครับ โดยเอาดอกแห้งแช่น้ำสักครึ่งชั่วโมง บีบน้ำออก หั่นท่อนสั้นๆ เตรียมไว้

หาน้ำพริกแกงเผ็ด กะทิ พริกชี้ฟ้าหั่น ใบมะกรูดมาไว้ให้พร้อม ถ้าจะแกงหมูย่าง ก็ย่างหรืออบหมูสามชั้น หั่นชิ้นหนาๆ ไว้

Image
Image

ตั้งหม้อหางกะทิบนเตาไฟ เดือดแล้วก็ใส่พริกแกง ชิ้นหมูย่าง ใบมะกรูด น้ำปลา น้ำตาลหน่อย เคี่ยวไปจนหมูเริ่มนุ่ม ใส่ดอกแคนาแห้งที่แช่น้ำหั่นไว้ ดอกแคจะคายรสขมอ่อนๆ ออกมาปนให้น้ำแกงมีรส “ขมหร่อมๆ” (คำศัพท์ของคนภาคกลางตอนบนหมายถึงขมกำลังอร่อย) เติมหัวกะทิเพื่อให้น้ำแกงข้นมันตามต้องการ ต้มเคี่ยวราว ๑๐ นาทีก็กินได้แล้วครับ เพราะดอกแคนาเปื่อยนุ่มเร็วกว่าของตากแห้งอื่นๆ ใครที่ชอบกินแกงอ่อมขมๆ อย่างอ่อมมะระ ใบยอ ใบผักไห่ ผักฮ้วนหมู คงชอบแกงอ่อมดอกแคนาแห้งแน่ๆ

Image

มันเป็นการกินของขมหร่อมๆ อร่อยๆ แบบคร่อมข้ามฤดูกาล ชนิดที่ได้รสชาติแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครเลยละครับ...